สิทธิครอบครอบครอง ครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6445/2562
        จำเลยที่ 4 ได้รับการยกให้จากบิดา จากนั้นเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและแบ่งปันที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนโจทก์ยึดที่ดินพิพาท เป็นการอ้างว่า ผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่เมื่อสิทธิของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน ย่อมต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริตแต่ประการใด จึงต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ย่อมอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันกับโจทก์ได้ และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2562
         ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ "ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม" โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562
         โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2562
         ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ที่จะใช้ยันรัฐได้ การขออนุญาตเข้าจับจองก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) มาตรา 27 และมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า "ที่ดินที่จะจัดให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามความในมาตรา 20 (1) และมาตรา 27 แห่ง ป.ที่ดิน ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือมิใช่ที่เขา ที่ภูเขา (2)......." ระเบียบดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 22 ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงแม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามมาตรา 33 ก็ต้องอยู่ในบังคับของระเบียบดังกล่าว เมื่อการขออนุญาตจับจองในที่ดินพิพาทและการอนุญาตให้จับจองของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยมิชอบ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่จะยื่นคำขอเพื่อขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมายเลข 23 ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ให้จำแนกป่าหมายเลข 23 โดยให้จำแนกพื้นที่บางส่วนออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีมติให้จำแนกพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวร และมอบให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งพ้นจากสภาพป่าไม้ถาวรแล้วจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงไปปฏิรูปและจัดให้เกษตรกรเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2562
          แม้ว่าภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาท ภ.บ.ท. 5 เลขสำรวจที่ 250 หมู่ที่ 4 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาจาก ส. สามีจำเลย โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วได้มีการเปลี่ยนชื่อโจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแทนจำเลย ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งประชาชนอาจมีสิทธิครอบครองได้โดยการครอบครอง แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2550 จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาท และนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2556 ให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 12 และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ 12 และผู้ร้องที่ 1 แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องที่ 6 และที่ 8 ตามลำดับ และผู้ร้องที่ 3 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลย ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 และที่ 15 ไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2562
          โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยมิได้กำหนดว่าคดีของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามราคาที่ดินพิพาท จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา รวมทั้งมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมา ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบและโจทก์สามารถอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือให้ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2562 
           เดิมพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง กระทำด้วยประการใด ๆ ในที่ดินพิพาทอันเป็นการทำลายป่า และเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54 และ 72 ตรี ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินแปลงใดที่ยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินย่อมเป็นป่าทั้งสิ้นโดยไม่จำต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานของทางราชการมาแสดงว่าเป็นป่าแต่อย่างใด จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) พิสูจน์ไม่ได้ว่าตนได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน เท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้รัฐได้ จึงมีความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบในที่ดินพิพาท ขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็ย่อมเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2562
          คดีก่อนที่ ช. ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยมีประเด็นพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ช. หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของ ช. ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยขอเข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทของ ช. และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่ความคือโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทของ ช. มิให้โต้เถียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกับโจทก์อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และจำเลยในฐานะผู้สืบสิทธิของ ช. จะโต้เถียงโดยให้การและฟ้องแย้งในคดีนี้ว่า จำเลยแย่งการครอบครองและได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีการฟ้องคดีเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการกล่าวอ้างให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงขัดกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีเดิมที่วินิจฉัยว่า ในช่วงเวลาพิพาทในคดีเดิมโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยชอบที่จะกล่าวอ้างการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ได้ก็แต่เมื่อเป็นการกระทำภายหลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมแล้ว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมเพียง 4 เดือนเศษ จำเลยย่อมไม่มีทางได้สิทธิครอบครองโดยการแย่งการครอบครองตามที่อ้าง  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3454 - 3455/2562
          การครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) ของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากนิคมที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงว่า นิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดให้ที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้ถือครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องทั้งสอง และไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม โดยผ่านกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับสิทธิ ทั้งยังจะต้องถือครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายระบุไว้อีกด้วย และฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้าง จึงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562
           เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562
           โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2562 
          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561
          โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ 

               การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 

            กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424 

            เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8385/2561
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ 35 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องและพิพากษาให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของผู้คัดค้าน ส่วนผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามอ้างว่าผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมีเนื้อที่เพียง 2 งานเศษ ส่วนที่เหลือผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าและชาวบ้านร่วมกันเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ากล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เกินเนื้อที่ 2 งานเศษ ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์เป็นที่ดินที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงมีข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านและเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าโต้แย้งกรรมสิทธิ์ทั้งกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในที่ดินส่วนดังกล่าว ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จำเป็นต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตน ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงร้องสอดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ร้องตกลงรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องยอมออกจากที่ดินพิพาทแล้ว และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าเข้ามาเป็นคู่ความในคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งหมดก็จะทำให้คดีต้องล่าช้าไม่เป็นประโยชน์แก่คู่กรณี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าไปฟ้องเป็นคดีใหม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7628/2561
             คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับส่งมอบที่ดินคืนและชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และต้องพิจารณาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณสมบัติกับปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 รวมทั้งระเบียบของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ เป็นฎีกาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6964/2561
       แม้โจทก์จะเป็นบุตรของ บ. เจ้าของกรรมสิทธ์รถยนต์และเป็นผู้ถือครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2561 
        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน และประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จึงเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้วและข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ผู้คัดค้านเพียงแต่อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2561
         ที่ดินพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) จำเลยทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2561
          จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561
         ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6833/2560
          ผู้ร้องทั้งสองบรรยายข้อเท็จจริงในคำร้องขอทำนองว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตแนวของโฉนดที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องทั้งสองเข้าใจมาตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองหรือเป็นที่ดินที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองนำโฉนดที่ดินมาแสดงและอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ผู้ร้องทั้งสองจึงร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านทั้งสอง ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของผู้ร้องทั้งสองในการยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้ว่า ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง แต่เป็นการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของผู้คัดค้านทั้งสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7603/2560
               ที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2558 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3815 เนื้อที่ 66 ตารางวา ถูกแบ่งแยกไว้เพื่อให้ที่ดินแปลงจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะโดยเจ้าของที่ดินจัดสรรได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาก่อนจำเลยทำประตูและรั้วปิดกั้นทางพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 เป็นทางส่วนบุคคลที่เจ้าของมีเจตนาแบ่งแยกให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรและมีการใช้ประโยชน์เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จำเลยจะทำประตูกั้นทาง ถนนซอยตามโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรที่อยู่ข้างเคียงโดยอายุความแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมด้วยซึ่งความเป็นภารยทรัพย์นี้ ย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ในเวลาต่อมาแต่อย่างใด ขณะ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ส. ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาเกิน 10 ปี แสดงว่า ส. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของตน ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ด้วย โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 อันเป็นสามยทรัพย์มาจาก ส. ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย โจทก์จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางพิพาทอันเป็นภาระจำยอม การที่จำเลยทำประตูเลื่อนปิดเปิดและกำแพงรั้วสังกะสีปิดกั้นทางพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560
           การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2560
          จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2560
          การยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89431 ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้แทนจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้นำยึด ซึ่งได้ความว่าก่อนนำยึดที่ดินดังกล่าวผู้แทนจำเลยได้สืบหาและตรวจสอบทรัพย์สิน บ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา พบว่า บ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว จึงแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยผู้แทนจำเลยถ่ายรูปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแนบท้ายรายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยมีสถานที่ตั้งที่ดินตามแผนที่การไปที่ผู้แทนจำเลยจัดทำแนบท้ายประกาศขายทอดตลาด การที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยต้องนำส่งภาพถ่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปหรือที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ก่อนตัดสินใจเข้าประมูลซื้อ ทั้งนี้จำเลยหรือผู้แทนต้องทำข้อตกลงหรือสัญญาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรองว่าทรัพย์ที่นำยึดและจะขายทอดตลาดถูกต้องตามสภาพและทำเลที่ตั้งของทรัพย์ตามภาพถ่ายและแผนที่การไปที่นำส่งตามประกาศขายทอดตลาด และความถูกต้องตามกฎหมายของทะเบียนหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองและภาระติดพันของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด หากเกิดความผิดพลาดหรือเสียหายประการใดจำเลยยินยอมเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึดให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด การที่ผู้แทนจำเลยแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยนำส่งภาพถ่ายและแผนที่การไปแสดงสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อทรัพย์ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำเตือนผู้ซื้อว่าก่อนเข้าสู้ราคาผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศและถือว่าผู้ซื้อทราบถึงสภาพทรัพย์นั้นโดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็ได้ความว่า โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินตามสถานที่และแผนที่การไปตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ที่ดินมีสถานที่ตั้งและสภาพตรงตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเข้าสู้ราคา ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2560
         โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องและให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จ. แล้วแย่งการครอบครองโดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. ว่าไม่มีเจตนายึดที่ดินพิพาทแทน จ. ต่อไป คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง จ. บิดาจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ทั้งสอง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยโจทก์ทั้งสองมิได้แก้ฎีกาว่า ส. บิดาโจทก์ที่ 2 เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ จ. หรือบริษัท ร. แล้วโจทก์ที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจาก จ. จึงเป็นการครอบครองแทน จ. บิดาจำเลยด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ จ. ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์ทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9243/2559
          การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 38 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ของผู้คัดค้านโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันเป็นการขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดิน แต่ในชั้นพิจารณาผู้ร้องกลับนำสืบอ้างว่าที่ดินที่ครอบครองอยู่นอกเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 18296 ที่เช่าจากผู้คัดค้านและเป็นที่ดินที่ตนเองครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา จึงเป็นการนำสืบนอกเหนือจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานโดยนำข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีว่า ที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองปรปักษ์อยู่นอกเขตที่ดินของผู้คัดค้านและมีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่ผู้ร้องครอบครอง แม้ผลแห่งคดีเป็นการยกคำร้องขอของผู้ร้อง ก็เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวพันกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านเป็นอันตกไปเพราะไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ จึงต้องรับฟังว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 ส่วนปัญหาที่ว่าการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องตกไปเพราะข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ตามคำร้องขอ และปัญหาเรื่องการออกโฉนดที่ดินชอบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 18296 และการออกโฉนดทับที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำร้องขอ

มาตรา ๑๓๖๗ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา ๑๓๖๘ บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา ๑๓๖๙ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน

มาตรา ๑๓๗๐ ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย

มาตรา ๑๓๗๑ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราวท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา

มาตรา ๑๓๗๒ สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย

มาตรา ๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

มาตรา ๑๓๗๔ ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน

มาตรา ๑๓๗๕ ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

มาตรา ๑๓๗๖ ถ้าจะต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่บุคคลผู้มีสิทธิเอาคืนไซร้ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึง ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๓๗๗ ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง

ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง

มาตรา ๑๓๗๘ การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

มาตรา ๑๓๗๙ ถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนยึดถือทรัพย์สินอยู่แล้ว ท่านว่าการโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำเพียงแสดงเจตนาก็ได้

มาตรา ๑๓๘๐ การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผล แม้ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน

ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่ การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้

มาตรา ๑๓๘๑ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

มาตรา ๑๓๘๒ บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2559 
        ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 39 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเพื่อประโยชน์ของเจ้าของห้องชุดซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดใช้สิทธิของเจ้าของร่วมในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้อีกด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาท จนเป็นเหตุให้เจ้าของห้องชุดและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางพิพาทเพื่อเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกจากถนนสาธารณะสู่อาคารชุดโจทก์ได้ดังเดิม การที่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทและให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะที่โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดนั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2558) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2559 
           เดิม ห. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้ขับไล่ ห. ออกจากที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 ให้ ห. และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา โดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นร้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีคำร้องขอและตัวผู้ร้องที่ผู้คัดค้านจะฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559 
             ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) 

            การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14861/2558 
          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระบุราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 399,000 บาท ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาให้จำเลยครบตั้งแต่ปี 2543 โดยมีสำเนาใบเสร็จรับเงินมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่เอกสารดังกล่าวมีรายการชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 27 กันยายน 2541 และมียอดเงินที่ชำระเพียง 64,000 บาท ส่วนที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตั้งแต่ปี 2541 ก็เป็นการเข้าครอบครองทรัพย์สินก่อนเวลาที่ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2543 จึงมิใช่พฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ร้องปฏิบัติการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องเคยเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้ร้องชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยครบตามสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ร้องยังไม่ชำระหนี้ของตนจึงไม่มีสิทธิขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ตอบแทนด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามสัญญา ทั้งกรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทางนิติกรรม คดีจึงไม่มีประเด็นว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2558 
           โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินในโครงการเป็นผู้สร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทเอง เมื่อจำเลยมิได้ปิดกั้นที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์ไม่จัดให้มีที่กลับรถเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการที่มีที่กลับรถเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 32 เป็นการที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนนสวนสนามเด็กเล่นให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ประกอบกับมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่ภาระจำยอมที่เกิดขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินก่อสร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทที่ได้กันไว้เป็นที่กลับรถอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนของโครงการ แต่ที่ดินพิพาทอยู่ภายในรั้วบ้านของจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันจะทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับ ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มาด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11238/2558 
           โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งห้าอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสัดส่วน เนื้อที่ 70 ตารางวา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า ให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าโต้เถียงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้าจึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ส่วนคำขอท้ายฟ้องแย้งแม้จะขอมาเป็นข้อเดียว แต่แยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า กับส่วนที่สองขอให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า ถึงแม้คำขอท้ายฟ้องแย้งส่วนที่สองจะไม่มีกฎหมายให้ศาลบังคับโจทก์ปฏิบัติเช่นนั้น ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องแย้งในส่วนที่สองเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นจะต้องสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ไว้พิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558 
            ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558 
           การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558 
           จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วยไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2558 
        การที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองที่ดินนั้นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 18 ปีนั้น เป็นการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยทั้งหกกระทำโดยไม่สุจริตและโจทก์ทั้งสี่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งมิได้มีคำขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสี่อันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557 
         อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15402/2557 
         การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน อันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำร้องขอของผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2557 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน 29 แปลง ซึ่งการพิจารณาคดีศาลจะต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกัน รวมถึงเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์เป็นรายแปลง แม้โจทก์จะมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีการกล่าวแก้ข้อพิพาทว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 12,000 บาท และคำนวณราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงแล้วไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้น ชอบแล้ว
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556 
          แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13107/2556 
           โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามตราจองอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ต่อมาบิดามารดายกที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง แต่กลับให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองจึงขัดกับคำให้การส่วนแรก เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดา จึงยังอยู่ในประเด็นข้อพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2556 
             ขณะจำเลยทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ บิดาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทได้เอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่มีมูลความจริง และขัดต่อเหตุผลดังที่ระบุในสัญญาดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากโจทก์สามารถดำเนินการจนทำให้จำเลยสามารถได้กรรมสิทธิ์ จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ 6 ส่วน โดยจำเลยได้ 1 ส่วน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ป. โดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. แสดงว่าการที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ การทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีใจความเช่นนี้จึงมีสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ ซึ่งหลังจากทำสัญญาดังกล่าวมีการไปยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจนมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ย่อมต้องคำนึงถึงการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่ หลอกลวง หรือกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. และจำเลยก็กล่าวแก้ว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ทำให้ที่ดินตกเป็นของจำเลยโดยผลของกฎหมายแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์แพ้คดีกลับอ้างข้อต่อสู้ของจำเลยมาเป็นประโยชน์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้ ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง หาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2555 
        เดิมจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 โจทก์เป็นบุตรเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถึงแก่ความตายแล้วฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว พอจะแปลความหมายได้ว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินพิพาท และครอบครองโดยความสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะขอให้คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555 
            จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12746/2555 
          ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12735/2555 
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555 
         ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ 

         หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของ อ. บ. และ ค. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555 
         โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ในที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555 
             แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ 

         ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2555 
         คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน เท่ากับอ้างว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีผลสมบูรณ์บังคับได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นของ ส. แล้ว และอ้างว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของโจทก์เท่านั้น อันแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2554 
        จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2554
           การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2554 
        คำให้การของจำเลยที่ว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจำเลยเอง หากไม่ใช่ที่ดินของจำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะคำให้การของจำเลยในตอนหลังขัดแย้งกันคำให้การของจำเลยในตอนแรกคำให้การในตอนหลังนี้เท่ากับจำเลยได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยแต่จำเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี เมื่อคำให้การของจำเลยขัดแย้งกัน จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
       จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

        การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2018/2552
      นิติสัมพันธ์ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านสำหรับที่ดินพิพาทตามสัญญาที่มีต่อกันครั้ง ล่าสุดเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย การครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของผู้คัดค้านอัน เป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เท่านั้น หากผู้ร้องประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ผู้ร้องก็ชอบที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1381 โดยบอกกล่าวไปยังผู้คัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้ คัดค้านอีกต่อไป

กรณีที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องเพื่อให้ยินยอมให้ผู้ คัดค้านไถ่ถอนจำนองที่ดิน พิพาทซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2530 นั้น คำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งแม้จะผูกพันผู้ร้องกับผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และอาจจะก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะดำเนินการบังคับผู้คัดค้านให้จด ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อขายที่มีต่อกัน หากผู้ร้องปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จะซื้อครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่จะให้รับฟังข้อเท็จจริงถึงขั้นว่าหากผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ภายหลังจากเสร็จคดีตลอดมา ก็จะต้องถือว่าโดยพฤติการณ์เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ที่ดินพิพาทมาเป็นยึดถือเพื่อตนแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงต่างประเด็นกัน ฉะนั้น จึงไม่อาจนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551
จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดโดยไม่ได้ ทำสัญญาเช่าใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือ เพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึด ถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่า ไม่มีเจตนายึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2551
จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดย จ. และเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียน แบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2551
ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ที่ให้จำเลยเช่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ แม้จะครอบครองทำประโยชน์นานเท่าใดก็ไม่อาจอ้างการแย่งการครอบครองในที่ดิน พิพาทได้ นอกจากจะได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่ มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป เมื่อคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจำเลย จึงไม่อาจอ้างเหตุแย่งการครอบครองเกิน 1 ปี ตามคำให้การของจำเลยมายันโจทก์ได้ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2550
พ.ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทโดยขออาศัยสิทธิของ ส. จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทสืบต่อจาก พ. จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้อาศัยเช่นเดียวกับ พ. แม้โจทก์จะมิได้ห้ามปรามขณะจำเลยปลูกบ้านหลังใหม่แทนบ้านหลังเดิมของ พ. ก็หาทำให้ฐานะของจำเลยที่เป็นเพียงผู้อาศัยเปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของ และไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นยันโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2550
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2521 ส. ขายที่ดินและบ้านพิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้ พ. ในเดือนพฤศจิกายน 2526 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้ในระหว่างนั้น พ. จะยังไม่ได้สิทธิครอบครอง เนื่องจากถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ถือว่า พ. ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแทน ส. แต่เมื่อ พ. ยังคงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนแล้วเป็น เวลานานประมาณ 6 ปี โดย พ. ถึงแก่ความตายเมื่อกลางปี 2537 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมา และ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530 ก่อนครบกำหนดเวลาห้ามโอน แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. เพื่อกล่าวอ้างสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทในปี 2537 โดยก่อนหน้าที่ พ. จะถึงแก่ความตายนั้น โจทก์และทายาทของ ส. ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่ พ. ไม่อาจทราบได้ว่าตนยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนผู้ใด อันจะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าโจทก์และทายาทของ ส. สละเจตนาครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทแล้ว การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ พ. จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน พ. ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7422 - 7426/2549
น.ได้แบ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าเป็นบางส่วนที่ผู้ร้องแต่ละคน ครอบครองอยู่พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินให้ผู้ร้องแต่ละคนเข้าทำ ประโยชน์ในที่ดินได้ โดย น. สัญญาว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องแต่ละคนในภายหลังตามเนื้อที่ ที่ผู้ร้องแต่ละคนซื้อ แต่ น. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โดยยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่ผู้ร้อง แต่ละคน แสดงว่า น. ผู้ขายที่ดินพิพาท และผู้ร้องทั้งห้า ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่างมีเจตนาจะไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินที่ซื้อขายกันเฉพาะส่วนได้กระทำสำเร็จแล้ว การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับผู้ร้องทั้งห้า จึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่ผู้ร้องทั้งห้าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนที่แต่ละคนครอบครองอยู่ จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของ น. ตามสัญญาจะซื้อจะขาย อันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทน น. มิใช่การยึดถือในฐานะเจ้าของ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยัง น. ว่าไม่เจตนายึดถือที่ดินพิพาทแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2548
ผู้ ร้องอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทเพราะเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีที่ดินอยู่อาศัย และในขณะอาศัยอยู่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้แสดงออกหรือมีการบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง ที่ดินพิพาทต่อผู้ร้องว่าจะยึดถือเพื่อตนเองแต่อย่างใด การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องเท่านั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12487/2547
ที่ดินของจำเลยและที่ดินของมารดาและยายจำเลยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นแปลงใหญ่ จำเลยทราบดีว่า ท. ยายจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่และเป็น ที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองทำกินอยู่ด้วยไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยคงทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังจำเลยทราบด้วยว่า ท. ไม่ไถ่คืน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยก็ยังทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ฐานะการครอบครอบที่ดินพิพาทของจำเลยก็คงมีตามเดิมไม่อาจจะถือได้ว่าจำเลย ครอบครองเพื่อตนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบ ครองปรปักษ์ จนเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและจำเลยคัดค้าน การรังวัด อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 จึงจะพอถือได้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทนั้นแล้ว แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2547
การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของกรมชลประทานและ รับว่าหากกรมชลประทานจะเอาคืน จำเลยก็จะคืนให้เช่นนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการครอบครองชั่วคราวเท่านั้น มิได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อีกทั้งที่ดินที่บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นที่ดินซึ่งบุคคลอื่นมีกรรมสิทธิ์อยู่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 7107 ซึ่งทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินให้แก่บริษัท ท. ระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับเมื่อทางราชการออก โฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน แต่จำเลยมิได้บอกกล่าวไปยังบริษัท ท. ว่าตนเองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมาบริษัท ท. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. จำเลยกลับมีหนังสือขอซื้อที่ดินไปยังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. พฤติการณ์ของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลย จึงมีลักษณะเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของผู้อื่น ซึ่งตราบใดที่จำเลยมิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของ ที่ดินว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง แม้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายมาตรา ๑๓๘๓ ทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ท่านว่าผู้กระทำผิดหรือผู้รับโอนไม่สุจริตจะได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความก็แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความอาญา หรือพ้นเวลาที่กำหนดไว้ในมาตราก่อน ถ้ากำหนดไหนยาวกว่า ท่านให้ใช้กำหนดนั้น

มาตรา ๑๓๘๔ ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัครและได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

มาตรา ๑๓๘๕ ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

มาตรา ๑๓๘๖ บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2552
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินจาก ก. จำเลยได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยตั้งแต่จำเลยได้ซื้อมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองหรือทำประโยชน์ โจทก์ทราบมานานหลายปีแล้วว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามป.พ.พ. มาตรา 1374 มาตรา 1375 และมาตราอื่นๆ ในลักษณะ 3 ครอบครอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดิน พิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาท ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2552
จำเลยขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ อ. และ ล. บิดามารดาโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะจำเลยแจ้งว่าหาก มีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลัง แต่ทำสัญญาซื้อขายไว้พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้ เข้าครอบครองอย่างเจ้าของ ข้อที่ว่าหากมีเงินจะมาขอซื้อคืนในภายหลังมีลักษณะเป็นการไถ่ทรัพย์คืนเช่น สัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่านิติกรรมขายฝากทำผิดแบบตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

การที่ อ. และ ล. เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนจำเลย แม้ต่อมา อ. ถึงแก่ความตายและ ล. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต้องถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน จำเลยจนกว่าจะมีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือจนกว่าจำเลยจะแสดงเจตนาสละการครอบครองให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1379 ที่โจทก์เบิกความว่า ฝ่ายโจทก์ไปหาจำเลยเพื่อให้โอนเปลี่ยนชื่อจำเลยเป็นชื่อโจทก์ 3 ครั้ง แต่จำเลยไม่ยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 ข้างต้น แต่กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1379 ดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงมีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธินำไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3422/2551
จำเลยล้อมรั้วไม้ไผ่ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวแต่จำเลยยังคงทำการล้อมรั้วจนแล้ว เสร็จ เป็นการแสดงเจตนาแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่มีการล้อมรั้ว ไม้ไผ่

ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นบทบังคับเรื่องกำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ไม่ใช่เรื่องอายุความ จึงไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้

โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ย่อมขาดสิทธิฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและ เรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2551
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทั้งโจทก์และจำเลยไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันเอง หรือโจทก์กับจำเลย บุคคลใดครอบครองทำประโยชน์เป็นเจ้าของมาก่อนย่อมอ้างสิทธิใช้ยันต่อผู้ที่ มารบกวนการครอบครองภายหลังได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1375 จำเลยไม่มีสิทธิยกเอาระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2551
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มาระวังแนวเขตที่ดินและลงลายมือชื่อ รับรองแนวเขตที่ดินไว้ในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดิน ข้างเคียง อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ แต่อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะเป็นของที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าโจทก์สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ จำเลยแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่มีมาก่อนย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6395/2551
การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 แม้ขณะซื้อที่ดินพิพาทจะมีข้อตกลงกันไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนให้แก่โจทก์เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้ทุกเมื่อก็ตาม ก็คงมีความหมายเพียงว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาทให้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะไปดำเนินการให้เท่านั้น หาใช่ว่าเป็นการบังคับจำเลยที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่า โจทก์จะมีความประสงค์เช่นนั้นหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เงื่อนไขในสัญญาซื้อขายอันจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขาย ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกลายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไปไม่ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7393/2550
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอน ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือ รับรองการทำประโยชน์เลขที่ 96 จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจาก พ. จำเลยครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ดังนี้จึงไม่มีปัญหาในเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ดินเป็นของบุคคลอื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวนหรือนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1374 วรรคสอง และมาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2550
ที่พิพาทเดิมเป็นที่ป่า แต่ต่อมาได้ถูกถอนสภาพ ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ผู้ครอบครองที่พิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตนย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ผู้ครอบครองจะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูก แย่งการครอบครองหรือไม่และไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งการครอบครองหรือ ได้ร้องเรียนต่อพนักงานฝ่ายปกครองว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ จำเลยเริ่มเข้ามาปลูกบ้านบนที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองที่พิพาทจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2550
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การเข้ายึดถือครอบครองย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งไม่อาจ อ้างสิทธิใด ๆ ใช้ยันรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน ย่อมยกการยึดถือครอบครองก่อนขึ้นยันผู้อื่นที่เข้ามารบกวนได้ในขณะเวลาที่ตน ยังยึดถือครอบครองอยู่เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิเพราะเท่า กับนำที่ดินของรัฐไปให้บุคคลอื่นเช่นโดยรัฐไม่ยินยอมและมีผลเป็นการมอบการ ยึดถือครอบครองให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ยึดถือครอบครองที่ดินพาทอีกต่อไป จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2550
การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ม. มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อ ม. ส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองมาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย ม. ย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อ ม. ออกจากโฉนดที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8999/2550
จำเลย ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ จำเลยที่ 1 ให้แก่ ค. ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523 จำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลย ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4659/2549
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ดังนี้ ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองเพราะการ แย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น หาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่ การที่จำเลยยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการซื้อมาจาก โจทก์ จึงไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2549
การแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินเป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยอ้างว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและจำเลยครอบครองเองจึงไม่ เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทจากโจทก์ คดีไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ ดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนี้ไว้ เพราะจะขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยให้การไว้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของ จำเลยโดยได้รับการยกให้จากนาย ช. บิดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทเดิม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้จึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2549
อ. ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์โดย ทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ อ. ได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ โจทก์ และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนในวันที่ซื้อขายแล้ว ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของ อ. จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 อ. ไม่ใช่เจ้าของ อ. และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ที่ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ชอบ จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากที่ดินส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7382/2548
จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของนานเกินกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อปี 2535 จำเลยขอรังวัดที่ดินของตนซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของ ก. จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งยังยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของตนเอง แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของ ก. จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และแม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนเป็นเวลาเกิน 10 ปี ที่จำเลยอาจได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยได้สละกรรมสิทธิ์ที่ได้มาดังกล่าวให้แก่ ก. แล้ว และการครอบครองที่มีมาก่อนดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 การครอบครองที่ดินที่จะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ใหม่ได้อีกจึงต้อง เริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากจะถือว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่ทันทีหลังจากที่ได้รับรองแนวเขต เป็นต้นไป แต่เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2548
ป.ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ขายที่ดินพิพาทและได้ส่งมอบการครอบครอง ให้แก่จำเลยไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินเขตปฏิรูปซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วย แล้วจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า ป. ได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้ แก่จำเลย จำเลยรับโอนมาโดยชอบติดต่อกันมา จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 1377, 1378 แม้ต่อมา ป. จะยื่นคำร้องต่อโจทก์ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ได้พิจารณาจัด ให้ ป. เข้าทำประโยชน์ได้ตามขอ แต่เมื่อในขณะโจทก์จัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ป. มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยไปแล้ว จึงไม่ใช่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอีกต่อไป การจัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้ ป. จึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศของโจทก์เองที่กำหนดให้ผู้ขอเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินต้องเป็นเกษตรกรผู้ได้เข้าทำประโยชน์หรือครอบครองที่ดินนั้นอยู่ ก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูป เพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2548
สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาซื้อ ขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่บ้านพิพาทปลูกสร้างอยู่บนที่ดินราชพัสดุซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการ คลัง จำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวให้ แก่โจทก์ โดยได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สละการครอบครอง ที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยโอนการครอบครองให้แก่โจทก์แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และมาตรา 1378 จำเลยทั้งสองยังยอมรับสิทธิของโจทก์โดยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ไว้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินและบ้านแทนโจทก์โดยอาศัยสิทธิสัญญาเช่าที่ทำไว้ กับโจทก์ เท่ากับยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินและบ้านดีกว่าจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าและโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและบ้านอีกต่อ ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องออกไป โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2547
โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและเป็นผู้ครอบครองที่ดิน จำเลยไม่ยอมโอนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ถึงแม้ว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจด ทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะก็ตาม แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อจำเลยส่งมอบการครอบครอง โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

กำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินส่วนของโจทก์ โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน คดีจึงไม่มีประเด็นปัญหาการแย่งการครอบครองอันจะต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกเอา คืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 671/2546
แม้โจทก์จะเคยครอบครองที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 3404 อันเป็นที่ดินพิพาทมาก่อนทำสัญญาซื้อขาย และเมื่อทำสัญญาซื้อขายแล้วจำเลยก็ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ชำระราคาที่ดินส่วน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ตามสัญญา จำเลยก็กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา แสดงว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันทำ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท การครอบครองของโจทก์ดังกล่าวเป็นการครอบครองแทนจำเลย จำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท