ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม

มาตรา ๑๖๗๓ สิทธิและหน้าที่ใดๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรม ให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมตายเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ภายหลัง

มาตรา ๑๖๗๔ ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันไร้ผล

ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาเงื่อนไขสำเร็จ

ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ

แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่า ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมนั้น

มาตรา ๑๖๗๕ เมื่อพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน ผู้รับประโยชน์ตามข้อความแห่งพินัยกรรมนั้นจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการ ทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นจนกว่าจะถึงเวลาที่เงื่อนไขสำเร็จ หรือจนกว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขตกเป็นอันพ้นวิสัยก็ได้

ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะตั้งผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเสียเอง และเรียกให้ผู้ร้องนั้นวางประกันตามที่สมควรก็ได้

มาตรา ๑๖๗๖ พินัยกรรมจะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรง เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ได้

มาตรา ๑๖๗๗ เมื่อมีพินัยกรรมก่อตั้งมูลนิธิขึ้นตามมาตราก่อน ให้เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้จัดการมรดกแล้วแต่กรณี ที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น

ถ้าบุคคลดั่งกล่าวแล้วมิได้ร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้

มาตรา ๑๖๗๘ เมื่อมูลนิธิใดซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้ว ให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่งผู้ทำพินัยกรรมจัดสรรไว้เพื่อการนั้น ตกเป็นของนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๖๗๙ ถ้าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นไม่ได้ตามวัตถุที่ประสงค์ ให้ทรัพย์สินตกทอดไปตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

ถ้าพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือพนักงานอัยการหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ให้ศาลจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลอื่นซึ่งปรากฏว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม

ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้ไม่ได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นตั้งขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดีข้อกำหนดพินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผล

มาตรา ๑๖๘๐ เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนด พินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูลนิธินั้นได้เพียงเท่าที่ตนต้องเสียประโยชน์เนื่อง แต่การนั้น

มาตรา ๑๖๘๑ ถ้าทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมนั้น ได้สูญหาย ทำลายหรือบุบสลายไป และพฤติการณ์ทั้งนี้เป็นผลให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนทรัพย์สินนั้น ผู้รับพินัยกรรมจะเรียกให้ส่งมอบของแทนซึ่งได้รับมานั้น หรือจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๖๘๒ เมื่อพินัยกรรมทำขึ้นเป็นการปลดหนี้หรือโอนสิทธิเรียกร้อง พินัยกรรมนั้นมีผลเพียงจำนวนซึ่งคงค้างชำระอยู่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ถ้ามีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ปลดให้หรือสิทธิเรียกร้องที่โอนไปนั้นก็ให้ส่งมอบแก่ผู้รับพินัยกรรมและให้ใช้มาตรา ๓๐๓ ถึง ๓๑๓, ๓๔๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมจะต้องกระทำการหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานั้นๆ แล้ว บุคคลผู้ต้องจัดการตามพินัยกรรมหรือผู้รับพินัยกรรมจะกระทำการหรือดำเนินการนั้นๆ แทนผู้ทำพินัยกรรมก็ได้

มาตรา ๑๖๘๓ พินัยกรรมที่บุคคลทำให้แก่เจ้าหนี้คนใดของตนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มิได้ทำขึ้นเพื่อชำระหนี้อันค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนนั้น

มาตรา ๑๖๘๔ เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัยให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด

มาตรา ๑๖๘๕ ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดผู้รับพินัยกรรมไว้โดยคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้ ถ้ามีบุคคลหลายคนทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ดั่งนั้นได้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนปันเท่าๆ กัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2544
ผู้สาบสูญได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทให้สุเหร่าคันนายาวต่อ เมื่อได้ทำการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายตัดทายาทโดยธรรมของตนทุกคนมิให้รับมรดกใน ที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง เมื่อสุเหร่าคันนายาวได้จดทะเบียนเป็นมัสยิดจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลใน ทำนองเดียวกับมูลนิธิตามที่ปรากฏในพินัยกรรม ย่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2542
แม้พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้ตายทำไว้มีข้อความสำคัญกำหนดไว้ดังนี้ "ข้อ 1 ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 เนื้อที่จำนวน 60 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้ ย. หลานสาว (ผู้คัดค้าน) จำนวน 50 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา ขอยกให้กับมัสยิดสมาคมอิสลาม" แต่ข้อเท็จจริงผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ ที่ดิน 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1236 ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 และตามพฤติการณ์มีข้อบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของผู้ตายว่าประสงค์จะยกเฉพาะที่ดิน โฉนดเลขที่ 1236 ให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรม คือผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลามเท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 นั้น ผู้ตายมิได้ประสงค์จะทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านและมัสยิดสมาคมอิสลาม ดังนี้เมื่อผู้คัดค้านได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1236 แล้ว ทั้งผู้คัดค้านมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันจะมีสิทธิรับมรดกนอกพินัยกรรม คือที่ดินโฉนดเลขที่ 5920 และที่ดินโฉนดเลขที่ 778 ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะมีสิทธิยื่น คำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9503/2539
การโอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมอันจะทำให้ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง หมายถึงการโอนทรัพย์สินที่ยังมีผลอยู่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เมื่อ ฟ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 182 ให้แก่ น. และเลขที่ 206 ให้แก่ น. กับโจทก์ที่ 8 แล้ว แม้ต่อมา ฟ.ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ น. โดยเสน่หาแต่หลังจากนั้น ฟ. ก็ได้ฟ้องขอถอนคืนการให้และขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของ ฟ. จึงถือไม่ได้ว่า ฟ. ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นจึงหาเป็นอันเพิกถอนไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2539
การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกให้โจทก์30ไร่และให้ จำเลย9ไร่เศษแต่ระหว่างมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกได้จำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวบาง ส่วนไปโดยสมบูรณ์คงเหลือที่ดินเป็นทรัพย์มรดกเพียง8ไร่เศษนั้นเป็นกรณีที่ ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะบางส่วนเท่านั้น พินัยกรรมยังใช้ได้อยู่หาได้สิ้นผลลงทั้งฉบับหรือข้อกำหนดในส่วนของโจทก์ได้ ถูกเพิกถอนไปคงมีผลอยู่เฉพาะส่วนของจำเลยที่2แต่อย่างใดไม่และไม่ใช่ พินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัยอันจะต้องถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตาม ความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมโจทก์ยังคงมีสิทธิตามพินัยกรรมตามส่วนของ ที่ดินที่เหลืออยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2538
ข้อความในพินัยกรรมข้อ1ระบุว่าแม้พ.และล. จะได้แสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นใน ภายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่ผู้เดียวแต่พินัยกรรมข้อ2ระบุว่า"แต่พินัยกรรม นี้ให้เงื่อนไขดังนี้"การยกทรัพย์สินให้โจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1จึงต้องเป็นไป ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ2ด้วยทั้งพินัยกรรมข้อ2ข.ระบุว่าหาก พ.ตายก่อนล. ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้ทั้งหมดแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำ พินัยกรรมที่ประสงค์ให้พินัยกรรมข้อ2เป็นเนื้อหาของพินัยกรรมด้วยมิฉะนั้น แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุอีกเพราะมีข้อกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกเป็นของ โจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1อยู่แล้วและพินัยกรรมข้อ2ข. ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงไม่มีทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ จะตกทอดแก่โจทก์ในกรณีที่ล. ถึงแก่ความตายภายหลังอีกพินัยกรรมดังกล่าวจึงมีเนื้อหาและผลบังคับตามข้อ กำหนดในพินัยกรรมข้อ2เท่านั้นหาใช่ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ1มีผลบังคับเป็นหลัก ไม่ เมื่อบุตรของโจทก์อุ้มท้องอยู่ในขณะที่มีการทำพินัยกรรมได้แท้งก่อนที่จะ คลอดออกมาและล.ผู้ทำพินัยกรรมร่วมกับพ. ได้ถึงแก่ความตายก่อนพ. ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ2ค.ที่ระบุให้ล. ยกทรัพย์ให้บุตรโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ถ้าได้คลอดออกมามีชีวิตอยู่จึง เป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)เพราะเงื่อนไขนั้นไม่ อาจสำเร็จได้เมื่อล. ตามก่อนพ.พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามข้อ2ก.ที่ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตาม พินัยกรรมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้พ. ข้อกำหนดพินัยกรรมที่เหลือในข้อ2ข. ที่พ.แสดงเจตนาไว้ว่าถ้าพ.ตายก่อนล.ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับทรัพย์มรดกของพ. ตามพินัยกรรมมาฟ้องจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของพ. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2538
การขีดฆ่าชื่อผู้รับพินัยกรรมจากเดิมที่เขียนว่า"ลเมียด"แล้วตกเติมว่า" ละเมียด"ส่วนนามสกุลคงไว้เช่นเดิมมิใช่การขีดฆ่าอันเป็นการเพิกถอนข้อกำหนด พินัยกรรมแต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อเขียนชื่อผู้รับพินัยกรรมให้ถูก ต้องเมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ลงวันเดือนปีที่แก้ไขผู้ทำพินัยกรรมและ พยานในพินัยกรรมทั้งสองคนมิได้ลงชื่อกำกับจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา1656วรรคสองและถือว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำว่า"ลเมีย ด"ในพินัยกรรมพินัยกรรมคงมีข้อความตามเดิมการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ทำไม่ถูก ต้องตามแบบหามีผลทำให้ พินัยกรรมที่ สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็น โมฆะไม่ พินัยกรรมมีข้อความว่า"ข้อ1ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้วบรรดาทรัพย์สินของ ข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนด ไว้ดังต่อไปนี้(1)เรือนทรงมลิลามุงกระเบื้องวิบูลศรีพร้อมกระดานพื้น19 แผ่นกระดานระเบียงด้านยาว7แผ่น1หลังข้อ2ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมให้กับนาง ลเมียดช้างแก้วมณี และขอตั้งให้นาย มานพสุขสวัสดิ์เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้"ถ้อยคำใน พินัยกรรมดังกล่าวแสดงว่าเจ้ามรดกมีเจตนาทำพินัยกรรมยกเรือนพิพาทให้แก่นาง ละเมียดโจทก์ที่2และตั้งนาย มานพโจทก์ที่1เป็นผู้จัดการมรดกหาใช่มีเจตนาเพียงแต่มอบเอกสารพินัยกรรมให้ โจทก์ที่2เก็บรักษาไว้เฉยๆเท่านั้นไม่โจทก์ที่2จึงเป็น ผู้รับพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6993/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ซอยขี้วัวถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 1 ไร่เศษ มีบ้านเลขที่ 34 ถึงเลขที่ 38 และเลขที่ 40 ตั้งอยู่ จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจดีแล้วว่าเป็นที่แปลงใด ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ว่า เป็นที่ดินโฉนดที่เท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องมา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ข้อความตอนต้นในพินัยกรรมระบุว่า ข้าพเจ้าทำหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นก่อนหน้าที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ มีกำหนด 45 วัน หนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์ให้มีผลใช้บังคับได้ เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตไปแล้วข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงการระบุข้อเท็จ จริงให้ทราบว่าได้ทำพินัยกรรมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากตนเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วให้พินัยกรรมสิ้นผล บังคับ พินัยกรรมฉบับนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.6ไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องกับต้นฉบับคงอ้างว่า เอกสารหมาย ล.6 เป็นเพียงสำเนาเอกสารรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าต้นฉบับของพินัยกรรมสูญหาย ศาลย่อมรับฟังสำเนาพินัยกรรมตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) ตามทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าขณะเจ้ามรดกจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมเจ้ามรดกมีอายุ 25 ปี จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1582 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้นที่กำหนดว่าผู้รับเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่น้อย กว่า 30 ปี ส่วนการรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย จ.3 เจ้ามรดกแจ้งว่าเป็นโสด แต่ความจริงเจ้ามรดกได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1584 ซึ่งใช้บังคับขณะนั้น การจดทะเบียนรับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย มารดาเจ้ามรดกเช่าที่ดิน 3 แปลง จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีกำหนดเพียง 1 ปี เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวย่อมระงับไป จึงรับมรดกเป็นผู้เช่าต่อไปไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองคงครอบครองที่ดินต่อมาแล้วให้ผู้อื่นเช่าก็เป็นเรื่อง ระหว่างจำเลยทั้งสองกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หาใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532
การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะ ที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลย ตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2529
ป.เป็นผู้จัดการมรดกของฉ.ตามคำสั่งศาลจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนผู้รับพินัยกรรมป.ตายขณะที่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกจำเลยเข้าเป็นผู้จัดการมรดกของ ป.ตามคำสั่งศาลโดยระบุรายการทรัพย์สินต่างๆของป.ไว้เป็นอย่างเดียวกับทรัพย์ มรดกตามพินัยกรรมของฉ.จึงถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกของฉ.สืบต่อจากป.และ ตามคำฟ้องแสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวด้วยมิใช่ฟ้องในฐานะผู้จัดการ มรดกของป.แต่ประการเดียวดังนี้เมื่อโจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรม ของฉ.ด้วยผู้หนึ่งได้ทวงถามจำเลยให้แบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วจำเลยปฏิเสธสิทธิ ของโจทก์จึงถูกโต้แย้งโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย พินัยกรรมข้อ4ระบุว่าป.ผู้เดียวมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมแต่ให้ บุตรคนอื่นๆถือประโยชน์ได้บ้างและเมื่อป.ถึงแก่กรรมลงให้จัดการแบ่ง ทรัพย์สินดังต่อไปนี้เว้นแต่ข้อ4.10ให้จัดการทันทีและความในข้อต่อๆไปกล่าว ถึงการยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นๆแต่ละคนไว้อย่างละเอียดรวมทั้งการยกให้แก่ ป.ด้วยและความในข้อ4.10กล่าวถึงการแบ่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลต่างๆไว้ยกเว้น ป.ดังนี้หากผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้ป.แต่ผู้เดียวก็ไม่จำเป็น ต้องระบุข้อความดังกล่าวซ้ำอีกพินัยกรรมดังกล่าวตีความได้ว่าเมื่อป.ถึงแก่ กรรมลงจึงให้มีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาททั้งหลายระหว่างที่ป.ยังมี ชีวิตอยู่ให้ทรัพย์มรดกยังคงรวมกันอยู่เท่านั้นหาใช่มีความหมายเลยไปถึงขนาด ที่ว่าให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกได้แก่ป.แต่ผู้เดียวไม่ โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรม2รายการแต่ทรัพย์2รายการนี้ไม่ปรากฏใน บัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอจัดการมรดกของจำเลยและจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ว่าไม่ใช่เป็นของผู้ทำพินัยกรรมดังนี้ปัญหาว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดก หรือไม่เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นมรดกโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ. ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่มิใช่ตัวเงินความรับผิดของจำเลยมีเพียงหนี้ที่จะต้องแบ่งทรัพย์ มรดกที่มิใช่หนี้เงินจำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2522
ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมยกหรือมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกให้แก่จำเลย แต่มีข้อห้ามมิให้จำเลยโอนขายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว และให้นำรายได้จากทรัพย์นั้นมาแบ่งให้แก่โจทก์และบุคคลอื่น การยกให้ในลักษณะดังกล่าวนี้หามีลักษณะเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยยึด ถือหรือครอบครองทรัพย์ไว้แทนผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมไม่ พินัยกรรมรายนี้จึงมิใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์

ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนเป็นเพียงให้ ทรัพย์ตามข้อกำหนดตกอยู่ในภารติดพัน โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนขายหรือจำหน่าย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700 กรณีจึงเท่ากับว่าจำเลยได้ทรัพย์ตามพินัยกรรมไปโดยเด็ดขาดข้อกำหนดใน พินัยกรรมที่ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยห้ามโอนหรือจำหน่ายตัวทรัพย์ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2519
ในขณะที่ ค. เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ได้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนมูลนิธิ จ. และต่อมาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทถวายเป็นมูลนิธิ จ. ปรากฏว่าขณะที่ ค. ถึงแก่กรรมมูลนิธิ จ. ยังมิได้ก่อตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแต่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนี้ ถือได้ว่า ค. ทำพินัยกรรมสั่งจัดสรรที่ดินพิพาทเพื่อจัดตั้งมูลนิธิ จ. ไว้แล้ว เพียงแต่มูลนิธิยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจึงรับโอนที่ดิน ตามพินัยกรรมทางทะเบียนไม่ได้เท่านั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จะต้องดำเนินการให้มีผลทางกฎหมายในการรับโอนที่ดินไปตามเจตนาของ ค.เหตุที่มูลนิธิ จ. ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจนถึงขณะที่โจทก์ฟ้องนั้นยังถือไม่ได้ว่า พินัยกรรมของ ค. ไร้ผลเพราะเหตุไม่มีผู้รับทรัพย์ ผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะตกลงกันเอาที่ดินพิพาทไปโอนให้มูลนิธิอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2497
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 ถ้าเจ้ามรดกจะตัดทายาทไม่ให้รับมรดกจะต้องแสดงเจตนาโดยแจ้งชัด ถ้าไม่มีการระบุเช่นนั้นและปรากฏว่าทายาทผู้นั้นได้รับมรดกจากพินัยกรรม คือเงินจำนวนหนึ่งจึงถือไม่ได้ว่า ทายาทผู้นั้นถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608 วรรคท้าย

พินัยกรรมได้ระบุที่ดิน 3 โฉนด ให้แก่ทายาทคนหนึ่งแต่ทายาทคนนั้นตายเสียก่อนเจ้ามรดก ที่ดินเหล่านั้นจึงตกเป็นกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งจำต้องแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามส่วน