ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2548

ข้อ 1. 

นายวันกับนายเดือนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ตามโฉนดที่ดินมิได้ระบุว่า เจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของส่วนไหนและมิได้บรรยายส่วนว่าเจ้าของรวมคนใดมีส่วนเท่าใด นายวันทำสัญญาจะขาย ที่ดินทั้งแปลงให้แก่นายปี ส่วนนายเดือนก็ทำสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายอาทิตย์ โดยระบุในสัญญา ระหว่างนายเดือนกับนายอาทิตย์ว่า ส่วนของนายเดือนอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดิน ทั้งนายวันและนายเดือนต่างไม่ทราบ เรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของอีกคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อถึงกำหนดโอนที่ดินตามสัญญา นายวันและนายเดือน ต่างบิดพลิ้วไม่ยอมโอนขายที่ดินให้แก่นายปีและนายอาทิตย์ 

ให้วินิจฉัยว่า 
(ก) นายปีจะฟ้องนายวันและนายเดือนให้โอนขายที่ดินได้หรือไม่ 
(ข) นายอาทิตย์จะฟ้องนายเดือนให้โอนขายที่ดินได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) โฉนดที่ดินมิได้ระบุว่าเจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน และมิได้บรรยายส่วนว่าเจ้าของรวม คนใดมีส่วนเท่าใด นายวันและนายเดือนเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมมีส่วนเท่ากันคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1357 การที่นายวันทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งแปลงแก่นายปีโดยนายเดือนมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันนายเดือน คงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของนายวันครึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง แม้นายปีจะฟ้องบังคับให้นายวันและนายเดือนโอนขายที่ดินทั้งแปลงไม่ได้ แต่นายปีก็มีสิทธิฟ้องเรียกให้นายวันโอน ขายที่ดินครึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนของนายวันได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2538) 

(ข) การเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่มิได้ระบุว่าเจ้าของรวมคนใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนไหน กรรมสิทธิ์รวมของ เจ้าของรวมแต่ละคนย่อมครอบไปเหนือที่ดินทั้งแปลง การที่นายเดือนทำสัญญาจะขายที่ดินแก่นายอาทิตย์โดยระบุ เจาะจงส่วนด้านทิศใต้ของที่ดินนั้น เป็นการขายตัวทรัพย์ ซึ่งรวมถึงส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายวันด้วย มิใช่เป็นการ ขายเฉพาะส่วนของนายเดือน จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากนายวันจึงไม่มีผลผูกพันนายวัน นายอาทิตย์จะฟ้องบังคับให้ นายเดือนโอนขายที่ดินตามสัญญาไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2528, 4134/2529) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2538
จำเลยและจำเลยร่วมเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยจำเลยร่วมมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมด้วย สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยร่วม คงสมบูรณ์มีผลผูกพันเฉพาะที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงตามสัญญาได้ก็ตาม แต่โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยได้ การที่จำเลยไม่ยอมโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของตนให้โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญามีว่าถ้าจำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาและเรียกค่าเสียหาย 60,000 บาท ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคแรก เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแล้ว และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ต้องเสียหายอย่างไร ทั้งมิได้นำสืบไว้ จึงเรียกค่าเสียหายไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2528 
ที่ดินมีโฉนดซึ่ง พ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับพี่น้องคนอื่นและมิได้ มีการแบ่งแยกว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและ มีเนื้อที่เท่าใดผู้มีชื่อในโฉนด ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับ พ.โดยระบุว่าที่ดินตามเนื้อที่ ที่ตกลงซื้อขายกันนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินแปลงใหญ่จึงเป็น การซื้อขายตัวทรัพย์ซึ่งมิใช่เป็นการ ขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของพ. จะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนเมื่อยังมิได้ มีการแบ่งที่ดินเป็นส่วนสัดการที่พ. เอาตัวทรัพย์มาทำสัญญาจะขาย ให้โจทก์โดยเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพัน เจ้าของรวมคนอื่นและโจทก์จะฟ้องบังคับตามสัญญามิได้ 

ข้อ 2. 

นายอุดรและนายอิสานเป็นเจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งร่วมกัน ทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมรีสอร์ตที่ต้อง ใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท นายอุดรและนายอิสานจึงไปขอกู้เงินจากนายกรุงและนายชาติ โดยทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดียวที่มีข้อสัญญาระบุวงเงินให้กู้ว่า นายกรุงให้กู้จำนวน 3,000,000 บาท นายชาติให้กู้จำนวน 2,000,000 บาท และมีข้อสัญญากำหนดไว้ด้วยว่า นายอุดรและนายอิสานรับผิดในการ กู้เงินนี้อย่างลูกหนี้ร่วม ในสัญญาที่ทำขึ้นนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ต่อมาหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินได้ 2 ปี นายกรุงเรียกให้นายอุดรคนเดียวชำระเงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาทตามสัญญา นายอุดรปฏิเสธไม่ชำระหนี้ ให้นายกรุงโดยยกข้อต่อสู้ว่า นายกรุงไม่มีสิทธิเรียกชำระหนี้ เพราะสัญญากู้ยืมเงินไม่มีกำหนดเวลาคืนเงิน เจ้าหนี้ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจึงจะเรียกชำระหนี้ได้ และนายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้นายอุดรคนเดียวชำระเงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาท เพราะส่วนที่นายอุดรจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้นต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กับนายอิสาน ดังนั้นนายอุดรจึงมีหนี้ต้องชำระเพียง 2,500,000 บาทให้นายกรุงเท่านั้น 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายอุดรฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

ข้อต่อสู้ของนายอุดรที่ว่านายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้เพราะไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ฟังไม่ขึ้น เพราะหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2518, 7399/2547) 

ส่วนข้อต่อสู้ที่ว่านายกรุงไม่มีสิทธิเรียกให้นายอุดรชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด 5,000,000 บาท ฟังขึ้น เพราะตามสัญญากู้ยืมเงินมีการระบุวงเงินให้กู้ของนายกรุงและของนายชาติไว้คนละจำนวนแยกกัน ไม่ได้มีข้อตกลง การเป็นเจ้าหนี้ร่วม กรณีจึงเป็นเจ้าหนี้หลายคนในหนี้ที่แบ่งกันได้ซึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนชอบที่จะได้รับแต่เพียงเท่าส่วน ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 290 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2541) ดังนั้น นายกรุงจะเรียกชำระหนี้เกินกว่าส่วนของตนไม่ได้ 

สำหรับข้อที่นายอุดรต่อสู้ว่านายอุดรต้องรับผิดเพียง 2,500,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมกับ นายอิสานจึงต้องแบ่งส่วนของความรับผิดออกเป็นส่วนเท่าๆ กัน เป็นข้ออ้างในเรื่องความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วม ด้วยกันเองตามมาตรา 296 แต่ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งคนใดอาจถูกเรียกให้ชำระ หนี้โดยสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291 ดังนั้นนายอุดรจึงต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่นายกรุงให้กู้ทั้งหมดเป็นเงิน 3,000,000 บาท ข้อต่อสู้ของนายอุดรในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น 

ข้อ 3. 

การไฟฟ้ามหานครเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่และวัตถุประสงค์ในด้านบริการสาธารณูปโภค จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในเขตท้องที่ ๆ ให้บริการ วันเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายจากต้นทาง มิได้ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน ทำให้กระแสไฟฟ้าแรงสูง ไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดการลัดวงจรและเป็นผลทำให้บ้านเรือนของนายหนึ่งเกิดเพลิงไหม้เสียหาย นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น ส่วนนายสองซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ติดกับบ้านเรือนของนายหนึ่ง สะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุม ได้โดยง่ายเกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลัง 

ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสองจะฟ้องการไฟฟ้ามหานครเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ ร่างกายและทรัพย์สินของตนได้หรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

กระแสไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง การไฟฟ้ามหานครซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายดังกล่าวจึงต้องรับผิดชอบเพื่อ ความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น กรณีนี้ ความเสียหายเกิดจากการไฟฟ้ามหานครจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูงโดยมิได้ ปรับให้เป็นกระแสไฟฟ้าแรงต่ำเพื่อไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในบ้านของประชาชน จึงมิใช่เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิด เพราะความผิดของผู้ต้องเสียหาย ดังนั้น การไฟฟ้ามหานครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ ร่างกายและทรัพย์สินของนายหนึ่งเต็มจำนวนและเพื่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของนายสอง 

ส่วนการที่นายสองสะสมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเหตุให้ ไฟที่ลามมาบ้านนายสองไม่อาจควบคุมได้โดยง่ายเกิดความเสียหายแก่บ้านของนายสองทั้งหลังนั้น เป็นกรณีที่นายสอง ผู้ต้องเสียหายมีส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ค่าสินไหมทดแทนที่นายสองควรจะเรียกได้จึงต้องเฉลี่ยด้วยความผิด ของนายสอง การคำนวณค่าเสียหายจึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็น ผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 

ข้อ 4. 

นายจันทร์ทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 2 ปี ต่อมา อีก 1 เดือนนายจันทร์นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายพุธ กำหนดไถ่คืนภายใน 2 ปี เมื่อถึงกำหนดโอนที่ดินให้แก่นายอังคาร นายจันทร์ผิดสัญญาไม่สามารถโอนที่ดินให้ได้และเมื่อใกล้ครบกำหนดไถ่ ที่ดินคืน นายจันทร์ขอเลื่อนกำหนดไถ่ไปอีก 6 เดือน นายพุธยินยอมโดยบันทึกข้อความไว้ในสัญญาขายฝากและ ลงชื่อไว้ ในวันครบกำหนดไถ่ที่เลื่อนไปนายจันทร์ไม่สามารถไถ่ที่ดินคืนได้ นายอังคารทราบจึงไปขอใช้สิทธิไถ่ต่อ นายพุธ นายพุธไม่ยอมให้ไถ่อ้างว่านายอังคารไม่ใช่ผู้มีสิทธิไถ่ ทั้งเลยกำหนดไถ่มาแล้วเพราะการเลื่อนกำหนดเวลาไถ่ ที่ทำไว้กับนายจันทร์เป็นโมฆะ 

ให้วินิจฉัยว่า นายอังคารมีสิทธิไถ่ที่ดินจากนายพุธหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายจันทร์และนายอังคารมีข้อตกลงโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 2 ปีจึงเป็นสัญญา จะซื้อจะขาย (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2520) เมื่อนายจันทร์ผิดสัญญา นายอังคารจึงอยู่ในฐานะ ผู้รับโอนสิทธิไถ่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 (2) และมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนจากนายพุธได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390-3391/2538, 294/2492) การที่นายจันทร์ขอเลื่อนกำหนดเวลาไถ่ และนายพุธยินยอมโดยบันทึกข้อความไว้ในสัญญาขายฝากและลงชื่อไว้ เป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ที่มีหลักฐาน เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ ตามมาตรา 496 วรรคสอง จึงใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ นายอังคารจึงมีสิทธิ ไถ่ที่ดินคืนจากนายพุธได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2520
โจทก์ฟ้องว่า ในการซื้อขายที่พิพาท ได้ตกลงกันว่าจำเลยจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ด้วย โดยจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์หลังจากที่จำเลยแบ่งแยกที่พิพาทออกจากโฉนดแล้ว ดังนี้ การซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การที่โจทก์และจำเลยตกลงจะซื้อจะขายที่พิพาทกันแล้วโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทนั้น เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยตามสัญญาจะซื้อขาย อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลย มิใช่เป็นการ ยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏว่าต่อมาโจทก์เปลี่ยนแปลงลักษณะ แห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ดังนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี โจทก์ ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2492
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะขายที่นาขณะที่ฟ้องคดีนาไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยได้ตกไปเป็นของผู้รับซื้อฝากเสียแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ไถ่ถอนกลับคืนมาก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้จำเลย ทำการโอนขายให้โจทก์ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ศาลพิพากษาบังคับได้ 

คดีผิดสัญญาจะซื้อขายที่นาอาจมีทางที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในทางอื่น เช่น ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยทำการไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝากแทนที่จำเลย ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233,234 แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ โจทก์ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์แต่ประการเดียว เมื่อศาลบังคับให้โดยตรงเช่นนั้นไม่ได้ ต้องยกฟ้อง 

ข้อ 5. 

นายทรัพย์ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 50,000 บาท จากนายมั่น มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี โดยมีนายสิน เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าว ในการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน นายทรัพย์ได้เขียนหนังสือสัญญา กู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันต่อท้ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้นายมั่นไว้ด้วยลายมือของตนเอง นายสิน ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน แต่นายทรัพย์ลืมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียน ในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวนายสินตกลงยอมให้นายมั่นผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ นายทรัพย์ได้ แต่จะต้องแจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลัน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายมั่นยินยอมให้ นายทรัพย์ชำระหนี้ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่นั้น โดยนายมั่นมิได้แจ้งให้นายสินทราบเป็นหนังสือตามที่กำหนด ไว้ในสัญญาค้ำประกัน 

ให้วินิจฉัยว่า นายมั่นจะฟ้องเรียกร้องให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญา ค้ำประกันได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

ในกรณีของนายทรัพย์ผู้กู้ แม้นายทรัพย์ลืมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่นายทรัพย์ก็ได้ลงลายมือ ชื่อเป็นผู้เขียนสัญญาค้ำประกันซึ่งอยู่ต่อเนื่องจากหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่นายทรัพย์เขียน นายมั่นจึงใช้หนังสือสัญญา กู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2506, 8396/2540) 

สำหรับนายสินผู้ค้ำประกัน เมื่อนายสินตกลงด้วยในการผ่อนเวลาและการตกลงดังกล่าวสามารถทำล่วงหน้าได้ ทั้งข้อตกลงที่ให้นายมั่นต้องแจ้งการผ่อนเวลาให้นายสินทราบเป็นหนังสือโดยพลันนั้น เป็นเพียงรายละเอียด มิใช่ เงื่อนไขที่ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเสียไปแม้จะไม่มีการปฏิบัติ นายสินก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 วรรคสอง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4040/2546) นายมั่นจึงฟ้องเรียกให้นายทรัพย์และนายสินรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันได้ 

ข้อ 6. 

นายเฉลิมออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุชื่อนายเด่นเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” เพื่อชำระหนี้ค่า สินค้าแก่นายเด่น โดยมีนายวินลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คเป็นประกัน นายเด่นได้สลักหลังเช็คดังกล่าวแล้วนำไป ขายลดแก่นายชาติ ครั้นถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายเด่นได้ใช้เงินตามเช็คให้แก่นาย ชาติพร้อมกับรับเช็คคืนมาและทวงถามนายเฉลิมกับนายวินให้ใช้เงินตามเช็ค นายเฉลิมต่อสู้ว่านายเด่นเป็นผู้สลักหลัง ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามเช็ค ส่วนนายวินต่อสู้ว่าด้านหน้าเช็คไม่มีข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัล จึงไม่ต้องรับผิด 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมและนายวินฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายเด่นสลักหลังเช็คแล้วนำไปขายลดแก่นายชาติ แม้นายเด่นจะอยู่ในฐานะผู้สลักหลังมิใช่ผู้ทรงเช็ค ตามที่นายเฉลิมต่อสู้ก็ตาม (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339-6340/2539) แต่เมื่อภายหลังที่นายชาติผู้ทรง เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้แล้ว นายเด่นได้ใช้เงินตามเช็คให้แก่นายชาติพร้อมกับรับเช็คคืนมา นายเด่นย่อมมีสิทธิ เช่นเดียวกับนายชาติผู้ทรงในการที่จะบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2499, 3421/2525, 2879/2536) นายเด่นจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายเฉลิมในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดใช้เงินตามเช็คได้ ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังไม่ขึ้น 

การที่นายวินลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คเป็นประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของนายเฉลิมผู้สั่งจ่ายแม้จะไม่มี ข้อความใด ๆ ก็ตาม ก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลนายเฉลิมผู้สั่งจ่ายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 939 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย จึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่าใช้ได้ เป็นอาวัลตามมาตรา 939 วรรคสอง แต่อย่างใด นายวินจึงต้องรับผิดอย่างเดียวกันกับนายเฉลิมผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ข้อต่อสู้ของนายวินฟังไม่ขึ้น 

ข้อ 7. 

นายมุ่ง นายมิ่งและนายมั่น ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น โดยให้นายมุ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดแต่เพียงผู้เดียวและนายมิ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก่อนจดทะเบียนห้าง นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะ เพื่อนำมาใช้ในกิจการของห้าง จากบริษัทเจริญยนต์ จำกัด 1 คัน โดยได้รับมอบรถยนต์มาใช้แล้วแต่ยังไม่ได้ ชำระราคา ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและดำเนินกิจการจนมีผลกำไรอันจักต้องแบ่งให้แก่ หุ้นส่วนทุกคนตามสัญญา นายมิ่งได้รับส่วนแบ่งกำไรส่วนของตนตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนมาแล้ว แต่ไม่ยอมแบ่ง ให้แก่หุ้นส่วนคนอื่น นายมุ่งและนายมั่นต่างได้ทวงถามแล้ว แต่นายมิ่งก็ไม่แบ่งให้ ทั้งไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้แก่ บริษัทเจริญยนต์ จำกัดอีกด้วย นายมั่นไม่พอใจนายมิ่งมากและประสงค์จะถอนหุ้นโดยเรียกเงินที่ลงเป็นค่าหุ้นคืนจาก นายมิ่ง แต่นายมิ่งก็ไม่ยอมคืนให้ 

ให้วินิจฉัยว่า 

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระราคารถยนต์ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้หรือไม่ 
(ข) นายมั่นจะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและขอให้คืนเงิน ค่าหุ้นที่ได้ลงไปให้แก่ตนด้วยได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) บริษัทเจริญยนต์ จำกัด มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมุ่งและนายมิ่งให้ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวได้ ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 ห้างหุ้นส่วนจำกัดถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่ จำกัดจำนวน นายมุ่งได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะกับบริษัทเจริญยนต์ จำกัด ก่อนที่ห้างจะได้จดทะเบียน ดังนั้น ต้องถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หุ้นส่วนทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระราคารถยนต์กระบะ ให้แก่บริษัทเจริญยนต์ จำกัด แม้นายมุ่งจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตาม ก็ไม่อาจอ้างเพื่อให้พ้น ความรับผิดได้ตามนัยแห่งบทกฎหมายข้างต้น ทั้งนายมุ่งยังมีความรับผิดในฐานะที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเจริญยนต์ จำกัด อีกด้วย ส่วนนายมิ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนก็ต้องรับผิดเช่นกัน เพราะรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซื้อเพื่อนำมาใช้ใน กิจการของห้างหุ้นส่วน จึงถือได้ว่าเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในการชำระราคาให้แก่ ผู้ขาย (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2519, 992/2521) 

(ข) นายมั่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องนายมิ่งขอให้แบ่งส่วนกำไรให้ตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการฟ้องอ้างว่าหุ้นส่วนด้วยกันปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ยอมแบ่งกำไรให้ตามสัญญา แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยังไม่เลิกกันก็ไม่ขัดขวางการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะฟ้องหุ้นส่วนคนอื่นว่าปฏิบัติผิดสัญญา ทั้งไม่มีกฎหมายบทใด บังคับว่า เมื่อยังมิได้เลิกหุ้นส่วนกันแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนฝ่ายหนึ่งจะฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งหาว่าผิดสัญญาไม่ได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2497) 

ส่วนการที่นายมั่นฟ้องนายมิ่งขอให้คืนเงินค่าหุ้นที่ตนได้ลงไปนั้น นายมั่นไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องได้ ทั้งนี้เพราะถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่เลิก ผู้เป็นหุ้นส่วนจะฟ้องขอคืนเงิน ค่าหุ้นโดยไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้าง และขอให้ชำระบัญชีด้วยไม่ได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น เมื่อเลิกห้างจะต้องมีการชำระ บัญชีตามมาตรา 1061 เมื่อนายมั่นไม่ได้ฟ้องขอเลิกห้างและขอให้ชำระบัญชีก่อน แต่มาฟ้องขอคืนเงินค่าหุ้น นายมั่น จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2514, 1767/2529) 

ข้อ 8. 

นายหนึ่งซึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับในขณะที่มีสติดี และถูกต้องตามกฎหมาย ยกแหวนเพชร 1 วง ที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรสให้แก่นายสอง ซึ่งเป็นเพื่อน หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายหนึ่งได้เขียนข้อความเพิ่มเติมยกเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจาก ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่งภายหลังที่นายหนึ่งสมรสโดยชอบต่อจากข้อความ ยกแหวนเพชรตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าว โดยมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ขณะที่นายหนึ่งถึงแก่ความตาย นายสามบุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่งตายไปก่อนแล้วและนายหนึ่งไม่มีญาติอื่นอีกเลย นอกจากนายสองซึ่งบวชเป็น พระภิกษุ นายห้าซึ่งมิได้เป็นบุตรของนายหนึ่งแต่นายหนึ่งนำมาเลี้ยงเสมือนเป็นบุตรโดยมิได้จดทะเบียนรับเป็น บุตรบุญธรรม กับนายสี่ซึ่งนายสามจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมไว้ 

ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการตามพินัยกรรมของนายหนึ่งจะตกทอดแก่ผู้ใด 

ธงคำตอบ 

กรณีที่นายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ นายหนึ่งสามารถทำพินัยกรรมได้ เพราะ ความสามารถหาได้ถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528) 

แหวนเพชรและเงินจำนวน 100,000 บาท ต่างเป็นสินส่วนตัวของนายหนึ่งเพราะแหวนเพชรเป็นทรัพย์สิน ที่นายหนึ่งได้รับการยกให้โดยเสน่หาระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ส่วนเงิน 100,000 บาท ซึ่งได้มาจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการขายที่ดินสินส่วนตัวของนายหนึ่ง มิใช่ดอกผลของ สินส่วนตัวอันจะเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา 1775/2512) ทรัพย์สิน ดังกล่าวจึงเป็นของนายหนึ่งที่จะทำพินัยกรรมได้ แม้นายหนึ่งเขียนพินัยกรรมเพิ่มเติมระบุเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายสองโดยมิได้ลงลายมือชื่อ กำกับไว้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 1657 วรรคสองก็ตาม แต่คงมีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความส่วนนี้เท่านั้น ข้อความส่วนอื่นยังคงสมบูรณ์อยู่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546) ดังนั้น แหวนเพชรจึงตกทอดแก่นายสอง ตามพินัยกรรม เพราะการเป็นพระภิกษุอยู่ก็อาจรับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ตามมาตรา 1622 วรรคสอง 

ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท ต้องนำมาปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตาม มาตรา 1620 นายสองมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา 1629 เพราะนายสองเป็นเพียงเพื่อน นายห้ามิได้เป็นบุตร ของนายหนึ่ง และนายหนึ่งก็มิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม จึงมิใช่ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1627 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9003/2547) 

ส่วนนายสี่แม้จะเป็นบุตรบุญธรรมของนายสาม ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ เพราะมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1643 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540) ดังนั้นเมื่อนายหนึ่งไม่มี ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เงินจำนวนนี้จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา 1753