สภาพและการตั้งบริษัทจำกัด

มาตรา ๑๐๙๖ อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ


มาตรา ๑๐๙๗ บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้



มาตรา ๑๐๙๘ หนังสือบริคณห์สนธินั้น ต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ

(๑) ชื่อบริษัทอันคิดจะตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีคำว่า “จำกัด” ไว้ปลายชื่อนั้นด้วยเสมอไป

(๒) ที่สำนักงานของบริษัทซึ่งบอกทะเบียนนั้นจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดในพระราชอาณาเขต

(๓) วัตถุที่ประสงค์ทั้งหลายของบริษัท

(๔) ถ้อยคำสำแดงว่า ความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด

(๕) จำนวนทุนเรือนหุ้นซึ่งบริษัทคิดกำหนดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่ากำหนดหุ้นละเท่าไร

(๖) ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด



มาตรา ๑๐๙๙ หนังสือบริคณห์สนธินั้น ท่านให้ทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่าสองฉบับ และให้ลงลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ และลายมือชื่อทั้งปวงนั้นให้มีพยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน

หนังสือบริคณห์สนธิซึ่งได้ทำนั้น ท่านบังคับให้นำฉบับหนึ่งไปจดทะเบียนและมอบไว้ ณ หอทะเบียนในส่วนพระราชอาณาเขตซึ่งบ่งไว้ว่าจะบอกทะเบียนตั้งสำนักงานของบริษัทนั้น



มาตรา ๑๑๐๐ ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อซื้อหุ้น ๆ หนึ่งเป็นอย่างน้อย



มาตรา ๑๑๐๑ บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดจะรับผิดโดยไม่จำกัดก็ได้ ถ้ากรณีเป็นเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าต้องจดแถลงความรับผิดเช่นนั้นลงไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิด้วย

อันความรับผิดโดยไม่จำกัดของผู้เป็นกรรมการนั้น ย่อมถึงที่สุดเมื่อล่วงเวลาสองปีนับแต่วันที่ตัวเขาออกจากตำแหน่งกรรมการ



มาตรา ๑๑๐๒ ห้ามมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น



มาตรา ๑๑๐๓[๒๖] (ยกเลิก)



มาตรา ๑๑๐๔ จำนวนหุ้นทั้งหมดซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียนนั้น ต้องมีผู้เข้าชื่อซื้อหรือออกให้กันเสร็จก่อนการจดทะเบียนของบริษัท



มาตรา ๑๑๐๕ อันหุ้นนั้น ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้

การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณห์สนธิให้อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้เงินคราวแรก

อนึ่ง เงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้



มาตรา ๑๑๐๖ การที่เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อโดยเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทตั้งขึ้นแล้วจะใช้จำนวนเงินค่าหุ้นนั้น ๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและข้อบังคับของบริษัท



มาตรา ๑๑๐๗ เมื่อหุ้นชนิดซึ่งจะต้องลงเงินนั้นได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหมดแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องนัดบรรดาผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมาประชุมกันเป็นการประชุม ใหญ่โดยไม่ชักช้า ประชุมอันนี้ให้เรียกว่าประชุมตั้งบริษัท

อนึ่ง ให้ผู้เริ่มก่อการส่งรายงานการตั้งบริษัทมีคำรับรองของตนว่าถูกต้อง และมีข้อความที่เกี่ยวแก่กิจการอันจะพึงกระทำในที่ประชุมตั้งบริษัททุก ๆ ข้อตามความในมาตราต่อไปนี้ไปยังผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนอย่างน้อยเจ็ดวัน ก่อนวันนัดประชุม

เมื่อได้ส่งรายงานตั้งบริษัทแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดส่งสำเนารายงานอันมีคำรับรองว่าถูกต้องตามที่บังคับไว้ในมาตรานี้ไปยังนายทะเบียนบริษัทโดยพลัน

อนึ่ง ให้ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีบัญชีแถลงรายชื่อ ฐานะ และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นกับจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมนั้นด้วย

บทบัญญัติทั้งหลายแห่งมาตรา ๑๑๗๖, ๑๑๘๗, ๑๑๘๘, ๑๑๘๙, ๑๑๙๑, ๑๑๙๒ และ ๑๑๙๕ นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การประชุมตั้งบริษัทด้วยโดยอนุโลม



มาตรา ๑๑๐๘ กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ

(๑) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท

(๒) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท

(๓) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้

(๔) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้น ๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท

(๕) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว เพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน และกำหนดว่าเพียงใดซึ่งจะถือเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท

ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่า ซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงานหรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใดให้พรรณนาจงชัดเจนทุกประการ

(๖) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และวางกำหนดอำนาจของคนเหล่านี้ด้วย



มาตรา ๑๑๐๙ ผู้เริ่มก่อการหรือผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้ ถ้าตนมีส่วนได้เสียโดยพิเศษในปัญหาที่ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น

อนึ่ง มติของที่ประชุมตั้งบริษัทย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ที่ประชุมจะได้ลงมติโดยเสียงข้างมาก อันมีคะแนนของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหมดซึ่งมีสิทธิลงคะแนนได้ และคิดตามจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้น ๆ ทั้งหมดด้วยกัน



มาตรา ๑๑๑๐ เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทมอบการทั้งปวงให้แก่กรรมการของบริษัท

เมื่อกรรมการได้รับการแล้ว ก็ให้ลงมือจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหลายใช้เงินในหุ้นซึ่งจะต้องใช้เป็นตัวเงิน เรียกหุ้นหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้า ตามที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้องหรือหนังสือชวนให้ซื้อหุ้น



มาตรา ๑๑๑๑ เมื่อจำนวนเงินซึ่งว่าไว้ในมาตรา ๑๑๑๐ ได้ใช้เสร็จแล้ว กรรมการต้องไปขอจดทะเบียนบริษัทนั้น

คำขอและข้อความที่ลงในทะเบียนนั้น ให้ระบุรายการตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมตั้งบริษัท ดั่งต่อไปนี้ คือ

(๑) จำนวนหุ้นทั้งสิ้นซึ่งได้มีผู้เข้าชื่อซื้อ หรือได้จัดออกให้แล้วแยกให้ปรากฏว่าเป็นชนิดหุ้นสามัญเท่าใด หุ้นบุริมสิทธิเท่าใด

(๒) จำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้วหรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้ว นอกจากที่ใช้เป็นตัวเงิน และหุ้นที่ได้ใช้แต่บางส่วนนั้น ให้บอกว่าได้ใช้แล้วเพียงใด

(๓) จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหุ้นละเท่าใด

(๔) จำนวนเงินที่ได้รับไว้เป็นค่าหุ้นรวมทั้งสิ้นเท่าใด

(๕) ชื่อ อาชีวะ และที่สำนักของกรรมการทุกคน

(๖) ถ้าให้กรรมการต่างมีอำนาจจัดการของบริษัทได้โดยลำพังตัวให้แสดงอำนาจของกรรมการนั้น ๆ ว่าคนใดมีเพียงใด และบอกจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพันบริษัทได้นั้นด้วย

(๗) ถ้าตั้งบริษัทขึ้นชั่วกาลกำหนดอันหนึ่ง ให้บอกกาลกำหนดอันนั้นด้วย

(๘) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง

การลงทะเบียนจะมีรายการอย่างอื่นซึ่งกรรมการเห็นสมควรจะให้ทราบแก่ประชาชนก็ลงได้

ในการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าได้ทำข้อบังคับของบริษัทไว้ประการใดบ้างต้องส่งสำเนาข้อบังคับนั้น ๆ ไปด้วย กับทั้งสำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัทหนังสือทั้งสองนี้ กรรมการต้องลงลายมือชื่อรับรองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย

(ยกเลิก)[๒๗]

ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่บริษัทฉบับหนึ่ง



มาตรา ๑๑๑๑/๑ ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และจดทะเบียนบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวกันก็ได้

(๑) จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน

(๒) ประชุมจัดตั้งบริษัทเพื่อพิจารณากิจการต่าง ๆ ตามมาตรา ๑๑๐๘ โดยมีผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนให้ความเห็นชอบในกิจการที่ได้ ประชุมกันนั้น

(๓) ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการ

(๔) กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นใช้เงินค่าหุ้นตามมาตรา ๑๑๑๐ วรรคสอง และเงินค่าหุ้นดังกล่าวได้ใช้เสร็จแล้ว



มาตรา ๑๑๑๒ ถ้าการจดทะเบียนมิได้ทำภายในสามเดือนนับแต่ประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่าบริษัทนั้นเป็นอันไม่ได้ตั้งขึ้น และบรรดาเงินที่ได้รับไว้จากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นต้องใช้คืนเต็มจำนวนมิให้ลดเลย

ถ้ามีจำนวนเงินเช่นว่านั้นค้างอยู่มิได้คืนในสามเดือนภายหลังการประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่ากรรมการของบริษัทต้องรับผิดร่วมกันที่จะใช้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาสิ้นกำหนดสามเดือนนั้น

แต่ถ้ากรรมการคนใดพิสูจน์ได้ว่า การที่เงินขาดหรือที่ใช้คืนช้าไปมิได้เป็นเพราะความผิดของตนไซร้ กรรมการคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดในการใช้ต้นเงินหรือดอกเบี้ย



มาตรา ๑๑๑๓ ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท



มาตรา ๑๑๑๔ เมื่อบริษัทได้จดทะเบียนแล้ว ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะร้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อ โดยยกเหตุว่าสำคัญผิดหรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้นท่านว่าหาอาจทำได้ไม่



มาตรา ๑๑๑๕ ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิพ้องกับชื่อ บริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วก็ดี หรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียน แล้วก็ดี หรือคล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้และจะร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้เปลี่ยนชื่อ นั้นเสียใหม่ก็ได้

เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดลงทะเบียนแทนชื่อเก่า และต้องแก้ใบสำคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป



มาตรา ๑๑๑๖ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งประสงค์จะได้สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับบรรดามีในบริษัทหนึ่งบริษัทใด ก็ชอบที่จะเรียกได้จากบริษัทนั้น ในการนี้บริษัทจะเรียกเอาเงินไม่เกินฉบับละสิบบาทก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6554/2544
ผู้ร้องสอดเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ความรับผิดของผู้ร้องสอดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ร้องสอดยังส่งใช้ ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ผู้ร้องสอดถือ หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี คำพิพากษาดังกล่าวย่อมกระทบแต่เฉพาะทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ และกิจการของจำเลย หากจะต้องมีการบังคับคดีก็เป็นเพียงจำเลยเท่านั้นที่จะต้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องสอดในฐานะผู้ถือหุ้นหาต้องถูกบังคับคดีด้วยไม่ ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่จึงไม่มีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วย การร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2544
จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ตกลงกันว่าจะสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ ระหว่างนั้นได้ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 2 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้น เมื่อถึงกำหนดก็จดทะเบียนโอนที่ดินเป็นชื่อจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7049 - 7057/2543
ศาลแรงงานมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบ พยานโจทก์ โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธี ปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 เมื่อจำเลยยอมรับในคำร้องว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ในหนังสือจด ทะเบียนของจำเลยจึงเป็นที่ตั้งสำนักงานอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68,1111 แม้จำเลย จะมีที่ทำการอยู่ที่บ้านเลขที่ 33 ก็เป็นกรณีจำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่งการส่งหมายเรียกให้จำเลยโดยการปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 ประกอบ มาตรา 79 ต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2543
ตามสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่อยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใด ๆ ได้ยกเว้นกรณีตาม มาตรา 1102 และเมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญาโดยเข้าทำงานจนเสร็จ จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามมาตรา 1108 (2) สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ ขณะเดียวกันสัญญาที่ทำขึ้นก็ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง เพราะสัญญาทำขึ้นตรงกับเจตนาของคู่กรณี แม้ตอนแรกโจทก์จะใช้ชื่อจำเลยเป็นตัวแทนในการประมูลงานและทำสัญญาดังกล่าว ต่อกรมทรัพยากรธรณี แต่ต่อมาโจทก์จำเลยประสงค์จะแปลงหนี้ใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ จากการใช้ชื่อแทนหรือจากตัวการตัวแทนมาเป็นผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์และจำเลยต่างยอมรับเอาข้อกำหนดตามสัญญารับจ้างดังกล่าวปฏิบัติต่อ กันตลอดมา เป็นต้นว่า การทวงถามให้ชำระหนี้และปฏิบัติการชำระหนี้อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับข้อ กำหนดในแบบสัญญาจ้างระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับจำเลย สัญญารับจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ในรูปของการที่ได้แปลงหนี้มาใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง และมาตรา 351 โดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2541
แม้ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารที่พิพาท จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วยและเมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามใน วันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคาร จำเลยที่ 2เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จจำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์ โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไข แบบแปลนอาคารดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2837/2537
จำเลยจองซื้อหุ้นของโจทก์แล้วไม่ชำระค่าหุ้นตามที่โจทก์เรียกให้ส่งโจทก์จึง ริบหุ้นของจำเลยและเอาออกขายทอดตลาดแต่ได้เงินน้อยกว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลย เป็นหนี้โจทก์ ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์ได้ตามรูปการ แห่งหนี้ทั่วไป ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 511,512 ห้ามผู้ทอดตลาดหรือผู้ขายเข้าสู้ราคาหรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาใน การขายทอดตลาด แม้บริษัท ม. ผู้ซื้อหุ้นของจำเลยได้จากการขายทอดตลาดจะเป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ด้วยหรือเป็นบริษัทในเครือบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่บริษัท ม. ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัทโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ให้บริษัท ม. หรือลูกจ้างโจทก์หรือบุคคลอื่นใดเข้าประมูลสู้ราคาแทนโจทก์การขายทอดตลาด หุ้นดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ดำเนินการขายทอดตลาดตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับ วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2536
ตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์กำหนดให้กรรมการคือ ส.ช.และจ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยกรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะผูกพัน โจทก์แต่การที่ ส.ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้วยังมาร่วมลงลายมือ ชื่อกับ ช. ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอีก เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส.ผู้เป็นกรรมการนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้น ส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2535
จำเลยกล่าวอ้างว่าการประกาศขายทอดตลาดหุ้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แจ้งให้ ผู้พบเห็นทราบว่าบริษัทผู้ออกหุ้นมีหุ้นอยู่ทั้งหมดเท่าใด มีสินทรัพย์และหนี้สินเท่าใด ผู้ที่ประมูลซื้อคงมีเฉพาะผู้ที่ทราบสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทเท่านั้น การขายทอดตลาดย่อมต้องมีการสมยอมกัน เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำสืบให้เห็นดังที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนหุ้นและมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นของบริษัทจำกัดย่อม ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและหนังสือบริคณห์สนธิที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อ นายทะเบียน และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะ ทางการเงินของบริษัทจำกัดคือสินทรัพย์และหนี้สิน ย่อมปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลซึ่งได้ส่งไว้ต่อนายทะเบียนเมื่อสิ้นรอบระยะเวลา บัญชี เอกสารเหล่านี้บุคคลทั่วไปตลอดจนผู้จะเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดหุ้นสามารถ ตรวจสอบก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดได้อยู่แล้ว แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวในประกาศขายทอด ตลาด ก็ไม่เป็นเหตุให้การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2531
บริษัท อ. มีวัตถุประสงค์กระทำการเป็นผู้สำรวจและจัดการให้เป็นที่ตกลงกันในการประนอม ข้อพิพาทอันเกี่ยวกับการ สืบสวน การตรวจสอบในสิทธิหน้าที่หนี้สิน ข้อพิพาทและสิทธิเรียกร้องทั้งปวงซึ่งเกิดจากสัญญาประกันภัยทุกประเภท ฯลฯ ดังนี้ การรับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัย แทนโจทก์จึงอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท อ. บริษัท อ. มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2511
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1106 การที่ผู้ร้องเข้าชื่อซื้อหุ้นบริษัทผู้ล้มละลาย ย่อมต้องถูกผูกพันอยู่ในอันที่จะต้องชำระเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทโดยมี เงื่อนไขว่าถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้น ฉะนั้น ระหว่างที่เงื่อนไขอันนี้ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่สำเร็จผู้ร้อง ซึ่งได้เข้าชื่อซื้อหุ้นไว้แล้วจะต้องถูกผูกพันอยู่ตลอดไปผู้ร้องจะถอนการ เข้าชื่อซื้อหุ้นหาได้ไม่ และการที่ผู้ร้องถอนหุ้นภายหลังที่บริษัทจำเลยจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ แล้ว แม้ก่อนประกาศการจดทะเบียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดฉะนั้น เมื่อบริษัทจำเลยตั้งขึ้นแล้ว ผู้ร้องย่อมมีความผูกพันที่จะใช้เงินค่าหุ้นที่ได้เข้าชื่อซื้อไว้เจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2491
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1105 นั้นใช้บังคับตลอดถึงการออกหุ้นโดยเพิ่มทุนของบริษัทด้วย ไม่ใช่ใช้สำหรับในการตั้งบริษัทใหม่เท่านั้น ฉะนั้นการที่บริษัทจะออกหุ้นในการเพิ่มทุนให้มีราคาสูง กว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้จะต้องอาศัยหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทได้ให้ อำนาจไว้ จึงจะเป็นการถูกต้องตามข้อบัญญัติของมาตรา 1105 วรรคสอง

ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทลงมติพิเศษให้ออกหุ้นที่เพิ่มขึ้นโดยเรียกเงินให้เปล่า หรือพรีเมียมอีกส่วนหนึ่งหุ้นละ 50 บาทรวมกับมูลค่าของหุ้น 100 บาท เป็น 150 บาทนั้นเรียกว่าเป็นการออกหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 1105 วรรค 2 และเป็นมติอันผิดระเบียบซึ่งจะถูกศาลเพิกถอนได้ตามมาตรา 1195

มติของที่ประชุมใหญ่ของบริษัทอันจะถือได้ว่าเป็นการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของ บริษัทได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1194 ให้ครบถ้วน

ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทลงมติให้เพิ่มทุนและอนุญาตให้ออกหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่า ได้อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1105 วรรค 2 ผู้ถือหุ้นได้คัดค้านว่าไม่ควรขายหุ้นราคาสูงกว่ามูลค่าในใบหุ้น แต่ต่อมาผู้ถือหุ้นคนนั้น ได้ตอบรับซื้อหุ้นที่ออกใหม่ตามมติของที่ประชุมในคราวนั้น ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาลขอให้เพิกถอนมติอัน ผิดระเบียบนั้นตามมาตรา 1195