มาตรา ๑๔๐๒ บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยในโรงเรือน
บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
มาตรา ๑๔๐๓ สิทธิอาศัยนั้น
ท่านว่าจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา หรือตลอดชีวิตของผู้อาศัยก็ได้
ถ้าไม่มีกำหนดเวลา
ท่านว่าสิทธินั้นจะเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่ผู้อาศัยตามสมควร
ถ้าให้สิทธิอาศัยโดยมีกำหนดเวลา
กำหนดนั้นท่านมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
การให้สิทธิอาศัยจะต่ออายุก็ได้ แต่ต้องกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบปีนับแต่วันทำต่อ
มาตรา ๑๔๐๔ สิทธิอาศัยนั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก
มาตรา ๑๔๐๕
สิทธิอาศัยนั้นถ้ามิได้จำกัดไว้ชัดแจ้งว่าให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อาศัยเฉพาะตัวไซร้
บุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของผู้อาศัยจะอยู่ด้วยก็ได้
มาตรา ๑๔๐๖ ถ้าผู้ให้อาศัยมิได้ห้ามไว้ชัดแจ้ง
ผู้อาศัยจะเก็บเอาดอกผลธรรมดาหรือผลแห่งที่ดิน
มาใช้เพียงที่จำเป็นแก่ความต้องการของครัวเรือนก็ได้
มาตรา ๑๔๐๗ ผู้ให้อาศัยไม่จำต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินให้อยู่ในความซ่อมแซมอันดี
ผู้อาศัยจะเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่าย
ซึ่งได้ออกไปในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นหาได้ไม่
มาตรา ๑๔๐๘ เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลง
ผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย
มาตรา ๑๔๐๙
ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดของผู้เช่าอันกล่าวไว้ในมาตรา
๕๕๒ ถึง ๕๕๕ มาตรา ๕๕๘, ๕๖๒ และ ๕๖๓
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ลักษณะ ๖
สิทธิเหนือพื้นดิน
มาตรา ๑๔๑๐
เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่น
โดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูก
บนดินหรือใต้ดินนั้น
มาตรา ๑๔๑๑
ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินไซร้
ท่านว่าสิทธินั้นอาจโอนได้และรับมรดกกันได้
มาตรา ๑๔๑๒
สิทธิเหนือพื้นดินนั้นจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา
หรือตลอดชีวิตเจ้าของที่ดิน หรือตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินนั้นก็ได้
ถ้าก่อให้เกิดสิทธิพื้นดินโดยมีกำหนดเวลาไซร้
ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๐๓ วรรค ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๑๓ ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่มีกำหนดเวลาไซร้
ท่านว่าคู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร
ถ้ามีค่าเช่าซึ่งจำต้องให้แก่กันไซร้ ท่านว่าต้องบอกล่วงหน้าปีหนึ่ง
หรือให้ค่าเช่าปีหนึ่ง
มาตรา ๑๔๑๔
ถ้าผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญซึ่งระบุไว้ในนิติกรรมก่อตั้งสิทธินั้นก็ดี
หรือถ้ามีค่าเช่าซึ่งจะต้องให้แก่กัน
แต่ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินละเลยไม่ชำระถึงสองปีติด ๆ กันก็ดี
ท่านว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินก็ได้
มาตรา ๑๔๑๕
สิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่สิ้นไปโดยเหตุที่โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง
หรือสิ่งเพาะปลูกสลายไป แม้การสลายนั้นจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย
มาตรา ๑๔๑๖ เมื่อสิทธิเหนือพื้นดินสิ้นไป
ผู้ทรงสิทธิจะรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง สิ่งเพาะปลูกของตนไปก็ได้
แต่ต้องทำให้ที่ดินเป็นตามเดิม
แต่ถ้าเจ้าของที่ดินจะไม่ยอมให้รื้อถอนไป
และบอกเจตนาจะซื้อตามราคาท้องตลาดไซร้
ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินจะไม่ยอมขายไม่ได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร
ลักษณะ ๗
สิทธิเก็บกิน
มาตรา ๑๔๑๗
อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินอันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธิครอบครอง
ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สิน
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในป่าไม้
เหมืองแร่ หรือที่ขุดหิน มีสิทธิทำการแสวงประโยชน์จากป่าไม้ เหมืองแร่
หรือที่ขุดหินนั้น
มาตรา ๑๔๑๘ สิทธิเก็บกินนั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา
หรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้
ถ้าไม่มีกำหนดเวลา
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินมีอยู่ตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ
ถ้ามีกำหนดเวลา
ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๐๓ วรรค ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย
ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ
มาตรา ๑๔๑๙ ถ้าทรัพย์สินสลายไปโดยไม่ได้ค่าทดแทนไซร้
ท่านว่าเจ้าของไม่จำต้องทำให้คืนดี แต่ถ้าเจ้าของทำให้ทรัพย์สินคืนดีขึ้นเพียงใด
ท่านว่าสิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น
ถ้าได้ค่าทดแทนไซร้
ท่านว่าเจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องทำให้ทรัพย์สินคืนดีเพียงที่สามารถทำได้ตามจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับ
และสิทธิเก็บกินกลับมีขึ้นเพียงที่ทรัพย์สินกลับคืนดี
แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะทำให้กลับคืนดีได้ สิทธิเก็บกินก็เป็นอันสิ้นไป
และค่าทดแทนนั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สิน และผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของตน
วิธีนี้ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมถึงกรณีซึ่งทรัพย์สินถูกบังคับซื้อ
และกรณีซึ่งทรัพย์สินสลายไปแต่บางส่วน หรือการทำให้คืนดีนั้นพ้นวิสัยในบางส่วน
มาตรา ๑๔๒๐ เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง
ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ
ถ้าทรัพย์สินสลายไป หรือเสื่อมราคาลง
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องรับผิด
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ
ท่านว่าต้องทำให้มีมาแทน
ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาเพราะการใช้ตามควรไซร้
ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่จำต้องให้ค่าทดแทน
มาตรา ๑๔๒๑
ในการใช้สิทธิเก็บกินนั้น
ผู้ทรงสิทธิต้องรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง
มาตรา ๑๔๒๒
ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินไซร้
ท่านว่าผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้
ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง
มาตรา ๑๔๒๓
เจ้าของทรัพย์สินจะคัดค้านมิให้ใช้ทรัพย์สินในทางอันมิชอบด้วยกฎหมาย
หรือมิสมควรก็ได้
ถ้าเจ้าของพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของตนตกอยู่ในภยันตราย
ท่านว่าจะเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินหาประกันให้ก็ได้
เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง
ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่หาประกันมาให้ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้เพื่อการนั้น
หรือถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินมินำพาต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของ ยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นในทางอันมิชอบด้วยกฎหมาย
หรือมิสมควรไซร้
ท่านว่าศาลจะตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้
แต่เมื่อหาประกันมาให้แล้ว ศาลจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้นก็ได้
มาตรา ๑๔๒๔
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องสงวนภาวะแห่งทรัพย์สินมิให้เปลี่ยนไปในสาระสำคัญ
กับต้องบำรุงรักษาปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
ถ้าจำเป็นต้องซ่อมแซมใหญ่
หรือมีการสำคัญอันต้องทำเพื่อรักษาทรัพย์สินไซร้
ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องแจ้งแก่เจ้าของทรัพย์สินโดยพลัน
และต้องยอมให้จัดทำการนั้น ๆ ไป ถ้าเจ้าของทรัพย์สินละเลยเสีย ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดทำการนั้นไปโดยให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้
มาตรา ๑๔๒๕ ค่าใช้จ่ายอันเป็นการจรนั้น
ท่านว่าเจ้าของต้องเป็นผู้ออก แต่เพื่อจะออกค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้
หรือค่าใช้จ่ายตามความในมาตราก่อน เจ้าของจะจำหน่ายทรัพย์สินบางส่วนก็ได้
เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเต็มใจทดรองเงินตามที่จำเป็นโดยไม่คิดดอกเบี้ย
มาตรา ๑๔๒๖
ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังมีอยู่
ผู้ทรงสิทธิต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินตลอดจนเสียภาษีอากร
กับทั้งต้องใช้ดอกเบี้ยหนี้สินซึ่งติดพันทรัพย์สินนั้น
มาตรา ๑๔๒๗ ถ้าเจ้าของทรัพย์สินต้องการ
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องเอาทรัพย์สินประกันวินาศภัยเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สิน
และถ้าทรัพย์สินนั้นได้เอาประกันภัยไว้แล้ว
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องต่อสัญญาประกันนั้นเมื่อถึงคราวต่อ
ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องเสียเบี้ยประกันระหว่างที่สิทธิของตนยังมีอยู่
มาตรา ๑๔๒๘
คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน
หรือผู้รับโอนนั้น
ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง
แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด
ท่านให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้
หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง
ลักษณะ ๘
ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
มาตรา ๑๔๒๙ อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระติดพันอันเป็นเหตุให้ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับการชำระหนี้เป็นคราว
ๆ จากทรัพย์สินนั้น หรือได้ใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้
มาตรา ๑๔๓๐ ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้น
จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา หรือตลอดชีวิตแห่งผู้รับประโยชน์ก็ได้
ถ้าไม่มีกำหนดเวลา
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์มีอยู่ตลอดชีวิตผู้รับประโยชน์
ถ้ามีกำหนดเวลา
ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๐๓ วรรค ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๓๑ ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระติดพันไซร้
ท่านว่าภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก
มาตรา ๑๔๓๒
ถ้าผู้รับประโยชน์ละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญซึ่งระบุไว้ในนิติกรรมก่อตั้งภาระติดพันนั้นไซร้
ท่านว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสิทธิของผู้รับประโยชน์เสียก็ได้
มาตรา ๑๔๓๓
ถ้าเจ้าของทรัพย์สินมิได้ชำระหนี้ตามภาระติดพันไซร้
ท่านว่านอกจากทางแก้สำหรับการไม่ชำระหนี้
ผู้รับประโยชน์อาจขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินและชำระหนี้แทนเจ้าของ
หรือสั่งให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด และเอาเงินที่ขายได้จ่ายให้ผู้รับประโยชน์ตามจำนวนที่ควรได้
เพราะเจ้าของทรัพย์สินไม่ชำระหนี้ กับทั้งค่าแห่งภาระติดพันด้วย
ถ้าเจ้าของทรัพย์สินหาประกันมาให้แล้ว
ศาลจะไม่ออกคำสั่งตั้งผู้รักษาทรัพย์ หรือคำสั่งขายทอดตลาด
หรือจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้น ก็ได้
มาตรา ๑๔๓๔ ท่านให้นำมาตรา ๑๓๘๘ ถึง ๑๓๙๕ และมาตรา ๑๓๙๗
ถึง ๑๔๐๐ มาใช้บังคับถึงภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์โดยอนุโลม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559
ว.
ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ
หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้
ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว.
แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้
และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ
ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา
1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว
บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ
ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 -
9685/2558
การที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ตายให้ปลูกสร้างอาคารห้องเช่า
26
ห้อง บนที่ดินของผู้ตายเป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเหนือพื้นดิน ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1410 อันเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่
มิฉะนั้นสิทธิเหนือพื้นดินที่ได้มานั้นยังไม่บริบูรณ์และไม่อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อตกลงที่ผู้ตายอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารห้องเช่าบนที่ดินดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้
โจทก์จึงปราศจากสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ยันต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
จำเลยที่ 6 ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินชอบที่จะขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11320/2556
การที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1
ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน
10 ปี
แม้สัญญาซื้อขายที่ดินจะกำหนดไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันในวันพ้นระยะเวลาห้ามโอนก็ตาม
ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ
การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นการครอบครองไว้แทนโจทก์ที่
1
การที่จำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ไว้ขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ
และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อปลอมชื่อโจทก์ทั้งสองในการรับรองสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรข้าราชการของโจทก์ทั้งสองแล้วนำเอกสารดังกล่าวพร้อมกับหนังสือให้ความยินยอมของโจทก์ที่
2 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายจากชื่อของโจทก์ที่
1 มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 นั้นก็เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่
1 และจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันในสัญญาซื้อขายไว้แต่เดิม
เป็นกระทำภายในขอบอำนาจที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ไว้แต่เดิม
และเอกสารที่รับรองก็เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่พิพาท
โจทก์จดทะเบียนให้ ส. และ บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินใน ที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ส.
และ บ. ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านั้นด้วยไม่
การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทจึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน
แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
796/2552
จำเลยปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่
ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง
จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด
ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท
แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็น คุณแก่จำเลย
โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป
และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและ
มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย
ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึด
ถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดย
มิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336
เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูก
สร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดิน
พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้
โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและ
สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
อย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่
ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8015/2551
ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับ
ช. มารดาจำเลยทั้งสองนั้นเป็นบันทึกข้อตกลงที่ก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิใช้ยันบุคคลภายนอกได้
แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้เป็นโมฆะเสียเปล่าไม่
ยังคงบังคับกันได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญา
เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
บันทึกข้อตกลงระบุให้ ช.
และบริวารอยู่อาศัยในห้องแถวทั้งสี่ห้องจนกว่าจะทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้
อันเป็นข้อตกลงที่ระบุเงื่อนไขไว้ชัดแจ้งว่า ช.
และบริวารสามารถอยู่อาศัยในห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ได้จนกว่าห้องแถวนั้นจะทรุดโทรมประการหนึ่งและการทรุดโทรมนั้นต้องทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องแถวได้อีกประการหนึ่ง
เมื่อครบทั้งสองประการดังกล่าว ช. และบริวารจึงจะอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ต่อไปไม่ได้ต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์
ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการเป็นที่เห็นได้ว่าการทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้นั้น
ไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะทรุดโทรมเมื่อใดและเมื่อทรุดโทรมแล้วเมื่อใดจึงจะถือว่าอยู่อาศัยไม่ได้
กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินโดยมีกำหนดเวลา
อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1412 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 1403 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6458/2551
สิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1402
มีได้แต่เฉพาะสิทธิที่จะอยู่อาศัยในโรงเรือนของบุคคลอื่นเท่านั้น
เมื่อบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์เป็นของจำเลยเอง
และโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท
จำเลยจึงไม่มีสิทธิอาศัย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย
จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551
การอยู่อาศัยที่
ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก
ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง
จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา
1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่
ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา
144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา
1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ
ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น
เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน
โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง
จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2577/2551
จำเลยปลูกสร้างบ้านคอนกรีต
2 ชั้น บนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์
บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น แม้ใช้บันไดเพื่อขึ้นชั้นที่ 2
ของอาคารด้วยบันไดเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม
ป.พ.พ. มาตรา 144 โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่
บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย
จำเลยปลูกสร้างบ้านหรือโรงเรือนบนที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมย่อมเป็นการก่อนให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย
แต่สิทธิเหนือพื้นดินดัง
กล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
จึงเป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย
และสิทธิเหนือพื้นดินดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลา
โจทก์บอกเลิกได้เมื่อบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413
โจทก์ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโดยนำคำสั่งไปปิดไว้หน้าโรงเรือนที่จำเลยสร้างขึ้น
ใหม่แล้ว มีข้อความระบุให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 51 ออกไป บ้านเลขที่ 51
นั้น เป็นบ้านเก่าปลูกสร้างมาประมาณ 40 ปี ทำด้วยไม้ชั้นเดียวแต่ใต้ถุนสูง
ส่วนบ้านของจำเลยเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น และสร้างบ้านใหม่
บ้านดังกล่าวของจำเลยแม้ไม่มีเลขที่ บ้านใช้บันไดร่วมกันเป็นโรงเรือนคนละหลังกัน
ไม่ใช่โรงเรือนที่เป็นบ้านเลขที่ 51
ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมจึงถือไม่ได้ว่า
เป็นการบอกเลิกเพื่อให้จำเลยออกจากบ้านคอนกรีต 2 ชั้น
ทั้งการบอกเลิกนั้นก็ใช้วิธีปิดที่ประตูบ้าน ไม่ได้ส่งให้แก่จำเลย
โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องอย่างไรจึงต้องปิดคำสั่งเช่นนั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บอกเลิกเพื่อมิให้จำเลยมีสิทธิเหนือพื้นดินอัน
เป็นคุณแก่บ้านที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น การบอกเลิกของโจทก์จึงไม่ชอบ
โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ให้จำเลยขนย้ายบริวารออกไปจากบ้านหรือโรง
เรือนที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างบนที่ดินที่โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์
รวมและส่งมอบบ้านหรือโรงเรือนคืนให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6188/2545
แม้ ท.
ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก.
จะทำบันทึกสัญญาต่อหน้านายอำเภอยอมให้จำเลยปลูกบ้านบนที่ดินของตนก็ตาม
แต่บันทึกสัญญาที่ ท. และจำเลยทำต่อกันนั้นเป็นการประนีประนอมระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับบ้านที่จำเลย
ปลูกและทรัพย์สินภายในบ้าน ไม่ใช่หนังสือจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดิน ดังนั้น
การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินของ
จำเลยจึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง
คงมีผลบังคับได้ระหว่างคู่กรณีเท่านั้น หามีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจาก ท.
ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ทำการโดยสุจริตหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6532/2544
บทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินฯ
มาตรา 31
มีเจตนาจะปกป้องราษฎรผู้ได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่าง น้อย 10
ปี และภายในระยะเวลาดังกล่าวทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่
มิได้ปล่อยให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้ครอบครองจนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่อยู่ใน
บังคับห้ามโอน ดังนั้น
โจทก์จึงไม่อาจสละหรือโอนสิทธิครอบครองหรือทำนิติกรรมสัญญาประการใดอันมีผล
หรือมีลักษณะไปในทางที่สละหรือโอนหรืออาจต้องถูกบังคับให้มีการโอนสิทธิครอบ
ครองดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาห้ามโอน
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะกำหนดรับโอนสิทธิครอบครองกันในวันที่พ้นระยะ
เวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม ก็เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
ส่วนสัญญาจำนองเป็นประกันเห็นได้ชัดว่า
โจทก์และจำเลยจำนองเป็นประกันในวงเงินเท่ากับราคาที่ซื้อขายกัน
ส่วนสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินก็ทำในวันเดียวกับสัญญาจะซื้อจะขาย
เห็นได้ว่าสัญญาจำนองเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางสัญญาจะซื้อจะขายโดยคู่สัญญาไม่มีเจตนาผูกพันในเรื่องจำนองและสิทธิเหนือพื้นดิน
สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155
โจทก์ไม่มีสิทธิสละหรือโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยภายในระยะ
เวลาห้ามโอนรวมถึงการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทในช่วงเวลานี้ก็ทำไม่
ได้ดังนั้น
การยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงถือได้ว่าจำเลยครอบครองไว้แทนโจทก์
ไม่ถือว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ได้
กรณีไม่ใช่ฟ้องร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่
เวลาถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท
สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดิน
เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และมาตรา 155
โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยกข้อสัญญาที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้การ
ที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นโมฆะจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
15219/2551
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้โจทก์
และบริวารอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิต
เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยให้การว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อสัญญาประนีประนอมยอมความ
ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายและจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเพราะถูกโจทก์บังคับให้
กระทำจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา
จะเห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้ให้การยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาบันทึกข้อตกลงเพิ่ม
เติมตามที่โจทก์ฟ้อง คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยว่า
จำเลยต้องทำหนังสือและจดทะเบียนให้โจทก์และบริวารอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดิน
พิพาทตลอดชีวิตตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมหรือไม่
ซึ่งจะต้องดำเนินการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไปเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ดังกล่าว
ไม่ใช่ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำรับของฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย
ที่ศาลจะวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4207/2551
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาแล้ว
ผู้เช่าจำต้องออกไปจากที่เช่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกต่อกันแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า
ผู้ให้เช่าชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลเนื่องจากผู้เช่ากระทำการอันเป็น
การโต้แย้งสิทธิผู้ให้เช่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
สิทธิของผู้ให้เช่าที่จะขับไล่ให้ผู้เช่าออกจากที่เช่าต้องกระทำโดยทางศาล
ให้ศาลเป็นผู้บังคับ ผู้ให้เช่าหามีสิทธิที่จะทำการบุกรุกเข้าไปปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิให้
กรรมการผู้จัดการของผู้เช่าเข้าไปภายในอาคารไม่ ดังนั้น
การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในอาคารของโจทก์แล้วทำการปิดประตูใส่กุญแจห้ามมิ
ให้กรรมการผู้จัดการของโจทก์เข้าไปภายในอาคารจึงเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา
420
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
339/2551
การอยู่อาศัยที่
ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1
เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้
เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง
จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408
การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่
ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้น
มาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา 144
ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311
การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้
ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311
ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา
1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
693/2534
จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
และได้ให้ ต.เช่าต.ให้อ. อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่
อ.ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ก็ไม่ได้ สิทธิครอบครอง เพราะ
อ.ไม่มีสิทธิครอบครองที่จะโอนให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4736/2533
คำฟ้องของโจทก์นอกจากจะบรรยายว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว
ยังบรรยายด้วยว่า
จำเลยทั้งสามทำผิดหน้าที่ผู้อาศัยเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่อาศัยเสียหาย
คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยด้วยว่า
จำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิง
ไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า
โจทก์ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยในห้องแถวของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า
เพราะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และเป็นมารดาจำเลยที่ 1
เป็นลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสามอยู่
อาศัยดังกล่าวมิใช่เป็นสิทธิอาศัย
ทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์
เป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่อาจนำบทบัญญัติบรรพ
4ลักษณะ 5 ว่าด้วยสิทธิอาศัยมาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
714/2532
หนังสือมอบอำนาจที่กระทรวงในรัฐบาลแต่งตั้งบุคคลให้ฟ้องคดีแทนแม้มิได้ปิดอากร
แสตมป์ก็ไม่ทำให้เสียไป เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร
จำเลยปลูกบ้านบนที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ดินที่ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหมโดย กองทัพบก
บ้านย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน
เมื่อกองทัพบกโอนที่ดินให้โจทก์จึงเท่ากับโอนบ้านให้แก่โจทก์ด้วย
ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับกองทัพบกที่ว่า จำเลยยกบ้านพิพาทให้แก่กองทัพบก
โดยกองทัพบกตกลงให้จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทได้ตลอดไปจนกว่ากองทัพบกจะใช้
ประโยชน์อย่างอื่น เข้าลักษณะสิทธิอาศัยซึ่งเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่ง
เมื่อไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์
ใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้