การรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน

มาตรา ๑๗๓๔ เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น


มาตรา ๑๗๓๕ ทายาทจำต้องบอกทรัพย์มรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก


มาตรา ๑๗๓๖ ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก หรือผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ


ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่นๆ อนึ่งผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่จำเป็น เพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก


มาตรา ๑๗๓๗ เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย


มาตรา ๑๗๓๘ ก่อนแบ่งมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ทายาทคนหนึ่งๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก หรือให้เอาเป็นประกันก็ได้จนถึงเวลาแบ่งมรดก


เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้


มาตรา ๑๗๓๙ ให้ชำระหนี้ที่กองมรดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้ และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยบุริมสิทธิ โดยต้องไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และบรรดาเจ้าหนี้ที่มีประกันโดยการจำนำหรือการจำนอง


(๑) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก


(๒) ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก


(๓) ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่


(๔) ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้และคนงาน


(๕) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก


(๖) หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก


(๗) บำเหน็จของผู้จัดการมรดก


มาตรา ๑๗๔๐ เว้นแต่เจ้ามรดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้

(๑) ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์


(๒) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรมว่าสำหรับชำระหนี้ถ้าหากว่ามีทรัพย์สินเช่นนั้น


(๓) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น


(๔) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยมีเงื่อนไขว่าผู้นั้นต้องชำระหนี้ของเจ้ามรดก


(๕) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะทั่วไปดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑


(๖) ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะเฉพาะดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑


ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ให้เอาออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้ โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้


มาตรา ๑๗๔๑ เจ้าหนี้กองมรดกคนใดคนหนึ่ง จะคัดค้านการขายทอดตลาดหรือการตีราคาทรัพย์สินดั่งระบุไว้ในมาตราก่อน โดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ได้ร้องคัดค้านแล้ว ยังได้กระทำการขายทอดตลาด หรือตีราคาไป จะยกการขายทอดตลาดหรือตีราคานั้นขึ้นยันต่อเจ้าหนี้ผู้ร้องคัดค้านแล้วนั้นหาได้ไม่


มาตรา ๑๗๔๒ ถ้าในการชำระหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่แก่ตน เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้รับตั้งในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ ให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการประกันชีวิต เจ้าหนี้คนนั้นชอบที่จะได้รับเงินทั้งหมด ซึ่งได้ตกลงไว้กับผู้รับประกัน อนึ่ง เจ้าหนี้เช่นว่านั้น จำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดกก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนอื่นๆ พิสูจน์ได้ว่า


(๑) การที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีดั่งกล่าวมานั้นเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ และ


(๒) เบี้ยประกันภัยเช่นว่านั้น เป็นจำนวนสูงเกินส่วนเมื่อเทียบกับรายได้หรือฐานะของผู้ตาย


ถึงอย่างไรก็ดี เบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนเข้ากองมรดกนั้นต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับประกันชำระให้


มาตรา ๑๗๔๓ ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมโดยลักษณะทั่วไป ไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในพินัยกรรมลักษณะเฉพาะเกินกว่าจำนวนทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ


มาตรา ๑๗๔๔ ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกและผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้และส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม


สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1


สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736


ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559

โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป


จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 ส. เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144


ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 กับนาวาตรีหญิง ร.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883 - 1884/2559

การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างความเป็นบุตรทายาทโดยธรรมของผู้ตายฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เรียกร้องจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 จึงเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 จะเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เคลือบคลุม


กรณีที่ตามฟ้องโจทก์ทั้งหกและคำให้การของจำเลยต่างรับกันได้ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามฟ้องมีบริษัทต่าง ๆ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งหกก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้แบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งหก คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ และในส่วนรถยนต์จำนวน 25 คัน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่า ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย โจทก์ทั้งหกมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวว่า ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง แม้โจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกจะยื่นฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนและจำเลยยื่นคำให้การไว้ในสำนวนแรกก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีก็ตาม แต่ในคดีนี้โจทก์ที่ 1 อ้างสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ทำมาหาได้ร่วมกันกึ่งหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกันกับในคดีดังกล่าว กรณีจึงถือว่าโจทก์ทั้งหกและจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกและจำเลยนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายกึ่งหนึ่งในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และแม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามประเด็นในคำให้การของจำเลยไปโดยไม่ชอบ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


แม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งให้ จำเลย นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ว. ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ม. กับ ฐ. โจทก์ ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม ผู้จัดการทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 ดังนั้น การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้เป็นเหตุทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป เมื่อผู้ตายมีทายาทโดยธรรมรวม 10 คน แม้โจทก์ที่ 3 จะถอนฎีกาไปแล้ว แต่สิทธิของโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 และจำเลยคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ มิใช่การกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายมีโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์ที่ 1 สำนวนแรกจึงมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยครอบครองอยู่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2558

แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2558

แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่ คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557 

จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9554 - 9555/2557

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555

ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2555

ผู้ร้องกล่าวในคำร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างบ้านเลขที่ 7/1 บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยหลังจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว แต่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินรวมถึงบ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย จึงเป็นการนำยึดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง บ้านเลขที่ 7/1 ย่อมเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของจำเลยหามีสิทธิบังคับชำระหนี้ไม่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553 

แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552 

ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2551

จำเลย ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมด้วยขัดต่อมาตรา 1726 จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551

การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิ อาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดิน พิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2550

โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตตามคำร้อง แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาล ฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว และแม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาในคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทิ้งอุทธรณ์ไปแล้ว คดีตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบ


โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ ส. ทำไว้กับโจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ อันเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ส. ฟ้องกองมรดกเพื่อบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 6 หรือทายาทคนใดของ ส. ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 6 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 6 จะถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายใดฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 82 และศาลมิได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. หรือเข้ามาต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. แทนจำเลยที่ 6 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1) (3) ได้ จำเลยที่ 6 จึงยังคงมีอำนาจต่อสู้คดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12456 - 12457/2547

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมี 7 คน การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทต้องแบ่งกันตามที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ การที่ทายาทอื่นมิได้เรียกร้องมาด้วยนั้น จะถือว่าทายาทอื่นนั้นสละมรดกหาได้ไม่และจะแบ่งโดยเอาส่วนแบ่งทายาทอื่นไป ให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ร่วมคงได้ส่วนแบ่งคนละ 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546

โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปโภคและบริโภค รวมทั้งให้ยืมเงินแก่ ผ. จำเลย และลูกค้าของโจทก์รายอื่น ๆ อีกหลายรายที่ประกอบอาชีพทำนาที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคโดย โจทก์ให้เครดิตสินเชื่อสินค้าและเงินยืมของโจทก์ให้แก่ลูกค้ามีบัญชีบันทึก หนี้สินกันไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์หวังผลประโยชน์ตอบแทน ปรากฏว่าผ. ยังค้างชำระหนี้อยู่จึงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยกับยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินในปีต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในทางการค้าไม่ใช่การคิดดอกเบี้ย


ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์จึงเป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกัน อยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. และจำเลยที่ 2ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2545

โจทก์ และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่ง ส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับ มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมากที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง เมื่อผู้ตายมิได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพ และทายาทก็มิได้ มอบหมายให้บุคคลใดจัดการทำศพ โจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายตามบทกฎหมายดังกล่าว


โจทก์จัดการทำศพไปแล้วย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1650 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253 (2) การที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 253 (2) ประกอบมาตรา 1739 (2) จึงมีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวตามส่วนแต่ต้องไม่เกินจากทรัพย์ มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544

ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัด ตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับ มรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบ อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้


แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลย ที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง


เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลย ที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์ และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับ แบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์ แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2541

สำหรับการแบ่งขายที่ดินครั้งแรก จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกอ้างว่าขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ของเจ้ามรดก จึงเป็นการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1740 วรรคท้ายกล่าวคือ ให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้โดยชำระราคาทรัพย์สิน นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าให้ความยินยอมในการขายที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการซื้อขายที่ไม่ชอบ สำหรับการขายที่ดินครั้งที่สองในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น


แม้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 282 เป็นสินสมรสของเจ้ามรดกกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนของเจ้ามรดกครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งห้าที่เป็นทายาท รวมอยู่ด้วยทันที จำเลยที่ 1 จึงยังมีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับทายาทของเจ้ามรดกคนอื่น แม้ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง จำเลยที่ 1 และทายาทของเจ้ามรดกคนอื่นก็ยังเป็นเจ้าของรวมที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ จำเลยที่ 1 จะแบ่งแยกแล้วกำหนดว่าเป็นของตนส่วนใดโดยมิได้รับความยินยอมจาเจ้าของรวมคน อื่น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1364หาได้ไม่ ดังนั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ จึงมิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1การที่จำเลยที่ 1 รับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและต่อมาโอนขายส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการโอนโดยมิชอบเช่นกัน เมื่อการทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งสองครั้งของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นทายาท แต่รับโอนในฐานะผู้ซื้อมิใช่รับโอนในฐานะทายาท จึงมิใช่เป็นไปเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต้องเสียเปรียบ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กลับคืน มาเป็นทรัพย์มรดกในสภาพเดิม


จำเลยที่ 2 ใช้หนี้ของเจ้ามรดกให้แก่ธนาคารไป 548,000บาท ดังนั้น จึงต้องหักเงินกองมรดกใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เสียก่อนแบ่งมรดก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7495/2540

แม้ว่ามรดกนั้นมีเพียงหนี้สินที่เจ้ามรดกจะต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้แก่บุคคล ภายนอกโดยไม่มีทรัพย์สินอื่นๆ อีกก็ตาม แต่ทายาทก็ไม่อาจอ้างว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่เจ้ามรดกทำไว้ หากมีการผิดสัญญาและเป็นกรณีที่ไม่เปิดช่องให้บังคับในการโอนที่ดินพิพาทตาม สัญญา ทายาทผู้รับมรดกก็ต้องรับผิดในส่วนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา หรือต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กำหนดในสัญญาด้วย การที่เจ้าพนักงานที่ดินจะรับแจ้งอายัดที่ดินขึ้นอยู่ในดุลพินิจของเจ้า พนักงานว่าผู้แจ้งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหรือไม่ เหตุที่เจ้าพนักงานที่ดินใช้ดุลพินิจรับแจ้งการอายัดของจำเลย เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียแม้ว่าขณะนั้นชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ใน โฉนดที่ดินพิพาทจะมิใช่ช.แต่ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยอาจบังคับให้ ช.หรือทายาทต้องปฏิบัติตามสัญญาได้ อันจะส่งผลให้ต้องเพิกถอน การจดทะเบียนภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด เมื่อ ไม่มีคำสั่งศาลให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้การอายัดมีผล ต่อไปจนกว่าศาลในคดีที่ผู้ขออายัดได้ยื่นฟ้องไว้จะสั่งให้ ถอนการอายัดหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด จึงเป็น กรณีที่จำเลยใช้สิทธิที่มีอยู่ในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจาก ช.ก่อนที่ช. จะโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ จ. ผู้เป็นบุตร จำเลยจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ หากโจทก์จะเสียหายอย่างไรชอบที่จะต้องว่ากล่าวเองกับผู้ที่ทำสัญญากับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3996/2540

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของ จำเลยได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อนดังนั้น การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก็ตามกรณีก็หาใช่เหตุสมควรที่ศาลจะสั่งงด การบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541

เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อ แบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วันตามมาตรา 1728 หากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ อ. จำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิใช่เพื่อจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้ แก่ทายาทของ อ.แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์มอบให้ไว้ในการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง อีกทั้งก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาทกันจำเลยที่ 1 และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าทายาทของ อ. ไม่ต้องการให้ขายที่ดินแปลงพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ อ.ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ กับได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.และศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ เมื่อมิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน โดยไม่สุจริต นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปรับเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 และมาตรา 1740 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่ผูกพันทายาทของ อ. โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2538

