ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
หมวด 4 บริษัทจำกัด
ส่วนที่ 11 การถอนทะเบียนบริษัทร้าง
มาตรา 1246
(1) เมื่อใดนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการ งานแล้ว ท่านให้นายทะเบียนมีจดหมายส่งทางไปรษณีย์ไปยังบริษัทนั้นเพื่อไต่ถามว่ายังทำการค้าขาย หรือประกอบการงานอยู่ประการใดหรือหาไม่
(2) ถ้านายทะเบียนส่งจดหมายไปแล้ว มิได้รับตอบภายในเวลาเดือนหนึ่งไซร้ เมื่อสิ้นเวลาเดือนหนึ่ง นั้นแล้ว ภายในสิบสี่วันต่อแต่นั้นไปให้นายทะเบียนมีจดหมายอีกฉบับหนึ่งส่งจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังบริษัทอ้างเท้าความถึงจดหมายฉบับแรก และแถลงว่ายังมิได้รับตอบหนังสือนั้นกับว่ามิได้รับตอบจดหมายฉบับที่สองนี้ภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ลงในจดหมายนั้นแล้ว จะได้ออกแจ้งความโฆษณาเพื่อการขีดชื่อบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
(3) ถ้านายทะเบียนได้รับตอบจากบริษัทว่า บริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วก็ดี หรือ มิได้รับตอบจดหมายฉบับที่สองนั้นเป็นประการหนึ่งประการใดภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ส่งไปก็ดี นายทะเบียนจะโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ และให้คำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังบริษัทก็ได้ ว่าเมื่อล่วงเวลาสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าวบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและจะต้องเลิก เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(4) ถ้าในกรณีที่กำลังชำระสะสางบัญชีเลิกบริษัท นายทะเบียนมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ ชำระบัญชีทำการอยู่ก็ดี หรือการงานของบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่รายงานแถลงบัญชีอันท่านบังคับไว้ว่าผู้ชำระบัญชีจะพึงต้องทำนั้น ยังมิได้ทำขึ้นสำหรับระยะเวลาหกเดือนอันนับแต่วันนายทะเบียนทำคำบอกกล่าวเรียกเอารายงานบัญชีและส่งทางไปรษณีย์ไปยังบริษัท หรือส่งไปยังผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานชั้นที่สุดของเขานั้นก็ดี ท่านว่านายทะเบียนจะโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ และส่งคำบอกกล่าวไปยังบริษัทเช่นอย่างที่ได้กล่าวมาในอนุมาตราก่อนนี้ก็ได้
(5) เมื่อสิ้นกำหนดเวลาดั่งจดแจ้งไปในคำบอกกล่าวนั้นแล้ว ถ้าบริษัทมิได้แสดงมูลเหตุมาเป็นอย่างอื่น ก่อนนั้น ท่านว่านายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนก็ได้ และในการนี้ให้ออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และบริษัทนั้นก็ให้เป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษานั้น แต่ว่าความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุกๆ คนมีอยู่เท่าไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิก
(6) ถ้าบริษัท หรือผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่ บริษัทถูกขีดชื่อจากทะเบียนนั้นไซร้ เมื่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอแก่ใจ ว่าในขณะที่ขีดชื่อบริษัทจากทะเบียนนั้นบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ก็ดี หรือมิฉะนั้นเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้บริษัทนั้นได้กลับคืนขึ้นทะเบียนก็ดี ท่านว่าศาลจะสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และถ้าเช่นนั้นท่านให้ถือว่าบริษัทนั้นได้คงตั้งยืนยงตลอดมาเสมือนดั่งว่ามิได้มีการขีดชื่อออกเลย อนึ่ง ด้วยคำสั่งอันนั้นศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อจัดให้บริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ เข้าสู่ฐานอันใกล้ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย
บริษัทร้าง ระยะนี้เป็นระยะที่บริษัททั้งหลายที่มีรอบปีบัญชี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ต้องจัดเตรียมเรื่องการส่งงบการเงิน หลายบริษัทได้ส่งงบการเงินแล้ว แต่ส่วนมากยังอยู่ระหว่างเตรียมการนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณารับรองงบการเงิน เพื่อส่งให้ทางราชการให้ทันภายในกำหนดเวลา ยกเว้นบริษัทที่เลิกกันแล้ว สำหรับการไม่ส่งงบการเงินอาจจะมีผลทำให้บริษัทต้องเลิกไปก็ได้ บริษัททั้งหลายเมื่อจดทะเบียนตั้งขึ้นแล้ว ต่างก็มีวัตถุประสงค์จะประกอบธุรกิจค้าขาย และส่วนมากตั้งขึ้นโดยไม่คิดที่จะเลิกบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจต้องเลิกกันทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจ ดังนี้
1. เลิกตามข้อกำหนดที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัท
(1.1) เมื่อมีข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกกันและเกิดกรณีนั้น เช่นมีข้อกำหนดว่าให้เลิกบริษัท ถ้าผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมติดต่อกันห้าปี ถ้าเกิดการขาดทุนสะสมติดต่อกันห้าปี บริษัทเป็นอันเลิก
(1.2) บางบริษัทอาจกำหนดระยะเวลาไว้ เช่น บริษัทตั้งขึ้นมีระยะเวลาสิบปี เมื่อครบสิบปีบริษัทเป็นอันเลิก
(1.3) บางบริษัทจดทะเบียนเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อทำกิจการเสร็จ เช่น บริษัทตั้งขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างสนามบิน เมื่อสร้างสนามบินเสร็จบริษัทเป็นอันเลิก
2. เลิกเมื่อมีประชุมมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท
มติพิเศษ คือ มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเห็นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ให้เลิกบริษัท โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมด และได้ลงมติยืนยันมตินั้นอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งที่สอง ซึ่งจัดให้มีการประชุมในเวลาไม่น้อยกว่าสิบสี่วันแต่ไม่เกินหกสัปดาห์นับแต่วันประชุมครั้งแรก และลงมติยืนยันมติเดิมด้วยเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมด
3. เมื่อบริษัทล้มละลาย
4. เมื่อศาลสั่งให้เลิก ในกรณีศาลสั่งให้เลิกจะต้องเกิดจากกรณีผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ยื่นฟ้องให้ศาลสั่งโดยต้องมีเหตุมาจากกรณีดังนี้ คือ
(4.1) ทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
(4.2) บริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงหนึ่งปี
(4.3) ถ้าบริษัทยังคงดำเนินการต่อไป ก็มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีทางที่จะฟื้นตัวได้
(4.4) ถ้าผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนไม่ถึงเจ็ดคน
5. เลิกเพราะนายทะเบียนเพิกถอนหรือขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อมีพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ออกใช้บังคับ กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เช่น กรณีจัดตั้งบริษัทเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับกฎหมายหุ้นส่วนบริษัทที่ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนหรือขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน คือ การถอนทะเบียนบริษัทร้าง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานและผลดังนี้ คือ
(1) บริษัทที่มิได้ทำการค้าหรือประกอบการงานแล้ว เช่น ตั้งบริษัทขึ้นมาทำกิจการภัตตาคาร แต่เปิดไปได้สักพักก็หยุดกิจการ ไม่ได้ประกอบการค้าขายอันใดมาตลอด กรณีเช่นนี้เข้าข่ายเป็นบริษัทร้าง ในทางปฏิบัติไม่มีทางที่นายทะเบียนจะไปสอดส่องคอยดูว่า บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนยังคงทำมาค้าขายหรือไม่ เพราะบริษัทที่จดทะเบียนมีมากมายหลายแสน จึงมีการกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติว่า ถ้าบริษัทใดไม่ส่งงบการเงินติดต่อเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน จะถือว่าบริษัทดังกล่าวมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบกิจการงานแล้วจึงเข้าข่ายเป็นบริษัทร้าง
(2) เมื่อพิจารณาได้ว่าเป็นบริษัทร้าง นายทะเบียนต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ สรุปได้คือ มีหนังสือสอบถามไปยังบริษัทว่ายังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ถ้าจดหมายสอบถามฉบับแรกยังไม่ได้คำตอบ อีกไม่เกินสิบสี่วันนายทะเบียนต้องมีจดหมายสอบถามส่งไปเป็นครั้งที่สอง ถ้าบริษัทแจ้งว่าไม่ได้ทำการค้าขายแล้ว หรือไม่ได้รับคำตอบภายในหนึ่งเดือนนับแต่ส่งจดหมายฉบับที่สองไป ก็ต้องทำเป็นประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เมื่อพ้นกำหนดสามเดือนบริษัทดังกล่าวจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและต้องเลิก เมื่อถึงกำหนดเวลาสามเดือนบริษัทไม่ได้แจ้งข้อมูลเป็นอย่างอื่น จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา แจ้งรายชื่อบริษัทที่ถูกถอนทะเบียน บริษัทดังกล่าวมีผลเป็นอันเลิกเมื่อประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
(3) ความรับผิดของกรรมการผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นกรณีบริษัทถูกถอนทะเบียนเพราะเป็นบริษัทร้าง บริษัทที่ถูกถอนทะเบียนดังกล่าวและมีผลเป็นอันเลิกล้มตามกฎหมาย แต่ไม่มีผลต่อความรับผิดของกรรมการผู้จัดการหรือผู้ถือหุ้น ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างไรก่อนที่บริษัทจะถูกเพิกถอนทะเบียน ก็ยังคงมีความรับผิดชอบเช่นเดิมเสมือนบริษัทยังไม่เลิก
(4) การฟื้นบริษัทที่ถูกถอนทะเบียน เพราะเป็นบริษัทร้าง บริษัทที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเพราะเป็นบริษัทร้าง ยังอาจกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ ที่เรียกกันว่า การจดชื่อบริษัทเข้าสู่ทะเบียน การขีดชื่อออกจากทะเบียนอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ เช่น บริษัทยังเป็นหนี้อยู่เจ้าหนี้อาจเสียหาย หรือบริษัทยังคงประกอบกิจการค้าขายอยู่แต่ไม่ส่งงบการเงินและไม่ได้รับจดหมาย เพราะย้ายที่อยู่ซึ่งเป็นความผิดก็ต้องว่ากันไปตามความผิดนั้น กรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขอให้ศาลสั่งให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนดังเดิมได้ เมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนแล้ว ถือว่าบริษัทไม่เคยถูกขีดชื่ออกจากทะเบียนเลย คือ ยังเป็นนิติบุคคลตลอดมา
6. การถอนทะเบียนบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจ มีหลายบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นมาโดยผู้จดทะเบียนมิได้ตั้งใจประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น ใช้ชื่อถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์แทนคนต่างด้าว การที่นายทะเบียนจะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลสั่งให้เลิกบริษัท โดยถือว่าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปี หรือหยุดทำการเกินกว่าหนึ่งปี อาจมีปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาทางปฏิบัติบางประการ กรณีเช่นนี้นายทะเบียนใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดำเนินการเพิกถอนก็น่าจะกระทำได้ แต่นายทะเบียนคงไม่ถนัดนักกับกฎหมายฉบับนี้ หนทางที่น่าจะดำเนินการได้อย่างถนัดคือ การใช้อำนาจถอนทะเบียนบริษัทร้างเพราะไม่ประกอบกิจการ หากจะอ้างว่ามีการส่งงบการเงินไม่เคยขาด ก็ต้องดูงบการเงินว่าได้ประกอบกิจการอะไรหรือไม่ ตั้งแต่ตั้งบริษัทมามีรายรับรายจ่ายอย่างไร ถ้านายทะเบียนใช้อำนาจถอนทะเบียนบริษัทดังกล่าวโดยถือว่าเป็นบริษัทร้าง ไม่ต้องเกรงว่าจะถูกถอนเป็นนายทะเบียนร้าง เพราะการดำเนินการเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คงจะมีส่วนราชการหลายแห่งเป็นกองเชียร์สนับสนุน
เลขที่หนังสือ : 0706/4801 วันที่ : 26 พฤษภาคม 2546
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินภาษีอากรกรณีบริษัทจำกัดถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 1246(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อหารือ : หารือการประเมินภาษีอากร ราย บริษัท ช. กรณีสำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้เข้าตรวจ สถานประกอบการของบริษัทฯ แต่ไม่สามารถติดต่อกับกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เพื่อขอทราบ รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ได้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่จึงได้ทำหนังสือเชิญพบ 2 ครั้ง แต่กรรมการผู้จัดการมิได้มาพบตามหนังสือฉบับแรก ส่วนหนังสือฉบับหลังถูกตีกลับโดยไปรษณีย์แจ้ง ว่า “ไม่มารับภายในกำหนด” ซึ่งจากการคัดค้นข้อมูลพบว่า บริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2513 มีสาขา 1 แห่ง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 ประกอบกิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง บริษัทฯ ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) แต่จากการคัดค้น ข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย พบว่า บริษัทฯ มีรายได้ในเดือนเมษายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2545 รวมทั้งสิ้น 3,239,799.21 บาท และจากการคัดหลักฐานทะเบียนนิติบุคคลพบว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อ บริษัทฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วตั้งแต่ วันที่ 8 สิงหาคม 2543 กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯจึงมีรายได้ภายหลังจากถูกขีดชื่อเป็นบริษัท ร้างแล้ว ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า แม้นายทะเบียนจะขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนทำให้สภาพ นิติบุคคลเป็นร้างแล้ว แต่ความรับผิดของกรรมการยังคงมีอยู่ตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงหารือว่า
(1) สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะประเมินภาษีอากรได้หรือไม่
(2) หากประเมินภาษีอากรได้ จะทำการประเมินในนามของใคร และ
(3) หากประเมินภาษีอากรได้ จะส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปที่ใด
แนววินิจฉัย : 1. กรณีบริษัท ช. ได้ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 ผลทางกฎหมายที่นายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน ถือเป็นการเลิกบริษัทตั้งแต่ เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการ และของ ผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิก ตาม มาตรา 1246(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าเจ้าหนี้ใดๆ ของบริษัทฯ รู้สึกว่าต้องเสีย มิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทฯ ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้ของบริษัทฯ ผู้ได้รับความเสียหายต้อง ไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียน ตามมาตรา 1246(6) แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย พบว่าบริษัทฯ มีรายได้ในเดือนเมษายน-ธันวาคม 2544 และเดือนมกราคม-เมษายน และมิถุนายน 2545 รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,239,799.21 บาท โดยบริษัทฯ มิได้นำรายได้ดังกล่าวมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจึงต้องดำเนินการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการ เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ให้ถูกต้องต่อไป แต่เนื่องจากบริษัทฯ สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แล้ว การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีอากรของบริษัทฯ จึงไม่อาจกระทำได้ กรณีตาม ข้อเท็จจริงกรมสรรพากรจึงถือเป็นเจ้าหนี้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการที่บริษัทฯ ถูกขีดชื่อออกจาก ทะเบียน ดังนั้น ในการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทร้าง ก่อนออกหมายเรียกตรวจสอบ ภาษีอากรไปยังบริษัทฯ กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ผู้ได้รับความเสียหายต้องไปยื่นคำร้อง ต่อศาล เพื่อขอให้ศาลสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทฯ คืนเข้าสู่ทะเบียนเช่นเดิมตามมาตรา 1246(6) แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้วถือว่าบริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่ตลอดมาเสมือนดัง ว่ามิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สามารถดำเนินการตรวจสอบภาษีอากร ของบริษัทฯ ได้ตามกฎหมายต่อไป
2. กรณีที่ต้องทำการประเมินภาษีอากร ให้ทำการประเมินในนามของบริษัท ช.
มาตรา ๑๒๗๓/๑ เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือจะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าวห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๒ ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และแจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๓ เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา ๑๒๗๓/๑ หรือมาตรา ๑๒๗๓/๒ แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10100/2559
แม้เดิมบริษัท ท. จะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นเวลาภายหลังจากมาตรา 1273/4 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่คดีนี้ ซึ่งมาตรา 1273/4 วรรคสอง กำหนดว่าการร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน อันเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ร้องซึ่งเคยมีอยู่แต่เดิมก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การนับกำหนดระยะเวลาร้องขอให้บริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง จึงให้เริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 หาใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียน เมื่อนับแต่วันที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง มีผลใช้บังคับจนถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6917/2558
สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จนถึงขั้นมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ปลอมเอกสารซึ่งความขัดแย้งกันดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้อันเป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในกรณีบริษัทหยุดทำการถึง 1 ปีเต็ม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (2) จึงเห็นสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2557
ป.พ.พ. มาตรา 1246 (6) (เดิม) บัญญัติว่า "ถ้าบริษัทหรือผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนนั้นไซร้ เมื่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอแก่ใจว่าขณะที่ขีดชื่อบริษัทจากทะเบียนนั้นบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ก็ดี หรือมิฉะนั้นเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้บริษัทนั้นได้กลับคืนขึ้นทะเบียนก็ดี ท่านว่าศาลจะสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้..." เมื่อปรากฏเหตุว่ามีการนำที่ดินที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินว่าให้ใช้เพื่อสร้างโรงเรียนอนุบาลและบ่อบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้าน แต่บริษัท ธ. ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวไม่ดำเนินการ ทั้งนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ผู้ร้องซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินในการที่จะบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและปรากฏว่าในหมู่บ้านดังกล่าวยังมิได้มีการดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้ร้องในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ธ. ปฏิบัติหน้าที่ตามใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ร้องจึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้มีอำนาจยื่นคำร้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11713/2553
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1246 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บริษัทโจทก์จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ย่อมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยโจทก์ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อโจทก์ให้คืนเข้าสู่สถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่สามารถมอบอำนาจให้ ย. อดีตกรรมการของโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชี และการแก้ต่างว่าต่างในนามของโจทก์ย่อมเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 (1) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6783/2552
ในขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยนายทะเบียนได้ขีดชื่อบริษัทจำเลยออกจากทะเบียนแล้ว อันเป็นผลทำให้บริษัทต้องเป็นอันเลิกกันแต่เมื่อการเลิกโดยเหตุที่นายทะเบียนขีดชื่อนั้น เป็นการเลิกโดยเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย จึงต้องมีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 และมาตรา 1249 บัญญัติไว้ว่า แม้ว่าบริษัทจะเลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการชำระบัญชีของจำเลยจึงถือว่าบริษัทคงตั้งอยู่ตลอดมา โจทก์จึงมีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550
บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2548
ทนายจำเลยทั้งสองสืบพยานจำเลยทั้งสองได้เพียงปากเดียวแล้วขอเลื่อนคดีถึง 2 ครั้งติด ๆ กัน กับยกเลิกวันนัดอีก 1 นัด ในการขอเลื่อนคดีทุกครั้ง ศาลชั้นต้นได้กำชับให้ทนายจำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ แต่พอถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีอีกเป็นครั้งที่ 3 ด้วยเหตุผลเดิม ๆ ว่า พยานที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกไม่มาศาล ทั้ง ๆ ที่พยานดังกล่าวเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะนำมาศาลได้โดยง่าย พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ทั้งตามคำแถลงขอเลื่อนคดีก็มิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าหากไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจประวิงคดีและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีกับให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว เอกสารเกี่ยวกับหลักฐานแสดงฐานะและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ในบริษัทต่าง ๆ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด มีมูลค่าพอชำระหนี้โจทก์ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองเพิ่งนำมาแสดงหลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฟัง เพราะ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารต่อศาลเพื่อให้ความจริงปรากฏได้ อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองไม่ได้แสดงถึงงบการเงินเพื่อให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยถือหุ้นอยู่มีผลประกอบการเป็นอย่างไร และหุ้นต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถืออยู่มีมูลค่าที่แท้จริงเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่ และยังได้ความตามหนังสือรับรองของบริษัทต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองถือหุ้นอยู่ว่าขาดส่งงบการเงินปี 2542 รวม 10 บริษัท นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทร้าง 1 บริษัท ส่วนห้องชุดที่จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์มีภาระจำนองอีกด้วย ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จำเลยทั้งสองอ้างมา จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีมูลค่าเพียงพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2559
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 สถานะของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองคือ ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพนิติบุคคล โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ แม้ต่อมานายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ก็ไม่มีผลกระทบแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้แม้จำเลยจะสิ้นสภาพนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
มาตรา ๑๒๗๓/๔ ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย
การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1273/3, 1273/4 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม.9 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่