การนับระยะเวลา

มาตรา ๑๙๓/๑  การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๙๓/๒  การคำนวณระยะเวลา ให้คำนวณเป็นวัน แต่ถ้ากำหนดเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ก็ให้คำนวณตามหน่วยเวลาที่กำหนดนั้น


มาตรา ๑๙๓/๓  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวันให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น


ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี


มาตรา ๑๙๓/๔  ในทางคดีความ ในทางราชการ หรือทางธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม วัน หมายความว่า เวลาทำการตามที่ได้กำหนดขึ้นโดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี


มาตรา ๑๙๓/๕  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือนหรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน


ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา


มาตรา ๑๙๓/๖  ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน ให้นับจำนวนเดือนเต็มก่อน แล้วจึงนับจำนวนวันหรือส่วนของเดือนเป็นวัน


ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นส่วนของปี ให้คำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อนหากมีส่วนของเดือน ให้นับส่วนของเดือนเป็นวัน


การคำนวณส่วนของเดือนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมีสามสิบวัน


มาตรา ๑๙๓/๗  ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น


มาตรา ๑๙๓/๘  ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2562

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาภายใน 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันขึ้นปีใหม่อันเป็นวันหยุดราชการ วันที่ 2 และ 3 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันจันทร์และวันอังคารก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาในวันที่ 4 มกราคม 2560ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา การที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยได้ จำเลยจะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่ตามคำร้องจำเลยอ้างเพียงว่า จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ขอคัดถ่ายไว้ ทำให้ไม่อาจทำฎีกายื่นได้ทันภายในกำหนด อันเป็นการอ้างถึงพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปเท่านั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ก่อนสิ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อขอขยายระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วไม่ จึงไม่อาจขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2560

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดยมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" เมื่อโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 โจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง ดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2560

พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องเริ่มนับวันที่ปิดประกาศคำสั่งเป็นวันแรกของการนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6328/2559

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลา อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในงานนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวันที่ 5 สิงหาคม 2553 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โดยการนับระยะเวลานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นคือวันที่ 5 สิงหาคม 2553 รวมเข้าด้วยกัน จึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 90 วัน โดยนับวันที่ 6 สิงหาคม 2553 เป็นวันแรก ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 จึงเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2559

ป.พ.พ. บรรพ 1 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 (เดิม) คือไม่นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีนับอายุบุคคลเป็นไปตาม ป.พ.พ. ที่บังคับใช้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ต่อมา พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 1 และบรรพ 3 โดย (3) ให้ใช้บทบัญญัติท้าย พ.ร.บ.นี้เป็นบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งมาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า "การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด" คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0025/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วให้นับอายุของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันกล่าวคือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิด


เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติการนับอายุบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามมาตรา 16 (ใหม่) การเปลี่ยนแปลงการนับวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นจากกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมตามข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ด้วย วิธีการนับอายุของบุคคลที่ปลี่ยนไปด้วยผลของกฏหมาย แม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์ พ.ศ.2543


โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 (ใหม่) อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตราฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (3), 11 และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2558

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ครบกำหนดที่คู่ความต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 แต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด การนับเวลาที่ขยายออกไปต้องเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/7 จึงครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว และเมื่อตามคำร้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง จนกระทั่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน เป็นเหตุให้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6057/2558

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงงดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว จึงครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 23 ตุลาคม 2557 อันเป็นวันหยุดราชการ ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2557 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต กรณีจึงต้องเริ่มนับกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาต่อจากวันที่ 23 ตุลาคม 2557 โดยเริ่มนับวันถัดไปเป็นวันแรกคือวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/7 และครบ 30 วัน ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 อันเป็นวันเสาร์หยุดราชการ ต่อมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต กรณีจึงต้องเริ่มนับกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาต่อจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 โดยเริ่มนับวันถัดไปเป็นวันแรกคือวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการก็ตาม และครบ 30 วัน ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันจันทร์อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะมีสิทธิยื่นฎีกาตามกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 จึงพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16966 - 17658/2556

แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมยังไม่สิ้นสุดลง แต่เมื่อสหภาพแรงงาน บ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยลงวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังจึงมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สหภาพแรงงาน บ. และจำเลยได้ตกลงกันเป็นเวลา 1 ปี ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นของวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับให้ฝ่ายสหภาพแรงงาน บ. และฝ่ายจำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงปิดงานในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2556

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 หลังจากนั้น วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้โจทก์ฟัง โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดที่โจทก์สามารถยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลายื่นฎีกาจึงสิ้นสุดลงวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันสิ้นกำหนดระยะเวลาฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าคำพิพากษาได้ถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10398/2555

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้านับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ครบกำหนดสองปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาและเป็นวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา และอายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำต้องนำสืบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2554

ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม อายุความจึงเริ่มนับเมื่อทวงถามปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามว่า บริษัท อ. ผู้รับเงินแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้ จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่โจทก์และจำเลยต่างไม่นำสืบว่าจำเลยได้รับหนังสือเมื่อไร เมื่อหนังสือทวงถามดังกล่าวลงวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 25 เมษายน 2540 เริ่มนับ 30 วันตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2540 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ครบกำหนด 30 วันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ไปเป็นเวลา 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 ครบกำหนด 3 ปีในวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เกินกว่า 3 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2553

ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 1 มิถุนายน 2542 การนับอายุความต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และเมื่อวันเริ่มต้นนับระยะเวลาเป็นวันที่ 2 มิถุนายน 2542 กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง ที่คำนวณเดือนตามปีปฏิทิน เมื่อระยะเวลามิได้กำหนดนับตั้งแต่วันต้นแห่งเดือน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ที่ให้ถือระยะเวลาสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น เมื่อวันเริ่มระยะเวลาคือวันที่ 2 มิถุนายน 2542 ระยะเวลาสิ้นสุดลงก่อนหน้าวันจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคือวันที่ 1 กันยายน 2542 ที่จำเลยอ้างว่าคดีครบกำหนดอายุความวันที่ 31 สิงหาคม 2542 จึงหาถูกต้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8872/2550

พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง หมายความว่า ข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นในกรณีทั่วไปต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการประกาศข้อบัญญัตินั้นไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วจนครบกำหนด 15 วัน จึงจะมีผลใช้บังคับได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าในกรณีฉุกเฉินหากข้อบัญญัติที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราขึ้นโดยมีข้อความระบุให้ใช้บังคับได้ทันทีและได้รับการอนุมัติข้อบัญญัตินั้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็มีผลใช้บังคับได้ในวันที่มีการประกาศ ทั้งนี้ไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 กำหนดวิธีการนับวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาประกาศข้อบัญญัติในกรณีทั่วไปไว้ด้วย ทั้งข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การเก็บภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2542 มิใช่ข้อบัญญัติที่ตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินจึงต้องคำนวณระยะเวลาการปิดประกาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลาที่ประกาศรวมเข้าด้วยเมื่อมีการประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน 2542 จึงเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2542 ซึ่งจะครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2542 และข้อบัญญัติที่ประกาศนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันถัดไปคือวันที่ 2 พฤษภาคม 2542


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2559

ป.พ.พ. บรรพ 1 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 (เดิม) คือไม่นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีนับอายุบุคคลเป็นไปตาม ป.พ.พ. ที่บังคับใช้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ต่อมา พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 1 และบรรพ 3 โดย (3) ให้ใช้บทบัญญัติท้าย พ.ร.บ.นี้เป็นบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งมาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า "การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด" คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0025/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วให้นับอายุของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันกล่าวคือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิด


เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติการนับอายุบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามมาตรา 16 (ใหม่) การเปลี่ยนแปลงการนับวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นจากกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมตามข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ด้วย วิธีการนับอายุของบุคคลที่ปลี่ยนไปด้วยผลของกฏหมาย แม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์ พ.ศ.2543


โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 (ใหม่) อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตราฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (3), 11 และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16966 - 17658/2556

แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมยังไม่สิ้นสุดลง แต่เมื่อสหภาพแรงงาน บ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยลงวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังจึงมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สหภาพแรงงาน บ. และจำเลยได้ตกลงกันเป็นเวลา 1 ปี ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง และครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นของวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับให้ฝ่ายสหภาพแรงงาน บ. และฝ่ายจำเลยต้องปฏิบัติตาม จำเลยจึงปิดงานในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2556

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 หลังจากนั้น วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้โจทก์ฟัง โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดที่โจทก์สามารถยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลายื่นฎีกาจึงสิ้นสุดลงวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันสิ้นกำหนดระยะเวลาฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าคำพิพากษาได้ถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10398/2555

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยลงชื่อรับสินค้าตามใบส่งของ การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาต่างตอบแทนที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าสินค้านับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบจึงมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ครบกำหนดสองปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาและเป็นวันหยุดราชการประจำปี ศาลหยุดทำการ แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา และอายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. ตั้งแต่มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไป ศาลรู้ได้เองและหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ คู่ความไม่จำต้องนำสืบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2553

จำเลยนำเงินเข้าบัญชีโจทก์ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 อันเป็นวันเปิดทำการวันแรกทันที ซึ่งการนับระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ดังนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอ้างว่าธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้ และแม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ในงวดที่สามและที่สี่จำเลยยังคงนำเงินเข้าบัญชีโจทก์เกินกำหนด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง ไม่ทำให้การออกหมายบังคับคดีที่ไม่ชอบกลับกลายเป็นหมายบังคับคดีที่ถูกต้องตามกฎหมายไปได้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552

ป.พ.พ. มาตรา 16 บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/5 คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ 5 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 และ 317


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2552

โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และเป็นวันเข้าพรรษาอันเป็นวันหยุดราชการ และวันที่ 2 สิงหาคม 2547 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ก็เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันเข้าพรรษา โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14517/2558 

การนับระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ต้องนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลสุดท้าย มิใช่นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัด ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้นเกิน 10 ปีแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2554 

โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. จากมูลหนี้สัญญากู้เงินระยะสั้น หาใช่ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเงินกู้แต่อย่างใดไม่โดยโจทก์มีเพียงภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินแนบมาท้ายฟ้องเท่านั้น ไม่มีสัญญากู้เงินมาแนบด้วย และไม่อาจถือได้ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานการกู้เงิน เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงิน เป็นเอกสารคนละประเภทกับสัญญากู้เงิน ทั้งเมื่อโจทก์นำสืบก็ไม่มีสัญญากู้เงินระยะสั้นมาอ้างเป็นพยานด้วย มีเพียงตั๋วสัญญาใช้เงินมาอ้างเป็นพยานเท่านั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแต่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงต้องนำอายุความตั๋วสัญญาใช้เงินมาบังคับใช้ ไม่ใช่อายุความตามสัญญากู้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม อายุความจึงเริ่มนับเมื่อทวงถามปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามว่า บริษัท อ. ผู้รับเงินแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้ จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่โจทก์และจำเลยต่างไม่นำสืบว่าจำเลยได้รับหนังสือเมื่อไร เมื่อหนังสือทวงถามดังกล่าวลงวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 25 เมษายน 2540 เริ่มนับ 30 วันตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2540 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ครบกำหนด 30 วันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ไปเป็นเวลา 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 ครบกำหนด 3 ปีในวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เกินกว่า 3 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2553 

ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 1 มิถุนายน 2542 การนับอายุความต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ที่มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และเมื่อวันเริ่มต้นนับระยะเวลาเป็นวันที่ 2 มิถุนายน 2542 กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคหนึ่ง ที่คำนวณเดือนตามปีปฏิทิน เมื่อระยะเวลามิได้กำหนดนับตั้งแต่วันต้นแห่งเดือน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/5 วรรคสอง ที่ให้ถือระยะเวลาสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น เมื่อวันเริ่มระยะเวลาคือวันที่ 2 มิถุนายน 2542 ระยะเวลาสิ้นสุดลงก่อนหน้าวันจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคือวันที่ 1 กันยายน 2542 ที่จำเลยอ้างว่าคดีครบกำหนดอายุความวันที่ 31 สิงหาคม 2542 จึงหาถูกต้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2553

แม้ภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคดีหนึ่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวอายัดซ้ำกับคดีของโจทก์ เป็นการดำเนินการในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำร้องในคดีนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองในฐานะที่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวมิใช่การดำเนินการในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หรือเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม


จำเลยนำเงินเข้าบัญชีโจทก์ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 อันเป็นวันเปิดทำการวันแรกทันที ซึ่งการนับระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 บัญญัติว่า ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ดังนั้น การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทันทีในวันแรกที่เปิดทำการจึงไม่ถือว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ล่วงพ้นกำหนดและตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจึงเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์จะอ้างว่าธนาคารเปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์ ไม่อาจเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายได้ และแม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า ในงวดที่สามและที่สี่จำเลยยังคงนำเงินเข้าบัญชีโจทก์เกินกำหนด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง ไม่ทำให้การออกหมายบังคับคดีที่ไม่ชอบกลับกลายเป็นหมายบังคับคดีที่ถูกต้องตามกฎหมายไปได้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีเหตุที่จะออกหมายบังคับคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2548

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนับระยะเวลาเริ่มต้นต้องนับวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง โดยเริ่มนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้น ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 มิได้เป็นวันต้นแห่งเดือนกำหนดระยะเวลาเป็นเดือนจึงไม่อาจคำนวณตามปีปฏิทินได้ ระยะเวลาสิ้นสุดย่อมเป็นวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลา มิใช่ต้องนับระยะเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มีกำหนด 11 วัน และเดือนมีนาคม 2547 มีกำหนด 19 วัน เป็น 30 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/6 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการนับระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน มิได้กำหนดระยะเวลาเป็นเดือน  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8117/2548

ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทุกวัน และกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือนของโจทก์ทุก ๆ เดือน ทั้งยังระบุให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ทุกวันและกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันปิดบัญชีสิ้นเดือน จึงเป็นไปตามประเพณีของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา อันเป็นการกำหนดการนับระยะเวลาโดยนิติกรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 แม้วันสิ้นเดือนเป็นวันหยุดทำการ โจทก์ก็คิดหักทอนบัญชีเมื่อสิ้นเดือนได้โดยไม่ถือเอาวันเปิดทำการถัดไปเป็นวันปิดบัญชี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2546

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการ วันที่ 24 พฤษภาคม2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันที่เริ่มทำการใหม่ได้ แต่การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปก็ต้องนับต่อจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2542 หากศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาตามที่โจทก์ต้องการเพียง 15 วัน ก็จะครบกำหนดในวันที่ 7 มิถุนายน 2542 มิใช่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 และการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจทั่วไปที่จะอนุญาตขยายให้เท่าใดก็ได้ตามเหตุผลที่เห็นสมควร โดยไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลานั้น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2546

การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่จำเลยกระทำความผิดในคดีหลัง เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 หาใช่เป็นการติดต่อราชการตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 จะต้องไปครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกา อันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง จำเลยกระทำผิดในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 19.45 นาฬิกา จึงบวกโทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2981/2545

ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 5 ธันวาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับแต่วันครบอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอ การนับระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงต้องนับจากวันครบกำหนดระยะเวลาเดิมคือต่อจากวันที่5 โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันที่ 6,7และ 8 ธันวาคม 2541 จะตรงกับวันหยุดทำการหรือไม่เพราะวันดังกล่าวไม่ใช่วันสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 เมื่อเริ่มนับระยะเวลาอุทธรณ์ที่ขอขยายครั้งแรกคือวันที่ 6 ธันวาคม 2541 จะครบกำหนด 20 วัน ในวันที่ 25 ธันวาคม2541 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ 10วัน นับถัดจากวันครบกำหนดที่อนุญาตครั้งแรก การนับระยะเวลาที่ขยายออกไปในครั้งหลังจึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 4 มกราคม 2542 จำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 มกราคม 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นสั่งขยายให้แล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2942/2545

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษ การนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง และจะครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 10 มีนาคม 2544 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 อันเป็นวันเปิดราชการในวันแรกได้ตามมาตรา 193/8 การที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 12มีนาคม 2544 ถือว่าโจทก์นำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้แล้ว 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6756/2544

แม้จำเลยจะเข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2749 ที่จำเลยซื้อมาตั้งแต่ปี 2472 ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่ใช่การครอบครองที่ดินของตนเองอันจะอ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินซึ่งเป็นของโจทก์อันเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น ลักษณะครอบครองของจำเลยแสดงออกโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และการนับระยะเวลาครอบครองนั้นนับตั้งแต่เวลาที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินตลอดมา หาใช่นับแต่วันที่ทำการรังวัดแล้วทราบว่าครอบครองที่ดินสลับแปลงกันไม่ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2540

คำว่า "ลักษณะนี้" ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 ว่าด้วย การนับระยะเวลาคือลักษณะ 5 ของบรรพ 1 ซึ่งว่าด้วยหลักทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะเรื่องนิติกรรม แต่ใช้บังคับในการออกหมายบังคับคดีด้วย แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 273 วรรคสาม จะได้บัญญัติว่า ระยะเวลาในคำบังคับให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับหรือข้อความท้ายคำบังคับที่ระบุให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับก็ไม่อาจถือว่าเป็นข้อยกเว้นที่จะต้องนับระยะเวลาในวันแรกรวมเข้าด้วย ต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันรุ่งขึ้นจากวันปิดคำบังคับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์เพื่อให้เวลาแก่ลูกหนี้ที่จะปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หากยังอยู่ในระยะเวลาดังกล่าวศาลก็จะยังไม่ออกหมายบังคับคดี แม้วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาจะเป็นวันหยุดราชการซึ่งตามปกติธนาคารโจทก์จะหยุดทำการ ทำให้จำเลยไม่สามารถติดต่อกับโจทก์ได้ แต่วันเปิดทำการในวันจันทร์และหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในวันเปิดทำการดังกล่าวแม้จะออกเร็วไป 1 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มิได้ไปดำเนินการบังคับคดีเอาแก่จำเลยในวันที่ออกหมายบังคับคดีแต่ไปดำเนินการบังคับคดีเมื่อกำหนดเวลาตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดี 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2540

จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น โดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์แจ้งจำเลยเช่นนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 การนับระยะเวลา 15 วัน ในกรณีนี้จึงต้องนับตามมาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกันเว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับหนังสือตั้งแต่เวลาใด จึงถือไม่ได้ว่าได้เริ่มการอะไรในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 นั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณีต้องห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย การนับระยะเวลา 15 วัน ตามหนังสือดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่1 ธันวาคม 2535 และครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายใน 15 ธันวาคม 2535 เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามมาตรา 224แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป