การบอกล้างโมฆียะกรรม และ การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม

มาตรา 175 โมฆียะกรรม นั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
(1) ผู้แทนโดย ชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทน โดยชอบธรรม
(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์
(3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือ ถูกข่มขู่
(4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม มาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

มาตรา 176 โมฆียะกรรม เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม

มาตรา 177 ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใด ได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก

มาตรา 178 การบอกล้างหรือให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ย่อมกระทำได้โดยการแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวกำหนดได้แน่นอน

มาตรา 179 การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี
ทายาทของบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้นับแต่เวลาที่ผู้ทำนิติกรรมนั้นถึงแก่ความตาย เว้นแต่สิทธิที่จะบอกล้างโมฆียะกรรมของผู้ตายนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ ถ้าการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมกระทำโดยผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์

มาตรา 180 ภายหลังเวลาอันพึงให้สัตยาบันได้ตามมาตรา 179 ถ้ามีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมโดยการกระทำของบุคคลซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ถ้ามิได้สงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใดให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
(1) ได้ปฏิบัติการชำระหนี้แล้วทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
(2) ได้มีการเรียกให้ชำระหนี้นั้นแล้ว
(3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4) ได้มีการให้ประกันเพื่อหนี้นั้น
(5) ได้มีการโอนสิทธิหรือความรับผิดทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
(6) ได้มีการกระทำอย่างอื่นอันแสดงได้ว่าเป็นการให้สัตยาบัน

มาตรา 181 โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2553
ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระบุว่า โครงการคิดถึงคอนโดมิเนียมเป็นอาคารชุดตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 380 ตารางวา แต่ความจริงโฉนดที่ดินมีเนื้อที่เพียง 200 ตารางวา จึงเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขในสัญญา ส่วนที่จอดรถของอาคารชุดไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่าจะมีที่ จอดรถได้กี่คันและตามแผ่นพิมพ์โฆษณาอาคารชุดก็ไม่ได้ระบุจำนวนรถยนต์ที่จะ จอดได้ไว้เช่นเดียวกัน ที่จอดรถจำนวน 17 คัน คงปรากฏอยู่ในคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นต่อเทศบาลตำบลแสนสุขเท่านั้น ความจริงอาคารชุดมีที่จอดรถได้เพียง 6 คัน จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ขออนุญาตไว้ต่อเทศบาลตำบลแสนสุข ซึ่งทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้ดำเนินคดีในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นหรือโฆษณาที่ให้ไว้แก่ผู้จะซื้อ อีกทั้งอาคารชุดของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับของการจัดบริเวณที่จอดรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ.2517) จะถือว่าโจทก์และ ด. สำคัญผิดในข้อนี้ไม่ได้
การผิดเงื่อนไขในเนื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นไปตาม สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่เป็นสาระสำคัญแห่งการทำสัญญาจะซื้อจะขายอันจะ เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมิใช่ที่ดิน ห้องชุดจึงเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขาย การผิดเงื่อนไขในจำนวนเนื้อที่ดินจึงเป็นเพียงการสำคัญผิดในคุณสมบัติของ อาคารชุดอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งจะต้องบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือภายในเวลา 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 สัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550
การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8612/2550
แม้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จะให้สิทธิผู้รับประกันภัยบอกล้างโมฆียะกรรมได้แต่สัญญาประกันชีวิตเป็น นิติกรรมสองฝ่าย การบอกล้างโมฆียะกรรมต้องแสดงเจตนาแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่ มีตัวกำหนดได้แน่นอนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 เมื่อจำเลยต้องการบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาประกันชีวิตย่อมต้องแสดงเจตนาแก่ โจทก์ทั้งสามผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่าย มิใช่เพียงแสดงหลักฐานฝ่ายเดียวว่าตนได้ใช้สิทธิบอกล้างแล้ว การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙ คดีนี้จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปถึงโจทก์ทั้งสามที่จังหวัดพิจิตรทางไปรษณีย์ อันเป็นการแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทาง การบอกล้างโมฆียะกรรมย่อมมีผลนับแต่เวลาที่หนังสือไปถึงโจทก์ทั้งสาม เมื่อนับจากวันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่การแสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมมีผลในวันที่ 7 หรือ 8 กันยายน 2540 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2549
จำเลย ที่ 1 หลอกลวงโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและ หนังสือสัญญาจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆียะ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตามมาตรา 175 และการที่โจทก์ฟ้องคดีถือได้ว่าเป็นการบอกล้างแล้ว นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 176

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2546
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแต่ให้ ผ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้จำเลยที่ 1 จะหลอกลวงกลฉ้อฉลโจทก์และ ผ. จนโจทก์และ ผ. ตกลงทำสัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ และโจทก์บอกล้างแล้วก็ตามแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน การที่ภายหลังโจทก์ไปขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ในขณะที่ยังไม่ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามสัญญา และจำเลยที่ 2ไม่ยอมให้โจทก์ไถ่ถอน โจทก์ก็ไม่อาจยกเอาเหตุกลฉ้อฉลต่อโจทก์และ ผ. อันทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะที่โจทก์ได้บอกล้างแล้วขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและได้ที่ดินพิพาทมาโดยมีค่าตอบแทนก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ประกอบมาตรา 1329

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2545
แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่า ซื้อขายราคา 2,000,000 บาท โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงข้อสัญญาแท้จริงได้เพราะในทางปฏิบัติคู่สัญญาซื้อขายที่ดินมักจะแจ้งราคาที่ซื้อขายกันตามราคาประเมิน เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน กรณีดังกล่าวมิใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายโดยอ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวง

จำเลยที่ 1 วางแผนหลอกลวงโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นโดยมิได้เจตนาจะซื้อที่ดินพิพาทอย่างแท้จริง เพียงแต่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาชำระราคาที่ดินและใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดถ้ามิได้ปกปิดข้อเท็จจริงเช่นนั้น การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทก็คงมิได้เกิดขึ้น การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องการทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินอันเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในทันทีที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองโดยแจ้งหลักฐานที่อยู่ของตนเองไม่ตรงตามความเป็นจริง ย่อมเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการอันไม่ถูกต้องชอบธรรม กรณีของจำเลยที่ 2 จึงเข้าข่ายของบุคคลภายนอกผู้ได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริต การบอกล้างโมฆียะของโจทก์ทั้งสองเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2545
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอ้างว่าได้จดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้า มิได้มีเจตนาจะอยู่กินเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริง ทั้งไม่เคยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด เหตุที่จดทะเบียนสมรสกันเนื่องจากเชื่อตามหมอดูทำนายเท่านั้น แต่ผู้ร้องทั้งสองมิได้นำพยานอื่นเข้าสืบประกอบว่าตนมิได้อยู่กินฉันสามีภริยากันจริง และมิได้ส่งสำเนาทะเบียนบ้านว่ามิได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ร้องทั้งสองยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 3 ปีเศษ จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ พฤติการณ์ที่นำสืบเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 แล้วไม่มีเหตุที่จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสของผู้ร้องทั้งสองตกเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2545
โจทก์กรอกคำตอบในใบคำขอเอาประกันชีวิตโจทก์ ว่าไม่เคยเป็นหรือทราบว่าเป็นหรือเคยได้รับคำแนะนำหรือการรักษาโรคมะเร็งเนื้องอกตุ่มเนื้อหรืออวัยวะใด ๆ ที่งอกหรือโตขึ้นผิดปกติ ไม่เคยมีอาการผิดปกติที่เต้านมมาก่อน แต่ปรากฏว่าโจทก์เคยเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดบริเวณเต้านม ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อที่เต้านมด้านซ้ายเมื่อโจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบซึ่งหากจำเลยทราบอาจเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต การกระทำของโจทก์มีผลให้สัญญาประกันชีวิตและสัญญาพิเศษเพิ่มเติมตกเป็นโมฆียะ ตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง

จำเลยได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ปกปิดไว้อันเป็นมูลที่จำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้อย่างเร็วที่สุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2538เมื่อโจทก์เรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลย จำเลยปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้เพราะโจทก์ปิดบังการป่วยเป็นโรคของโจทก์ก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัย ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำบันทึกต่อนายทะเบียนกรมการประกันภัย ระบุว่าโจทก์ไปยื่นเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ารักษาการผ่าตัดแต่จำเลยปฏิเสธการจ่าย ต่อจากนั้นจำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมลงวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2538 ไปยังจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง สัญญาประกันชีวิตในส่วนสัญญาเพิ่มเติมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ในส่วนการรักษาก้อนเนื้อที่เต้านมข้างซ้ายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2545
จำเลยเป็นบริษัทรับประกันชีวิตแก่ประชาชนทั่วไปจึงมีผู้เอาประกันภัยกับจำเลยเป็นจำนวนมาก โดยโจทก์นำสืบว่าการที่จำเลยปฏิเสธใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ พ. ผู้ร้องโดยอ้างอาการอ่อนเพลียของผู้เอาประกันภัยซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช่เพียงผู้ร้องรายเดียวที่ประสบกับเหตุลักษณะนี้ แต่คาดว่ายังมีประชาชนผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกจำนวนมากที่ประสบกับเหตุลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ทั้งจำเลยก็รับว่าไม่มีระเบียบกำหนดให้อาการน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคต้องห้ามที่จะไม่รับประกันภัย ดังนั้น ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรดำเนินคดีแทน พ. ผู้บริโภค จึงมอบหมายให้โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลย จึงเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 10(7) และมาตรา 39 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย

ก่อนที่ ป. จะยื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลย ป. เคยเข้ารับการรักษาและนอนพักในโรงพยาบาลหลายครั้งด้วยอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เพราะเหตุน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ ป. ก็มิได้แถลงข้อความจริงในเรื่องดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วไม่ถือว่าการมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไฮโปโกซีเมียเป็นโรคติดต่อเพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไปที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หากรับประทานอาหารเข้าไปก็จะหายโดยไม่ต้องใช้ยา แม้จำเลยจะอ้างว่าการมีน้ำตาลในเลือดต่ำอาจมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราด้วยก็ตาม แต่หากดื่มสุราและยังรับประทานอาหารตรงเวลาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำคงไม่เกิดขึ้นทั้งจำเลยก็ไม่มีระเบียบว่า ผู้เอาประกันภัยที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นโรคต้องห้ามมิให้ทำสัญญาประกันชีวิต ได้ความว่าก่อนรับทำสัญญาประกันชีวิต จำเลยได้จัดให้แพทย์ทำการตรวจสุขภาพของ ป. แล้ว ซึ่งปรากฏว่า ป. มีสุขภาพแข็งแรง ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าอาการน้ำตาลในเลือดต่ำของ ป. เกิดจากการดื่มสุราจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฉะนั้นที่ ป. ไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้จำเลยทราบจึงไม่อาจอนุมานเอาได้ว่า ถ้าได้เปิดเผยข้อความจริงเช่นนั้นจะจูงใจให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาอันจะทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาได้ เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย เนื่องจากอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ โดยมิได้ทำผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ พ. ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2545
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่จำเลย หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นโมฆียะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2545
ผู้เอาประกันชีวิตทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย โดยทราบอยู่แล้วว่าตนเป็นโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวเพราะอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้แก่ตน สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่งและเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมไปยังโจทก์ในฐานะผู้รับผลประโยชน์แล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2544
จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสนอขายอาคาร 5 ชั้นพร้อมที่จอดรถใต้ดิน แต่ไปยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อสำนักงานเขตประเวศ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับโจทก์ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่จำเลยยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้ จำเลยได้ทำบันทึกการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทฯ รับทราบว่าอาคารพิพาทที่จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน แต่จำเลยยังมีความประสงค์จะก่อสร้างโดยจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทมีราคาสูงถึง 15,000,000 บาท หากโจทก์ทราบหรือแม้แต่เพียงสงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมจะไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการถูกเวนคืนนั้นไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้นล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของจำเลยซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์ก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ประกอบด้วยมาตรา 162 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2543
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าจะชำระราคาที่ดินพิพาทด้วยเงินสด และจำเลยที่ 1 มีฐานะดี เช็คที่นาย ย. พวกของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายก็จะเรียกเก็บเงินได้ หากจำเลยที่ 1 กับพวกไม่หลอกลวงเช่นนี้โจทก์จะไม่ทำสัญญาซื้อขายด้วย ดังนี้ การแสดงเจตนาขายที่ดินพิพาทของโจทก์ถือได้ว่าเกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉล ทำให้นิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนย่อมมีผลเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม ทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทโดยการรับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามสัญญาขายฝากขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้บอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลหาได้ไม่ นิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2542
การบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาอ้างว่าถูกข่มขู่ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2541
ในขณะทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์ไม่รู้ว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทดังกล่าวอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะถูกเวนคืน ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริง โจทก์คงจะไม่ทำสัญญาเช่าดังกล่าวกับจำเลย เพราะโจทก์ไม่สามารถจะดำเนินกิจการร้านค้าบนที่ดินและตึกแถวพิพาทจนถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรตามความตั้งใจได้ การที่โจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่เช่าซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ การแสดงเจตนาทำสัญญาเช่าของโจทก์จึงเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปยังจำเลย การอันเป็นโมฆียะกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 จำเลยต้องคืนเงินตามสัญญาเช่าที่ได้รับไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2541
โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า การทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายเงินลงวันที่วันเดียวกับที่จดทะเบียนขายเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินแก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อโจทก์นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พร้อมทั้งระบุว่าจำเลยที่ 1 ไม่คิดจะชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์และเจตนาตั้งใจจะโกงโจทก์มาตั้งแต่ต้น และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2ทันที โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่า การแสดงเจตนาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็ตามแต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจว่า โจทก์ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1เกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 โกงหรือใช้อุบายหลอกลวงโจทก์โดยปกปิดความจริงมาตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยเจตนาไม่ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์พร้อมทั้งจัดการติดต่อขายฝากที่ดินดังกล่าวที่ซื้อจากโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันจดทะเบียนขายข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ปกปิดนี้ล้วนเป็นสาระสำคัญในคุณสมบัติของจำเลยที่ 1 และถึงขนาดที่ถ้ามิได้มีการปกปิดเช่นนั้น การทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวนั้นก็คงจะมิได้กระทำทำขึ้นฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องการทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นโมฆียะ ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว

เมื่อกรณีเป็นทั้งการโต้แย้งสิทธิการทำนิติกรรมและการผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเลือกฟ้องกรณีใดกรณีหนึ่งก็ได้ตามหลักของโมฆียะกรรม ถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำนิติกรรมเพื่อให้เพิกถอนนิติกรรม ถือว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมนั้น แต่ถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายเพื่อให้ใช้ราคาที่ดินดังกล่าวตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันโมฆียะกรรมนั้น มิใช่โจทก์ตั้งรูปประเด็นฟ้องผิดจากข้อเท็จจริงตามฟ้อง

แม้การซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม แต่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 455 เป็นบทบัญญัติที่ระบุถึงสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์มีความหมายเกี่ยวโยงไปถึงในเรื่องการให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 454 ส่วนมาตรา456 เป็นเรื่องแบบการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องทำตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 456 ถ้าไม่ทำตามแบบเป็นโมฆะ และแม้จะทำตามแบบตามมาตรา 456 ก็ยังถือไม่ได้ว่าการซื้อขายสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมาตรา 456 มิได้บัญญัติไว้เช่นนั้น แต่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การซื้อขายดังกล่าวจะสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ว่าด้วยนิติกรรม

โจทก์บรรยายฟ้องว่าในการขายฝากที่ดินแปลงพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบกันโดยเจตนาไม่สุจริต เมื่อเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับซื้อฝากที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายอันเป็นโมฆียะโดยจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริตนั้น ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2541
รถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์เป็นรถยนต์เก่าแต่มีสภาพพอใช้ได้ และจำเลยได้ตรวจดูสภาพรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้วและจำเลยได้รับมอบรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นคันเดียวกันกับที่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ กรณีจึงมิใช่เป็นการสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะส่วนการที่จำเลยมาตรวจสอบภายหลังพบว่า หมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีการปลอมแปลง ไม่ตรงกับหมายเลขทะเบียนตามใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์คันที่เช่าซื้อเป็นเพียงความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญอันทำให้นิติกรรมการเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157เ มื่อจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยผู้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ในสภาพใช้การได้ดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7154/2539
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยโดยทราบมาก่อนว่าตนเป็นโรคหอบหืดประจำตัวแต่ไม่ได้เปิดเผยข้อความจริงนี้ให้จำเลยทราบซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นก่อนทำสัญญาหรือไม่รับประกันชีวิตของผู้ตายสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะจำเลยมีสิทธิบอกล้างได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายเพราะเหตุใดดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายเพราะหกล้มศีรษะฟาดพื้นเป็นเหตุให้เลือดออกในสมองจำเลยจึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันต่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้และย่อมมีผลให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ สัญญาประกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันอุบัติเหตุเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตเมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะเพราะจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมเสียแล้วสัญญาประกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุบัติเหตุย่อมตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2538
การขอใบสำคัญเพื่อแสดงว่าคำพิพากษาในคดีใดได้ถึงที่สุดแล้วต้องเป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกากันอีกทั้งคดี แม้โจทก์จำเลยจะมิได้โต้แย้ง คัดค้านคำพิพากษาในส่วนที่ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยก็ตามแต่การที่โจทก์ยังคงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายและดอกเบี้ยต่อมา ไม่อาจทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องจึงถือไม่ได้ว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษานั้นได้ถึงที่สุดแล้วไม่ได้ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย ศาลจึงพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยด้วยไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลยมิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้หรือใช้สิทธิเลิกสัญญาอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคท้าย และมาตรา 391 วรรคท้าย เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างแล้วถือได้ว่าตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้ทำนิติกรรมต่อกันมาแต่ต้น และทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 138 วรรคท้าย เดิม ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้มีการได้รับค่าเสียหายชดใช้แทนก็แต่เฉพาะกรณีที่การจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นการพ้นวิสัยเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2538
โจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการขาดเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆียะตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 (เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 (เดิม) เมื่อจำเลยได้บอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 (เดิม) แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7039/2538
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย โดยอ้างว่านิติกรรมซื้อที่ดินและเรือนพิพาทเป็นโมฆียะกรรมต้องบอกล้างภายใน 10 ปีเท่านั้น ศาลฎีกาจึงนำบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องโมฆียะกรรมเท่านั้นมาปรับแก่คดีจะนำอายุความคดีฟ้องเรียกมรดกมาปรับไม่ได้ ส่วนอายุความทั่วไปก็มีกำหนด 10 ปี เท่ากับอายุความบอกล้างโมฆียะกรรมอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมาปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2538
จำเลยไม่ได้ให้การว่าได้บอกล้าง โมฆียะกรรมภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้วการนำสืบของจำเลยที่ว่าได้บอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ก่อนวันที่พากันไปโอนที่ดินพิพาทตาม สัญญาจะซื้อจะขายที่เป็นโมฆียะที่สำนักงานที่ดินจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้ในวันนัดจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ได้เพราะภรรยาจำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนครึ่งหนึ่งแต่แสดงว่าจำเลยตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม สัญญาจะซื้อจะขายตลอดมาซึ่งเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุที่เป็นโมฆียะกรรมได้สูญสิ้นไปโดยมิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมแล้วโดยปริยายและแม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีโดยถือว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแต่เมื่อจำเลยได้ให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงไม่อาจ บอกล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2538
จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยจำเลยรู้อยู่ก่อนว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตอาหารกระป๋องและรู้ว่าที่ดินพิพาทจะถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อขุดคลองชลประทานแต่ก็ไม่แจ้งความจริงให้โจทก์ทราบเป็นการที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะเมื่อโจทก์ได้ไปทวงเงินคืนจากจำเลยถือว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่แรกคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามที่ระบุในสัญญาว่าหากจำเลยผิดสัญญาแล้วจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งได้เพราะเป็นการขอให้บังคับตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2538
คำว่า"มูลอันจะบอกล้างได้" ตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง คือ ข้อความในวรรคแรกที่ว่า "ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตก็ดีบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดีรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญาหรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ" จำเลยทราบว่าผู้ตายเป็นมะเร็งภายหลังจากทำสัญญาประกันชีวิตมิใช่เป็นก่อนหรือขณะทำสัญญากรณียังไม่ทราบมูลที่จะบอกล้างกำหนดระยะเวลาบอกล้างหนึ่งเดือนตามมาตรา 865 วรรคสอง จึงยังไม่เริ่มนับต่อมาจำเลยได้รับรายงานในวันที่ 3 ธันวาคม 2528 ว่าผู้ตายน่าจะเป็นมะเร็งมาก่อนทำสัญญาแต่ปกปิดไว้จึงเป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้วเมื่อจำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมไปยังโจทก์ในวันที่ 23 และ 24 ธันวาคม 2528 จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนตามมาตรา 865 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2537
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยแล้ว แม้ยังมิได้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา คดีก็ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ ช. เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ คำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ ช.ทายาทของโจทก์เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะได้ ระยะเวลาบอกล้างโมฆียะกรรมไม่ใช่อายุความ จึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191(เดิม) ที่จะย่นเข้าไม่ได้ เมื่อจำเลยผู้รับประกันชีวิตสมัครใจยอมลดระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะกรรมจากกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 865 วรรคสอง ลงมาเป็นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น ตามคำร้องขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตมีข้อความว่าหลังจากครบ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยอนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตจำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือบอกเลิกข้อผูกพันในกรมธรรม์ฉบับนี้แต่ประการใด ซึ่งข้อความดังกล่าวผูกพันจำเลย เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้อนุมัติให้ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน2527 จำเลยจึงต้องบอกล้างเสียในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ฉะนั้นเมื่อจำเลยเพิ่งบอกล้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 จึงเป็นการมิได้บอกล้างโมฆียะกรรมเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน2527 จำเลยจึงต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2398/2535
ค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ชำระตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป มิใช่ว่าหากไม่ชำระค่าอ้างเอกสารทันทีแล้วจะรับฟังเอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ ผู้อ้างเอกสารย่อมมีโอกาสเสียค่าอ้างเอกสารได้เสมอ ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าอ้างเอกสารหลังจากจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ นิติกรรมที่จำเลยโอนที่พิพาทตีใช้หนี้เงินยืมให้โจทก์เกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์เป็นโมฆียะ แต่ ป. สามีจำเลยไม่ใช่ผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดย วิปริตหรือเป็นบุคคลที่กฎหมายให้บอกล้างโมฆียะกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 การที่ป. มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งได้รับการยกให้มาจากบิดาก่อนทำการสมรสกับ ป. จำเลยจึงมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวได้โดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี นิติกรรมโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ให้โจทก์ย่อมสมบูรณ์ แม้ไม่ได้รับความยินยอมจาก ป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2534
การที่ศาลจะสั่งงดสืบพยานของคู่ความเป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ ดุลพินิจแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ในสำนวนจากคำฟ้องและคำให้การพอวินิจฉัยได้แล้ว แม้จะสืบพยานต่อไปก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีอำนาจที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยเสียได้ การบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 140 ย่อมทำได้ด้วยแสดงเจตนาต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่จำเลยไม่ได้เรียก ก.เข้ามาเป็นจำเลยร่วม หากนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยกับ ก.จะเป็นโมฆียะกรรม คำให้การของจำเลยก็ไม่มีผลเป็นการบอกล้างนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยกับ ก. อายุความตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 เป็นกรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม มาตรา 237 แต่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล จะนำมาตรา 240 มาปรับแก่คดีหาได้ไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2541
เมื่อกรณีเป็นทั้งการโต้แย้งสิทธิการทำนิติกรรมและการผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเลือกฟ้องกรณีใดกรณีหนึ่งก็ได้ตามหลักของโมฆียะกรรม ถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการทำนิติกรรมเพื่อให้เพิกถอนนิติกรรม ถือว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมนั้น แต่ถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายเพื่อให้ใช้ราคาที่ดินดังกล่าวตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันโมฆียะกรรมนั้น