การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ

มาตรา ๑๐๖๔ อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น จะจดทะเบียนก็ได้

การลงทะเบียนนั้น ท่านบังคับให้มีรายการดั่งนี้ คือ

(๑) ชื่อห้างหุ้นส่วน

(๒) วัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วน

(๓) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง

(๔) ชื่อและที่สำนักกับทั้งอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คน ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมีชื่อยี่ห้อ ก็ให้ลงทะเบียนทั้งชื่อและยี่ห้อด้วย

(๕) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ในเมื่อได้ตั้งแต่งให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงบางคน

(๖) ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการประการใดให้ลงไว้ด้วย

(๗) ตราซึ่งใช้เป็นสำคัญของห้างหุ้นส่วน

ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่น ๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้

การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย

ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้นฉบับหนึ่ง



มาตรา ๑๐๖๔/๑ หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นนั้น

ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้น ส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งผู้จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น

หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้



มาตรา ๑๐๖๔/๒ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง



มาตรา ๑๐๖๕ ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน



มาตรา ๑๐๖๖ ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด

แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก



มาตรา ๑๐๖๗ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหา ได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ รับเพราะเหตุนั้น

แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

อนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน



มาตรา ๑๐๖๘ ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน



มาตรา ๑๐๖๙ นอกจากในกรณีทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๕ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนย่อมเลิกกันเมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลาย



มาตรา ๑๐๗๐ เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้ เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้



มาตรา ๑๐๗๑ ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๗๐ นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า

(๑) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ

(๒) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้

ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้ สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร



มาตรา ๑๐๗๒ ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใด เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไรหรือ เงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้วเจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้ เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมีในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2549
คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาล แพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่ อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2547
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจด ทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วเพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทน นิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์ โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความผิดรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ แต่ต้องร่วมรับผิดบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และ 1077 (2)

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 89 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจะได้มีการแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10206/2546
จำเลย ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาระหว่างวันที่โจทก์รับจ้างตกแต่งร้านค้าให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 จนถึงวันที่ทำการตกแต่งร้านค้าเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2538 และได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2540 อยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2544
เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมินจึง ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้ง การประเมินให้แก่จำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ให้ชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ของห้างได้โดย ไม่ต้องแจ้งการประเมินให้จำเลยก่อน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1071 ประกอบมาตรา 1080ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน หรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้น ส่วนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียก ร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตามมาตรา 688 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใด ห้ามโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้ จัดการ โดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อนการที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2539
ตามหนังสือรับรองมีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการว่าในการทำนิติกรรมต่างๆและ การสั่งจ่ายเงินในนมของห้างหุ้นส่วนจำกัดว. โจทก์ที่1ให้โจทก์ที่2ลงลายมือชื่อร่วมกับค. และประทับตราสำคัญของโจทก์ที่1ฉะนั้นในการตั้งทนายความซึ่งเป็นการทำ นิติกรรมในนามของโจทก์ที่1อย่างหนึ่งโจทก์ที่2จึงต้องลงลายมือชื่อในใบแต่ง ทนายความร่วมกับค. และประทับตามสำคัญของโจทก์ที่1ด้วยทนายความจึงมีอำนาจลงชื่อในคำฟ้องในนาม โจทก์ที่1ได้ส่วนที่โจทก์ที่2ระบุในคำฟ้องว่าเป็นโจทก์ที่2ฟ้องจำเลยในฐานะ เป็นหุ้นส่วนเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าเงิน ที่นำไปซื้อทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ที่1โจทก์ที่2ในฐานะหุ้นส่วนจึงไม่มี สิทธิฟ้องจำเลยให้โอนทรัพย์พิพาทให้โจทก์ทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2538
ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ข้อ 3 ระบุว่า ข.เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ข้อ 4 ระบุว่า ข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไม่มี แสดงว่าในหนังสือรับรองดังกล่าวมิได้บังคับว่าเมื่อหุ้นส่วนผู้จัดการลงชื่อ แล้วต้องมีตราสำคัญของโจทก์ประทับไว้ด้วยจึงจะกระทำการแทนโจทก์ได้ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ที่ ข.หุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อโจทก์โดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ย่อม เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2537
ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธา ซึ่ง ก.เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคสอง จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537
จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528และโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้น ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เมษายน 2530 เพื่อให้ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่โดยหนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุ แจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2858/2536
ตามหนังสือรับรองปรากฏว่า ส. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์โดยไม่มีข้อจำกัดอำนาจ และ ส. เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลย ดังนี้ ข้อที่โจทก์อ้างว่าการสลักหลังดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ เพราะ ส. ลงลายมือชื่อไปโดยไม่ได้ปรึกษาหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งและต้องประทับตราของโจทก์ นั้นเป็นข้อจำกัดอำนาจที่มิได้ปรากฏในหนังสือรับรอง จึงไม่อาจยกขึ้นยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3841/2525
สิทธิในการบังคับคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยกปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ผู้ร้องเป็นห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังไม่ได้เลิก โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัว มีสิทธิบังคับคดีได้เฉพาะผลกำไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่จำเลย เท่านั้นขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ย่อมยกขึ้นอ้างในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้

เมื่อ ข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างหุ้นส่วนผู้ร้อง เป็นหุ้นส่วนจดทะเบียนยังมิได้เลิกกัน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวจึงใช้สิทธิได้เพียง กำไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนผู้ร้องค้างชำระแก่จำเลยเท่านั้นตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1072