ยืมใช้คงรูป

มาตรา ๖๔๐ อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืมให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา ๖๔๑ การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

มาตรา ๖๔๒ ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

มาตรา ๖๔๓ ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา ๖๔๔ ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

มาตรา ๖๔๕ ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา ๖๔๓ นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา ๖๔๔ ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา ๖๔๖ ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

มาตรา ๖๔๗ ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

มาตรา ๖๔๘ อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม

มาตรา ๖๔๙ ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้นท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10629/2554 
              จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท ย. ผู้ขนส่งทอดแรก จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพเมื่อจำเลยที่ 1 ได้เวนคืนใบตราส่ง ดังนั้น การที่ใบตราส่งอีกฉบับหนึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะเรียกให้โจทก์ส่งมอบสินค้าให้ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จำเลยที่ 2 จะได้ส่งมอบต่อให้แก่จำเลยที่ 1 เจ้าของสินค้า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 2 ติดต่อขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง ซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ จากนั้นก็ทำหน้าที่ตัวแทนผู้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แทนบริษัท ย. ตามใบตราส่ง โดยสถานที่ส่งมอบสินค้าตามใบตราส่งทั้งสองฉบับก็คือที่ซีวาย อันหมายถึงลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้น เมื่อสินค้าถึงสถานที่ส่งมอบตามใบตราส่งทั้งสองฉบับแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่าจะขนถ่ายสินค้าที่ใดอีกซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 จะให้ลากตู้สินค้าไปที่ที่ทำการของจำเลยที่ 1 แทนการส่งมอบและรับมอบกันที่ลานวางตู้สินค้าขาเข้าท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 2 ก็ยินยอมและได้ขอยืมตู้สินค้าจากโจทก์โดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดในขณะนั้นว่าเป็นการยืมตู้สินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือเป็นการกระทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนบริษัท ย. ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำตู้สินค้าเปล่ากลับมาคืนแก่โจทก์ตามเวลาที่กำหนด การรับมอบใบปล่อยสินค้าก็ดี การยืมตู้สินค้าและการทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามพฤติการณ์แห่งคดี มิใช่เป็นการกระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดมีหน้าที่นำตู้สินค้าเปล่ากลับมาคืนแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2551 
         เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเนื่องจากความผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่รับจ้างกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 643 แม้โจทก์จะซ่อมรถยนต์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6375/2547

การที่โจทก์ตกลงซื้อลมและแก๊สจากจำเลยโดยโจทก์วางเงินมัดจำ(ประกัน)ค่ายืมท่อ บรรจุลมและแก๊สไว้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมารับท่อและคืนเงินมัดจำ มิฉะนั้นจะนำท่อออกขายทอดตลาด อันเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์แม้จำเลยได้ทราบแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำท่อออกขายตามที่ได้แจ้ง ทั้งนี้เพราะสัญญาซื้อขายและสัญญายืมท่อระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดให้ โจทก์มีสิทธิที่จะขายท่อของจำเลยเพื่อนำเงินมาหักออกจากเงินมัดจำค่ายืมท่อ แม้จำเลยจะมีหน้าที่ต้องคืนเงินมัดจำค่ายืมท่อให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องคืนท่อให้แก่จำเลยเช่นกัน เมื่อโจทก์นำท่อของจำเลยไปขายโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำท่อแก่โจทก์ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5078/2539 
         จำเลยที่1ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เองส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์พ.ศ.2505 นั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่1กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ สำหรับจำเลยที่1นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.17.2 และ จ.3 ว่าจำเลยที่1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมายจ.1เท่านั้นคืออัตราชั่งละ1บาทต่อเดือนหรือร้อยละ15ต่อปีส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใดต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ7.5ต่อปีสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่1เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.1และจ.2เท่านั้นส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.3จำเลยที่2ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.3ด้วยจึงไม่ถูกต้องทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.4และจ.5มีข้อความเพียงว่าถ้าจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้จำเลยที่2จะเป็นผู้ชำระแทนจำเลยที่2ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วยจึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2536 
              โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและยืมลังไม้ใส่ขวดแก้วจากโจทก์หลายคราวติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2522 เมื่อได้มีการคิดบัญชีกันปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งลังไม้คืนโจทก์จำนวน 54,788 ลัง เป็นเงิน 687,551 บาทจำเลยที่ 1 ชำระค่าลังไม้ให้โจทก์เกินไป 4 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเป็นค่าลังไม้แก่โจทก์ 687,547 บาท ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่เข้าใจชัดแจ้งแล้ว ไม่เคลือบคลุม ส่วนเรื่องจำนวนลังไม้ที่ว่าต่างราคากันและชนิดของลังไม้ที่จำเลยที่ 1 รับไปเมื่อใดต้องคืนเมื่อใด เหลือเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 649 เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป เช่น เรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับความชำรุดหรือเสื่อมราคาจากการใช้ทรัพย์ที่ให้ยืมแต่ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแก้วซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขาย และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการซื้อขายกัน จึงนำมาตรา 649 มาบังคับหาได้ไม่ ต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 สัญญาจำนองระบุเพียงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของจำเลยที่ 1 แม้ขณะทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งค่าผลิตภัณฑ์ขวดแก้วและค่าลังไม้ แต่เมื่อไม่ได้ระบุในสัญญาจำนองว่าเป็นการประกันการชำระหนี้ค่าลังไม้ด้วย และเป็นที่เห็นได้ชัดว่าลังไม้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ทำสัญญาจำนองประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งหรือเกี่ยวข้องอะไรกับจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจตนาของคู่สัญญาจำนองยังเป็นที่สงสัยอยู่จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายจะต้องเสียเปรียบในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 11 ตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วจากโจทก์ในวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองระบุเพียงว่าผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ขวดแก้วของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ระบุในสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ การจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้รายเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้จำนองหนี้รายนี้ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3ผู้จำนองหนี้ดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้อุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 3ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247