ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก

มาตรา ๑๐๔๙ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่

มาตรา ๑๐๕๐ การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา ๑๐๕๑ ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป

มาตรา ๑๐๕๒ บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

มาตรา ๑๐๕๓ ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่

มาตรา ๑๐๕๔ บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กอง ทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใด ๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2551
จำเลย ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ก็หามีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551
จำเลย และ พ. กับพี่น้องตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านค้าร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่ง ปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่ พ. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำ หนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนอันเป็นไปในทาง ที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น ตามมาตรา 1050

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2548
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยา และเป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คนในห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำชื่อของตนไประคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่แรกเริ่มจัดตั้งห้างจำเลยที่ 1 และได้ร่วมกันกู้เงินธนาคารมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันและเป็นทุนดำเนิน กิจการของห้างจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1082

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1025 ห้างหุ้นส่วนสามัญคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับ ผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ดังนั้นบุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1054 จึงบัญญัติให้รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญเสมือน เป็นหุ้นส่วน คือต้องรับผิดโดยไม่มีจำกัดจำนวนหนี้ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองประเภทคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีความผิดไม่เท่ากัน จึงไม่อาจนำมาตรา 1054 มาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทใด จึงได้บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อบังคับใช้กับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดไว้โดยเฉพาะในมาตรา 1082 โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดย ปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็น ชื่อห้างรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
จำเลยที่ 4 ไม่ใช่หุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 แม้จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างจำเลย ที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2543
จำเลยร่วมกับ ส. และ ม. เป็นหุ้นส่วนกันในสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญอันมิได้จดทะเบียนทำธุรกิจในกิจการ รับถมดินให้แก่จำเลย แต่จำเลยร่วมเพียงผู้เดียวทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างถมดินให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาว่าจ้างถมดินเอกสารหมาย จ. 3 ส. และ ม. มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แม้บุคคลทั้งสองจะเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยร่วมก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ ส. และ ม. จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าว่าจ้างถมดินตามสัญญาว่าจ้างถม ดินเอกสารหมาย จ. 3 สิทธิเรียกร้องค่าจ้างถมดินจากจำเลยตามสัญญานี้จึงเป็นของจำเลยร่วมแต่เพียง ผู้เดียว ดังนั้น จำเลยร่วมแต่เพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจโอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อจำเลย ตามสัญญาว่าจ้างถมดินเอกสารหมาย จ. 3 ให้แก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยร่วมได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 โอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างถมดินที่จำเลยร่วมมีสิทธิได้รับจากจำเลยให้แก่ โจทก์ โดยจำเลยร่วมจะไม่ยกเลิกเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามหนังสือยืน ยันหนี้เอกสารหมาย จ. 5 และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 จำเลยได้รับแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์แล้ว อันเป็นการปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่ ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้แล้ว สิทธิเรียกร้องของจำเลยร่วมในการรับเงินค่าจ้างถมดินจากจำเลยจึงตกเป็นของ โจทก์ตั้งแต่นั้น จำเลยร่วมย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวอีกต่อไป ภายหลังจากนั้นจำเลยร่วมหามีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว หาได้ไม่ ดังนั้นหนังสือขอเบิกเงินค่าจ้างถมดินส่วนที่เหลือ ที่จำเลยร่วมทำให้ไว้ต่อจำเลยในภายหลังว่าไม่ประสงค์จะมอบหรือโอนสิทธิให้ ผู้อื่นมารับแทนโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้นหามีผลไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2541
ตามที่ปรากฏในสำนวนจำเลยไม่เคยกล่าวถึงการเป็น หุ้นส่วนกับผู้ร้องหรือการเป็นตัวแทนของผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ จึงไม่อาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันมีต่อตัว แทนก่อนที่จะรู้ว่าผู้ร้องเป็นตัวแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 806 และในเรื่องหุ้นส่วนผู้ร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏ ชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ตามมาตรา 1049 เช่นกัน สิทธิของผู้ร้อง ที่อาจมีอยู่หรือได้มาก็โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่มีอยู่และ แสดงออกต่อบุคคลภายนอกหรือโจทก์เท่านั้นเสมือนหนึ่ง เป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยหรือเป็นบริวารของจำเลย ดังนั้น ในชั้นบังคับคดีผู้ร้องย่อมไม่อาจอ้างอำนาจพิเศษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3) มาใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2540
จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันประกอบกิจการรับจ้างถมดิน ทราย และลูกรัง โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบส่งมอบงานและรับค่าจ้างถมดินด้วยและหุ้นส่วนทุกคนจะรับผิด ชอบในกิจการดังกล่าวจนแล้วเสร็จการที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างช่วงให้โจทก์ถมดินในที่ดินบางส่วนซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับผู้ว่าจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้รับมอบหมายจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นโดยตรง แต่กิจการที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นก็เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้างทันตามสัญญา จึงอยู่ภายในกรอบแห่งวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายโดยตรงของการจัดตั้งห้าง หุ้นส่วนอันถือได้ว่าเป็นการจัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้น ส่วนด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในกิจการที่ว่าจ้างนั้น และต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น เพราะจัดการไปเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2538
จำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนกันในการซื้อขายที่ดินพิพาทแม้จำเลยที่2และที่3มิได้ เป็นคู่สัญญาในสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีจำเลยที่1เพียงผู้เดียวลงลายมือชื่อ เป็นผู้จะขายและโจทก์ที่1เป็นผู้จะซื้อสัญญาดังกล่าวก็ผูกพันจำเลยที่2และ ที่3ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1050ส่วนโจทก์ที่2ถึงที่8นั้น ไม่ปรากฏชื่อหรือได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาด้วยทั้งไม่มีหลักฐานอื่นใด มาสนับสนุนว่าเป็นหุ้นส่วนหรือตัวแทนตัวการกันสัญญาดังกล่าวใช้บังคับกันได้ ระหว่างโจทก์ที่1กับจำเลยที่1ถึงที่3เท่านั้นโจทก์ที่2ถึงที่8จึงไม่มีอำนาจ ฟ้องจำเลยที่1ถึงที่3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3754/2538
จำเลยที่ 1 มิได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 4 มิได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกัน ถือว่าจำเลยที่ 1 รับว่าทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันแล้ว จึงไม่ต้องนำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวทั้งสองฉบับปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่

ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งระบุว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำ การแทนนิติบุคคลโจทก์จะต้องมาเบิกความเป็นพยานด้วย เมื่อโจทก์นำพยานที่รู้เห็นเกี่ยวข้องมาสืบประกอบพยานเอกสารฟังได้ตามฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ไม่จำต้องนำสืบกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1087 ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เท่านั้นเป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และตามมาตรา 1052 บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ?จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537
จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528และโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้น ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เมษายน 2530 เพื่อให้ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่โดยหนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุ แจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2534
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าผิดสัญญาซื้อขาย โดยจำเลยที่ 1ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมไปจากโจทก์ และได้รับสินค้าถูกต้องครบถ้วนแล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ไว้ด้วยว่า ในระหว่างที่เกิดมูลคดีนี้ จำเลยที่ 4เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3และประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้างเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้ เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 และมาตรา 1052 จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดกับห้างจำเลยที่ 1 แม้โจทก์ผู้อ้างเอกสารจะมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อน 3 วันแต่เมื่อศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อ สำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารนั้น ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)