มาตรา ๑๖๒๙ ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑) ผู้สืบสันดาน
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕
มาตรา ๑๖๓๐ ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา ๑๖๓๑ ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่
มาตรา ๑๖๓๒ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๒๙ วรรคสุดท้าย การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับญาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ แห่งหมวดนี้
มาตรา ๑๖๓๓ ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา ๑๖๓๔ ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๔ นั้น ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดั่งนี้
(๑) ถ้ามีผู้สืบสันดานต่างชั้นกัน บุตรของผู้ตายซึ่งอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่
(๒) ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน
(๓) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา ๑๖๓๕ ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้
(๑) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(๒) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๓) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) แต่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(๓) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๔) หรือ (๖) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๕) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
(๔) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด
มาตรา ๑๖๓๖ ถ้าเจ้ามรดกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันมีสิทธิได้รับมรดกตามลำดับชั้นและส่วนแบ่งดั่งระบุไว้ในมาตรา ๑๖๓๕ แต่ในระหว่างกันเองให้ภริยาน้อยแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ
มาตรา ๑๖๓๗ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต คู่สมรสฝ่ายนั้นมีสิทธิรับจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ตกลงไว้กับผู้รับประกันภัย แต่จำต้องเอาจำนวนเบี้ยประกันภัย เพียงเท่าที่พิสูจน์ได้ว่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ผู้ตายจะพึงส่งใช้เป็นเบี้ยประกันภัยได้ ตามรายได้หรือฐานะของตนโดยปกติไปชดใช้สินเดิมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรสแล้วแต่กรณี
ถึงอย่างไรก็ดี จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนตามบทบัญญัติข้างต้นนั้นรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชำระให้
มาตรา ๑๖๓๘ เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้ลงทุนออกเงินในการทำสัญญา และตามสัญญานั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับเงินปีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ยังจะต้องได้รับเงินปีต่อไปตลอดอายุ ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ จำต้องชดใช้สินเดิมของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรสแล้วแต่กรณี สุดแต่ว่าได้เอาเงินสินเดิม หรือสินสมรสไปใช้ในการลงทุนนั้น เงินที่จะต้องชดใช้สินเดิมหรือสินสมรสดั่งว่านี้ ให้ชดใช้เท่าจำนวนเงินซึ่งผู้จ่ายเงินรายปีจะเรียกให้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อผู้จ่ายจะได้จ่ายเงินรายปีให้แก่คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562
โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร หลักฐานทางทะเบียนราษฎรระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของ ข. กับ บ. สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงและน่าเชื่อถือมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงจะรับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562
ในคดีไม่มีข้อพิพาท ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งหากผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านกลับกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้อย่างครบถ้วน เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง เลือดออกในโพรงสมองและสมองบวมอันเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ คำร้องคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายทำขึ้นจริง ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แม้คำคัดค้านจะไม่ได้บรรยายเรื่องผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมและพินัยกรรมเป็นโมฆะไว้ก็ตาม แต่ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560
โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560
แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559
โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2560
ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4483/2559
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 น. และ น. จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าที่ดินพิพาทใช้เป็นที่ตั้งกิจการโรงสีไฟของจำเลยที่ 1 และบ้านพักอาศัย จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่มีหน้าที่จะต้องไถ่ถอนจำนองและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน มิได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของห้างที่จะต้องนำมาเพื่อการชำระบัญชีหรือเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับเจ้าของรวมคนอื่นจึงเป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าที่ดินเป็นทรัพย์สินของ จ. นำมาลงทุนเป็นหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 อันเท่ากับรับฟังว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยทั้งสองต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีที่มาจากสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยรวมเป็นการตกลงแบ่งมรดกในส่วนที่เป็นที่ดินรวม 8 แปลง และหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 กับหุ้นในบริษัท ร. สำหรับที่ดินแปลงอื่นที่จดทะเบียนจำนองได้ระบุว่าให้นำเงินของจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนให้แก่ทายาทที่ระบุชื่อไว้ แต่ที่ดินพิพาทซึ่งขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีภาระจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ไม่มีการกล่าวถึงการไถ่ถอนจำนอง เพียงแต่ระบุส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของรวมแต่ละคน เมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของโรงสีและสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน และหนี้ที่ที่ดินพิพาทจำนองเป็นประกันก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคารมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เมื่อเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคือผู้ถือหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 โดยมีส่วนเท่ากับส่วนของหุ้นที่ได้รับจึงเห็นได้ว่าผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินต่างมีเจตนาใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่ประกอบกิจการโรงสีและใช้เป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กันต่อไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 หากจะแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเสียในขณะนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนาดังกล่าวทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของห้างให้ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งศาลวินิจฉัยไว้แล้วว่ายังไม่มีเหตุให้ต้องเลิกห้างอันจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งหมดทุกคน แม้เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งๆ จะมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันสมควรไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม พฤติการณ์ดังกล่าวมาถือได้ว่ายังไม่เป็นโอกาสอันสมควรที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762 - 1763/2559
