คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2553
บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
นาย ส. กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 193/30, 349
สัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในวันที่ 28 กันยายน 2544 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้ค้างชำระเป็นยอดหนี้ตามบัญชี 2,719,380 บาท และดอกเบี้ยนอกบัญชี 1,408,325.13 บาท ตกลงให้มีการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้โดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนกับเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด โดยให้ถือหลักประกันตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้เช่นนี้ แม้สัญญาระบุว่า “โดยมีเงื่อนไขการชำระคืนดังนี้...” ก็ไม่อยู่ในความหมายของการเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไข ที่จะทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลง หนี้ใหม่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 349 เพราะเป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ใหม่เท่านั้นกรณีจึงไม่ใช่เป็นการ แปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับ
จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ไปทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินที่จำนองแทนเมื่อโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมีฐานะเป็นตัวแทนย่อมฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระแทนได้ เป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปจากตัวการซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,656,148.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,237,162.72 บาท นับแต่วัดถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย 94,884.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 74,233.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 12083, 12084, 12092, 12425 และ 12434 ตำบลหลักสอง, บางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เป็นแปลงหนี้ใหม่ ทำให้หนี้เดิมระงับไปโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในหนี้เดิมตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,751,033.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,237,162.72 บาท และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 74,233.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12083, 12084, 12092, 12425 และ 12434 ตำบลหลักสอง, บางแค อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 2,500 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันพร้อมกับทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 1,500,000 บาท และทำสัญญากู้เงินโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็มอาร์อาร์บวก 2 ต่อปี และจะชำระหนี้ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2538 ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันพร้อมการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ หนังสือสัญญากู้เบิกเงินบัญชี สัญญากู้เงิน และบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.8 และ จ.9 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 5 แปลง เป็นประกันกับทำสัญญาค้ำประกันยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมอบอำนาจให้โจทก์ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์จำนองตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน หนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง สัญญาค้ำประกัน และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.16 ภายหลังทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาโดยนำเงินเข้าฝากในบัญชีกับออกเช็คสั่งจ่ายหลายครั้งตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.7 ส่วนสัญญากู้เงินนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วนตามสำเนาการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.10 และโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ โดยยอมรับว่าในวันที่ 28 กันยายน 2544 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้ค้างชำระเป็นยอดหนี้ตามบัญชี 2,719,380 บาท และดอกเบี้ยนอกบัญชี 1,408,325.13 บาท ตกลงชำระหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เอกสารหมาย จ.21 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองตามหนังสือให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 โจทก์ทำสัญญาประกันอัคคีภัยกับบริษัทภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมเป็นเงิน 74,233.45 บาท ตามตารางกรมธรรม์ประเภทอัคคีภัยและหนังสือรับรองการชำระค่าเบี้ยประกันเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า สัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินระงับหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์สัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เอกสารหมาย จ.21 แล้ว เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในวันที่ 28 กันยายน 2544 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้ค้างชำระเป็นยอดหนี้ตามบัญชี 2,719,380 บาท และดอกเบี้ยนอกบัญชี 1,408,325.13 บาท ตกลงให้มีการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้โดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้คืนกับเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด โดยให้ถือหลักประกันตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้เช่นนี้ แม้สัญญาระบุว่า “โดยมีเงื่อนไขการชำระคืนดังนี้...” ก็ไม่อยู่ในความหมายของการเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไข ที่จะทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ใหม่เท่านั้น ดังนั้น กรณีจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมระงับฎีกาข้อนี้ของจำเลย ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราลูกหนี้ผิดนัดตามที่โจทก์ประกาศได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.5 และสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.8 กับโจทก์แล้ว ในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ยังได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 กับโจทก์ด้วย โดยตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ข้อ 3 ระบุไว้ชัดเจนว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดหรือผิดสัญญา ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ประกาศเรียกเก็บจากลูกค้ากู้เงินในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งขณะทำบันทึกข้อตกลงคืออัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดหรือผิดสัญญาเช่นนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราที่โจทก์ประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแล้วแต่โจทก์จะประกาศเป็นคราวๆ ไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ฟ้องขอให้ใช้ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์จำนองเกิน 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกเงินทดรองไปขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.16 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ไปทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินที่จำนองแทน เมื่อโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมีฐานะเป็นตัวแทนย่อมฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระแทนได้ เป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปจากตัวการซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,237,162.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเป็นระยะๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ในกรณีลูกหนี้ผิดนัดที่ต่ำกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในช่วงหลัง วันฟ้องเป็นอัตราลอยตัวในอัตราลูกหนี้ผิดนัด แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2504 ปัญหาตามที่กล่าวมาแล้ว เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,656,148.97 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,237,162.72 บาท ในอัตราเงินให้กู้ยืมกรณีลูกหนี้ผิดนัดตามประกาศของโจทก์ในเอกสารหมาย จ.11 กับประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืมที่โจทก์จะประกาศต่อๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องทุกช่วงระยะเวลาต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 94,884.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 74,233.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์
( ธนฤกษ์ นิติเศรณี - มานัส เหลืองประเสริฐ - สมชาย สินเกษม )