ในกรณีที่มีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1745และมาตราดัง กล่าวให้นำมาตรา1356ถึงมาตรา1366มาบังคับโดยไม่ขัดกับบทบัญญัติในบรรพ6ซึ่ง ตามมาตรา1363ก็บัญญัติให้สิทธิเจ้าของร่วมคนหนึ่งมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ ได้ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็น ทายาทจึงมีหน้าที่ต้องบอกทรัพย์มรดกตามที่รู้ทั้งหมดแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ จัดการมรดกตามมาตรา1735แม้จำเลยจะเป็นเจ้าของร่วมอยู่จำเลยก็ยังมิได้เป็น เจ้าของโดยเฉพาะเจาะจงและทายาทอื่นมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ได้โจทก์ในฐานะ ผู้จัดการมรดกจึงมี อำนาจฟ้องจำเลยให้ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วม และส่งมอบใบจองกับโฉนดที่ดินเพื่อโจทก์จะนำไปแบ่งปันให้ทายาทต่อไปได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบการถือครองที่ดินและเอกสารใบ จองและโฉนดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้โจทก์เพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยแต่ก็ถือได้ว่าจำเลยให้การ ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาที่ดินและใบจองกับโฉนดที่ดินจากจำเลย หรือจำเลยไม่ต้องส่งมอบใบจองและโฉนดที่ดินให้โจทก์เท่านั้นจึงเป็นคดีฟ้องขอ ให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่เป็นคดีพิพาทอัน เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2538

จำเลยทั้งสองให้การว่า จ. ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาขายลดเช็คในฐานะผู้ให้สัญญาแต่ฝ่ายเดียว จึงเป็นคำเสนอของ จ. ยังไม่เกิดเป็นสัญญาที่บังคับได้ ดังนี้ คำให้การจำเลยทั้งสองดังกล่าวเท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่า จ. ได้ลงลายมือชื่อทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์แล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่า ตามปกติ จ. จะลงลายมือชื่อในเอกสารเป็นลายเซ็น ไม่ใช่ลายมือเขียน ลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาในสัญญาขายลดเช็คจะเป็นลายเซ็นของ จ. หรือไม่ ไม่ทราบ จึงฟังไม่ขึ้น สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็น หนังสือ เมื่อผู้ทำสัญญาได้ลงลายมือชื่อในสัญญาแล้วแม้จะมีพยานหรือไม่มีพยานลงลาย มือชื่อในสัญญา สัญญาก็มีผลบังคับได้หากจะมีการเพิ่มเติมชื่อพยานลงในสัญญาภายหลังโดยไม่ได้ แก้ไขข้อความก็ไม่ทำให้สัญญาเสียไป แม้ตามสัญญาขายลดเช็คจะมีข้อความว่า จ. นำเช็คมาขายเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ แต่ จ. ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์ไว้ว่า หากธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ จ. ก็ยินยอมชำระเงินให้ทันทีที่ได้รับแจ้งจากธนาคาร อันเป็นข้อสัญญาต่างหากว่า แม้เช็คจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ ผู้ขายเช็คก็ยินยอมใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ทันที ดังนั้น แม้เช็คจะเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และกำหนดอายุความฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้สิ้นไปแล้วโจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้อง เรียกให้ จ. ใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ได้ตามสัญญา กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความในการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาขายลดเช็คไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม จำเลยผู้จัดการมรดกของ จ. จึงไม่อาจอ้างอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1002 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จ. ได้ทำสัญญาขายลดเช็คแก่โจทก์ 2 ฉบับ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จ. จึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อ จ. ถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. จึงต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2535

การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่อยู่กินกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์บรรพ 5 ต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิม ฝ่ายชายได้ 2 ส่วนฝ่ายหญิงได้ 1 ส่วน


การยกให้ที่ดินที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สมบูรณ์ สำหรับปัญหาการครอบครองปรปักษ์นั้น มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัย


สินสมรสในส่วนของ ป. นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. สามีของป. จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนได้เพราะมิใช่มรดกของ ท. การที่จำเลยที่ 1โอนทรัพย์สินส่วนนี้ของ ป.ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 ต่อมา จึงไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่


สำหรับสินสมรสส่วนของ ท.นั้น เป็นมรดกของ ท. ซึ่ง ป.ภริยาของ ท. กับจำเลยที่ 1 น้องของ ท.มีสิทธิได้รับคนละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท.มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของ ท.โดยทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดก ได้ทำไปภายในขอบอำนาจตามป.พ.พ. มาตรา 1724 การขายทรัพย์มรดกเป็นเรื่องอยู่ภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งดัง ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1736 และมาตรา 1740 บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือโดยสมยอม กัน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237


จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป.จากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือรับโอนโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งเป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน แม้การโอนก่อนหน้านี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะไม่สุจริต ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ท.ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 คงต้องเพิกถอนเฉพาะการโอนในส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วน เท่านั้น


จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป. จากจำเลยที่ 1 โดยทราบว่ายังมีผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ 1 ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. และจำเลยที่ 1ยังมิได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์ผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอนในฐานะผู้จัดการมรดกมีส่วนได้ทรัพย์มรดกรายนี้ในฐานะทายาท ด้วยครึ่งหนึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะในส่วนที่เกินสิทธิของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโฉนดนี้ไม่เต็มทั้งแปลงโดยรับโอนเพียง 16 ไร่เศษ ในจำนวน 22 ไร่เศษ กล่าวคือต้องเพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่เกิน 1 ใน 3 ส่วน ของที่ดิน และเมื่อนำส่วนที่เพิกถอนไปรวมกับส่วนที่จำเลยที่ 1รับโอนไว้เองจำนวน 6 ไร่แล้ว ได้จำนวน 2 ใน 3 ส่วน ครบจำนวนตามสิทธิของโจทก์


จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดกยก อายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1755 แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วนนั้น ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท.จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธิ ป.เจ้าของหรือโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของ ท. 2 ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ท.นั้น การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 จะยกอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2535

ป. กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ป. ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1737 โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยได้รับมรดกของ ป. หรือไม่เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีตาม มาตรา1601,1738 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533

การ ที่ ผ. เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผ. รับรองแล้ว ทรัพย์มรดกของ ผ. เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ เหตุที่จำเลยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ผ.จาก อ.ผู้จัดการมรดกเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไปจำเลยจึงมี สิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำศพ ผ.ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิทีจะนำมาหักไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2532

เมื่อที่ดินแปลงหนึ่งของทรัพย์มรดกติด จำนองประกันหนี้ของ น.ทายาทคนหนึ่งอยู่ ทายาทผู้รับมรดกจึงต้อง รับภาระในหนี้จำนองโดย รับโอนที่ดินนั้นมาโดย ติด จำนอง ถ้า มีการบังคับจำนองโดย น.ไม่ชำระหนี้แล้ว ทายาทผู้รับมรดกคงรับผิดแต่ เฉพาะ ทรัพย์มรดกที่ตน รับโอนมา หรือหากตน ต้อง ชำระหนี้จำนองไปเท่าใดก็ชอบที่จะได้รับเงินใช้ คืนจาก น. ได้ ตาม สิทธิที่ได้รับ โอนมาจากเจ้ามรดกทายาทไม่มีสิทธิบังคับให้ น. ทำการไถ่ถอนจำนองหรือยกข้ออ้างในการที่ น. ไม่ทำการไถ่ถอนจำนองมาเป็นเหตุขัดข้องมิให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ ทายาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4772/2531

จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในส่วนแพ่ง ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ โดยให้จำเลยหาประกันสำหรับจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นร.ได้ เข้ามาทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า เมื่อคดีถึงที่สุดหากจำเลยแพ้คดีและไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ร.ยอมให้ บังคับคดีเอาจากที่ดินของร.แปลงที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน ดังนี้ จึงเป็นการที่ ร.ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันหนี้ของจำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ร.จะพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยกลับเป็นฝ่ายชนะคดีหรือจำเลยได้ชำระหนี้ แก่โจทก์แล้วเท่านั้น ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ร.ไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาค้ำประกันโดยที่โจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลง ยินยอมด้วยเพราะมิใช่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้ ซึ่งผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 699 และแม้ ร.จะถึงแก่กรรมไปก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตามแต่ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้นั้น โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาแก่ที่ดินอันเป็นกองมรดกของ ร.ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2525

ผู้ร้องเป็นผู้จัดการศพเจ้ามรดก ได้ออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพ เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์กองมรดกแต่ถือไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ เสียที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791/2523

สัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างอาคารที่โจทก์ทำไว้กับเจ้ามรดกนั้น เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาย่อมตกเป็นกองมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1600 โจทก์ต้องฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าสร้างอาคารดังกล่าวภาย ใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ตามมาตรา 1754


การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเคยฟ้อง บ. ผู้เช่าสร้างอาคารอีกรายหนึ่ง ไม่ให้เข้าไปทำการก่อสร้างในที่พิพาท และเคยเรียกโจทก์กับ บ. มาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทถือไม่ ได้ว่าจำเลยหรือกองมรดกยอมรับรู้สิทธิของโจทก์ตามสัญญาเช่าสร้างอาคารอันจะ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง