การแบ่งมรดก

มาตรา ๑๗๔๕ ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา ๑๓๕๖ ถึงมาตรา ๑๓๖๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้

มาตรา ๑๗๔๖ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หรือข้อความในพินัยกรรมถ้าหากมีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้เป็นทายาทด้วยกันมีส่วนเท่ากันในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

มาตรา ๑๗๔๗ การที่ทายาทคนใดได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด หรือประโยชน์อย่างอื่นใดจากเจ้ามรดกโดยการให้ หรือโดยการอย่างอื่นใด ซึ่งทำให้โดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่นั้น หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของทายาทคนนั้นต้องเสื่อมเสียไปแต่โดยประการใดไม่

มาตรา ๑๗๔๘ ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี

สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้

มาตรา ๑๗๔๙ ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้

แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่นนอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกันส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้

มาตรา ๑๗๕๐ การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อนแต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา ๘๕๐, ๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๗๕๑ ภายหลังที่ได้แบ่งมรดกกันแล้ว ถ้าทรัพย์สินทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทายาทคนใดคนหนึ่งได้รับตามส่วนแบ่งปันนั้น หลุดมือไปจากทายาทคนนั้นเนื่องจากการรอนสิทธิ ทายาทคนอื่นๆ จำต้องใช้ค่าทดแทน

หนี้เช่นว่านั้นเป็นอันระงับเมื่อมีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น หรือการรอนสิทธิเป็นผลเนื่องมาจากความผิดของทายาทผู้ถูกรอนสิทธิ หรือเนื่องมาจากเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแบ่งปัน

ทายาทคนอื่นๆ ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่ทายาทผู้ถูกรอนสิทธิตามส่วนแห่งส่วนแบ่งของตน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ย ซึ่งทายาทผู้ถูกรอนสิทธิจะต้องออกกับเขาด้วยนั้นออกเสีย แต่ถ้าทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว ทายาทคนอื่นๆ ต้องรับผิดในส่วนของทายาทคนนั้นตามส่วนเฉลี่ยเช่นเดียวกัน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ยซึ่งทายาทผู้ที่จะได้รับค่าทดแทนจะต้องออกแทนทายาทผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นออกเสีย

บทบัญญัติในวรรคก่อนๆ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ

มาตรา ๑๗๕๒ คดีฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการรอนสิทธิตามมาตรา ๑๗๕๑ นั้นมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่เมื่อถูกรอนสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2562
เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทของ ก. คือ บุตรทั้ง 9 คน รวมทั้งโจทก์และบิดาจำเลย ดังนั้น บิดาจำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ใน 9 ส่วน และมีสิทธิยกส่วนของตนให้แก่จำเลยได้ และเมื่อจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกพิพาท 1 ส่วน จึงเป็นเจ้าของรวมและมีสิทธิใช้สอยที่ดินมรดกพิพาท ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องและนำสืบว่า การที่จำเลยสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินมรดกพิพาทเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

การที่ศาลล่างทั้งสองให้ทายาทของ ก. อื่นนอกจากโจทก์อีก 7 คน ที่ไม่ได้ฟ้องหรือร้องสอดเข้ามาในคดีนี้หรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินมรดกพิพาท และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน และได้รับค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแทนทายาทอื่นในส่วนนี้ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562
ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2562
แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลง แต่ที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่ทำการแบ่งปันที่พิพาทดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ ทั้งจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามีที่ดินเพียงสองแปลงที่เป็นที่ดินมรดก ส่วนที่ดินอีกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันมรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินแปลงเดียวแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2562
การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368

การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น

โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นอีก 3 คน ตกลงให้ที่ดินมรดก 1 แปลง ตกแก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดโดยนำไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินพิพาทในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน

ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561
เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560
ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย

การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560
ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560
ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม

จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท

คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1

สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736

ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559
คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559
เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2672/2559
คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ และที่ดิน แต่สำหรับเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีในคดีนี้ เป็นคนละส่วนกับเงินฝากในคดีดังกล่าว ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยได้ปิดบังไม่แจ้งให้โจทก์ในฐานะทายาททราบว่ามีบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าวอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้ยื่นฟ้องจำเลยในคดีก่อน โดยจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบหักล้างว่าโจทก์ได้ทราบมาก่อนหน้านั้นแล้วว่าบัญชีเงินฝากต่าง ๆ ที่โจทก์ขอแบ่งในคดีนี้นั้น โจทก์ทราบอยู่แล้วว่ามีอยู่ก่อนที่จะฟ้องคดีก่อน จึงต้องรับฟังว่า โจทก์เพิ่งทราบความมีอยู่ของเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยแบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าวได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน

ตามคำให้การของจำเลยในข้อ 1 กล่าวอ้างว่า เจ้ามรดกยกกรรมสิทธิ์ของเงินฝากตามบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีให้แก่จำเลยแล้ว แต่ในข้อ 2 จำเลยกลับกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ในเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชีแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง คำให้การของจำเลยในส่วนนี้ไม่ชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ไม่เคยทราบถึงเรื่องที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชี ประกอบกับระหว่างที่มีการประชุมทายาทเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยเคยพูดยอมรับว่า ทรัพย์มรดกที่ตนเองครอบครองนั้นครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่น ๆ โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้องได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะยื่นฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559
โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 ส. เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 กับนาวาตรีหญิง ร.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883 - 1884/2559
การที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างความเป็นบุตรทายาทโดยธรรมของผู้ตายฟ้องเรียกร้องทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เรียกร้องจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดก คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 จึงเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 จะเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ ก็ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก ไม่ทำให้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 เคลือบคลุม

กรณีที่ตามฟ้องโจทก์ทั้งหกและคำให้การของจำเลยต่างรับกันได้ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตามฟ้องมีบริษัทต่าง ๆ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งหกก็มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้แบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งหก คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ และในส่วนรถยนต์จำนวน 25 คัน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่า ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย โจทก์ทั้งหกมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวว่า ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง แม้โจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกจะยื่นฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนและจำเลยยื่นคำให้การไว้ในสำนวนแรกก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีก็ตาม แต่ในคดีนี้โจทก์ที่ 1 อ้างสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ทำมาหาได้ร่วมกันกึ่งหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 อ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกันกับในคดีดังกล่าว กรณีจึงถือว่าโจทก์ทั้งหกและจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกและจำเลยนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายกึ่งหนึ่งในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และแม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามประเด็นในคำให้การของจำเลยไปโดยไม่ชอบ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาต่อมาได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

แม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งให้ จำเลย นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ว. ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ม. กับ ฐ. โจทก์ ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม ผู้จัดการทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 ดังนั้น การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้เป็นเหตุทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป เมื่อผู้ตายมีทายาทโดยธรรมรวม 10 คน แม้โจทก์ที่ 3 จะถอนฎีกาไปแล้ว แต่สิทธิของโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 และจำเลยคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ มิใช่การกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายมีโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคสาม โจทก์ที่ 1 สำนวนแรกจึงมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ในสำนวนหลังมีอำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยครอบครองอยู่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8171/2549
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีมรดกและศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของ ต. แก่โจทก์ทั้งห้าตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งห้าจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามคำพิพากษา อันเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมที่ได้รับมรดกร่วมกันเท่านั้น โจทก์ทั้งห้าและจำเลยหาใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันไม่ และมิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับเอาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นทายาทคนหนึ่งของ ต. จริง ก็ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อขอรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเสียตั้งแต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอกันส่วนในชั้นบังคับคดีได้ ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มรดกของ ต. ส่วนที่ตกได้แก่จำเลย ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยและจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าและกองมรดกของจำเลยต่อไปตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 319 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่งเงินดังกล่าวในชั้นนี้โดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 287 ไม่ได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559
เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558
ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558
แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครอบครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง

หลักจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558
ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก

คำพิพากษาในส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13665/2557
โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและเป็นผู้สืบสันดานของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ร. เมื่อจำเลยไม่โต้เถียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ร. เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. ไปแล้ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้เป็นทายาทของ ร. ต่างตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. จนเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสองย่อมตกอยู่แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2557
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ต่างเป็นทายาทโดยธรรมของ พ. เจ้ามรดกลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากัน ทั้งมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกันจนกว่าจะแบ่งมรดกแล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทเท่า ๆ กัน การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อมฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวจากจำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกระทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งไม่ถูกต้อง จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กำหนดอายุความต้องบังคับตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่บังคับตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2554
ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวตั้งแต่เจ้ามรดกตายไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่าทายาทคนนั้นครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น

ป.พ.พ. มาตรา 1745 มีความหมายว่าให้นำบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกรรมสิทธิรวม มาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติบรรพ 6 เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 1599 ย่อมเห็นได้ว่ากรณีมีทายาทหลายคนเมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์สินของเจ้ามรดกย่อมตกแก่ทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ แต่ยังไม่เป็นเจ้าของร่วมกันตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมทุกอย่างและยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติในบรรพ 6 ด้วย เช่น ทายาทที่ไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายในอายุความก็อาจสูญเสียสิทธิในการเป็นทายาทหรือทายาทสละมรดกโดยถูกต้องตามแบบการสละมรดกหรือทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งแตกต่างกับการเป็นเจ้าของรวมตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิรวมที่ต้องเสียสิทธิเมื่อเจ้าของร่วมคนอื่นแย่งการครอบครองหรือเจ้าของรวมสละความเป็นเจ้าของหรือตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ดังนั้นทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวจึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12972/2557
ตามพินัยกรรมข้อ 22 มีข้อความระบุให้สถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินได้แก่ ช. ผู้เป็นทายาท เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรจึงเป็นทายาทผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ช. ชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทในการอ้างอายุความมรดกยันโจทก์ผู้เป็นทายาทได้

เดิมโรงน้ำแข็ง โรงเรือนและอาคารปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาเจ้ามรดกได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11295 เป็นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน และโฉนดเลขที่ 11296 เป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็ง ขณะเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้ในกิจการทุกอย่างของเจ้ามรดก และเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวยังคงใช้ในกิจการร่วมกันตลอดมา โดยโจทก์ช่วยดูแลกิจการโรงน้ำแข็งและสถานีบริการน้ำมันของเจ้ามรดก และที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 บางส่วนให้บริษัท ท. เช่า จึงถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน ส่วนที่ดินที่ให้บริษัท ท. เช่านั้น ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาทรวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนั้นแม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก หรือกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์ผู้เป็นทายาทยังมีสิทธิเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 และ 1754

การตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1684 และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา 171 จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11628/2557
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แต่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก โดยปราศจากความยินยอมของทายาททุกคนจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง กรณีมิอาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้ายมาใช้บังคับได้ เพราะมาตราดังกล่าวจะใช้บังคับต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2557
อายุความฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เป็นกรณีที่ทายาทที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งและทายาทผู้นั้นยังครอบครองทรัพย์มรดกอยู่หรือมีทายาทอื่นครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนแล้ว กรณีนี้ทายาทผู้นั้นย่อมสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามมาตรา 1748 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทายาทที่มิได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วยตนเองแต่มีทายาทอื่นครอบครองแทนต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี และการที่ทายาทบางคนได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นแล้วแม้ครอบครองแทนนานเพียงใด หากยังไม่ได้เปลี่ยนเจตนาการยึดถือครอบครอง ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนอยู่นั่นเอง เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองสิทธิในกิจการโรงเรียนอันเป็นทรัพย์มรดกแทนโจทก์ และมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือครอบครอง แม้โจทก์จะฟ้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวเกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมไม่ขาดอายุความ และไม่อาจยกเอาอายุความมรดกตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556
การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555
โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างในฎีกาอีกว่าอายุความสิบปีสะดุดหยุดลงเพราะจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฆ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างให้ชัดแจ้งว่าข้อฎีกาดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความคดีแรก คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง และประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว ดังนั้นแม้คู่ความคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ทั้งประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกันและคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องเนื่องจากคดีหมายเลขที่ 1442/2540 ของศาลชั้นต้น เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 1710/2539 ของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนาย ย. หรือไม่ เพียงใด ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือไม่ ดังนั้นฟ้องของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2540

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนาย ย. และนาง น. ได้มาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2499 โดยนาย ย. และนาง น. อยู่กินกันฉันสามีภริยาและแต่งงานกันในขณะกฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับ (โดยมิได้จดทะเบียนสมรสในภายหลัง) จึงต้องแบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยนาย ย. ได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ส่วน ส่วนนาง น. ได้ 1 ใน 3 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2553
การที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาอุทิศที่ดินของเจ้ามรดกให้สร้างวัด และวัดได้ดำเนินการก่อสร้างสำเร็จตามเจตนาของเจ้ามรดกแล้ว ที่ดินย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ทำให้การได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้ต่อสู้หรือบังคับต่อบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญาก็ตาม แต่การยกให้นี้มีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญา รวมทั้งทายาทหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2552
การสละมรดกมี ป.พ.พ. มาตรา 1612 บัญญัติให้กระทำได้ 2 แบบคือ แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ คำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 หมายถึง ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือหัวหน้ากิ่งอำเภอและหมายรวมถึงบุคคลที่กระทำ หน้าที่แทนด้วย ดังนั้น การที่บุตรทั้งเจ็ดของเจ้ามรดกไปให้ถ้อยคำและทำบันทึกหลักฐานเป็นหนังสือ ระบุชัดแจ้งว่าไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินไว้ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำอยู่ใน อำเภอปฏิบัติราชการแทนได้ จึงเป็นการแสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว แต่การที่บุตรทั้งเจ็ดระบุว่า ไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยรับมรดกแปลงนี้แต่ผู้ เดียว ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 เพราะเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1613 อย่างไรก็ตามบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้ บังคับผูกพันบุตรทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 และ 1750

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2552
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และจำเลยที่ 1 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ สินสมรสส่วนของ ส. กึ่งหนึ่งจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดก เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบท บัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาทเพราะบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 6 ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น

การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของ ส. บางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของ ส. และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. อีกคนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722

ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ไม่ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งมีโจทก์ทั้งห้ารวมอยู่ด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. และโจทก์ทั้งห้าที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. คนหนึ่ง จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำโดยตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ท. ได้ครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกตาย โดยทายาทคนอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าว ด้วยแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่า ท. ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวแทนทายาทอื่น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตาม มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง

เมื่อสิทธิในทรัพย์มรดกตกแก่ ท. โดยสมบูรณ์ นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นทายาทของ ท. ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาทอื่นจะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ ตาม มาตรา 1755

การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินทรัพย์มรดกภายหลัง จากที่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 สิ้นสิทธิในการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกแล้ว เป็นการยื่นเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียน เพื่อให้ ท. ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์ มรดกไปโดยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8042/2551
เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยทายาทก่อนเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีก ไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกของ ส.ก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2551
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัดแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ ไม่ และไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกเป็น ข้อต่อสู้ได้ เพราะสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งดั่งเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาอาจยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4824/2551
การที่ทายาทคนหนึ่งฟ้องผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับการจัดการมรดกถือเป็นการฟ้องแทนทายาทคนอื่นๆ ด้วย

โจทก์ที่ 1 เคยฟ้องผู้จัดการมรดกและผู้รับโอนทรัพย์มรดก ขอให้เพิกถอนการเป็นผู้จัดการมรดกและเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก โดยผู้จัดการมรดกและผู้รับโอนทรัพย์มรดกให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของผู้รับโอนมิใช่ทรัพย์มรดกและคดีขาดอายุความมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์มรดก และโจทก์ที่ 1 นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการตายของเจ้ามรดก คดีจึงขาดอายุความมรดก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกเป็นคดีนี้ ขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกดัง กล่าว แม้จะเปลี่ยนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดก รายเดียวกันกับคดีก่อนนั่นเอง เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยและคดีขาดอายุความมรดก ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้กับคดีก่อนจึงอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่การที่โจทก์ที่ 1 เป็นทายาทคนหนึ่งฟ้องผู้จัดการมรดกและทายาทผู้รับโอนทรัพย์มรดกเกี่ยวกับการ จัดการมรดกว่าไม่ถูกต้องนั้น ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทคนอื่นๆ ด้วย ดังนี้ คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีก่อน จึงเป็นคู่ความรายเดียวกัน รื้อร้องฟ้องกันอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฟ้อง ซ้ำกับคดีก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8171/2549
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของผู้ เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีมรดกและศาลพิพากษาให้จำเลย แบ่งทรัพย์มรดกของ ต. แก่โจทก์ทั้งห้าตามส่วน เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ทั้งห้าจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกออกขายทอด ตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามคำพิพากษา อันเป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวมที่ได้รับมรดกร่วม กันเท่านั้น โจทก์ทั้งห้าและจำเลยหาใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันไม่ และมิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับเอาชำระหนี้ แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นทายาทคนหนึ่งของ ต. จริง ก็ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อขอรับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเสียตั้งแต่คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอกันส่วนในชั้นบังคับคดีได้ ส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์มรดกของ ต. ส่วนที่ตกได้แก่จำเลย ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องจัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยและจ่ายเงิน ให้แก่โจทก์ทั้งห้าและกองมรดกของจำเลยต่อไปตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 319 ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่งเงินดังกล่าวในชั้นนี้โดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 287 ไม่ได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2549
แม้ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามฟ้องร้องบังคับคดีเนื่อง จากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงจาก จำเลยเป็นการใช้สิทธิที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. โจทก์ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยชอบธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิได้รับส่วน แบ่งทรัพย์มรดกร่วมกับทายาทอื่นในที่ดินทั้งสองแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1725 ประกอบมาตรา 1357

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549
โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนาง ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่าง ใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย

โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2548
การ ที่ ล. กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลง แบ่งปันทรัพย์มรดกและจำเลยถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก แม้ศาลจะพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมทั้งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาดัง กล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งกรณีดังกล่าวถือว่า ล. และจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ดังนั้น โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกย่อม ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363

ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การที่ ล. ยอมแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยก็เพื่อให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ จัดการมรดก และจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกส่วนอื่น ๆ อีก เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่า ล. สละมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2547
ขณะมีชีวิตอยู่ ห. เพียงแต่มีความประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการยกให้จริง ดังนั้น ห. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ ห. ตกได้แก่บรรดาทายาทของ ห. ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย การที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังจากที่ ห. ถึงแก่กรรมแล้วจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ห. คนอื่นๆ ด้วย จำเลยเพิ่งจะมาเปลี่ยนเจตนาครอบครองเพื่อตนก็เมื่อจำเลยไปยื่นคำขอให้เจ้า พนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1380/2546
พ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ น. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส พ. ซื้อที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 56 ตารางวา มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน น. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย พ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนที่เป็นของ น. กึ่งหนึ่งเนื้อที่ 78 ตารางวาให้แก่จำเลยที่ 2 และ บ. เมื่อ น. ถึงแก่กรรมไปก่อน พ. ที่ดินส่วนของ น. จึงตกเป็นมรดกแก่ทายาทของ น. ซึ่งได้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เพียง 2 คน ส่วน พ. มิได้เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกส่วนของ น. เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของ น. ให้แก่โจทก์โดยที่ดินส่วนดังกล่าวไม่ได้เป็นมรดกของ พ. จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้สืบสิทธิของทายาทอันจะอาจอ้างอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ต้องดำเนินการแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จำนวน 26 ตารางวา

แม้โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นทายาทอยู่ในฐานะอันควรได้มรดกเช่นเดียวกับโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจแบ่งมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 วรรคสองอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องร้องสอดเข้ามาขอส่วนแบ่งในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2545
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ ความตายเป็นเวลาถึง 37 ปีเศษ จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควร ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แต่หากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งกันก็ย่อมมี สิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ ตามมาตรา 1748 แล้ว

ทรัพย์มรดกที่ดินของ ผ. เจ้ามรดกได้แบ่งปันให้แก่ ร. บ. และ ส. ทายาทของผ. และบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคแรก จึงถือว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และนับแต่นั้นมาย่อมถือว่า บุคคลทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งมรดกอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7968/2544
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้มีการแบ่งปัน การที่จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินต้องถือว่าได้ถือไว้แทนทายาทอื่นด้วย เมื่อโจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งจึงเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันให้เสร็จสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งมรดกนี้ได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 กรณีต้องตามมาตรา 1748 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2545
โจทก์ บ. และทายาทอื่นของ ส. ได้ขายส่วนของตนในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เป็นการแสดงเจตนาขายสิทธิในทรัพย์มรดกส่วนของทายาทแต่คนให้แก่จำเลยซึ่งเป็น ทายาทคนหนึ่งของ ส. และมีการโอนทางทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยแล้ว ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากทายาทแต่ละคนมีอำนาจขายทรัพย์มรดกส่วนของตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1745 ทั้งถือได้ว่า โจทก์ที่ 1 จำเลย บ. และทายาทอื่นตกลงแบ่งทรัพย์สินโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มา แบ่งปันกันระหว่างทายาทตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5424/2541
ห. และจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของเจ้ามรดกไม่ใช่ครอบครองเพื่อตนเอง ดังนี้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ ยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกว่าคดีขาดอายุความได้ คดีฟ้องเรียกมรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาท มีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้นจะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความหรือผู้ร้องสอดให้เข้ามารับ ส่วนแบ่งหรือกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาแบ่งที่ดินให้แก่ ว.ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกโดยที่ ว.มิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีหรือ ว. ได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน จึงเป็นการกันส่วน แบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง