ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง

มาตรา ๑๐๒๕ อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด


มาตรา ๑๐๒๖ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน

สิ่งที่นำมาลงด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้



มาตรา ๑๐๒๗ ในเมื่อมีกรณีเป็นข้อสงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่าเท่ากัน


มาตรา ๑๐๒๘ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้น และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้ ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้า หุ้นในการนั้น



มาตรา ๑๐๒๙ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งเอาทรัพย์สินมาให้ใช้เป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดีท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยเช่าทรัพย์



มาตรา ๑๐๓๐ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยซื้อขาย



มาตรา ๑๐๓๑ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลยท่านว่า ต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมาภายในเวลาอันสมควร มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมากด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้



มาตรา ๑๐๓๒ ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการ นอกจากด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น



มาตรา ๑๐๓๓ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทำสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้

ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน



มาตรา ๑๐๓๔ ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นจักให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนไซร้ ท่านให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นด้วยมากหรือน้อย



มาตรา ๑๐๓๕ ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้



มาตรา ๑๐๓๖ อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น



มาตรา ๑๐๓๗ ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน นอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชี และเอกสารใด ๆ ของหุ้นส่วนได้ด้วย



มาตรา ๑๐๓๘ ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน



มาตรา ๑๐๓๙ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับจัดการงานของตนเองฉะนั้น



มาตรา ๑๐๔๐ ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๐๔๑ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่บางส่วนก็ดีให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกนั้นจะกลายเป็นเข้าหุ้นส่วนด้วยก็หามิได้



มาตรา ๑๐๔๒ ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน



มาตรา ๑๐๔๓ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้จัดการกระทำล่วงขอบอำนาจของตนก็ดี ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง



มาตรา ๑๐๔๔ อันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คนนั้นย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น



มาตรา ๑๐๔๕ ถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดไว้แต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอา เท่าไร หรือกำหนดแต่เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วนกำไรและส่วนขาดทุนเป็น อย่างเดียวกัน



มาตรา ๑๐๔๖ ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหามีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๐๔๗ ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนอยู่ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้


มาตรา ๑๐๔๘ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่น ๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2551
จำเลย ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ก็หามีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2547
โจทก์ และ ส. ตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนทำกิจการบ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์ แม้ในการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมอาคารแก่จำเลย จะได้มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน อันมีผลทำให้โจทก์และ ส. ผูกพันตามสัญญาที่ ว. ทำไว้กับจำเลย ซึ่งโจทก์หรือ ส. ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยลำพังก็ตาม แต่การฟ้องคดีก็จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เมื่อโจทก์และ ส. ยังเป็นหุ้นส่วนกันอยู่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เฉพาะส่วนของตนกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการฟ้องเรียกหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10866/2546
โจทก์ และ ธ. ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทได้นำที่ดินพิพาทมาลงหุ้นใน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาทก็ย่อมเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้อายัดและยึดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2543
การที่โจทก์และผู้รับประกันภัยรายอื่นรวม 12 ราย ตกลงเข้ารับประกันภัยการขนส่งร่วมกัน โดยระบุชื่อและกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของแต่ละคนไว้แน่นอน โดยมุ่งหวังแบ่งปันกำไรอันพึงได้ตามสัดส่วนดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดเพื่อ ประโยชน์แก่ผู้รับประกันภัยรายอื่นซึ่งเป็นหุ้นส่วนทุกคนด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้รับประกันภัยรายอื่นจะทำหนังสือมอบสิทธิของตนให้แก่ โจทก์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2543
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเข้าร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกันในการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เพื่อดำเนินกิจการเปิด ร้านอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หาผลกำไรแบ่งกัน ซึ่งในการร่วมทุนกันนั้นโจทก์เป็นผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้น เป็นแรงงาน เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหาร เพียงผู้เดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกัน ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย การที่จำเลยปิด ร้านอาหารแล้วเปิดดำเนินกิจการใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหารนั้น ก็หมายความว่าจำเลยเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้ และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2542
การเอาทรัพย์สินมาลงหุ้น ของโจทก์และจำเลยทั้งสองนั้น มิได้เอาทรัพย์สินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนเป็นแต่เพียงเอามาให้ใช้ ในกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยทั้งสองและโจทก์ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ที่แต่ละคน สามารถจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ ฉะนั้นการที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างโดยจำหน่ายเฉพาะส่วนของตน จึงเป็นการใช้สิทธิ ตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็น การชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอม จากโจทก์ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน เพราะการเป็นหุ้นส่วนต้อง เกิดขึ้นโดยความตกลงระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วย เมื่อโจทก์ ยังมิได้ตกลงให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของจำเลยทั้งสองเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ผู้รับโอนก็ หากลายเป็นหุ้นส่วนไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็น การผิดสัญญาหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2542
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อซื้อที่ดินมาค้าหากำไรโดยมีข้อสัญญาว่าเมื่อ ซื้อที่ดินมาแล้วหุ้นส่วนทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นร่วมกัน และหุ้นส่วนทุกฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่มีการเรียก เงินลงทุนคืนระหว่างดำเนินการ ต่อมาเมื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้ขายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่กลับใส่ชื่อจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 แทนที่โจทก์ แล้วนำที่ดินแปลงดังกล่าวจำนอง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ชำระเงินลงหุ้นให้ครบและไม่ยอมจำนองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินลงหุ้นหรือเงินลงทุนคืนได้

กิจการของหุ้นส่วนในคดีนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงทุนเพื่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่งมาค้าหากำไร ไม่ปรากฎว่ามีทรัพย์สินอื่นนอกจากเงินลงหุ้นและไม่ปรากฏหนี้สินแต่อย่างใด การที่จะให้ไปดำเนินการฟ้องขอให้ เลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสียก่อน ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกฝ่าย ศาลย่อมพิพากษาให้คืนเงินลงหุ้นไปได้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5562/2538
บทบัญญัติตามมาตรา 1080 และมาตรา 1040แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้น ส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้น ส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมสำหรับ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดย ไม่ได้รับความยินยอมจาก ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภาย นอกได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1091 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้นเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดมีสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัดนี้เองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญ และการเป็นหุ้นส่วนจำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัว ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม แห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ไม่ เมื่อการโอนหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 โดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็อาจโอนได้ คำเบิกความของ ว. ที่ว่า จำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ไม่อาจโอนหุ้นได้โดยขาดความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นย่อมเป็นเพียงความ เห็นของพยาน จึงหาจำต้องหยิบยกคำเบิกความของ ว. มาวินิจฉัยให้โดยเฉพาะอีกไม่เพราะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนโดยปราศจากความยินยอมของผู้ เป็นหุ้นส่วนอื่นก็โอนได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่เห็นด้วยกับคำเบิกความของ ว. ดังกล่าวอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3574/2537
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงเป็นหุ้นส่วนกันประกอบกิจการระเบิดหินและย่อยหิน โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างนำเครื่องมือเครื่องใช้มาลงทุนร่วมกัน ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 นำเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยที่ 1 นำมาลงทุนร่วมกับโจทก์ไปใช้หาผลประโยชน์ในสถานที่อื่นโดยพลการอันเป็นการผิด ข้อตกลง ทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งกำไรลดลงขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนและตั้งผู้ ชำระบัญชี และให้จำเลยทั้งสองใช้เงินกำไรที่โจทก์ควรจะได้ จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่าโจทก์นำเครื่องโม่หินที่มีสภาพเก่าและทรุดโทรมมาลงทุนต้องเสีย เวลาซ่อมทุกเดือน เป็นเหตุให้ได้ผลิตผลไม่มากเท่าที่ควรทำให้จำเลยที่ 1ได้รับส่วนแบ่งกำไรน้อยลงจากที่เคยได้รับ ขอให้โจทก์ใช้เงินกำไรที่จำเลยที่ 1 ได้รับน้อยลง เช่นนี้ ฟ้องเดิมกับฟ้องแย้งเป็นเรื่องการเข้าหุ้นส่วนรายเดียวกัน มูลกรณีเดียวกัน ฟ้องแย้งจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2536
เมื่อทางไต่สวนได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนที่ผู้ร้องกับนายสุวัฒน์เข้าหุ้นส่วนกันไม่มีเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกเงินทดรองและค่าใช้จ่ายของตนไปเพื่อจัดการค้าของ ห้างสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนมีแต่เงินฝากอยู่ในบัญชีกระแสรายวันและบัญชี เงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น การที่จะรื้อฟื้นให้พิจารณาเรื่องบัญชีของห้างหุ้นส่วนต่อไปก็คงไม่ได้ข้อ เท็จจริงเพิ่มขึ้นจึงเห็นสมควรพิพากษาไปทีเดียว ให้แบ่งเงินทุนและผลกำไรโดยไม่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีก่อนได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1027 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยกันมีค่าเท่ากัน ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันก็ต้องเฉลี่ยแจกกำไรและทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ผู้ เป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1062 ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2536
ผู้คัดค้านทั้งห้าตกลงนำที่ดินและตึกแถวมาลงหุ้นตั้งแต่ลูกหนี้ที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลนั้น ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่ในระหว่างผู้คัดค้านทั้งห้าและ ลูกหนี้ที่ 1 ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้นเป็นต้นมาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030บัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนใน เรื่องส่งมอบให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายนั้นเป็นเรื่องเกี่ยว กับการส่งมอบตัวทรัพย์ หาได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2534
ข้อพิพาทตามสิทธิเรียกร้องที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นเรื่องระหว่าง โจทก์กับห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ จำเลยที่ 2 จึงลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยที่ 1 ในสัญญาประนีประนอมยอมความได้โดยไม่ต้องประทับตราห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นแต่เพียงผู้ออกเช็คชำระหนี้ของห้างจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นความรับผิดตามเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 3 หาได้แสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ไม่ แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และได้ลงลายมือชื่อทางด้านห้างจำเลยที่ 1 ไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีข้อความระบุว่า "การชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระด้วยเช็คซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 3" ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 แสดงตนเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 839,000 บาท ห้างจำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการตั้งแต่ก่อนถูกฟ้องคดีนี้ ตัวอาคารห้างรวมทั้งที่ดินถูกธนาคารยึด นำขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2ต้องอาศัยบุตรสาวอยู่ พฤติการณ์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4454/2533
การที่จำเลยที่ 2 นำบิลเงินสดซึ่งตนรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารปลอมไปแสดงต่อกรมสรรพากรพร้อมกับให้ ถ้อยคำประกอบเพื่อขอเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากร จนกรมสรรพากรคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยถือว่า เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมด้วย

โทษปรับนิติบุคคลจะกักขังแทนเงินไม่ได้ จึงจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2529
ป.พ.พ. หมวดว่าด้วยห้างหุ้นส่วนจำกัดหาได้บัญญัติถึงการถอดถอน หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ จึงต้องนำมาตรา 1036 ในบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับ แต่จะต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นเองเป็นผู้ถอดถอน จะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งไม่มีสิทธิมีส่วนในการจัดการ เข้ามาถอดถอน ผู้จัดการซึ่งตั้งโดยผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4511 - 4512/2528
จำเลย ที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินกิจการทั้งหลายของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องอาศัย ช. หุ้นส่วนผู้จัดการดำเนินการแทน เมื่อ ช. มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ติดต่อกับโจทก์ คิดบัญชีหนี้สินที่เกี่ยวค้างกัน และยังมอบงานบางอย่างให้จำเลยที่ 2 ทำ โดยให้ใช้ตราของห้างได้ในชั้นส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานก็ได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองตามที่ปรากฏในหนังสือ รับรองของนายทะเบียน ในคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันนั้น ช. ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อศาลอนุญาต ช.ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 2 ตามคำร้องดังกล่าวมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยไว้อย่างชัดแจ้ง ช.ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง และที่จำเลยที่ 2ต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 มาแต่แรก ช. ก็ไม่ได้คัดค้านการกระทำของจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ของ ช. ดังกล่าวแสดงว่า ช. ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีแทนตนในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 แล้วดังนั้นที่จำเลยที่ 2แต่งทนายความต่อสู้คดีในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2527
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนในระหว่างที่จำเลยร่วมกันดำเนินกิจการของโจทก์ที่1 แทนโจทก์ที่ 2 ได้จำหน่ายรถไถและอุปกรณ์รถไถของโจทก์ที่ 1 แล้วไม่นำเงินส่งให้โจทก์ที่1 กับเอาตราและเอกสารของโจทก์ที่ 1 ไปด้วย ขอให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าที่จำหน่ายไป กับให้ส่งมอบตราและเอกสารแก่โจทก์จำเลยที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ได้รับรถไถของจำเลยที่ 4 ไปจำหน่ายแล้วไม่นำเงินส่งมอบแก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 4 ตามข้อตกลง ทั้งยังได้นำเงินของโจทก์ที่ 1 ไปใช้จ่ายเป็นส่วนตัวอีกด้วยขอให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 4 กับให้โจทก์ที่ 3 ซึ่งเข้ามาช่วยโจทก์ที่ 2 ดำเนินการห้างฯ โจทก์ที่ 1 ร่วมรับผิดด้วย และให้โจทก์ที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างฯ โจทก์ที่ 1 และชำระบัญชีดังนี้ ฟ้องแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับรถไถเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ส่วนฟ้องแย้งที่อ้างว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นำเงินของโจทก์ที่ 1 ไปใช้จ่ายเป็นส่วนตัวกับให้โจทก์ที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้างฯ โจทก์ที่ 1 และชำระบัญชีนั้น เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมต้องห้ามมิให้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2520
โจทก์ฟ้องขอให้เลิกกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนโดยกล่าวไว้ในฟ้องว่า ในการเข้าหุ้นส่วนค้าที่ดินและตึกแถวกันนี้จำเลยตกลงแบ่งกำไรให้โจทก์ร้อยละ 60 จำเลยขายที่ดินและตึกแถวไปหลายห้องไม่แบ่งกำไรให้โจทก์ ขอให้พิพากษาเลิกกิจการห้างหุ้นส่วนและตั้ง ค. เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่หุ้นส่วน ศาลได้กำหนดประเด็นว่าโจทก์กับจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันหรือไม่ ตกลงแบ่งผลกำไรกันเท่าใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกหุ้นส่วนกันหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จำเลยประสงค์จะแบ่งปันกำไรกันอย่างไรจึงเป็นประเด็น วินิจฉัย ศาลพิพากษาให้แบ่งกำไรกันตามที่พิจารณาได้ความได้

ในชั้นแรก โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยมาดำเนินการตามโครงการของโจทก์นั้น โจทก์ต้องแบ่งกำไรสุทธิให้จำเลยร้อยละ 40 ครั้นเมื่อโจทก์ดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะขาดทุนหมุนเวียน จนจำเลยต้องเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วยสัญญาเข้าหุ้นส่วนระบุว่าการแบ่งผล ประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับให้เป็นไปตามแนวข้อตกลงของสัญญาซื้อที่ดิน "แนวข้อตกลง"จึงมีความหมายว่าจะต้องแบ่งกำไรสุทธิให้จำเลยในฐานะเจ้าของ ที่ดินร้อยละ 40 อย่างเดิมเสียก่อน กำไรที่เหลืออีกร้อยละ 60 จึงแบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนกันตามส่วนของเงินที่ลงหุ้น

โจทก์ขอให้ศาลตั้ง ค.เป็นผู้ชำระบัญชี ถึงแม้จำเลยจะมิได้คัดค้านเกี่ยวกับตัวผู้ชำระบัญชีไว้ แต่จำเลยได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์จำเลยมิได้เป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อจำเลยปฏิเสธในเรื่องหุ้นส่วนเสียแล้ว ก็ไม่จำต้องกล่าวถึงตัวผู้ชำระบัญชี จะถือว่าจำเลยเห็นชอบให้ ค.เป็นผู้ชำระบัญชีหาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นตั้ง ค.เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยก็ได้อุทธรณ์ฎีกาต่อมาคัดค้านว่าไม่ควรตั้ง ค. เป็นผู้ชำระบัญชี และเป็นทนายโจทก์มีส่วนได้เสียโดยตรงกับโจทก์และไม่มีความรู้ความสามารถใน การชำระบัญชี ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้และเห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยไม่อาจร่วมกันตั้งผู้ชำระบัญชีได้ ศาลฎีกาจึงตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชีต่อไป การชำระบัญชีจะได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยไม่ติดขัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2520
สามีจำเลยกับโจทก์ร่วมกันเข้าหุ้นตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาสามีจำเลยตายโจทก์จำเลยตกลงให้กิจการของห้างดำเนินต่อไป โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากสามีจำเลยเป็นจำเลย ทรัพย์สินของสามีจำเลยซึ่งมีอยู่ในห้างย่อมเป็นมรดกตกได้แก่จำเลย เมื่อจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์แทนที่สามีจำเลยก็เท่ากับจำเลยได้ลง หุ้นแล้ว

โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนมีสิทธิที่จะไต่ถาม ถึงการงาน และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชีและเอกสารใด ๆของห้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1037 ประกอบด้วยมาตรา 1080แม้จำเลยจะมีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแสดงบัญชีรับจ่ายพร้อม ทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนตั้งแต่วันจำเลยเข้าดำเนิน กิจการจนถึงปัจจุบัน ย่อมอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะแสดงได้ หาใช่เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2518
การที่ผู้เป็นหุ้นส่วน 5 คนรวมทั้ง อ. ได้ร่วมกันลงชื่อในใบมอบอำนาจให้ พ. ผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับกิจการของหุ้นส่วนตาม สัญญาเข้าหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกันนั้น ย่อมถือว่า พ. ฟ้องคดีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อประโยชน์ของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน หาใช่ฟ้องคดีแทนผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะไม่ฉะนั้น หากจะมีการถอนการมอบอำนาจให้ พ. เป็นโจทก์ฟ้องคดี ก็ชอบที่จะกระทำโดยผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนร่วมกันขอถอนหรือกระทำโดยเสียงข้าง มาก ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยจะขอถอนใบมอบอำนาจให้ฟ้อง คดีโดยผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นซึ่งเป็นเสียงข้างมากมิได้ยินยอมด้วยหาได้ไม่ ฉะนั้น การที่ อ. ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่เพียงคนเดียวยื่นคำร้องขอถอนการมอบอำนาจโดยผู้เป็นหุ้น ส่วนคนอื่นๆ มิได้ยินยอมด้วย จึงหาทำให้การมอบอำนาจให้ พ. ฟ้องคดีตามใบมอบอำนาจ เสียไปไม่และหามีผลทำให้ อ. กลับเข้ามาเป็นโจทก์ด้วยตนเองไม่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเพราะพ.ขอถอน ฟ้องแม้ อ. จะได้ยื่นคำร้องขอถอนการมอบอำนาจไว้ก่อนศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีก็ตามอ. ก็ไม่มีสิทธิขอเป็นโจทก์ดำเนินคดีต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2513
สามีโจทก์กับสามีจำเลยร่วมทุนกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียนสามี โจทก์ตาย โจทก์รับมรดกและเข้าสวมสิทธิเป็นหุ้นส่วนแทนโดยความยินยอม ของสามีจำเลย ห้างหุ้นส่วนจึงยังไม่เลิกต่อมาสามีจำเลยตาย จำเลยเป็นผู้รับมรดกกลับปฏิเสธว่าสามีโจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนกับสามีจำเลย ดังนี้ ห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเลิกจากกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5)

เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็จะ ต้องจัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน ด้วยกันแม้จำเลยจะเข้าดำเนินการของห้างหุ้นส่วนจำเลยก็มิได้เป็นหุ้นส่วนกับ โจทก์โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายโดยมิได้ฟ้องขอให้ชำระบัญชี ศาลจะพิพากษาให้ชำระบัญชีไม่ได้เพราะเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951 - 1954/2497
เมื่อหนังสือตั้งตัวแทนไม่มีข้อความจำกัดอำนาจตัวแทนไว้ว่าให้มีอำนาจเฉพาะการจึง เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ตัวแทนมีอำนาจจัดการแทนตัวการได้ทุกอย่าง

แม้มีข้อบังคับของบริษัทกำหนดว่าต้องมีกรรมการลงชื่อร่วมกัน 2 นายและประทับตราบริษัทจึงจะผูกพันบริษัทและปรากฏว่ากรรมการของบริษัทแต่นาย เดียวลงชื่อแต่งตั้งตัวแทนภายหลังเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนแล้ว แต่ตัวแทนของบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายและจ้างเหมาแรงงานกับโจทก์ก่อนประกาศ โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้จำเลยจะถือเอาประโยชน์จากข้อความที่ต้องจดทะเบียนมายันโจทก์ซึ่งเป็น คนภายนอกไม่ได้