ผู้จัดการมรดก


มาตรา ๑๗๑๑ ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา ๑๗๑๒ ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้
(๑) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง
(๒) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา ๑๗๑๓ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์

(๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

(๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ

การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

มาตรา ๑๗๑๔ เมื่อศาลตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อการใดโดยเฉพาะ ผู้นั้นไม่จำต้องทำบัญชีทรัพย์มรดก เว้นแต่จะจำเป็นเพื่อการนั้น หรือศาลสั่งให้ทำ

มาตรา ๑๗๑๕ ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคนแต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา ๑๗๑๖ หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา ๑๗๑๗ ในเวลาใด ๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย แต่ต้องเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดกตายแล้วสิบห้าวัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งความถามไปยังผู้ที่ถูกตั้งเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้

ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความมิได้ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้งความนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิเสธ แต่การรับเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จะทำภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

มาตรา ๑๗๑๘ บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
(๑) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(๒) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(๓) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

มาตรา ๑๗๑๙ ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

มาตรา ๑๗๒๐ ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐๙ ถึง ๘๑๒, ๘๑๙, ๘๒๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้โดยอนุโลม และเมื่อเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ใช้มาตรา ๘๓๑ บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๗๒๑ ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้

มาตรา ๑๗๒๒ ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล

มาตรา ๑๗๒๓ ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก

มาตรา ๑๗๒๔ ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก

ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใดๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย

มาตรา ๑๗๒๕ ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอัน สมควร

มาตรา ๑๗๒๖ ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา ๑๗๒๗ ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง

แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

มาตรา ๑๗๒๘ ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
(๑) นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรมที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
(๒) นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๑๗๒๖ ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก หรือ
(๓) นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น

มาตรา ๑๗๒๙ ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้

บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย

บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตามมาตรา ๑๖๗๐ จะเป็นพยานในการทำบัญชีใดๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้

มาตรา ๑๗๓๐ ให้นำมาตรา ๑๕๖๓, ๑๕๖๔ วรรค ๑ และ ๒ และ ๑๕๖๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในระหว่างทายาทกับผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมและในระหว่างศาลกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง

มาตรา ๑๗๓๑ ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

มาตรา ๑๗๓๒ ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๗๒๘ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๗๓๓ การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่นๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๓๒ นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วย เอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว

คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2563
           การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562
        โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร หลักฐานทางทะเบียนราษฎรระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของ ข. กับ บ. สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงและน่าเชื่อถือมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงจะรับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562
        โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2562 
         ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ โดยข้อ 1 ของพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อผู้คัดค้านเป็นวัดทางคริสตศาสนามีที่ตั้งที่แน่นอนและอยู่ภายใต้สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยตามหนังสือรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ระบุว่าคริสตจักร ศ. สังกัดคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประกอบกับตามสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของผู้คัดค้านก็ระบุว่า มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อความตามพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1684 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด" ดังนี้ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมตีความตามความประสงค์ของผู้ตายว่า ผู้ตายประสงค์ที่จะยกที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเพื่อใช้ในกิจกรรมของผู้คัดค้าน เมื่อมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามตราสารการตั้งมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวระบุเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินไว้ว่า ได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์สุดแต่จะมีผู้ศรัทธาหรืออุทิศบริจาคให้ ดังนี้ ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยย่อมรับเอาที่ดินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ไว้ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นอีก เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4547/2562
          การขอตั้งผู้จัดการมรดก การเป็นผู้จัดการมรดก หรือการคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง ทายาทของผู้ร้องไม่อาจเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ ผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และถือว่าล่วงเลยเวลาที่ทนายผู้ร้องจะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่ผู้ร้องมอบหมายแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องอีกต่อไป การที่ผู้ร้องฎีกาโดยทนายผู้ร้องเป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาเป็นการไม่ชอบ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562
         ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562
         จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้ 

          จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2562 
         ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (1) ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นกรณีที่บุคคลอื่นนอกจากคู่ความได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคู่ความ ต้องดำเนินคดีไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก หาเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องของผู้ร้องไม่ และไม่ทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้อง เช่น กรณีศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะทิ้งฟ้องหรือถอนฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบมาตรา 132 (1) ศาลชั้นต้นมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ดังกล่าวต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562 
         ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562
         ในคดีไม่มีข้อพิพาท ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งหากผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านกลับกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้อย่างครบถ้วน เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง เลือดออกในโพรงสมองและสมองบวมอันเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ คำร้องคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้าน

         คำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายทำขึ้นจริง ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แม้คำคัดค้านจะไม่ได้บรรยายเรื่องผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมและพินัยกรรมเป็นโมฆะไว้ก็ตาม แต่ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2562 
         แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลง แต่ที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่ทำการแบ่งปันที่พิพาทดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ ทั้งจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามีที่ดินเพียงสองแปลงที่เป็นที่ดินมรดก ส่วนที่ดินอีกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันมรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินแปลงเดียวแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเอง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2562
        เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2562
         โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562
         ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562
        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด 

          เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้ จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2562
         แม้ฟ้องโจทก์ระบุชื่อโจทก์ว่า ฉ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วซึ่งไม่มีสภาพบุคคล ที่ถูกต้องระบุชื่อคู่ความว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฉ. โจทก์ก็ตาม แต่การบรรยายฟ้องเมื่ออ่านแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งการระบุชื่อคู่ความโดยนำชื่อ ฉ. ขึ้นก่อนก็ไม่ได้ทำให้จำเลยไม่เข้าใจหรือหลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับ ล. กรณีจึงเป็นการบรรยายฟ้องผิดพลาดเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับมีผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องโจทก์ไม่มีเจตนาไถ่ถอนจำนองจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ มิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องโดยตรง จำเลยจึงต้องยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่จำเลยยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เนื่องจากมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง คำฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่จำเลยโต้เถียงกรรมสิทธิ์โดยให้การต่อสู้ว่า ฉ. มิได้จดทะเบียนจำนอง แต่ได้ยกที่ดินทั้งสองแปลงตีใช้หนี้ให้แก่จำเลย ย่อมทำให้คดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินไถ่ถอนจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแต่ในสัญญากำหนดไว้ชัดแจ้ง โจทก์จึงต้องชำระดอกเบี้ยให้จำเลยตามสัญญา ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน 5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี การที่โจทก์นำสืบเรื่องขอไถ่ถอนจำนองว่ามีการโทรศัพท์แจ้งจำเลย จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแสดงเจตนาไถ่ถอนจำนองไปยังจำเลยวันใด แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นวันที่โจทก์แสดงเจตนาจะชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลย โจทก์จึงต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ยังต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยมีพฤติการณ์เป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้จากโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยผู้ผิดนัดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562
         ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2562
         การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้จะเป็นการเริ่มต้นแบบคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 แต่คำร้องขอของผู้ร้องมีเจตนาเพื่อใช้สิทธิทางศาลเพื่อยังให้ได้รับการรับรองคุ้มครองในสิทธิของตนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 คำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นคำคู่ความตามความหมายมาตรา 1 (5) อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือส่วนได้เสียของบุคคลที่สาม นอกจากนี้คำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว และสิทธิในการรับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่กล่าวว่า การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกระทบกระเทือนต่อส่วนได้เสียหรือสิทธิในการรับมรดกผู้ตายในส่วนของผู้คัดค้านและทายาทอื่นด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องได้ ผู้ร้องทราบก่อนยื่นคำร้องขอแล้วว่า ผู้ตายมีผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย และทราบที่อยู่ของทายาทที่เป็นผู้จัดการมรดกด้วย จึงอยู่ในวิสัยและเงื่อนไขที่ผู้ร้องสามารถส่งสำเนาคำร้องขอ และแจ้งวันนัดไต่สวนด้วยการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอโดยวิธีธรรมดาให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 72 ได้ ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะส่งคำคู่ความโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันนัดไต่สวนโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านและทายาทไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องก่อนตามมาตรา 21 (2) ถือเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในการส่งคำคู่ความ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562
         จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2561
           คดีแรก จ.สามี น. ฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจาก ส. กับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. ได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้ จ. ได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่ จ. เป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาว่า น. ได้สัญชาติไทยหลัง จ. แสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น น. ก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับ จ. สามี ดังนั้นสิทธิของ น. ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาทก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. มารดาให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน นั้น เป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งสองคดีก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่ การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของ ว. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้ คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามราคาที่ดินพิพาท มิใช่ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2561
          โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่ข้อกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ร. เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันเป็นการกำหนด การเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561 
         เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4716/2561
         โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินทรัพย์มรดกระหว่าง ต. ผู้จัดการมรดกกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้อ้างเหตุเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ด้วยประสงค์ให้ที่ดินกลับสู่กองมรดก และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินระหว่าง ต. กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะขาดอายุความ แต่ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก การที่ ต. โอนที่ดินให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2561
        ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561
        การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561
        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2561
           พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งสรุปใจความได้ดังนี้ มาตรา 21 คณะกรรมการหรือเลขาธิการอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทน โดยให้ประกาศเพื่อผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ถ้าผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้น มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินต้องมีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินก่อน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงจะพิจารณามีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ มิฉะนั้นคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินย่อมไม่ชอบ เพราะไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ได้ความจากคำเบิกความของว่าที่ร้อยตรี ป. ซึ่งเป็นพยานจำเลยเพียงปากเดียวว่า ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 แก่ ว. เพื่อให้มาให้ถ้อยคำและแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 25 มิถุนายน 2547 อันเป็นช่วงก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายให้ถือว่า ว. ซึ่งเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลถึงแก่ความตาย แต่ว่าที่ร้อยตรี ป. เบิกความตอบคำถามค้านว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งหนังสือดังกล่าวและไม่มีหลักฐานการส่งหนังสือดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ว. ทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 แล้ว ว. จึงไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว การที่ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 ไว้ทั้งที่ ว. ยังไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินนั้น คำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแต่ไม่สามารถจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 เพราะคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าว อันเป็นคำสั่งที่โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าวได้ และแม้คำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 เป็นคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินไม่ใช่คำสั่งของจำเลย แต่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทรัพย์สินของ ว. มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมีการออกคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการให้เพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561
           ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560
        ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2560
        ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนทายาททั้งหมด การที่ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ป. เพียงผู้เดียว ขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ประเด็นแห่งคดีระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองจึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ตายทำพินัยกรรม การที่ผู้ร้องคัดค้านมาร้องอ้างการสืบสิทธิผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรม ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องคัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวอีก อันเป็นประเด็นข้อพิพาทโต้เถียงอย่างเดียวกัน แม้ผู้ร้องคัดค้านไม่เคยเข้าเป็นคู่ความในคดีส่วนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อผู้ร้องคัดค้านร้องคัดค้านในประเด็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ต่อสู้แทนผู้ร้องคัดค้านแล้ว จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องคัดค้านจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องเคยส่งสำเนาพินัยกรรมพิพาทไปตรวจพิสูจน์แล้วยื่นเสนอเป็นพยานหลักฐานขอให้ศาลฎีกาใช้ประกอบการพิจารณา แต่ศาลฎีกาไม่อนุญาต คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องคัดค้าน ผู้ร้องคัดค้านจึงไม่อาจอ้างการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8570/2560
        ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า ผู้ร้องรื้อบ้านให้เช่าของผู้ตายแล้วเอาบ้านไม้ไปโดยทุจริต ทำให้กองมรดกได้รับความเสียหายนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนฎีกาที่ว่าผู้ร้องรื้อบ้านของผู้ตายและนำเงินที่ขายได้ไปใช้ส่วนตัวโดยพลการนั้น ผู้คัดค้านทั้งสี่นำสืบว่าผู้ร้องนำเงินจำนวนนี้ไปซ่อมแซมบ้านซึ่งผู้ตายพักอาศัย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบด้วย พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยไม่ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายเดียวจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าสมควรที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากที่ดินที่ระบุหลักฐานโฉนดที่ดินในพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายยังมีทรัพย์สินอื่นที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน ซึ่งหากผู้ตายมีเจตนาจะยกทรัพย์สินดังกล่าวให้ด้วยแล้ว ก็น่าที่จะระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อความที่ผู้ตายจะตัดทายาทอื่นไม่ให้รับมรดก จึงมีทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ดังนั้น หากศาลเห็นว่าการตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกอีกผู้หนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 ก็อ้างว่าผู้ร้องใช้การฉ้อฉลแสดงเจตนาหลอกลวงให้ผู้ตายโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และร่วมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรม ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงและพิพากษายกฟ้อง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ทำให้เชื่อว่าหากผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง การจัดการมรดกก็จะมีข้อขัดแย้งและเป็นอุปสรรคในการจัดการมรดกให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560 
           คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560
        ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2560
         ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของทายาทตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์หลังจากวันฟ้องตลอดเวลาที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาทได้ แม้วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจะเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งบริบูรณ์อยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหาได้สิ้นสุดลงไม่ ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนที่ดินพิพาท เป็นบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรง เพราะหากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560
         ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท 

       โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2560
        ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ช. การที่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้พยาบาลขณะที่ผู้ตายป่วย มิได้เป็นภริยาของผู้ตาย โดยได้ค่าจ้างจากผู้ตายเป็นรายเดือน ถือไม่ได้ว่าร่วมทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก เช่นนี้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ที่ว่าผู้คัดค้านไม่อาจอ้างว่าอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายและทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เพราะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ตายหย่าขาดจากผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการอ้างเหตุที่ผู้คัดค้านไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก นอกเหนือจากคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2560
        พันตำรวจตรี ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิตามข้อกำหนดพินัยกรรมแล้วแต่ไม่อาจจัดตั้งได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1679 วรรคท้าย บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผลและหลังจากนั้นพันตำรวจตรี ท. ได้จัดการแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง อันเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกระบุในพินัยกรรมยกให้แก่มูลนิธิที่จะจัดตั้งขึ้นโดยโอนไปเป็นของตนเองตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2527 การจัดการมรดกรายพิพาทจึงเสร็จสิ้นลงแล้ว ส่วนข้อที่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า พันตำรวจตรี ท. ทำผิดหน้าที่ โอนที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวไปเป็นของตนเอง ไม่ได้นำมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เป็นการไม่ชอบนั้น ก็ชอบที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อการจัดการมรดกรายพิพาทเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดการมรดกหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 อีกต่อไป ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเป็นคดีนี้ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสามจะไม่ได้กล่าวมาในคำคัดค้านอย่างชัดแจ้งถึงเรื่องอำนาจร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560
         แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560 
        เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2560 
         คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และฝ่ายผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ การที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอแต่กลับพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของคู่ความทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3536/2560
        ผู้ร้องนำสืบพยานและอ้างส่งสำเนาพินัยกรรมต่อศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีระบุพยาน และเป็นเอกสารที่ผู้ร้องต้องส่งสำเนาแก่ผู้คัดค้านแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ ก็ถือเป็นการไม่ชอบ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเพื่อให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและขอให้ตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดก โดยผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน คดีจึงมีประเด็นว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือ ส. เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่าที่ดินตามพินัยกรรมเป็นของผู้คัดค้านนั้น เป็นการอ้างว่ามิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยว่าที่ดินตามพินัยกรรม 4 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของผู้คัดค้าน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว ผู้ตายมาพบเจ้าพนักงานปกครอง และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วเจ้าพนักงานปกครองพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย เมื่อไปพบผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตแล้ว เจ้าพนักงานปกครองอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตาย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และพยานสองคนฟัง ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตายและพยานสองคนลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไป ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2560
         แม้ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย มิให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า "ข้าพเจ้าขอยกทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อข้าพเจ้าเป็นเจ้าของให้แก่ พ. และ น. ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตไปแล้ว" ซึ่งคำว่า "ทรัพย์สมบัติ" นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้หมายความไว้ว่า หมายถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองอันอาจใช้สอยแจกจ่ายได้ คำว่า "ทรัพย์สิน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนระดับชั้นประถม เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่ตนเองเป็นเจ้าของ ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คำว่า "ทรัพย์สมบัติ" เป็นคำธรรมดาที่ปุถุชนทั่วไปพอจะเข้าใจความหมายได้ว่าหมายถึงทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตาย ซึ่งรวมตลอดถึงอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน ที่มีชื่อของผู้ตายเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ร้องและ น. หากผู้ตายประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านหรือทายาทโดยธรรมอื่น ก็คงเขียนการยกทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ในพินัยกรรมให้ชัดแจ้งแล้ว เพราะแม้แต่ ส. และ ว. ผู้ตายยังเขียนไว้ในพินัยกรรม ให้ผู้ร้องและ น. อุปการะ ส. และ ว. ตลอดชีวิตด้วย แต่เนื่องจาก ว. ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายจึงขีดฆ่าชื่อของ ว. ออก ทั้งการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่ว่าจึงหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่ในวันทำพินัยกรรม เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแม้อาจจะมีทรัพย์มรดกอื่นของผู้ตายที่ยังไม่พบ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดในพินัยกรรมคือ หากมีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของทางเอกสารให้ตกแก่ผู้ร้องและ น. แต่จากคำเบิกความของผู้ร้องและผู้คัดค้านและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนยังไม่มีปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่ามีทรัพย์สินเช่นว่านั้นอีก ทรัพย์มรดกที่ปรากฏจึงตกเป็นของผู้ร้องและ น. เท่านั้น การตั้งผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ย่อมเกิดข้อขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงไม่สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560 
          คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม  

           สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง 

          เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 

           โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736 ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2560
           ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560
          ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2560
                คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2560
            ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องสอดทั้งสามที่ได้รับการยกให้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วโอนขายต่อไปยัง อ. ตั้งแต่ปี 2544 ที่ดินพิพาทจึงไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป ผู้ร้องสอดทั้งสามแม้จะเป็นทายาทของเจ้ามรดกก็ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทแล้ว เพราะย่อมต้องมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง และการที่ในปี 2550 จำเลยยังใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับเจ้าของที่ดิน ที่เคยแจ้งสูญหายไปนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในนามของเจ้ามรดก ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ทายาทของเจ้ามรดก การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทในการนำเดินสำรวจของจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกจึงเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทคนล่าสุดก็ย่อมเป็นเจ้าของมีสิทธิในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10318/2559
          โจทก์ฟ้องขอให้แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. มิได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมหรือฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมในฐานะผู้รับพินัยกรรม แม้จะมีคำขอให้จำเลยนำเงินจากกองมรดกของ อ. มาชำระให้แก่โจทก์ด้วย ก็เป็นเพียงการเรียกส่วนแบ่งคืนทุนและผลกำไรที่คำนวณได้จากการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับ อ. ซึ่งอยู่ในกองมรดกของ อ. เท่านั้น หาใช่คดีมรดกหรือคดีที่เจ้าหนี้ขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ แม้จะฟังว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว ฟ้องโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9315/2559
         คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9226/2559
         การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 42 เป็นกระบวนพิจารณาหนึ่งเพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย จำเลยจึงต้องให้การตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยทราบดีว่าตนเองเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกและศาลแพ่งยังมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับทายาทอื่นอีกด้วย จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่ชั้นชี้แจงกิจการและทรัพย์สินถึงสิทธิของจำเลยในทรัพย์มรดกแม้จะยังไม่มีการแบ่งหรือการจัดการและแม้จำเลยจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่นเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกรวม 2 ฉบับ ก็ตาม จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่า จำเลยไม่น่าจะได้รับทรัพย์มรดกเนื่องจากเมื่อคำนวณทรัพย์มรดกและหนี้ของกองมรดกแล้ว จำเลยคิดว่าไม่มีทรัพย์มรดกเหลือ จึงไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยต่อศาลโดยไม่แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าว ทั้งที่มีหน้าที่ต้องตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ และมีสิทธิที่จะได้รับมาทั้งหมดโดยละเอียด จึงเป็นการละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองต่อศาล จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (2) ประกอบมาตรา 42

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559
             โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559
              เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ 66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559
         ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559
             โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559
          จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558
        ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558
   จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ ส. จะทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากทำหนังสือปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับโอนประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14882/2558
    การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพียงอย่างเดียวของเจ้ามรดกมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็จะถือว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น จึงจะนำอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558
              พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558
         ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกสามราย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย" แต่เจ้ามรดกทั้งสามรายมีภูมิลำเนาต่างท้องที่กัน ตามมาตรา 5 บัญญัติว่า "คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นได้" เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าวมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณารวมกันได้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10454/2558
           การที่ ส. นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง 4 คดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้ ส. แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า กระทำในฐานะทายาทเจ้ามรดก และกระทำแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 851 แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือว่า ส. ได้รับแต่งตั้งจากทายาทอื่นและโจทก์ให้เป็นผู้กระทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 สัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำกับจำเลยซึ่งมีการตกลงแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทจึงไม่ผูกพันโจทก์ แม้การตกลงระหว่างบุคคลทั้งสองจะมีข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 และโจทก์เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์ในฐานะทายาทของเจ้ามรดกใช้สิทธิฟ้องเรียกคืนทรัพย์มรดกจากผู้ที่ได้รับไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9890 - 9891/2558
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดกของ ล. เจ้ามรดก โดยโจทก์ร่วมซึ่งเป็น ผู้จัดการมรดก เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์รวมอยู่ด้วย แม้ฟ้องโจทก์ระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเพียงระบุถึงสถานะของโจทก์ร่วมเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ล. ทั้งตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมก็กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสี่ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป โดยระบุรายละเอียดว่าโจทก์ร่วมได้ทรัพย์แต่ละรายการมาอย่างไร และให้การเพิ่มเติมภายหลังว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์โดยได้รับความเสียหายในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือเจ้าของรวม เป็นการแจ้งความในฐานะส่วนตัว มิใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล. ดังนั้นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ว่า เมื่อฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ได้ตามฟ้องโดยไม่จำต้องเป็นเจ้าของหรือเจ้าของรวมในทรัพย์ของกลาง จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9745/2558
           โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. และ ส. เจ้ามรดก ฟ้องเรียกเอาคืนทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 18 แปลง ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจากเจ้ามรดกทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกทั้งสองจะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เหลืออีก 10 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาจาก ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โดยชอบ และได้ครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอด โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทจำนวน 8 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองหรือไม่ และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกคนก่อนของ ส. โอนที่ดินพิพาทจำนวน 10 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ชัดแจ้งเสียก่อนแต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งคดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนและขอให้เพิกถอนนิติกรรมจากผู้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้มาโดยมิชอบอันเนื่องมาจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ยังไม่สิ้นสุดลงซึ่งมีอายุความกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความเกี่ยวกับการฟ้องคดีมรดกระหว่างทายาทมาปรับใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9704/2558
        คดีก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ผู้ตายโดยไม่มีพินัยกรรม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรของ ช. ซึ่ง ช. ให้การรับรองว่าเป็นบุตร ช. ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์มรดกของ ช. ทั้งหมดให้ผู้คัดค้านทั้งสอง ขอให้ยกคำร้องขอ และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ผู้ตาย คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าสมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีประเด็นต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ขณะที่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ ช. ทำขึ้นที่สำนักงานเขตวัฒนา โดยอ้างว่า ช. สำคัญผิดหรือถูกจำเลยทั้งสองกับพวกใช้กลฉ้อฉล เนื่องจากขณะทำพินัยกรรมไม่มีแพทย์ตรวจสอบร่างกายและจิตใจของ ช. ซึ่งมีอายุ 92 ปี ระหว่างป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคทางสมองผิดปกติ ช. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และไม่เข้าใจภาษาไทย ล่ามไม่ได้แปลพินัยกรรมให้ถูกต้อง พินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุจะต้องเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ ช. ทำไว้หรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมเช่นเดียวกัน ประเด็นของคดีทั้งสองจึงเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 - 9685/2558
          พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่ การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า 26 ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9129/2558
            การที่โจทก์กับนาง ท. ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในคดีก่อน นั้น ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องบุคคลภายนอกแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย เพราะหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์ในกองมรดก ทายาททุกคนย่อมได้รับประโยชน์ แต่การที่โจทก์กับนาง ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์กับนาง ท. และศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของโจทก์ในฐานะทายาทซึ่งเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกใช้สิทธิขัดกับทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่น คำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวคงผูกพันเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น หาได้ผูกพันทายาทอื่นหรือเจ้าของรวมคนอื่นไม่ เมื่อโจทก์ใช้อำนาจผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้อีก จึงเป็นคู่ความเดียวกันและมีประเด็นเดียวกัน คือ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กับคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำเฉพาะส่วนของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น แต่ในส่วนผู้จัดการมรดกหาได้เป็นฟ้องซ้ำด้วยไม่ ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน มุ่งหมายที่จะควบคุมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้รับโฉนดที่ดินไปเป็นของบุคคลอื่นจนกว่าจะพ้นระยะเวลาห้ามโอน เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือเป็นการโอนในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาง น. ตามคำสั่งศาลจดทะเบียนใส่ชื่อตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนมาเป็นชื่อตนเองในฐานะทายาทในวันเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นการโอนทางมรดก ซึ่งเข้าข้อยกเว้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะทายาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หลังจากพ้นระยะเวลาห้ามโอนแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8687 - 8688/2558
             เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย คำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผลต่อไป แต่ความรับผิดของผู้จัดการมรดกอันเกิดจากการจัดการมรดกมิชอบมิใช่เป็นการเฉพาะตัวจึงย่อมตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลอนุญาตให้ ท. เป็นคู่ความแทนที่จำเลยจึงชอบแล้ว พินัยกรรมมีลายมือชื่อพยานสองคนและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พยานในพินัยกรรมเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือในขณะเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานในพินัยกรรมทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1670 การที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้า ช. กับ ห. เมื่อบุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะทำพินัยกรรม ตามมาตรา 1665 พินัยกรรมจึงถูกต้องตามแบบและสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2558
   โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดก คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอ ให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ มีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้อง จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 (1) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6308/2558 แม้คำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าและผู้ร้องสอดทั้งสามตามอัตราส่วนแบ่งตามคำพิพากษา แต่เมื่อโจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าของรวมซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกทุกแปลงของผู้ตายอีกคนหนึ่งมิได้ยินยอมด้วย ต้องถือว่าการแบ่งทรัพย์สินนั้นจำเลยทั้งสี่ไม่อาจกระทำได้ด้วยความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคน ทั้งกรณีเป็นการแบ่งทรัพย์สิน มิใช่การทำนิติกรรมซึ่งโจทก์ที่ 5 จะให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่ในการแบ่งมรดกได้ โจทก์ที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับยึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดได้ เมื่อโจทก์ที่ 5 ร้องขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แต่การบังคับคดียังไม่แล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้ แม้จะพ้นกำหนดเวลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6089/2558
       แม้ผู้ตายเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินพิพาทและให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินพิพาทมาดังกล่าวก็หาใช่จะไม่มีผลใดๆ เสียเลย เพราะผู้ตายยังมีสิทธิได้รับผลตามบทบัญญัติ มาตรา 94 แห่ง ป.ที่ดิน ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดหรืออธิบดีกรมที่ดินอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ กรณีต้องถือว่าตราบใดที่ผู้ตายหรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หรือนำไปจำหน่ายตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 แล้วนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2558
            เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่า ค. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้ ต. และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. ใช้สิทธิฟ้องจำเลยในฐานะบริวารของ ต. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว เมื่อ ต. ถูกผูกพันโดยคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นบริวารของ ต. ออกไปจากที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2558
            คดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ผู้คัดค้านมิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้ถูกตัดไม่ให้รับมรดก ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องได้ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิยกเอาเหตุข้อขัดข้องในการแบ่งทรัพย์มรดกมาเป็นมูลกล่าวอ้างว่าผู้ร้องไม่ทำตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้ว เมื่อผู้คัดค้านมิได้ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงถึงที่สุด มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายอีกหาได้ไม่ การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยอ้างเหตุเป็นอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายอีก ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้คัดค้านจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558
              แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558
           ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้ ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
         การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง

      ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2558
            ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของจ่าสิบเอก ม. ผู้ตายแทนที่ร้อยตำรวจตรี ม. บิดาของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย และมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นย่าของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 352, 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
           โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2558
            ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ คดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หาใช่ผู้ตายตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ป.พ.พ. มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิของแต่ละคน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2558
           ที่ดินและบ้านพิพาท ป. ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น. และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น. จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์ ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้ การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 2 ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557
      ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18196/2557
          ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก จึงเป็นผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของกองมรดกที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาด การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ผู้ร้องจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อมีการบังคับคดีโดยนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อน ทั้งบุริมสิทธิของผู้ร้องไม่ปรากฏทางทะเบียน ดังนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถร้องขอให้บังคับตามสิทธิของตนได้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 318 ถึง 321

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17502/2557
            เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวผู้รับโอนทรัพย์มรดกและในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยไม่ชอบเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนและให้จำเลยโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกกลับคืนมาเป็นกองมรดกของ พ. เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากทายาทคนหนึ่ง จึงเป็นคดีมรดก จำเลยมีสิทธิยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์และบุตรทุกคนของ พ. ไม่เคยติดตามการจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เป็นเวลา 22 ปี นับแต่ พ. ถึงแก่ความตายและเกือบ 20 ปี นับแต่วันที่ ส. โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของ พ. จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ส. โอนที่ดินให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557
         สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557
            อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557
           ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15308/2557
               คดีเดิมของศาลชั้นต้น เรื่องขอจัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ร. เมื่อ ร. ถึงแก่ความตายและมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ว. ผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ บิดาของโจทก์และ ว. คือ ม. เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ร. เจ้ามรดก ร. หย่ากับสามีและไม่มีบุตร ม. ถึงแก่ความตายก่อน ร. ส่วน ธ. บุตรบุญธรรมของ ร. ขอสละมรดก ว. และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ม. ทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิรับมรดกของ ร. ถือว่า ว. และโจทก์อยู่ในฐานะเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคดีดังกล่าวแล้วว่า ร. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้เป็นผู้จัดการมรดก อันเป็นการวินิจฉัยว่าพินัยกรรมดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่พินัยกรรมปลอมหรือเกิดจากการถูกหลอกลวง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกโดยอ้างว่า ร. ไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลย แต่เกิดจากจำเลยกับพวกใช้อุบายหลอกลวง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14174/2557
            โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ เมื่อ ก. บิดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ด้วย แต่ อ. มารดาโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ก. หรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1754 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่า ก. ถึงแก่ความตายเมื่อใด แต่ตามคำฟ้องระบุว่า ก. ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่ อ. ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่ ก. ถึงแก่ความตายแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ แม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ก. ก็ตาม แต่ อ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของ อ. ทายาทโดยธรรมของ ก. ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2557
          การที่โจทก์ จำเลยและทายาททำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการมรดกของทายาทตระกูล อ. ว่าจำเลยเพียงผู้เดียวจะรับผิดในหนี้สินที่มีอยู่กับธนาคาร โดยทายาทยินยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้กิจการขายรถจักรยานยนต์บริษัท บ. จำกัด พร้อมหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว โดยให้กิจการเป็นของจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกและหนี้สินเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินตามบันทึกข้อตกลง ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ซึ่งเป็นมรดกของ จ. ให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 1,113,900 บาท และได้แบ่งปันให้ทายาทโดยธรรมบางส่วนแล้วยกเว้นจำเลยกับทายาทบางคนยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาทโดยธรรมทุกคนในอัตราส่วนคนละเท่า ๆ กัน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39247 ที่โจทก์ขายไปและกล่าวไว้ในฟ้องเดิมว่ายังไม่ได้แบ่งให้จำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์มรดกรายเดียวกันกับที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องเดิม จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ชอบที่จะว่ากล่าวให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน จำเลยไม่จำต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีต่างหากตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557
         ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12093/2557
                แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แต่จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุในคำให้การว่าโจทก์ฟ้องเกินสิบปี จึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างคือ อายุความมรดกตามมาตรา 1754 จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามมาตรา 1733 วรรคสอง แม้จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกก็ตาม แต่จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยยกอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ฎีกาข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11902/2557

            การแก้ไขข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงที่เสนอต่อศาลแต่แรก ผู้คัดค้านต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นได้ก่อนนั้น หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (3) และ 180 คดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน หากผู้คัดค้านจะยื่นคำร้องขอแก้ไขพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำคัดค้านจึงต้องยื่นก่อนวันสืบพยานในวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 จึงล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผู้คัดค้านอ้างว่าเพิ่งค้นพบพินัยกรรมฉบับใหม่ในเดือนมีนาคม 2552 หากผู้คัดค้านประสงค์จะเปลี่ยนพินัยกรรมตามคำคัดค้านเป็นพินัยกรรมฉบับใหม่ก็สามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ขณะนั้น การที่ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องภายหลังทราบผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของ ม. ตามพินัยกรรมท้ายคำคัดค้าน และมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรและไม่ใช่กรณีขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านชอบแล้ว

      แม้ผู้คัดค้านจะมีคำขอให้มีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โดยมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ร่วมกับผู้ร้องก็ตาม แต่หากศาลเห็นว่าการแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการมรดกยิ่งขึ้น ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลยพินิจแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557

            จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง

   เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11628/2557

           จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แต่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก โดยปราศจากความยินยอมของทายาททุกคนจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง กรณีมิอาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้ายมาใช้บังคับได้ เพราะมาตราดังกล่าวจะใช้บังคับต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9554 - 9555/2557
              คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556
        โจทก์ที่ 1 ขอให้ ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. สามีตน ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรม ป. มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2518 โดยโจทก์ที่ 1 ร้องขอต่อศาล แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะตั้งผู้จัดการมรดกโดยเร็วเพื่อนำทรัพย์มรดกของ ป. มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในโฉนดเลขที่ 4134 ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันว่าก่อนที่จะตกลงซื้อขายที่ดิน ป. พาโจทก์ที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 2 ที่บ้านปรึกษาระหว่างพี่น้องในเรื่องการขายที่ดิน น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทราบถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่าง ป. กับจำเลยที่ 2 ก่อนแล้ว การขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4134 ทำการซื้อขายโดยเปิดเผย สุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยมีการซื้อขายในราคา 500,000 บาท เท่ากับราคาที่ได้ระบุเอาไว้ในคำสั่งของศาลแพ่งขณะตั้ง ป. เป็นผู้จัดการมรดกและมีพยานรู้เห็นในการทำสัญญาสองคน ทั้งในท้ายสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนตามเอกสารหมาย ล.2 ป. ยังให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ด้วยว่า ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มีความจำเป็นขายที่ดินส่วนนี้เพื่อนำเงินไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ช. เป็นความจริง เห็นได้ว่าการซื้อขายเป็นไปโดยสุจริตปราศจากการฉ้อฉลหลอกลวง และ ป. มิได้มีส่วนได้เสียกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์แก่กองมรดกแต่ประการใด ป. ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9497/2552
        แม้พินัยกรรมฉบับที่ 2 ของผู้ตาย มีข้อความเขียนระบุไว้ว่า "บุคคลที่ข้าพเจ้าไม่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ให้รับมรดกของข้าพเจ้าแต่อย่างใด" ก็ตาม แต่นอกจากที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแล้วยังมีทรัพย์มรดกอื่น ๆ นอกพินัยกรรมอีกหลายรายการ อีกทั้งในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวก็ไม่มีข้อความใด ๆ ที่ระบุให้จำหน่ายทรัพย์มรดกอื่น ๆ ที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมเสียทั้งหมดและมิได้ระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกไว้ให้ชัดเจนตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมซึ่งมีผู้ร้องรวมอยู่ด้วยเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ผู้ร้องจึงยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตามประเด็นข้อกฎหมายที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ที่ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ต. ผู้ตายนั้นหมายความว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิที่จะจัดการมรดกของผู้ตายเฉพาะที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเท่านั้น โดยผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีสิทิและหน้าที่ที่จะไปจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมหรือที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวแต่อย่างใดใช่หรือไม่ เพียงใด เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกทั้งเป็นเรื่องนอกประเด็น เพราะประเด็นในคดีนี้มีเพียงว่าผู้คัดค้านที่ 2 เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 2 จะจัดการทรัพย์มรดกที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ข้ออ้างข้อเถียงของผู้ร้องในเรื่องนี้เกี่ยวข้องพาดพิงถึงการวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับก่อนในคดีเดียวกันนี้ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปในทางเสียหายต่อคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวขึ้นได้ จึงเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวในศาลล่าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544 ที่พิพากษาตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ต. ผู้ตายโดยกำหนดให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายนั้นมีความหมายว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1711 โดยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 มิได้จำกัดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการมรดกเฉพาะเท่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น แต่ให้มีอำนาจในการจัดการมรดกโดยทั่วไป ซึ่งหมายความถึงทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายเท่าที่มีอยู่ไม่ว่าจะระบุไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการที่ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำพิพากษาศาลฎีกา 8045/2544 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมหรือที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมแต่ประการใดนั้น เป็นการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับมาแปลความเบี่ยงเบนกล่าวอ้างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองเพื่อให้ได้เป็นผู้จัดการมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกอื่น ๆ ที่ผู้ตายมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมอันเป็นการไม่ชอบ ตามคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ว่า ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น หาได้ขอให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไม่ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะนำสืบและอุทธรณ์ฎีกาขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ศาลไม่อาจมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เพราะเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2552
        ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาระหว่างจำเลยที่ 1 และ ผ. เจ้ามรดกเป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ว่าเป็นสินสมรส

         ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง เป็นมรดกของ ผ. กึ่งหนึ่งตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ. เป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงได้ก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและ ได้จดทะเบียนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2552
        ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และจำเลยที่ 1 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ สินสมรสส่วนของ ส. กึ่งหนึ่งจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดก เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบท บัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาทเพราะบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 6 ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น

       การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของ ส. บางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของ ส. และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. อีกคนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722

     ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ไม่ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งมีโจทก์ทั้งห้ารวมอยู่ด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. และโจทก์ทั้งห้าที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. คนหนึ่ง จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำโดยตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723

      เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ท. ได้ครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกตาย โดยทายาทคนอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าว ด้วยแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่า ท. ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวแทนทายาทอื่น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตาม มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

    เมื่อสิทธิในทรัพย์มรดกตกแก่ ท. โดยสมบูรณ์ นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นทายาทของ ท. ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาทอื่นจะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ ตาม มาตรา 1755

    การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินทรัพย์มรดกภายหลัง จากที่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 สิ้นสิทธิในการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกแล้ว เป็นการยื่นเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียน เพื่อให้ ท. ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์ มรดกไปโดยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2551
        จำเลย ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวโดยไม่มี จำเลยที่ 1 ร่วมด้วยขัดต่อมาตรา 1726 จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2551
สถานสงเคราะห์คนชรา ฉ. มิได้เป็นนิติบุคคล แต่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด น. การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมระบุให้ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์คนชรา ฉ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เป็นการแต่งตั้งบุคคลธรรมดามีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ให้เป็นผู้ จัดการมรดกไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งสถานสงเคราะห์แต่อย่างใดเมื่อผู้ร้องซึ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์คนชรา ฉ. ในภายหลังได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย แต่การแต่งตั้งผู้ร้องหามีผลสมบูรณ์โดยเด็ดขาดไม่ เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าพินัยกรรมปลอม กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ทั้งผู้คัดค้านยังขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายด้วย ศาลชั้นต้นจะสั่งงดไต่สวนแล้วสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องไม่ได้ แต่ต้องไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องกับผู้คัดค้าน และมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2551
การที่ทายาทคนหนึ่งฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกถือเป็นการฟ้องแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5722/2551
ผู้ร้องกับผู้คัดค้านมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินซึ่ง เป็นมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด คงพิพาทกันเพียงว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ประโยชน์ของผู้คัดค้านในคดีนี้จึงอยู่ที่การจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตายหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้คัดค้านที่ขอให้อายัดทรัพย์มรดกและห้ามผู้ ร้องทำนิติกรรมใดเกี่ยวกับทรัพย์มรดกจึงไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของผู้คัดค้าน ที่มีอยู่ในคดี อันพึงจะต้องให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาดังบัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551
ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาผู้ตายจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัคค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2551
แม้ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ร่วมกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ผู้จัดการมรดกจะต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมทุกคน การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ในฐานะเจ้าหนี้และผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียวโดย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งรู้เห็นยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการ มรดกร่วมกันแล้ว ประกอบกับการทำหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่การทำสัญญาหนังสือรับสภาพหนี้เป็น หนังสือที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง ส่วนเจ้าหนี้หาจำต้องเป็นคู่สัญญาด้วยไม่ เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้กู้ยืมเงิน ส. เจ้ามรดก แม้โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะมิได้ลงชื่อด้วยหรือลงชื่อแต่เพียงผู้เดียว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ผู้ยอมรับสภาพหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2551
คดีนี้ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก แต่การตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมกรณีนี้หามีผลสมบูรณ์โดยเด็ดขาดไม่ เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้ว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายจึงเป็นพินัยกรรมปลอม กรณีจึงถือว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397 - 1399/2551
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติ สนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่ง อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกัน เหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็น จริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ บิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2551
ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรง หากทายาทที่มีสิทธิรับมรดกถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับส่วนแบ่งมรดก ผู้สืบสิทธิของทายาทก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายมีสิทธิเรียก ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้

ส. เป็นบิดาของ ศ. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ศ. ย่อมตกทอดได้แก่ทายาทของ ศ. ซึ่งรวมทั้ง ส. ด้วย แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ส่วนที่ตกได้แก่ ส. จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งรวมทั้ง ภ. บิดาผู้ร้อง ต่อมา ภ. ถึงแก่ความตายอีก ทรัพย์มรดกส่วนนี้ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ภ. ผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิของทายาทโดยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ภ. ย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ศ. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ของ ศ. ได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และ ภ. อ้างว่าเนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกเกี่ยวกับ ที่ดิน ซึ่งมีชื่อ ศ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น และ ภ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ตามคำสั่งศาลถึงแก่ความตายไป อันเป็นผลทำให้ไม่มีผู้จัดการทรัพย์มรดกของ ศ. และการจัดการทรัพย์มรดกของ ศ. ยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อผู้ร้องมีสิทธิร้องขอจัดการทรัพย์มรดกคือที่ดินของ ศ. แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะมาร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และ ภ. ในที่ดินแปลงเดียวกันนั้นอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551
การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิ อาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดิน พิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2550
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล อ้างว่าจำเลยจัดการมรดกโดยทำบัญชีทรัพย์มรดกและแบ่งมรดกไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง เมื่อยังมีทรัพย์มรดกที่จำเลยจะต้องแบ่งให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกยังไม่ สิ้นสุดลง จึงยังไม่เริ่มนับอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว และโดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 การที่จำเลยครอบครองที่ดินซึ่งมีส่วนเป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2550
ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนมีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 ซึ่งใช้บังคับโดย พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับรองแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิ ได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ ตาย และไม่อาจฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่มีผลบังคับได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้ทำ พินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตายและไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงใช้บังคับไม่ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมในขณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พินัยกรรมของผู้ตายมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และ ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย ก็บัญญัติให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามเจตนาของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเป็นมารดาและทายาทของผู้ตายก็ไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการ มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550
ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับ พินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดใน พินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตาม นิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2550
พระภิกษุ พ. มีถิ่นที่อยู่ 2 แห่ง คือที่วัด ห. และวัดผู้คัดค้าน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น จึงต้องถือว่าวัด ห. เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุ พ. อีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อพระภิกษุ พ. มีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะเป็นพนักงานอัยการย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2549
นอกจากผู้คัดค้านกับผู้ตายจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยตามปกติธรรมดาของสามีภริยาทั่วไปแล้ว ผู้คัดค้านยังได้เข้าค้ำจุนช่วยเหลือธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยยอมเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้ตายในการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่อีกด้วย ซึ่งการเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมดังกล่าว ทำให้ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยจากกองมรดกของผู้ตายเพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น ทั้งยังเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดาที่มีเหนือผู้ตายได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลที่ต้องถูกกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่อันเนื่องจาก การจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการ มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2549
คดีก่อนผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้อีกขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการของผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านกับขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกด้วย คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นการร้องซ้อนกับคำร้องขอที่ตนได้ยื่นไว้แล้ว ต้องห้ามมิให้ผู้คัดค้านร้องขอในเรื่องเดียวกันอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ส่วนคำร้องขอของผู้ร้องนั้น เมื่อมรดกรายนี้มีคำสั่งถึงที่สุดตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้อีก เนื่องจากเหตุจะสั่งถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นไม่ใช่ประเด็นคดีนี้ ผู้ร้องชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเสียก่อน คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ตั้งผู้จัดการมรดกรายเดียวกันนี้อีกจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2549
กฎหมายบัญญัติเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตาม พฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เมื่อได้ความว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรคนโตของผู้ตายไม่ค่อยได้ติดต่อกับผู้ตาย รวมทั้งไม่ได้ไปร่วมในงานบำเพ็ญกุศลของผู้ตาย โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่กับยายตั้งแต่เล็กและแต่งงานแยกครอบครัวไปตั้งแต่ปี 2509 แสดงว่าผู้ร้องค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับผู้ตาย การที่จะให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกน่าจะไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดกผู้ ตาย กอปรกับผู้ร้องก็รับว่าทายาทผู้ตายมีความเห็นแตกต่างเป็นสองฝ่าย อีกทั้งผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและไม่น่าไว้วางใจ ทำให้มีเหตุเชื่อว่าหากตั้งผู้ร้องให้ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การจัดการมรดกน่าจะไม่ราบรื่นและไม่เป็นไปตามเจตนาของเจ้ามรดก การตั้งผู้คัดค้านแต่ฝ่ายเดียวให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงน่าจะเหมาะ สมกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2549
ขณะที่ผู้ร้องและ ป. ผู้ตายทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันนั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมีข้อกำหนดห้าม ป. โอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 และยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และถึงแม้ว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา ห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดิน แปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2549
แม้ว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันได้โดยผู้คัดค้านยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียว แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเป็นการตกลงกันในประเด็นแห่งคดีเพียงบางข้อ เพราะมีประเด็นที่ศาลจำต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ววินิจฉัยถึงสิทธิและคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายเสียก่อน ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามยอมให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมได้

ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตายเป็นส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคแรก มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และผู้ร้องมีคุณสมบัติในการเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย กับมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ประกอบกับผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันได้ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงผู้เดียว จึงเห็นควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฝ่ายเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2549
แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเนื่อง จากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงจาก จำเลยเป็นการใช้สิทธิที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วน แบ่งทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นในที่ดินทั้งสองแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1725 ประกอบมาตรา 1357

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2549
ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อ 2 ได้กำหนดยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้รับพินัยกรรมแล้ว เพียงแต่ให้ผู้รับพินัยกรรมนำผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินดังกล่าวไปก่อตั้ง มูลนิธิซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจะดำเนินการต่อไปหลังจาก ทรัพย์มรดกตกเป็นของผู้รับพินัยกรรม และมรดกได้ก่อเกิดผลประโยชน์แล้ว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)

ข้อความตามข้อกำหนดในข้อ 3 นั้นระบุว่าเงินสดยกให้ ส. และผู้ร้องเป็นผู้ดูแล จากข้อความดังกล่าวกำหนดให้ผู้ร้องและ ส. เป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้นหาได้ยกกรรมสิทธิ์เงินสดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและ ส. ไม่ และไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ายกเงินสดดังกล่าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมาก น้อยเพียงใดข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 3 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) (3)

เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 3 ตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกส่วนนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้ง สามเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดก อื่นฝ่ายเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2548
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างว่าทรัพย์สินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์ของเจ้า มรดกแต่เป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เหตุตามกฎหมายดังกล่าวอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็น ผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2548
ร. ผู้จัดการมรดกผู้ตายจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนดัง กล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548
การที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลง แบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดัง กล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อม ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2548
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องไม่เหมาะสม ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ จัดการมรดกและมีเหตุสมควรที่จะตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ปัญหาที่ว่าผู้ ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่แท้จริงในที่ดินอันเป็นมูลจัดการมรดกจึง เป็นเรื่องนอกประเด็น

ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของผู้ตาย ผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย แต่เนื่องจากผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ตายในที่ดินถือว่าผู้ร้อง เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ส่วนผู้คัดค้านมิได้ มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการจัดตั้งผู้จัดการมรดก ทั้งไม่มีสิทธิขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกเฉพาะในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ ร้องในที่ดินดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548
ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่ น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2547
ป.พ.พ. มาตรา 1719 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำ สั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก" ตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดก เพื่อแบ่งปันแก่ทายาท เมื่อ ส. เจ้ามรดกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้เพื่อนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกดัง กล่าวมาแบ่งปันให้ทายาทต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9295/2547
การที่ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตน เองซึ่งไม่ใช่ทายาท แม้จะเป็นการตอบแทนการเอาเงินส่วนตัวชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนกองมรดก อันเป็นการจัดการมรดกทั่วไป ก็ไม่มีอำนาจกระทำเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เมื่อผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมอนุญาตและ ป. ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลจึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1722 ย่อมตกเป็นโมฆะ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2547
ป.พ.พ. มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 (2) บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการ มรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้าน เพียงฝ่ายเดียวแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้ร้องได้จัดทำบัญชี ทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาแล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการเดียวว่า ไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านและเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด อยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับ กิจการร้านค้าของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควรกรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะ ถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2545
อำนาจของผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษและเป็นผู้จัดการมรดกตาม คำสั่งศาลแห่งประเทศอังกฤษจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศใดย่อมเป็นไปตามพระราช บัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงเรื่องอำนาจของผู้จัดการมรดกว่า ต้องใช้กฎหมายใดบังคับ กรณีจึงต้องใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับ ซึ่งตามกฎเกณฑ์ทั่วไปนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับอาจเป็นกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา เมื่อโจทก์มีสัญชาติอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้หลักกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมได้แก่กฎหมายแห่งประเทศอังกฤษแต่การที่ต้อง ใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้ เห็นว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นบัญญัติไว้อย่างไร เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นเป็นที่ชัดแจ้งว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษ บัญญัติไว้เช่นนั้นจริง กรณีนี้จึงต้องใช้กฎหมายภายในประเทศไทยบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 บัญญัติถึงเรื่องการที่บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ถ้าผู้จัดการมรดกบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้ โดยลำพัง แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลร่วมกับจ. จึงไม่อาจนำมาตรา 1715 มาใช้บังคับได้เมื่อ จ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์เพียงคนเดียวจะฟ้องคดีนี้ต่อไปตามลำพังโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่ง อนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2544
จำเลย ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมากไม่ชอบด้วยประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 จึงไม่ผูกพันกองมรดกตามมาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลัง ไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอ ให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้า หนี้เสียเปรียบโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามมาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7448/2544
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และมาตรา 1729 จะกำหนดให้ผู้ร้องต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามที่ กฎหมายระบุไว้ และรูปแบบบัญชีจะต้องทำตามแบบในมาตรา 1729 ก็ตาม แต่ขณะผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกต่อจาก ส. มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จัดการอยู่เพียง 2 รายการ คือ ที่ดิน 2 แปลงเท่านั้นและผู้ร้องได้ทำบัญชีไว้แล้ว แม้จะไม่ทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดก็ตาม เมื่อทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องจะต้องจัดการมีเพียง 2 รายการ และมิได้มีข้อยุ่งยากแก่การจัดการ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามรูปแบบและภายในเวลาที่กฎหมาย กำหนดไว้ในมาตรา 1729 กรณียังไม่พอถือว่าผู้ร้องมิได้ทำบัญชีทรัพย์สินอันเป็นการเพิกเฉยไม่ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดก กรณียังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกมิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กระทำ ไปในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีมรดกไม่ใช่คดีจัดการมรดก

เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการ จัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการ ตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครอง แทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วง พ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 ทั้งนี้ ตามมาตรา 1748

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2543
ผู้ร้องรับผิดเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมถึง ห. ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) และ 1087 เมื่อ ห. ถึงแก่ความตาย ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรจึงตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และ 1600 และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จึงต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคง อยู่ในระหว่างจัดการซึ่งผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1736 การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทน ห. ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของห. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่กองมรดกค้างชำระอยู่

การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้อีกฉบับหนึ่งหลังจากฉบับแรก 9 เดือน ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างไปอีกคราวหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับที่สองทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและ ในฐานะผู้จัดการมรดกของห. เนื่องจากจำเลยทำบันทึกดังกล่าวขึ้นเพื่อขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากร ค้างตามที่ได้มีการทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับแรก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะทายาท โดยธรรมตามมาตรา 1737

แม้จำเลยจะทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โดยไม่โต้แย้งทั้งสิ้น แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของ ห. เจ้ามรดกนั้น ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 นอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 1724 ด้วย ปัญหานี้เป็น ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากร ศาลฎีกามีอำนาจ ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543
ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้ การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดย ทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเอง จะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิ ใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของ กฎหมาย จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้เพียงแต่ผู้จัดการ มรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทโดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะ ตัวแทนมาใช้ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตาม หน้าที่ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729,1731,1726,1732 และ 1727 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองทายาท และศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาท ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5141/2543
ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1723 โจทก์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก จึงไม่อาจจัดการมรดกได้โดยตนเอง ทั้งเหตุที่ต้องโทษจำคุกก็เนื่องมาจากการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตน ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็น ผู้จัดการมรดก

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 ที่ห้ามผู้ที่ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์กับกองทรัพย์มรดกที่ตนเองเป็นผู้จัดการมรดก มิใช่หมายความว่า กฎหมายเปิดโอกาสให้ตั้งผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2543
แม้ที่ดินที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสกับผู้ ร้องอันเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย แต่ผู้ร้องก็เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดย ธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 วรรคสอง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 และตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้จำกัดเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นที่จะร้องขอ ไม่ เมื่อผู้ร้องขอมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ร้องจึงเป็นผู้ที่มีสิทธิรับมรดกย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกโดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จ จริงว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาล ชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ในปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ และข้อให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่ การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2543
การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย ผู้ตายจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย หากการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัย เนื่องจากที่ดินของผู้ตายที่ออกโฉนดในภายหลังต้องห้ามไม่ให้โอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน ทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคแรก ไม่ต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่ผู้ตายหามีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดินตอบแทนไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 372 วรรคแรก ผู้ตายจึงต้องคืนเงินราคาที่ดินให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ตายยังมิได้คืนเงิน ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย และกรณีมีเหตุจำเป็น ประกอบกับผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่เคยถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนล้มละลายมาก่อน ทั้งไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2543
ผู้ตายเป็นป้าของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 โดยผู้คัดค้านที่ 1เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ร้อง ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ตายพักอาศัยอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 และช่วยเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 2 มาตั้งแต่ผู้คัดค้านที่ 2 ยังเป็นเด็ก เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 2 ก็เลี้ยงดูผู้ตายตลอดมาจนถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา ผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตรส่วนบิดามารดาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ผู้ตายทำพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นผู้รับพินัยกรรม แต่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกตามพินัยกรรม ผู้ร้องจึงมิได้เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก จึงไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2542
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกนั้นจะต้องเป็นค่าใช้ จ่ายที่ได้เสียไปจริงและเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระตามกฎหมาย จึงสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากกองมรดกได้ แม้การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอาจจะมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและค่าใช้ จ่ายอย่างอื่นตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่เมื่อไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าได้ เสียไปจริงและเป็นสิ่งที่ต้องชำระตามกฎหมายแล้ว ถึงโจทก์มิได้คัดค้านจำเลยทั้งสองก็ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักจากกองมรดกได้ สำหรับค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1721 ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรมหรือ ทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ เมื่อเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้และทายาทจำนวนข้างมากมิได้ยินยอมให้จำเลย หักค่าใช้จ่าย ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ แต่สำหรับค่าจัดการศพซึ่งรวมอยู่ในค่าทำบุญสร้างศาลาการเปรียญนั้น เนื่องจากการจัดการศพเป็นสิ่งจำเป็นอันต้องจัดการตามจารีตประเพณีค่าใช้จ่าย ส่วนนี้ผู้จัดการมรดกย่อมนำมาหักจากกองมรดกก่อนแบ่งปันแก่ทายาทได้ตามกฎหมาย การที่ทายาทในสายเดียวกันกับโจทก์จะยอมรับเงินทรัพย์มรดกจำนวนเพียงใดก็เป็น เรื่องเฉพาะของทายาทแต่ละคน เมื่อโจทก์ยังมิได้รับทรัพย์มรดก สิทธิของโจทก์จะมีเพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2542
โจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากตึกแถวพิพาทจนมีคำ พิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายชนะคดีและได้มีการบังคับคดีในเวลาต่อมา โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ กรณีเป็นเรื่องมีผู้จัดการมรดกหลายคน โจทก์ทั้งสามแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2คัดค้านคำร้องของ โจทก์ที่ 3 ที่ขอให้งดการบังคับคดีกรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 1726 โจทก์ที่ 3 ไม่อาจกระทำได้โดยลำพัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2542
แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกจากธนาคารก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่ง เป็นทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องย่อมไม่สามารถจัดการ แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดิน จากธนาคารไม่ใช่เหตุที่จะอ้างไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่ผู้ร้องไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเพราะเหตุดังกล่าว จึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเป็นบุตรเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องเป็นมารดาผู้คัดค้านและเป็นภริยาเจ้ามรดกและทุกฝ่ายทราบดีอยู่ แล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง การที่ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาปิดบัง ทรัพย์มรดก ส่วนเรื่องผู้ร้องไม่เรียกประชุมทายาทก็ปรากฏว่าทายาทของเจ้ามรดกบางคนอยู่ ต่างประเทศบางคนอยู่ต่างจังหวัดจึงเป็นการยากที่จะจัดประชุมทายาทดังนั้น ที่ผู้ร้องไม่จัดประชุมทายาทเพราะเหตุดังกล่าวมาจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องละเลย ไม่ทำการตามหน้าที่ และแม้ผู้ร้องจะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729บัญญัติไว้ก็ตาม แต่มาตรา 1731 ก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุสมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็น ผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8073/2542
เมื่อที่ดินตามคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ ร้องอ้างว่าเป็นมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ ตายแม้ภายหลังผู้ตายถึงแก่กรรม เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธไม่ยอมแก้ไขชื่อในโฉนดที่ดินจากผู้ตายมาเป็นของผู้ร้องก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกล่าวแต่เพียงว่า ที่ดินตามคำร้องขอเป็นของผู้ตายและเป็นมรดกตกได้แก่ผู้คัดค้าน และผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทของผู้ตาย ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินมรดกเท่านั้น แต่ผู้คัดค้านไม่ได้กล่าวอ้างว่า มีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำ ร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นกัน

ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างโต้เถียงกันว่า ฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินตามคำร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อฝ่ายใดเห็นว่าตนถูกอีกฝ่ายโต้แย้งสิทธิในที่ดินดังกล่าว ก็ชอบที่จะเสนอคดีของตนเรียกร้องเอาที่ดินจากฝ่ายที่โต้แย้งโดยตรงอย่างคดี มีข้อพิพาทกรณีไม่จำเป็นต้องตั้งผู้จัดการมรดกเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่ กองมรดก กรณีของผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1)(2) ที่จะใช้สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกรายนี้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7719/2542
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลได้จัดการแบ่งปันที่ดินมรดก ตามคำสั่งเสียของผู้ตาย โดยทายาททุกคนรวมตลอดทั้งผู้คัดค้านตกลงยินยอม การจัดการมรดกของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อทายาทอื่นรวมทั้งผู้คัดค้านได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกในส่วนของตนไป แล้ว และไม่มีทรัพย์มรดกอื่นต้องแบ่งแก่ทายาทต่อไป การจัดการมรดกย่อมสิ้นสุดตั้งแต่บัดนั้น ความเป็นผู้จัดการมรดกตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ย่อมสิ้นสุดลงผู้คัดค้านจึงไม่อาจขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ได้ แม้ผู้คัดค้านจะยังไม่ใช้สิทธิขอจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินมรดกที่กันไว้ เป็นทางเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของตนตามข้อตกลงก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5130/2541
ที่ผู้ร้องยื่นคำแก้ฎีกาว่า หลังจากการพิจารณาคดีนี้ผู้ร้องพบว่า ส. น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วมีบุตรซึ่งยังมี ชีวิตอยู่อีก 3 คนบุคคลทั้งสามคนดังกล่าวเป็นทายาทมรดกแทนที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายใน ลำดับก่อนผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เมื่อมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย แม้ผู้ร้องจะมิได้ระบุในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้คัด ค้านเป็นทายาทของผู้ตาย ก็ยังถือ ไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทายาทหรือปิดบังทรัพย์มรดก การที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ในคำร้องดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการ มรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดและตามคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่าผู้ร้องไปขอเบิก เงิน จากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคาร ออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้ จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่อย่างใดไม่ และหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภาย ใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้น อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัด มิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้อง จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2541
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 66 และ 67 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่นั้นไม่อยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุ ประสงค์ของตนดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หรือโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นโดยสภาพมิใช่สิทธิและหน้าที่ที่จะ พึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดา และบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ย่อมนำมาใช้แก่นิติบุคคลได้เท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามนิติบุคคลมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วย อีกทั้งตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องได้ระบุไว้ในข้อ 5 ว่า มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีดังต่อไปนี้... ข.ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้เป็นพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดในหนี้สินแต่ประการใด... การตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ จึงอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่และไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2535
ข้อกำหนดพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านเป็นส่วนใหญ่และตั้งพันโทหญิง ม. และนาง ม. บุตรผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านให้ทนายความแจ้งไปยังพันโทหญิงม.และ นางม.ว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ คนทั้งสองได้รับหนังสือแล้วไม่ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายใน 1 เดือน นับแต่วันรับแจ้งความ ถือได้ว่าคนทั้งสองปฏิเสธที่จะรับเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1717 ไม่สมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการ....มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2538
เมื่อผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามที่พินัยกรรมกำหนด ไว้การจัดการมรดกจึงยังไม่เสร็จสิ้นแม้ต่อมาผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมจะถึง แก่ความตายผู้จัดการมรดกก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการตามที่จำเป็นเพื่อให้การ เป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดแห่งพินัยกรรมโดยการสืบหาทายาทของผู้รับทรัพย์ตาม พินัยกรรมเพื่อแจ้งให้ทราบและรับโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวของผู้รับทรัพย์ตาม พินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1719ซึ่งไม่ใช่เป็นการจัดการ มรดกของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5022/2533
การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วย ถึงแม้ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1718 ก็ตามแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องไม่มีความสุจริตใจในการรักษาผล ประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก จึงไม่เหมาะสมที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1410/2529
น. และจำเลยที่1ผู้จัดการมรดกของส. ต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกโดยน. เป็นภรรยาจำเลยที่1เป็นบุตรการที่บุคคลทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์ มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้วมิใช่เป็นการ กระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก. ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลเป็นกรณีที่ศาลอาจถอนผู้ จัดการมรดกเสียได้เท่านั้นหาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลถอนผู้จัดการมรดกอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดก ยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไป หมดแล้วในวันที่29ตุลาคม2518ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันดัง กล่าวโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกเมื่อวันที่4มิถุนายน2524เกิน กว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา1733 คำฟ้องโจทก์มิได้แสดงโดยแจ้งชัดให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกก็ดีจำเลยก็ดีได้ กระทำการใดๆอันจะถือได้ว่าเป็นการรับสภาพความผิดต่อโจทก์ตามป.พ.พ. มาตรา172หรือกระทำการอื่นใดอันจะถือว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุ ความตามป.พ.พ.มาตรา192จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นปัญหาเรื่อง นี้เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชนศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย