สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก

มาตรา ๑๖๒๐ ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา ๑๖๒๑ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้แสดงเจตนากำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่าง อื่น แม้ทายาทโดยธรรมคนใดจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มรดกส่วนที่ ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจนเต็มอีกก็ได้

มาตรา ๑๖๒๒ พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔

แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้

มาตรา ๑๖๒๓ ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระ ภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม

มาตรา ๑๖๒๔ ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่ายโดยประการใดตามกฎหมายก็ได้

มาตรา ๑๖๒๕ ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นให้เป็นไปดั่งนี้

(๑) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘ และโดยเฉพาะต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๕๑๓ ถึง ๑๕๑๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น

(๒) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ นอกจากมาตรา ๑๖๓๗ และ ๑๖๓๘

มาตรา ๑๖๒๖ เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖๒๕ (๑) แล้ว ให้คิดส่วนแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรม ดั่งต่อไปนี้
(๑) ทรัพย์มรดกนั้นให้แบ่งแก่ทายาทตามลำดับและชั้นต่าง ๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้
(๒) ส่วนแบ่งอันจะได้แก่ทายาทในลำดับและชั้นต่าง ๆ นั้น ให้แบ่งในระหว่างบรรดาทายาทในลำดับและชั้นนั้น ๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ แห่งลักษณะนี้

มาตรา ๑๖๒๗ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา ๑๖๒๘ สามีภริยาที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13665/2557
โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและเป็นผู้สืบสันดานของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ร. เมื่อจำเลยไม่โต้เถียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ร. เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. ไปแล้ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้เป็นทายาทของ ร. ต่างตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. จนเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสองย่อมตกอยู่แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2556
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเนื่องจากความตายของโจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของการสมรสเปลี่ยนแปลงไป ส่วนค่าทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 ระบุว่า การเรียกค่าทดแทนจากอีกฝ่ายหนึ่งจะมีได้เฉพาะในกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเท่านั้น และการแบ่งสินสมรสหลังการสมรสสิ้นสุดเพราะการตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่นับแต่เวลาที่การสมรสสิ้นสุดไปด้วยเหตุความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฟ้องโจทก์อีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556
เอกสารสำคัญประจำตัวเด็กชาย ว. ทั้งตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นอันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 กับทะเบียนนักเรียนและหนังสือรับรองของโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา ล้วนระบุว่าเด็กชาย ว.เป็นบุตรของผู้ตาย เช่นนี้ เชื่อว่าผู้ตายได้มอบหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตายประกอบการขอออกสูติบัตรของเด็กชาย ว. พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ระบุชื่อผู้ตายเป็นบิดา อันเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลแล้วนั่นเอง แม้ไม่มีหนังสือยินยอมแยกต่างหากก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ตายที่เลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 1 กับเด็กชาย ว.และยินยอมให้เด็กชาย ว. ใช้ชื่อสกุลของผู้ตายอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการรับรองว่าเด็กชาย ว. เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของผู้ตายก็ปรากฏชัดตามสูติบัตรอันเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ทั้งในการแจ้งเกิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีเอกสารประกอบคำขอทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ตายกับหนังสือยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายรับว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรของตนและยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลด้วยความเต็มใจและอย่างเปิดเผย ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่รับรองว่าเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. เป็นบุตรผู้ตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชาย ว. เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ.เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชาย ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

หลังจากผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 จดทะเบียนหย่า ผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงอยู่กินกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันอีก 6 คน โดยผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องนั้น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 4 มิได้ถือเอาทะเบียนสมรสเป็นสาระสำคัญของความผูกพันเป็นสามีภริยากัน ทั้งความสัมพันธ์ของบุคคลในการอยู่กินกันและทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งทรัพย์สินนั้น หาใช่ว่าบุคคลทั้งสองจะต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกันตลอดเวลาและต้องกระทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันในทุกเรื่องทุกราวเสมอไป แม้หากฝ่ายหนึ่งต้องออกไปทำงานนอกบ้านแสวงหาทรัพย์สินเพื่อสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้แก่ครอบครัวตามความรู้ความสามารถ ส่วนอีกฝ่ายเพียงทำหน้าที่คอยดูแลบ้านให้มีระเบียบเรียบร้อยและเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่บกพร่อง รวมทั้งการให้คำปรึกษาหารือ ส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจเป็นห่วงเป็นใยและแบ่งปันความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันและช่วยกันทำมาหาได้ซึ่งทรัพย์สินแล้ว ภายหลังผู้คัดค้านที่ 4 ให้กำเนิดผู้คัดค้านที่ 8 ทั้งผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ต่างมิได้มีคู่สมรสใหม่ หากแต่ยังคงร่วมกันเลี้ยงดูบุตรทั้ง 7 คน อย่างไม่มีข้อบกพร่องตลอดมา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 4 ยังคงมีความสัมพันธ์กันฉันสามีภริยาเช่นเดิม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 อยู่กินกับผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005 - 7006/2555
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9599/2553
การตัดไม่ให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือเจ้ามรดกแสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมโดยชัดแจ้งด้วยการระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก กรณีที่สองคือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดโดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น เมื่อตามพินัยกรรมไม่ระบุว่าตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งและที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีสิทธิในกองมรดกของ อ. ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกที่ได้รับการยกให้มาจาก พ. จึงเป็นคนละส่วนกัน เมื่อตามพินัยกรรมข้อ 5 คงมีแต่คำสั่งของเจ้ามรดกที่ให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของเจ้ามรดกว่า หากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ทั้งปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 และ 1620 วรรคสอง โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตร 8 คน ของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 1633

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7199/2552
ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ. ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น

จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2552
ในคดีไม่มีข้อพิพาทถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (5) คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดเจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ พระ อ. ไม่ได้มีความประสงค์หรือเจตนาจะทำพินัยกรรมดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยถูกหลอกลวง สำคัญผิดไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมและขณะทำพินัยกรรมพระ อ. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าพระ อ. ทำพินัยกรรมจริงแต่ถูกหลอกลวง สำคัญผิดและมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่คำร้องคัดค้านกลับกล่าวอีกว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของพระ อ. เท่ากับยืนยันว่าพระ อ. ไม่ได้ทำพินัยกรรม เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำถูกหลอกลวง สำคัญผิดหรือทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามแบบอย่างใดจึงไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ คำร้องคัดค้านจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้

เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551
ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือน กับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6391 - 6392/2550
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นคำแถลงว่าผู้ร้อง และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงกันได้ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเป็นการตกลงกันในประเด็นเพียงบางข้อ เพราะมีประเด็นที่ศาลจำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ววินิจฉัยถึง สิทธิและคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเสียก่อนดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามยอมให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามมาตรา 1713 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2550
ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนมีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 ซึ่งใช้บังคับโดย พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรองแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตาย และไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่มีผลบังคับได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้ทำ พินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายและไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงใช้บังคับไม่ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมในขณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาล อุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พินัยกรรมของผู้ตายมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และ ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย ก็บัญญัติให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามเจตนาของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเป็นมารดาและทายาทของผู้ตายก็ไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการ มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2549
สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้า มรดกถึงแก่ความตายภายใต้บังคับมาตรา 1649 และเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพของเจ้ามรดก และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าโจทก์คนใดเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงจะมี อำนาจฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549
ว. ได้เบิกความเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้ตายสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบ สวนโดย ว. ยืนยันว่า ขณะที่ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้มีการจัดพิมพ์ข้อความและมีบุคคลอื่น ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและช่องพยานมาก่อนแล้ว อ. จึงได้นำพินัยกรรมมาให้ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน แสดงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้า อ. และ ว. ซึ่งเป็นพยานพร้อมกัน และ อ. และ ว. ก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามลักษณะการทำพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมอันจะมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการ ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูก คุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718/2548
ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแม้จะแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ก็ไม่สิ้นสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1628 ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย

ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงของผู้ตาย เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ของผู้ตาย ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548
บันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสอง ฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ทั้งบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อ เนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงถือว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมาย แล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสในเรื่อง ลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรส นั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอม แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548
ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้ อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่มาตรา 1563 และมาตรา 1564 ที่บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอก กฎหมาย ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดา ได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2546
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ให้ถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้นเมื่อ ช. ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ส. และเด็กชาย ว. บุตรของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่า อุปการะจากจำเลยผู้ทำละเมิดแก่ผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715 - 3716/2548
โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 454 ซึ่งเป็นสินสมรส เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีร้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในเอกสาร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1475 ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คำขอของโจทก์ดังกล่าวพอจะถือได้ว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวม ครึ่งหนึ่งในฐานะสินสมรสซึ่งโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่งเฉพาะทรัพย์สินที่คงเหลือ อยู่ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายจึงย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2547
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ โดยระบุว่าผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนี้ผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม อันดับที่ 4 เมื่อผู้ร้องรับว่าผู้เป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7461/2547
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของ อ. ว่า ที่ดินและอาคารพิพาทที่ อ. ทำสัญญาเช่าซื้อจากจำเลยเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม โจทก์จึงชอบที่จะเรียกร้องสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของ อ. ดังกล่าวเอาจาก ม. บุคคลภายนอกผู้เข้ารับสิทธิการเช่าซื้อแทน อ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ดินและ อาคารพิพาทให้แก่ทายาทโดยธรรมของ อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2546
เอกสารนี้ผู้ตายเขียนขึ้นเองทั้งฉบับ มีการลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อผู้ตายไว้ครบถ้วนเป็นพินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคหนึ่งแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" แม้จะไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 วรรคสอง เพราะผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่มีเพิ่มเติมข้อความที่ว่า "และสมุดฝากในธนาคารต่างๆ ด้วย" เท่านั้น ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมยังคงมีผลสมบูรณ์ หามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินอันจะตกเป็น สมบัติแก่วัดผู้คัดค้านเพราะผู้ตายได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1623 ผู้คัดค้านจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อันจะยื่นคำร้องคัดค้านการร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2543
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินที่โจทก์ได้รับการยกให้จาก ล. จำเลยต่อสู้คดีว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและบิดาจำเลยคดีมีประเด็นเฉพาะบ้าน พิพาท ซึ่งคู่ความตีราคาไว้ 200,000 บาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายถึงกรณีที่เจ้ามรดกตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วย ได้ฟ้องทายาทคนอื่น ๆ ขอแบ่งมรดก แต่โจทก์ได้รับการยกให้ซึ่งบ้านและที่ดินจาก ล. ในขณะที่ ล. มีชีวิตอยู่โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว การฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเรียกร้องเอา ส่วนแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2542
ที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ไม่ปรากฏว่า อ. ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้ผู้ใด เมื่อ อ. ตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ อ. ทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง จำเลยเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ อ. มีสิทธิได้รับมรดกของ อ. ในลำดับแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินทันทีตั้งแต่ อ. ถึงแก่ความตาย และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของอ. มีหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ อ. ทำไว้ ในอันที่จะต้องจดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทด้วย การบังคับให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทด้วยเป็น การบังคับในส่วนอันเป็นสิทธิของจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ อ. ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นในที่ดินพิพาท และไม่ได้เป็นเรื่องที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้

การฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2544
จ. ถึงแก่กรรม ที่ดินของ จ. จึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมรวมทั้ง ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุ จ. ด้วย ที่ดินที่ ส. ได้รับมรดกมาเช่นนี้มิใช่ที่ดินของวัด แม้จะได้มาในระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ส. จึงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของตนซึ่งยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินเดิมให้แก่ โจทก์ได้ การที่ ส. ดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จในเวลาต่อมาแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์แก่โจทก์และถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสมบัติของวัดจำเลย โดยผลแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623

ที่วัดที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่ง การบังคับคดีตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 เป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับ คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285(4) ด้วย คำพิพากษาในส่วนที่ให้วัดจำเลยโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสภาพแห่งหนี้ จึงไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 276 วรรคสาม ก็บัญญัติให้ศาลดำเนินการบังคับคดีเพียงเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิด ช่องให้กระทำได้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์เพื่อดำเนินการ จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไปจึงไม่อาจกระทำได้ ศาลฎีกาให้ยกเลิกการบังคับคดีแก่จำเลย

การแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกมาจากโฉนดเดิมไม่ถือว่าเป็นการจำหน่ายที่ดิน เพราะการจำหน่ายจะต้องเป็นการจดทะเบียนโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น การที่ ส. ซึ่งเป็นพระภิกษุดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินของตนเสร็จ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ก่อนที่ ส. มรณภาพ จึงมิใช่ ส. โอนที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน ส. มรณภาพ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นของวัดจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542
ที่ดินพิพาทพระภิกษุ ส. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศและเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ ส. ในขณะถึงแก่มรณภาพ จึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 แต่วัดมิใช่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ ถึงแก่มรณภาพตามมาตรา 1629 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ ศาลตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.จึงมิใช่กรณีทายาทร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งมรดก ให้ทายาท การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทในฐานะ ผู้จัดการมรดก จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลแห่งกฎหมาย แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วมแม้โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หากจำเลยที่ 2ได้นำที่พิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึง แก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยัง มีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและ จำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมี ลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงิน ประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3566 - 3567/2542
น. ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 3 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 และที่ดินแปลงที่ 4 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งสองและนาง จ. ภริยาผู้ตาย ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 นั้นให้ขายเพื่อนำไปใช้จัดงานศพผู้ตาย แต่เนื่องจากพินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำจึงไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แต่ถึงแม้พินัยกรรมดังกล่าวจะเป็นโมฆะ นาง จ. ก็มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวในฐานะคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 และ 1635 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2541
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุส. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ และพระภิกษุส. ไม่ได้จำหน่ายไปในระหว่างมีชีวิตหรือทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่น ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดซึ่ง เป็นวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะซื้อมาโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เพราะตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2540
เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของเจ้ามรดกจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1620 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1629 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลย่อมมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในอัน ที่จะรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทมาก่อนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกเช่นนี้ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติมาตรา 1300 มาใช้กับกรณีตามฟ้องของโจทก์คดีนี้ได้ เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่2027 เพียง 2 แปลง โดยไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใด จำเลยที่ 1ได้จัดการโอนที่ดินโฉนดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 โดยทายาทอื่นบางคนก็ทราบและจำเลยที่ 1 จัดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2027เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 นำเงินมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ามรดกและแบ่งเงินที่เหลือให้ทายาทบางคนโดย การขายที่ดินนี้ทายาททุกคนซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยก็ให้ความยินยอม ดังนี้ถือได้ว่าการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทของจำเลยที่ 2นับแต่ได้รับโอนต่อมาเป็นการครอบครองเพื่อตนมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่น ทั้งมีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มนับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการฟ้อง ขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทและเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมา จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิจากจำเลยที่ 2 อีกฐานะหนึ่งด้วยย่อมยกอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754,1755ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2536เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ไม่ว่าจะนับแต่วันที่ถือว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนหรือวันที่จัดการมรดกสิ้นสุดลงดังนี้คดีของโจทก์จึงเป็นอัน ขาดอายุความตามบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีมิอาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 3 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3773/2538
การที่โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดห้ามไว้ พระภิกษุก็เป็นบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การให้กู้ยืมเงินก็เป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อนได้ทางหนึ่งอีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 224 บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์มีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้

เมื่อคดียังมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยทั้งสองและพิพากษาคดีในวันเดียวกัน ข้อเท็จจริงในคำฟ้องคำให้การและเอกสารที่ศาลชั้นต้นรับไว้จึงไม่เพียงพอแก่ การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษา ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2538
พินัยกรรม ไม่ลงวัน เดือน ปี ในการทำพินัยกรรมจึงมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการ ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ท.บิดาผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตายได้ตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่บิดา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และ 1713ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าของมรดกได้ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัด ค้านที่ 2 แต่ผู้เดียวก็ตามก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2535
เมื่อเจ้ามรดกตายโจทก์และ ล.บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาและร่วมกันครอบครองโดย มิได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทจึงมิใช่มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และ ล. มารดาของจำเลยทั้งห้าเมื่อ ล.ตายส่วนของ ล. ตกแก่จำเลยทั้งห้า การที่จำเลยทั้งห้าไม่ยอมแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิ ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวม จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุ ก็หามีบทกฎหมายห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2534
ผู้ร้องอ้างสิทธิในคำร้องขอจัดการมรดกว่าร้องขอในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม มิได้ร้องขอในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวผู้ร้องทำปลอมขึ้นปัญหา ว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นที่จำต้องวินิจฉัยเพราะหากพินัยกรรม ที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นผู้ร้องย่อมถูกกำจัดมิให้ รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(5) จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาล ชั้นต้นก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อ นี้ ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถูกต้องได้ ท. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมข้อ 9 และข้อ 10 ตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นอันตกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคสอง กล่าวคือต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมหรือพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่ กองมรดกข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านมีความประพฤติดีไม่เคยทำร้ายหรือเป็น หนี้เจ้ามรดกดังคำพยานผู้ร้อง ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเหตุไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็ เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องและ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2510
จ. กับ ข. ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว มีบุตร 6 คนบุตรของ จ. ข. ทุกคนเว้น ธ. ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุ ได้ร่วมกันครอบครองมรดกตลอดมา ก. บุตรของ จ. ข. ตายหลัง จ. ข. มรดกของ จ. ข. ที่ ก. ได้รับจึงตกเป็นของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของ ก. ในฐานะผู้รับมรดกของ ก. หาใช่ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่ ก. ไม่แต่เมื่อพิเคราะห์ฟ้องของโจทก์แล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 3 ขอรับมรดก ของ ก. นั่นเองโจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดก

ธ. ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่ก่อน ข. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตลอดมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว ไม่ได้เข้ามาร่วมครอบครองทรัพย์มรดกคงมีแต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 (ซึ่งเป็นบุตรของ จ. ข. เจ้ามรดก) และโจทก์ที่ 3 (ซึ่งเป็นภริยาของ ก. ซึ่งเป็นบุตรของ จ. ข. และถึงแก่ความตายไปแล้ว) จำเลย และ ส. ครอบครองร่วมกันมาโจทก์ ทั้ง3 จำเลย และ ส. ย่อมมีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้เท่าๆกันจึงให้แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 5 ส่วน (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7-8/2510)