ป.รัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้... (9) การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร..." บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางค้าหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น การได้หุ้นมาจึงย่อมถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทแล้วโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าเป็นทุนของบริษัท มีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น หลังจากนั้น ยังมีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัท ต่อมาโจทก์ทั้งสองตกลงโอนขายหุ้นของตนในบริษัททั้งสองให้แก่ ป. กับพวก การที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทแล้วแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการให้ตกอยู่แก่ทายาทของ ส. ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไรและมิใช่การจัดตั้งบริษัทโดยไม่มีผลประโยชน์หรือกำไรที่จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 42 (9)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558
ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10756/2558
โจทก์ยื่นคำร้องขอยึดที่ดินแปลงพิพาทอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ท. ที่ตกทอดแก่ ธ. จำเลยและ ศ. จำเลยยื่นคำคัดค้านเพียงว่าจำเลยไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจยึดที่ดินพิพาท จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าทรัพย์พิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท. จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของ ท. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ธ. เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องทำการอันจำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ท. แก่ทายาทตามมาตรา 1719 และต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 แม้ที่ดินพิพาท ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. จะจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของ ธ. เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีสิทธิยึดมาบังคับชำระหนี้แก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558
คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9277/2558
ในคดีก่อน ส.ฟ้องทายาทของร้อยตำรวจโท ค. เพื่อขอแบ่งปันทรัพย์มรดก และมีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ ส่วนวิธีการแบ่งปันทรัพย์มรดกจะถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่คู่ความในคดีดังกล่าวต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี หาใช่นำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ เมื่อการประมูลทรัพย์มรดกเป็นการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิม หากไม่ถูกต้องโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ต้องไปโต้แย้งในชั้นบังคับคดีในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีใหม่ ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกจึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่โจทก์อ้างว่ายังมีทรัพย์มรดกอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นด้วย กองมรดกที่ตกทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1602 ถือเป็นการได้ทรัพย์มาโดยอาศัยสิทธิอันเดียวกัน มิใช่เป็นการได้มาโดยอาศัยสิทธิในทรัพย์แต่ละชิ้นเป็นสิทธิต่างรายกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ในส่วนดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2558
คำพิพากษาของศาลที่ให้จำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกของ น. แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทด้วยกัน เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและเจ้าของรวมทุกคนพึงแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมด้วยกัน หรือขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ลำพังเพียงโจทก์เจรจากับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายจากทายาทอื่นให้เป็นตัวแทนเจรจากับโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าของรวมไม่อาจตกลงแบ่งทรัพย์สินกันได้ อันเป็นเหตุยึดทรัพย์มรดกมาขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง เมื่อถือไม่ได้ว่าการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นไปตามลำดับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สิน จึงต้องเพิกถอนการยึดทรัพย์มรดกเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2558
แม้คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอมด้วย ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมซึ่งโจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดได้ เมื่อโจทก์ที่ 5 ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี ม. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2557
การที่โจทก์ จำเลยและทายาททำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการมรดกของทายาทตระกูล อ. ว่าจำเลยเพียงผู้เดียวจะรับผิดในหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทายาทยินยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้กิจการขายรถจักรยานยนต์บริษัท บ. จำกัด พร้อมหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยให้กิจการเป็นของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้สินเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินตามบันทึกข้อตกลง ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ซึ่งเป็นมรดกของ จ. ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 1,113,900 บาท และได้แบ่งปันให้ทายาทโดยธรรมบางส่วนแล้วยกเว้นจำเลยกับทายาทบางคนยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาทโดยธรรมทุกคนในอัตราส่วนคนละเท่า ๆ กัน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ที่โจทก์ขายไปและกล่าวไว้ในฟ้องเดิมว่ายังไม่ได้แบ่งให้จำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์มรดกรายเดียวกันกับที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องเดิม จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จะว่ากล่าวให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน จำเลยไม่จำต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีต่างหากตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557
ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2557
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้าน 4 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้าน 4 หลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านอีก 7 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง หากเป็นการสละมรดกก็เป็นการสละเพียงบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดก และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลังแล้วได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท โดยโจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2557
โจทก์ฟ้องว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ปรากฏว่านับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 13 ปี จำเลยมิได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมรวมทั้งดอกผลของทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาททั้งหมด โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามคำขอท้ายฟ้องให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินและตึกแถวอันเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โจทก์ จำเลย และทายาทของ ส. ทุกคนได้ประชุมตกลงทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 หลังทำสัญญาดังกล่าว โจทก์และทายาทคนอื่นไม่สนใจเข้าไปครอบครองดูแลทรัพย์มรดกในส่วนของตน จำเลยจึงเข้าครอบครองเพื่อตนเองต่อเนื่องตลอดมาถึงปัจจุบัน สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยโดยสมบูรณ์ โจทก์เสียสิทธิในการรับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ ส. โดยอายุความแล้ว แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ยังมิได้ดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดก ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557
อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556
กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556
ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2556
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของ ส. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ ง. เจ้ามรดก เมื่อ ง. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินของ ง. เป็นมรดกตกได้แก่ ส. กับทายาทอื่นของ ง. แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จำเลยจะแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ง. โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ส. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของ ง. แต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามให้ได้รับความเสียหาย หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้อง จำเลยย่อมมีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยมิพักต้องคำนึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. หรือไม่ การที่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสามอยู่ในตัว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16312/2555
เมื่อผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและมีการฟ้องร้องผู้ร้องเพื่อเรียกทรัพย์คืนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก การที่จะให้ ส. บุตรของผู้คัดค้านเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องคงจะไม่อาจร่วมกันจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ เพราะอำนาจของผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีสองคนนั้น การจัดการจะต้องดำเนินการร่วมกัน ถ้าเกิดเป็นสองฝ่ายแล้วกรณีก็ไม่อาจจะหาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ได้ และคนใดคนหนึ่งก็ไม่อาจจัดการไปได้ จึงสมควรให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวแต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่ฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทด้วยสมควรวางเงื่อนไขในคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกว่าถ้าจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระติดพันกับทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้แก่บุคคลที่มิใช่ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกโดยมิได้รับความเห็นชอบจากทายาททุกคนแล้ว จะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16057/2555
คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกทั้งหมดของ ร. แล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกทั้งหมดจาก ร. มาเป็นของโจทก์ กรณีจึงเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกของ ร. ให้โจทก์ตามส่วน จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสที่ได้มาระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับ ร. ก็ตาม แต่การที่จะพิพากษาแบ่งมรดกแก่ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธินั้น จะต้องพิจารณาถึงทรัพย์แต่ละรายการว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ การวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงว่าเป็นสินส่วนตัวของ ร. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ร. กับจำเลยจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี สำหรับที่ดินพิพาทแปลงแรกนั้น ร. ได้มาภายหลังจากสมรสกับจำเลย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส จำเลยมีสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งต้องแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนของ ร. แต่ปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินให้แก่ ต. ไปแล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงไม่สามารถพิพากษาให้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมได้ ต้องถือว่าเงินที่จำเลยได้รับจากการขายที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ร. ทุกคน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าขายที่ดินในฐานะทายาทหลังจากแบ่งสินสมรสแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15039/2555
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397 - 1399/2551
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติ สนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่ง อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551
ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับมารดาของผู้ตายภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตลอดมาซึ่งทำให้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านรับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทบัญญัติดังกล่าวก็เพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมี สิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายที่จะมีสิทธิคัดค้านการขอจัดการมรดกหรือร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการ มรดกของผู้ตายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6391 - 6392/2550
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นคำแถลงว่าผู้ร้อง และผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงกันได้ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเป็นการตกลงกันในประเด็นเพียงบางข้อ เพราะมีประเด็นที่ศาลจำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ววินิจฉัยถึง สิทธิและคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเสียก่อนดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามยอมให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามมาตรา 1713 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276 - 4277/2550
ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงมิใช่สามีโดยชอบด้วยกฎหมาย ของผู้ตายอันจะทำให้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายจึงไม่มีส่วนได้ เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย อีกทั้งในคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านก็ยืนยันว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบน ที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านคนเดียว มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายผู้คัดค้านจึง ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย สำหรับที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท ทั้งไม่มีสิทธิขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจะเป็นทรัพย์ของผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้คัดค้านต้องไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2550
ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนมีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 ซึ่งใช้บังคับโดย พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรองแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตาย และไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่มีผลบังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549
โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2549
แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเนื่อง จากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงจาก จำเลยเป็นการใช้สิทธิที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วน แบ่งทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นในที่ดินทั้งสองแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1725 ประกอบมาตรา 1357
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2548
จำเลย ที่ 1 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี โดยผู้ตายนั้นมานับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 นับได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพ ผู้ตายได้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับ มรดกมากที่สุด อันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพอถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือจึง หมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548
การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลง แบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดัง กล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อม ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548
ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่ น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์ มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548
บันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสอง ฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ทั้งบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อเนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงถือว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสในเรื่อง ลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรส นั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอม แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5279/2548
เดิม ส. เคยฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากร คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย ส่วนคดีนี้แม้โจทก์จะนำหนี้ภาษีอากรค้างในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ รับผิด แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า หนี้ภาษีอากรค้างที่ ส. เป็นหนี้อยู่แก่โจทก์ยังมิได้ชำระและ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวโดยนำ ทรัพย์สินกองมรดกที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งห้ามาชำระหนี้แก่โจทก์ ประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรของ ส. แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับในคดีก่อน แม้จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิของ ส. ผู้ตายก็ตาม แต่สภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าใน ฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส. ให้รับผิดในหนี้ที่ ส. มีอยู่แล้วแก่โจทก์ ซึ่งเป็นความรับผิดของทายาทโดยเฉพาะต่อกองมรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้ วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้คดีเดิมที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยถึงที่สุด อันมีผลให้หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งอธิบดีโจทก์มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ส. ได้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่อธิบดีโจทก์ ไว้เป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นไปโดยรวดเร็วโดยไม่ ต้องนำคดีมาสู่ศาล อำนาจของอธิบดีโจทก์แม้จะมีลักษณะเสมือนเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ภาษีอากรค้างกลับกลายเป็นเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา ทั้งการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก ก็เพื่อให้ความรับผิดที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดแก่โจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้
จำเลยทั้งห้าอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมและมีสิทธิ ได้รับมรดกของ ส. โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดชำระหนี้ภาษีอากรค้างของ ส. ได้ และคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดย่อมมีผลผูกพันโจทก์ และ ส. ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ส. จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งต่อโจทก์เกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวอีกได้ และจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทและผู้สืบสิทธิในกองมรดกของ ส. ก็ไม่มีสิทธิโต้แย้งดุจเดียวกัน คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งห้าล้วนเป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับการประเมินของ เจ้าพนักงานประเมินทั้งสิ้น การที่จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดีนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นแห่งคดีได้
เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับ มรดกของ ส. ซึ่งต้องรับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่และความรับผิดของ ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยไม่ต้องคำนึงว่ากองมรดกของ ส. จะมีทรัพย์สินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หรือจำเลยทั้งห้าในฐานะทายาทจะได้รับมรดกมาแล้วหรือไม่ และถึงแม้โจทก์ได้ใช้อำนาจยึดอายัดทรัพย์สินของ ส. ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว และมีจำนวนเพียงพอชำระหนี้ของ ส. หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอาจโต้แย้งได้ในชั้นบังคับคดี จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชำระหนี้ของ ส. แก่โจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601
(วรรคแรก ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2547)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456 - 12457/2547
ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมี 7 คน การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทต้องแบ่งกันตามที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ การที่ทายาทอื่นมิได้เรียกร้องมาด้วยนั้น จะถือว่าทายาทอื่นนั้นสละมรดกหาได้ไม่และจะแบ่งโดยเอาส่วนแบ่งทายาทอื่นไป ให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคงได้ส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2547
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ โดยระบุว่าผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนี้ผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 4 เมื่อผู้ร้องรับว่าผู้เป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3046/2539
จำเลยทั้งสองทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ที่1และรับว่าครอบครองที่พิพาท แทนทายาทอื่นด้วยดังนี้จำเลยทั้งสองจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1754ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1605นั้น มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น ล.มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกคือโจทก์ที่2จ. และ ม. เพียง3คนจำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรของ จ. เป็นเพียง ผู้สืบสิทธิของ จ.คือรับมรดกในส่วนของ จ. เท่านั้น(จ.ตามหลัง ล.)ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ล. ทายาททั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกเท่ากันคือคนละ1441/3ตารางวาโจทก์ที่2จึงไม่ มีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทจำนวน1661/2ตารางวาอันเกินไปจากสิทธิที่โจทก์ที่2จะ ได้รับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 241/2522
เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรม จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1586, 1627 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม มรดกจึงตกได้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดกหามีสิทธิได้รับมรดกไม่
ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกัน แม้สัญญาดังกล่าวจะกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นในภายหน้าเข้าลักษณะ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ก็เป็นสัญญาที่ให้จำเลยที่ 2 ผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียวจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิในการรับ มรดกในทรัพย์มรดกบางส่วนให้แก่โจทก์ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1619 ไม่มีผลใช้บังคับ