- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560 สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10027/2560 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ติดจำนองบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีนี้จึงไม่อาจพิพากษาให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนองได้ จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ไม่อุทธรณ์ เพียงแก้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกจากจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ตายครอบครองแทนทายาทอื่นแล้ว ยังวินิจฉัยเลยไปว่าต้องนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยคนละครึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาท และพิพากษาเลยไปถึงบ้านที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวด้วย ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการพิพากษาให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10026/2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า คำให้การจำเลยไม่ชัดแจ้ง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หมายถึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามรูปคดีคือ หากมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ต้องสืบพยานก็ให้สืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาคดีใหม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานและสืบพยานโจทก์และจำเลยไปแล้วจึงยังมีกระบวนพิจารณาดังกล่าวอยู่ จำเลยไม่อาจอาศัยเหตุการย้อนสำนวนขอยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อจะได้มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องได้ ทั้งคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน จำเลยต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996 - 9997/2560 จำเลยมีหนังสือแจ้งระงับการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท ร. โดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และบริษัท ร. มีหนังสือขอสำเนากฎกระทรวงดังกล่าวจากจำเลยด้วย เมื่อกรรรมการบริษัท ร. เป็นกรรมการชุดเดียวกับโจทก์ทั้งสอง จึงถือได้ว่าข้อกฎหมายที่อ้างอิงตามกฎกระทรวงนั้นเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) โดยจำเลยไม่จำต้องระบุในคำสั่งทางปกครองที่แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองอีก แม้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พุทธศักราช 2482 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 แต่พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2490 และประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง การส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2509 ที่ออกตามพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกยังมีผลใช้บังคับต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ข้าวจึงคงเป็นสินค้าต้องห้ามมิให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเช่นเดิม ซึ่งตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจะส่งออกหรือนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 25 กำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตส่งออก พระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงเศรษฐการดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9993 - 9994/2560 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากเห็นสมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการต่อทรัพย์สินดังกล่าวเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับเอากับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมุ่งต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุน หรือการช่วยเหลือการกระทำความผิด หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่ายโอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ จึงเป็นการดำเนินคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่เป็นเรื่องโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นการใช้อำนาจรัฐในการติดตามหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนโดยมิชอบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมและทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะกรณีมิใช่เป็นการบังคับใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่ง และไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ผู้ร้องย่อมมีอำนาจขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีขอบเขตเรื่องระยะเวลาในการติดตามยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560 ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9990/2560 คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยและบริษัท ว. ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกันก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 มีผลใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากตารางการชำระเงินและใบเสร็จรับเงินว่า ภายหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน จำเลยในฐานะผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์และชำระราคาห้องชุดพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่บริษัท ว. และบริษัท อ. ไปครบถ้วนแล้ว เช่นนี้จำเลยซึ่งได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้บริษัท อ. ในฐานะผู้จะขายจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทให้แก่ตนได้ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/2 ส่วนที่จำเลยให้การและนำสืบรวมทั้งอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิในห้องชุดพิพาทได้ก่อนโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. โดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับมอบห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาทตลอดมา โจทก์ซึ่งเพิ่งมาซื้อห้องชุดพิพาทจากบริษัท อ. เมื่อปี 2554 จึงน่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าในห้องชุดพิพาทมีจำเลยพักอาศัยอยู่ การที่โจทก์ยังคงตกลงซื้อห้องชุดพิพาทโดยไม่ได้สอบถามให้ได้ความถึงสาเหตุที่จำเลยเข้าพักอาศัยอยู่ในห้องชุดพิพาท เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าโจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจยกเรื่องความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องขับไล่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9988/2560 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 24/2552 เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ข้อ 5.2.1 กำหนดให้สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ หรือสินทรัพย์จัดชั้นสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงิน ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) กำหนดให้สินทรัพย์ที่ลูกหนี้ค้างชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันถึงกำหนดชำระ เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย ยกเว้นลูกหนี้ที่จัดชั้นสูญหรือสงสัยจะสูญแล้ว สำหรับสินทรัพย์ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมีวงเงินและครบกำหนดสัญญาแล้วไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดสัญญา ให้จัดชั้นเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินกู้ว่า วันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระต้นเงิน 45,465,894.73 บาท ดอกเบี้ย 292,031.04 บาท และในวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย โจทก์ค้างชำระต้นเงิน 45,077,068.42 บาท ดอกเบี้ย 649,385.86 บาท การนับระยะเวลาหนี้ค้างชำระตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.1) มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย แต่ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระ เมื่อนับถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือน ทั้งเป็นกรณีมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ตามข้อ 5.2.3 (2) วรรคท้าย ยังให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้างชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วพิจารณาจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นดังกล่าวด้วย ส่วนทรัพย์ที่จำนองเป็นหลักประกันมีมูลค่าเพียงใด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้นำมาพิจารณาในการจัดชั้นสินทรัพย์ แต่ให้นำมาพิจารณาเพื่อการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเมื่อจัดชั้นสินทรัพย์แล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์หนี้กู้ยืมเงินให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัย สำหรับสินทรัพย์หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่า ในวันสิ้นเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญา โจทก์เป็นหนี้ค้างชำระ 1,999,750.54 บาท หลังจากนั้นมีการโอนเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และมีหนี้ค้างชำระในวันสิ้นเดือนดังกล่าว 2,052,861.12 บาท แม้เห็นได้ว่านับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ย้อนหลังขึ้นไปยังมีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกินกว่า 6 เดือน ไม่อาจจัดชั้นให้เป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยโดยอาศัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 31/2551 ข้อ 5.2.2 (3) (3.2) ได้ก็ตาม แต่ในการจัดชั้นสินทรัพย์นั้น ข้อ 5.2.2 วรรคแรก ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต้องจัดชั้นสินทรัพย์เป็นรายบัญชี โดยคำนึงถึงความเกี่ยวเนื่องของกระแสเงินสดรับของแต่ละบัญชี ซึ่งหากกระแสเงินสดของลูกหนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ก็อาจต้องจัดชั้นไว้ด้วยกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันเพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจโรงแรมของโจทก์ ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 12 และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 6 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเงินที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไปลงรายการในบัญชีกระแสรายวันและถือเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กระแสเงินของแต่ละบัญชีจึงมีความเกี่ยวเนื่องกันและชอบที่จะจัดชั้นสินทรัพย์ไว้ด้วยกันได้ การที่จำเลยที่ 1 จัดชั้นหนี้กู้ยืมเงินและหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจึงเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชอบที่จะรับโอนไว้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินได้ โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 แต่กลับฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ครั้งที่ 1 ที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง โจทก์กล่าวในคำฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยังมีทางเลือกอื่นในการบังคับชำระหนี้ โดยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายและไม่ควรเลือกใช้ช่องทางตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เท่านั้น มิได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีไม่ได้ ตามคำฟ้องย่อมไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ฟ้องคดีได้หรือไม่ แม้โจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2560 หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9882/2560 คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายว่า จำเลยใช้ทางพิพาทมาตลอด กว้าง 11 เมตร ยาวจากที่ดินจำเลยไปจดถนนกรุงธนบุรี ยาว 38 เมตร เป็นทางเดิน ยานพาหนะผ่านเข้าออก ที่จอดรถ และขนถ่ายสินค้าถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี ตามแผนผังท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอม ส่วนโจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่ใช่ภาระจำยอมของที่ดินจำเลย จำเลยได้ที่ดินมาเมื่อปี 2553 ถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยหาได้ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาตามที่จำเลยให้การ ทางออกสู่ทางสาธารณะที่จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร เท่านั้น หาได้กว้าง 11 เมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง จำเลยอ้างการใช้ทางเต็มพื้นที่ตามเอกสารท้ายคำให้การจึงไม่ชอบ เห็นได้ว่าโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การแก้ฟ้องแย้งเฉพาะเรื่องจำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะเพียงบางส่วน มิใช่เต็มพื้นที่ที่ดินโจทก์ และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งเรื่องจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้า จึงถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยใช้ที่ดินของโจทก์เป็นที่จอดรถและที่ขนถ่ายสินค้าในที่ดินโจทก์ส่วนที่เกินกว่าความกว้าง 3 เมตร ด้วย การที่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 มาตั้งแต่ปี 2528 แม้ได้ขายให้ ว. ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ ว. ขายให้ผู้อื่นแล้วจำเลยซื้อที่ดินมาจากผู้อื่นนั้น จึงต้องนับระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ปี 2528 หาใช่นับแต่ปี 2553 ที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากกองทุนรวมไทยรีสตรัคเจอริ่งดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาจากปี 2528 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จำเลยจึงได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางพิพาทเฉพาะเพื่อใช้เดินและเป็นทางพาหนะเข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนกรุงธนบุรี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ป.พ.พ. มาตรา 1387 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ภาระจำยอมนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น การที่จำเลยใช้ทางพิพาทเพื่อจอดรถยนต์และขนถ่ายสินค้านั้นเป็นไปเพื่อความสะดวกของจำเลยกับบริวาร และเพื่อการประกอบอาชีพหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลย มิใช่เพื่ออสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20644 ของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ภารยทรัพย์ของโจทก์ด้วย แม้จำเลยและบริวารจะใช้ทางพิพาทเพื่อการดังกล่าวมานานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอม เพราะ ป.พ.พ. ว่าด้วยเรื่องภาระจำยอมมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ภารยทรัพย์ของผู้อื่นเกินกว่าสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9813 - 9817/2560 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2525 จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2548 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดา ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นภริยา และผู้คัดค้านอื่นเป็นญาติพี่น้องจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำกระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 51 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ฝ่ายผู้คัดค้านที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยสุจริต พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9811/2560 ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่คดีอาญา ย่อมไม่อยู่ในบังคับอายุความทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 แต่เป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปโดยให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทางแพ่ง กรณีย่อมไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9809/2560 การที่จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยมิได้ใบรับอนุญาต และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวเปิดดักรับเครือข่ายสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยมิได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองมาคนละข้อ และจำเลยให้การรับสารภาพ แต่การทำ มี และใช้เครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมเป็นความผิดในบทมาตราเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมแล้วนำมาใช้ดักรับเครือข่ายสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันและเวลาเดียวกัน ถือว่าจำเลยมีเจตนาอันเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2560 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ และพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ..." แสดงว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย และมารดาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2560 แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เป็นทำนองว่า ขอให้เพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนและอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน แต่เหตุที่โจทก์อ้างเป็นหลักในคำฟ้องก็เป็นเหตุเดียวกันกับเหตุที่โจทก์อ้างในคดีก่อนว่าการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำขอบังคับในคดีนี้จะแตกต่างจากคดีก่อนก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็เนื่องมาจากมูลเหตุเดียวกัน กล่าวคือ ในคดีนี้ก็ต้องวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ทั้งสามครั้งตามฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ส่วนการใช้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกเอาจากทายาท กรณีจำต้องอยู่ภายใต้อายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เมื่อโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งทราบการตายของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก และจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755 นอกจากนี้ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายและโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9191/2560 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าเงินพิพาทเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 เงินพิพาทจึงถือเป็นเงินทุนของโจทก์ที่ 1 มิใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แล้ว การจัดการบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นและกรรมการ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ว่าด้วยบริษัทจำกัด เมื่อโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยในฐานะกรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยให้จำเลยปิดบัญชีหรือร่วมกันกับผู้มีอำนาจอื่นปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและส่งมอบแคชเชียร์เช็คพร้อมส่งมอบ เงินพิพาทหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมิใช่กรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นต้องฟ้องแทน หรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9163/2560 สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์นี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการตัดคำบางคำจากคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันเป็นปกติธรรมดาแบบมีความหมายในสังคมคือคำว่า "AIR CONDITIONER" หรือคำว่า "AIR CONDITIONING" มาประกอบกันเป็นคำเดียว ดังนั้นแม้โจทก์จะได้ดัดแปลงตัวอักษรโรมันตัวโอในคำดังกล่าวให้มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรที่ประชาชนใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคมอยู่แล้วก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยมิใช่สาระสำคัญของเครื่องหมาย จึงไม่ทำให้คำว่า "" เป็นคำประดิษฐ์แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือได้ว่า คำว่า "" มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๓) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9150/2560 บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการออกหมายเรียกที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานประเมินยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่ เพราะเห็นว่าหมายเรียกฉบับเดิมมีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงการไต่สวนในส่วนภาษีอากรที่โจทก์ไม่ยื่นรายการ มิใช่เพราะการเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกฉบับเดิมได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนซ้ำกับปีที่เคยออกหมายเรียกไปแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแก้ไขโดยยกเลิกหมายเรียกฉบับเดิมและออกหมายเรียกฉบับใหม่อีกครั้ง เพื่อสั่งให้โจทก์นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องการจำหน่ายเงินกำไรมาแสดงได้ตามมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรโจทก์พร้อมขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกเนื่องมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งผู้อำนวยการสำนักบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้อนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี และคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรที่อนุมัติให้ขยายเวลาออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงการสั่งการภายในส่วนราชการ ยังไม่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างกรมสรรพากรและผู้ยื่นรายการที่จะทำให้ผู้ยื่นรายการมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากร จึงไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้ว ส่วนการออกหมายเรียกสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เจ้าพนักงานประเมินได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกและออกหมายเรียกใหม่ ซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว แม้จะเป็นการอนุมัติภายหลังจากที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินก็ได้ยกเลิกการประเมินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบตามหมายเรียกเดิมนี้ไปด้วย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์แล้ว ต้องถือเสมือนไม่มีการประเมินที่จะทำให้เสียหายแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินครั้งใหม่ตามหมายเรียกฉบับใหม่ต่อไป การออกหมายเรียกตรวจสอบใหม่ของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจึงชอบแล้วเช่นกัน ส่วนกรณีจำหน่ายเงินกำไรนั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกหมายเรียกและทำการประเมินตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก การออกหมายเรียกตรวจสอบในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ข้อที่โจทก์หยิบยกอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเป็นเพียงเหตุผลข้ออื่นและรายละเอียดที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อสนับสนุนคำอุทธรณ์ฉบับเดิม เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพียงพอที่จะเข้าลักษณะเป็นเหตุผลแห่งการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว แม้เหตุผลจะแตกต่างจากข้ออ้างของโจทก์ แต่ก็เป็นการโต้แย้งในประเด็นเรื่องเดียวกันซึ่งเหตุผลย่อมแตกต่างกันไป ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยโดยจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เงินได้ที่จะต้องเสียภาษีในประเทศไทย จะต้องเป็นเงินได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านสถานประกอบการถาวร อีกทั้งจะต้องเก็บจากกำไรเพียงเท่าที่พึงถือว่าเป็นของสถานประกอบการถาวรนั้นเท่านั้น โจทก์และกิจการร่วมค้าทำสัญญากับบริษัท ท. เพื่อการวิศวกรรม ออกแบบ และการติดตั้ง เคเบิลใยแก้วในโครงการส่วนขยายโครงข่ายสื่อสัญญาณสำหรับชุดเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งได้ลงนามในสัญญาที่ทำไว้ฉบับเดียวกัน และเมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ้างทำของจนสำเร็จที่ตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ไม่มีข้อความตอนใดระบุให้เห็นชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาแยกเป็นสัญญาซื้อขายสัมภาระและสัญญาจ้างทำของออกจากกัน แม้การจัดหาเคเบิลใยแก้วเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าผลิตจากโรงงานในต่างประเทศของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจรับจ้างทำของในประเทศไทย ค่าเคเบิลใยแก้วจึงเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย และปรากฏจากสัญญาว่า โจทก์มีสำนักงานในประเทศไทย มี บ. ผู้จัดการทั่วไปเป็นผู้แทน สำนักงานโจทก์โดย บ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การเจรจาต่อรองทำสัญญารายพิพาทด้วย จึงเข้าลักษณะที่โจทก์มีสถานประกอบการถาวรประเภท ค) สำนักงาน ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้สาขาโจทก์ในประเทศไทยอันเป็นสถานประกอบการถาวรประเภท ข) สาขา ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ยังได้เข้าดำเนินการในส่วนการรับจ้างติดตั้งทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการประกอบธุรกิจตามสัญญาเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยผ่านทางสถานประกอบการถาวรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย กำไรของวิสาหกิจจึงย่อมต้องเสียภาษีในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฉบับดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้สาขาโจทก์ในประเทศไทยส่งเอกสารเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพื่อตรวจสอบภาษีที่จะต้องเสียในนามโจทก์ แต่โจทก์มิได้ส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าเคเบิลใยแก้วให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน ย่อมทำให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีเหตุที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอาจแลกเปลี่ยนข้อสนเทศอันจำเป็นแก่การปฏิบัติการตามอนุสัญญาและตามกฎหมายภายในเกี่ยวกับภาษีอากรตามข้อ 26 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวก็ไม่เป็นการลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่มีอยู่ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ไปได้ และแม้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีข้อบทใดกำหนดให้ประเมินภาษีโดยวิธีการตามมาตรา 71 (1) แต่อนุสัญญาฉบับดังกล่าวก็มิได้มีข้อบทใดกำหนดให้ใช้วิธีการแบ่งผลกำไรทั้งสิ้นของวิสาหกิจไปยังสถานประกอบการถาวรหรือวิธีการคำนวณอย่างอื่นในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ไว้เป็นการเฉพาะ จึงย่อมนำบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาใช้บังคับแก่กรณีได้เท่าที่ไม่ขัดกับส่วนอื่นของอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ก็มิได้นำสืบพิสูจน์ว่ากำไรสุทธิของโจทก์ในความเป็นจริงมีจำนวนน้อยกว่าภาษีที่ประเมินตามมาตรา 71 (1) การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินกำไรสุทธิโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร คือกำไรสุทธิที่คำนวณจากรายได้รายจ่ายจากกิจการทุกส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ๆ มิใช่แยกคำนวณเป็นรายกิจการไป โจทก์จึงชอบที่ต้องจะคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแก้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย และเมื่อรายได้ในส่วนการจัดหาเคเบิลใยแก้วของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีก็ย่อมถือได้ว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้นไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิได้ไปด้วย เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับทั้งหมดของรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 71 (1) ซึ่งการประเมินตามมาตรา 71 (1) นี้ ไม่คำนึงว่ารายรับส่วนหนึ่งส่วนใดของรอบระยะเวลาบัญชีจะมีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องนำยอดรายรับจากการรับจ้างทำของในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนมารวมเป็นฐานรายรับในการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) ด้วยหาใช่ต้องแยกกิจการรับจ้างทำของออกมาคำนวณรายได้หักด้วยรายจ่ายดังที่โจทก์อ้าง คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) ย่อมต้องถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นการเสียภาษีโดยไม่คำนึงถึงรายจ่ายใด ๆ ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไป ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 7 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าวมาหักจากยอดรายรับได้ โจทก์ต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิจากรายได้รายจ่ายของการจัดหาเคเบิลใยแล้วรวมกันไปกับการรับจ้างทำของด้วย แม้โจทก์จะอ้างว่าการรับจ้างทำของจะมีผลขาดทุนก็ตาม แต่เมื่อรวมกับการจัดหาเคเบิลใยแก้วซึ่งไม่สามารถคำนวณกำไรหรือขาดทุนได้แล้ว กรณีไม่อาจจะรับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ไม่มีเงินกำไรในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. จึงมิใช่เฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าต้นทุนเคเบิลใยแก้วเท่านั้น แต่เป็นเงินที่เป็นส่วนของเงินกำไรหรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงต้องเสียภาษีในจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องเนื่องมาจากโจทก์ไม่พิสูจน์ต้นทุนสินค้าและกำไรของโจทก์ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิที่แท้จริงของโจทก์ได้ จึงต้องใช้การประเมินโดยวิธีอื่น แล้วโจทก์ก็อาศัยบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินเพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี อันเป็นลักษณะของการพยายามปกปิดจำนวนเงินกำไรที่แท้จริง และหาทางตีความสัญญารายพิพาทไปในทางที่จะนำบทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้อ้างเพื่อประโยชน์แก่ตน นอกจากนี้จำนวนเงินภาษีที่โจทก์ชำระไม่ถูกต้องดังกล่าวก็เป็นจำนวนสูงมาก และยังเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9149/2560 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 65 นว บริษัทที่ต้องเสียภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 65 จัตวา (2) ย่อมได้รับเครดิตภาษีสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักร เป็นจำนวนเงินตามอัตราร้อยละที่กำหนดของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม หรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย หรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคสอง (1) และ (2) ด้วย คือ (1) เครดิตภาษีจะมีได้เป็นจำนวนไม่เกินภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร และ (2) เครดิตภาษีจะต้องไม่เกินภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งการคำนวณจำนวนเครดิตภาษีตามข้อจำกัดดังกล่าวจะต้องทราบจำนวนภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา (1) เป็นลำดับแรก แล้วนำจำนวนภาษีนี้ไปรวมกับภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) เพื่อเป็นจำนวนตามข้อจำกัดประการแรก และยังจะต้องนำจำนวนภาษีนี้ไปหักจากเงินกำไรส่วนที่เหลือจึงจะคงเหลือเป็นจำนวนภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 จัตวา (2) อันเป็นจำนวนตามข้อจำกัดประการที่สอง หากยังไม่ทราบจำนวนภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีเนื่องจากการคำนวณกำไรสุทธิจะต้องรอคำนวณเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 อัฏฐ กรณีก็ไม่อาจจะคำนวณข้อจำกัดของเครดิตภาษีตามมาตรา 65 จัตวา ทั้ง (1) และ (2) ให้เป็นที่แน่นอนได้ เครดิตที่เกิดขึ้นย่อมจะกำหนดจำนวนได้แน่นอนก็ต่อเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีและมีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้แล้ว แต่การได้รับเครดิตเพื่อหักออกจากภาษีในกรณีพิพาทนี้เป็นกรณีที่ต้องนำเครดิตไปหักออกจากภาษีเงินได้ของเงินกำไรเฉพาะส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำว่า "เงินกำไรเฉพาะส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้" แล้ว ย่อมแสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นกรณีที่ได้มีการชำระภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา (1) เสร็จสิ้นไปขั้นตอนหนึ่งแล้วคงเหลือเป็นเงินกำไรส่วนที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิอันนำมาเป็นฐานภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) ต่อไป โดยเงินกำไรส่วนที่เหลือนี้จะต้องเสียภาษีอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อได้จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นเหตุให้เกิดภาระภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็จะได้รับเครดิตภาษีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 นว เพื่อนำไปหักออกจากภาษีตามมาตรา 65 จัตวา (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ถ้ายังมีเครดิตเหลืออยู่ก็ให้ยกเครดิตส่วนที่เหลือนั้นไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีต่อๆ ไปได้ โจทก์จึงไม่อาจนำเครดิตภาษีมาตรา 65 นว ข้ามขั้นตอนไปหักออกจากค่าภาษีเงินได้การจำหน่ายกำไรออกนอกราชอาณาจักรไปตั้งแต่ก่อนที่จะชำระภาษีจากกำไรสุทธิและมีกำไรเหลือได้ ทั้งคดีนี้ยังมีปัญหากรณีรายได้จากสัญญาร่วมปฏิบัติการและรายจ่ายตามสัญญาบริการของโจทก์ที่ต้องนำมาถือเป็นกำไรที่โจทก์จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรตามการประเมินด้วย ย่อมเป็นเหตุให้จำนวนเงินกำไรและจำนวนเครดิตภาษีที่โจทก์อ้างว่าคำนวณได้ก่อนยื่นแบบแสดงรายการเกิดความคลาดเคลื่อนและไม่ใช่จำนวนเงินที่แน่นอน การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ใช้เครดิตภาษีได้ต่อเมื่อได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ภ.ง.ป.70) จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9146/2560 โจทก์เป็นบริษัทหรือวิสาหกิจอเมริกัน ย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจได้ภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2511 ในการนำสินค้าบุหรี่ซิกาแรตเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าแสตมป์ยาสูบและต้องส่งเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 ที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนนำคดีมาฟ้องศาลแต่อย่างใด และตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีวางประกัน ) 210 ฉบับ กับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) 180 ฉบับ ก็ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพไว้ในเอกสารแนบท้ายแบบแจ้งแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีสรรพสามิต (ค่าแสตมป์ยาสูบ) และเงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้า ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19)..." ดังนั้น แม้ ป.รัษฎากร ตามมาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีอันเป็นราคาศุลกากรที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นราคาใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร..." ดังนั้นความรับผิดเกี่ยวกับมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้ราคาศุลกากรลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับราคาศุลกากรซึ่งเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร อีก คดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2545 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ซึ่งแบบแสดงรายละเอียดราคาศุลกากรที่โจทก์ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าระบุว่า ผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันในลักษณะบุคคลทั้งสองถูกควบคุม โดยบุคคลที่สามไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลต่อราคาซื้อขาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ใช้ราคาซื้อขายของที่นำเข้าเป็นราคาศุลกากร แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 132 ข้อ 5 กำหนดว่า ในการกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ให้ผู้นำของเข้ามีหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องของข้อความหรือเอกสารใด ๆ ที่ได้สำแดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อ 14 กำหนดว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ผู้ซื้อต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ขายตามที่กำหนดในข้อ 4 เว้นแต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้าตามข้อ 15 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุสงสัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอาจมีผลต่อราคาซื้อขายของที่นำเข้า ให้แจ้งผู้นำของเข้าทราบและกำหนดระยะเวลาพอสมควรเพื่อให้ผู้นำของเข้ามาชี้แจงแสดงเหตุผลหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์เหตุสงสัยดังกล่าว และข้อ 6 กำหนดว่า ให้นำความในภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ มาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดราคาศุลกากรตามกฎกระทรวงนี้ ซึ่งตามภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความ หมายเหตุทั่วไป 3. ในกรณีที่หน่วยงานบริหารทางศุลกากรไม่สามารถที่จะยอมรับราคาซื้อขายได้โดยไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติม หน่วยงานบริหารทางศุลกากรควรให้โอกาสผู้นำของเข้าในการจัดหาข้อสนเทศที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม เมื่อปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท 4 ครั้ง จากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สำแดงราคา 8.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 มวน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการกำหนดราคาศุลกากรตามวิธีที่ 1 เพราะมีเหตุสงสัยผู้ซื้อและผู้ขายมีความสัมพันธ์กันเช่นเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อพิสูจน์ว่าราคาที่สำแดงใกล้เคียงกับราคาหักทอนของของที่เหมือนกันหรือของที่คล้ายกันแล้ว ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สามารถตรวจสอบสภาวการณ์ที่แวดล้อมการขายนั้นได้ จึงเห็นได้ว่าการนำเข้าสินค้าของโจทก์ในคดีนี้มีข้อมูล สถานะการขาย และลักษณะการซื้อขายของโจทก์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โจทก์ยังคงสำแดงราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมรับราคานั้นมาโดยตลอด จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีข้อสนเทศอย่างเพียงพออยู่แล้วไม่ต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีก พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย ตามข้อ 15 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 และภาคผนวก 1 หมายเหตุการตีความตามความตกลงในการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560 คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยคำนวณเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งว่าวิธีการหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นว่าจำเลยหักกลบลบหนี้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และการคิดเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ แม้การหักกลบลบหนี้เกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีก่อน แต่เมื่อคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งในวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยวิธีการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน มีประเด็นต่างกับคดีเดิมและการวินิจฉัยของศาลก็อาศัยเหตุที่แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ในขณะเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามการประเมินดังกล่าวบางส่วน โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินและยื่นฟ้องคดี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ซึ่งโจทก์ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวไปก่อน และยื่นหนังสือโต้แย้งว่าการคำนวณเงินเพิ่มไม่ถูกต้องในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขการคำนวณภาษีและเงินเพิ่มตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและคำสั่ง ในส่วนการคิดเงินภาษีและเงินเพิ่มและให้คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับชำระค่าภาษีอากรค้าง โดยโต้แย้งกันในเรื่องวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับมูลหนี้ภาษีอากรโดยตรง ประกอบกับเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือโต้แย้งการคำนวณเงินเพิ่ม จำเลยก็รับวินิจฉัยให้โดยไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องรูปแบบของหนังสือ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และขอคืนเงินภาษีจากจำเลยได้ เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้ ป.รัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนการหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องเสียหรือนำส่งลดลงนั้น การคำนวณเงินเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนภาษีอากรที่ลดลง เงินเพิ่มที่คำนวณได้จึงต้องไม่เกินต้นเงินภาษีอากรตามการประเมิน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9144/2560 โจทก์ลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท ส. จากผู้ถือหุ้นเดิม ร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด ราคาหุ้นละ 75 บาท โดยสินทรัพย์ รายได้ ต้นทุน และหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัท ส. เกิดจากรายการบัญชีกับโจทก์ บริษัททั้งสองมีกรรมการส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกันและมีสถานประกอบการอยู่ที่เดียวกัน จากงบดุลของบริษัท ส. ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ถึงปี 2542 พบว่าบริษัท ส. กู้ยืมเงินจากโจทก์ มีดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ส. ทั้งหมดเพียงผู้เดียว ดังนี้ 1. ปี 2542 บริษัท ส. จดทะเบียนลดทุนลง 97,000,000 บาท ต่อมาจดทะเบียนเพิ่มทุน 97,000,000 บาท โจทก์เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้ที่มีกับโจทก์เป็นทุน 2. ปี 2543 จดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 87,000,000 บาท โจทก์เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดด้วยการชำระเงินสด 87,000,000 บาท สองเดือนต่อมาได้จดทะเบียนลดทุน 87,000,000 บาท รายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. ที่อนุมัติให้เพิ่มทุนและลดทุนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันไม่ปรากฏเหตุผลว่าบริษัท ส. มีความจำเป็นในทางการค้าหรือแผนการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างไร โจทก์เป็นผู้รับรู้และยินยอมให้บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาหุ้นที่โจทก์ได้ลงทุนไว้ การที่โจทก์ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด การเพิ่มทุนและลดทุนในบริษัท ส. ย่อมเป็นการเพิ่มทุนและลดทุนเฉพาะในส่วนของโจทก์เกือบทั้งจำนวนทำให้ต้นทุนต่อหุ้นของเงินลงทุนในบริษัท ส. ของโจทก์สูงขึ้นจากราคาที่ซื้อมาราคาหุ้นละ 75 บาท เป็นราคาหุ้นละ 520.94 บาท เมื่อรอบระยะเวลาบัญชี 2546 โจทก์ขายหุ้นดังกล่าวให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันในราคาหุ้นละ 151 บาท ทำให้โจทก์ขาดทุนจากการขายเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าว 22,510,855.26 บาท และนำเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ทั้งที่ภายหลังจากการเพิ่มทุนและลดทุนดังกล่าวว่า บริษัท ส. มีความสามารถในการทำกำไรหรือมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อย ๆ โจทก์ย่อมต้องหวังผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวในอนาคต แต่โจทก์กลับขายหุ้นดังกล่าว อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของการลงทุน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาสร้างขั้นตอนการเพิ่มทุนและลดทุนในบริษัท ส. เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงที่จะให้ความช่วยเหลือในลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือเพื่อให้เงินซื้อหุ้นเพิ่มที่บริษัท ส. ได้รับจากโจทก์ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการซึ่งบริษัท ส. จะต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ส่วนโจทก์ก็เลี่ยงจากการให้เงินช่วยเหลือหรือเงินให้เปล่าแก่บริษัท ส. มาเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อลดหนี้ของบริษัท ส. โดยนำเงินที่ได้เพิ่มทุนไปชำระหนี้ที่โจทก์เคยให้บริษัท ส. กู้ยืม ส่งผลให้โจทก์ไม่ต้องมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง ทั้งยังสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ดังนั้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการขายเงินลงทุนในบริษัท ส. ให้บริษัท พ. จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมืองฯ ปรับ คนละ 50 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรม คนละ 6 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่า 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ในส่วนจำเลยที่ 2 ว่ามีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก จำคุก 1 ปี 6 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรม 2 ปี จึงเป็นการแก้เฉพาะบทมิได้พิพากษาแก้โทษด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2560 คดีนี้ตามคำร้องของจำเลยอ้างว่า การออกหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมถูกต้องครบถ้วนแล้ว อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวด้วยสิทธิในการร้องขอ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่เรื่องที่จำเลยอ้างว่าหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นออกให้ตามคำขอของโจทก์ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2560 จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยครรภ์โจทก์ที่ 1 ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรอง การตรวจอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหาความผิดปกติของทารกแบ่งได้เป็น 3 ระดับ การตรวจระดับ 1 เป็นการตรวจคัดกรองอย่างง่ายดูจำนวนทารก การมีชีวิตของทารก การประมาณอายุครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ส่วนนำของทารก ตำแหน่งทารก และความพิการบางอย่างที่สามารถเห็นได้ง่าย จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นในการตรวจว่า ทารกมีชีวิต เพศชาย บุตรในครรภ์ 1 คน รกอยู่ด้านหลังของมดลูกปริมาณน้ำคร่ำปกติ ลักษณะลำตัว ตับ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ และกระดูกสันหลังปกติ ความยาวของกระดูกต้นขา 21 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 16.3 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงให้เห็นว่าในการตรวจอัลตราซาวด์สามารถเห็นอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของทารกในครรภ์ได้ หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งผลการตรวจให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่ายังไม่สามารถตรวจพบความพิการในส่วนแขนและขาของทารกได้เพราะยังมองเห็นไม่ครบถ้วน การที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งๆที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรง ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาหรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 มากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจอันเป็นความเสียหายแก่อนามัย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย แม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเรื่องจากมีความผิดปกติในขณะที่โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม และจำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของโจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ กรณีของโจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่า หากจำเลยที่ 3 พบความพิการของโจทก์ที่ 2 แล้วจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการนั้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากขึ้น แต่กลับได้ความว่า หากพบความพิการของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ความพิการทางร่างกายของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9017/2560 การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ จากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทจำกัด ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 มาตรา 5 สัตตรส และมาตรา 6 นั้น บริษัทจำกัด ผู้รับโอนต้องปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กันของบริษัทมหาชน หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2542 ข้อ 2 (2) ที่กำหนดให้บริษัทจำกัด ผู้รับโอน แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น ตามทะเบียนหุ้นทั้งของบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีโอนตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ ค.อ.1 ถึง ค.อ.4) และแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากร ที่ มก. 15/2546 เรื่อง การตรวจการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรจากการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ข้อ 1 (2.4) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าได้มีการยื่นแบบ ค.อ.1 ภายใน 30 วัน นับแต่วันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีโอนกิจการ ซึ่งตามแบบ ค.อ.1 ได้ระบุถึงเอกสารประกอบการพิจารณาอันรวมถึงหนังสือบริคณห์สนธิฉบับแก้ไข เรื่องเพิ่มทุนของบริษัทผู้รับโอนกิจการฉบับปัจจุบัน นอกจากนั้น ข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับเดียวกันนี้ ระบุว่า "กรณีการโอนกิจการให้แก่กัน บริษัทผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะบัญชีที่โอนกิจการนั้น" อันเป็นการให้เวลาแก่บริษัทผู้โอนกิจการจดทะเบียนเลิกเมื่อใดก็ได้ภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น แต่เมื่อบริษัทผู้โอนกิจการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วเมื่อใด ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์บริษัทผู้รับโอนจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลง โดยการเลิกบริษัทนั้นตามกำหนดเวลาในข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับเดียวกัน การที่โจทก์เพียงแต่ยื่นแบบ ค.อ.1 ไว้ตั้งแต่ก่อนมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทผู้โอนและจดทะเบียนเพิ่มทุนของผู้รับโอน แต่มิได้แจ้งรายการเพิ่มทุนของผู้รับโอนพร้อมทั้งส่งหนังสือบริคณห์สนธิฉบับแก้ไขเรื่องเพิ่มทุนภายใน 30 วัน นับแต่วันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการเพิ่มทุน และไม่ได้แจ้งรายการเลิกบริษัทผู้โอนพร้อมทั้งส่งหนังสือรับรองการเลิกบริษัทภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท กรณีถือได้ว่าการยื่นแบบ ค.อ.1 ของโจทก์มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งแจ้งไม่ยกเว้นรัษฎากรแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งการไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8995/2560 เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสองกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเครื่องหมายการค้า แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดเล็กอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า "genufood" และด้านล่างเป็นอักษรจีน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นภาพวงกลมประดิษฐ์ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางและปลายเส้นรอบวงทั้งด้านบนและด้านล่างไม่ติดกัน ตรงกลางมีอักษรโรมันคำว่า "genufood" แม้จะมีอักษรโรมันเป็นคำเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองยังใช้กับสินค้าสบู่สมุนไพรผสมโสมไข่มุกและกาแฟขจัดปัญหาไขมันส่วนเกินซึ่งเป็นคนละจำพวกและรายการสินค้ากับสินค้าอาหารเสริมทำมาจากธัญพืชใช้บำรุงร่างกายตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองจึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และเมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 109 แล้ว การที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ด้วย องค์ประกอบความผิดของ ป.อ. มาตรา 272 (1) จะต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ และมาตรา 275 เป็นการจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) โดยจะต้องเป็นการนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันหรือในรูปรอยประดิษฐ์ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ และ กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยทั้งสอง จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) แม้จำเลยทั้งสองจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) อีกเช่นกัน เครื่องหมายการค้าบนวัตถุพยานคือคำว่า "genufood" และมีคำว่า "VICTOR" กับเครื่องหมายคล้ายรวงข้าวประกอบ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องหมายการค้า ในการโฆษณาขายสินค้าซึ่งไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "genugood" และมีคำว่า "VICTOR" เป็นการทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใช้หรือทำให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าของจำเลยทั้งสองและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่สินค้าตามวัตถุพยานจึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2560 โจทก์ทำสัญญาโอนกิจการโจทก์ทั้งหมดให้แก่บริษัท บ. ตามราคาตลาด ณ วันโอนกิจการ เป็นเงิน 998,000,000 บาท โดยโจทก์ตีราคาสินทรัพย์ ณ วันโอนกิจการ 1,081,368,626.10 บาท เมื่อหักมูลค่าหนี้สินทั้งหมดแล้วคงเหลือเป็นราคาทรัพย์สินสุทธิ 293,300,378.95 บาท ส่วนที่สูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท ย่อมควรถือว่าเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ได้กำไรจากการขายทรัพย์สินสูงกว่ามูลค่าราคาตลาดทรัพย์สินสุทธิ แม้โจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าความนิยมที่โจทก์ตีราคาตลาดอันมีผลให้ไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้มารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 74 (1) (ค) ประกอบ (ข) แต่ตามรายงานการประเมินราคาตลาดที่ยุติธรรมไม่ปรากฏรายละเอียดว่าผู้ประเมินราคาได้ประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นค่าความนิยมของโจทก์ไว้ และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่า เหตุใดจึงถือเอาจำนวนเงินดังกล่าวเป็นการประเมินราคาตลาดทรัพย์สินของโจทก์ นอกจากนี้ในรายงานและงบการเงินของโจทก์ก็แสดงในส่วนรายได้ว่า กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์สุทธิตามสัญญาขายและโอนธุรกิจเป็นเงิน 704,699,621 บาท ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้บันทึกในบัญชีว่าค่าความนิยมเป็นทรัพย์สินของบริษัท ส่วนบริษัท บ. ผู้ซื้อกิจการโจทก์ก็บันทึกค่าความนิยมไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 74 (1) (ค) บัญญัติว่าในการตีราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีการโอนกิจการระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วยกัน...ให้นำความใน (ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งข้อความตามมาตรา 74 (1) (ข) ที่ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น ก็เห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จะตีราคาตลาดเป็นทรัพย์สินที่มีราคาปรากฏในบัญชีบริษัทเดิมอยู่แล้ว เมื่อบริษัทเดิมเพียงแต่เข้าควบรวมกันจนเกิดเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา บริษัทใหม่จึงต้องถือราคาตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทเดิมในวันที่ควบเข้ากันนั้น ซึ่งกรณีของโจทก์ที่ขายกิจการให้แก่บริษัท บ. ค่าความนิยมที่โจทก์กล่าวอ้างไม่อาจรับรู้เป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้มาแต่ต้นและบริษัท บ. ก็ไม่อาจถือราคาค่าความนิยมตามที่ปรากฏในบัญชีของโจทก์ได้ จึงไม่ใช่กรณีที่จะปฏิบัติในการตีราคาตลาดเพื่อประโยชน์ในการไม่นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 74 (1) (ข) (ค) จึงย่อมถือว่าเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท เป็นรายได้เนื่องจากกิจการของโจทก์ผู้โอน อันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำกำไรจากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2560 การขายสินค้าถ้ามีการส่งมอบสินค้าพร้อมออกใบกำกับภาษี ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือไม่ ส่วนการให้บริการถ้ามีการออกใบกำกับภาษีพร้อมชำระค่าบริการ ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการย่อมนำใบกำกับภาษีไปใช้สำหรับการขอคืนภาษีซื้อหรือเครดิตภาษีในเดือนภาษีนั้นได้ ในทางกลับกันผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ออกใบกำกับภาษีต้องมีหน้าที่นำภาษีขายไปเสียภาษีในเดือนภาษีนั้น และในทางบัญชีสินค้าคงเหลือของผู้ขายหรือผู้ให้บริการต้องมีการตัดยอดสินค้าหรือสิ่งของที่นำไปขายหรือให้บริการจำนวนนั้น ๆ ออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือให้ตรงกับยอดสินค้าหรือสิ่งของคงเหลือที่มีอยู่จริงทำให้เกิดระบบการสอบยันทางภาษีได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในทางเอกสารสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเสียภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าโจทก์สาขาในประเทศไทยได้ออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วที่อ้างว่าเสียหายให้แก่บริษัท ท. พร้อมได้รับชำระราคาแล้ว จึงฟังได้ว่ามีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วที่อ้างว่าเสียหายแล้ว เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้าเคเบิ้ลใยแก้วและได้รับชำระเงินแล้ว เหตุที่อ้างว่ายังไม่ส่งมอบจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติธรรมดา โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่า เคเบิ้ลใยแก้วที่โจทก์อ้างว่าเสียหายยังไม่มีการส่งมอบให้แก่บริษัท ท. เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่า เคเบิ้ลใยแก้วที่โจทก์อ้างว่าเสียหายได้ส่งมอบให้แก่บริษัท ท. โดยมีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีแล้ว และใบกำกับภาษีดังกล่าวต้องใช้กับเคเบิ้ลใยแก้วที่โจทก์อ้างว่าเสียหายจำนวนนั้นเท่านั้น และก่อให้เกิดการเริ่มต้นการนำใบกำกับภาษีนั้นไปใช้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หากต่อมาเคเบิ้ลใยแก้วดังกล่าวเกิดความเสียหายซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบเปลี่ยนของใหม่ให้และโจทก์ได้เปลี่ยนเคเบิ้ลใยแก้วใหม่ทดแทนของเดิมและได้รับเคเบิ้ลใยแก้วที่เสียหายกลับคืนมา โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้สำหรับเคเบิ้ลใยแก้วตามจำนวนที่เสียหายและนำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของเคเบิ้ลใยแก้วที่โจทก์อ้างว่าเสียหายนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 ประกอบมาตรา 82/10 แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 ทั้งนี้ก็เพื่อยืนยันในทางเอกสารต่อเจ้าพนักงานที่ไปตรวจสอบได้ว่าเคเบิ้ลใยแก้วจำนวนนั้นได้มีความชำรุดบกพร่องจริงหรือไม่ในจำนวนเท่าใด ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อมีการนำเคเบิ้ลใยแก้วใหม่มาทดแทนในส่วนที่โจทก์อ้างว่าเสียหายก็ต้องมีการออกใบกำกับภาษีสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วใหม่ที่นำมาทดแทนเพื่อให้ตรงกับการเสียภาษีซื้อจากการนำเข้าสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วจำนวนใหม่ดังกล่าว และนำไปตัดยอดจากบัญชีสินค้าคงเหลือสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วใหม่ข้างต้น เพื่อให้ระบบบัญชี ใบกำกับภาษี และการเสียภาษีสอดคล้องตรงกันทั้งหมดสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วจำนวนใหม่ที่นำมาทดแทน อันทำให้ถูกต้องตามระบบบัญชีและมีเอกสารสามารถตรวจสอบในทางภาษีได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2560 โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) จะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นและค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (3) ศาสนสมบัติที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (4) จะต้องใช้เฉพาะในศาสนกิจเท่านั้นไม่อาจใช้ในการอื่นได้ โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์ได้สอนความรู้ทางวิชาการด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะด้านศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (4) โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 คือนับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปี พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากใบแจ้งรายการประเมินขาดรายละเอียด เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และแม้การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จะไม่ได้จัดให้มีเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ก็มีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังย่อมมีผลให้ถือว่า การประเมินครั้งแรกที่แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ที่ขาดเหตุผลมาแต่เดิมนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่เดิมแล้ว การนับระยะเวลาในการประเมินย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) จึงนับจากวันที่ประเมินภาษีครั้งแรก ทั้งระยะเวลาย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่เป็นกรอบเวลาในการใช้อำนาจในการประเมินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่อายุความ การประเมินภาษีสำหรับปีภาษี 2538 จึงเกินกำหนด 10 ปี แล้ว ส่วนปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2547 นั้น ไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อน เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการประเมินมายังโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และต่อมาได้มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เมื่อคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวมิได้เพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ใบแนบใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) เพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังโดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว การกำหนดค่ารายปีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 70/32 ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกับโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8937/2560 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท ซ. หยุดทำการเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายผู้ร้องที่ 1 กับฝ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ หากแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดปัญหาในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชี และไม่เกิดประโยชน์แก่บริษัท ซ. การที่ศาลล่างทั้งสองแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งถือว่าเป็นคนกลางเป็นผู้ชำระบัญชีได้ และเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีแทนผู้คัดค้านที่ 1
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2560 จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การข้อ 1 โดยบรรยายว่า จำเลยทั้งสามขอให้การตัดฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ร่วมหุ้นกันนั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนในกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะและประเภทเดียวกันหรือมีสภาพดุจเดียวกันแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าแข่งเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่มีข้อความใดยอมรับว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้อง หากแต่เป็นการอ้างเนื้อความตามคำฟ้องมาเพื่อให้การต่อสู้คดีในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อแรกทำนองว่าหากเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องเรียกร้องผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1038 จะฟ้องให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในข้อ 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นส่วนตัวไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8908/2560 แม้จำเลยจะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยประกอบกิจการค้าห้างขนาดใหญ่ ขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างของจำเลยซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินตามสมควร ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นผู้ระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอง จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของการประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยจะพึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้า แม้จำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้าโดยตรง หรือมิได้มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถก็ตาม ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้าง และแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถจะต้องมีหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของรถและยังต้องเสียค่าปรับจึงจะนำรถออกไปได้ แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ตำแหน่งทางเข้าออกแทน และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลจุดทางเข้าออกของห้างเพื่อสกัดกั้นมิให้มีการขับรถออกไปจากลานจอดรถของห้างได้โดยสะดวก มีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากพื้นที่ได้โดยง่าย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยงดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยระบุว่า จำเลยร่วมตกลงรับจ้างบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยมีหน้าที่สอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการ ซึ่งได้แก่อาคาร สถานที่ และอาณาบริเวณของอาคารให้มีความปลอดภัย จำเลยร่วมผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยตามสมควร รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมไปเช่นเดียวกับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้างและแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอดโดยเพียงแต่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้าออกแทนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมไป การที่จำเลยสั่งให้จำเลยร่วมจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 5 คนประจำตามจุดที่จำเลยกำหนดเพื่อดูแลพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาด 1,096 คัน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่และมีการแบ่งพื้นที่จอดรถเป็นหลายส่วนรอบอาคารของห้าง การสอดส่องตรวจตราดูแลย่อมกระทำได้ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้าไป เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งบกพร่องอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้อยู่ในความรู้เห็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม การที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560 โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนการยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้โดยจำเลยที่ 6 แสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องได้เนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมปฏิเสธไม่รับผิด จำเลยที่ 6 จึงยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2560 ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางบกจากโรงงานของผู้ผลิตมายังท่าเรือเมืองเจนัว สาธารณรัฐอิตาลี และขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือเมืองเจนัวมายังประเทศไทย อันมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันสองรูปแบบภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว และจำเลยที่ 1 ตกลงรับดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่ผู้ตราส่ง ก็เป็นเรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 10 กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหากผู้ตราส่งเสียหายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่อไป และแม้ใบตราส่งจะไม่ได้ระบุว่าเป็นใบตราส่งต่อเนื่องก็เป็นเรื่องหลักฐานแห่งนิติสัมพันธ์ในการรับขนของไม่มีผลกระทบถึงสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาว่าจ้างจำเลยที่ 1 โจทก์กล่าวอ้างว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ผลิตส่งสินค้าที่ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องครบถ้วนตามจำนวนและสินค้าสูญหายก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะส่งมอบสินค้าตามคำฟ้อง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าสินค้าดังกล่าวสูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสี่ โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560 ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2560 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลใด และวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดยะลา) ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายของจำเลยทั้งสองอันเป็นที่มาของการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองสงขลา หากศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองสงขลา แต่ถ้าศาลปกครองสงขลามีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2560 ตามระเบียบการจ่ายเงินค่าบริการของโจทก์ระบุว่า ค่าบริการเป็นเงินที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าผู้มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งใบเสร็จรับเงิน โดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินในนามโจทก์แล้วนำค่าบริการดังกล่าวมาแบ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนเท่าๆ กัน เป็นประจำทุกเดือน ดังนั้น การที่ลูกจ้างของโจทก์จะได้รับเงินค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวจากลูกค้าแล้วนำมาจัดแบ่งให้ลูกจ้างเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของโจทก์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แม้โจทก์จะนำเงินค่าบริการที่เก็บจากลูกค้าได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการลูกจ้างของโจทก์ด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้เงินค่าบริการซึ่งเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการแปรสภาพเป็นเงินของโจทก์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปได้ เงินค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่จะต้องนำมาคำนวณจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8748/2560 แม้ว่าคดีหมายเลขแดงที่ 10521/2542 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกอีก 1 คน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคดีหมายเลขดำที่ ย.5547/2546 คดีหมายเลขแดงที่ ย.3553/2548 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและร่วมกันฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าว มิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างในฎีกาหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อปรากฏว่าคดีที่ ว. กับพวกถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 8870/2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ ว. แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20063/2555 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่า ว. กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 500,000 เม็ด น้ำหนัก 46,284.590 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธ์ได้ 10,685.239 กรัม และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นผงสีส้มจำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 2.280 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 0.739 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ว. จึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์การปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารในนามของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 หรือการนำทองคำแท่งไปฝังไว้ในสนามหญ้าหน้าบ้าน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มาตั้งแต่ปี 2541 ถึง 2546 และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปี 2541 ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำกลางคลองเปรม ผู้คัดค้านที่ 1 และ ว. ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน จึงมีความสนิทสนมและมีพฤติการณ์ค้าเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน ต่อมา ว. พ้นโทษออกมาก่อน แต่ก็ยังมีการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฟอกเงิน พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินต่าง ๆ หลายรายการรวมทั้งทรัพย์สินตามคำร้องด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ย่อมเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2546 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยด้วยจึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องแต่อย่างใด เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องบังคับตามมาตรา 51 ที่แก้ไขใหม่ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2560 ข้อห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 เป็นกรณีที่มีการอ้างพยานบอกเล่าต่อศาลโดยนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่านั้น คดีนี้โจทก์ร่วมมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รู้เห็นด้วยตนเองโดยตรง ถือเป็นประจักษ์พยาน แต่เบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยมิใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงเป็นกรณีนำสืบคำให้การในชั้นสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์ร่วมเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้อย่างไร มิใช่การพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่า อันจะต้องห้ามมิให้รับฟัง เช่นนี้ศาลจึงสามารถรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนนั้นได้ในฐานะคำกล่าวนอกศาลที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมเพื่อหักล้างคำเบิกความในชั้นศาล
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8710/2560 จำเลยเพียงเข้าไปชกต่อยและถีบผู้เสียหาย พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้มีดแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่า อ. พาอาวุธมีดมา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) เท่านั้น แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีส่วนแพ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่ผู้เสียหายถูกแทงจนได้รับอันตรายแก่กายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8695/2560 ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อสินค้าเมล็ดถั่วเหลืองจากผู้ขายในราคาค่าสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง ตัวแทนของกัปตันเรือของจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขายที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อความระบุว่า ให้ใช้ประกอบสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ เช่นนี้จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ หน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 เมื่อใบตราส่งระบุว่าเป็นการขนส่งจากท่าเรือต้นทางเมืองซานโตส ประเทศบราซิล ถึงท่าเรือปลายทางเกาะสีชัง ประเทศไทย หน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้ดำเนินการขนถ่ายและขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังต่อไปยังท่าเรือของผู้เอาประกันภัยที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การขนส่งทอดนี้จึงเป็นการขนส่งในราชอาณาจักรซึ่งไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 จึงเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้คนละช่วงคนละตอน หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองแยกกันอย่างเด็ดขาดและอยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายคนละฉบับ หากมีความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยใดครอบครองดูแล จำเลยนั้นก็ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยเพียงลำพัง มิใช่รับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สินค้าในความดูแลของจำเลยที่ 1 สูญหาย แม้จำนวนน้ำหนักสินค้าต้นทางที่แน่นอนจะเป็นอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างหรือจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็มิใช่สาระสำคัญ และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสินค้าตามจำนวนที่ได้รับมาแก่ผู้เอาประกันภัยถูกต้องครบถ้วนแล้ว พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง มิได้บกพร่องขาดจำนวนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะนำสืบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าแต่ละช่วงแต่ละตอนประกอบรายงานการกำกับดูแลการขนถ่ายเมื่อเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 มาถึงท่าขนถ่ายสินค้าระบุว่า ตราผนึกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่ปรากฏความเสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดที่โรงงานของผู้เอาประกันภัยสินค้าปรากฏว่าขาดหายไปกว่า 1,000 เมตริกตัน และมีการจับกุมและการตรวจยึดเรือลำเลียงอื่นซึ่งบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองและรถบรรทุกเมล็ดถั่วเหลืองเต็มกระบะอีก 4 คัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า มีการลักลอบขนถ่ายสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจากความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2560 คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าเป็นการยื่นฟ้องจำเลยและบริวารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 หลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ การยื่นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" มาตรา 247 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." การที่ผู้คัดค้านยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8685/2560 ผู้ร้องทั้งสองซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดต่อศาลจังหวัดระยองซึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยองเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า เป็นการขายทอดตลาดในคดีของศาลจังหวัดสงขลาหมายเลขแดงที่ 3221/2541 ระหว่าง ธนาคาร น. โจทก์ และจำเลยทั้งสองมิได้ระบุว่าเป็นการดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย การที่ผู้ร้องทั้งสองเข้าใจว่าเป็นการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งทั่วไปมิใช่คดีล้มละลายก็เนื่องมาจากประกาศขายทอดตลาดระบุว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายโดยมิได้แจ้งให้ผู้เข้าสู้ราคาทราบว่าเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลาย ต่อมาเมื่อผู้ร้องทั้งสองทราบจากรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันนัดไต่สวนคำร้องของศาลจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องทั้งสองรีบดำเนินการยื่นคำร้องขอถอนคำร้องต่อศาลจังหวัดระยองและยื่นคำร้องในคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 อันเป็นระยะเวลาห่างกันเพียง 9 วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้เพิกเฉยปล่อยปละละเลยที่จะไม่ยื่นคำร้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลายื่นคำร้องให้แก่ผู้ร้องทั้งสองและรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไว้วินิจฉัยต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2560 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้ แต่ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.30/2543 ของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ และเจ้าหนี้ได้ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่นทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยระบุยอดหนี้ของเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน 45,136,004 บาท สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดังนั้น แม้ต่อมาคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็ตาม แต่ความผูกพันในข้อตกลงต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้สิ้นสุดลง ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังคงผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้ให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนหนี้เดิมของเจ้าหนี้นั้น เมื่อตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว..." ดังนั้น แม้ลูกหนี้จะผิดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ แต่ความรับผิดของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ยังคงมีอยู่ต่อกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่อาจกลับไปใช้มูลหนี้เดิมเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่เจ้าหนี้ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากยอดหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8671/2560 การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2551 ถึงปีภาษี 2554 มีทั้งการประเมินครึ่งปีกับเต็มปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประเมินภาษีในปีภาษีเดียวกัน เงินภาษีสำหรับการประเมินครึ่งปีและเต็มปีภาษีจึงเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งเมื่อรวมคำนวณเงินภาษีในส่วนของเบี้ยปรับที่พิพาทสำหรับการประเมินครึ่งปีและเต็มปีภาษีเข้าด้วยกันแล้วมีจำนวนเกินกว่า 50,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8669/2560 มาตรา 42 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้... (17) เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง" ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท โดยต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว (2) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับสิทธิยกเว้น นอกจากจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) แล้ว ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยข้อ 2 ของประกาศอธิบดีดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์ว่า การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้ ซึ่งเอกสารแนบท้ายประกาศอธิบดีดังกล่าว คือ หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ที่ใช้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ในปี พ.ศ.2552) แสดงว่า การมีหนังสือรับรองเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยในหนังสือรับรองจะต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศ ซึ่งข้อ 4 ของหนังสือรับรองดังกล่าวกำหนดให้กรอกรายการชื่อโครงการ ประกอบกับหมายเหตุท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า "เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย...อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้" จึงเห็นได้ว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นและเพื่อผลักดันให้ประชาชนนำเงินออมที่มีอยู่มาจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ชื่อโครงการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในหนังสือรับรอง เมื่อหนังสือรับรองที่โจทก์ยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีชื่อของโครงการและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เงินได้ของโจทก์ที่ใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2560 สิทธิในการได้รับค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายกับเด็กหญิง ธ. และเด็กชาย อ. บุตรทั้งสองของผู้ตายจะเรียกจากผู้ทำละเมิดเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน โจทก์ร่วมเป็นย่ามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีของบุตรทั้งสองของผู้ตายอันจะถือได้ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องในนามบุตรของผู้ตายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งมารดาของบุตรทั้งสองของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายได้ คงมีสิทธิเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2560 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ไม่ใช่เป็นบทความผิด แต่เป็นเพียงบทที่ให้อำนาจแก่ศาลในการริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 11 มาตรา 48 มาตรา 54 หรือมาตรา 69 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ ด้วย เป็นการไม่ชอบ คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเจ้าพนักงานยึดสิ่งใดเป็นของกลางอันพึงจะต้องริบตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวดังนั้น จึงไม่มีของกลางที่ศาลจะสั่งให้ริบเสีย แม้โจทก์จะมีคำขอตามมาตรา 74 ทวิ มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องสั่งตามมาตรานี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8570/2560 ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า ผู้ร้องรื้อบ้านให้เช่าของผู้ตายแล้วเอาบ้านไม้ไปโดยทุจริต ทำให้กองมรดกได้รับความเสียหายนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนฎีกาที่ว่าผู้ร้องรื้อบ้านของผู้ตายและนำเงินที่ขายได้ไปใช้ส่วนตัวโดยพลการนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่นำสืบว่าผู้ร้องนำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมแซมบ้านซึ่งผู้ตายพักอาศัย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากที่ดินที่ระบุหลักฐานโฉนดที่ดินในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่นที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน ซึ่งหากผู้ตายมีเจตนาจะยกทรัพย์สินดังกล่าวให้ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อความที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดก จึงมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ก็อ้างว่าผู้ร้องใช้การฉ้อฉลแสดงเจตนาหลอกลวงให้ผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และร่วมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรม ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงและพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ทำให้เชื่อว่าหากผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การจัดการมรดกก็จะมีข้อขัดแย้งและเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8542/2560 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ประกอบกับเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็เป็นตัวอักษรหลายตัวประกอบกันเป็นคำ จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้า เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์และเครื่องหมายการค้า ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า POWER และ DEKOR คำทั้งสองเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 10 ตัว P, O, W, E, R, D, E, K, O และ R ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า และ คำทั้งสองเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คือ E, U, R, O, D, E, K, O และ R คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร 5 ตัว ได้แก่ P, O, W, E และ R ส่วนคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีอักษร 4 ตัว ได้แก่ E, U, R และ O เห็นได้ว่าคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คงมีแต่คำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีอักษร 5 ตัว ซึ่งเหมือนกันทั้งห้าตัว ได้แก่ D, E, K, O และ R และแม้ว่าตัวอักษรทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกันก็ตาม แต่แบบของตัวอักษร (font) เป็นคนละแบบกัน ทั้งเครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์ยังใช้เส้นตัวอักษรสีดำมีลักษณะบางกว่าเครื่องหมายการค้า ซึ่งใช้เส้นตัวอักษรสีดำทึบและเข้มกว่า เห็นได้ว่า ลักษณะแบบและขนาดเส้นของตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าทั้งสองไม่เหมือนกัน ในการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องพิจารณาในภาพรวมที่ปรากฏทั้งเครื่องหมาย เมื่อปรากฏว่า คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกและคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็เป็นตัวอักษรขนาดเดียวกันหลายตัวเรียงติดต่อเป็นแถวอยู่ในระนาบเดียวกัน การเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าทั้งสองในภาพรวมจึงไม่อาจแยกภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งออกไปโดยไม่นำมารวมพิจารณาในการเปรียบเทียบได้และการที่โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วต่างได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของตนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 (1) นั้น ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ไม่มีสิทธิใช้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของตนได้โดยลำพังแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้เท่านั้น หามีผลทำให้คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องถูกแยกออกไปไม่นำมารวมพิจารณาหรือกลายเป็นคำที่มีน้ำหนักในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันหรือไม่น้อยกว่าคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง ดังนี้ การเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่จึงต้องพิจารณาในภาพรวมที่มีคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกและคำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองประกอบกันทั้งหมด เมื่อปรากฏว่า คำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือ คำว่า POWER แตกต่างกับคำซึ่งเป็นภาคส่วนแรกของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว คือ คำว่า อย่างชัดเจน แม้คำซึ่งเป็นภาคส่วนที่สองของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นคำคำเดียวกัน คือ คำว่า DEKOR แต่คำว่า DEKOR หมายถึง DECORATION ที่ผู้ประกอบการจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับสินค้าจำพวกที่ 19 นิยมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแยกวินิจฉัยเพียงว่าเครื่องหมายของโจทก์คำว่า DEKOR เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วคำว่า DEKOR จึงไม่ชอบด้วยหลักการพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่จะต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดซึ่งมีคำอันเป็นภาคส่วนแรกและภาคส่วนที่สองประกอบกันแล้วก็เห็นได้ว่า ลักษณะอักษรของเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกัน และในการเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองต้องอ่านออกเสียงทุกคำ โดยไม่อาจเรียกขานโดยอ่านออกเสียงเฉพาะคำว่า DEKOR ซึ่งเป็นคำอันเป็นภาคส่วนที่สองที่โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าอื่นที่จดทะเบียนได้แล้วมิได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า พาวเวอร์เดคคอร์ โดยไม่อาจเรียกขานว่า เดคคอร์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า ยูโรเดคคอร์ โดยไม่อาจเรียกขานว่า เดคคอร์ เช่นกัน ดังนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองแตกต่างกัน แม้จะได้ความว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างก็ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 19 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างอันมีลักษณะอย่างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงเป็นไปได้ยาก เครื่องหมายการค้า POWERDEKOR ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8539/2560 การขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น คู่ความอาจมีคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วได้ ประกอบกับคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้นมีผู้พิพากษาสมทบซึ่งลงชื่อเป็นองค์คณะได้ทำความเห็นแย้งว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักรตามคำร้องขอของผู้ร้อง ซึ่งความเห็นแย้งที่ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558 โดยไม่ว่าจะพิจารณาจากความหมายในข้อความตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตราต่าง ๆ หรือความสอดคล้องของบทกฎหมายต่าง ๆ ดังกล่าวกับอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศหรืออนุสัญญานิวยอร์กตามพันธกรณีที่ประเทศยอมรับ ล้วนแต่เป็นกรณีที่จะต้องถือว่าศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมฝ้ายนานาชาติจำกัด เมืองลิเวอร์พูล ประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศแต่อย่างใด การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว รวมตลอดถึงการมีคำสั่งและออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องล้วนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปราศจากอำนาจ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องพิพากษายกคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลดังกล่าวทั้งหมด ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2560 ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทำสัญญาทั้งสามฉบับขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้จำเลยรับสภาพหนี้มิได้มีเจตนาให้เป็นสัญญาตามแบบ ไม่ใช่ตราสารที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แม้โจทก์จะฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินรวมจำนวน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 จำนวน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์แล้ว ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงจำนวน 145,000 บาท ต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8479/2560 การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ช. ได้เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจากการจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตาม น. ที่ใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย จนมีการจับกุม ช. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด ในรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง ช. หรือ น. และไม่เป็นเหตุให้ทำการจับกุมตัว ช. ได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับ น. ได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 พยานรับแจ้งจากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่า จะมีกลุ่มคนชนเผ่าม้ง เป็นกลุ่มของ น. ลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า น. มีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามจนสามารถจับกุม ช. ได้ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์อีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่สามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นในคดีนี้ได้อีก ฉะนั้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์ทั้งสองเอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2560 ตามหนังสือขอยืมวงเงินตั๋วอาวัล เอกสารหมาย จ.4 บริษัท ส. ขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลจากบริษัท สช. เป็นเงิน 9,518,738 บาท ซึ่งขณะนั้นกรรมการของบริษัท ส. มี 4 คน รวมโจทก์กับจำเลย ซึ่งหากต้องเฉลี่ยรับผิดในความเสียหายแล้วจะตกคนละ 2,379,684.50 บาท แต่ในเอกสารหมาย จ.4 ลงชื่อผู้ให้สัญญาเพียง 3 คน โดยไม่รวมจำเลยอยู่ด้วย ดังนั้น ความรับผิดของผู้ให้สัญญาแต่ละคนจะตกคนละ 3,172,912.67 บาท ซึ่งจำนวนเงินทั้งสองยอดดังกล่าวไม่ตรงกับจำนวนความรับผิดของโจทก์ จำนวน 2,139,184 บาท ตามที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ซึ่งโจทก์อ้างว่าต้องรับผิดจำนวนดังกล่าวลอย ๆ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงแตกต่างกันเช่นนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าการมอบเช็คให้จำเลยได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นการสั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันดังที่โจทก์อ้าง ทั้ง ๆ ที่เช็คมีจำนวนเงินสูงถึง 2,139,184 บาท และเป็นเช็คที่ออกในนามโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็คเพื่อค้ำประกันการขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลที่มีการชำระเงินแล้วตามฟ้อง จำเลยย่อมเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าว และนำไปสลักหลังมอบให้บุคคลอื่นได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2560 โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ผู้ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ดังนั้นเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสี่ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลเป็นพับ แต่มิได้พิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อุทธรณ์ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8347 - 8401/2560 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดเป็นการส่วนตัวในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ฎีกาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการประมาทเลินเล่อ โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดเป็นการส่วนตัวในผลแห่งละเมิด กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดหรือไม่ โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ซึ่งรับทำการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ให้โจทก์ สนับสนุนให้จำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำโดยทุจริตในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงพิพาท ซึ่งเมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่สิบเก้า
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2560 แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่ชาย บิดา และสามีของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้ เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอคืนทรัพย์สิน ผู้ครอบครองทรัพย์สินแม้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในส่วนมาตรการดำเนินคดีต่อทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดและให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล แต่เป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะให้ดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ และหลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ไม่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ต้องแสดงให้เห็นว่าได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2560 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลและศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ว่าการร้องขอดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามูลฐาน กล่าวคือ ต้องเกิดการกระทำความผิดมูลฐานขึ้น แต่มาตรการทางแพ่งก็ไม่ผูกติดกับคดีอาญา แยกออกจากกันต่างหาก โดยความผิดและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น แม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ไม่ได้ถูกฟ้องและได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน (ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่ก่อนแล้ว) ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ใช้มาตรการให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และมาตรการดังกล่าวก็มิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานกรรมการและผู้ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่งตั้งจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 33 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมด้วย บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกรรมตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีเพียงประธานกรรมการและกรรมการ หาได้มีรองประธานกรรมการด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าในกรณีที่ประธานกรรมการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทนแต่อย่างใด การที่พลตำรวจตรี พ. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรมหมดวาระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรรมการซึ่งมาประชุมมีมติเลือก จ. กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมและมติที่ประชุมครั้งที่ 32/2548 รวมทั้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งออกตามมติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในคำคัดค้านเพิ่มเติมของผู้คัดค้านทั้งสามปรากฏข้อต่อสู้เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 มิได้รับโอนทรัพย์สินใดมาจากจำเลยในคดีอาญา ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งได้มาโดยสุจริต มิได้ต่อสู้เลยว่าในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและคำสั่งไม่มีการพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างไร และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นในคำคัดค้าน และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85, 142 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนข้อต่อสู้ตามคำคัดค้านเพิ่มเติมข้างต้น ผู้ร้องได้บรรยายมาในคำร้องแล้วว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะได้วินิจฉัยในปัญหาประการต่อไปว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกคณะกรรมการธุรกรรมหรือศาลสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินตามคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ในลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ในลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ในลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2560 สัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศไทยบังคับกับสัญญาฉบับนี้ ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศไทย และสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศสวีเดน บังคับกับสัญญาฉบับนี้ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศสวีเดน แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 รวมทั้งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการกลับภูมิลำเนาก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ไม่ใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นผลให้ไม่ต้องนำกฎหมายของประเทศสวีเดนมาใช้บังคับตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560 ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8324/2560 ป.วิ.พ. มาตรา 175 ไม่ได้ระบุให้โจทก์ต้องแสดงเหตุผลในการถอนฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว โดยจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี เป็นการใช้สิทธิขอถอนฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยที่ 2 ก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ แต่คำคัดค้านมิใช่คำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2560 ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เมื่อเงินค่าบริการนี้มิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงมิได้เป็นค่าจ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209 - 8219/2560 บทบัญญัติเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการลูกจ้างมีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 47 คือดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี มาตรา 48 บัญญัติว่า นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งใน (1) ถึง (7) โดยมาตรา 48 (7) กรรมการลูกจ้างพ้นตำแหน่งเมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ ส่วนมาตรา 49 ที่บัญญัติว่า ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ เมื่อ (1) จำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่มีอยู่เดิมนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะเมื่อเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 49 (1) ถึง (4) จึงมิใช่เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์กำหนดหลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการลูกจ้าง ดังนั้นแม้จะเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 49 (1) คือจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่มีอยู่เดิม กรรมการลูกจ้างก็ไม่ได้พ้นตำแหน่งกรรมการลูกจ้างไปทันทีดังที่ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัย แต่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะได้ตามมาตรา 49 (1) เนื่องจากจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามส่วนของลูกจ้างทั้งหมดตามมาตรา 46 เมื่อมีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะ กรรมการลูกจ้างเดิมย่อมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 48 (7) เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างใหม่ทั้งคณะตามมาตรา 48 (7) โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงยังคงเป็นกรรมการลูกจ้างตามกฎหมาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดในขณะโจทก์ทั้งสิบเอ็ดยังเป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 52 เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดให้มีผลทันทีซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันที่ 25 จำเลยต้องรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราค่าจ้างเดิมและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามสภาพการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเสมือนมิได้มีการเลิกจ้าง และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดในอัตราเดิมตั้งแต่งวดการจ่ายค่าจ้างเดือนธันวาคม 2556 จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างแต่ละงวดจนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเสร็จ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเช่นเดียวกับลูกจ้างรายอื่นเพราะประสบภัยพิบัติน้ำท่วมและประสบปัญหาด้านการเงินโดยเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจเลิกจ้างได้ตามกฎหมายและเป็นกรณีที่จำเลยมีเหตุที่จะไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้าง ทุกระยะเวลา 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง เมื่อศาลฎีกาเห็นควรให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามสภาพการจ้าง หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมเสมือนมิได้มีการเลิกจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายอื่นที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดอ้างว่าได้รับเนื่องจากถูกเลิกจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด เมื่อศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ให้โจทก์ที่ 10 และที่ 11 เข้าทำงานตั้งแต่ปี 2548 เพื่อรอฟังผลคดีที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างกรณีถูกกล่าวหาว่าขาดงานและละทิ้งหน้าที่การงานจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 10 และที่ 11 ตลอดมาครบถ้วน เมื่อโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและจำเลยให้รอฟังผลการพิจารณาคดีถึงที่สุด คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ที่ 10 และที่ 11 ไม่ต้องเข้าทำงานยังไม่ถือเป็นการขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติหน้าที่กรรมการลูกจ้างของโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ทั้งโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ยังคงเป็นกรรมการลูกจ้างอยู่ ยังไม่ถือว่าได้รับความเสียหายที่เป็นตัวเงิน เมื่อโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ไม่ได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยในช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตามระเบียบของจำเลยที่จะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ เป็นเงินค่ากะและเงินรางวัลความเพียร ส่วนค่าใช้จ่ายเดินทางจากบ้านมาที่ทำงานเพื่อลงลายมือชื่อทำงานเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 10 และที่ 11 จะต้องรับผิดชอบจ่ายเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 10 และที่ 11 ได้รับความเสียหาย อนึ่ง โจทก์ที่ 11 บรรยายฟ้องว่ามีค่าจ้าง 11,117 บาท แต่มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในอัตรา 10,854 บาท เมื่อจำเลยรับว่าโจทก์ที่ 11 มีค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องเดือนละ 11,117 บาท เพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 11,117 บาท แก่โจทก์ที่ 11 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8203/2560 การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามบริบทเฉพาะในส่วนของการจัดการการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรฐานของดุลพินิจก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังเช่นกรณีมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการใดๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น และผลของการพิจารณาชี้ขาดก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องที่ศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในบริบทของกระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ไม่มีกฎหมายใดกำหนดบังคับให้ศาลยุติธรรมจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา มาตรฐานในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมก็แตกต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นศาลยุติธรรมย่อมมีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560 แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้ จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2560 การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ การแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียว หาใช่เหตุที่จะไม่นำส่วนที่ได้แสดงปฏิเสธมาพิจารณาในภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย หากเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำดังเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า " และ " ของผู้คัดค้าน นอกจากจะต้องพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าและต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ด้วย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าแล้ว เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนมีอักษรโรมัน "M" "X" อยู่หน้าอักษรโรมัน "N" "E" และ "C" โดยมีขนาดและลักษณะตัวอักษรเท่ากันทั้งหมด อักษรโรมัน "N E C" ในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่ได้มีลักษณะเด่นกว่าอักษร "M X" เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านบางเครื่องหมายยังอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันสามารถแยกแยะได้โดยง่ายโดยเครื่องหมายของโจทก์มีอักษร "MX" อยู่ด้านหน้าย่อมเป็นจุดแรกที่ทำให้สาธารณชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็ม เอกซ์ เอ็น อี ซี หรือ เอ็ม เอกซ์ เนค" ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านอาจอ่านออกเสียงว่า "เอ็น อี ซี" หรือ "เนค" แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประกอบกับว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านใช้กับสินค้าเครื่องมือระบบตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิทัล เครื่องมือส่งข้อมูลแบบแพ็คเก๊ทสวิทชิ่ง ฯลฯ เป็นต้น แม้สินค้าบางส่วนจะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่สินค้าของโจทก์และของผู้คัดค้านต่างเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงกับมีราคาสูง และเป็นสินค้าคงทน ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าประเภทนี้ย่อมเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ย่อมต้องศึกษาคุณสมบัติตลอดจนคุณภาพของสินค้ามาก่อนในการที่จะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าประเภทนี้ ย่อมสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนในตัวสินค้าของโจทก์กับของผู้คัดค้าน เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้าน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและมีลักษณะบ่งเฉพาะไม่มีอักษรต้องห้ามอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "" ของโจทก์โดยเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 เป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560 การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8150/2560 ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องที่ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงเท่านั้น เมื่อรถยนต์ตามคำร้องเป็นสินสมรสระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 กับ ร. มีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ร. ก็ยื่นคำร้องคัดค้านได้เฉพาะทรัพย์สินในส่วนของตน ไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินในส่วนของ ร. และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินในส่วนของ ร. ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอสีคิ้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรือนจำกลางคลองไผ่ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปพบและพูดคุยกับนักโทษชาย ม. ซึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติดที่เรือนจำกลางคลองไผ่โดยผิดระเบียบ จึงไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและแม้ส่อว่าอาจมีข้อพิรุธ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการอื่นใดที่จะถือว่าเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนักโทษชาย ม. มาก่อนหน้านั้นอย่างไร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนักโทษชาย ม. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลักลอบส่งโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย ม. เป็นการผิดระเบียบของเรือนจำ และนักโทษชาย ม. นำโทรศัพท์มือถือไปให้นักโทษชาย อ. ซึ่งรู้จักกันมาก่อนและสนิทสนมกัน ใช้ติดต่อจำหน่ายยาเสพติดจากภายในเรือนจำ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2560 คดีก่อนจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยยึดทรัพย์โจทก์โดยชอบหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เหลือภายหลังจากการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระหนี้แล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และมาตรา 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และใช้บ้านของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ตั้งห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8094/2560 คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ร้าวที่วงแขน อาเจียน โจทก์ถูกนำส่งโรงพยาบาล ศ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ให้การรักษาด้วยยาอาการดีขึ้น ภรรยาโจทก์เห็นว่าอาการโจทก์มีลักษณะรุนแรงควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบกับโจทก์เคยรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทาง ภรรยาโจทก์จึงติดต่อและย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ทั้งที่ได้ความว่าโรงพยาบาล ก. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล ศ. มากกว่าโรงพยาบาล ซ. และใช้ระยะเวลาเดินทางน้อยกว่ากัน เมื่อภรรยาและญาติโจทก์ตัดสินใจส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. เพราะภรรยาและญาติโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ซ. ซึ่งโจทก์เคยรักษาที่โรงพยาบาลนี้มาก่อน การที่นำตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ซ. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซ.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2560 โจทก์กำหนดอัตราค่านั่งเครื่องของพนักงานแคชเชียร์ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาทต่อคน เท่ากันทุกเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าหากพนักงานแคชเชียร์มีความประพฤติไม่ดี ทำความผิดหรือทำงานมีข้อผิดพลาดก็จะหักคะแนนและนำไปปรับลดเงินค่านั่งเครื่องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ ในบางเดือนอาจมีพนักงานแคชเชียร์บางคนไม่ได้รับค่านั่งเครื่องเลย แต่การจ่ายค่านั่งเครื่องให้จริงเป็นจำนวนมากน้อยหรือไม่จ่ายค่านั่งเครื่องเลยย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินผลในเรื่องความประพฤติปฏิบัติตนและความตั้งใจในการทำงาน การจ่ายค่านั่งเครื่องดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายให้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานแคชเชียร์ตั้งใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความประพฤติที่ดี ลดข้อผิดพลาดในการทำงานให้น้อยลง และกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบแทนในการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ของพนักงานแคชเชียร์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่ต้องนำค่านั่งเครื่องดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560 จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2560 จำเลยกระทำละเมิดเป็นเหตุให้มารดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย มารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 แม้ก่อนถึงแก่ความตายมารดาโจทก์ทั้งสองรับผิดชอบดูแลบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 1 แต่เมื่อมารดาโจทก์ทั้งสองไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำการงานให้เป็นคุณในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมแก่โจทก์ที่ 1 กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8063/2560 การที่จำเลยมาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เชื่อว่าเพื่อมาพูดคุยเรื่องที่ผู้ตายโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตำหนิจำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่มาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เพราะถูกผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลย เพราะเมื่อจำเลยมาถึงบ้าน พ. พ. ได้ยินจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ผู้ตายด่าทอจำเลย ไม่ใช่โต้เถียงเรื่องที่ผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อเหตุวิวาททำร้ายจำเลยก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายบอกจำเลยให้นำกระเป๋าสะพายไปเก็บที่รถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยหันหลังกลับมาผู้ตายหยิบท่อพลาสติกพีวีซีขนาดยาว 3.50 เมตร ด้วยมือทั้งสองข้างตีที่แขนซ้ายและลำคอของจำเลยจนปรากฏรอยเขียวช้ำ แสดงว่าผู้ตายใช้ท่อพลาสติกพีวีซีตีจำเลยโดยแรงและเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายจำเลยก่อน แต่เมื่อพิจารณาอาวุธที่ผู้ตายใช้เป็นท่อพลาสติกกลวง น้ำหนักไม่มาก ไม่สามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด และตีเพียง 1 ครั้ง แม้จำเลยจะมีสิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของผู้ตายและเป็นภัยที่ถึงตัวแล้ว แต่จำเลยก็สามารถหาวิธีป้องกันภยันตรายให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี การที่จำเลยใช้ปืนพกจ้องเล็งไปที่ลำตัวในระดับหน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญแล้วยิงไป 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณราวนมด้านซ้าย หัวกระสุนปืนทะลุเข้าหัวใจ ทะลุออกบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้ายจึงเป็นกรณีที่จำเลยป้องกันตนเองเกินกว่ากรณีจำเป็นต้องป้องกัน และไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทำไปด้วยความตื่นเต้นตกใจกลัว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เป็นการกระทำอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001 - 8002/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญา การที่ผู้ตายถูกจำเลยทั้งหกร่วมกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย เป็นความเสียหายเพราะเหตุที่ผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิต อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกดังกล่าว พ. มารดาของผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ แม้จะได้ความว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยโดยสมัครใจวิวาททำร้ายกับฝ่ายจำเลย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942 - 7988/2560 เงินโบนัสเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด นายจ้างจะจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ และถ้าจ่ายจะจ่ายด้วยวิธีการและหลักเกณฑ์อย่างใดก็ต้องแล้วแต่นายจ้างจะกำหนด หรือตามสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ศาลแรงงานภาค 5 จึงไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสแทนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง หรือนอกเหนือจากสัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด หรือนอกเหนือจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้ เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดเงื่อนไขการจ่ายโบนัสประจำปี 2556 ไว้เพียงให้จำเลยประเมินผลงานของลูกจ้างก่อนสิ้นปี 2 สัปดาห์ และให้จำเลยจ่ายตั้งแต่ 0 ถึง 3 เท่าของรายได้แสดงได้ว่าหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสดังกล่าวขึ้นอยู่กับผลการประเมินผลงานที่จำเลยได้จัดทำไว้ และเป็นอำนาจของจำเลยในการใช้ดุลพินิจพิจารณาจ่ายโบนัส โดยคำนึงถึงผลการปฏิบัติงานของลูกจ้าง เมื่อแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์แต่ละคนและหนังสือเตือนที่จำเลยใช้เป็นเหตุสำคัญในการไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2556 โจทก์แต่ละคนต่างมีวันลา วันขาดงาน วันมาทำงานสายและถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ดังกล่าวปฏิบัติงานไม่เต็มกำลังความสามารถหรือบกพร่องไม่สมดังที่จำเลยคาดหวังไว้ จำเลยย่อมมีอำนาจตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะใช้ดุลพินิจไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2556 แก่โจทก์ดังกล่าวได้ การที่ศาลแรงงานภาค 5 เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสประจำปี 2556 และให้จำเลยจ่ายโบนัสแก่โจทก์แต่ละคนนั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7915/2560 จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดคดีนี้ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อคดีนี้ไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีไม้กันเกราแปรรูป 397 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 8.95 ลูกบาศก์เมตร และมีไม้นนทรีแปรรูป 568 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 19.79 ลูกบาศก์เมตร รวม 965 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 28.74 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยเพียงอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ โดยไม่ได้โต้แย้งว่าไม้ของกลางคดีนี้กับไม้ของกลางในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 76/2559, 78/2559 และ 79/2559 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อเป็นไม้ที่จำเลยมีเจตนาครอบครองในคราวเดียวกันอันจะทำให้เป็นความผิดกรรมเดียว ซึ่งเมื่อไม้ของกลางในคดีนี้เป็นไม้กันเกราแปรรูปและไม้นนทรีแปรรูป รวม 965 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 28.74 ลูกบาศก์เมตร ส่วนไม้ของกลางในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 76/2559 ของศาลชั้นต้นเป็นไม้กันเกราแปรรูป ไม้นนทรีแปรรูป ไม้ประดู่แปรรูป และไม้มะค่าโมงแปรรูป รวม 1,706 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 59.44 ลูกบาศก์เมตร ไม้ของกลางทั้ง 2 คดี เป็นไม้คนละจำนวนกัน จำเลยมีเจตนาครอบครองไม้ในแต่ละจำนวนคนละคราวต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรม เมื่อศาลมีคำพิพากษาในความผิดกรรมหนึ่ง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับกรรมอื่นหาได้ระงับลงไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ไม้ของกลางในคดีนี้และในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 76/2559, 78/2559 และ 79/2559 ของศาลชั้นต้นเป็นไม้แปรรูปที่จำเลยมีเจตนาครอบครองในคราวเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยในทั้ง 4 คดี จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาหมายเลขดำที่ 76/2559 ของศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) และพิพากษายกฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7901/2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน แต่ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กรรมหนึ่ง และฐานทำให้เสียทรัพย์ อีกกรรมหนึ่งด้วย ดังนี้ สำหรับอาวุธปืนของกลางแม้เป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เกิดความกลัวหรือความตกใจและกระสุนปืนถูกบ้านของผู้เสียหายที่ 3 ได้รับความเสียหาย กรณีย่อมถือได้ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 358 อันพึงต้องริบตามมาตรา 33 (1) มิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ริบอาวุธปืนของกลางเพราะจำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7868/2560 การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของ ช. เจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7851/2560 คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2.2 - 2.5 บรรยายบัญชีเงินฝากในธนาคาร ก. ธนาคาร ท. ธนาคาร อ. และธนาคาร พ. รวม 4 ธนาคาร แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า ขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะทรัพย์สินดังต่อไปนี้ว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ล. โดยไม่ได้อุทธรณ์ถึงบัญชีเงินฝากธนาคาร พ. แต่อย่างใด ทั้งในตอนท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ยังมีคำขอในข้อ 2 ให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสในส่วนที่เป็นเงินฝากธนาคารแก่โจทก์เพียง 35,872.73 บาท เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เงินฝากในธนาคาร พ. มีจำนวน 800,000 บาท เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ล. โจทก์จึงมีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่งและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งสินสมรสในส่วนเงินฝากธนาคารแก่โจทก์ 435,872.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7850/2560 แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่า แต่เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าจำเลยยอมรับว่ามีข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวเกี่ยวกับบ้านพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยให้การและนำสืบว่าปัจจุบันบ้านพิพาทมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้เพราะโจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่าให้ตกเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีอยู่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามข้อนำสืบของจำเลย แล้ววินิจฉัยไว้ในคำพิพากษา ในส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามประเด็นข้อพิพาทและข้อนำสืบในส่วนนี้ของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อมิให้คดีล่าช้า จึงเห็นสมควรวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ โดยไม่ย้อนสำนวน เมื่อโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงแบ่งบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสแล้วโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้บ้านพิพาทจึงมิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมาฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้อีก อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ให้นำหนี้ร่วมจำนวน 1,700,000 บาท มาหักออกจากราคาบ้านพิพาทก่อนแล้วจึงนำบ้านพิพาทมาแบ่งกัน โจทก์ฎีกาว่าไม่ต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวน 1,700,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์จึงมีเพียง 1,700,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 34,000 บาท ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาของทุนทรัพย์ 8,500,000 บาท เป็นเงิน 170,000 บาท จึงเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 34,000 บาท แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7847/2560 บริษัทโจทก์ บริษัท อ. และบริษัท ฮ. ต่างเป็นบริษัทลูกของบริษัทแม่ด้วยกันย่อมรู้ข้อมูลทางการเงินซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี วันที่ 9 กันยายน 2549 โจทก์ให้บริษัท ฮ. กู้ยืมเงินเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. ตามความต้องการของบริษัทแม่ วันที่ 6 ตุลาคม 2549 บริษัท ฮ. ออกหุ้นเพิ่มทุน 252,500,000 บาท ขายให้โจทก์แต่ผู้เดียว โดยโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระค่าหุ้น แล้ว บริษัท ฮ. สลักตั๋วให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 บริษัท ฮ. จดทะเบียนเลิกบริษัท และวันที่ 26 ธันวาคม 2549 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ขณะโจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ฮ. ปรากฏว่าผลการดำเนินงานของบริษัท ฮ. มีผลขาดทุนสะสมมาตลอด และได้หยุดการดำเนินกิจการชั่วคราวบริษัท ฮ. ไม่ได้นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการแปลงหนี้เป็นทุนตามที่โจทก์อ้างว่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อหวังเงินปันผลจากการดำเนินกิจการของบริษัท ฮ. รายจ่ายผลขาดทุนจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุน 252,500,000 บาท จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามนำเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2560 ในการเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การคำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิเป็นหลักสำคัญการรับรู้รายได้และรายจ่ายคือ การนำรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นมาบันทึก หากยังไม่ได้รับหรือจ่ายเงินจริงก็ต้องบันทึกเป็นรายได้ค้างรับหรือรายจ่ายค้างจ่าย โดยต้องนำไปรวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ดอกเบี้ยค้างรับเกิดขึ้นตามระยะเวลาที่ผู้กู้ได้รับเงินกู้ไป โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้แม้ยังไม่ได้ดอกเบี้ย จะอ้างบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 ว่า เป็นดอกเบี้ยค้างรับเกินห้าปีย่อมขาดอายุความแล้วไม่ได้ โจทก์ต้องบันทึกรับรู้รายได้ หากโจทก์ไม่อาจได้รับชำระหนี้อย่างแน่นอนก็ชอบที่จะจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) เนื่องจากธุรกิจบางประเภทอาจไม่เหมาะสมที่จะคำนวณรายได้และรายจ่ายตามมาตรา 65 วรรคสอง อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นธุรกิจเฉพาะ แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่องการใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วางแนวทางปฏิบัติในการคำนวณรายได้และรายจ่ายแตกต่างออกไปในรายละเอียด โดยข้อ 3.1 วรรคแรก "การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ... เว้นแต่รายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือนแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้" กรณีดังกล่าวใช้เฉพาะกิจการที่ระบุไว้ในข้อ 3.1 ข้างต้น แต่โจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ การค้าอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหากำไรและประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ย่อมไม่อาจรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มาตรา 65 ทวิ "การคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้... (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอนให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน" โจทก์จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ให้แก่บริษัท ช. โดยไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งมิใช่การประกอบธุรกิจตามปกติทั่วไปของผู้ทำการค้า เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทโจทก์ก็มุ่งหมายหาผลประโยชน์จากการประกอบการ กรณียังไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องผูกพันตนเข้าค้ำประกันหนี้ของบริษัทอื่นโดยไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าบริการ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินค่าบริการตามราคาตลาดในวันที่ให้บริการ เมื่อไม่มีข้อตกลงเป็นอื่น การจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินที่จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 โรงเรือนที่โจทก์ปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณค่าตอบแทนจากการค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย่อมถูกต้องแล้ว ทั้งการอ้างอิงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์อัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ก็เป็นตามราคาตลาดของการให้บริการดังกล่าว ชอบแล้ว มาตรา 91/8 วรรคสอง "การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้" กรณีการปฏิบัติของโจทก์เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเป็นคนละกรณีกับอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับที่โจทก์ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้หรือบันทึกเป็นรายได้ไว้ต่ำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยสภาพโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาอยู่แล้ว จึงอ้างเกณฑ์เงินสดในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 51/16 (6) ไม่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7843/2560 หลักการเสียภาษีอากรสำหรับบุคคลธรรมดานั้น เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับเป็นเงินได้อันจะนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้วเท่านั้น มิใช่เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาภายหน้า กรณียังไม่มีความแน่นอนว่าโจทก์จะได้รับทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่า บริษัท อ. ผู้เช่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้สิ่งปลูกสร้างที่ปลูกบนที่ดินที่เช่าตกเป็นของโจทก์ เนื่องจากคู่ความยังอุทธรณ์หรือฎีกาคดีนั้นและศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาอาจพิพากษาแก้หรือกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยคำพิพากษาศาลสูงมีผลเปลี่ยนแปลงเงินได้ที่ได้รับมาแล้วย่อมมิใช่เจตนารมณ์ของการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้พึงประเมินต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว และมีความแน่นอนในระดับรับรู้รายได้ ได้แล้วด้วย จำเลยประเมินภาษีเงินได้แก่โจทก์ว่ามีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (5) (ก) สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไม่สอดคล้องกับมาตรา 39 ที่ให้เสียภาษีจากเงินได้ที่เป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839 - 7840/2560 เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ความรับผิดในค่าภาษีย่อมเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ การที่โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราที่นำเข้ามาฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าภาษีซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 87 มาตรา 88 และ มาตรา 10 ทวิ วรรคสอง ที่ให้คำนวณตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของออกไป หากโจทก์นำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรก็จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา 88 วรรคสอง แต่หากโจทก์นำสินค้าออกเพื่อบริโภคภายในประเทศ โจทก์ยังคงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 10 ทวิ กรณีนี้โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราวิสกี้จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและได้นำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต่อมาโจทก์ขออนุมัติขนย้ายหัวน้ำเชื้อสุราดังกล่าวไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าของโจทก์ และปรากฏว่าหัวน้ำเชื้อสุราขาดหาย ไปจากจำนวนที่เคยจดแจ้งไว้ในใบขนสินค้าเดิมที่นำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป โจทก์จึงไม่อาจนำปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปก่อนนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าไปรวมกับปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่คงเหลืออยู่แล้วถือว่าได้ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกอันจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และแม้โจทก์จะอ้างว่าหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปเกิดจากการระเหยตามธรรมชาติที่เกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บและหมักบ่มเป็นกระบวนการผลิตสุราวิสกี้ แต่เหตุดังกล่าวไม่ใช่การสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 95 ที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรได้ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปดังกล่าว กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นจากการนำเข้า โจทก์จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ต้องชำระอากรขาเข้า โดยโจทก์มีหน้าที่ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร พร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 83/8 และมาตรา 83/9 แห่ง ป.รัษฎากร และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ไม่ชำระหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 การที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 เริ่มคิดเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2544 วันที่ 9 สิงหาคม 2544 และวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำเข้าและยื่นใบขนส่งสินค้าเพื่อนำของเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปอันเป็นวันที่ต้องชำระอากรขาเข้าจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2560 กรรมการบริษัทเดินทางออกจากประเทศและไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี แม้ไม่ใช่กรณีผู้แทนนิติบุคคลว่างลงซึ่งผู้ร้องอาจขอให้แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง และเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 73 เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะการที่กรรมการบริษัทไม่อยู่ทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลอาจมีผลเช่นเดียวกับตำแหน่งผู้แทนของนิติบุคคลว่างลง และการที่กรรมการดังกล่าวไม่อยู่อาจมีเหตุอันควรเชื่อว่าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราว จะต้องได้ความว่าหากไม่แต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวในขณะที่กรรมการบริษัทไม่อยู่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ และผู้ที่จะให้แต่งตั้งเป็นผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้แทนนิติบุคคลนั้นด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7827/2560 การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งหากผู้ต้องหาร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามเด็กหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรณีเฉพาะบางฐานความผิดเท่านั้น ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ นั้น มิได้หมายความรวมถึงความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกรณีความผิดอื่น ทั้งผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาด้วย ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยเบิกความว่าไปที่ขนำและพบน้ำต้มพืชกระท่อมที่ยังเหลืออยู่ในหม้อซึ่ง ธ. กับพวกนั่งดื่มอยู่ จึงไปขอดื่มแล้วผสมกับโค้กและยาแก้ไอดื่มกิน โดยมีการกรองน้ำที่ได้จากการต้ม แต่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ขณะถูกจับกุมตนกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมเพื่อดื่มกิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยต้มเองหรือน้ำต้มใบพืชกระท่อมที่ ธ. ต้มไว้อยู่แล้ว จำเลยมากรองเพื่อดื่มกินอย่างเดียว การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในการต้มใบพืชกระท่อม เมื่อปรากฏปริมาณที่ต้มถึง 2.6 ลิตร ทั้งยังมีอุปกรณ์เป็นหม้อ และใบพืชกระท่อมที่ยังไม่ต้มจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนหลายคนมามั่วสุมรวมตัวกันและวิ่งหลบหนีไปได้ และมีการผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมลงไปในน้ำต้มใบพืชกระท่อมทำให้มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อคนในสังคมจำนวนมากหากได้ดื่มกิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ "ผลิต" ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560 บ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีวัยรุ่นมั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ บ. กับพวกรวม 6 คน จึงนำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มใบพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้น พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในมีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง สำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้ศาลไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงต้มใบพืชกระท่อมแล้วกรองเอาน้ำที่ได้จากการต้ม 1 ถุง ปริมาตร 700 มิลลิลิตร ถือว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ชอบ และแม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ถือเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2560 ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท คดีนี้ ศ. เป็นกรรมการของจำเลย ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ศ. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่ ศ. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนั้น ส่วนที่จำเลยกำหนดให้ ศ. อยู่ในงานด้าน MKT. Advisor ตามแผนผังองค์กรก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ศ. พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย ศ. จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลย และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลย จึงเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์เบิกความว่าตามบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 โจทก์ไปประชุมไม่ได้ออกไปทำงานส่วนตัว และปรากฏว่าในบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 โจทก์จดบันทึกไว้ด้วยว่าไปประชุม โดยโจทก์ได้รับคำสั่งจาก ศ. และไปกับ ศ. ทุกครั้ง สถานที่ไปเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จึงมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จดบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งของจำเลยในบันทึกการประชุมผู้จัดการฝ่ายเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งในการตอกบัตรลงเวลาทำงาน และจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 ที่ออกโดย ว. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยอันเป็นการวางระเบียบการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับแก่พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแก่คนใดคนหนึ่ง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม มีผลใช้บังคับได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7799 - 7800/2560 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 ข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ใน ป.วิ.อ. เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แพ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7798/2560 เนื้อหาฎีกาของผู้ร้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียดซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2560 โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยอ้างเหตุโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่อง อ. เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอายจึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560 แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7788/2560 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง เป็นการยึดเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ย่อมเป็นการไม่ชอบ ขอให้ถอนการยึด จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและไม่มีการเจรจาตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ก่อน ขอให้ถอนการยึด ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ให้บังคับคดีต่อไป และวินิจฉัยว่าการยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เห็นสมควรให้วางเงินต่อศาลคนละ 5,000,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่า การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวไม่มีมูลและเป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้า เวลาผ่านไป 7 ปี โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายที่ดิน ทำให้ไม่อาจนำเงินไปลงทุนหากำไร นำไปฝากหรือให้กู้ยืมได้ดอกเบี้ย ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,590,000 บาท ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในตอนท้ายว่า ยกหรือยืนหรือกลับหรือแก้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก (เดิม) แต่แรก และเพิ่งจะมาใช้สิทธิตามมาตรา 296 วรรคหก (เดิม) ภายหลัง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว พอแปลได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ กรณีถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ผิดหลงเล็กน้อยหรือผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคหก (เดิม) ประกอบมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) เพราะคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คัดค้านการขายทอดตลาด แม้จำเลยทั้งสี่จะเคยยื่นคัดค้านการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ก็ไม่ได้ร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากโจทก์เห็นว่ามีความเสียหายก็ชอบที่โจทก์จะไปยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7787/2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องขอขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์จำนวน 3,000 บาท เมื่อผู้ร้องขัดทรัพย์ฎีกา ผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียม (ค่าทนายความดังกล่าว) ซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 และประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณา คดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แต่ผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่นำเงินค่าทนายความ 3,000 บาท มาวางศาลพร้อมฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของผู้ร้องขัดทรัพย์มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7782/2560 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและการจัดการแบ่งทรัพย์สินตามสัญญา ข้อ 2.3 ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา ข้อ 2.3 ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา ข้อ 2.1 ไม่ส่งมอบทรัพย์สินของบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญา ข้อ 2.5 และไม่เข้าทำงานที่คลินิกของจำเลยโดยนัดคนไข้ไปรับการรักษาต่อที่คลินิกของโจทก์ ตามสัญญา ข้อ 5 ซึ่งตามสัญญา ข้อ 5 ระบุว่า โจทก์จะเข้าทำงานด้านทันตกรรม (งานจัดฟัน) ในคลินิกของจำเลยเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันทำบันทึกข้อตกลงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์นัดคนไข้ทันตกรรม (งานจัดฟัน) ของจำเลยไปรับการรักษาต่อที่คลินิกของโจทก์จริง จำนวนคนไข้ที่จะรับการรักษาต่อก็ไม่มีหรือมีน้อยลง ทำให้โจทก์ไม่ต้องมาทำงานหรือทำงานน้อยลงจากที่กำหนดในสัญญา ย่อมทำให้ส่วนแบ่งรายได้ด้านทันตกรรม (งานจัดฟัน) ของจำเลยย่อมลดลง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยมีรายได้จากส่วนแบ่งตามสัญญา ข้อ 5 น้อยลงหรือไม่ได้เลยหากไม่มีคนไข้ทันตกรรม (งานจัดฟัน) มาใช้บริการต่อที่จำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงมีมูลแห่งคดีเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมว่าฝ่ายใดผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและจัดการแบ่งทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แม้การกระทำละเมิดมิใช่คดีแพ่งที่ฟ้องเกี่ยวกับครอบครัวก็ตาม แต่มูลความแห่งคดีเรื่องละเมิดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมและเกี่ยวข้องกับฟ้องแย้งของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา ข้อ 5 จำเลยจึงฟ้องแย้งในส่วนละเมิดนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7777/2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฉบับที่สองของจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคท้าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7765/2560 คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดว่า จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ( น.ส. 3 ) เลขที่ 313 จำนวน 20 ไร่ ของโจทก์กับพวกโดยไม่มีสิทธิ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 นอกจากจะขอให้จำเลยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 313 ให้โจทก์แล้วยังขอให้จำเลยส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ด้วย การที่จำเลยยกข้อต่อสู้ในเรื่องการได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างใด และศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการสืบพยานตามข้อต่อสู้ของรูปคดี หาใช่เป็นการสืบพยานหรือรับฟังพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758 - 7759/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560 เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7649/2560 จำเลยทั้งสองตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทไปให้พ้นจากอำนาจศาลหรือขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใดๆ หรืออาจจะออกคำบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโต้แย้งว่า วิธีการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวมาใช้หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ที่ศาลจะมีคำสั่งต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคสาม (เดิม) กรณีจึงไม่อาจเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2560 จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างการพิจารณาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้ว และต่อมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงมิได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม โดยอ้างว่าโจทก์เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดที่มีต่อจำเลยในคดีนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มิได้คัดค้าน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีคำสั่งอนุญาตโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ที่รับโอนกันในคดีนี้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 เมื่อครั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ และคดีถึงที่สุด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยกล่าวอ้างและยืนยันในชั้นไต่สวนว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมานั้นเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 แม้ผู้ร้องจะแต่งตั้งให้บริษัท อ. เป็นตัวแทนเรียกเก็บและเรียกชำระหนี้แทนและมิได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 5 ก็ตาม ก็ไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด คงมีผลเพียงว่าผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น แม้ผู้ร้องเคยฟ้องจำเลยที่ 5 เป็นลูกหนี้เพื่อขอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่การพิจารณาคดีล้มละลายประเด็นแห่งคดีคือการมุ่งพิสูจน์ว่าลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ คดีนี้เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งผู้ร้องจำต้องดำเนินการในทุกคดีเพราะเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว และมูลหนี้หรือเหตุที่พิพาทในแต่ละคดีเป็นคนละเหตุกัน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7641/2560 โจทก์ยื่นฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ (วันที่ 14 ธันวาคม 2558) และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (วันที่ 1 ตุลาคม 2559) จึงต้องนำกฎหมายที่มีผลบังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องมาใช้บังคับแก่กรณี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด และวรรคสอง บัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว" เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยตั้งประเด็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดก่อนวันนัดสืบพยาน และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษา แล้วศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะปัญหาดังกล่าวเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งแต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดจนล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2560 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจาก พ. แล้วยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หาแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2560 จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. ก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในขณะนั้น ภายหลังเมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้ว อ. จึงโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 จะให้การในตอนหลังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส อันจะถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ และศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าว แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกับฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่สุจริต จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริต และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอน โดยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นสินสมรส คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เช่นนี้ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง และคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบดูเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ทั้งยังได้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่บ้านของ ส. กำนันตำบลตาลชุม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงย่อมแสดงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7616/2560 แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเอง โจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้น มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองเป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลดังกล่าวออกจากสารบบความจึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก..." แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7603/2560 ที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2558 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3815 เนื้อที่ 66 ตารางวา ถูกแบ่งแยกไว้เพื่อให้ที่ดินแปลงจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะโดยเจ้าของที่ดินจัดสรรได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาก่อนจำเลยทำประตูและรั้วปิดกั้นทางพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 เป็นทางส่วนบุคคลที่เจ้าของมีเจตนาแบ่งแยกให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรและมีการใช้ประโยชน์เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จำเลยจะทำประตูกั้นทาง ถนนซอยตามโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรที่อยู่ข้างเคียงโดยอายุความแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมด้วยซึ่งความเป็นภารยทรัพย์นี้ ย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ในเวลาต่อมาแต่อย่างใด ขณะ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ส. ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาเกิน 10 ปี แสดงว่า ส. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของตน ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ด้วย โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 อันเป็นสามยทรัพย์มาจาก ส. ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย โจทก์จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางพิพาทอันเป็นภาระจำยอม การที่จำเลยทำประตูเลื่อนปิดเปิดและกำแพงรั้วสังกะสีปิดกั้นทางพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2560 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท เมื่อความผิดในมาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ตามฟ้องได้ โดยไม่ต้องนำสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 15 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 335 วรรคสอง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 258 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียม มิใช่เป็นค่าธรรมเนียม และตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้วแต่กรณี คดีนี้ ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความเป็นทนายผู้ร้องและได้ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ผู้ร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนแก่ผู้ร้องได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7534/2560 โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2556 โจทก์มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ไขมันในเลือดสูง ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 เริ่มทยอยขนของออกจากบ้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขนของออกจากบ้านไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่กลับมาเลยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากบ้านและถูกข่มขู่จะทำร้ายดังที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2558) เกินกว่า 1 ปี จึงเป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
- แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นฎีกาในปัญหานี้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทิ้งร้างโจทก์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ไม่ได้กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันเพราะเหตุทิ้งร้างไปเกิน 1 ปีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7530/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุสิบห้าปีเศษ ลดมาตราส่วนให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังควบคุมตัวจำเลยไม่ครบระยะเวลาฝึกอบรมขั้นสูง เหลือระยะเวลาเท่าไร ก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกจนกว่าจะครบระยะเวลาฝึกอบรมดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้เฉพาะบทลงโทษ และแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษจำเลยไม่เกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาให้ลงโทษจำเลยเกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7528/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 (เดิม) พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิวรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิวรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 และลดมาตราส่วนให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 75 คงจำคุก 6 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142(1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังควบคุมตัวจำเลยไม่ครบระยะเวลาฝึกอบรม เหลือระยะเวลาเท่าใด ก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกจนกว่าจะครบระยะเวลาฝึกอบรมดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรม และจากนั้นส่งตัวจำเลยไปจำคุกยังเรือนจำเช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยจึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ขอให้พิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2560 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนหรือกำหนดนัดพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมิใช่วันนัดพิจารณาคดี กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลจะยกฟ้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7480/2560 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน..." อันเป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการทำงานปีแรกได้เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี ลูกจ้างจะเกิดสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของระยะเวลาการทำงานได้เมื่อนายจ้างกำหนดหรือตกลงให้ตามมาตรา 30 วรรคสี่ แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะได้ความว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด แต่เมื่อโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ยังไม่ครบหนึ่งปีในปีแรกของการทำงาน ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้กำหนดหรือตกลงให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีโดยให้คำนวณตามส่วนของระยะเวลาการทำงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่เกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์จึงไม่มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 ที่จะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7460/2560 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรของผู้เสียหายไปใช้ซื้อสินค้า เมื่อขายสินค้าได้ จำเลยที่ 1 จะมอบเงินสดให้แก่ผู้เสียหาย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าแล้วแต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ จึงไม่สามารถนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกัน ทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7433/2560 ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้ความหมายของสัญญาจ้างไว้ในทำนองเดียวกันว่า สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ และ ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติว่า "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้" เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง อันหมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์ในแต่ละครั้งมีลักษณะแตกต่างจากการจ่ายเงินเดือน และโจทก์ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยหรือผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2560 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การวินิจฉัยว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้ และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นนายจ้างย่อมยกเหตุเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อต่อสู้คดีกับลูกจ้างที่ฟ้องว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ แม้นายจ้างมิได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2560 แม้ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่า จำเลยและ ส. มีพฤติกรรมลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่คนในหมู่บ้าน และได้วางแผนล่อซื้อให้สายลับเข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ศาลาที่พักที่เกิดเหตุ แต่เมื่อสายลับส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยกับพวก กลับพบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขที่สายลับโทรติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน และธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางที่ ว. ภริยาของ ส. ไม่ได้พบที่จำเลย และสายลับติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ส. ไม่ใช่ติดต่อกับจำเลยโดยตรง เจ้าพนักงานตำรวจทั้งสามปากเบิกความขัดแย้งกันเรื่องจำเลย หรือ ส. ผู้ใดเป็นคนส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งที่ต่างอ้างว่าซุ่มดูอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนไม่มีกำแพงหรือสิ่งใดบดบัง คำเบิกความจึงไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความยืนยันว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย โจทก์ฎีกาว่าบันทึกคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ว. ระบุสอดคล้องกันว่า จำเลยร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้คำรับสารภาพชั้นจับกุม กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุม ไม่ได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นจับกุมก็ดี ชั้นสอบสวนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ว. เบิกความปฏิเสธว่า ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่าน ส่วนคำให้การชั้นสอบสวน ตนก็ไม่ได้ให้การเช่นนั้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นในการมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดพยานโจทก์เท่าที่นำสืบมามีข้อสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7403/2560 คดีนี้ ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ อันจะใช้สิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ คดีส่วนอาญาย่อมยุติและถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์จึงถือได้ว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับพวก แม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท และไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อเท็จจริงในส่วนคดีแพ่งจึงต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ตายอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2560 ก. ผู้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยทั้งสองมิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง คำเบิกความของ ก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานย่อมมิใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด แต่ ก. เบิกความแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนเป็นการเบิกความกลับไปกลับมาไม่อยู่กับร่องรอย ทั้งข้อเท็จจริงบางส่วนยังสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ ก. ด้วย จึงมีเหตุผลเชื่อว่า ก. เบิกความช่วยเหลือจำเลยทั้งสองมากกว่าที่จะเบิกความไปตามที่เป็นจริง เชื่อว่า ก. ให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของ ร้อยตำรวจโท ศ. ผู้ร่วมจับกุม ที่ยืนยันว่า ก. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสอง โดยให้ ก. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และนัดรับมอบเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองก็ขับรถจักรยานยนต์มายังบ้านที่เกิดเหตุ แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ก่อนที่จะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ก. การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ร้อยตำรวจโท ศ. และ ร้อยตำรวจโท พ. ผู้ร่วมจับกุมตรวจค้นพบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายในห้องของบ้านที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นกุญแจให้ไขตู้เสื้อผ้าที่ปิดล็อกก็พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และตามบันทึกการจับกุมระบุว่าจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นสามีภริยากันและเป็นผู้เช่าบ้านที่เกิดเหตุจริง จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองจึงร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2560 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินการประเมินราคาสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทและอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวตามคำสั่งศาลฎีกาว่า สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีมูลค่า 1,218,982.33 บาท ส่วนอาคารซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หักค่าเสื่อมราคาแล้วมีมูลค่า 204,624 บาท โดยคู่ความมิได้คัดค้านราคาประเมินดังกล่าว คดีนี้จึงมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินกว่า 300,000 บาท อันทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องจนถึงคดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้ อีกทั้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ตามมาก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) เห็นสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ชั้นรับฟ้องเป็นต้นไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560 โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่ แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7343/2560 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 กำหนดเงื่อนไขวิธีการได้มาซึ่งอนุสิทธิบัตร การปฏิเสธคำขอรับอนุสิทธิบัตร และการให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ไว้ในหมวด 3 ทวิ ซึ่งมีเงื่อนไขแยกต่างหากจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในหมวด 2 โดยมีขั้นตอนในกระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรโดยฝ่ายพนักงานเจ้าหน้าที่น้อยกว่าในกระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และให้ความคุ้มครองในสิทธิตามอนุสิทธิบัตรซึ่งมีระยะเวลาที่สั้นกว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนการประดิษฐ์และการออกอนุสิทธิบัตร บุคคลผู้มีส่วนได้เสียอาจขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ก็ได้ ตามมาตรา 65 ฉ การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมจำเลยที่ 1 กรณีที่อธิบดีของจำเลยที่ 1 มีคำวินิจฉัยว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามมาตรา 65 ทวิ ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตามมาตรา 72 ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรที่ให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรให้อุทธรณ์ต่อศาล คู่กรณีฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือคำสั่งนั้นก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามมาตรา 74 หรืออีกวิธีทางหนึ่งได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ หากอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ รวมถึงคำขอรับอนุสิทธิบัตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 9, 10, 11 หรือ 14 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 นว กระบวนการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรทั้งสองวิธีดังกล่าวเป็นกระบวนการทางเลือก หากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเลือกที่จะใช้สิทธิยื่นขอให้มีการตรวจสอบตามมาตรา 65 ฉ แล้ว ย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่ตนเลือก และไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดและนำคดีขึ้นสู่ศาลตามมาตรา 72 และ 74 และไม่อาจนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้อีก เพราะหากนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องได้อีกก็จะมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการพิสูจน์สิทธิในเรื่องเดียวกันระหว่างคู่กรณีเดียวกันซ้ำซ้อน เมื่อโจทก์ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ว่ามีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ และอธิบดีของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำขอตรวจสอบดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 65 นว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7323/2560 พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ" ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร และความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวร ให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยซึ่งสถานประกอบการถาวรของโจทก์ตั้งอยู่หรือที่อื่นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ แต่ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ฯ ข้อ 7 (3) ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าค่าใช้จ่ายที่ปันส่วนมาจากต่างประเทศต้องคำนวณโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และพยานหลักฐานใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โจทก์มีค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิสำหรับสาขาในประเทศไทย 223,525,955.62 บาท โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่า จำนวนรายจ่ายที่ปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคมีจำนวนที่เหมาะสมไม่เกินสมควร เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวิธีการที่โจทก์นำมาใช้มีความเหมาะสม เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ กรณีจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น..." และวรรคสอง "การจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง (1) การจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรจากบัญชีกำไรขาดทุนหรือบัญชีอื่นใด ไปชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้หรือไปตั้งเป็นยอดเจ้าหนี้ในบัญชีของบุคคลใด ๆ ในต่างประเทศ..." เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายปันส่วนจำนวน 223,525,955.62 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ และโจทก์ไม่โต้แย้งว่าได้จ่ายเงินดังกล่าวออกไปต่างประเทศจริงในปี 2541 จำนวน 25,482,207.62 บาท ที่เหลือจำนวน 198,043,748 บาท โจทก์บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โดยตั้งสำนักงานในต่างประเทศเป็นเจ้าหนี้แล้วจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดออกไปต่างประเทศจริงในปี 2542 จึงถือว่าเงิน 223,525,955.62 บาท เป็นเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7293/2560 ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ส่วนผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินคงมีสิทธิขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไว้ก่อนศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น เพื่อจะได้ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ตน เพราะเท่ากับเป็นการคืนทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินให้ไปเป็นประโยชน์ในการชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มุ่งสกัดมิให้ทรัพย์สินซึ่งมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกนำไปใช้อย่างทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด คงมีเพียงสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560 โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7207/2560 ข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการอุทธรณ์ในเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่การจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ล้วนต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ซึ่งจะต้องมีการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 เมื่อจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งมาว่าจำเลยทั้งสองได้สิทธิในที่ดินพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีการใช้สิทธิทางศาลมาก่อน ข้อที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างการได้สิทธิในที่ดินพิพาทจึงเป็นเพียงการอนุมานของจำเลยทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้เป็นคุณแก่ตนในชั้นอุทธรณ์โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปีแล้วเท่านั้น ซึ่งยังไม่อาจรับฟังในชั้นนี้ได้ว่าเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และในขณะเดียวกันก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า ฉ. เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมเสียสิทธิในที่ดินพิพาทเพราะเหตุดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองอันจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับโอนต้องบกพร่องไปด้วยแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ แต่ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เป็นที่ยุติและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองได้ เพราะไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีที่จะนำไปสู่กระบวนพิจารณาด้วยพยานหลักฐาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น และยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมา จึงชอบแล้ว คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ ไม่ว่าโจทก์จะเรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าในจำนวนเท่าใด ก็เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวและอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้น เป็นเพียงข้อพิจารณาที่นำไปสู่ข้อจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7180/2560 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นคนรักของจำเลยที่ 1 และไปคบหากับเพื่อนชายคนใหม่ จำเลยที่ 1 เข้าไปในหอพักเห็นโจทก์ร่วมที่ 1 นอนดูหนังอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเกิดความโมโหและเข้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมทั้งสองทันที เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยเหตุบันดาลโทสะ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปกระทำความผิดและไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธไปด้วย จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายจึงเข้าไปช่วยและห้าม เป็นทำนองว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดนั้น จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้อง จำเลยทั้งสองเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ 1 กระบอก มิได้ยืนยันว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า เป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7150/2560 ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 22 วรรคห้า ให้ถือระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้นเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบทรัพย์สินว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่ ดังนั้น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุ แต่อยู่ในระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัดและภายหลังนั้น ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ หากทรัพย์สินที่ได้มาหลังวันเกิดเหตุไม่เข้าหลักเกณฑ์ถูกตรวจสอบตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาแล้วย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ในการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติที่ว่าต้องการให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองชั่วคราว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2548 และมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และวันที่ 9 พฤษภาคม. 2550 ผู้คัดค้านทั้งสองนำสืบว่าได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดมาในระหว่างปี 2540 ถึงปี 2550 จึงอยู่ในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2560 การที่ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสุ่มตรวจเมทแอมเฟตามีนที่บรรจุหีบห่อในอัตราร้อยละ 10 กระจายไปตามซองที่บรรจุอยู่ในมัด โดยไม่ได้นำปะปนกันเป็นวิธีการสุ่มตัวอย่าง ย่อมทำให้ตัวอย่างเม็ดวัตถุที่เก็บมาจากแต่ละซองสามารถเฉลี่ยเป็นตัวแทนของเม็ดวัตถุที่อยู่ในซองแต่ละซองในมัดดังกล่าวได้ทั้งหมด ตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติ ดังนั้น ปริมาณสารเมทแอมเฟตามีนที่คำนวณได้ตามผลรายงานการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีดังกล่าว จึงเป็นไปตามหลักวิชาการวิจัยและสถิติที่รับฟังได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560 จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ป. ที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท ทุกวันที่ 30 ของเดือน ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยมีภาระหนี้สินมากและมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดาและครอบครัว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอลดเงิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดู ต่อมาจำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2559 จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 จึงถือได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด ส่วนคำร้องของจำเลยที่ขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น จำเลยอ้างว่า จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกิดจากโจทก์และบุตรกับภริยาคนใหม่ ทั้งจำเลยยังกู้ยืมเงินจากธนาคาร ก. จำนวน 1,500,000 บาท พฤติการณ์รายได้หรือฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง แม้หนี้เงินกู้ดังกล่าวจำเลยอ้างว่าเพื่อสร้างบ้านให้แก่บิดาที่จังหวัดเชียงรายและต่อเติมตกแต่งบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้ว่ามีภาระต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท แต่จำเลยกลับไปสร้างภาระหนี้สินจำนวนมากมายดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุผลให้กระทบเสียหายต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าใช้จ่ายอื่นแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560 การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี" เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7070/2560 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลชั้นต้น ในข้อ 2 ว่า "ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามร่วมกัน" ข้อ 3 วรรคสองของสัญญาระบุว่า "สำหรับค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ" จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า หากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามพักอาศัยอยู่กับใครคนนั้นจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสามไปดูแลในช่วงที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามนั้น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับสัญญาประนีประนอมที่ทำไว้ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าศาล ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2560 อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ ป. ซึ่งถูกถอนออกจากการเป็นทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ลงชื่อในอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเท่ากับศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาล
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2560 การตั้งบริษัทจำกัดเกิดขึ้นโดยอาศัย ป.พ.พ. บรรพ 3 หมวด 4 ผลการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้เป็นนายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับด้วย จะใช้บังคับเพียง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดและการควบบริษัทจำกัดเข้ากันหาได้ไม่ และการที่ไม่นำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เกิดจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทกิจการและจำเลยทั้งสองยังคงกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ตามรหัสเดิมก่อนการควบเข้ากัน ทั้งไม่ปรากฏว่าการควบบริษัทและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างกรณีนี้ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้น หรือโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย โจทก์จึงสามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบรวมบริษัทมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2560 เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 4 ห่อ แต่ละห่อมีขนาดใกล้เคียงกัน เมื่อนับเมทแอมเฟตามีนรวมกันทั้งสี่ห่อได้จำนวน 23,533 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 337.602 กรัม กับได้ความตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพันตำรวจโท ธ. ร้อยตำรวจตรี ด. และร้อยตำรวจตรี ส. เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม ประกอบบันทึกการจับกุมว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 ห่อดังกล่าว แต่ละห่อ ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล ภายในมีห่อกระดาษสีขาวจำนวน 3 ห่อ ภายในห่อกระดาษสีขาวมีถุงพลาสติกแบบรูดปิดเปิดสีฟ้าหลายถุงซึ่งภายในถุงพลาสติกมีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน จากลักษณะการบรรจุที่แต่ละห่อไม่แตกต่างกัน ขนาดห่อใกล้เคียงกัน จึงเชื่อได้ว่าเมทแอมเฟตามีนแต่ละห่อมีจำนวนใกล้เคียงกัน หากเฉลี่ยแต่ละห่อเท่ากัน จะมีเมทแอมเฟตามีนประมาณห่อละ 5,000 เม็ด เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองจำนวน 2 ห่อ ย่อมมีเมทแอมเฟตามีนไม่น้อยกว่า 10,000 เม็ด เมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ แล้วย่อมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปอย่างแน่นอน การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2560 การที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยขุดน้ำบาดาลไปใช้ในกิจการของจำเลย และจำเลยต้องชำระค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย หาใช่สัญญาซื้อขายดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 มิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 หาใช่อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2560 คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งที่ดินแต่ละแปลงจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยลำพังเป็นรายแปลง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลง เมื่อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 มีราคา 955,960 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 136,565.71 บาท ส่วนที่ดินหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 มีราคา 925,000 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 132,142.86 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลงจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดก เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 หรือเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงนั้น เพื่อให้ใส่ชื่อ ส. บิดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ถือแทนส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ด้วยนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947/2560 ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 พิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาอาญาคดีหมายเลขแดงที่ 8368/2555 ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีแพ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ 8938/2558 คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจฎีกาว่าโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วและมีผลผูกพันตนเองได้อีก คดีมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยเป็นลำดับแรกว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวมารื้อร้องฟ้องกันอีกภายหลังจากคดีดังกล่าวถึงที่สุด จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 755/2556 ของศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6941/2560 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6926/2560 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาของบุตร รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาหย่าไว้ต่อกันโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 5,000 บาท และค่าการศึกษาบุตรด้วย และยังมีข้อตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่า บ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตายไปให้ส่วนของจำเลยที่ 1 ตกเป็นมรดกแก่บุตร คือ จ. แม้คดีนี้เป็นคดีครอบครัว แต่สิทธิในการฎีกาต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาว่าต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นคดีสิทธิในครอบครัว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการขอให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในวันที่ 13 มกราคม 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่ จ. บรรลุนิติภาวะแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทั้งข้อหาแต่ละข้อตามคำฟ้องของโจทก์ก็แยกจากกันได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาให้ จ. เนื่องจาก จ. มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เคารพจำเลยที่ 1 โจทก์และ จ. ร่วมกันขัดขวางมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังร่วมกันไปรับเงินจากอีกกรมธรรม์หนึ่งที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันขอให้หักกลบลบหนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 81,665 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุนทรัพย์ที่พิพาทตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ข้อความในบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าที่จำเลยที่ 1 ระบุว่า สินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 ในบ้านพร้อมที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ตายให้ตกเป็นมรดกของบุตร คือ จ. นั้นเป็นสัญญาที่มีเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระแก่บุคคลภายนอก คือ จ. ผู้เป็นบุตร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่พินัยกรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาท เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาแม้ไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ในบ้านและที่ดินพิพาทก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในหนังสือสัญญาหย่าโดยตรงกับจำเลยที่ 1 ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรม การโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นทางให้บุตรเสียเปรียบ อันเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาหย่า การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านพร้อมที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงที่จะชำระหนี้ให้แก่บุตรตามข้อตกลงในสัญญา กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2560 ป.วิ.พ. มาตรา 286 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี... (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้...เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ทำงานที่โรงพยาบาล ส. ของบริษัท ป. โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดเอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งจึงจะจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ป. แม้ไม่ใช่ค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัท ป. ได้ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอายัด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560 การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560 คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560 ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2560 การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนเข้าสู่ร่างกายแล้วขับรถยนต์ในขณะเมาสุรา อันเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกัน คือ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนและขับรถในขณะเมาสุรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแต่ละข้อหาต่างกรรมกัน ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2560 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยร่วมแข่งรถตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไปร่วมดูการแข่งรถ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมแข่งรถหรือดำเนินการจัดให้มีการแข่งรถในทางหลวง จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อประเด็นที่จำเลยฎีกายังไม่เคยหยิบยกโต้แย้งมาก่อน จึงไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่จำเลยประสงค์จะโต้แย้ง มีผลเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้ มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6834/2560 จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จะเป็นการฟ้องตามสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญของสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ไม่สามารถโต้แย้งในเรื่องราคาทรัพย์ที่เช่ากับค่าเช่าที่แท้จริงได้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากัน ในสัญญาระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงจะซื้อและหรือได้ซื้อทรัพย์สินตามคำขอร้องของผู้เช่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ผู้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวตามกำหนดเวลาและตามข้อกำหนดเงื่อนไข โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันตามที่ระบุในสัญญาเช่า เมื่อคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่เช่าเปรียบเทียบกับคำเสนอขอเช่าแบบลิสซิ่งมียอดค่าเช่าตรงกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันด้วยความสมัครใจ เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อพิจารณาถึงสัญญาเช่าแล้วมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าเรื่องการส่งมอบ ความชำรุดบกพร่อง การสูญหาย หรือความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดนัด การสิ้นสุดสัญญาเช่า เงื่อนไขดังกล่าวล้วนเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ถึงมาตรา 571 ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่า และให้ถือเอาค่าเช่าที่ชำระเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่า สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์แบบหนึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าแบบลิสซิ่งตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6833/2560 ผู้ร้องทั้งสองบรรยายข้อเท็จจริงในคำร้องขอทำนองว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตแนวของโฉนดที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องทั้งสองเข้าใจมาตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองหรือเป็นที่ดินที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองนำโฉนดที่ดินมาแสดงและอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ผู้ร้องทั้งสองจึงร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านทั้งสอง ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของผู้ร้องทั้งสองในการยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้ว่า ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง แต่เป็นการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของผู้คัดค้านทั้งสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6816/2560 แบบพิมพ์คำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์และแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อความว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบ" ซึ่งคำร้องและอุทธรณ์ดังกล่าวศาลมีคำสั่งในวันที่โจทก์ยื่น คือ วันที่ 1 เมษายน 2559 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นแล้ว ส่วนที่ในคำร้องและอุทธรณ์มีข้อความเพิ่มเติมว่า "ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว" นั้น มีความหมายว่า หากศาลมิได้มีคำสั่งในวันยื่นนั้นเลย ให้เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นต้องมาทราบคำสั่งทุก 7 วัน กรณีของโจทก์จึงต้องถือว่าได้ทราบคำสั่งศาลในวันยื่นคำร้องและอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 20 เมษายน 2559 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560 ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค ป. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ 2 เป็นภริยา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พ. ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบพบว่า บริษัท ก. มีหลักเกณฑ์การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีนอกหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษว่าพนักงานระดับใดมีอำนาจอนุมัติและจะอนุมัติได้ในกรณีใดบ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม 14 เที่ยวบิน มีการปรับระดับชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของโจทก์ที่ 2 โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่งเพียงรายการเดียว รายการอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์ โดยบางรายการมีการระบุผู้อนุมัติพร้อมเหตุผล แต่อีกหลายรายการระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่มิได้ระบุเหตุผล บางรายการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการมิได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การอนุมัติปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ บริษัท ก. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเลือกกรรมการบริษัทฯ กระทำโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงคะแนนเลือก โดยก่อนที่จะนำรายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน โดยสถานะและตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบอัตราค่าโดยสารในแต่ละชั้นที่นั่ง เช่น สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ บัตรโดยสารชั้นประหยัดราคา 34,745 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 150,765 บาท และชั้นหนึ่ง ราคา 228,200 บาท ประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นรวม 14 เที่ยวบิน จึงอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่จำนวนเล็กน้อย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จะพิจารณาอนุมัติเองโดยโจทก์ที่ 1 มิได้ร้องขอ โจทก์ที่ 1 เองก็ควรจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุมัติปรับเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารรวม 14 เที่ยวบิน ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่น้อยเช่นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความโจทก์ทั้งสองว่า ในการเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวอาจทำได้ในสองลักษณะ คือ 1 โจทก์ที่ 1 อาจใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติให้เลื่อนชั้นบัตรโดยสารเป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มทั้งอาจมีการสั่งให้เลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ 2 ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทำการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ 1 กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน พรรค พ. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมชอบที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะแสดงความคิดเห็นเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่ สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2560 ร้อยตำรวจเอก ท. และดาบตำรวจ บ. กับพวกตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่อำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปากพนัง การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ คดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงมิใช่ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งอันทำให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจสอบสวนได้ แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6670/2560 การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น ต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ คือ ผู้กระทำผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดามิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลสำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหารับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า หลังจากพันตำรวจตรี ธ. ค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนที่ห้องพักเลขที่ 203 และ 209 แล้ว ได้สอบปากคำจำเลยที่ 3 เพิ่มเติม โดยจำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ห้องพักเลขที่ 203 น่าจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้อีก พันตำรวจตรี ธ. กับพวก จึงไปตรวจค้นที่ห้องพักดังกล่าวอีกครั้งโดยไม่ได้นำจำเลยที่ 3 ไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าการค้นห้องพักเลขที่ 203 ครั้งที่ 2 เป็นการขยายผลการตรวจค้นเพื่อหาเมทแอมเฟตามีนเพิ่มเติมสืบเนื่องมาจากการตรวจค้นครั้งแรก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าพนักงานที่ต้องกระทำอยู่แล้ว ประกอบกับการตรวจค้นในครั้งหลัง จำเลยที่ 3 ก็มิได้ไปด้วย ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเมทแอมเฟตามีนซ่อนอยู่ที่ใด เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในตู้ทีวี ตุ๊กตาผ้า ม้วนฟูกที่นอน และช่องลับใต้โต๊ะตั้งพระบูชา ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าสามารถตรวจค้นพบได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะเป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2560 การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 เห็นพันตำรวจโท ป. กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที ถือว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2560 แม้ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ดาบตำรวจ ส. กับสายลับ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวก็สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งวันซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันเจรจากับดาบตำรวจ ส. และสายลับในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โดยนัดหมายกันส่งมอบในวันเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 4 ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน รวมทั้งไม่ได้อยู่ด้วยในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน ก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 353 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลบริหารจัดการด้านการบริหาร การเงิน วางแผนการดำเนินการรวมถึงงบประมาณของโจทก์ และรับผิดชอบงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายแล้วจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองทรัพย์ของผู้ที่มอบหมาย การที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานต่าง ๆ ของโจทก์ตามฟ้องจึงมิใช่การได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 และที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 เห็นว่า การกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำความผิดต่อนิติบุคคลที่บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกันกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น เป็นการกระทำที่แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย มิใช่การกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์จากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์หรือขาดรายได้ ก็มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมากไปกว่าเดิมในลักษณะที่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือสูญเสียประโยชน์ที่เคยเป็นของโจทก์มาก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่โจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2560 คดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตน ประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองจึงไม่มี เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของบุคคลอื่น ไม่ใช่ที่ดินของตนเอง ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อนอกประเด็น ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 (เดิม) จำเลยร่วมทั้งสองเป็นคู่ความที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ ก็ชอบที่จะบังคับห้ามมิให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตลอดจนรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ เมื่อกรณีแห่งคดีมีลักษณะเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2560 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานรับรองว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว เป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งตามคำให้การของจำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และมีผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์คงแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คำให้การดังกล่าวของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ในกรณีที่ศาลมีความสงสัย หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม หาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตารีปับลิกและตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแล้ว จะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น การจัดทำหนังสือมอบอำนาจโดยมีการรับรองตามมาตรา 47 วรรคสาม ขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ด. กระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "VALENTINO" เป็นชื่อของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของ ว. เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย คำว่า "VALENTINO" จึงเป็นชื่อของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" ที่ปรากฏใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าว ก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น คำว่า "VALENTINO" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2560 ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของทายาทตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์หลังจากวันฟ้องตลอดเวลาที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาทได้ แม้วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจะเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งบริบูรณ์อยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหาได้สิ้นสุดลงไม่ ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนที่ดินพิพาท เป็นบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรง เพราะหากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) หมวดที่ 3 ว่าด้วยลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานีบรรจุก๊าซ ข้อ 15 (5) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 3 กำหนดว่า สถานีบริการต้องมีกำแพงกันไฟสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยรอบยกเว้นด้านที่ใช้เป็นทางเข้าและทางออกของสถานีบริการ กำแพงกันไฟต้องมีระยะห่างจากตู้จ่ายก๊าซไม่น้อยกว่า 6 เมตร... ถ้ากำแพงกันไฟด้านใดห่างจากผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซเกิน 20 เมตร จะทำประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสถานที่ของเจ้าของที่ดินเดียวกันก็ได้ แต่ประตูดังกล่าวต้องกว้างไม่เกิน 3 เมตร และต้องปิดประตูตลอดเวลา จะเปิดได้เมื่อมีการเข้าออก และตามข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามข้อ 3 (2) (3) หรือ (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้สถานีบริการก๊าซรถยนต์ต้องมีกำแพงกันไฟโดยรอบสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร เพื่อป้องกันอัคคีภัยอันอาจเกิดจากก๊าซมิให้ลุกลามจากสถานีบริการ ไปก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีบริการ ผู้ฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีข้อตกลงให้จำเลยต้องเปิดแนวกำแพงกันไฟด้านหลังสถานีบริการก๊าซรถยนต์กว้าง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของ อ. และบริวาร โดยไม่มีประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนสำหรับเปิดปิด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่อาจแยกข้อตกลงในส่วนที่เป็นโมฆะออกจากข้อตกลงอื่นที่ไม่เป็นโมฆะได้ และไม่ต้องคำนึงว่าคู่สัญญาจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจยกความไม่รู้ของ อ. ขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลลบล้างกฎหมายได้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่แรก ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเลย โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ กรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 406 จำเลยจึงต้องรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แล้วส่งมอบคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย นอกจากนี้การที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ด้วยการเปิดสถานีบริการก๊าซรถยนต์ในที่ดินพิพาทมาแต่แรก ประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการใช้ที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมสามารถคำนวณราคาเป็นเงินได้ เงินที่คำนวณได้นี้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับจากโจทก์และโจทก์ร่วม โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมฐานลาภมิควรได้เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2560 ตามฟ้องคดีนี้เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา และศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเป็นศาลจังหวัด จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งที่ต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีแพ่งดังกล่าว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 11 ไม่ต้องรับผิดในคดีส่วนแพ่งนั้น ก็เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก้าวล่วงไปวินิจฉัยโดยที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 11 ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา กรณีเป็นเรื่องปรากฏเหตุที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลมีปัญหาเฉพาะคดีส่วนอาญาว่ามีมูลที่ศาลจะประทับฟ้องไว้หรือไม่เท่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาสำหรับคดีส่วนแพ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528/2560 ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง และยาเสพติดทั้งสองชนิดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าว กฎหมายถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกัน โดยบัญญัติบทความผิดกับบทลงโทษในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 4 มีไว้ในครอบครองในขณะเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นความผิดแต่ละกรรมโดยชัดแจ้ง และขอให้ลงโทษทุกกรรม ก็ไม่ทำให้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2560 ความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สิทธิในการฎีกาของคู่ความจึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยไม่ลงโทษปรับนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดฐานดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุก แม้กรณีเป็นการแก้ไขมาก แต่ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2560 ตามคำฟ้อง โจทก์ขอให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย อันเป็นการขอให้เพิ่มโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โดยมิได้ระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 910/2557 ของศาลชั้นต้น จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษ ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวมาในคำฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้จะเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามได้ตาม ป.อ. มาตรา 92 เพราะบทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองไม่เพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2560 แม้คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางว่า เป็นยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ขับมาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้รถยนต์ของกลางซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือมีการใช้รถยนต์ของกลางในการร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร จำเลยเพียงแต่ขับรถยนต์ของกลางมายังสถานที่เกิดเหตุเพื่อมารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งให้แก่สายลับดังกล่าว หรือจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถยนต์ของกลางเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร รถยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถยนต์ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2560 ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560 ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6488/2560 ศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอำนาจที่จะรับคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 เพราะเป็นศาลที่ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนั้น ผู้ร้องยังไม่ทราบว่าคดีจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ จนกระทั่งผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเนื่องจากมีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 (เดิม) แล้วมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ความปรากฏในภายหลังว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น จึงเป็นการสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6447/2560 ป.รัษฎากร มาตรา 19 มิได้กำหนดว่า การออกหมายเรียกเกินกว่าสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวภายในสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์เกินกว่าสองปีก็ได้ ดอกเบี้ยเงินฝากที่จะถือเป็นรายได้ปกติธุระจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จะต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปฝากธนาคารหรือสถาบันการเงิน และเฉพาะการฝากเงินประเภทออมทรัพย์ที่ใช้สมุดคู่ฝากในการถอนและไม่ใช้เช็คในการถอนเงินเท่านั้นที่จะได้รับยกเว้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิพาทของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจแก้ไขปรับปรุงรายได้ของโจทก์จากรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และปรับปรุงผลกำไรขาดทุนสุทธิภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6430/2560 การที่จำเลยกับ อ. เข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท จริง ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องแบ่งแก่ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่จำเลยกลับแบ่งให้โจทก์และ จ. ไม่เท่ากัน ส่วนที่เหลือจำเลยกับ อ. ได้ไปเกินกว่าส่วนแบ่งที่ตนควรจะได้รับ เมื่อฝ่ายโจทก์ทวงถาม ฝ่ายจำเลยกลับท้าให้โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเบียดบังเอาเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หาใช่โจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยการที่จำเลยมาฟ้องโจทก์หาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ของศาลชั้นต้น ทั้งที่รู้แล้วว่าเรื่องที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ จึงเป็นฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 เมื่อจำเลยฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามบทบัญญัติดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6426/2560 จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน 12 เม็ด ติดตัวไปที่บ้านที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านที่ ณ. พักอาศัยอยู่ พบ ณ. กับ น. และพวกรวมประมาณ 5 ถึง 6 คน ซึ่งไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับจำเลยอย่างไร และทั้งหมดนั่งล้อมวงอยู่ด้วยกันบริเวณด้านหลังของบ้านที่เกิดเหตุ โดยจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครอง 2 เม็ด ออกมาวางตรงกลางเพื่อจำเลยและทุกคนได้เสพ ถือเป็นการกระทำอันเป็นการแพร่กระจายยาเสพติดให้โทษไปสู่บุคคลอื่น เข้าลักษณะแจกจ่าย ซึ่งอยู่ในความหมายของการจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 แล้ว การที่ น. หยิบเอาเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ดไว้ แม้ น. และบุคคลอื่นเหล่านั้นจะยังไม่ทันได้เสพก็ตาม การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 12 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด โดยไม่ได้รับอนุญาต การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 12 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ย่อมเป็นความผิดสำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง และเมื่อจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด แม้เมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด จะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 12 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ซึ่งต้องเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2560 ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความใน มาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่ง มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทเป็นคุณมากกว่า มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6414/2560 ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่มาตรา 244/1 ดังกล่าวบัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 9 บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็ค เมื่อจำเลยรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจริง ในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย จำเลยนำสืบว่า โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่พนักงานบริษัท ท. ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน โดยจำเลยทำหน้าที่เก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของเงินกู้ แต่จำเลยต้องมอบเช็คไว้ให้แก่โจทก์ เพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้โจทก์ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับลูกหนี้แต่ละรายชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ หากเป็นความจริงดังข้อต่อสู้ของจำเลย การออกเช็คเพื่อไม่ให้จำเลยผิดนัดในการนำเงินที่เก็บจากลูกหนี้มามอบให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกกับการที่จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ จากนั้นจำเลยกับโจทก์จึงจะมาคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับมูลหนี้ หากโจทก์ไม่ได้รับเงินที่จำเลยเก็บจากลูกหนี้ โจทก์ก็จะได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเก็บเงินจากลูกหนี้แล้ว ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คนั้น จะอ้างว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ เมื่อเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการชำระเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สมดังข้ออ้าง จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จำเลยต้องรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2560 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนี้ ศาลใดศาลหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คดีนี้แม้ขณะทำสัญญาผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ที่เกาะสมุยซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง แต่เมื่อผู้คัดค้านมีสำนักงานแห่งใหญ่อันเป็นภูมิลำเนาตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน มิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 ได้ คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ทั้งนี้ โดยหาจำเป็นต้องระบุในสัญญาถึงเงื่อนไขหรือวิธีการตลอดจนเจตนาที่จะไปดำเนินการขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสัญญาไม่ ดังนี้ สัญญาที่ผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับผู้คัดค้านเพื่อซื้อที่ดินจึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6411/2560 ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คัดค้านอ้างว่า การรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้น เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะหยิบยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นอ้าง เพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่อท้ายบันทึกความเข้าใจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจไม่สุจริตและประพฤติไม่ชอบในการดำเนินกระบวนพิจารณา ทั้งมาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งไม่ใช่กรณีผู้คัดค้านเป็นฝ่ายยื่นคำร้องคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (ตามมาตรา 40 (1) ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลาทวงถามให้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในส่วนนี้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560 การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2560 การกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 280 นั้น จะต้องได้ความว่าผลของความตายของผู้ถูกกระทำอนาจารเกิดจากการกระทำอนาจาร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายถูกจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แซงเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน ความตายของผู้ตายย่อมมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำอนาจารผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6355/2560 ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์เรื่องค่าสินไหมทดแทน ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากที่ดินของโจทก์ร่วมให้ ก. จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอันเป็นการกระทำละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2560 การพิจารณาว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด นอกจากพิจารณาถึงลักษณะของงานที่ทำแล้วยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้จากการประกอบวิชาชีพดังกล่าวประกอบด้วย เนื่องจาก ป.รัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนที่แตกต่างกัน เงินได้ตามมาตรา 40 (8) ให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ดังนั้น การที่จะถือว่าเงินได้ที่บริษัท อ. จ่ายให้โจทก์จากการเป็นตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40 (8) ได้จะต้องเป็นการประกอบธุรกิจที่มีรายจ่ายค่อนข้างสูงและรายจ่ายดังกล่าวต้องเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ การเป็นตัวแทนนายหน้าธุรกิจประกันชีวิตของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจะต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อผลสำเร็จของงาน ที่โจทก์นำสืบว่า มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงรับรอง ค่าน้ำมัน ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื่อมรถยนต์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าถ่ายเอกสาร ค่าไปรษณีย์ และค่าของขวัญต่าง ๆ ค่าจ้างพนักงานก็มีเพียงใบสำคัญรับเงินของผู้ที่อ้างว่าเป็นพนักงานที่ทำขึ้นฝ่ายเดียว ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ไม่มีหลักฐานการยื่นรายการตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก ค่าอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงรับรอง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าของขวัญไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ หากมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายที่ระคนปนกันจนไม่อาจแยกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ไม่มีหนังสือรับรองในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนของบริษัท อ. และบริษัท อ. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) มาโดยตลอด เงินได้ของโจทก์จึงต้องถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ในคดีหมายเลขแดงที่ 150/2552 ของศาลภาษีอากรกลาง เป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 21 กรณีผู้เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร ซึ่งศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้วินิจฉัยว่าการออกหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมาย หมายเรียกฉบับเดิมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้องแสดงเงินได้ผิดประเภทและหักค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนอีกครั้งตามมาตรา 19 ทั้งการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับคดีหมายเลขแดงที่ 150/2552 การประเมินภาษีในครั้งหลังซึ่งพิพาทในคดีนี้จึงไม่ได้ออกหมายเรียกและประเมินภาษีตามมาตรา 21 และมีผลให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียวหาใช่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนดังอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใดไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6278/2560 แม้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ คดีของศาลแพ่งซึ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์พิพาทตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่ตราบใด ที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวย่อมมีผลอยู่ ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเป็นต้นไปทรัพย์พิพาทจึงมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6242/2560 ผู้ที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกบังคับให้ขับไล่ จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีอำนาจพิเศษให้พ้นจากการถูกบังคับคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6216/2560 แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าแต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อม น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เพราะจำเลยทั้งสองให้การในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ยังคงเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนโดยใช้รถกระบะของกลางเป็นยานพาหนะ และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อรับขนและรับส่งเมทแอมเฟตามีน โดยไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะให้การโดยไม่เป็นความจริง กรณีจึงมีเหตุผลอันหนักแน่นมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้รถกระบะของกลางเป็นยานพาหนะไปรับขนเมทแอมเฟตามีนเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่ผู้รับ โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อกับ ส. และผู้มาส่งเมทแอมเฟตามีนของกลาง รถกระบะของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการขนส่งเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการติดต่อรับและส่งเมทแอมเฟตามีนของกลาง รถกระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6207/2560 คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งระวางโทษประหารชีวิตและความผิดของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต กรณีโทษจำคุกในความผิดฐานนี้ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองในความผิดดังกล่าวไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยก ขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2560 เจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ และใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น ตามฟ้องไม่ได้บรรยายโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์อันเป็นวัตถุมีรูปร่างอันใด ทั้งไม่ได้ระบุหรืออ้างถึงองค์ประกอบของความผิดตามมาตรานี้อีกข้อหนึ่งที่ระบุว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสำคัญ และเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 151
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6132/2560 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกทั้งสองฉบับ โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 เนื่องจากเป็นกรณีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ไม่ถูกต้อง และในกรณีที่มีการแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีได้ โดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะนำเอกสารที่ได้จากการตรวจค้นและยึดเอกสาร โดยเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นเหตุในการออกหมายเรียกไม่ได้ การออกหมายเรียก ป.รัษฎากร ตาม มาตรา 19 จะต้องกระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก ลงวันที่ 26 มีนาคม 2547 เพื่อตรวจสอบภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2544 และปีภาษี 2545 กรณีย่อมถือว่าวันที่มีการออกหมายเรียกคือวันที่ 26 มีนาคม 2547 เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2544 ในวันที่ 28 มีนาคม 2545 และสำหรับปีภาษี 2545 ในวันที่ 31 มีนาคม 2546 การออกหมายเรียกดังกล่าวจึงได้กระทำภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ส่วนเมื่อมีการออกหมายเรียกแล้วจะส่งให้โจทก์ได้โดยวิธีใดและถือว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกเมื่อใด ย่อมเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง ป.รัษฎากร การส่งหมายเรียกจึงเป็นคนละกรณีกับการออกหมายเรียก ย่อมไม่อาจนำเอาวันที่มีการส่งหมายเรียกได้โดยชอบตามมาตรา 8 มาถือว่าเป็นวันที่มีการออกหมายเรียกตามมาตรา 19
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2560 ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบล ป. แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใดๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ป. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของจำเลยที่ 1 ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตาม ป.อ. จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้เทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วง ทวงถาม และถูกตรวจสอบโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำ ก็เป็นเวลาในภายหลังจากจำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยดังกล่าวไปแล้ว ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รับฝากเงินค่าขายศาลาดังกล่าวไว้จากผู้ซื้อแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อยู่ที่สำนักงาน เป็นการกระทำตามคำสั่งของ จำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชา ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ย่อมมิใช่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2560 จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2560 มูลหนี้ตามคำฟ้องที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ค่าเบี้ยปรับในหนี้ภาษีอากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับดังกล่าวได้ แม้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ร่วมในนามตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ห้ามมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้มากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 235 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724 - 5725/2560 การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2560 ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 ให้นิยามคำว่า "ค่ารายปี" หมายความว่า "จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ" ค่าเช่าที่จะถือเป็นค่ารายปีนั้นต้องเป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ หากค่าเช่าที่เจ้าของทรัพย์สินตกลงไว้กับผู้เช่า มิใช่เป็นค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้หรือมิใช่เป็นค่าเช่าอันแท้จริง พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจประเมินค่ารายปีชอบที่จะกำหนดค่ารายปีตามค่าเช่าที่สมควรจะให้เช่าได้ เมื่อคดีนี้ปรากฏอัตราค่าเช่าช่วงสูงกว่าอัตราค่าเช่าที่โจทก์ให้ผู้เช่าเช่า ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงไม่ใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่าเช่าเฉลี่ยเป็นอัตราค่าเช่าช่วงปานกลางเดือนละ 13,500 บาท ของโรงเรือนชั้นที่หนึ่งไปคิดเป็นค่าเช่าในชั้นที่สองและชั้นที่สามด้วย รวมเป็นค่าเช่าทั้งสามชั้น ในอัตราเดือนละ 40,500 บาท ทั้งที่ไม่มีการเช่าช่วงในชั้นที่สองและชั้นที่สามย่อมไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5701/2560 เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดและมูลกรณีที่โจทก์นำมาเป็นเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 รับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับในคดีอาญาคดีก่อนที่จำเลยที่ 2 รับสารภาพว่าได้กระทำความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มาด้วย จึงถือว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่ฟ้องจริง คงมีประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ทำนองว่า จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ย ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาบรรษัท ง. ฟ้องเรียกเงินกู้คืนจากบริษัท ฟ. และจำเลยร่วมแต่ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย และจำเลยที่ 2 มีส่วนช่วยติดตามยึดทรัพย์สินของบริษัท ฟ. เพื่อเยียวยาค่าเสียหายให้แก่บรรษัท ง. และมีเหตุส่วนตัวอื่น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่งและรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ถือเป็นเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ใช้ประกอบดุลพินิจในประเด็นที่ว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ ไม่เป็นการลบล้างความผิดตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ให้หมดสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การสารภาพยอมรับว่า จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในขั้นตอนก่อนหรือขณะกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอาญาว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดจริง และในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่อุทธรณ์ยอมรับความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำลงไป มิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโดยฟังว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยก้าวล่วงไปสู่พฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นในการทุจริตกับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงหักล้างเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่ฟังจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีอาญาที่ยุติเด็ดขาดไปแล้วแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด การรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ฟ. โดยต้องลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงจำต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ให้โอกาสจำเลยที่ 2 ด้วยการรอการลงโทษจำคุกมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับบริษัท ฟ. ทั้งสองครั้งโดยไม่ใช้แบบฟอร์มสัญญาของโจทก์ การตรวจรับสินค้าหรือปุ๋ยตามสัญญาก็กระทำเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเสนอคณะกรรมการโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นการกระทำตามลำพังเฉพาะตัว เพียงแต่อาศัยตำแหน่งที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการของโจทก์มาทำการทุจริตเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลที่สาม โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะตรวจสอบได้ในสารบบงานที่เกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ไปก่อหนี้ผูกพันลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองสัญญากับโจทก์ ไม่ได้ความเป็นที่ประจักษ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์หรือส่วนแบ่งโดยตรงจากเงินที่บริษัท ฟ. ได้รับจากบรรษัท ง. และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยร่วมหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาหรือคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยที่ 2 กระทำการยักยอกเบียดบังเอาสินค้าหรือเงินของบริษัท ฟ. ไป ลำพังคำให้การซัดทอดของ ส. ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงมีความร้ายแรงน้อยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้แก่โจทก์ย่อมมีสัดส่วนน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จำนวนหนึ่งในสี่ของค่าเสียหาย ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเท่ากับสัดส่วนความประมาทเลินเล่อของบรรษัท ง. ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของฝ่ายตน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2560 คดีเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมและจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าไปเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังเดิม ครั้นโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หากเกิดหรือมีความเสียหายใดๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งค่าเสียหายยังมิได้วินิจฉัยในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ทำละเมิด จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างและตัวแทนของนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดกับจำเลยที่ 5 นั้น โจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองว่าไม่ชอบ หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ทั้งสองฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนด 1,000,000 บาท เป็นจำนวนต่ำมากนั้น โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องขาดรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ในช่วงที่ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีก่อนฟ้อง เห็นควรกำหนดให้ 2,000,000 บาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5662/2560 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างส่งภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ทั้งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือนอกประเด็น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2560 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2 คำว่า "ผู้นำของเข้า" หมายความรวมทั้งและใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครองนี้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของใด ๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร และคำว่า "ผู้ส่งของออก" ให้มีความหมายเป็นทำนองเดียวกันโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (11) บัญญัติว่า "ผู้นำเข้า" หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ฮ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 แต่ใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ระบุว่าวันนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวันหลังจาก ฮ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงชื่อในใบขนสินค้าพิพาททั้ง 3 ฉบับ ในฐานะผู้ผ่านบัตรพิธีศุลกากร ประกอบกับตามเหตุผลประกอบคำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งจำเลยรับว่าเป็นผู้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและตรวจปล่อย กรณีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียชั่วขณะหนึ่งในของที่นำเข้านับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้นำของเข้า
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2560 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2569 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า "เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาด...ให้มีอายุความสิบปี... แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำเข้าหรือส่งของออก" บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดสิทธิเรียกร้องของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดในกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรให้มีอายุความสิบปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งออก ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี และมาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" คือเริ่มนับตั้งแต่วันนำของเข้า ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิด ซึ่งมีอายุความสองปี แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนำของเข้า เมื่อใบขนสินค้า 16 ฉบับ ที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2543 ซึ่งนับแต่วันนำสินค้าเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 จึงเป็นการประเมินและฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าอากรของโจทก์ที่ 1 สำหรับการนำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับดังกล่าวจึงขาดอายุความ สำหรับสินค้าที่นำเข้าวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 รวม 5 ฉบับ โจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรที่ขาดแก่จำเลย และจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เป็นการประเมินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามา แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้ารวมอยู่ด้วยแต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียว กับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 16 กันยายน 2554 จึงยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ที่ 1 สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฯ 5 ฉบับดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2560 การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตจะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายกำลังใกล้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือผู้ใช้ จ้างวาน หรือผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์สามล้อเครื่องที่จำเลยที่ 5 ขับจนเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์แท็กซี่จากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 4 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่สัญญา การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 4 ยอมใช้เงิน 300,000 บาท เป็นการระงับหนี้อันเกิดแต่สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนจำนวนเงินที่ยังไม่เต็มตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามสัญญาประกันภัยตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. ย่อมไม่อาจให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเนื่องจากจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2560 เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่า ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อน จึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 และ 7 ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องหลังจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการและอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. นี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความข้อนี้สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622 - 5623/2560 แม้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้น แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีล้มละลายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 6 ราย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 3 ยื่นขอรับชำระหนี้มูลหนี้ตามคำพิพากษาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้รวมทั้งโจทก์ยอมรับ ไม่คัดค้านการพิจารณาคำขอประนอมหนี้ และศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ทุจริตหรือกระทำความผิดอันมีโทษทางอาญาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้มีข้อความลำดับการใช้หนี้ก่อนหลังถูกต้องตามกฎหมายล้มละลาย เจ้าหนี้มีมติยอมรับ คำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 การประนอมหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป ไม่ได้เปรียบแก่กัน จึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ ให้ยกเลิกการล้มละลาย และให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน ทั้งยังปรากฏว่าต่อมาโจทก์โดย ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกแทนลูกหนี้จนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อีกต่อไป จึงขอถอนคำขอรับชำระหนี้ ดังนี้โจทก์จึงผูกมัดโดยข้อตกลงในการประนอมหนี้ดังกล่าวในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 และทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.259/2544 ของศาลชั้นต้นต่อโจทก์อีกต่อไป นอกจากนี้ หากจะรับฟังว่าการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามตกเป็นโมฆะ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็มิได้หมายความว่า การประนอมหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบต้องถูกยกเลิกไปตามผลแห่งคำพิพากษา ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกองล้มละลายสามารถยื่นขอรับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทได้ กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทที่กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าเป็นโมฆะเป็นผลหรือไม่เป็นหรือกลับกัน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินพิพาท ที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2560 แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5598/2560 การเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 113 ซึ่งนำมาใช้บังคับในคดีอาญาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติว่า พยานทุกคนต้องเบิกความด้วยวาจาและห้ามมิให้พยานอ่านข้อความที่เขียนมา ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ให้ศาลและคู่ความฝ่ายอื่นได้มีโอกาสรับฟังคำเบิกความของพยานโดยตรง ให้พยานเล่าเหตุการณ์ที่ตนประสบมาด้วยตนเองและจากความทรงจำของพยานเอง มิให้มีโอกาสเสริมแต่งเรื่องราวให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายให้เสนอคำพยานด้วยวิธีอื่น ในคดีอาญาซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 230/2 บัญญัติข้อยกเว้นดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามวิธีการที่บัญญัติในมาตรา 230/1 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ.มาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วยการให้พยานที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อ.ดังกล่าวเบิกความด้วยวิธีส่งบันทึกถ้อยคำแทนการมาเบิกความด้วยวาจาได้ ดังนั้น การที่ทนายโจทก์ทั้งสองเสนอบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้วแถลงขอให้ศาลใช้เป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ แม้ทนายจำเลยจะแถลงรับว่าให้ถือเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ก็ไม่อาจถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ บันทึกดังกล่าวคงมีลักษณะเป็นคำแถลงของพยานที่ศาลรับไว้เท่านั้น ส่วนจะนำมารับฟังได้หรือไม่ เพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ได้อ้างส่งบันทึกถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานเพียงลำพัง เพราะพยานดังกล่าวได้มาเบิกความต่อหน้าศาลโดยเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้าน และเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามติงด้วย แม้ถือไม่ได้ว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง แต่ก็คงมีผลเพียงว่าทนายโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซักถามพยานของตนก่อนเท่านั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5552/2560 โจทก์รับจ้างก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์เพียงบางส่วนคงเหลือค่าจ้างค้างชำระ 87,602,523.10 บาท ต่อมาโจทก์กับผู้ว่าจ้างทำบันทึกข้อตกลงลดหนี้เงินค่าก่อสร้างลงเหลือ 20,000,000 บาท การลดหนี้ของโจทก์แก่ผู้ว่าจ้างดังกล่าวมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ป.รัษฎากร มาตรา 79 (1) โดยมิได้ลดให้ในขณะให้บริการ และได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาค่าบริการโดยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในใบกำกับภาษีที่ออกให้ จึงถือว่าฐานภาษีคือ มูลค่าทั้งหมดที่โจทก์พึงได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และเมื่อโจทก์ได้ตกลงกับผู้ว่าจ้างลดค่าบริการลงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำรายการและเหตุการณ์ทางการเงินนี้มาบันทึกทางบัญชีแต่อย่างใด แต่ปรากฏตามการจัดทำบัญชีของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ว่า โจทก์บันทึกบัญชีว่า เดบิต หนี้สงสัยว่าจะสูญและเครดิต ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 67,602,523.10 บาท ซึ่งเข้าใจได้ว่าโจทก์คาดว่าจะเรียกเก็บเงินจากผู้ว่าจ้างไม่ได้ จึงบันทึกบัญชีปรับมูลค่าเพื่อแสดงรายการหักจากบัญชีลูกหนี้ในงบการเงินเพื่อให้คงเหลือเป็นมูลค่าสุทธิของลูกหนี้สุทธิที่คาดว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ยังไม่ได้จำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำบันทึกตกลงลดค่าบริการแต่อย่างใด น่าเชื่อว่า หนี้ของผู้ว่าจ้างยังไม่สูญในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ต่อมารอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 โจทก์ได้จำหน่ายบัญชีลูกหนี้ดังกล่าวออกเป็นหนี้สูญ ความรับผิดในการเสียภาษีก็เกิดในรอบระยะเวลาบัญชีของการจำหน่ายหนี้สูญด้วย ดังนั้นต้องถือว่าจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เกิดขึ้นแล้วในช่วงนี้ การที่จำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม 2552 อันเป็นเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีย่อมเป็นคุณแก่โจทก์ในการต้องเสียเงินเพิ่มน้อย และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 มกราคม 2553 กำหนดระยะเวลาในการประเมินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2553 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ยังอยู่ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 (1) (ค)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2560 ได้ความว่าตลาดไทมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ มีการแบ่งตลาดย่อยๆตามประเภทสินค้าหลายตลาดและมีลานซื้อขายสินค้า อาคารพาณิชย์และที่จอดรถหลายจุด ทั้งลักษณะกิจการของตลาดไทเป็นศูนย์กลางซื้อขายสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทำให้มีรถยนต์เข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ปรากฏว่าการเข้าออกตลาดไทซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น รถยนต์ของผู้ที่มาใช้บริการสามารถเข้าออกตลาดย่อยต่างๆและลานจอดรถได้ตามความสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตหรือแลกบัตรในการผ่านเข้าออก เว้นแต่รถยนต์ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ป้อมยาม ส่วนรถยนต์อื่นๆไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าจอดรถและไม่ได้มีบริการรับฝากรถ ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเลือกที่จอดรถในบริเวณที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เป็นพื้นที่จอดรถได้ตามอิสระ ไม่ได้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลเป็นการเฉพาะในการนำรถยนต์เข้าหรือออกจากลานจอดรถ ผู้ที่มาใช้บริการจะขับรถยนต์ออกไปก็สามารถกระทำได้ทันที ไม่มีการตรวจสอบของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งรถยนต์ที่เข้าออกส่วนใหญ่บรรทุกหรือขนส่งสินค้าเกษตรนำมาเสนอขายเพื่อให้ผู้ซื้อรับซื้อสินค้าไปในลักษณะการขายส่งเป็นหลัก การขับรถยนต์เข้ามาในตลาดไทเพื่อนำสินค้ามาขายหรือเพื่อมาซื้อสินค้ามุ่งในการซื้อขายกระจายสินค้าโดยมีรถยนต์เป็นพาหนะขนส่งซึ่งแตกต่างจากการที่บุคคลไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า โดยนำรถยนต์ไปจอดในลานจอดรถแล้วเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการในฐานะลูกค้าของของกิจการนั้น ส่วนสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และบริวาร ผู้ค้าขาย ผู้ซื้อ ผู้มาติดต่อ หรือใช้บริการภายในตลาดไท เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานทั่วไปของจำเลยที่ 2 โดยในสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุเพียงว่า ตระเวนและตรวจตราดูแล จัดระบบและควบคุมดูแลจัดระเบียบการจราจรภายในบริเวณโครงการตลาดไท โดยไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการ หรือต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำลานจอดรถ พนักงานรักษาความปลอดภัยเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจตราดูแลเพื่อจัดระเบียบการจราจรเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาหรือตามความสัมพันธ์ที่เคยปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของผู้ใช้บริการที่นำมาจอดในลานจอดรถของตลาดไท จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในการที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายในลานจอดรถ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501/2560 ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยได้รับโทษจำคุก 14 ปี 12 เดือน ตามคดีหมายเลขแดงของศาลอาญา ในความผิดต่อ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และได้พ้นโทษในเดือนสิงหาคม 2557 ก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560 จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2560 ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467/2560 ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าของโจทก์แต่ละรายไม่ชำระหนี้ หนี้ของลูกค้าแต่ละรายเป็นหนี้ที่จำเลยแต่ละคนมีหน้าที่สรุปวิเคราะห์ มีหน้าที่ตรวจผ่านงานและกลั่นกรองงานและมีหน้าที่อนุมัติ ซึ่งต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทุกคนที่มีหน้าที่อำนวยสินเชื่อแก่ลูกค้าในรายเดียวกันนั้นย่อมเป็นสิทธิอันเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 12 ถึงที่ 15 และที่ 17 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 16 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แม้โจทก์มีระเบียบให้กันเงินโบนัสของพนักงานไว้เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิด แต่เมื่อค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 7 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ขาดอายุความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิกันเงินโบนัสของจำเลยที่ 7 ไว้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2560 ตามสัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินเป็นกรณีที่โจทก์เป็นคนต่างด้าวร่วมกับจำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้จำเลยตั้งบริษัทจำกัดที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยถือครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ลักษณะเป็นการให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น โดยแท้จริงแล้วโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน อันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทนเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ป.ที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 96 โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวต้องจัดการจำหน่ายที่ดินในส่วนของโจทก์ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ออกเป็นค่าซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยอาศัยสัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินที่ตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการบังคับให้จำเลยชดใช้เงินและรับเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์อันเป็นการขัดต่อ ป.ที่ดิน เมื่อคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นการหลีกเลี่ยงการถือครองที่ดินตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ออกไปในการซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยอาศัยสัญญาดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560 ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2560 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยไทยและให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาท จึงเป็นคำร้องขอให้บังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นกรณีอยู่ในบังคับต้องอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตามที่ มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ฉบับแรกและส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัยแล้วจำหน่ายอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ฉบับแรกให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นยังไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วการที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เป็นฉบับที่สองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ฉบับที่สองของผู้ร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นับแต่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบเช่นกัน กรณีจึงต้องยกอุทธรณ์ฉบับที่สองของผู้ร้อง เมื่อสำนวนคดีนี้มาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560 โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560 แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560 ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2560 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงย่อมมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันที่มีการขายทอดตลาดโดยมิชอบ แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่วันที่ละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาและเป็นวันคดีถึงที่สุดมิใช่วันทำละเมิด แต่เป็นผลของการทำละเมิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5335/2560 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายฝ่ายเดียว ที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ว่าผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกับจำเลย ไม่อาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างใหม่ซึ่งไม่ได้ปรากฏในชั้นพิจารณา ถือเป็นการยกขึ้นอ้างในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะอ้างในฎีกาว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่การวินิจฉัยก็ไม่ได้ทำให้ผลทางคดีอาญาเปลี่ยนแปลงไปเพราะไม่ได้กระทบต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ส่วนผู้เสียหายจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยดังที่อ้างในฎีกาได้หรือไม่ เป็นประเด็นเรื่องของความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งที่ต้องไปว่ากล่าวกันในส่วนแพ่ง ปัญหานี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5312/2560 แม้เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี เป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 47 ถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นบทบังคับให้ศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจที่จะรับชำระคดีเช่นว่านั้นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวกในการพิจารณาคดี ได้ความตามฟ้องโจทก์ว่า ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำกลางสงขลา เจ้าพนักงานตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 30 เม็ด ชนิดเกล็ดใสบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ซิมการ์ด 3 อัน และเมมโมรี่การ์ด 1 อัน ซึ่งเป็นสิ่งของต้องห้ามที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและนำเข้ามาภายในเรือนจำกลางสงขลา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสงขลา และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสงขลาเป็นผู้สอบสวนคดี แม้โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าหากมีการชำระคดีที่ศาลชั้นต้นแล้วจะสะดวกยิ่งกว่าการชำระคดีที่ศาลจังหวัดสงขลา แต่จำเลยก็โต้แย้งมาในฎีกาว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจยึดได้ไม่ใช่ของจำเลยเพราะตรวจยึดได้จากห้องนอนรวม โดยจำเลยประสงค์อ้างนักโทษชาย ส. นักโทษชาย ว. และนักโทษชาย ธ. ที่ร่วมรู้เห็นในการตรวจยึด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ประจำเรือนจำกลางสงขลาอีกหลายคนที่ร่วมสอบข้อเท็จจริงเป็นพยานจำเลย แม้พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจค้น จับกุมและสอบสวนต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐสามารถเดินทางจากจังหวัดสงขลามาเบิกความที่ศาลชั้นต้นได้โดยสะดวก แต่เมื่อพิจารณาถึงพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางสงขลา ย่อมไม่สะดวกที่จะเคลื่อนย้ายนักโทษเหล่านั้นมาเบิกความที่ศาลชั้นต้น ทั้งคดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมีอัตราโทษสูง สมควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ กรณียังไม่มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2560 โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นโทรศัพท์เครื่องเดียวกันกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สายลับใช้โทรศัพท์ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันพึงริบเสีย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และขอให้บวกโทษจำคุกที่เปลี่ยนเป็นคุมความประพฤติของจำเลยไว้ในคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวคดีก่อน เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 14 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ หากแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มีกำหนด 5 ปี หลังจากนั้นภายในกำหนดเวลาที่ถูกคุมความประพฤติซึ่งเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวจำเลยในคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำผิดในคดีนี้อีกหลังมีอายุพ้นเกณฑ์การเป็นเยาวชน ซึ่งชอบที่จะว่ากล่าวไปตามวิธีการที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ไม่อาจนำมาเทียบเคียงว่ากรณีเช่นนี้ของจำเลยเป็นการกลับมากระทำความผิดภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 58 ฉะนั้น แม้คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกก็ไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2560 จำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนที่ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า "ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องขัง..." และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของกักขังแทนค่าปรับแล้วแต่กรณี" ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับหากจำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถึงที่สุด โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5270/2560 จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์นำหน้าคอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า แม้เมทแอมเฟตามีนไม่ได้อยู่กับจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน เมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งแล้วร่วมมือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าให้สำเร็จและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2560 การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (2) เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในปัญหาว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอาการกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่ผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับคู่ความไม่ได้โต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560 ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2560 พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ บัญญัติว่า "ของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... ถ้าพิสูจน์เป็นที่พอใจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายว่าได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วให้แก่ผู้นำของเข้า ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้...(ง) ของนั้นได้ส่งออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำของซึ่งใช้ในการผลิต ผสม หรือประกอบเป็นของที่ส่งออก หรือใช้บรรจุของที่ส่งออก เข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจส่งออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีอาจขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินหกเดือน..." และมาตรา 19 ตรี บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าแสดงความจำนงว่าของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิต... เพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ... อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะอนุญาตให้รับการค้ำประกัน... แทนการชำระอากรขาเข้าที่ต้องเสีย...เมื่อมีการส่งออกซึ่งของที่จะได้คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ ก็ให้คืนหลักประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากร" การคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระแล้วหรือการคืนเงินประกันโดยถือเสมือนว่าเป็นการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ กำหนดไว้เพียงกรณีเดียว คือ เมื่อผู้นำเข้าได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าของที่ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศนั้น ได้ผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุด้วยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 19 ทวิ (ก) ถึง (จ) แม้กากถั่วเหลืองที่โจทก์นำเข้าได้ใช้ผสมอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เพื่อส่งไก่สดแช่แข็งไปจำหน่ายในต่างประเทศ และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาของกฎหมายนั้นจะเกิดจากการที่ต่างประเทศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากกรณีภัยพิบัติไข้หวัดนก อันมิใช่ความผิดของโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่เหตุตามมาตรา 19 ทวิ ที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าแก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ได้เพราะ รัฐบาลห้ามส่งออก คู่ค้าต่างประเทศประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทย อันเป็นเหตุจากไข้หวัดนกระบาด รัฐบาลประกาศภัยพิบัติไข้หวัดนกให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยโดยออกประกาศกรมศุลกากรที่ 28/2547 ขยายเวลาการส่งออกไก่สดเป็ดสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่เป็ด ออกไปอีกหกเดือนสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2547 โจทก์ก็ยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้จากเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2560 ป.รัษฎากร มาตรา 89 (4) บัญญัติว่า "...ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป" ไม่ได้บัญญัติว่าต้องเสียเบี้ยปรับเพียง 1 เท่า ของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ประกอบกับจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป และจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินถือเป็นความรับผิดคนละส่วนแยกจากกัน เดือนกันยายน 2549 ถึงเดือนกรกฎาคม 2551 โจทก์แสดงภาษีขายขาดจำนวน 915,570.63 บาท และแสดงภาษีซื้อไว้เกินจำนวน 7,185.82 บาท โจทก์จึงต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดและเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปทั้งสองส่วน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560 ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560 การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นมี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ให้ระวางโทษจำคุกหกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีไม่อาจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไปเพราะศาลลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนของโทษปรับที่ศาลนำมาลงโทษจำเลยนั้น พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 มีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าจะในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นกฎหมายเดียวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2560 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวตกแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2560 จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จัดเตรียมเช็คให้โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินให้แก่คู่ค้าและลูกค้าของโจทก์ โดยเป็นผู้พิมพ์ข้อความในเช็ค เป็นผู้เก็บเช็คนำเช็คเข้าบัญชี และนำเช็คมามอบให้แก่คู่ค้าหรือลูกค้าของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความไว้วางใจและเชื่อใจจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้กระทำการดังกล่าวโดยมิได้มีระบบการตรวจสอบที่ดี เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ปลอมแปลงเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่คู่ค้าและลูกค้า โดยวิธีลบชื่อผู้รับเงินเดิมในช่องจ่าย แล้วพิมพ์ชื่อของตนเองทั้งสองและจำเลยร่วมที่ 3 กับนำเช็คที่ปลอมดังกล่าวทั้ง 48 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินเสียเอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้สมุดคู่ฝากหรือเช็คไปและนำใบถอนเงินหรือเช็คมาขึ้นเงินกับธนาคารและธนาคารได้จ่ายเงินไปตามใบถอนเงินหรือเช็คนั้น ธนาคารไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว ตามข้อ 3 ของคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งได้ความว่า ตัวอักษรที่พิมพ์เช็คพิพาทนั้นพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเครื่องเดียวกัน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าจะมีส่วนที่สามารถลบคำผิดได้อยู่ในตัว จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีโอกาสลบข้อความเดิมในเช็คและพิมพ์ข้อความได้อย่างแนบเนียนโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าเดิม จึงเป็นการยากที่จะสามารถเห็นความแตกต่างของตัวอักษรที่ปรากฏใหม่กับตัวอักษรของข้อความอื่นที่มีอยู่เดิมได้ เมื่อพิเคราะห์ในช่องผู้รับเงินด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่า ตัวอักษรพิมพ์ชื่อผู้รับเงินกับตัวอักษรจำนวนเงินเหมือนกันและไม่ปรากฏร่องรอยพิรุธที่ทำให้เห็นว่ามีการลบชื่อผู้รับเงินเดิมออกและพิมพ์ทับชื่อผู้รับเงินใหม่ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับเงินดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญ การที่พนักงานของจำเลยที่ 2 จ่ายเงินตามเช็คทั้ง 48 ฉบับให้แก่ผู้นำเช็คมาเรียกเก็บเงิน จึงไม่เป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คคืนแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2560 จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 (บึงกาฬ) ให้แก่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งค่าจ้างที่แขวงการทางดังกล่าวจะชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากแขวงการทางหนองคายที่ 2 เมื่อใด ทั้งแขวงการทางดังกล่าวก็ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวมาให้แก่โจทก์ แต่แขวงการทางหนองคายที่ 2 ส่งเงินจำนวน 2,403,558.82 บาท ไปยังศาลจังหวัดหนองคายตามคำสั่งอายัดเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี จนถึงอายัดเงินดังกล่าวชั่วคราว การที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกให้โจทก์แทนการชำระหนี้ เมื่อค่าจ้างงานที่โอนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถูกเจ้าหนี้อื่นอายัดไว้ชั่วคราว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิทำนองเดียวกับผู้ขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 322 และจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในการรอนสิทธิตามมาตรา 475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดของโจทก์ตามมาตรา 482 (1) แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องคดี เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43,160 ตรี ตามฟ้องโจทก์แล้ว และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การขับรถในขณะเมาสุราของจำเลยเป็นเหตุให้ น. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องอุทธรณ์ การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่จำเลยยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ดาบตำรวจ ป. และ น. ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายกับพวก ตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อป้องกันอาชญากรรม ดาบตำรวจ ป.ได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพื่อขอตรวจสอบ แต่จำเลยขับรถหลบหนีและพุ่งชนแผงกั้นถนนจนกระเด็นถูก น. ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2560 แม้ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นร้านอาหารของจำเลย จำเลยจะมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุและมีพนักงานในร้านของจำเลยดูแลร้านอาหารที่เกิดเหตุก็ตาม แต่จำเลยในฐานะเจ้าของร้านค้าก็มีหน้าที่ต้องตรวจตราดูแลและควบคุมการดำเนินกิจการของร้านให้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าพนักงานในร้านของจำเลยให้บริการลูกค้าภายในร้านโดยการเปิดเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งที่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ครบกำหนดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารโดยแท้ กรณีจึงเชื่อได้ว่าจำเลย รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำดังกล่าวของพนักงานและเป็นการกระทำภายใต้การสั่งการของจำเลย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเปิดเพลงของโจทก์ร่วมที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้สาธารณชนทั่วไปที่ใช้บริการในร้านอาหารของจำเลยได้รับฟังและขับร้องเพลง อันเป็นความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการกระทำโดยตรงต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) ที่กล่าวมาข้างต้น คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5066/2560 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วโจทก์ย่อมได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสองในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่ารถยนต์พิพาทที่โจทก์ได้รับคืนมาเป็นการบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะจำหน่ายรถยนต์พิพาทไปได้ แต่เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ประมูลขายไปเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5059/2560 การขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ มุ่งประสงค์จะให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันมิให้บุคคลที่กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย แม้ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ยังคงมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ในทำนองเดียวกัน คำสั่งอายัดทรัพย์สินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในคดีนี้จึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้ามีฐานะเป็นภริยาและบุตรของจำเลย ประกอบกับทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งห้าขอเพิกถอนการอายัดนั้น เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ยกให้โดยเสน่หา และยังมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าดังกล่าวภายหลังคดีอาญาที่เป็นคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยชอบของศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2560 แม้จะระบุวันนัดกระทำความผิด และไม้พะยูงจำนวนเดียวกันแต่คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) มิได้มีข้อความใดระบุยืนยันหรือทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นตัวการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ หรือรับไว้ซึ่งไม้ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทั้งสองฐานในคราวเดียวกัน และมิได้มีความขัดแย้งกัน แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนั้น ฟ้องโจทก์ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 2 (ข) จึงไม่ขัดแย้งกันและไม่เคลือบคลุม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70 เป็นบทบัญญัติพิเศษที่บัญญัติให้ผู้ใดรับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่าที่ตนรู้แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้มีความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำผิดนั้น แม้ผู้นั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว หรือมิได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดโดยตรงมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้นด้วย คำรับสารภาพของจำเลยในข้อหารับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด กับข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชัดแจ้งและไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2560 จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วสูงปาดหน้ารถคันอื่นไปมาบนถนนสาธารณะในลักษณะเปลี่ยนช่องทางเพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง รถจักรยานยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง อันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราและขับรถด้วยความเร็วสูงเปลี่ยนช่องทางไปมาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ขณะที่จำเลยยังคงมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 131 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แสดงว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐานในขณะเดียวกันและต่อเนื่องกัน โดยจำเลยมีเจตนาเดียวคือขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดมานั้น เป็นการมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2560 จำเลยที่ 3 รับจ้างไปรับกุญแจบ้านเกิดเหตุ โดยรู้ว่าเป็นที่ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนที่บ้านดังกล่าว และไม่มีส่วนร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิด อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2560 จำเลยที่ 2 ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจนได้มีการสืบสวนขยายผลจนไปพบ ซ. ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่ง แม้จับกุมตัว ซ. ผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งไม่ได้ แต่ก็นำไปสู่การยึดเมทแอมเฟตามีนได้ถึง 5,800 เม็ดเศษ มากกว่าของกลางในคดีนี้ และเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้มีโอกาสเห็นตัว ซ. อีกทั้งยังได้บันทึกรูปพรรณสัณฐานของ ซ. ไว้แล้วอันเป็นประโยชน์ในการสืบสวนติดตามจับกุมในโอกาสต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2560 คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ร้องขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ใช่คำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองครั้งจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จะพิจารณาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/60)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4952/2560 คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง การบรรยายฟ้องจึงต้องให้ได้ความว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งพร้อมข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ หากจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายยื่นคำให้การต่อสู้คดีเห็นว่าคำฟ้องบกพร่องตรงไหน อย่างไร ก็จะต้องให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่าคำฟ้องนั้นเคลือบคลุม ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าใครเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยรับประกันภัย และมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของผู้ขับรถยนต์บรรทุก คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั่นเอง แต่ปัญหาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ หาใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองไม่ หากแต่จำเลยจะต้องยกขึ้นต่อสู้โดยชัดแจ้งเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกขึ้นวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4924/2560 โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่งฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยร่วมกระทำผิดสัญญาโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้และคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นอย่างเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยร่วมดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ในกรณีที่บริษัท ว. ไม่คืนหนังสือคํ้าประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาและหนังสือคํ้าประกันการคืนเงินเบิกล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้า ส. และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยร่วมคู่ความในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์และจำเลยร่วมในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่สำหรับจำเลยนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคดีดังกล่าวศาลจะพิพากษาว่าจำเลยร่วมไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่คดียังไม่ถึงที่สุดโดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยร่วมในคดีนี้ด้วย และคดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำให้การของจำเลยต่อไปอีกว่า หนังสือค้ำประกันที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นการค้ำประกันครอบคลุมความรับผิดในความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีใหม่ต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ช. การที่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้พยาบาลขณะที่ผู้ตายป่วย มิได้เป็นภริยาของผู้ตาย โดยได้ค่าจ้างจากผู้ตายเป็นรายเดือน ถือไม่ได้ว่าร่วมทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก เช่นนี้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ที่ว่าผู้คัดค้านไม่อาจอ้างว่าอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายและทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เพราะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ตายหย่าขาดจากผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการอ้างเหตุที่ผู้คัดค้านไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก นอกเหนือจากคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2560 ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย รค.2 เป็นเพียงสำเนา ผู้คัดค้านมิได้นำต้นฉบับมาแสดง ต้องห้ามมิให้รับฟัง ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) เอกสารหมาย รค.2 นอกจากจะมีข้อความระบุในตอนเริ่มต้นว่า "พินัยกรรมนี้เขียนด้วยมือตนเอง..." แล้วยังมีข้อความว่า "ที่นาโฉนดเลขที่ 497 อีกโฉนดเลขที่ 3817 ทั้งสองโฉนดนี้เป็นชื่อ ช. คิดจะเอาไว้เลี้ยงชีวิตยามชรา บัดนี้เราชราลง ได้มีบุญช่วยให้ชีวิตพอดำรงได้โดยไม่ต้องขายที่นากิน จึงยกให้ลูก ๆ พี่น้อง 11 คน..." ถ้อยคำดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายสำนึกถึงความชราและประสงค์จะกำหนดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนที่ยังมีอยู่ ทั้งเป็นข้อความที่ต่อเนื่องมาจากคำว่า พินัยกรรมนี้ แม้ในเอกสารดังกล่าวจะไม่มีคำว่าเผื่อตาย แต่บุคคลทั่วไปอ่านแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าผู้ตายมีเจตนายกที่ดินให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่มีเจตนายกให้ในขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ประกอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า "คำสั่งของบุคคลที่กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว" จึงถือว่าผู้ตายได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้ เอกสารหมาย รค.2 จึงเป็นพินัยกรรม ผู้คัดค้านย่อมเป็นทายาทตามพินัยกรรมของผู้ตายและมีสิทธิยื่นคำคัดค้าน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2560 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 94 วรรคสอง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ให้จัดโอนแก่กระทรวงการคลังภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า "เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้วให้คณะกรรมการชำระบัญชีดำเนินการ ดังต่อไปนี้... (2) ให้โอนทรัพย์สินที่คงเหลือให้แก่กระทรวงการคลังภายในหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง กระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่ในภารกิจที่ยังค้างอยู่ของจำเลยที่ 1 และย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4877/2560 ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้...(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ." และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ให้การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร... (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่...(ค) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น..." คดีนี้ ทางพิจารณาได้ความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9184 ที่โจทก์ทั้งสองขายให้แก่ ว. เป็นอพาร์ตเมนต์ ขนาด 2 ชั้น 28 ห้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญรวมถึงเก็บเกี่ยวหาประโยชน์จากค่าเช่าบนที่ดินของตนเองโดยการประกอบกิจการหอพัก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสองแต่แรกว่า โจทก์ทั้งสองประสงค์จะลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินโดยการสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว หาใช่เพียงใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) (ค) ไม่ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสองขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทไปภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4841/2560 แม้ต้นปาล์มและต้นมะพร้าว โจทก์ทั้งสองจะปลูกไว้ แต่เมื่อเป็นไม้ยืนต้น จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ผลปาล์มและต้นมะพร้าวจึงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปเอาผลปาล์ม แล้วเข้าไปตัดโค่นทำลายต้นมะพร้าว จะถือว่าทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ส่วนต้นกล้วยเป็นไม้ล้มลุก ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกจึงเป็นเจ้าของต้นกล้วย จำเลยทั้งสองเข้าไปโค่นทำลาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าแม้จะปลูกอยู่ในที่พิพาทแต่ต้นกล้วยเหล่านั้นเป็นของโจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยทั้งสองต้องรับผิดในมูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2560 โจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของ ข. โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ดำเนินการทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่ปรากฏชื่อโจทก์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2560 แม้จำเลยจะอ้างว่ารถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของ บ. เอง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บ. เป็นผู้จ่าย ทั้ง บ. ก็ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย แต่เมื่อรถยนต์กระบะบรรทุกคันเกิดเหตุ ปรากฏชื่อบริษัทของจำเลยอยู่ข้างตัวรถ การที่จำเลยสั่งให้ บ. เข้าไปรับสินค้าโดยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกคันดังกล่าว จำเลยจึงเป็นนายจ้างของ บ. ต้องรับผิดกับ บ. ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560 จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2560 จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นการถือครองที่ดินแทนทายาทคือโจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่ แม้จำเลยจะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และการที่โจทก์ทั้งสองขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการขอแบ่งทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 โดยไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดก จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาปรับแก่คดีได้ การขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม แม้ศาลจะพิพากษาให้แบ่งปันทรัพย์สินกัน แต่ยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนในการแบ่งทรัพย์สินกันตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 คำขอของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมูลหนี้ที่ไม่อาจคาดการณ์หรือกล่าวอ้างได้ในอนาคต จึงไม่ใช่มูลหนี้ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ทั้งสองจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องในการเรียกร้องค่าเสียหาย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2560 จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2560 จำเลยมีคำสั่งให้เรือขุดที่ผู้ตายเป็นพนักงานประจำเรือไปปฏิบัติงานขุดลอกบริเวณหลักผูกเรือกลางน้ำบางหัวเสือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จึงถือว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งให้ผู้ตายไปปฏิบัติงานตามหน้าที่การงานปกติ การที่ผู้ตายไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานตามปกติ หลังเลิกงานแล้วเดินทางกลับบ้านพักระหว่างทางประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุกลากพ่วงตู้สินค้าเฉี่ยวชนถึงแก่ความตาย ซึ่งช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านเช่นนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง จึงมิใช่กรณีที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์แก่นายจ้าง หรือการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างอันจะถือเป็นการประสบอันตรายตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ข้อ 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4631/2560 ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้ความว่า บทความของโจทก์ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับข่าวเศรษฐกิจและบทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2558 ทั้งสิ้น แม้ฟ้องไม่ได้ระบุว่าบทความนั้นทำขึ้นเมื่อใด แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบทความดังกล่าวทำขึ้นในปี 2558 ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดจึงยังอยู่ในอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดข้อหนึ่งแล้ว ในกรณีนี้ ฟ้องของโจทก์ไม่จำต้องบรรยายวันที่โจทก์โฆษณางานครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมบทความดังกล่าวเสร็จตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ตามฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และวันเวลาที่เกิดการกระทำละเมิดดังกล่าวอันเป็นการบรรยายฟ้องเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันอย่างไรแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชอบ ส่วนการที่คำบรรยายฟ้องอาจไม่มีความชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดเป็นจำนวนกี่กรรมนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจะเป็นความผิดหลายกรรมตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดจากพยานหลักฐานในสำนวน แม้คดีนี้จะเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งหากโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดจะเป็นอันขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 และ ป.อ. มาตรา 96 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสามเดือนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ก็ไม่เป็นเหตุให้คดีนี้ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 แต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2560 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2550 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0109-0148-70129 จัดเข้าพิกัดศุลกากร 8471.90 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าเลขที่เดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ต่อมาจะได้ความจากอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า โจทก์เคยมีข้อโต้แย้งการจัดประเภทพิกัดสินค้าพิพาทในคดีนี้ โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มงานพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินเคยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงและยื่นเอกสาร และโจทก์ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโต้แย้งการจัดพิกัดสินค้าพิพาทของผู้จับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีแบบแจ้งการประเมินอ้างถึงเลขที่ใบขนสินค้าพิพาทที่ตรวจพบว่าสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ระบุว่า "ชื่อของหมวด ตอน และตอนย่อย ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การอ้างอิงเท่านั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" หลักเกณฑ์ข้อ 6 ระบุว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายเหตุของหมวด 16 ข้อ 4 ระบุว่า "ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร) ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือต่อเชื่อมกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิลไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ) โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่งในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85 ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่นั้น" ส่วนหมายเหตุของหมวด 18 ตอนที่ 90 ข้อ 3 ระบุว่า "ข้อกำหนดของหมายเหตุ ข้อ 4 ในหมวด 16 ให้ใช้กับตอนนี้ด้วย" และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 จ. ระบุว่า "เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้นหรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ" เมื่อสินค้าเครื่องสแกนเนอร์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องเลเซอร์ปริ้นเตอร์และใช้งานร่วมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างเป็นเครื่อง DIGITAL MINILAB นำมาใช้งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการภาพถ่ายออกแบบเพื่อทำงานร่วมกันตรงตามความในหมายเหตุข้อ 4 หมวด 16 หมายเหตุข้อ 3 ตอน 90 และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 (จ) จึงจัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 9010.50 ในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ตามห้องปฏิบัติการภาพถ่าย (รวมถึงภาพยนตร์) และเครื่องเนกาโตสโกป ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2560 การชำระหนี้แก่ผู้ครองทรัพย์ในขณะเกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 441 จะถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้โดยชอบก็ต่อเมื่อผู้ชำระหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นไม่รู้ว่าผู้ที่รับชำระหนี้นั้นไม่ใช่เจ้าของทรัพย์และความไม่รู้นั้นมิใช่เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน เมื่อฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และ ส. พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 2 รู้หรือควรรู้ได้แล้วว่า น. ผู้ขับขี่ควบคุมรถของโจทก์อันถือว่าเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์กระบะนั้น ซึ่งแม้จะอ้างว่าไม่รู้ แต่การไม่รู้นั้นก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคนทั้งสองเอง การชำระหนี้รวมตลอดถึงการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ น. จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้หรือไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยทั้งกรณีก็ฟังไม่ได้ว่า น. เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ดังนี้ สัญญายอมรับในความประมาทของผู้ขับรถทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะมีผลผูกพันโจทก์ได้ แม้ น. จะขับรถไปถึงทางสี่แยกก่อน แต่ก่อนที่จะขับรถผ่านทางแยกนั้นไปก็ควรจะดูให้เห็นถึงความปลอดภัยก่อน การที่รถยนต์กระบะที่ น. ขับไปถูกรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านท้ายขณะกำลังจะผ่านสี่แยกไป เหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกชนก็เพราะ น. ได้ขับรถผ่านสี่แยกไปโดยไม่ดูให้เห็นถึงความปลอดภัยอย่างชัดเจนก่อน จึงมีส่วนประมาทด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2560 แม้ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายจะกำหนดให้มีผู้ประสานงานในจังหวัดเป็นผู้แทนของผู้เสียหายในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ และรายงานการตรวจสอบข้าวที่หน่วยรับฝากไว้แก่ผู้เสียหายอย่างช้าไม่เกิน 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นตัวแทนองค์การ และเพื่อการนี้ผู้อำนวยการอาจมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการบางอย่างแทนในเมื่อคณะกรรมการกำหนด และตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นการแสดงออกของผู้เสียหายย่อมต้องแสดงออกโดยผู้อำนวยการ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า พ. ทราบเหตุที่ข้าวสารในหน่วยที่รับฝากไว้สูญหายไปตามฟ้องก่อนแล้ว แต่ พ. เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของผู้เสียหายซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชารับทราบตามลำดับชั้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดี จึงถือไม่ได้ว่า พ. เป็นผู้แทนของผู้เสียหายในการรับรู้เรื่องอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่มีข้าวสารในโรงสีของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจรับ ตามหนังสือลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 จึงต้องถือว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเมื่อได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จึงเป็นการร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4600/2560 ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ โดยการคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หากเดือนใดโจทก์ไม่สามารถขายสินค้าได้จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าให้แก่โจทก์ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าเป็นประจำทุกเดือนก็หาทำให้เงินดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างไม่ เมื่อค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าที่จำเลยค้างชำระนั้นเป็นค่าจ้างที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และแม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีมาด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 4 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความก็อาจจะพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าโจทก์จะได้รับทุกสิ้นเดือนของเดือนถัดไป โดยไม่ต้องรอว่าจะเก็บเงินจากลูกค้าได้หรือไม่ แม้โจทก์ไม่ทวงถามค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าของเดือนสิงหาคม 2556 แต่ค่าตอบแทนในการขายหรือค่านายหน้าก็จะถึงกำหนดชำระให้แก่โจทก์ในสิ้นเดือนกันยายน 2556 จึงไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2560 แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่ มิได้พิจารณาแต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่ตนมีอยู่หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ศาลยังต้องพิจารณาให้ได้ความว่า บริษัทจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือไม่อีกด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในบริษัทจำเลยร่วม และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธ คำให้การของจำเลยจึงเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2560 การยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89431 ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้แทนจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้นำยึด ซึ่งได้ความว่าก่อนนำยึดที่ดินดังกล่าวผู้แทนจำเลยได้สืบหาและตรวจสอบทรัพย์สิน บ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา พบว่า บ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว จึงแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยผู้แทนจำเลยถ่ายรูปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแนบท้ายรายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยมีสถานที่ตั้งที่ดินตามแผนที่การไปที่ผู้แทนจำเลยจัดทำแนบท้ายประกาศขายทอดตลาด การที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยต้องนำส่งภาพถ่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปหรือที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ก่อนตัดสินใจเข้าประมูลซื้อ ทั้งนี้จำเลยหรือผู้แทนต้องทำข้อตกลงหรือสัญญาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรองว่าทรัพย์ที่นำยึดและจะขายทอดตลาดถูกต้องตามสภาพและทำเลที่ตั้งของทรัพย์ตามภาพถ่ายและแผนที่การไปที่นำส่งตามประกาศขายทอดตลาด และความถูกต้องตามกฎหมายของทะเบียนหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองและภาระติดพันของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด หากเกิดความผิดพลาดหรือเสียหายประการใดจำเลยยินยอมเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึดให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด การที่ผู้แทนจำเลยแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยนำส่งภาพถ่ายและแผนที่การไปแสดงสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อทรัพย์ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำเตือนผู้ซื้อว่าก่อนเข้าสู้ราคาผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศและถือว่าผู้ซื้อทราบถึงสภาพทรัพย์นั้นโดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็ได้ความว่า โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินตามสถานที่และแผนที่การไปตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ที่ดินมีสถานที่ตั้งและสภาพตรงตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเข้าสู้ราคา ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2560 การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีจะต้องกระทำโดยคู่ความ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) คู่ความ หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง และตามมาตรา 2 (14) โจทก์หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน แม้ผู้ร้องอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ใช่คู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่อ้างว่าผิดระเบียบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2560 แม้ศาลในคดีแพ่งจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้กับพวกชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินรวม 12 แปลง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาจำนองก็ตาม แต่ตามสารบัญจดทะเบียนที่ดินดังกล่าวจำนวน 4 แปลง ระบุว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินและเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทถนน สวนหย่อมและบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีบทบัญญัติตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้คงสภาพเดิม รวมทั้งจำกัดการใช้สิทธิในการทำนิติกรรมของผู้จัดสรรที่ดินในลักษณะที่จะก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค และที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะในโครงการจัดสรรที่ดินในอันที่จะได้ใช้บริการจากที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคตามที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้มาตรา 30 วรรคสอง ยังบัญญัติให้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะปลอดจากบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และภาระการจำนอง ดังนั้น การขอรับชำระหนี้เพื่อบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคซึ่งต้องมีการนำที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ และในที่สุดก็ต้องมีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ประมูลได้ การบังคับแก่ที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวถือว่าเป็นการก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวเจ้าหนี้ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง การบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งกรณีนี้ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคท้าย ที่เป็นการขอบังคับเอากับที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินรวมทั้งรับโอนสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เจ้าหนี้จึงไม่อาจบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4524/2560 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ผู้ที่ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การที่จำเลยบอกข้อมูลว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษมาจาก ต. อายุประมาณ 45 ปี รูปร่างอ้วน ให้แก่ ว. ภริยาจำเลย พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ของ ต. โดยแจ้งให้ ว. นำข้อมูลไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับได้ความจาก ว. ว่ารับข้อมูลจากจำเลยว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้หญิงชื่อ ต. มีภูมิลำเนาอยู่แถวพระราม 2 จะส่งยาเสพติดให้โทษที่ตลาดรังสิต จึงนำข้อมูลไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละชุดกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลย พันตำรวจตรี ป. ได้รับข้อมูลเบื้องต้นของ ต. แล้วจึงสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวางแผนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จำเลยให้ข้อมูลของ ต. โดยไม่มีรายละเอียดหรือลักษณะรูปพรรณของ ต.ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยอ้างว่าบอกข้อมูลให้ ว. ขณะจำเลยต้องขังในเรือนจำ แต่กลับปรากฏในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าว เมื่อการจับกุม ต. ได้โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากข้อมูลของจำเลยซึ่งให้ข้อมูลที่อ้างอย่างคร่าว ๆ จึงไม่เชื่อว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่ ว. ไปแจ้งต่อพันตำรวจตรี ป. ให้ไปจับกุม ต. จริง ทั้งพันตำรวจตรี ป. มิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 100/2 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยแจ้งข้อมูลผ่าน ว. ให้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับข้อมูลของ ต. ผู้เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยจนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4515/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะศาลคงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น โทษปรับตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาท เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยอีกต่อไป เพราะศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น โทษปรับตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2560 คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้เนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดมีภาระหนี้จำนองไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองอันเกิดจากการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อการใช้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและมีคำขอตอนท้าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นของบุตรทั้งสี่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะโจทก์ได้เลือกใช้สิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 9 แล้ว จึงไม่อาจย้อนกลับมาบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ได้อีก แต่คำฟ้องและคำขอบังคับถือเป็นคนละส่วนกัน ไม่มีผลทำให้คำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ในตอนแรกที่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบต้องเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2560 จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง เป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกันและเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อศาลจังหวัดได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องขอผัดฟ้อง ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องในคดีของศาลชั้นต้นและถูกคุมขังอยู่ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนเนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำการสอบสวนหรือเพื่อการฟ้องคดีก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2560 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้..." การที่ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยตัวจำเลยในคดีอาญานั้น เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรี เพียงแต่ยึดถือโฉนดดังกล่าวไว้เท่านั้น หาได้เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินตามโฉนดอันเป็นหลักประกันดังกล่าวไม่ แม้ว่าศาลอาญาธนบุรีจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์มิให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ต่อไปเท่านั้น หาทำให้เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรีมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่ลูกหนี้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ไว้นั้น ก็มีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือหนังสือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลง เจ้าหนี้จึงไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้น เจ้าหนี้จะขอบังคับหรือใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 หาได้ไม่ ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ซึ่งบัญญัติว่า "เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นที่นำมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันตามมาตรา 114 ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นจนกว่าความรับผิดตามสัญญาประกันจะระงับสิ้นไป เว้นแต่ศาลเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมิได้เกิดจากการฉ้อฉลและมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว" โดยมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 30 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 มาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่คดีทั้งหมดรวมถึงคดีนี้ด้วย เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้ในฐานะผู้ประกันนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา และลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลจนศาลมีคำสั่งปรับตามสัญญาประกัน กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ที่ดินที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันต่อศาลอาญาธนบุรีจึงไม่อาจถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นได้ เว้นแต่ศาลในคดีอาญาจะได้สั่งปล่อยทรัพย์นั้น ในชั้นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยได้ให้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสองก่อน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560 แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2560 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ลงมติให้สัตยาบันสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาฟ้องให้บริษัท บ. ใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่ตน จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในมติข้อดังกล่าว เพราะแม้ไม่มีมติดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ก็ชอบที่จะได้รับชำระหนี้หรือเรียกร้องให้บริษัท บ. ชำระหนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การออกเสียงลงมติของจำเลยที่ 1 ถือว่ากระทำได้โดยชอบ ไม่ขัดต่อบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1185
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4354/2560 ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาที่มีสิทธิเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้นั้น จะต้องไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ฟังยุติว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราวในคดีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ดังนั้นจำเลยจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนไปยังพนักงานอัยการฟ้องคดีดังเช่นคดีอื่น จึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2560 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4333/2560 โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดดังกล่าวมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2556 ของศาลชั้นต้นได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2560 เจ้าพนักงานตำรวจภูธรแหลมฉบังเข้าจับกุมจำเลยที่อพาร์ตเมนต์ชื่อ ศ. เฮ้าส์ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามที่จำเลยต่อสู้ หาใช่จับกุมที่หน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท บริเวณตลาดสี่มุมเมือง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา ดังที่ผู้จับกุมกล่าวอ้างไม่ เหตุคดีนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4292/2560 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า "ศาลอาญา... มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี" และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้..." เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2560 ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัท ล. แล้ว บริษัทดังกล่าวมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าบริการและดอกเบี้ย ภาระภาษีของบริษัท ล. ดังกล่าว จำเลยไม่จำต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้บริษัทที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและอยู่ระหว่างการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่อย่างใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องปฏิบัติตาม ป.รัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ส่วนการปลดจากการล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอชำระได้ เว้นแต่หนี้ภาษีอากร จังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาลตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 นั้น เป็นคนละขั้นกรณีกับวิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ หาใช่เป็นบทบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินและเรียกเก็บภาษีจากบริษัทที่ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และแม้โจทก์จะเอาอาคารของลูกหนี้ออกให้เช่าเพื่อรักษาสภาพทรัพย์สินระหว่างรอการขายทอดตลาด แต่บริษัท ล. ยังคงสภาพเป็นบริษัทอยู่ จึงต้องเสียภาษีจากการคำนวณรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.รัษฎากร ในกรณีที่บริษัท ล. ไม่ยื่นรายการที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ได้ เมื่อบริษัท ล. เป็นผู้ประกอบการที่มีรายรับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 และมาตรา 91/2 แล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้บริษัทดังกล่าวต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560 โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4224/2560 โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสที่โจทก์ขอแบ่ง ได้แก่ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มาศาลด้วยตนเองและยังมีทนายความโจทก์มาศาลและร่วมลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย โจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ในขณะที่ทำสัญญาหากไม่เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้าน ย่อมแสดงว่าโจทก์พอใจในผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้วคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ในภายหลังโจทก์จะมาอ้างว่าทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ถูกเอาเปรียบและเสียหายจากการฉ้อฉลของจำเลยในวันทำสัญญาทั้ง ๆ ที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ได้มีเหตุทุจริตผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงกันอันจะเป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนได้ ตามมาตรา 138 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2560 พันตำรวจตรี ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรมแล้วแต่ไม่อาจจัดตั้งได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1679 วรรคท้าย บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผลและหลังจากนั้นพันตำรวจตรี ท. ได้จัดการแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นโดยโอนไปเป็นของตนเองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 การจัดการมรดกรายพิพาทจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า พันตำรวจตรี ท. ทำผิดหน้าที่ โอนที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ไม่ได้นำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อการจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 อีกต่อไป ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเป็นคดีนี้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสามจะไม่ได้กล่าวมาในคำคัดค้านอย่างชัดแจ้งถึงเรื่องอำนาจร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4159/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์โดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและโจทก์ได้จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อไล่เบี้ยเงินที่ได้จ่ายไปแล้วดังกล่าวคืนจากจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 เมื่อคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าววินิจฉัยและมีคำสั่งว่าในช่วงเวลาพิพาทจำเลยมิใช่ลูกจ้างโจทก์ แต่จำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้า ให้โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาชั้นต้นร่วมรับผิดกับจำเลยในฐานะผู้รับเหมาช่วงและเป็นนายจ้างของผู้ร้องทั้งเก้าในค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแก่ผู้ร้องทั้งเก้า หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คำสั่งนั้นย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามที่บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิไว้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมเป็นที่สุด จำเลยหามีสิทธิที่จะยกเรื่องการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันและผู้รับเหมาช่วงที่ยุติไปแล้วในชั้นพนักงานตรวจแรงงานและมีผลผูกพันโจทก์จำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวมากล่าวอ้างในชั้นที่โจทก์มาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ร้องทั้งเก้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วคืนจากจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 12 วรรคสอง ได้ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155 - 4157/2560 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แจ้งรหัสผ่านของตนให้โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านนั้นบันทึกเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ในโปรแกรม Hris ของจำเลยซึ่งเป็นระบบออนไลน์ ข้อมูลที่บันทึกถูกเก็บรวมกันไว้ทั้งประเทศ การใช้รหัสผ่านเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้รหัสผ่านเป็นใคร ผู้ใช้รหัสผ่านนั้นอยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูลลงเวลาทำงานเมื่อเวลา วัน เดือน ปีใด ผู้ป้อนข้อมูลเข้าโปรแกรมจึงต้องซื่อตรงต่อตนเองในการป้อนรหัสผ่านและข้อมูลด้วยตนเอง การที่โจทก์ที่ 1 ใช้รหัสผ่านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ที่แจ้งไว้ป้อนข้อมูลลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 แสดงว่าในขณะฟ้องข้อมูลโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้อยู่ ณ จุดที่ป้อนข้อมูล การยืนยันตัวด้วยการป้อนรหัสผ่านจึงเป็นเท็จ ข้อมูลเวลาเข้าทำงานของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ก็เป็นข้อมูลเท็จเพราะโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้เข้าทำงานตามเวลา วัน เดือน ปี ที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมจริง โจทก์ทั้งสามร่วมกันกระทำการโดยไม่ซื่อตรงต่อตนเอง เมื่อข้อมูลเท็จถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของจำเลย การประมวลผลข้อมูลจากโปรแกรมจึงคลาดเคลื่อนบิดเบือนไปจากความจริงอันเกิดจากฐานข้อมูลเท็จ จำเลยออกมาตรฐานความปลอดภัยระบบสารสนเทศแจ้งให้ลูกจ้างถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดระดับชั้นความลับของรหัสผ่านเป็นระดับ "ลับ" และระบุว่ารหัสผ่านคือปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เป็นด่านแรกในการป้องกันการเข้าถึงระบบสารสนเทศของจำเลย ต้องไม่เปิดเผยรหัสผ่านแก่ผู้อื่น สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน อันเป็นการกำหนดเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่บันทึกในฐานข้อมูลของจำเลยทั้งในด้านตัวผู้ใช้งานต้องเป็นเจ้าของรหัสผ่านเอง และป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงฐานข้อมูลด้วยการที่ผู้ใช้งานต้องใช้รหัสผ่าน ทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล ด้วยความสำคัญของรหัสผ่านและความถูกต้องของฐานข้อมูล การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4142/2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลย 3,600,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเดือนละ 50,000 บาท โดยอาศัย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 162 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่อาจทำได้เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามคำพิพากษา จึงกำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับชำระจริง หาใช่เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้เป็นก้อนหรือผ่อนชำระให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดไม่ โจทก์มีหน้าที่ตามคำบังคับที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2560 คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การว่า จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็ค แต่ไม่สืบพยาน ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องให้โจทก์รับผิด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นเรื่องละเมิดอ้างว่าจำเลยเบิกความเท็จ แต่ก็เรียกค่าเสียหายมาเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์มีจุดประสงค์เพื่อให้ศาลพิพากษาว่า พยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนเป็นพยานเท็จรับฟังไม่ได้ จำเลยไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ และโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียซึ่งความมีผลผูกพันของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากคำพิพากษาในคดีก่อนหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2560 การที่โจทก์แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยเพื่อจำหน่ายให้แก่จำเลย ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป และมีการจดทะเบียนภาระจำยอมจากโจทก์ให้แก่จำเลย ซึ่งซื้อที่ดินจากบริษัท ช. เพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะถือเป็นการจัดให้มีสาธารณูปโภคอันเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก็เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีผลทำให้การแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกจำหน่าย ไม่เข้าหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่อย่างใด ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เป็นกฎหมายเฉพาะ บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101/2560 โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ ส่วนการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารตามฟ้องให้กับบริษัท พ. เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แม้การกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2.3 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรี แต่การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกันและเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษเท่ากัน และโจทก์ยื่นฟ้องตามฟ้องข้อ 2.3 พร้อมกับคำฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ความผิดตามฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 เกิดขึ้น เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาฟ้องของโจทก์ข้อ 2.3 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวพันกับฟ้องข้อ 2.4 และ 2.5 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560 แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560 เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2560 การพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม แต่ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2560 ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2556 คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้อง ล. กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2560 ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้การผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ เป็นความผิดตามมาตรานี้ โดยไม่คำนึงว่ายาเสพติดให้โทษนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิเพียงใด เว้นแต่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งแตกต่างจากมาตรา 65 วรรคสาม เดิม ที่ผู้ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม เดิม มิฉะนั้น หากมีปริมาณตั้งแต่ที่กำหนดดังกล่าวขึ้นไป ย่อมเข้าบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) เดิม ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นคุณมากกว่า ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3 โดยเห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้บทนิยามคำว่า "ผลิต" ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุไว้ในวรรคสามและวรรคสี่เป็นกรณีเฉพาะ แยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ตามมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผลิตโดยการแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย จึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม เพราะบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ มีข้อความเช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2560 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่ดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องนั้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (เดิม) แต่ศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ (เดิม) จึงให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณา เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้คัดค้านมีอำนาจดำเนินการ คือ ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 ซึ่งรวมถึงทรัพย์ทุกประเภทของลูกหนี้ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตามมาตรา 109 (1) ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินเพื่อจัดการได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 110 วรรคสาม หรือผู้คัดค้านได้สละสิทธิทรัพย์สินดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านจะสละสิทธิทรัพย์สินใดของลูกหนี้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ตามมาตรา 145 (3) แล้ว และกรณีที่ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 เมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ผู้คัดค้านก็ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนที่จะได้รับการปลดจากล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไปได้ ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์หลักประกันเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้มีมาก่อนล้มละลาย และไม่ปรากฏว่ากรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้ผู้คัดค้านสละสิทธิในที่ดินดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 145 (3) ผู้คัดค้านจึงยังคงต้องมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สินดังกล่าว เมื่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเลือกที่จะใช้สิทธิมายื่นคำร้องให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับบุริมสิทธิของผู้ร้องกับที่ดินดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงต้องรับคำร้องเพื่อดำเนินการสอบสวนสิทธิของผู้ร้อง และยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3971/2560 การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 360 แล้ว จำเลยยังมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสอง ด้วย ซึ่งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐอันเป็นเจ้าของที่ดินสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้โดยเร็วโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งอีก ดังนั้น แม้ศาลจะลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560 พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3908/2560 คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ปรากฏเหตุข้ออ้างในการขอขยายระยะเวลาแต่เพียงว่า วันที่ครบกำหนดยื่นคำแก้อุทธรณ์เป็นวันตรงกับวันหยุดเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดข้องประการอื่น ย่อมยังไม่พอฟังได้ว่า กรณีมีเหตุควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์เนื่องจากมีความจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 19 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโจทก์ที่ 2 ทุกฉบับมีการระบุแจ้งให้ทราบว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยมีเหตุผลตามใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทุกฉบับ ส่วนที่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคำสั่งทางปกครองที่มิได้มีการระบุวัน เดือน ปี ที่ทำคำสั่งไว้โดยเฉพาะ ก็มิได้มีผลกระทบต่อเนื้อหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายแห่งการประเมินภาษี และยังได้ความตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 06730070-25490615-005-00047 ถึง 00082 ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำทะเบียนคุมรายการและจัดทำบัญชีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2546 รหัสชุดเลขที่ 25490615 หมายถึง พ.ศ.(2549) เดือน (6) วันที่ (15) ที่ออกหนังสือ โดยโจทก์ที่ 2 ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยชอบแล้ว ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายเนื่องจากการที่มิได้มีการระบุวัน เดือน ปี ที่ทำคำสั่งในหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย ตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันมิได้มีผลทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายถึงขนาดต้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองให้เสียไปเพื่อเยียวยาแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 มีชื่อเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงพิพาทจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำตามที่คณะบุคคลโครงการ น. มอบหมายซึ่งอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลดังกล่าว การที่คณะบุคคลโครงการ น. ตกลงให้อาคารและสิ่งก่อสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วโดยคณะบุคคลโครงการ น. ได้รับสิทธิการเช่าเป็นค่าตอบแทนและสามารถนำสิทธิการเช่าโอนขายให้แก่บุคคลทั่วไปได้ โดยเมื่อลูกค้าชำระค่าสิทธิการเช่าดังกล่าวแล้ว ลูกค้าก็จะต้องไปทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ให้เช่าโดยตรง การประกอบกิจการของคณะบุคคลโครงการ น. ในลักษณะที่ได้รับผลตอบแทนจากการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว นิติสัมพันธ์ระหว่างคณะบุคคลโครงการ น. กับบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่าอาคารอันได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ต) แต่เป็นการโอนขายสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลภายนอกโดยมีค่าตอบแทน จึงย่อมเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินภาษีครั้งแรกเพราะเห็นว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจยกเลิกการประเมินภาษีที่ไม่ถูกต้องแล้วทำการประเมินภาษีอีกครั้งตามที่เห็นว่าถูกต้องได้ แม้การประเมินภาษีครั้งหลังจะทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อนและยังคงเป็นการประเมินในเรื่องเดิม เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจยกเลิกการประเมินที่ไม่ถูกต้องและแจ้งการประเมินใหม่ตามที่เห็นว่าถูกต้องได้ ภาระทางภาษีของคณะบุคคลโครงการ น. สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะเกิดจากธุรกรรมที่คณะบุคคลโครงการ น. ยกกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่แตกต่างไปจากภาระทางภาษีของคณะบุคคลโครงการ น. สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากธุรกรรมที่คณะบุคคลโครงการ น. โอนขายสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้า จึงเป็นธุรกรรมที่แตกต่างกันและคนละคู่สัญญากัน ลำพังเพียงว่า คณะบุคคลโครงการ น. ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอยู่แล้ว จึงหาใช่เป็นเหตุผลโดยตรงให้คณะบุคคลโครงการ น. ไม่ต้องมีภาระที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560 แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2560 โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทจดรายการที่ตั้งของสำนักงานผู้ชำระบัญชีคือเลขที่ 87/149 อาคารออลซีซั่น กรุงเทพมหานคร ถือว่าโจทก์ได้เลือกเอาที่ตั้งดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีและถือว่าเอกสารรายการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่เจ้าพนักงานทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน การจดทะเบียนเลิกบริษัทถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นในการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจทำการแทนโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมีบุคคลลงชื่อรับไว้ โดยระบุว่าเป็นพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 6 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ตามหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ข้อ 64 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ บริษัทถือว่าบุคคลต่อไปนี้ เป็นผู้แทนของผู้รับ ข้อ 64.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดือนกันกับผู้รับ 64.2 บุคคลซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้รับ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคาร เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม การที่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่ 345/13 ตรอกต้นโพธิ์ กรุงเทพมหานคร นานถึงหนึ่งปีเศษ จึงแจ้งย้ายที่อยู่ของผู้ชำระบัญชี ก็เป็นกรณีหลังจากถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยชอบแล้ว เป็นความบกพร่องของโจทก์เอง ดังนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีที่ไม่อนุญาตให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว อนึ่ง อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณาสั่ง หากคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ชอบ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่มิใช่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยอาศัยมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2560 ป.รัษฎากร มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ถ้าไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี" และคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรของโจทก์เป็นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรไว้ระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร พ.ศ.2546 ข้อ 14 (1) ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวพร้อมกับคำอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 แม้ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2555 จำเลยมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรซึ่งโจทก์ยื่นอุทธรณ์และจำเลยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่อนุมัติให้ทุเลาและยกอุทธรณ์โจทก์ก็ตาม แต่ปรากฏว่าต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ได้อุทธรณ์การประเมินฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานชอบแล้วแต่ให้ลดเบี้ยปรับลงกึ่งหนึ่ง โดยวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 ดังนั้น คำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีย่อมสิ้นผลบังคับแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการขอทุเลาการเสียภาษีอากรของโจทก์ในระหว่างรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2560 วันที่ 4 กรกฎาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี (ค.10) วันที่ 2 สิงหาคม 2549 จำเลยแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี จึงไม่อนุมัติให้คืนภาษี วันที่ 17 สิงหาคม 2549 โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง วันที่ 21 เมษายน 2551 จำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2554 โจทก์มีหนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากร วันที่ 8 มีนาคม 2556 จำเลยมีหนังสือแจ้งว่า โจทก์ยื่นคำร้องเกิน 3 ปี คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรชอบแล้ว การปฏิบัติของจำเลยต่อการที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยทบทวนคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรเช่นนี้ มีลักษณะที่พอให้เข้าใจได้ว่า จำเลยรับพิจารณาคำร้องขอทบทวนหรือขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ โดยไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ แล้วยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ต่อจำเลยเกินกว่า 90 วัน จากนั้นจำเลยก็มีคำตอบแจ้งแก่โจทก์ตามหนังสือที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2558 อันถือเป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน โดยตามหนังสือของจำเลยฉบับนี้ก็มีข้อความระบุว่า ถ้าหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งนี้ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งหรือทราบคำสั่ง และโจทก์ก็ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของจำเลยตามหนังสือแจ้งแก่โจทก์ฉบับนี้ โดยระบุในคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนภาษีแก่โจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 0707 (อธ.1)/2916 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นคำสั่งของจำเลยคนละคำสั่งกับที่จำเลยแจ้งตอบอุทธรณ์ของโจทก์ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551 ทั้งนี้ โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 ประกอบมาตรา 7 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560 แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2560 คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และฝ่ายผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ การที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอแต่กลับพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของคู่ความทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560 สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น การที่ผู้ค้ำประกันจำต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมต้องชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันเอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินของผู้ค้ำประกัน จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจขอให้เพิกถอน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2560 การกล่าวหาและจับกุมจำเลยดำเนินคดีนี้ แม้มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากคำซัดทอดของ ศ. ที่ถูกจับกุมในคดีอื่น แต่ ศ. ให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในคดีที่ ศ. เป็นผู้ต้องหาในวันเดียวกับวันที่ถูกจับกุม จึงเป็นการยากที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องราวให้ผิดไปจากความจริงและในคดีดังกล่าว ศ. ให้การรับสารภาพ จึงมิใช่เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดโดยปัดความผิดไปให้จำเลยเพียงผู้เดียว หากเป็นการบอกเล่าเรื่องราวในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าการปรักปรำจำเลยเสียอีก ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 7/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่า การสอบคำให้การในชั้นจับกุมของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กดังเช่น ศ. จะต้องกระทำต่อหน้านักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์หรือที่ปรึกษากฎหมายหรือบุคคลที่เด็กไว้วางใจ และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้นำคำให้การชั้นจับกุมของผู้ต้องหาในลักษณะดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของบุคคลอื่นหรือจำเลยในคดีอื่นแต่ประการใดทั้งสิ้น จำเลยจ้างให้ ศ. ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วนำมาส่งให้จำเลย โดยใช้รถจักรยานยนต์ของจำเลย และจำเลยโทรศัพท์สั่งการ ศ. เมื่อ ศ. รับเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว ถือว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับ ศ. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับ ศ. กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 16 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้ฎีกาของจำเลยจะขอให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา ก็หาก่อให้เกิดสิทธิในการยื่นฎีกาไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2560 การที่ผู้คัดค้านทราบดีมาตั้งแต่แรกว่า ร. มีคดีพิพาทกับบริษัท อ. นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องที่ศาลแรงงานภาค 2 แต่ผู้คัดค้านกลับใช้อำนาจในฐานะประธานกรรมการสหภาพแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเฉพาะกลุ่มพวกพ้องของตนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แล้วใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติแต่งตั้ง ร. เป็นกรรมการลูกจ้างบริษัท อ. เพื่อให้ ร. ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้ ร. ได้รับประโยชน์จากกฎหมายไปในทางที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจะไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำของผู้คัดค้านไว้โดยตรงและไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานได้ก็เพราะเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นทั้งประธานกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และดำเนินการภายใต้บังคับของวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงาน มิใช่นำฐานะความเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยมิชอบ การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697 - 3698/2560 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญของเจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลย ต่อมาจำเลยกับพวกยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โจทก์เป็นผู้คัดค้าน แล้วจำเลยในฐานะผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้ร้องจะถอนฟ้องคดีอาญา ผู้คัดค้านจะถอนฟ้องคดีที่ศาลแรงงานและถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านปฏิบัติเรียบร้อยแล้วผู้ร้องจะจ่ายเงินเดือน (ค่าจ้าง) ที่ค้างจ่ายให้ผู้คัดค้าน ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอม (คดีถึงที่สุด) คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่ความและสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา เมื่อจำเลยในฐานะผู้ร้องที่ 1 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้โจทก์ในฐานะผู้คัดค้านตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เป็นเงินจำนวนเดียวกับที่จำเลยต้องจ่ายในช่วงระยะเวลาเดียวกันตามที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีนี้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2560 การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา แล้วการชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นภายหลังส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างในสภาพเรียบร้อยถูกต้องตามสัญญาแล้ว มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเพราะผู้รับจ้างปฏิบัติหรือทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ร. ข้อ 6 มีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างรายใหม่ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 5 หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นภายในกำหนด 1 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานดังกล่าว ซึ่งความชำรุดบกพร่องหรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้องหรือทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือทำไว้ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้าโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิกระทำการนั้นเองหรือจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้นโดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดจากการที่บริษัท ร. ใช้วัสดุไม่ถูกต้องหรือทำงานไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชาเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลแห่งความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการดำเนินการตามสัญญาจ้างของบริษัท ร. โดยตรง มิใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัท ร. ส่งมอบงานที่รับจ้างที่ถูกต้องสมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องให้แก่โจทก์แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างตามที่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นพิเศษ ซึ่งโจทก์และบริษัท ร. ผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 ที่จะนำอายุความตามมาตรา 601 มาใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนี้ แม้จะนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์พบความชำรุดบกพร่อง อันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นครั้งแรกจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 คือวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ยังเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้นั้น แม้จะเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด หากปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ย่อมฟังตามข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาระต้องชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวมิได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใด จำเลยที่ 1 ยังคงต้องชำระหนี้นั้นแก่โจทก์ เพียงเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันกลับคืนมาไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็หาส่งผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" จะใช้บังคับได้จริงต่อเมื่อการยึดอำนาจการปกครองยังไม่เป็นผลสำเร็จ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองก็ยังไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ กล่าวคือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ถูกยกเลิกไปโดยอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจ สิทธิดังกล่าวของจำเลยและประชาชนอื่นก็ยังคงมีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า การยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว เนื่องจาก คสช.ประกาศใช้กฎอัยการฝึกที่ราชอาณาจักร ประกาศให้รัฐธรรมูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นบทบัญญัติหมวด 2 รวมทั้ง คสช. ได้มีประกาศและคำสั่งอันเป็นการใช้อำนาจบริหารประเทศอีกหลายอย่าง คสช.จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงย่อมมีอำนาจออกประกาศและคำสั่งให้จำเลยรายงานตัวต่อ คสช.ได้ และสิทธิของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้วนับแต่วันที่ คสช.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2560 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยอยู่ก่อนแล้วให้แก่โจทก์ มิใช่เรื่องที่โจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมา จึงไม่อาจนำมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาใช้บังคับได้ ส่วนที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหลักประกันอื่นที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้อง ช. และจำเลยกับพวกเป็นคดีล้มละลายไว้แล้ว ก็มีผลเพียงให้โจทก์เข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีล้มละลายแทนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคสอง มิใช่เหตุที่จะนำมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาบังคับได้เช่นกัน การที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้องขับไล่ ช. โดยผลของ มาตรา 142 (1) แห่ง ป.วิ.พ. คำพิพากษาที่ให้ขับไล่ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของ ช. ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้เท่านั้น แต่หาได้ทำให้วงศ์ญาติและบริวารที่อาจถูกบังคับตามคำพิพากษานั้นมีฐานะเป็นคู่ความไปด้วยไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดี ทั้งการที่จำเลยรับมอบอำนาจจาก ช. ให้เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีฐานะกลายเป็นคู่ความในคดีไปได้ เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน และในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อสิทธิของเจ้าของหรือไม่อย่างไร การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3540/2560 การที่จำเลยปลอมคำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) เพื่อขอออกหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX แล้วนำคำร้องดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) ต่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อดำเนินการออกหนังสือเดินทางหมายเลขดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยใช้หนังสือเดินทางปลอมหมายเลข J 336XXX แสดงประกอบคำร้องขอด้วย ต่อจากนั้นจำเลยปลอมหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX อันเป็นเอกสารราชการโดยแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยหลงเชื่อนำข้อมูลตามคำร้องขอหนังสือเดินทางไปต่างประเทศ (ทั่วไป) ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าฐานข้อมูลการจัดทำหนังสือเดินทางของกรมการกงสุล แล้วประมวลผลเป็นรูปเล่มหนังสือเดินทางหมายเลข H 759XXX ต่อมาจำเลยมีหนังสือเดินทางปลอมหมายเลข H 759XXX ดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นว่าจำเลยเป็นผู้มีหรือผู้ถือหนังสือเดินทางฉบับดังกล่าวฉบับที่ถูกต้องแท้จริง เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงกันโดยมีเจตนาให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ออกหนังสือเดินทางให้แก่จำเลยเป็นหลัก แม้เอกสารที่จำเลยปลอมและใช้จะเป็นเอกสารคนละประเภทกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2560 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้คัดค้านฟังเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานของราชการ ไม่ใช่ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 24 กันยายน 2559 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ดังที่ทนายผู้คัดค้านระบุไว้ในคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2559 ที่ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาครั้งที่ 1 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ซึ่งต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตนั้น โดยข้ออ้างในคำร้องเป็นเพียงเหตุที่อ้างเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้สามารถขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 นับได้ว่าเป็นความผิดหลงของทนายผู้คัดด้าน จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ตามคำร้องของทนายผู้คัดค้านดังกล่าวและต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้คัดค้าน จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้วเช่นกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำสั่งรับฎีกาในเวลาต่อมา ก็เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3536/2560 ผู้ร้องนำสืบพยานและอ้างส่งสำเนาพินัยกรรมต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีระบุพยาน และเป็นเอกสารที่ผู้ร้องต้องส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ ก็ถือเป็นการไม่ชอบ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดก โดยผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือ ส. เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่าที่ดินตามพินัยกรรมเป็นของผู้คัดค้านนั้น เป็นการอ้างว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้าน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว ผู้ตายมาพบเจ้าพนักงานปกครอง และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วเจ้าพนักงานปกครองพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย เมื่อไปพบผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตแล้ว เจ้าพนักงานปกครองอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตาย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และพยานสองคนฟัง ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตายและพยานสองคนลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไป ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2560 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและศาลยกคำร้องขอด้วยเหตุว่า ผู้ร้องมิใช่ทายาทโดยธรรมหรือผู้มีส่วนได้เสีย คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยอ้างว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ ศาลมีอำนาจเรียกคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และตัวอย่างลายมือชื่อของผู้ตายที่ธนาคาร ก. มาสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลไม่ให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องให้โอกาสผู้ร้องสืบพยานเพิ่มเติม และผู้ร้องมีโอกาสและระยะเวลาที่จะขอสืบพยานเพิ่มเติม แต่ผู้ร้องมิได้ขอก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560 แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530 - 3531/2560 ข้อความในฎีกาฉบับแรกตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย กับข้อความในฎีกาฉบับที่สองตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนแต่เป็นข้อความเดียวกันทั้งสิ้น โดยฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วยเหตุที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของผู้ร้องคัดค้านไว้วินิจฉัยนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2560 ผู้ร้องในฐานะพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ยื่นคำร้องขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นทั้งสองครั้งเพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลย มิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 หรือยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ทั้งเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้นก็มิใช่มรดกของผู้ตาย กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 หรือมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือผู้ร้องเป็นทายาทของผู้ตายหรือไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2560 การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2560 การที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นพิพาทข้อแรกว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 2 ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยถึงประเด็นนี้พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ทั้งที่มีประเด็นตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งเกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 จะมีผลทำให้การทำสอบข้อเท็จจริงและทำคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อมาว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่จึงพิพากษายกฟ้องนั้น ก็ยังไม่ได้ตอบประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 ที่ว่า ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ พร้อมทั้งยังไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยถึงประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ดังนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาใหม่ กำหนดระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำคำสั่งภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับคำร้อง และวรรคสอง ที่กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งได้ภายในกำหนด ก็ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล หากมิได้สอบสวนข้อเท็จจริงหรือทำคำสั่งเสร็จภายในกำหนด 60 วัน หรือภายในเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยาย ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งรวม 57 วันนับแต่วันที่รับคำร้องจาก ส. ลูกจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 4 สอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง แต่เกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า ระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จของงานให้เป็นไปตามรายละเอียดที่ปรากฏแนบท้ายประกาศนี้ โดยเอกสารแนบท้ายกำหนดว่า การรับและพิจารณาวินิจฉัยคำร้องรวมทั้งแจ้งคำสั่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานกรณีแสวงหาพยานหลักฐานได้ ไม่ซับซ้อนหรือคู่กรณีมาชี้แจงตามกำหนดและให้การครบถ้วน ให้ใช้เวลา 42 วันนั้น ไม่มีผลทำให้คำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 37 และ 38 เพื่อให้การบริหารราชการอำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งจะใช้เป็นข้อพิจารณาส่วนหนึ่งในเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานของราชการและจัดสรรเงินเพิ่มเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการหรือจัดสรรเป็นเงินรางวัลแก่ข้าราชการเท่านั้น การที่ ส. ลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางแล้วปล่อยให้พนักงานเก็บขยะดังกล่าวเก็บเอาสิ่งของที่มีสภาพไร้ประโยชน์ไม่มีมูลค่าหรือราคาของโจทก์ที่วางอยู่บริเวณจุดทิ้งขยะออกไปจากโรงงานของโจทก์ และนำไปทิ้งบริเวณหลุมขยะหลังวัดห้วยยางตามปกติ โดยโจทก์ไม่มีส่วนเบียดบังเอาสิ่งของดังกล่าว แสดงว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้ประสงค์หรือตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และไม่เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ ส. ลูกจ้างของโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560 ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2560 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า ล. กับพวกร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทโดยอาศัยมติที่ประชุมอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน และหากโจทก์ชนะคดีจึงจะมีสิทธินำคำพิพากษาไปยื่นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2560 แม้การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นละเมิด แต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ สำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ขายทอดตลาดโดยเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 โดยบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด" ตามพฤติการณ์แห่งคดีฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560 จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2560 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่เห็นสมควรลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงระวางโทษที่จะลงแก่จำเลยจำคุกตั้งแต่สี่เดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หกพันหกร้อยหกสิบหกบาทหกสิบหกสตางค์ถึงสี่หมื่นบาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 แล้วจำคุก 3 เดือน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560 เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า "ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18 ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า "เวสเซล" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า "เวสเซลล์" แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน "S" ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน "S" บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า "VESCELL"และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน "V" และ "C" บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2560 การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 211/2546 ของศาลแพ่ง เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โดยขณะนำยึดทรัพย์สินนั้นคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่และยังไม่ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้ว กรณีถือได้ว่าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) และบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี แม้ศาลแพ่งจะได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะถอนการบังคับคดีโดยโจทก์หรือจำเลยไม่ต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งบังคับคดีไว้ และแม้เมื่อยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ได้ชำระก็เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยเพื่อชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 (3) เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560 การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2560 คนร้ายซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ที่บริเวณแฮนด์ (มือจับ) ด้านซ้าย และอยู่ภายในช่องแฮนด์ที่มีปลอกพลาสติกหุ้มอยู่ซึ่งมิใช่เป็นที่เก็บสิ่งของ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่คนร้ายได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องริบเมทแอมเฟตามีนและรถจักรยานยนต์ของกลาง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2560 จำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิดตามที่มีผู้ว่าจ้างให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนในที่เกิดเหตุซึ่งถูกซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนเสาป้ายสัญญาณจราจรทางโค้ง โดยลงจากรถไปยืนที่บริเวณดังกล่าวตามที่นัดหมายไว้ อันเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ แต่จำเลยที่ 1 กระทำไปไม่ตลอดเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจมาพบและถูกจับกุมได้เสียก่อน จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2560 ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม หมายถึง ราคาที่ผู้ผลิตขายให้แก่ผู้ซื้อโดยสุจริตและเปิดเผย ณ สถานที่ผลิตสินค้าหรือราคาซื้อขายสินค้ากัน ณ สถานที่ผลิตสินค้าเท่านั้น ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า ณ โรงอุตสาหกรรม หรือสถานที่ผลิตสินค้าไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิตหรือการกำเนิดสินค้า หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรมไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการผลิตจนถึงขั้นตอนที่มีการขายสินค้าดังกล่าวออกไปให้แก่ผู้ซื้อ ต้องนำมาถือเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมหรือสถานที่ผลิตได้เนื่องจากรายการที่ต้องระบุในแบบแจ้งราคาขาย หรือแบบ ภษ.01-44 นอกจากค่าวัตถุดิบ ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการผลิตแล้ว ยังต้องระบุค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และกำไรประกอบไปด้วย โจทก์แจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่ำกว่าราคาขายตามใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนหักส่วนลดใด ๆ ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีขายที่ออก ณ โรงอุตสาหกรรม โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าส่วนต่างระหว่างราคาขายตามใบกำกับภาษีของโจทก์ดังกล่าวกับราคาขายตามที่โจทก์แจ้งว่าเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตอย่างไร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า ส่วนต่างระหว่างราคาขายตามใบกำกับภาษีขายของโจทก์กับราคาขายตามที่โจทก์แจ้งว่าเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาขายสินค้าของผู้ผลิต ณ โรงอุตสาหกรรม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ราคาที่ระบุไว้ตามแบบแจ้งราคาขาย หรือแบบ ภษ.01-44 จึงไม่ใช่ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมจริงที่จะใช้ในการคำนวณภาษีสรรพสามิตดังที่โจทก์อ้าง การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ตามราคาที่ระบุในใบกำกับภาษีขายเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 8 (1) จึงชอบแล้ว ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2551 โจทก์ขายเครื่องดื่มขนาด 0.535 ลิตร ในหลายราคา การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ในราคาสูงสุดของสินค้านั้นในเดือนที่ล่วงมาแล้ว ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 8 (1) วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดราคาสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ข้อ 2 (2) และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคาสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี กรณีที่ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมมีหลายราคา ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 ข้อ 1 จึงชอบแล้วเช่นกัน และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์แจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมราคาหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์ขายสินค้าตามใบกำกับภาษีขายอีกราคาหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานจำเลยประเมินภาษีโดยไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 80 (2) ก็ไม่ได้ทำให้การประเมินไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2560 ตามคำร้องฉบับแรกผู้ร้องมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมทั้งหมด แต่คำร้องฉบับหลังเป็นการยื่นคำร้องเข้ามาโดยมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมเพียงบางส่วนคือขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ส่วนสิทธิตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ยังเป็นของโจทก์เดิม อันหมายความได้ว่า โจทก์เดิมยังคงเป็นคู่ความในคดีหรือยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ได้ต่อไป คำร้องฉบับหลังของผู้ร้องดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการขอเข้ามาในลักษณะเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งโดยโจทก์เดิมก็ยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเช่นเดียวกัน มิใช่เป็นการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมซึ่งมีผลทำให้โจทก์เดิมพ้นจากการเป็นคู่ความหรือพ้นจากการเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและทำให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้แทนอันเป็นการเข้าสวมสิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่อย่างใด ซึ่งไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้แก้ไขคำสั่งให้สวมสิทธิเดิมและยังคงคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2560 สัญญาการบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ที่มีการตกลงรับทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ เพื่อจะให้ได้สินจ้างจากงานที่ทำนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลร่างกายนั้น แม้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีเจตนาเดียวกันโดยมุ่งผลสำเร็จของงานคือการหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่จะสามารถกำหนดได้ว่าการรับทำงานต้องสัมฤทธิ์ผลในการรักษาได้อย่างแน่นอน เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าบาดแผลที่ได้รับ สภาพและอายุของผู้ป่วย ลักษณะของโรค ความยากง่ายในการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการจะนำเอาผลสำเร็จของงานในการรับจ้างทำทรัพย์สินหรือสิ่งของมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับการรักษาว่าจะต้องหายจากอาการเจ็บป่วยย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ภาวะและวิสัย ทั้งของผู้ป่วย แพทย์ และลักษณะของโรคขณะที่ทำการรักษาเป็นกรณีไป ดังนั้น สัญญาบริการทางการแพทย์จึงไม่ใช่การจ้างทำของโดยแท้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3145/2560 โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า จำเลยจงใจอาศัยความมีชื่อเสียงเฉพาะสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วไปลวงขายสินค้าหรือบริการให้แก่บุคคลอื่น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์คำว่า "RUSH" ซึ่งโจทก์ได้ใช้มาก่อนจำเลยในคำฟ้องด้วย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย การใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 46 วรรคสอง เป็นกรณีเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับรายการที่กล่าวอ้างถึงฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าหรือบริการของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าหรือบริการของเจ้าของเครื่องหมายนั้น เมื่อคำฟ้องและทางนำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือโจทก์ร่วมใช้คำว่า "RUSH" เป็นเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มหรือบาร์อาหารและเครื่องดื่มมาก่อนจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการที่ไม่ได้จดทะเบียนสำหรับบริการจัดการอาหารและเครื่องดื่มกับบาร์อาหารและเครื่องดื่ม ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่ากิจการร้านอาหาร "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" ของจำเลยเป็นกิจการบริการร้านอาหารของโจทก์ได้ การที่จำเลยประกอบกิจการร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สุรา เบียร์ บุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า "รัช บาร์" หรือ "RUSH BAR" จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "RUSH" ของโจทก์ด้วยการลวงขายโดยอาศัยความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าร้านอาหารของจำเลยเป็นกิจการบริการของโจทก์หรือโจทก์ร่วม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2560 การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จะเป็นสิทธิบัตรที่ได้ออกโดยชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นควรพิจารณาเป็นลำดับไปว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 หรือไม่ และมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่ ในประเด็นเรื่องการประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานที่ปรากฏอยู่แล้วกับรายละเอียดของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่นำสืบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้วนอกเหนือจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปลูกอ้อย มอก. 1480 - 2540 และรายงานการตรวจค้นเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (1) และมาตรา 6 แล้ว ส่วนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 หรือไม่นั้น พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมการเกษตรและได้อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องปลูกอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จำเลยที่ 1 ไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นเอง แต่นำมาประกอบรวมเข้าด้วยกันไม่ปรากฏว่าระบบการทำงานของฐานใส่อ้อยและกล่องป้อนอ้อยตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ได้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากที่วางพาดอ้อย และช่องเสียบลำอ้อยทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่มปริมาณช่องป้อนต้นอ้อยให้มากขึ้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานเครื่องจักรทางการเกษตร ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงเรื่องการปรับระยะห่างของร่องนั้น เมื่อผู้ออกแบบเครื่องปลูกอ้อยสามารถปรับแต่งให้ได้ระยะตามที่ต้องการได้อยู่แล้ว ชุดโครงผาลชักร่องตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 จึงเป็นเพียงโครงสร้างสำหรับยึดเกาะให้แก่ชิ้นส่วนต่าง ๆ นำไปพ่วงกับรถแทรกเตอร์และมิได้มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ทั้งเป็นโครงสร้างปกติพบได้ในเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั่วไป การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 25271 ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 5 (2) และมาตรา 7 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 25271 จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5 (2) และมาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736 ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2560 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดยมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" เมื่อโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 โจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง ดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042 - 3043/2560 ข้อเท็จจริงยุติว่าก่อนเวลานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รถยนต์ที่ทนายความจำเลยที่ 1 ขับมาศาลเครื่องยนต์ไม่ทำงานเนื่องจากสายพานระบบไฟฟ้าขาด ไม่สามารถเดินทางมาทันกำหนด ทนายจำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าหน้าที่ศาล โจทก์และทนายโจทก์ทราบแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนด เป็นการสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด อันมีผลให้ศาลแรงงานภาค 2 ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่มีคำสั่งนั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิเคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 เมื่อเพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดแล้ว ข้อโต้แย้งตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 จึงหมดไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016 - 3017/2560 จำเลยที่ 2 นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ไปดำเนินการเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่ขออออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แล้วร่วมกับจำเลยที่ 1 พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนายช่างรังวัดไปรังวัดที่ดิน ทำแบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และรู้เห็นเสนอรูปแผนที่ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาปะทิว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งการกระทำในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ การได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ทางราชการกรมที่ดินออกให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินลงชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ในวันดังกล่าวการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอันเป็นการสนับสนุนของจำเลยที่ 2 ยังดำเนินอยู่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3014/2560 การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตอนแรกสืบเนื่องจากการที่จำเลยมาเป็นพยานในคดีที่ อ. เป็นผู้กล่าวหาในกรณีการหายตัวไปของ ส. อันมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าจำเลยถูกโจทก์กับพวกทำร้ายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในข้อหาปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 และในข้อหาจ้างวานฆ่าจ่าสิบตำรวจ ป. ซึ่งมีลักษณะเป็นการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตอนหลังในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง ก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21/1 อันมีลักษณะเป็นการสอบสวนเช่นเดียวกันกับการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้การให้ถ้อยคำทั้งสองครั้งจะต่างเวลากัน แต่ก็เป็นการให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยกันในเรื่องเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560 โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2560 จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ผู้ได้สิทธิการเช่าจากรัฐจริง ซึ่งการโอนสิทธิการเช่านี้แม้มิได้ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ข้อห้ามมิให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิการเช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลอื่นตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ย่อมมีผลให้โจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้โอนสิทธิการเช่าต้องสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นตามข้อ 11 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2560 ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2921/2560 จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพเนื่องจากประสงค์จะใช้หนี้เงินกู้ยืมแก่ผู้เสียหาย ความจริงจำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายแทนบุคคลอื่น ส่วนโฉนดที่ดินที่จำเลยมอบให้ผู้เสียหายมิใช่การให้หลักประกันในการจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังตามฟ้องว่า จำเลยหลอกลวง ก. ผู้เสียหาย โดยนำโฉนดที่ดินที่ถูกยกเลิกเนื่องจากจำเลยได้ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับใหม่และนำไปจดทะเบียนขายฝากแก่ผู้อื่นแล้ว ส่งมอบให้ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงิน 510,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ เพราะไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2782/2560 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประกาศข้อ 10 กำหนดว่าวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับจากประกาศดังกล่าว เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดก็ได้ แต่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยไม่ได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะหากทำเช่นนั้นได้ นายจ้างก็สามารถฉวยโอกาสทวงถามเรียกร้องค้ำประกันให้ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเกินกว่า 60 เท่าดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายเต็มตามสัญญาหรือเกินกว่า 60 เท่า ตามกฎหมายจากผู้ค้ำประกันซึ่งอาจไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว เหมือนที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนซึ่งเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยก่อนที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันตามฟ้องตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องชอบด้วยเหตุและผลแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2560 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นคู่สัญญาและมีข้อกำหนดในข้อ 1 ระบุว่า สมาชิกบัตรหลักและสมาชิกบัตรเสริมตามที่ปรากฏในใบสมัครจะต้องผูกพันร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วมรับผิดชอบชำระหนี้ค่าสินค้าและหรือบริการอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวนั้นมิใช่นิติกรรมประเภทสัญญาที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เพราะสัญญาบัตรเครดิตนั้นสามารถแยกการใช้จ่ายได้ระหว่างบัตรหลักคือบัตรเครดิตของจำเลยที่ 1 กับบัตรเสริมหรือบัตรเครดิตเสริมที่โจทก์ออกให้จำเลยที่ 2 นอกจากนี้เอกสารก็มิใช่สัญญาค้ำประกันที่จะผูกพันจำเลยที่ 2 ในอันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม โดยเห็นได้ชัดว่าการทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลักซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมดดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักจะต้องมีมากกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเสริมโจทก์จะพิจารณาดูจากเครดิตหรือความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการชำระหนี้จากผู้ถือบัตรหลักคือจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงอนุญาตในการออกบัตรเครดิตเสริมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยลักษณะของสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริมเท่านั้น มิใช่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ผู้ถือบัตรเครดิตเสริมต้องมาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ในเอกสารที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในใบสมัครบัตรเสริมจะมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมก็ตาม แต่ข้อกำหนดในเอกสารคำขอเปิดบัตรเครดิตเสริมนั้นไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ข้อสัญญาดังกล่าวยังถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภคด้วยประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้โดยตรงเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ เช่นนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2560 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยนัดประชุมคณะกรรมการและไม่มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อลงมติให้เรียกประชุมใหญ่ จำเลยทั้งสี่มิได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่แก่สมาชิกทุกคน จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม จำเลยทั้งสี่กำหนดอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ของสมาชิกแตกต่างจากที่ได้จดทะเบียนไว้ในข้อบังคับ และจำเลยทั้งสี่เสนอตารางการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยมิได้เรียงลำดับข้อที่ขอแก้ไขเทียบกับข้อบังคับเดิม เนื้อหาฎีกาของโจทก์ดังกล่าวในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2560 ตามหนังสือรับรองกรรมการบริษัทผู้ร้องมีจำนวน 10 คน ในจำนวนนี้มี บ. กับ ก. เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย โดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีผลผูกพันผู้ร้องเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องโดย บ. กับ ก. ซึ่งเป็นกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัททำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 25 มีนาคม 2558 มอบอำนาจให้ ฤ. หรือ ศ. หรือ ส. หรือ ม. หรือ ว. หรือ น. มีอำนาจลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์ในคดีนี้กับผู้ร้อง โดยมิได้ระบุเงื่อนไขว่า ผู้รับมอบอำนาจจะต้องร่วมลงนามด้วยกันสองคน หรือต้องประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้องด้วย ดังนั้น โดยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เมื่อ ส. ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์แทนผู้ร้อง สัญญาโอนสินทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว สัญญาโอนสินทรัพย์ระบุว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้โอน ประสงค์จะโอนสินทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนและผู้รับโอนประสงค์จะรับโอนสินทรัพย์จากผู้โอน โดยมีค่าตอบแทนการโอนสินทรัพย์ และข้อ 1 ของสัญญาดังกล่าว ได้นิยามคำว่า "สินทรัพย์" หมายถึง สิทธิเรียกร้องและผลประโยชน์ทั้งปวงที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อและสัญญาอุปกรณ์ และผู้โอนตกลงโอนให้แก่ผู้รับโอนตามสัญญานี้ กับให้นิยามคำว่า "ลูกหนี้" หมายถึง ลูกหนี้ชั้นต้น ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ผู้จำนำ ผู้รับสภาพหนี้ และบุคคลอื่นใดซึ่งต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือแทนลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อ หรือสัญญาที่บุคคลดังกล่าวข้างต้นทำไว้ หรือมีภาระผูกพันกับผู้โอน ตามนิยามดังกล่าว เมื่อบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่โอนระบุจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ จึงย่อมหมายรวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นบุคคลซึ่งต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ด้วย ดังนั้น ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ หนี้ในส่วนของจำเลยทั้งสามจึงโอนมายังผู้ร้องแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2560 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการ และพนักงานส่วนตำบลเป็นผู้ทำงานประจำ โดยมีปลัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหัวหน้างานบริหารราชการประจำ เมื่อพิจารณาว่าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบบริหารราชการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จึงเห็นได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงต้องระวางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 คำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างว่า ให้ไล่จำเลยออกจากราชการ แม้ระบุว่าคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง ไม่ได้หมายความว่า ในวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำเลยไม่เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ในวันเกิดเหตุ ธ. ว. และ ส. อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกัน แต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2691 - 2692/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบห้าฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นและฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 215, 309, 364 และ 365 และขอให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 215 และ 309 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2560 แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งบัญญัติเรื่องการดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เป็นการเฉพาะไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีข้อกำหนดทำนองเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาตามจำนวนที่กำหนดมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องให้ส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรับรองให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จึงเป็นการกำหนดช่องทางและวิธีการนำคดีอาญาดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีไว้เป็นการเฉพาะ มีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อศาลตาม ป.วิ.อ. (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 16/2559)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2560 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2560 การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (2) เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในปัญหาว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 2 อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรกลางหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตามมาตรา 10 วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัย ศาลภาษีอากรกลางหามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ประกอบกับคู่ความไม่ได้โต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลไว้ จึงไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องเขตอำนาจศาล ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษายกฟ้องมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือไปยังกรรมการจำเลยที่ 1 เพื่อให้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ให้ครบถ้วน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามสิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ หนี้ค่าภาษีอากรที่โจทก์มีต่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้มีบุริมสิทธิ กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 235 โจทก์ชอบจะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 ได้ แต่การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 อันมีต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งยังส่งใช้เงินค่าหุ้นไม่ครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ย แม้โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ในนามของตนเองตามมาตรา 233 ก็เป็นการใช้สิทธิแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ส่งใช้เงินค่าหุ้นที่ยังไม่ครบพร้อมดอกเบี้ย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2560 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การที่จำเลยเพียงแต่มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อโจทก์และมีหนังสือขอความเป็นธรรมจากโจทก์ ก็หาใช่คำอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมิน จำนวนค่าอากรจึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินแล้ว จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีนี้ว่า จำเลยไม่ต้องเสียอากรตามการประเมินเพราะเหตุการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของประกาศกรมศุลกากรฯ และจำเลยสามารถใช้สิทธิยกเว้นให้ถูกต้อง แม้ใช้สิทธิภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าหรือเสียอากรไปแล้วได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640/2560 การที่โจทก์ชำระเงินค่าแลกคะแนนเพื่อซื้อของสมมุติของผู้ถือบัตร @cash แก่บริษัท ฟ. โดยมีการหักลบเงินที่ต้องจ่ายให้แก่กันจากราคาหน้าบัตร @ cash ในอัตราร้อยละ 25 หรือร้อยละ 33 แล้วแต่กรณี จึงไม่ใช่การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง แต่มีลักษณะเป็นการหักค่าบริการที่โจทก์ได้ดำเนินการวางระบบโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อเว็บไซต์ระหว่างกัน เพื่อให้ผู้ถือบัตร @cash ของโจทก์สามารถเข้าเล่นเกมของบริษัท ฟ. ได้ รวมถึงการพัฒนาดูแลระบบหรือโปรแกรมระบบงานเพื่อประมวลผลต่าง ๆ ในการคัดแยกจัดสรรประโยชน์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. ตามปริมาณการใช้บัตร @cash ของโจทก์ที่ลูกค้าได้เข้าใช้บริการเกมออนไลน์ของบริษัท ฟ. อันมีลักษณะเป็นการกระทำใด ๆ ที่อาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า จึงเป็นการบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) การให้บริการระหว่างโจทก์กับบริษัท ฟ. เป็นคนละขั้นตอนกับการที่โจทก์ขายบัตร @cash ของโจทก์ให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าซึ่งจะนำบัตรไปขายต่อให้แก่ผู้เล่นเกมออนไลน์ ค่าบริการดังกล่าวจึงเป็นมูลค่าที่โจทก์ได้รับจากการให้บริการ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับมูลค่าที่โจทก์ได้รับจากการขายบัตรดังกล่าวให้แก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้า โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่ได้รับจากบริษัท ฟ. นำส่งจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2560 เงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (2) เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ส่วนมาตรา 40 (6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระรวมถึงการบัญชี ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน เมื่อเงินได้เกี่ยวกับการรับทำงานให้ของผู้ประกอบวิชาชีพล้วนเป็นการรับจ้างบริการในลักษณะเดียวกัน การจะพิจารณาว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด นอกจากจะต้องพิจารณาถึงลักษณะของงานที่ทำว่าเป็นการประกอบวิชาชีพโดยตนเองอาศัยความรู้ความชำนาญและได้รับเงินตามปริมาณผลงานที่ทำหรือไม่แล้ว ยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพประกอบกันด้วย เพราะหากไม่พิจารณาจากค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีเงินได้จากลักษณะงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อยก็จะอ้างว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) เพื่อหักค่าใช้จ่ายมากเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้จริง เมื่อเงินได้พึงประเมินที่บริษัท ห. จ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าที่ปรึกษาวางระบบบัญชี มาจากการรับทำงานให้ที่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนโดยไม่เกี่ยวกับปริมาณงาน และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีค่าใช้จ่าย เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) หาใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2560 โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องและให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จ. แล้วแย่งการครอบครองโดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. ว่าไม่มีเจตนายึดที่ดินพิพาทแทน จ. ต่อไป คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. บิดาจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสอง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยโจทก์ทั้งสองมิได้แก้ฎีกาว่า ส. บิดาโจทก์ที่ 2 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ จ. หรือบริษัท ร. แล้วโจทก์ที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจาก จ. จึงเป็นการครอบครองแทน จ. บิดาจำเลยด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2560 การที่โจทก์จะฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้จะต้องเป็นคดีที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 สำหรับคดีเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรนั้น ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 9 ทั้งต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืน โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ได้ชี้แจงและนำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอคืนเพิ่มเติม จำเลยมีหนังสือยกเลิกคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และโอนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ไม่คืนดอกเบี้ยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ เห็นได้ว่าดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย และจำเลยต้องพิจารณาสั่งคืน เมื่อจำเลยสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งแล้ว การคำนวณดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรข้อ 1 (2) มิใช่นับแต่วันส่งเอกสารจนครบ เนื่องจากการที่เจ้าพนักงานเรียกให้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ตามข้อ 2 วรรคสาม มีผลเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสี่ เท่านั้น เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีที่พิพาทแต่ละฉบับจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดสามเดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ตามหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานที่เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานที่กำหนดเวลาไว้น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรคสาม จำเลยไม่อาจระงับการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 วรรคสอง นั้น ให้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน หลังจากนั้นไม่มีการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก จำเลยชอบที่จะเร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระเกินไปพร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกต่อไป การที่ดอกเบี้ยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหยุดลงตั้งแต่วันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีแล้ว หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรา 4 ทศ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณา จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจำนวน 651,143.76 บาท ความเสียหายในส่วนนี้ได้รับการบรรเทาไปแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2560 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้ให้คำนิยามของ "เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้" จึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office Machines) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า "Cash Dispenser" คล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร และตามพิกัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นอาการขาเข้า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) พิพาทไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2560 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2560 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อ ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริต จนต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ ด. ยังคงเป็นคนวิกลจริต ไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ดังนี้ที่จำเลยต่อสู้ว่า ด. บอกล้างนิติกรรมถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลย่อมมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (2) และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ด. อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 แล้ว นิติกรรมที่ ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำฟ้องคืนแก่ ด. ของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคสาม ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยไม่กระทำ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย ไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2560 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาโดยรวดเร็วเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่กำหนดเรื่องรูปแบบหรือความสมบูรณ์ของคำสั่งทางปกครอง การที่เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์นั้นต้องมีความรับผิด แต่หามีผลกระทบต่อรูปแบบหรือความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2560 ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น การใช้ดุลพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น จึงเป็นข้อยกเว้นไม่ให้เริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และฟ้องโจทก์ก็บรรยายด้วยว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกจำคุกอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีที่เรือนจำจังหวัดอ่างทอง จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์พิมพ์เลข พ.ศ. ของคดีที่ขอให้นับโทษต่อผิดพลาดถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีท้ายฎีกาโจทก์ ก็ระบุว่าเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี โดยจำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อน แต่จำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560 โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2560 แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ที่ไม่ได้สืบพยานโดยใช้ระบบไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556 ที่มีผลใช้บังคับภายหลังในระหว่างการพิจารณาคดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้น และการสืบพยานของศาลชั้นต้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม การเพิกถอนกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2560 คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง แต่จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เรียกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่าขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับ หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้จำเลยก็จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้ เป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในการบริหารราชการในภาพรวมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร แต่ใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2560 คดีที่จำเลยขอให้ถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 129 เป็นเรื่องกล่าวหาการกระทำของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิเป็นหลัก เมื่อได้ความว่าข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ การที่จำเลยเบิกความจึงเป็นเพียงให้พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเท่านั้น ลำพังพฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยเบิกความยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังเป็นเหตุถอดถอนโจทก์ได้ ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ เมื่อข้อความที่จำเลยเบิกความไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จหรือไม่อีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560 จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2560 การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถบรรทุกสิบล้อ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะเพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นก็ตาม ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2560 ก่อนจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์วนกลับไปกลับมาบนถนนเลียบชายแดนบ้านจะลอ-บ้านลิเซ บริเวณรั้วลวดหนามกั้นชายแดนในเวลากลางคืนหลายรอบ จำเลยที่ 1 ส่งสัญญาณให้จำเลยที่ 2 ออกมาพบเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วจำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากรั้วลวดหนามไปตามถนนเลียบชายแดนบ้านจะลอ-บ้านลิเซ ส่วนจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับไปทางบ้านจะลอ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ถูกจ่าสิบเอก จ. กับพวกจับกุมได้ ประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นพี่เขยของจำเลยที่ 1 ย่อมไว้ใจให้จำเลยที่ 1 ให้คอยช่วยเหลือ ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่คอยตรวจตราเส้นทางให้จำเลยที่ 2 ก่อนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดฐานสนับสนุน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2560 จำเลยที่ 2 ให้คนรักของจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าห้องพักที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาซุกซ่อนไว้เพื่อจำหน่าย ก่อนถูกจับกุมจำเลยที่ 2 เปิดประตูห้องพักพบเจ้าพนักงานตำรวจมีอาการตกใจรีบหลบหนีกลับเข้าไปในห้องพักทันที อันเป็นข้อพิรุธ ส่วนจำเลยที่ 3 เปิดบัญชีธนาคารโดยรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไปใช้เบิกถอนเงินออกไปจากบัญชีของจำเลยที่ 3 เป็นจำนวนมาก และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2560 ในการพิจารณาตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ การกระทำของผู้คัดค้านที่เอาเศษเหล็กจำนวนมากของผู้ร้องออกไปนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติและถูกกักของที่ประตูทางออกและต้องนำกลับไปเก็บไว้ที่เดิม แม้จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงที่จะต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย แต่ก็มีลักษณะทำให้ผู้ร้องขาดความเชื่อใจ ไม่อาจไว้วางใจให้ผู้คัดค้านทำงานต่อไปได้ กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2560 คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสี่ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 83, 173 และ 174 ซึ่งความผิดดังกล่าวตามมาตรา 174 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560 โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2560 การพิจารณาว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมได้ การที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยโดยตัดสิทธิจำเลยมิให้ยกเอาข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างมาต่อสู้คดีจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2560 ในขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โดยขณะกระทำผิด อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2560 ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปี 2555 และปี 2556 มีการแสดงรายการทรัพย์สินที่มีเครื่องจักรอยู่ในแบบ ประกอบกับโจทก์ร้องขอให้พิจารณาใหม่ในประเด็นลดค่ารายปีตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 พร้อมแนบสัญญาเช่าที่ดินและอาคาร สัญญาซื้อขายเครื่องปรับอากาศ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศและติดตั้งอุปกรณ์ สัญญาจ้างเหมาติดตั้งระบบดับเพลิง ใบเสนอราคางานระบบไฟฟ้าและระบบเตือนภัย และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดในประเด็นการขอลดค่ารายปีแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 33 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โรงสี โรงเลื่อยฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆ ในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้น รวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วย" บทบัญญัติของมาตรานี้มิได้กำหนดว่าต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนประกอบกิจการอุตสาหกรรมเองจึงได้ลดค่ารายปีลง ดังนั้น กรณีโจทก์นำโรงเรือนให้บริษัท ฟ. เช่า ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2560 แม้สถานบริการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะสถานประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ใช้สถานที่ในการให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ และเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กำหนดเพียงลักษณะของบริการที่อยู่ในความหมายของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียงหรือแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงเท่านั้น มิได้กำหนดว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับเต้นรำ และมิได้กำหนดประเภทของสถานบริการและนิยามคำว่า "เต้น" กับ "เต้นรำ" ดังเช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 (4) มีเจตนารมณ์เพื่อลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตและรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เยาวชนตื่นตัวสนใจศิลปะที่ละเอียดอ่อน และเพื่อให้การแสดงดนตรีกระทำได้โดยสะดวก แต่ทางราชการยังสามารถควบคุมได้ ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สถานประกอบกิจการของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ ประเภทที่ 09.01 ลักษณะเช่นเดียวกับไนท์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2560 ป. รัษฎากร มาตรา 89/1 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติที่กำหนดจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ว่าจะคำนวณเงินเพิ่มอย่างไร เงินเพิ่มที่คำนวณได้ทั้งหมดต้องมีจำนวนไม่เกินไปกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ อันเป็นไปเพื่อมิให้ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนนี้มากไปกว่ามูลหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเหตุให้มีการเสียเงินเพิ่มนั้น จำนวนเงินขั้นสูงสุดดังกล่าวย่อมต้องเป็นจำนวนที่แน่นอนสอดคล้องกับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่ง ส่วนการผ่อนชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่งลดลงนั้น ก็เป็นเพียงกรณีที่การคำนวณเงินเพิ่มต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนที่ลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ แต่หาเป็นเหตุให้จำนวนเงินขั้นสูงสุดที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ได้เร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างและนำเงินที่ยึดหรืออายัดไปชำระหนี้ภาษีอากรตามบัญชีแสดงรายละเอียดการผ่อนชำระหนี้ คงมีหนี้ค้างคงเหลือเป็นค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มโดยเมื่อรวมเงินเพิ่มเก่าและเงินเพิ่มใหม่ยังไม่เกินจำนวนภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามหนังสือแจ้งการประเมิน และเจ้าพนักงานของโจทก์ได้คำนวณหนี้ภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคงค้างชำระหนี้ทั้งหมดของจำเลยที่ 1 แล้ว การคำนวณเงินเพิ่มของโจทก์จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2560 ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การพิจารณาว่า กรณีจะต้องมีการคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง และตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านเท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2560 โจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่จำเลย เพราะจำเลยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจยศระดับพลตำรวจตรี 2 คน เพื่อช่วยเหลือให้บุตรสาวโจทก์สามารถสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าบุตรสาวโจทก์จะเข้ารับราชการตำรวจได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โดยการสอบคัดเลือกเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้โดยเสรีและที่สำคัญการจัดการสอบจะต้องยุติธรรมเพื่อที่ทางราชการจะได้คนมีความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หากมีการช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้สามารถสอบผ่านแสดงว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2560 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.33) และใบเสร็จรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.37) โจทก์ได้รับเงินจากคนหางานเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 20,000 บาท และประเทศญี่ปุ่นเป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 22,400 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 44,800 บาท โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกเก็บจากคนหางานดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน ประกอบกับระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 ข้อ 9 ก็ระบุว่า ผู้รับอนุญาตจัดหางานจะเรียกหรือรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางานจากคนหางานไม่ได้ ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายตามแบบ จง.33และแบบ จง.37 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางาน ค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานตามแบบดังกล่าว จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากคนหางานเพื่อดำเนินการจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหางานหรือไม่ก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายในการจัดหางานทั้งจำนวนจึงเป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจากกิจการจัดหางานของโจทก์ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร และเงินที่โจทก์ได้รับมาจากคนหางานทั้งจำนวนดังกล่าวย่อมถือเป็นมูลค่าทั้งหมดที่โจทก์ผู้ประกอบการได้รับจากการให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่ง ป.รัษฎากร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560 ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2560 แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์จะมีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์พิพาท แต่ทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์มีภาระในการนำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่ารถยนต์พิพาทเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2560 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 24 สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 และมาตรา 23/3 ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยมาตรา 23/3 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิคงเงินทั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไป ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการออมเงินโดยผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คดีนี้เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสะสมด้วยเหตุออกจากงานให้แก่โจทก์ไว้ก่อนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้สิทธิขอรับเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานแล้วใช้สิทธิคงเงินทั้งหมดที่จะได้รับไว้ในกองทุนและคงการเป็นสมาชิกต่อไปตามมาตรา 23/3 เงินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 24
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนฟ้องฉบับแรกให้โจทก์ไปทำมาใหม่โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เขียนคำฟ้องฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการตรวจฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาใช่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2560 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน หาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับ พ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2560 อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนของสินค้าที่เสียหายให้แก่จำเลย ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องซากสินค้าที่เสียหายเพราะไม่มีข้อพิพาท คดีจึงไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิที่จะเสนอคดีนี้ต่อศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ส่งมอบซากสินค้าได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2560 โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง 3 คดี โดยแต่ละคดีได้เรียกร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนหนี้ที่ดินและโรงงานพร้อมเครื่องจักร แม้บางคดีจะได้กล่าวหาจำเลยในมูลละเมิดและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย แต่วัตถุประสงค์หลักก็คือ ให้เพิกถอนการโอนสินทรัพย์กลับคืนมาทั้งสิ้น จึงไม่ต่างกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนทรัพย์สินเครื่องจักรบางรายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อมาเก็บไว้ในโรงงานไม่เกี่ยวกับหนี้ใด ๆ ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบความจริงและขอให้ส่งมอบคืนในคดีก่อนได้อยู่แล้ว การมาฟ้องเรียกร้องเครื่องจักรคืนในคดีนี้อีกจึงสืบเนื่องมาจากคดีก่อนที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ย่อมถือว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2560 ตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยระบุว่า สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน ให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ครอบครองและจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบอาชีพเป็นของตนเอง เห็นได้ว่าผู้มีสิทธิเช่าที่ดินจากจำเลยจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับที่ระบุว่า การโอนสิทธิและผลประโยชน์สิทธิและผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของสมาชิกอันมีอยู่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครองจะโอนไปยังผู้ใดมิได้ เว้นแต่จะโอนให้ทายาทหรือโอนโดยทางมรดกนั้น หากสมาชิกของจำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพจากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการเช่าของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทได้ แต่ทั้งนี้ทายาทผู้ตายต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกตามข้อบังคับข้อ 46 (1) ถึง (10) ด้วย อีกทั้งต้องผ่านการพิจารณารับสมาชิกจากคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยเสียก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ 84 (1) เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ช. ได้ขอเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว แต่คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยไม่รับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจำเลย โจทก์ทั้งสามชอบที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลย ข้อ 47 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ ผู้สมัครอาจร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องที่ไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ดำเนินการเช่นว่านั้นเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนตามที่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุไว้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2560 เมื่อธนาคาร ท. ซึ่งสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัท ง. โจทก์เดิมได้โอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสี่ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 และเป็นการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ ส่วนจำเลยที่ 3 จะมีหนี้อยู่กับโจทก์เดิมในเรื่องใด จำนวนเท่าไร และโจทก์เดิมยังมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 3 ในการดำเนินการบังคับคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งการที่ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมก็มิใช่เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังเข้าสวมสิทธิเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งมิได้โต้แย้งคัดค้านให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกด้วย กรณีจึงมีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2560 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับวันที่ปิดประกาศคำสั่งเป็นวันแรกของการนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบัญญัติให้ศาลต้องแสดงเหตุผลเมื่อไม่ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด ทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุเหตุผลอาจเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่สมควรลดโทษในส่วนโทษปรับรายวันให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลไม่ได้ลดโทษปรับรายวันให้จำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 78
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2560 จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา แต่มี ส. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ปรากฏว่า ส. เป็นทนายความของจำเลย และตามฎีกาก็ระบุชัดเจนว่า ส. ไม่เป็นทนายความโดยในช่องใบอนุญาตทำเครื่องหมายยัติภังค์ไว้ ( - ) ส. จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงคำคู่ความที่ยื่นต่อศาลอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) กรณีหาใช่ข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถหรือบกพร่องในการเขียนคำคู่ความ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องที่ผิดระเบียบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560 ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2560 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสองนั้น หากพฤติการณ์ของบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานโดยความเห็นของคณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อ ม. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดเนื่องจากมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายโดยร่วมอยู่ในขบวนการก่อการร้ายจนศาลออกหมายจับไว้หลายคดี การที่ ม. ถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของ ม. หมดสิ้นไป เป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของบุคคลที่ถูกกำหนดเปลี่ยนแปลงไปจึงให้เพิกถอนชื่อ ม. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2560 แม้มาตรา 66 และมาตรา67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 67 (1) ถึง (4) แต่คดีการไต่สวนข้อกล่าวหาความผิดของจำเลยเข้ามาสู่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของ พ. และหนังสือส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน มีรายละเอียดของข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของ ท. จำเลย และผู้เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบก็เพื่อให้พิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยและประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เมื่อกรมสามัญศึกษายืนยันว่าได้รับความเสียหายและขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่ากรมสามัญศึกษาประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้อง แม้หนังสือร้องทุกข์ของกรมสามัญศึกษาดังกล่าวจะระบุเพียงความเสียหายโดยไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กรมสามัญศึกษาจะต้องระบุซ้ำอีก ถือได้ว่ากรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญาและส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 97 ย่อมถือได้ว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2560 จำเลยที่ 2 เบิกความสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกให้ไปรับของที่ตลาดบ้านนาอ้อให้จำเลยที่ 3 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับขู่เข็ญ ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 แม้คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นคำซัดทอด แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษ หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ร้อยตำรวจโท ว. เบิกความว่า พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีการโทรศัพท์ติดต่อกัน โดยวันเกิดเหตุก่อนถูกจับกุม จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 รวม 6 ครั้ง และจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 รวม 2 ครั้ง แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องใด และพันตำรวจโท พ. กับพวกไม่ได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 2 ขณะพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ระบุว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โทรศัพท์ติดต่อกันซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พันตำรวจโท พ. กับพวกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 เพื่อให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 3 ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจริง จึงทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ เป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่นอันควรแก่การเชื่อถือ และรับฟังได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2560 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 นิยามคำว่า "ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย การผลิตตามความมุ่งหมายในการออกกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การผลิตตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่มีความหมายครอบคลุมกว้างขวางถึงการผสมและการปรุงด้วย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันต้มน้ำพืชกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้ไอเพื่อให้เกิดการมึนเมา จึงเข้าลักษณะของการผสมและการปรุงอันเป็นการผลิตตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2560 โจทก์ไม่มาศาลและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลภาษีอากรกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 กรณีเช่นนี้แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 203 จะมิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ คดีนี้เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียว คือ ต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามมาตรา 203 เท่านั้น โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีและร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 203 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2560 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (2) บัญญัติให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อผู้นั้นเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ตามมาตรา 92 บัญญัติให้การสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี คดีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้งเจ็ดยังคงทำหน้าที่มิได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ต้องคืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2560 เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา ไม่ส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และไม่มีเหตุที่จะงดการอ่านคำสั่งของศาลฎีกา โดยให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป คดีย่อมเป็นที่สุดนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคสาม จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดหลบหนีจากการควบคุมหรือหลบหนีออกนอกเขตศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 29 และ ป.อ. มาตรา 190 มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนก่อนที่จะฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2560 การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลา แม้จะน้อยกว่าระยะเวลาที่โจทก์ขอ ก็ไม่เป็นเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ให้ขยายระยะเวลาต่อไปได้อีก หากระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายนั้นไม่เพียงพอ และมีพฤติการณ์พิเศษ ก็ชอบที่โจทก์จะขอขยายระยะเวลาได้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2560 การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหลายที่อยู่ในสำนวน มิใช่พิจารณาจากพยานหลักฐานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้น คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาพยานหลักฐานของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมชอบด้วยกฎหมาย คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดแย้งต่อพยานหลักฐานในสำนวน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้ผู้คัดค้านขอเพิกถอนหรือไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2560 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 388/2558 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และศาลชั้นต้นริบช้างของกลางตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และ ป.อ. มาตรา 32 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลาง จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนช้างของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลสั่งริบช้างของกลางได้หรือไม่นั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นโดยอ้างว่าช้างของกลางเป็นช้างบ้านที่มีตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ. 5) เพื่อให้ฟังว่ามิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นมาในคำร้องขอคืนช้างของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ กรณีที่ศาลสั่งริบสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางที่บุคคลมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนกฎหมายอื่นไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ใดยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลชั้นต้นริบในกรณีดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลางคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2560 โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพียงว่าจำเลยนำแผ่นสามดีและแผ่นวีซีดีภาพยนตร์รวมจำนวน 3 แผ่น ซึ่งไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกให้เช่าแก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรเท่านั้น โดยไม่บรรยายให้ปรากฏว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้บัญญัติถึงภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 27 (1) (3) วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปตามมาตรา 26 (2) วรรคหนึ่ง หรือเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดูตามมาตรา 26 (6) วรรคหนึ่ง ซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานให้เช่าภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นการนำภาพยนตร์ประเภทที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (2) (4) และ (6) วรรคสอง ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ออกให้เช่า แต่ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับประเภทของภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าว ทั้งมิได้บรรยายให้ปรากฏด้วยว่าผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์ที่จะนำออกให้เช่าไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพยนตร์ที่จำเลยนำออกให้เช่านั้นเป็นภาพยนตร์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และเป็นภาพยนตร์ประเภทใดตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และจำเลยมีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือไม่ จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 7 ยกเลิกความในมาตรา 56 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา 56 ที่แก้ไขใหม่ เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2560 โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ 1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2560 พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัตินิยามของความลับทางการค้าว่า "ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ" โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้อง ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า มีลักษณะครบถ้วนที่จะเป็นความลับทางการค้าตามที่มาตรา 3 ดังกล่าวกำหนดไว้ การที่พนักงานบริษัทโจทก์คนอื่นนอกเหนือจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งทั้งที่เป็นเอกสาร และเป็นข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้องโจทก์ จึงไม่ใช่ความลับทางการค้า ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560 แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560 ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560 ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปดูป้ายโครงการก่อสร้างที่ระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิกโครงการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างโดยใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อปลอมของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ถือว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้างว่าโจทก์เป็นสถาปนิก การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2560 โจทก์กับ บ. และ ว. ร่วมกันทำกิจการค้าใช้ชื่อว่า "กิจการร่วมค้า ซ." เข้าทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี - บางประกง กับจำเลย ต่อมาเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บ. กับพวก ผู้ร้อง ก. ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกิจการร่วมค้า ซ. ไม่ได้รับราคาที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า ซ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ โดยไม่จำเป็น ต้องฟ้องร่วมกับ บ. และ ว. และเมื่อคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2560 ตามสัญญารับเหมาช่วงพร้อมคำแปล ข้อ 22.5 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "หากการวินิจฉัยสุดท้ายของผู้รับเหมาไม่ได้รับการยอมรับจากผู้รับเหมาช่วง ผู้รับเหมาช่วงอาจจะดำเนินการตามกลไกการระงับข้อพิพาทที่ระบุไว้ตามความในข้อย่อย 22.7 ของสัญญารับเหมาช่วงนี้ แต่ไม่ผูกพันว่าต้องทำเช่นนี้เสมอไป" เช่นนี้ตามตอนท้ายของสัญญาข้อ 22.5 ดังกล่าวหาใช่เป็นการบังคับให้โจทก์จำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสโจทก์นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดหรือฟ้องต่อศาลทางใดทางหนึ่งก็ได้ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลได้โดยไม่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2560 มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับเกิดจากการที่จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ช. กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยยอมเข้าผูกพันเป็นผู้ชำระหนี้แทน ช. โดยมิได้เป็นการขัดกับเจตนาของคู่กรณีหรือโดยฝืนใจลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 314 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2560 ป้ายของโจทก์มีข้อความว่า กตัญญู อยู่ที่มุมบนด้านซ้าย ต่ำลงมาเป็นเครื่องหมายรูปหัวใจและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีข้อความว่า กตัญญู "คืนกำไร 100 % สู่สังคม" ถัดลงมามีรูปผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม 2 ขวด ขวดที่อยู่ด้านซ้ายที่ข้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มมีเครื่องหมายและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีคำว่า กตัญญู ด้านล่างคำว่ากตัญญูมีข้อความว่า น้ำดื่มตรากตัญญู DRINKING WATER ขวดที่อยู่ด้านขวาที่ข้างผลิตภัณฑ์น้ำดื่มมีเครื่องหมายและมีข้อความภาษาต่างประเทศคำว่า KATANYU ด้านข้างมีคำว่า กตัญญู ด้านล่างคำว่ากตัญญูมีข้อความว่า น้ำแร่ ตรากตัญญู MINERAL WATER และยังมีข้อความใต้ผลิตภัณฑ์น้ำดื่มอีก 7 บรรทัด ป้ายของโจทก์ที่มีอักษรต่างประเทศคำว่า KATANYU อยู่ในส่วนด้านขวาของเครื่องหมายคล้ายรูปหัวใจ ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 และถือว่าเป็นป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ จึงเป็นป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้าย (3) (ข)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095 - 1096/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยแยกฟ้องเป็นสองสำนวน และมีคำขอให้นับโทษของจำเลยแต่ละสำนวนต่อกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน การกระทำของจำเลยในแต่ละสำนวนจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยเรียงกระทงลงโทษจำเลยในสำนวนแรก จำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท และสำนวนที่สองจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกันแล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้นับโทษต่อ ก็เป็นเพียงการพิพากษาเกินเลยไปเท่านั้น ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องอุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นนับโทษต่อกันแล้วจึงต้องรวมโทษทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน และนำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2372/2555 มาบวกเข้ากับโทษจำคุกดังกล่าวด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2560 หนังสือบอกเลิกสัญญาผู้จ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จำเลยที่ 1 ทำและแจ้งไปยังโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อบอกเลิกสัญญา ส่วนหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทิ้งงานก็เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นเพื่อรายงานเรื่องการทิ้งงานต่อผู้มีอำนาจสั่งการไปตามขั้นตอน ไม่ใช่เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) แต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ขณะที่ขับรถกระบะมีจำเลยที่ 2 นั่งมาด้วย โดยยึดเมทแอมเฟตามีน 34,000 เม็ด ซึ่งวางอยู่ที่พื้นด้านหลังเบาะนั่งของจำเลยที่ 1 ขณะเข้าจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์แล่นปิดหน้ารถและท้ายรถของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1พยายามขับรถเดินหน้าและถ้อยหลังจนชนกับรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจ พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนว่าตนรับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางจากคนลาวในจังหวัดมุกดาหารให้ไปส่งลูกค้าในจังหวัดปทุมธานี จะถือหลักเกณฑ์ในทางแพ่งว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนหรือร่วมครอบครองด้วยหาเป็นการถูกต้องไม่ เพราะความรับผิดในทางอาญาต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 1 เจตนาเข้าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใดของการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ต้องถือว่าร่วมเป็นตัวการกับจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 83 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 3 ใช้ในการติดต่อกับสายลับและจำเลยที่ 2 ในการขนเมทแอมเฟตามีนของกลางมายังที่เกิดเหตุอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ซึ่งได้ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันพึงต้องริบ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2560 ความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้...มีไม้สักแปรรูปไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือมีไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่..." ดังนั้น การแปรรูปไม้และการมีไม้แปรรูปจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อความผิดดังกล่าวกระทำในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เขตควบคุมการแปรรูปไม้จึงถือเป็นองค์ประกอบความผิด แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการนำประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีการนำไปปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน หรือที่สาธารณะที่เกี่ยวข้อง แต่ประกาศของรัฐมนตรีฯ หาใช่กฎหมายหรือเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนรู้กันทั่วไป เมื่อจำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงต้องมีภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบขาดองค์ประกอบความผิดของมาตรา 48 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2560 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่า โจทก์โดย อ. ได้มอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ แม้ภายหลังจากจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ เอกสารหมาย จ.3 ลงลายมือชื่อ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุว่า โจทก์โดย จ. มอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ก็ตาม แต่ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์มีเพียงหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560 โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929 - 930/2560 โจทก์เป็นผู้จัดให้ผู้ตายเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 7 โดยโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นผู้เอาประกันชีวิต แต่โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์จัดทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 7 ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลรวมไปถึงจำเลยที่ 7 ด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560 แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี อนึ่ง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2560 ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างในการเลิกจ้างกรณีปกติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และการที่ลูกจ้างจะเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรอผลการวินิจฉัยในเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเสียก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง" ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่จ่ายให้ กรณีนายจ้างไม่บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 และ ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง แล้วแต่กรณี กรณีฟ้องของโจทก์อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 จึงเกินกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2560 องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่อาจดำเนินคดีแทนจำเลยได้ คดีนี้จำเลยมอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การที่ ส. ประธานองค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย ลงลายมือชื่อ ในฐานะผู้อุทธรณ์และผู้เขียนเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ประกอบมาตรา 67 (5) และ 246 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 826/2560 การที่โจทก์ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่กลับมาฟ้องคดีโดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการกระทำอันไม่สุจริตของตนว่า เงินฝากในบัญชีไม่ใช่เงินได้ของโจทก์ แต่เป็นเงินที่บริษัท ด. จ่ายเป็นค่าสินบนให้แก่พนักงานของรัฐ บริษัท ด. เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีไปให้นักการเมืองได้โดยตรง จึงทำสัญญาจ้างบริษัท ย. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการเพื่ออำพรางการจ่ายเงินดังกล่าวและโจทก์ยอมนำเงินตามเช็คของบริษัท ย. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่บริษัท ด. จ่ายให้เข้าบัญชีเงินฝากของตนโดยได้รับค่าตอบแทน เพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560 แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2560 แม้คำสั่งของโจทก์ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยจะเป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ แต่ก็มีผลผูกพันจำเลยเฉพาะผลคำวินิจฉัยที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย เนื่องมาจากโจทก์เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และมีผลเฉพาะหน้าในขณะนั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ต้องรับผิดในค่าเสียหายทางแพ่ง อันเกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง ที่มีเหตุมาจากการที่จำเลยฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้โจทก์มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 96 เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้จำเลยตามฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ มาตรา 99 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดโดยเด็ดขาด การฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่จำเป็นต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา แม้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้ยกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 57 ดังที่จำเลยอ้าง การวินิจฉัยคดีนี้ก็ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม พยานที่โจทก์นำมาสืบไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่าจำเลยกระทำการอย่างไรอันจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำการเช่นนั้น เมื่อการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560 คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรม คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่งแล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว จึงยังไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2560 คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 52927 ของโจทก์ และขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท ของโจทก์ที่โจทก์เพิ่งซื้อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อที่ดินมาโดเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยอย่างไรและโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย โดยโจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังกล่าวอีก เพราะถือว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับที่โจทก์ได้ให้การแก้ฟ้องแย้งไว้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2560 แม้คำสั่งของโจทก์ที่ 1 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจเด็ดขาดของโจทก์ที่ 1 แต่ก็มีผลผูกพันจำเลยเฉพาะผลคำวินิจฉัยที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยอันเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และมีผลเฉพาะหน้าในขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 52/2546 ที่โจทก์ทั้งสองอ้างมิได้วินิจฉัยถึงความเป็นที่สุดแห่งคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง รูปเรื่องย่อมต่างจากคดีนี้ จึงไม่มีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลย การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ต้องรับผิดในค่าเสียหายอันเกิดจากการให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นการฟ้องร้องให้รับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้สนับสนุนให้ตัวแทน (หัวคะแนน) หาเสียงให้จำเลยโดยการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งคู่ความต้องนำสืบพยานหลักฐานตามข้ออ้างและข้อเถียงของตนเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป มาตรา 99 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดโดยเด็ดขาด เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ก็ย่อมไม่มีพยานหลักฐานที่จะรับฟังว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2560 จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 โดยลำพังไม่ใช่บทความผิดในตัวเองและมีระวางโทษของตัวเอง แต่บัญญัติให้ผู้พยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ การกระทำของจำเลยซึ่งต้องด้วยความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 80, 83 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียว ไม่ใช่ความผิดต่อกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2560 โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 2,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 240,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และในฟ้องข้อ ค. โจทก์บรรยายว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 262 เม็ด กับชนิดผลึกอีก 2 ซอง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แสดงว่า สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ขอให้ลงโทษ 2 กระทง กระทงแรกในความผิดที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน จำนวน 2,200 เม็ด กระทงหลังในส่วนที่เกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีน จำนวน 262 เม็ด กับชนิดผลึก 2 ซอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้แก่สายลับจำนวน 2,200 เม็ด จากนั้นในวันเดียวกันและทันทีต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1 ยึดได้เมทแอมเฟตามีนอีก 262 เม็ด กับชนิดผลึก 2 ซอง ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาครอบครองเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนรวม 2,462 เม็ด กับชนิดผลึก 2 ซอง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกันอันเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,200 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวกัน จึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากได้เพราะเกินคำขอและต้องห้ามนั้น จึงไม่ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 2,200 เม็ด และจำหน่ายให้แก่สายลับไปหมดแล้ว ต่อมาในวันเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1 ยึดได้เมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 262 เม็ด กับชนิดผลึกอีก 2 ซอง โดยเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองและจำหน่ายไปในตอนแรกจำนวน 2,200 เม็ด กับที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในตอนหลังจำนวน 262 เม็ด กับชนิดผลึก 2 ซอง เป็นคนละจำนวนกัน แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายไปในตอนแรก เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเป็นความผิดที่มีเจตนาในการกระทำผิดแยกจากกันได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำหน่ายให้สายลับไปจำนวน 2,200 เม็ด และยังร่วมกับจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้านอีกจำนวน 262 เม็ด กับชนิดผลึก 2 ซอง อีกส่วนหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดสองกรรม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2560 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ส. บิดาของจำเลยที่ 1 แจ้งต่อร้อยตำรวจโท ร. ว่า ได้ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางแล้วจำเลยที่ 1 แจ้งต่อ ส. ว่า อ. เครือข่ายของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้แก่ลูกค้าในเขตจังหวัดนครราชสีมา และให้ ส. แจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ร้อยตำรวจโท ร. จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้สืบสวนสอบสวน ต่อมาร้อยตำรวจโท ร. จับกุม อ. ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด เป็นของกลาง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งข้อมูลให้แก่ ส. บิดาของจำเลยที่ 1 เพื่อให้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งต่อร้อยตำรวจโท ร. จนสามารถจับกุม อ. ได้ตามข้อมูลที่จำเลยที่ 1 แจ้ง พอถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2560 ชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยต่อสู้คดีด้วยตนเอง ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยมิได้แต่งตั้งทนายให้เข้าว่าความ แต่ได้มอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย โดย ส. ประธานองค์การฯ เป็นผู้อุทธรณ์และผู้ฎีกา แต่องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยได้ การที่องค์การฯ ดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2560 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 14 บัญญัติว่า "ภาษีอากรประเมิน คือที่มีระบุไว้ในหมวดนั้น ๆ ว่าเป็นภาษีอากรประเมิน" และมาตรา 15 บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินทุกประเภท" แต่ในหมวด 6 มิได้ระบุว่า อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรประเมินและไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น อากรแสตมป์จึงไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 123 กำหนดเพียงว่า เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าทำการตรวจค้นสถานที่เพื่อทำการตรวจสอบ กับมีอำนาจเรียกและยึดเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือ เอาประโยชน์แห่งตราสารและพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช่บทบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจต้องใช้อำนาจออกหมายเรียกเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจว่ามีเหตุสมควรที่จะใช้อำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์จึงมีอำนาจเรียกเก็บอากรแสตมป์ได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนก่อน เมื่ออากรแสตมป์ไม่ใช่ภาษีอากรประเมินจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 18 ตรี ที่กำหนดให้เวลาในการชำระเงินไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง ประกอบกับการเรียกเก็บอากรแสตมป์ดังกล่าวสืบเนื่องจากการกล่าวหาของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 114 และ 115 และตามมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติระยะเวลาชำระอากรไว้ดังเช่นมาตรา 18 ตรี การที่หนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรให้เวลาชำระเงินภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จึงชอบแล้ว และเป็นคนละกรณีกับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้เรียกเก็บอากรแสตมป์ ซึ่งมาตรา 115 วรรคสอง กำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงยังคงมีระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้เสียค่าอากรและค่าเพิ่มอากรตามมาตรา 30 ประกอบมาตรา 115 วรรคสอง โจทก์มุ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ ก. และ ก.ชำระราคาให้แก่โจทก์ อันเป็นเจตนาของคู่สัญญาในการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน ต่อมา ก. ได้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์พร้อมหนังสือยินยอมของ ว. ไปดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมบ้านแก่ ก. โดยความรู้เห็นของโจทก์ และโจทก์ก็ได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินพร้อมบ้านจึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้าน และโจทก์จะได้รับชำระราคาจาก ก. หนังสือสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นตราสารใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร ข้อ 28 (ข)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560 คดีนี้ พ. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเป็นผู้ทำสัญญาให้บริษัท บ. เช่า เป็นเวลา 30 ปี บริษัท บ. ตกลงชำระค่าหน้าดิน 87,500,000 บาท ในวันเดียวกัน พ. ทำหนังสือสัญญาให้สิทธิเก็บกินบนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นหลาน และบริษัท บ. ตกลงจ่ายค่าหน้าดินและค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แต่เพิ่งไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายหลังจากที่มีการทำสัญญาเช่าแล้ว ดังนั้น ผู้มีเงินได้ตามสัญญาเช่า คือ พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับเงินค่าเช่าแทน พ. เท่านั้น การที่บริษัท บ. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่โจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการออกหนังสือรับรองผิดหน่วยภาษี โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2560 โจทก์ฟ้องคดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์และสมาชิกจากการบริหารจัดการของจำเลยทั้งยี่สิบสามจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ที่ฝ่ายจำเลยยกปัญหาว่าการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดปัจจุบันไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์เพื่อตัดอำนาจฟ้องโจทก์มิให้ฟ้องร้องบังคับคดีแก่ตน ฝ่ายจำเลยชอบที่จะขอให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ยับยั้งหรือเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 20 ขอให้นายทะเบียนสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะแล้วตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวเข้าดำเนินการแทนตามมาตรา 21 หรือขอให้นายทะเบียนสหกรณ์ตีความข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมตามมาตรา 58 ได้ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 45 เมื่อไม่ปรากฏว่านายทะเบียนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับการตีความข้อบังคับของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาว่ามีการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ชอบ ข้อกล่าวอ้างของฝ่ายจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่อาจรับฟัง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบสาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2560 ผู้ประกันที่ 1 ฎีกาว่า การบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาประกันต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขอให้ศาลฎีกาคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันที่ 1 นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ประกันมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุความทางอาญา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันและออกหมายจับจำเลยที่ 2 โดยระบุให้จับตัวส่งศาลชั้นต้นภายในอายุความ 15 ปี นับจากวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับและปรับผู้ประกัน จนถึงวันที่ผู้ประกันที่ 1 ยื่นคำร้องนี้มาจึงยังอยู่ภายในอายุความทางอาญาดังกล่าว ดังนั้น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้น ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกันที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523 - 530/2560 เงินรางวัลประจำปี ประจำปีงบประมาณ 2551 ที่โจทก์ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายแก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเทศบาลในสังกัดของโจทก์ ไม่ใช่เงินตอบแทนอื่น ๆ อันเป็นรายจ่ายตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 67 (3) จึงเป็นการจ่ายนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ไม่อาจกระทำได้ จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิในเงินนั้นและต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ การที่มีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นให้เป็นรายจ่ายอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2557 ภายหลังจากที่โจทก์จ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษแก่จำเลยไปแล้ว แสดงว่ากระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโจทก์ยอมรับว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษได้ต้องออกเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเป็นรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นรายจ่ายตามมาตรา 67 (9) มิใช่รายจ่ายตามมาตรา 67 (3) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานส่วนท้องถิ่นให้เป็นรายจ่ายอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2557 ข้อ 7 กำหนดให้การจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปีตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ประกาศคณะกรรมการกลาง ประกาศคณะกรรมการจังหวัด หรือหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายที่จ่ายได้ตามระเบียบนี้ ไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลเป็นการรับรองว่าการจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษที่ได้กระทำไปก่อนระเบียบดังกล่าวใช้บังคับเป็นไปโดยชอบ ประกาศคณะกรรมการต่าง ๆ และหนังสือสั่งการอื่น ๆ ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดให้เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษเป็นรายจ่ายที่โจทก์สามารถจ่ายได้ จำเลยจึงนำมาอ้างเพื่อแสดงว่าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปโดยชอบหาได้ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2560 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ห้ามมิให้ฟ้องร้องเกินห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง การที่จะวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง หรือไม่นั้น จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่า การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยให้การต่อสู้ว่า มีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า มีข้อตกลงกันจริงหรือไม่ เมื่อฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้มีข้อตกลงขายที่ดินทรัพย์มรดกในส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยจริง และไม่มีทรัพย์มรดกในส่วนอื่นที่จะต้องแบ่งปันอีก จึงถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการจัดการทรัพย์มรดกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เกินกว่าห้าปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2560 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้ว อันเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงแต่อนุญาตให้สมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้ได้เข้าทำประโยชน์เท่านั้น แม้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถนำที่ดินของรัฐที่ทำประโยชน์อยู่ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสองก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิได้มอบสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์เด็ดขาดให้แก่ผู้ใด จำเลยเพิ่งจะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากนิคมสหกรณ์สระแก้วให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้ว ดังนั้น แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ม. และทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2550 ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนิคมสหกรณ์สระแก้วได้ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 แต่ที่ดินพิพาทก็มิใช่ที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย เดิมโจทก์มีภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 600 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 โจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 600/1 หมู่ที่ 4 ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ดังนั้น ก่อนออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือน ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 13 แม้โจทก์จะอ้างว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากถูก ส. พี่สาวโจทก์หลอกก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่กับหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วนั้น เท่ากับโจทก์รู้แล้วว่าโจทก์พ้นจากการเป็นสมาชิกเพราะไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือนจึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการที่หัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเรียกโจทก์ไปพบเพื่อสอบถามเรื่องการสละสิทธิในที่ดินพิพาทนั้นยังถือได้ว่านิคมสหกรณ์สระแก้วทราบถึงการแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว พฤติการณ์ของโจทก์ที่สละสิทธิไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและย้ายไปที่อยู่อื่นแล้ว ภายหลังย้ายชื่อในทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วทั้งที่ไม่ได้มาอยู่จริงจึงเป็นเพียงเพื่อให้ได้สิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์หมดสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้วไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2560 แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้รองเลขาธิการเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ในอันที่จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือเลขาธิการซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์เท่านั้น แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนดไว้ว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 และที่ 26 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่ก็ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังคงมีผลใช้บังคับได้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 มิใช่บทเฉพาะในอันที่จะไม่สามารถนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 มาใช้บังคับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งให้ ส. รองเลขาธิการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว และ ส. ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนโดยเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการที่จำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ รายละเอียดความเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไป โจทก์จ่ายเมื่อวันที่เท่าใดและบางรายการโจทก์จ่ายให้ผู้ใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม วันที่ 26 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหนังสือส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยและยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่าย เหตุละเมิดยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยในวันดังกล่าว อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 มาตรา 158 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่มีเฉพาะกรณีที่สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงโดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง และมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (9) และเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดที่กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 265 (2) ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นกัน และจะอ้างว่าไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว ห้ามมิให้จำเลยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐนั้นไม่ได้ เนื่องจากบุคคลทุกคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ ทั้งการที่ต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้กระทำเช่นนั้นได้ จึงไม่มีผลลบล้างให้การกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไปแล้วก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลายเป็นการกระทำที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันมีผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไร้ผล ถือว่าจำเลยยังกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีผลอยู่ การที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่และมาฟ้องจำเลยก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นเดิม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป โจทก์จึงยังคงเป็นนิติบุคคล มีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2560 ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป จึงได้ตกลงดังนี้ ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไป โดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้ว จึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2560 โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย โดยได้มาระหว่างสมรส จำเลยไม่ปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว แต่ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีการนำเงินของบริษัท อ. ซื้อไว้โดยใส่ชื่อจำเลยแทน เมื่อที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลง เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว การที่จำเลยจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรก็ถือเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น ซึ่งแม้จะเป็นบุตรของทั้งโจทก์และจำเลยเองก็เป็นเหตุที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี คดีนี้ โจทก์ฟ้องและมีคำขอเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินจากจำเลยมาเป็นของโจทก์ จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยให้การเพียงว่า เป็นทรัพย์สินของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลอื่น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560 การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2560 ก่อนจับกุมจำเลยในคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด พบการกระทำความผิดของ ม. และ บ. ก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้ ม. และ บ. โทรศัพท์ไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ค้ายาเสพติดชาวลาว โดยมีการตกลงซื้อขายและนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันที่สถานีขนส่งอำเภอเมืองร้อยเอ็ด แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมนำกำลังไปดักซุ่มรอแล้วมีการนัดหมายเปลี่ยนสถานที่ส่งมอบเป็นสถานีขนส่งอำเภอโพนทอง เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปจนกระทั่งสามารถติดตามจับกุมจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีน 3,885 เม็ด ของกลาง ได้ที่สถานีขนส่งอำเภอโพนทอง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นท้องที่ที่ บ. โทรศัพท์ติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและสถานีตำรวจภูธรโพนทองซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยได้ เช่นนี้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ดจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560 โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446 - 449/2560 เมื่อพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินฝากในบัญชีธนาคารตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้ศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น แม้ทรัพย์สินรายการนี้ ศาลจะได้วินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้าน แต่ศาลก็ยังต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2560 ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น ดังนั้น นอกจากจำเลยทั้งสองจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งสองต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า มารดาจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา เมื่อมารดาถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยโต้แย้งและคัดค้าน โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกอะไรบ้างรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำให้การของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความและเป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2560 ตามหนังสือสัญญายกให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่ปรากฏเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีข้อความปรากฏเฉพาะการที่ พ. มารดาของจำเลยยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือเงื่อนไขให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่ พ. ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ยอมรับว่าถูกต้องสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับการที่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินกับธนาคาร เช่นนี้ สัญญายกที่ดินพิพาทให้ตามฟ้องจึงไม่ใช่สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยที่จะต้องตกเป็นโมฆะ สำหรับที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ 1876 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยรับกันว่า มีการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่ พ. จะถึงแก่ความตายประมาณเกือบ 10 ปี แต่ไม่ปรากฏว่า พ. จะได้ดำเนินการในลักษณะที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น การมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือดำเนินคดี อีกทั้งโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า รู้เรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีการจัดการหรือช่วยเหลือ พ. เพื่อให้จำเลยคืนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ พ. จำเลยให้การและนำสืบยืนยันข้อเท็จจริงตลอดมาว่า จำเลยไม่ได้เคยตกลงกับ พ. ที่จะโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองยังไม่มีน้ำหนักมากถึงขนาดที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก พ.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท อนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสามได้เข้ามาในคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเป็นปฏิปักษ์ต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แม้โจทก์จะได้ถอนฟ้องจำเลยไปหลังจากนั้น แต่ศาลชั้นต้นก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาในฐานที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสามพิพาทกันในที่ดินพิพาท ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและคำขอของโจทก์ที่เดิมขอให้บังคับจำเลยโดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นอยู่ในสภาพที่เปิดช่องให้บังคับแก่ผู้ร้องสอดทั้งสามผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทได้ จึงชอบที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ มิใช่แต่เพียงยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสามเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2560 โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โจทก์จึงมีหน้าที่และอำนาจในการจัดการมรดกตามที่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 บัญญัติไว้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าโจทก์ไม่สามารถจัดการมรดกในส่วนที่ดินมีโฉนดได้เพราะทายาทไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกันในการจัดการและปันทรัพย์มรดก แม้จะเป็นจริงดังโจทก์กล่าวอ้างโจทก์ก็มีอำนาจดำเนินการจัดการและปันทรัพย์มรดกไปได้โดยไม่ต้องจัดประชุม เพราะอาจมีทายาทที่ไม่เห็นด้วยไม่เข้าร่วมประชุมอันจะทำให้การจัดการมรดกติดขัดหรือหยุดชะงักลง ทำให้เกิดความเสียหายกับการจัดการและปันทรัพย์มรดกได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่า ทายาทไม่เข้าร่วมประชุม ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงขนาดว่าจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกร่วมกับโจทก์ ขัดขวางหรือโต้แย้งสิทธิในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์จนไม่สามารถจัดการมรดกได้ โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2560 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุกคนละ 4 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่นมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี นับแต่วันพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ยกฟ้อง เป็นฎีกาดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2560 จำเลยชกต่อยผู้ตายโดยใช้มือขวาข้างเดียว ชกประมาณ 5 ถึง 6 หมัด ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งนาที อ. พยานโจทก์อยู่ห่างจากผู้ตายประมาณ 5 เมตร ย่อมสามารถเห็นจำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายได้ชัดเจน หากจำเลยมีอาวุธอยู่ในมือผู้ตายต้องได้รับบาดแผลหลายแผล แต่ปรากฏว่าผู้ตายถูกแทงเพียงแห่งเดียวที่บริเวณใต้ราวนมด้านซ้าย คำเบิกความพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ กรณีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนใช้เหล็กแหลมเป็นอาวุธแทงผู้ตายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยซึ่งไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2560 จำเลยยื่นฎีกาว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อรับรองตามกฎหมายแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด..." ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา คือ พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2560 ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกรมธรรม์ที่ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 13,883 บาท ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจาก ส. ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่อได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ ทั้งจำเลยเป็นนายจ้างของ ส. ผู้ซึ่งได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้าง แม้จำเลยจะมิใช่บุคคลตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยได้ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามบทนิยามของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 มิได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบในการผลิตข่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับข่าวตามที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์มติชนออนไลน์ เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเอง คือเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และการที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการ ยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวดังกล่าวเลยหาได้ไม่ เพราะบทกฎหมายข้างต้นมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ เมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 (1) หนังสือพิมพ์รายวันมติชนของจำเลยที่ 1 เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์มติชนออนไลน์ก็เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2560 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 10 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายกรณี มาตรา 30 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 38 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนองบประมาณรายจ่าย เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการกิจการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือการจัดทำประชามติมากกว่างบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เพียงพอกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ แต่การนำเงินงบประมาณไปใช้ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มิได้หมายความว่าโจทก์สามารถจะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ โดยเฉพาะแล้วการนำเงินงบประมาณที่ได้จากการจัดสรรมาก็ต้องเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่รัฐอย่างสูงสุด ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและส่วนรวม รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้เงินงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเงินงบประมาณก็คือเงินภาษีของประชาชน ดังนี้ การที่จำเลยสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว จำเลยยังมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ผู้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวจะต้องปฏิบัติด้วยความถูกต้องเช่นนั้นทุกคน เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบจนเป็นเหตุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้โจทก์ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องใช้งบประมาณหรือเงินอุดหนุนที่ได้รับจากการจัดสรรจากรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เท่ากับโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในหนี้มูลละเมิด โดยโจทก์เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีความผิด ศาลชั้นต้นย่อมนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมารับฟังประกอบการพิจารณาคดีนี้ได้ เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่เป็นคู่ความและเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินและเอกสารของผู้ที่จะเข้าทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน้าที่สำคัญ จำเลยย่อมรู้ดีว่าหากจำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ย่อมมีผลทำให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อจำเลยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่อาจว่างเว้นการเลือกตั้งไว้ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยจงใจโดยจำเลยรู้สึกถึงผลหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยจึงอ้างความผิดหลงหรือเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ และการที่จำเลยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วจำเลยกลับมาสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นการสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ จำเลยก็ย่อมจะทราบดีว่าการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวอาจทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งและเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายโดยต้องเสียค่าใช้จ่ายใช้งบประมาณแผ่นดินในการจัดการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างนับได้ว่าการกระทำของจำเลยล้วนเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายที่ต่อเนื่องกันอันเป็นผลโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560 โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560 โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2560 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 288 แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) โดยไตร่ตรองไว้ก่อนก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 298 ได้ เพราะตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกกระทำโดยไตร่ตรอง ทั้งไม่มีบทขอให้ลงโทษในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 298 เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2560 ที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังคำเบิกความโจทก์ที่ 1 ขัดแย้งกับพยานเพื่อหักล้างพยานเอกสารดังกล่าวไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 นั้น ในทางนำสืบไม่ปรากฏว่ามีพยานโจทก์คนใดที่เบิกความเกี่ยวกับเอกสาร มีเพียงจำเลยที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งนำเอกสารดังกล่าวมาถามค้าน จึงไม่อาจฟังได้ว่าคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขัดแย้งกับเอกสาร ดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยนั้น ล้วนเป็นการคัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยมาทั้งสิ้น โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 9 ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2560 สัญญาจ้างผู้บริหาร ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการผูกมัดโรงพิมพ์ตำรวจว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ทุกปี แต่กลับเป็นการให้สิทธิแก่โรงพิมพ์ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวมีถ้อยคำต่อไปว่า.......จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ก็เป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหลังจากที่มีการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โรงพิมพ์ตำรวจได้รับความเสียหาย และมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ 2 แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาข้อ 3.2 ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษประจำปีไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2560 โจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของ ป. และนำเช็คพิพาทจาก ก. ภริยาโจทก์ มาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2560 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปในคดีนี้ ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เงินที่ได้จากขายทอดตลาดส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายแก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง ล. โดยผู้ร้องผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีสิทธิขอให้จ่ายให้แก่ผู้ร้องได้โดยตรง แต่เนื่องจาก ล. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ซึ่งพิพากษาบังคับจำเลยให้จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคา 40,000,000 บาท การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในคดีนี้แล้ว มีผลทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ล. ได้ ล. จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีดังกล่าวโดยให้จำเลยใช้ราคาที่ดินแปลงนี้แทน เมื่อการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปทำให้จำเลยได้เงินมาแทน กรณีถือได้ว่า ล. เจ้าหนี้จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว ไปให้ศาลจังหวัดภูเก็ตดำเนินการในชั้นบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต โดยนำไปชดใช้ราคาที่ดินที่จำเลยต้องชดใช้แทนให้แก่ ล. โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวเสียก่อน หากไม่มีราคาที่ดินที่ต้องชดใช้หรือเมื่อชดใช้ราคาที่ดินแล้วมีเงินเหลือเพียงใด ก็ให้จ่ายเงินนั้นแก่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560 การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2560 คดีก่อนซึ่งเป็นคดีขอจัดการมรดกของผู้ตายมีประเด็นว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ จำเลยและโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และสมควรตั้งจำเลยหรือโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทผู้ตายและ ก. เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ตายหรือไม่ คดีก่อนกับคดีนี้ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลชั้นต้นจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 เป็นพี่น้องเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อนและผูกพันโจทก์ที่ 2 และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า ก. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยาน โดยมีคำขอเพียง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้โจทก์ทั้งสองชนะคดีตามฟ้อง จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าฤชาธรรมเนียม (2) ท้าย ป.วิ.พ.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2560 ในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตามฟ้อง จำเลยร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2519 มาตรา 36 ทวิ หากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินรวมทั้งที่ดินตาม ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งห้า ย่อมเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงและคัดค้านเอกสารที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิยกเรื่องการสืบสิทธิการออก ส.ป.ก. 4-01 ขึ้นต่อสู้และนำพยานหลักฐานมาพิจารณาเข้าด้วยกันในคราวเดียวกับคำฟ้องเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเฉพาะส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปพัฒนาเพื่อการเกษตรกรรมของจำเลยร่วมกับห้ามโจทก์ที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของจำเลยร่วมจึงเกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม
เขียนโดย
Vakin Youngchoay