ตั๋วเงินปลอม ตั๋วเงินถูกลัก และตั๋วเงินหาย

มาตรา ๑๐๐๖ การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น

มาตรา ๑๐๐๗ ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋ว เงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่ หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มี การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

มาตรา ๑๐๐๘ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม

มาตรา ๑๐๐๙ ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อ ธนาคารใด และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาท เลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใด ๆ ได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

มาตรา ๑๐๑๐ เมื่อผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหายหรือถูกลักทราบเหตุแล้วในทันใดนั้นต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ออกตั๋วเงิน ผู้จ่าย ผู้สมอ้างยามประสงค์ ผู้รับรองเพื่อแก้หน้าและผู้รับอาวัล ตามแต่มี เพื่อให้บอกปัดไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น

มาตรา ๑๐๑๑ ถ้าตั๋วเงินหายไปแต่ก่อนเวลาล่วงเลยกำหนดใช้เงินท่านว่าบุคคลซึ่งได้เป็นผู้ทรงตั๋วเงินนั้นจะร้องขอไปยังผู้สั่งจ่ายให้ ๆ ตั๋วเงินเป็นเนื้อความเดียวกันแก่ตนใหม่อีกฉบับหนึ่งก็ได้ และในการนี้ถ้าเขาประสงค์ก็วางประกันให้ไว้แก่ผู้สั่งจ่าย เพื่อไว้ทดแทนที่เขาหากจะต้องเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในกรณีที่ตั๋วเงินซึ่งว่าหายนั้นจะกลับหาได้

อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายรับคำขอร้องดั่งว่ามานั้นแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉบับเช่นนั้น อาจจะถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2548
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขวันที่ลงในเช็ค ซึ่งถือเป็นข้อสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น เช็คพิพาทเป็นอันเสียเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2546
โจทก์มิได้เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะชั้นล่างภายในบ้านพักเป็นประจำเพราะบาง ครั้งก็วางไว้บนโต๊ะมิได้เก็บเข้าลิ้นชัก และ ย. ผู้เช่าบ้านอยู่ใกล้บ้านโจทก์เคยเข้าออกบ้านโจทก์ ซึ่งมิใช่คนแปลกหน้า การที่ ย. สามารถลักเช็คของโจทก์ไปได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ ย. ซึ่งปลอมลายมือชื่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นั้น เป็นคุณเฉพาะจำเลยที่ 2 หามีผลทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งมีความรับผิดตามกฎหมายต้องหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ ทั้งนี้เพราะผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิตามตั๋วเงินซึ่งลงลายมือชื่อผู้ สั่งจ่ายปลอมมิได้ แม้ผู้นั้นจะมิได้ประมาทเลินเล่อก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2544
ว่า "เนื้อความเดียวกัน" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1011 มิได้หมายความว่าจะต้องมีข้อความเหมือนเดิมทุกประการมิฉะนั้น วรรคสองของมาตราเดียวกันนี้คงไม่บัญญัติว่า หากผู้สั่งจ่ายรับคำขอร้องดั่งว่ามานั้นแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉบับเช่นนั้นอาจจะถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้ ซึ่งการบังคับดังกล่าว เป็นกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล หากจะต้องลงวัน เดือน ปี เหมือนเดิมทุกประการตั๋วเงินอาจขาดอายุความหรือไม่สามารถบังคับด้วยเหตุอื่น กฎหมายมิได้มีเจตนารมณ์เช่นนั้น คำว่าเนื้อความเดียวกัน จึงมีความหมายแต่เพียงว่า จะต้องมีสาระสำคัญใช้บังคับได้เช่นตั๋วเงินฉบับเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2544
การที่ ร. กับพวกร่วมกันปลอมข้อความในช่องผู้รับเงินโดยเพียงขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องผู้ รับเงินแล้วปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของบริษัท ด. กำกับบริเวณที่มีการขีดฆ่าชื่อโจทก์โดยไม่มีตราประทับของบริษัท ด. ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินในเช็คในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ของบริษัท ด. จะต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายของบริษัท ด. ตามที่ระบุไว้พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อมีการนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของเช็คที่นำไปเรียกเก็บเงินจาก จำเลยที่ 1 จึงควรใช้ความระมัดระวังตรวจสอบให้ดีว่า เหตุใดการลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของบริษัท ด. ตรงที่มีการแก้ไขข้อความในช่องผู้รับเงินจึงไม่มีการประทับตราสำคัญของ บริษัทกำกับการแก้ไข และทำการสอบถามผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายถึงเหตุที่ไม่มีการประทับตรา สำคัญของบริษัทกำกับการแก้ไขก่อน เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมต้องมีความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ สั่งจ่ายเช็ค ตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเช็คมากกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป แม้เช็คดังกล่าวจะเป็นเช็คผู้ถือดังที่จำเลยให้การก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบการแก้ไขข้อความในช่องผู้ รับเงินซึ่งไม่มีตราประทับของบริษัท ด. ดังกล่าว เป็นเหตุให้ ร. กับพวกนำเช็คพิพาทที่ปลอมนั้นเข้าฝากในบัญชีของพวก ร. ซึ่งไม่ใช่บัญชีของผู้มีสิทธิรับเงินตามกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงินและจำเลย ที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีของพวกร. ไป เป็นเหตุให้ ร. กับพวกได้รับเงินไปในการกระทำทุจริตดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2541
จำเลยเป็นธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการเอาเงินฝากของผู้ ฝากไปแสวงหาผลประโยชน์จะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ตรวจสอบลายมือชื่อผู้จ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยหรือ ไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญดังกล่าวแต่ อย่างใด การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ขณะที่บัญชีของโจทก์ยังเดินสะพัดอยู่นั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่ามีผู้ปลอมลายมือ ชื่อโจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินหรือเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์มาทราบหลังจากที่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ไปตรวจสอบเช็คต่าง ๆที่มีผู้นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยจึงทราบว่ามีผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมใน เช็คพิพาทดังนี้ การที่โจทก์ยอมรับรองเรื่องหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชี จะถือว่าโจทก์ยอมรับหนี้ตามเช็คพิพาทปลอมด้วยหาได้ไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายจำเลยย่อม ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามมาตรา 1008 วรรคแรก จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมรวม 54 ฉบับ และหักเงินจากบัญชีของโจทก์พร้อมคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่โจทก์ตลอดมา ดังนี้นอกจากต้องคืนเงินตามเช็คทั้ง54 ฉบับ แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2541
มูลละเมิดที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกิดจาก การกระทำประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของ จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ แก่ผู้มีชื่อเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือและขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออกแต่เช็คฉบับดังกล่าวถูกนำไปเรียกเก็บยังธนาคารจำเลยที่ 1 ในบัญชีจำเลยร่วมซึ่งมิใช่ผู้รับเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่าย โดยผิดขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบ แล้วจำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินและเบิกจ่ายเงินตามเช็คไป ส่วนการที่จำเลยร่วม และ น. ได้ร่วมกันนำเช็คของโจทก์หลายฉบับรวมทั้งเช็คที่เป็นมูลละเมิดในคดีนี้ไป เรียกเก็บเงินจากธนาคาร โจทก์จึงได้ดำเนินคดีกับจำเลยร่วมและ น. ฐานฉ้อโกงแล้วต่อมาโจทก์ จำเลยร่วม และ น. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในทางอาญาในความผิดฐาน ฉ้อโกงอันเป็นความผิดอันยอมความได้ เพื่อให้จำเลยร่วมและ น. ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของฝ่ายจำเลยร่วมและ น. หาได้มีผลถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการละเมิด ไม่ เพราะเป็น คนละเรื่องกันโดยแท้ ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่พ้น ความรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7771/2540
จำเลยชำระหนี้เดิมซึ่งเป็นหนี้ค่าซื้อขายผ้าด้วยเช็คซึ่งโจทก์ยอมรับเอาเช็คพิพาท นั้นแทนการชำระหนี้โดยการใช้เงินแต่เมื่อเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนเช็คแทนกันมาตลอดธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคท้ายประกอบการที่มีการเปลี่ยนเช็คพิพาทให้แทนเช็คเดิมซึ่งธนาคารได้ ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการระงับมูลหนี้เดิมจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับ ศ. แก้ไขวันที่สั่งจ่ายซึ่งเป็นสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้ยินยอมด้วย จำเลยกับ ศ.ได้ร่วมกันซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยกับ ศ. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ด้วยเช็คพิพาท จำเลยและศ.มีสิทธิสั่งจ่ายเช็คตามบัญชีที่เปิดร่วมกันได้จึงถือได้ว่าจำเลย ยินยอมให้ศ. เป็นผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแทนจำเลยแล้ว เช็คพิพาทยังคงใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง และแม้จะมีการบังคับคดีแพ่งโดยมีการยึดทรัพย์ของจำเลยกับ ศ. สามีจำเลย แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเพราะยังไม่มีการขายทอดตลาด ทรัพย์ที่ยึดไว้ ยังถือไม่ได้ว่าเช็คพิพาทสิ้นผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงยัง ไม่เกินกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7771/2540
เดิมจำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าผ้าแก่โจทก์ด้วยเช็คหลายฉบับและหลายครั้ง แต่เช็คส่วนใหญ่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงเปลี่ยนเช็คเป็นเช็คพิพาทและเช็คอื่นเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ ให้แก่โจทก์แทน ซึ่งเช็คพิพาทธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นเมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยออกให้แก่โจทก์มีมูลหนี้มาจากจำเลยซื้อสินค้า ผ้ายืดของโจทก์ การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและ บังคับได้ตามกฎหมาย และเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอ จ่ายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว

มูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการซื้อขายสินค้าผ้า และเมื่อจำเลยเพียงแต่ชำระมูลหนี้เดิมด้วยเช็คซึ่งโจทก์ยอมรับเอาเช็คพิพาท นั้นแทนการชำระหนี้โดยการใช้เงิน แต่เมื่อเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่น ๆที่มีการเปลี่ยนเช็คแทนกันมาตลอด ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 321 วรรคท้าย ประกอบกับโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีหลักฐาน เป็นหนังสือ การที่มีการเปลี่ยนเช็คพิพาทให้แทนเช็คเดิมซึ่งธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน แล้วกรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการระงับมูลหนี้เดิม จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับ

เช็คพิพาท แม้จะมีการแก้ไขวันเดือนที่สั่งจ่าย แต่ผู้แก้ไขคือศ.ซึ่งเป็นสามีจำเลย โดยจำเลยกับ ศ.สามีจำเลยได้ร่วมกันซื้อสินค้าผ้ายึดจากโจทก์และทั้งจำเลยกับ ศ.มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ด้วยเช็คพิพาท ประกอบกับบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่ขอเปิดและบัตรตัวอย่างลายมือชื่อที่ทำ ไว้กับธนาคารตามเช็คพิพาท จำเลยและ ศ. ต่างมีสิทธิสั่งจ่ายเช็คตามบัญชีดังกล่าวได้ ดังนี้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้ยินยอมให้ ศ.เป็นผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายแทนจำเลยแล้ว เช็คพิพาทจึงยังคงใช้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2538
โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารนครหลวงไทยจำกัดสาขา นครราชสีมา6295จำนวนเงิน178,500บาทโดยมีจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายก่อนเช็คถึง กำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุดบรรทัด เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็คปรากฏว่าเช็คดังกล่าวสูญหายไประหว่างธนาคาร ดำเนินการเรียกเก็บเงินโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยออกเช็คฉบับใหม่ให้แล้วแต่ จำเลยเพิกเฉยถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องย่อมเป็นกรณีที่เช็คหายไป ก่อนเวลาล่วงเลยกำหนดใช้เงินโจทก์ผู้ทรงเช็คอาจร้องขอไปยังจำเลยผู้สั่งจ่าย ให้ออกเช็คเป็นเนื้อความเดียวกันแก่ตนใหม่อีกฉบับหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา1011ดังนั้นโจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเรียกร้องให้จำเลยออกเช็ค ฉบับใหม่ให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5414/2534
เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือและโจทก์เป็นผู้รับเช็คนั้นไว้ในความครอบครอง ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบ มีอำนาจที่จะฟ้องบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทให้รับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900ประกอบด้วยมาตรา 989 แม้โจทก์จะนำเงินจากบิดาโจทก์มารับแลกเช็คพิพาทก็หาเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ไม่ เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อจำกัดอำนาจของผู้จัดการไว้ การที่จำเลยที่ 2สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับเป็นการกระทำโดยมีอำนาจภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 แม้ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายร่วมกับจำเลยที่ 2 ในเช็คพิพาทจะเป็นลายมือชื่อปลอมของจำเลยที่ 3 แต่ไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1006 เช็คพิพาทจึงยังเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาท แม้จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1052 ประกอบด้วยมาตรา 1080 และมาตรา 1087 การที่จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันด้วยอาวัลในเช็คพิพาทซึ่งต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้วได้ออก เช็คฉบับใหม่แก่โจทก์ หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ไม่ แต่เป็นการชำระหนี้ด้วยตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม ซึ่งหนี้จะระงับสิ้นไปต่อเมื่อได้ใช้เงินตามเช็คฉบับใหม่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับใหม่ได้หรือไม่ หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังไม่ระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2530
โจทก์เป็นเจ้าของเช็คซึ่งธนาคาร ร. ในต่างประเทศมีคำสั่งให้ธนาคารจำเลยใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ห้าง ฯ อ.เพื่อชำระหนี้ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแต่ห้าง ฯ อ. แจ้งว่าไม่ได้รับเช็คดังกล่าว โจทก์จึงได้ส่งเช็คฉบับใหม่มาชำระให้แก่ห้าง ฯอ. อีกฉบับหนึ่ง ภายหลังโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คฉบับแรกซึ่งมีผู้ปลอมตราประทับ และลายมือชื่อผู้จัดการห้าง ฯ อ. มาเรียกเก็บเงินไปก่อนแล้วดังนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าของเช็คพิพาทผู้มีสิทธิในเงินจำนวนที่สั่งจ่ายตามเช็คซึ่ง ยังไม่ตกไปถึงมือผู้รับเงินตามความประสงค์ของโจทก์ ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ธนาคาร จำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทอันเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะผ่านธนาคาร ส. ซึ่งส่งเช็คมาเรียกเก็บเงิน การที่จำเลยมิได้ตรวจสอบลายมือชื่อและตราประทับของผู้สลักหลังในเช็คพิพาท ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้เงินตามเช็คไปโดยประมาทเลินเล่อ เพราะเช็คขีดคร่อมที่ส่งมาเรียกเก็บจากธนาคารส.นั้นเป็นหน้าที่ของธนาคารส. ผู้รับเช็คที่จะตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยซึ่งใช้เงินผ่านธนาคาร ส.ดังนั้นแม้ลายมือชื่อและตราประทับที่ปรากฏในเช็คพิพาทจะเป็นการสลักหลัง ปลอมก็ตามจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2529
จำเลยทั้งสามซื้อพลอยจากโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้ค่าพลอย ให้โจทก์ต่อมาเช็คนั้นหายไปจากความครอบครองของโจทก์และมีผู้แก้ไขวันออกเช็ค และนำเช็คดังกล่าวเบิกเงินไปในบัญชีของจำเลยที่ธนาคารไปดังนี้เมื่อ พฤติการณ์ของโจทก์มีส่วนทำให้เกิดกรณีเช็คพิพาทถูกลักโจทก์มีส่วนผิดเป็น เหตุให้เช็คพิพาทหายไปและเช็คนั้นได้ใช้เงินแล้วหนี้ที่จำเลยต้องชำระราคา พลอยให้แก่โจทก์ย่อมจะระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา321วรรคสาม จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชำระค่าพลอยที่ซื้อไปจากโจทก์ให้แก่โจทก์อีกแม้ เมื่อโจทก์ทราบว่าเช็คหายโจทก์ได้รีบบอกแก่จำเลยและธนาคารเพื่อไม่ให้ใช้ เงินแล้วแต่ปรากฏว่าโจทก์บอกกล่าวแก่จำเลยหลังจากที่มีการใช้เงินตามเช็ค แล้วการบอกกกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ หมายเหตุมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่3/2529,5/2529.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2528
ข้อสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างโจทก์จำเลยมีว่า การสั่งจ่ายเช็คต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดย ฉ. และ จ. ร่วมกันพร้อมทั้ง ประทับตราบริษัทโจทก์เป็นสำคัญ เช็คพิพาททั้งสองฉบับปรากฏว่า ลายมือชื่อจ.เป็นลายมือปลอมเช็คนั้นจึงเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เพราะมีแต่ฉ.ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียวจำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ดังกล่าวย่อมไม่ทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นและยังเป็นการผิดสัญญา เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวด้วย การที่ ฉ. ลง ลายมือชื่อแท้จริงในเช็คไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์อยู่ในฐานเป็น ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทั้งกรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1006 การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ที่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายปลอม โดยที่จำเลยไม่นำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า โจทก์ได้ทำปลอมหรือได้ร่วมกระทำปลอมแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธินำจำนวนเงินที่จ่ายไปตามเช็คมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ว่าโจทก์ เป็นลูกหนี้จำเลยและโจทก์มีสิทธิให้จำเลยเพิกถอนรายการนั้นเสียได้

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและให้ จำเลยคืนเงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คซึ่งลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายเป็น ลายมือชื่อปลอม แล้วนำจำนวนเงินนั้นมาลงบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แสดงว่าโจทก์เป็นลูกหนี้ กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อายุความจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนธันวาคม 2518 และฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