ข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง ปี 2549

ข้อ 1. 

นายเดชและนายสมต่างเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกัน โดยที่ดินของนายเดชอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินของ นายสม ด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวติดถนนสาธารณะ นายชิตมีที่ดินมีโฉนดติดกับทางทิศใต้ของที่ดินของนายสม และติดกับทิศตะวันออกของที่ดินของนายเดช เมื่อปี 2537 นายชิตอนุญาตให้นายจักรบุตรชายปลูกบ้านในที่ดินของนายชิต นายจักรจึงได้ใช้ที่ดินของนายเดชส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินของนายชิตและนายสมทางทิศตะวันตกกว้าง 3 เมตร ทำเป็นทางเข้าออก สู่ถนนสาธารณะตลอดมาโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านการใช้ทางดังกล่าว ในปีเดียวกันนั้นนายสมได้เปิด ร้านค้าขายสินค้าจำพวกเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ทุกเช้านายสมได้ให้ลูกจ้างนำสินค้าวางล้ำเข้าไปในที่ดินของนายเดชประมาณ 1 เมตร ในส่วนที่นายจักรทำเป็นทางดังกล่าว และเก็บสินค้าเข้าร้านตอนเย็น โดยนายสมไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เช่นเดียวกัน ต่อมาปี 2549 นายเดชปิดทางไม่ยอมให้นายจักรใช้ผ่านเข้าออกและห้ามนายสมไม่ให้นำสินค้ามาวางบนที่ดินของ นายเดชอีกต่อไป นายจักรและนายสมจึงฟ้องนายเดชต่อศาลว่าทั้งสองคนได้ภาระจำยอมในที่ดินของนายเดชโดยอายุความแล้ว 

ให้วินิจฉัยว่า นายจักรและนายสมจะอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความในที่ดินของนายเดชได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

กรณีของนายจักร แม้จะได้ความว่าเป็นเจ้าของบ้านและได้ใช้ทางพิพาทมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วก็ตาม แต่นายจักรไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้ปลูกบ้าน เป็นเพียงผู้อาศัยสิทธิของนายชิตที่อนุญาตให้ปลูกบ้านในที่ดิน ของนายชิตเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภาระจำยอมก็ต้อง เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ดังนั้น การใช้ทางพิพาทในที่ดินของนายเดชจะตกเป็นทางภาระจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์ แก่ที่ดินของนายชิตเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งนายจักรอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของนายชิต นายจักรจึงไม่ได้ ภาระจำยอมในที่ดินของนายเดชโดยอายุความตามมาตรา 1401 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4238/2536 และ 269/2539) 

ส่วนกรณีของนายสมนั้น ภาระจำยอมตามมาตรา 1387 เป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามยทรัพย์ แม้จะได้ความว่านายสมเป็นเจ้าของที่ดินและได้ใช้ที่ดินของนายเดชเป็นที่วางสินค้า มาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยก็ตาม แต่การใช้ที่ดินของนายเดชเป็นที่วางสินค้าดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ ที่ดินของนายเดชเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายสมเองโดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่นายสม เป็นเจ้าของตามความหมายของมาตรา 1387 นายสมจึงไม่ได้ภาระจำยอมในที่ดินของนายเดชโดยอายุความตามมาตรา 1401 เช่นเดียวกัน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 8727/2544) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4238/2536
อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภารจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น กรณีทางพิพาทในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นดังกล่าว ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของบ้านแต่มิได้เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 เพราะเป็นการใช้ทางภารจำยอมโดยอาศัยสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ตนปลูกบ้านอยู่เท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2539
การใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นดังกล่าวโจทก์ ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่1ซึ่งเป็นเจ้าของทางภารจำยอมจึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความได้เพราะเป็นการใช้ทางภารจำยอมโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ ที่ 1 และเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2544
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้นำโครงเหล็กที่จำเลยวางขายสินค้าออกไปจากทางพิพาทโดยอ้างว่าทางพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยให้การยอมรับว่าทางพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ ไม่ได้ยืนยันว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เพียงแต่ให้การว่าทางพิพาทเป็นเสมือนทางสาธารณะ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง 
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยนำโครงเหล็กของจำเลยออกไปจากทางพิพาทเท่านั้นมิได้ห้ามจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จึงถือว่าจำเลยมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิเรื่องการใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมพื้นที่พิพาทให้เป็นที่วางสินค้าของจำเลย จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งในส่วนนี้ ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเรียกว่าสามยทรัพย์ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่อยู่ติดทางพิพาท แต่การที่จำเลยใช้ทางพิพาทวางสินค้าเพื่อจำหน่ายในกิจการค้าของจำเลยเป็นการใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยโดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของ ดังนั้น ภารจำยอมจึงไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ จำเลยไม่ได้ภารจำยอมในทางพิพาท 

ข้อ 2. 

นายเอกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งขอกู้เงินจากนายโทจำนวน 500,000 บาท นายโทยังไม่มีเงินในขณะนั้น จึงให้นายเอกจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้นายโทเพื่อนายโทจะได้นำโฉนดที่ดินนั้นไปแสดงกับเพื่อนและยืมเงินจากเพื่อนมาให้ นายเอกกู้ต่อไป นายเอกจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้นายโทโดยนายโทมิได้ชำระราคาที่ดินให้นายเอกในวันนั้น เพียงแต่ นัดให้นายเอกไปรับเงินที่ขอกู้ที่บ้านนายโท หลังจากนั้นอีก 3 วัน เมื่อถึงวันนัดนายโทให้นายเอกทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน ตามโฉนดที่ดินนั้นให้นายโทยึดถือไว้อีกฉบับหนึ่ง โดยมีข้อตกลงให้ไถ่ที่ดินคืนภายใน 3 ปี และกำหนดให้นายเอกชำระดอกเบี้ย ให้นายโทเดือนละ 10,000 บาท แล้วนายโทมอบเงินที่ยืมจากเพื่อนให้นายเอกรับไปจำนวน 490,000 บาท โดยหักไว้เป็น ดอกเบี้ย 10,000 บาท หลังจากนั้นนายเอกชำระดอกเบี้ยให้นายโททุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท เมื่อทำสัญญาขายฝากได้ 2 ปี นายเอกนำเงิน 500,000 บาท ไปขอไถ่ที่ดินคืนจากนายโท แต่นายโทไม่ยอมให้นายเอกไถ่ที่ดินคืนอ้างว่านายเอกได้ขายที่ดินนั้นให้ นายโทโดยเด็ดขาดแล้วมิได้ขายฝากที่ดินนั้น นายเอกต้องการฟ้องบังคับให้นายโทคืนที่ดินดังกล่าวให้นายเอก 

ให้วินิจฉัยว่า นายเอกจะฟ้องบังคับให้นายโทคืนที่ดินให้นายเอกได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายเอกจดทะเบียนโอนขายที่ดินมีโฉนดให้แก่นายโทโดยนายโทมิได้ชำระราคาที่ดินที่ซื้อให้แก่นายเอก แต่อย่างใด เพียงแต่นัดให้นายเอกไปรับเงินที่บ้านนายโทหลังจากนั้นอีก 3 วัน และในวันนัดนั้นนายโทให้นายเอกทำสัญญา ขายฝากที่ดินนั้นให้อีกฉบับหนึ่ง โดยทำหนังสือสัญญากันเองมีข้อตกลงให้นายเอกไถ่ที่ดินคืนภายใน 3 ปี และให้นายเอกชำระ ดอกเบี้ยให้นายโทเดือนละ 10,000 บาท แล้วนายโทจ่ายเงินที่นายเอกขอกู้ให้นายเอกเป็นจำนวน 490,000 บาท โดยหักเงิน 10,000 บาท ไว้เป็นดอกเบี้ยนั้น แสดงให้เห็นว่านายเอกและนายโทมิได้ตั้งใจจะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขาย ถือได้ว่านายเอก และนายโททำสัญญาซื้อขายเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขายจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมา ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาซื้อขายนั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพราง ไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อนายเอกและนายโทมีเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินกัน แต่การขายฝากไม่ได้จดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาขายฝากที่ดินจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 152 บังคับตามสัญญาขายฝากนั้น ไม่ได้เช่นเดียวกัน คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันมาตั้งแต่แรก กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 406 วรรคหนึ่ง ที่ดินที่นายโทได้รับมาเป็นลาภมิควรได้แก่นายโท นายเอกจึงฟ้องบังคับให้นายโทคืนที่ดินนั้นให้นายเอกได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 165/2527) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 165/2527
โจทก์ต้องการกู้เงินจำเลย จำเลยไม่มีเงิน จึงตกลงจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทมี น.ส.3ก. เพื่อจำเลยจะได้นำ น.ส.3ก. ไปยืมเงินเพื่อนมาให้โจทก์กู้ หลังจากนั้นอีก 4 วันโจทก์มารับเงินจากจำเลย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทกันเอง ดังนี้ ถือได้ว่าการทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทเพื่ออำพรางสัญญาขายฝาก สัญญาซื้อขายจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 115 กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินให้โจทก์ 

ข้อ 3. 

นางสาวมุกดายืมเครื่องเพชรจากนางมณีฉายเพื่อนสนิทเพื่อใส่ไปร่วมงานแสดงเครื่องเพชร นางมณีฉายมอบ เครื่องเพชรชุดใหญ่ที่ประกอบด้วยสร้อยคอ สร้อยข้อมือและต่างหูให้แก่นางสาวมุกดา โดยนางสาวมุกดาสัญญาว่าจะคืนให้ หลังวันงาน แต่นางสาวมุกดาไม่คืนเครื่องเพชรหลังงานแสดงเครื่องเพชรผ่านพ้นไปแล้วหลายวัน เมื่อนางมณีฉายทวงคืน นางสาวมุกดาบอกนางมณีฉายว่ายังไม่คืนเพราะได้นำเครื่องเพชรทั้งหมดไปจ้างทำความสะอาดที่ร้านไดมอนด์ ต่อมาลูกจ้าง ของร้านไดมอนด์แอบขโมยสร้อยข้อมือเพชรดังกล่าวไป เมื่อนางสาวมุกดาขอรับเครื่องเพชรจึงทราบสาเหตุ และทางร้านติดตาม หาตัวลูกจ้างไม่ได้ เจ้าของร้านไดมอนด์จึงยอมรับผิดต่อนางสาวมุกดาโดยยอมมอบสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชรที่มีราคามากกว่า สร้อยข้อมือเพชรที่ถูกขโมยไป ต่อมานางสาวมุกดานำเครื่องเพชรที่เหลือไปคืนให้แก่นางมณีฉายพร้อมแจ้งเรื่องที่ลูกจ้าง ของร้านไดมอนด์ขโมยสร้อยข้อมือเพชรไป นอกจากนี้ยังนำสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชรที่ได้รับจากร้านไดมอนด์มาอวด นางมณีฉายอีกด้วย 

ให้วินิจฉัยว่า นางมณีฉายจะมีสิทธิเรียกร้องต่อนางสาวมุกดาและต่อเจ้าของร้านไดมอนด์หรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

นางมณีฉายมีสิทธิเรียกร้องให้นางสาวมุกดารับผิดได้ โดยเป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องรับผิดในการที่การชำระหนี้ กลายเป็นพ้นวิสัยที่เกิดขึ้นในระหว่างลูกหนี้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 217 นางมณีฉายในฐานะเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้นางสาวมุกดาลูกหนี้ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย ดังกล่าว หรืออาจเลือกใช้สิทธิช่วงทรัพย์ตามมาตรา 228 โดยเรียกให้นางสาวมุกดาส่งมอบสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชร แทนสร้อยข้อมือเพชรที่พ้นวิสัยไปก็ได้ ส่วนกรณีเจ้าของร้านไดมอนด์ซึ่งต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าของร้านไดมอนด์ได้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยสร้อยข้อมือทับทิมล้อมเพชรให้แก่นางสาวมุกดาซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์ ในขณะที่มีการละเมิดเกิดขึ้นโดยสุจริตแล้ว เจ้าของร้านไดมอนด์ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 441 ให้หลุดพ้น จากหนี้ในมูลละเมิดเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น ดังนั้น นางมณีฉายจึงไม่มีสิทธิเรียกให้เจ้าของร้านไดมอนด์รับผิด 

ข้อ 4. 

นายโตให้นายเต้ยเช่าตึกแถวเพื่ออยู่อาศัยโดยทำสัญญาเป็นหนังสือมีกำหนดหกปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ชำระค่าเช่าทุกสามเดือนต่อครั้ง นายเต้ยอยู่อาศัยได้หนึ่งปี เห็นว่าตึกแถวอยู่ในทำเลการค้า จึงตกแต่งตึกแถวดำเนินกิจการเป็น ร้านอาหาร เมื่อนายโตทราบเรื่องได้มีหนังสือถึงนายเต้ยให้หยุดประกอบกิจการค้าและขอบอกเลิกสัญญาเช่าทันที นายเต้ยได้รับ หนังสือก็หยุดกิจการร้านอาหารทั้งหมดและตกแต่งตึกแถวให้กลับคืนสภาพเดิม ต่อมาเมื่อสัญญาเช่าครบหนึ่งปีหกเดือน นายโต มีหนังสือถึงนายเต้ยอีกฉบับหนึ่งว่าไม่ประสงค์ให้นายเต้ยเช่าตึกแถวต่อไป ขอบอกเลิกสัญญาเช่า ให้นายเต้ยขนย้ายออกไปภายใน กำหนดสองเดือน นายเต้ยได้รับหนังสือฉบับหลังแล้วแต่ไม่ยอมออกไปตามกำหนดดังกล่าว นายโตประสงค์จะฟ้องขับไล่นายเต้ย โดยเห็นว่าสัญญาเช่าตึกแถวระงับไปแล้ว เนื่องจากนายเต้ยผิดสัญญาใช้ทรัพย์ที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งนายโตบอกเลิกสัญญาแล้วประการหนึ่ง กับนายโตได้บอกเลิกสัญญาเช่าให้นายเต้ยรู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง เป็นอย่างน้อยแล้วอีกประการหนึ่ง 

ให้วินิจฉัยว่านายโตมีสิทธิฟ้องขับไล่นายเต้ยตามข้ออ้างสองประการดังกล่าวหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การที่นายเต้ยทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวของนายโตเพื่ออยู่อาศัย แต่ต่อมาได้ตกแต่งตึกแถวเปิดกิจการเป็น ร้านอาหาร ถือเป็นการใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 552 นายโตผู้ให้เช่าสามารถบอกกล่าวให้นายเต้ยผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ หากนายเต้ยละเลยไม่ปฏิบัติตาม นายโตก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าเสียได้ตามมาตรา 554 แต่เมื่อนายเต้ยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากนายโตแล้วได้แก้ไข โดยหยุดกิจการร้านอาหารทั้งหมดและตกแต่งตึกแถวให้กลับคืนสภาพเดิม สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าของนายโตในกรณีนี้ ย่อมระงับไป แม้นายโตจะแจ้งขอบอกเลิกสัญญาเช่าในหนังสือบอกกล่าวด้วย ก็ไม่มีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่า โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่นายโตมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งบอกเลิกสัญญาเช่าโดยให้นายเต้ยขนย้ายออกจากตึกแถวภายในกำหนด สองเดือนนั้น เนื่องจากการเช่ารายนี้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันเองมีกำหนดหกปี โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีผลบังคับได้เพียงสามปีตามมาตรา 538 และถือว่าการเช่าในสามปีแรกเป็นการเช่าที่มีกำหนดเวลา นายโตจะใช้สิทธิ เลิกการเช่าก่อนครบสามปีโดยการบอกกล่าวแก่นายเต้ยให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือนตามมาตรา 566 ซึ่งเป็นบทกฎหมายว่าด้วยการบอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่มี กำหนดเวลาหาได้ไม่ ที่นายโตบอกเลิกสัญญาเช่ารายนี้ในขณะที่นายเต้ยเช่าตึกแถวเพียงหนึ่งปีหกเดือน จึงเป็นการ บอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 53/2546) ดังนั้น นายโตไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่นายเต้ยตามข้ออ้างทั้งสองประการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2546
สัญญาเช่าอาคารที่โจทก์ทำกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่า สัญญาดังกล่าวจึงบังคับได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และต้องถือว่าการเช่าใน 3 ปีแรก เป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าหลังจากเช่าไปแล้ว 1 ปีเศษ ถือว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดให้สิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 

ข้อ 5. 

นายแดงกู้ยืมเงินจากนายเฮง 200,000 บาท มีนางสาวสวยและนายดำเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนายแดง โดยยอมรับผิดต่อนายเฮงอย่างลูกหนี้ร่วม และทำหลักฐานการกู้ยืมและค้ำประกันเป็นหนังสือถูกต้อง ต่อมานางสาวสวยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่นายเฮง 150,000 บาท นายเฮงไม่ติดใจเรียกร้องจากนางสาวสวยอีกจึงทำหนังสือปลดหนี้ ให้แก่นางสาวสวย แล้วนายแดงตกลงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่นางสาวสวยว่าเป็นหนี้เงินกู้นางสาวสวย 150,000 บาท ตามที่ชำระหนี้แทนไป 

ให้วินิจฉัยว่า 

(ก) นายแดงจะต้องรับผิดต่อนายเฮงและนางสาวสวยหรือไม่ เพียงใด 
(ข) นายดำจะต้องรับผิดต่อนายเฮงหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ 

(ก) การที่ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม มีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่ผู้ค้ำประกัน อาจยกเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้น หน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ก็ดี ต่อผู้ค้ำประกันในฐานะพิเศษดังกล่าวก็ดี ยังคงมีอยู่ตามเดิม (คำพิพากษาฎีกาที่ 893/2540) หนี้ที่เหลือนั้นลูกหนี้ชั้นต้น ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 685 เงินกู้จำนวน 50,000 บาท ที่นางสาวสวยยังมิได้ชำระ แม้นายเฮงจะไม่ติดใจเรียกร้องจากนางสาวสวยด้วยการปลดหนี้ ก็ยังคงเป็นหนี้ส่วนที่มิได้มีการชำระ นายแดงในฐานะ ลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดชำระเงินกู้จำนวน 50,000 บาท ให้แก่นายเฮง เมื่อนางสาวสวยชำระหนี้แทนนายแดงจำนวน 150,000 บาท ย่อมรับช่วงสิทธิของนายเฮงเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่ นายแดงเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 693 วรรคหนึ่ง แต่การที่นายแดงตกลงทำสัญญากู้เงินให้ไว้แก่นางสาวสวยว่า เป็นหนี้เงินกู้จำนวน 150,000 บาท ตามที่ได้ชำระหนี้แทนไป ถือได้ว่ามีหนี้ใหม่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ แห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มีผลทำให้สิทธิไล่เบี้ยนั้นระงับไป และถือว่าได้มีการส่งมอบเงินกู้แล้ว นางสาวสวยย่อมบังคับ ตามมูลหนี้ในสัญญากู้อันเกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ได้ ดังนั้น นายแดงต้องรับผิดชำระเงินกู้จำนวน 150,000 บาท ให้แก่นางสาวสวย 

(ข) การค้ำประกันของนายดำเป็นการค้ำประกันหนี้รายเดียวกับนางสาวสวย ย่อมมีผลเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับ นางสาวสวยจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 682 วรรคสอง เมื่อนางสาวสวยได้ชำระหนี้ให้แก่นายเฮงบางส่วน และนายเฮงได้ปลดหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่นางสาวสวย ย่อมมีผลให้หนี้สำหรับนายดำระงับด้วยตามมาตรา 340 และมาตรา 293 นายดำจึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดต่อนายเฮง (คำพิพากษาฎีกาที่ 893/2540, 2551/2544)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2540
การที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมมีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่ผู้ค้ำประกันอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้นหน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ก็ดีต่อผู้ค้ำประกันในฐานะพิเศษดังกล่าวก็ดียังคงมีอยู่ตามเดิมเหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของผู้ค้ำประกันจะเป็นผลให้จำเลยที่1ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นไปด้วยนั้นย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 685 คือ จะหลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนหนี้ที่ยังเหลือนั้นจำเลย ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ดังนี้ที่บุคคลภายนอกชำระหนี้แทน ท. ผู้ค้ำประกันไปเท่าใดถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดย ท. และมีผลให้จำเลยที่1หลุดพ้นเพียงเท่าจำนวนนั้นหนี้ส่วนที่ ท. ยังมิได้ชำระแม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะไม่ติดใจเรียกร้องจาก ท. ไม่ว่าจะในรูปปลดหนี้หรือประนีประนอมยอมความหนี้ส่วนดังกล่าวยังคงเป็นส่วนที่ยังมิได้มีการชำระจำเลย ที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นการค้ำประกันหนี้รายเดียวย่อมมีผลเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับ ท. จึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับ ท. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อ ท. โดยบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ที่ตนค้ำประกันเต็มจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้องแล้วทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สละสิทธิต่อท. มีผลให้หนี้ระงับสำหรับท. ย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยที่2ระงับด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 340 และมาตรา 293 จำเลย ที่ 2 จึงหลุดพ้นไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2544
จำเลยและ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับ ส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293 

ข้อ 6. 

นายจันทร์ออกเช็คผู้ถือลงวันที่ล่วงหน้าเตรียมไว้สำหรับชำระหนี้ค่าสินค้าแล้วทำเช็คหายไป นายอังคารเก็บเช็คได้นำ ไปแลกเงินสดจากนายพุธ นายพุธไม่รู้ว่านายอังคารเก็บเช็คได้จึงรับแลกเช็คไว้โดยให้นายอังคารลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้ด้วย ต่อมานายจันทร์ทราบว่าเช็คอยู่ที่นายพุธจึงไปขอเช็คคืน โดยแจ้งให้ทราบว่าเช็คดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะตนทำหายไป นายพุธ ไม่ยอมคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายพุธได้ยื่นฟ้องนายจันทร์กับนายอังคารให้ร่วมกัน รับผิดใช้เงินตามเช็ค ทั้งสองคนต่อสู้ว่า นายพุธรู้แล้วว่าเช็คไม่มีมูลหนี้แต่ยังรับแลกเช็คไว้เป็นการคบคิดกันฉ้อฉล นายพุธไม่ใช่ ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง 

ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายจันทร์และนายอังคารฟังขึ้นหรือไม่ 

ธงคำตอบ 

การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรง ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2532, 4279/2536) เมื่อขณะรับโอนเช็คมาจากนายอังคาร นายพุธไม่รู้ว่านายอังคารเก็บเช็คได้ นายพุธรับโอนเช็คมาโดยสุจริต จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และมาตรา 905 วรรคสาม (คำพิพากษาฎีกาที่ 6005/2539, 480/2514) 

แม้ก่อนที่เช็คถึงกำหนดนายพุธจะรู้ว่าเช็คที่นายจันทร์สั่งจ่ายไม่มีมูลหนี้เพราะนายจันทร์ทำเช็คหายไปและนายอังคาร เก็บเช็คได้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายพุธรับโอนเช็คมาจากนายอังคารแล้ว จึงมิใช่กรณีที่นายพุธคบคิดกับนายอังคาร ฉ้อฉลนายจันทร์ หรือมีความไม่สุจริตในขณะที่รับโอนเช็ค นายจันทร์ในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดตามเช็คต่อนายพุธ ส่วนนายอังคารลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ จึงเป็นประกัน (อาวัล) นายจันทร์ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 และมีผลผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับนายจันทร์ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ข้อต่อสู้ของนายจันทร์และนายอังคารฟังไม่ขึ้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2532
การคบคิดกันฉ้อฉลหรือความไม่สุจริตอันจะทำให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็ค 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2536
การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีแล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ไม่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6005/2539
จำเลยให้การเพียงว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ จ. ต่อมา จ. ทำเช็คพิพาทหายไปจึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจและจำเลยได้แจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารไว้ต่อมา จ. ทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักไปและอยู่ที่โจทก์ จ. แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์รับว่าจะคืนเช็คให้แต่กลับนำเช็คมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนี้ คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมานั้นโจทก์รู้ว่าเป็นเช็คที่ถูกลักมาหรือโจทก์ได้มาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไรเป็นคำให้การที่มิได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยทุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะต้องสละเช็คพิพาทนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905 วรรคสอง และวรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2514
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คและโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดย จ. ได้สลักหลังแล้วมอบให้โจทก์ โจทก์นำเช็คนี้เข้าบัญชี แต่ธนาคารคืนเช็คมายังโจทก์ เพราะจำเลยได้สั่งอายัดไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริงโดยเตรียมไว้สำหรับชำระหนี้ให้แก่ผู้อื่น แต่ จ. ได้ลักเช็คดังกล่าวไปเสียก่อน จำเลยได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีนิติสัมพันธ์อันใดกับจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องประการใดจากจำเลย ดังนี้ เมื่อจำเลยมิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทนั้นมาโดยคบคิดกับ จ. เพื่อฉ้อฉลจำเลยก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริต การที่ จ. แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ทุจริตจึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ผู้ทรงได้ตาม มาตรา 905 และมาตรา 916 ฉะนั้น จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังที่ปรากฏในคำให้การไม่ เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ถือจึงนับได้ว่าเป็นผู้ทรง เมื่อโจทก์นำไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้จำเลยก็ย่อมมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2514) 

ข้อ 7. 

นายตุนเป็นเจ้าของตึกแถว 3 ชั้นหนึ่งห้อง ต้องการลงทุนเปิดเป็นร้านขายของแต่ไม่มีเงินจึงไปชวนเพื่อนชื่อนายตันและ นายต่วนเข้าหุ้น ทั้งสองคนตกลงเอาเงินสดคนละ 100,000 บาท มาลงทุนร่วมกับนายตุน โดยทั้งสามคนตกลงจะไปจดทะเบียน เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดภายหลัง ให้นายตุนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ระหว่างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็ให้ทำการค้าร่วมกันไปก่อน นายตุน เห็นว่าร้านที่ตั้งขึ้นนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ในตึกแถวชั้นที่ 3 จึงทำสัญญาเช่าให้นางสาวดรุณีผู้เช่าใช้เป็นห้องพักอาศัย ต่อมาปีเศษ ร้านค้าขายขาดทุน ทั้งนายต่วนถูกรถยนต์ชนถึงแก่ความตาย นายตันเตือนให้นายตุนรีบไปจดทะเบียนร้านตามข้อตกลง และเรียก ค่าเช่าที่นางสาวดรุณีค้างชำระอยู่จำนวน 38,000 บาท เพื่อมาใช้เป็นทุนในร้าน แต่นายตุนเพิกเฉย นายตันจึงฟ้องนางสาวดรุณี เรียกค่าเช่าตามสัญญาเช่าจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย และแจ้งนายตุนขอเลิกกิจการร้านนี้ 

ให้วินิจฉัยว่า 
(ก) นายตันจะฟ้องนางสาวดรุณีได้หรือไม่ 
(ข) นายตันมีสิทธิขอเลิกกิจการร้านนี้ได้หรือไม่ 

ธงคำตอบ 

(ก) กรณีตามปัญหา กิจการที่นายตุน นายตันและนายต่วนร่วมกันเปิดเป็นร้านขายของนั้นเป็นสัญญาจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 แม้จะตกลงกันให้จัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ถ้ายังมิได้ จดทะเบียนอยู่ตราบใด ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญอยู่ ตามมาตรา 1079 ซึ่งจักต้องใช้บทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญ มาใช้บังคับ คดีที่นายตันฟ้องนางสาวดรุณีเรียกค่าเช่าตามสัญญาเช่า แม้นายตันเป็นหุ้นส่วนและมีส่วนเป็นเจ้าของในตึกแถว ชั้นที่ 3 ที่ให้เช่าด้วยก็ตาม แต่นายตันมิใช่คู่สัญญากับนางสาวดรุณีในสัญญาเช่าตึกดังกล่าว ดังนั้น นายตันย่อมไม่อาจถือสิทธิ ตามสัญญาเช่าเรียกค่าเช่าจากนางสาวดรุณีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามมาตรา 1049 นายตันจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่า พร้อมดอกเบี้ยจากนางสาวดรุณี (คำพิพากษาฎีกาที่ 2578/2535) 

(ข) เมื่อนายต่วนหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกัน ตามมาตรา 1055 (5) เว้นแต่หุ้นส่วนอื่นที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้นั้น ตามมาตรา 1060 เมื่อไม่ปรากฏเหตุดังกล่าว นายตันจึงมีสิทธิขอเลิกกิจการได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3196/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2535
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดย ไม่ชำระค่าเช่าจึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่โจทก์ได้ชำระแทนไปข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดย จำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า มิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ไม่เป็นฟ้องซ้อน หุ้นส่วนที่จะฟ้องบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญได้จะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 การฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคน เมื่อตามสัญญาเช่ามีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่า และไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2532
เมื่อหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตาย ห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5) , 1080 แต่หุ้นส่วนที่ยังคงอยู่อาจตกลงให้ห้างยังคงอยู่ต่อไป โดยรับทายาทของหุ้นส่วนที่ตายเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนได้ เมื่อปรากฏว่า บ. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาหุ้นส่วนอื่นได้รับ ช. ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกให้เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน บ. ห้างโจทก์จึงคงอยู่ต่อมาและเมื่อศาลอนุญาตให้ ช. เข้าเป็นผู้แทนโจทก์แทน บ. แล้ว ห้างโจทก์จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย 

ข้อ 8. 

นายกิ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายต้น ซึ่งนายต้นรับรองแล้วว่าเป็นบุตร นายกิ่งได้จดทะเบียนสมรสกับนางใบ หลังจากนายยอดสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางใบตายแล้ว 2 เดือน และนางใบคลอดบุตรชื่อเด็กชายผลหลังจาก จดทะเบียนสมรสได้ 3 เดือน ต่อมาอีก 25 ปี นายกิ่งถึงแก่ความตายนายกิ่งมีทรัพย์สินส่วนตัวคือเงินจำนวน 100,000 บาท กับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 80,000 บาท ซึ่งเงินเฉพาะส่วนนี้ นายกิ่งได้ระบุในใบสมัครในการเข้าเป็นสมาชิกฌาปนกิจ สงเคราะห์ให้นางใบเป็นผู้รับเมื่อนายกิ่งตาย หากปรากฏว่าหลังจากที่นายกิ่งตายแล้ว นางใบและนายผลได้ร่วมกันทำบันทึกเป็น หนังสือมีข้อความว่านางใบจะไม่เรียกร้องทรัพย์มรดกของนายกิ่งอีกเพราะนางใบได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์แล้ว โดยนางใบ ลงลายมือชื่อในบันทึกแต่ผู้เดียว 

ให้วินิจฉัยว่า ทรัพย์มรดกของนายกิ่งมีอะไรบ้าง และจะตกทอดแก่ผู้ใด เพียงใด 

ธงคำตอบ 

สินส่วนตัวจำนวน 100,000 บาท เป็นทรัพย์มรดกของนายกิ่ง เพราะเป็นทรัพย์สินของนายกิ่งที่มีอยู่ก่อน หรือขณะถึงแก่ความตาย ส่วนเงินฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวน 80,000 บาท เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายกิ่ง จึงไม่ใช่ทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 

นายต้นมิใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่ง จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) ไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 525/2510) นางใบเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่งจึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง 

ส่วนนายผล กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1537 ว่านายผลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายกิ่ง เพราะนางใบจดทะเบียนสมรสใหม่กับนายกิ่ง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1453 และคลอดนายผลภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ การสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลง นายผลจึงเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายกิ่งจึงตกทอด แก่นางใบและนายผล แต่การที่นางใบและนายผล ทำบันทึกเป็นหนังสือร่วมกันว่านางใบจะไม่เรียกร้องทรัพย์มรดกของนายกิ่งอีก เป็นการ ตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกของนายกิ่งที่จะมีขึ้นในเรื่องของการแบ่งปันทรัพย์มรดกในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการ สละมรดกโดยทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนางใบสละมรดกทั้งหมด มิใช่สละมรดกบางส่วน เพราะนายกิ่งมี ทรัพย์มรดกคือเงินที่เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น กรณีต้องตามมาตรา 1612 และ 1613 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3776/2545) แม้นายผลผู้รับมรดกอีกผู้หนึ่งจะมิได้ลงลายมือชื่อในบันทึก การสละมรดกของนางใบก็มีผลบังคับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1419/2492) ดังนั้น ทรัพย์มรดกทั้งหมดของนายกิ่งจึงตกทอดแก่นายผลแต่ผู้เดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2510
แม้จำเลยจะได้แถลงรับว่า ทะเบียนการเกิด การตายทะเบียนโรงเรียนทะเบียนสำมะโนครัว เป็นเอกสารที่แท้จริง ก็ฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ได้แจ้งไว้ว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรของโจทก์จำเลยมิได้แถลงรับด้วยว่า โจทก์เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกทั้งก็ยังได้ความว่า โจทก์กับ ส. มารดาของเจ้ามรดกได้อยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์เป็นบิดานอกกฎหมายของเจ้ามรดก และในคำให้การของจำเลยก็ว่า ทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกไม่มีบุคคลใดอีกนอกจากจำเลย ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าโจทก์มิใช่ทายาทของเจ้ามรดก หาใช่จำเลยสละข้อต่อสู้ที่ว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกนั้นเสียไม่ แม้โจทก์เป็นผู้ให้กำเนิดแก่เจ้ามรดกแต่โจทก์กับเจ้ามรดกก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่า เป็นทายาทซึ่งกันและกัน หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มิฉะนั้นก็ไม่เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามปกติไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันอย่างใดเลย และไม่มีสิทธิได้รับมรดกซึ่งกันและกันด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 เป็นบทบัญญัติวางข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดารับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดกฎหมายบทนี้บัญญัติไว้แต่ว่าให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย (อ้างฎีกาที่ 1271/2506) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545
พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคนแต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 บันทึกข้อตกลงที่มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของ ส. ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก เป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 นอกจากนี้เงิน 10,000 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกเพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วนจึงมีผลเป็นการสละมรดกตามมาตรา 1612 และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้วมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกไม่มีอำนาจร้องขอถอนผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1419/2492
ผู้รับมรดกได้ทำเอกสารเป็นการประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612,850 และผู้รับมรดกผู้รับผิดได้ลงชื่อไว้ให้แล้วผู้รับมรดกคนอื่นที่มิได้สละสิทธิไม่จำต้องลงชื่อด้วยก็ย่อมใช้ได้และผูกพันผู้รับมรดกที่สละมรดกนั้น