อายุความ

มาตรา ๑๐๐๑ ในคดีฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็ดี ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงิน

มาตรา ๑๐๐๒ ในคดีที่ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันที่ได้ลงในคำคัดค้านซึ่งได้ ทำขึ้นภายในเวลาอันถูกต้องตามกำหนด หรือนับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด ในกรณีที่มีข้อกำหนดไว้ว่า “ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน”

มาตรา ๑๐๐๓ ในคดีผู้สลักหลังทั้งหลายฟ้องไล่เบี้ยกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายแห่งตั๋วเงิน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน หรือนับแต่วันที่ผู้สลักหลังนั้นเองถูกฟ้อง

มาตรา ๑๐๐๔ เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเพราะการอันหนึ่งอันใดซึ่งกระทำแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านว่าย่อมมีผลสะดุดหยุดลงเพียงแต่แก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

มาตรา ๑๐๐๕ ถ้าตั๋วเงินได้ทำขึ้นหรือได้โอนหรือสลักหลังไปแล้วในมูลหนี้อันหนึ่งอันใด และสิทธิตามตั๋วเงินนั้นมาสูญสิ้นไปเพราะอายุความก็ดี หรือเพราะละเว้นไม่ดำเนินการให้ต้องตามวิธีใด ๆ อันจะพึงต้องทำก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ตามหลักกฎหมายอันแพร่หลายทั่วไป เท่าที่ลูกหนี้มิได้ต้องเสียหายแต่การนั้น เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2550
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายและโจทก์เป็นผู้ลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ ภายหลังโจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมาแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่สมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจาก จำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้นั้นได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับโดยชอบตามกฎหมายย่อมลงวันที่ใดก็ ได้ เมื่อตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับปรากฏว่า โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และตามใบคืนเช็คปรากฏว่า ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 จำนวน 2 ฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันสั่งจ่ายคือวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 25 พฤษภาคม 2538 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1001 ได้บัญญัติให้ฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่ ตั๋วถึงกำหนด โดยไม่ได้บัญญัติว่าผู้ใดเป็นผู้ฟ้องดังเช่นมาตรา 1002 การที่โจทก์ในฐานะที่ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้รับซื้อตั๋วสัญญาใช้ เงินจากผู้รับเงินฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1001

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5050/2547
โจทก์รับรองการจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วในฐานะผู้รับอาวัลเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ได้ทำคำขอให้รับรองตั๋วเงินไว้ต่อโจทก์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนซึ่งเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามคำขอให้รับรองตั๋ว เงินด้วย และถือได้ว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันสามารถบังคับกันได้ตาม กฎหมายแยกต่างหากจากความผูกพันที่โจทก์ยอมตกเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้ เงินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋ว ดังนั้น เมื่อตั๋วถึงกำหนดใช้เงินโจทก์ได้ใช้เงินไปตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. แล้วมาใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามคำขอให้รับรองตั๋วเงินดังกล่าว แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนดอันเป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของ โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 แล้ว แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้อันเกิดจากคำขอให้รับรองตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกันไว้แก่โจทก์ก็ยังคงมีอยู่ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นว่านี้ ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลาสิบปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2547
อายุความเช็คต้องนับแต่วันที่ลงในเช็คไม่ใช่นับแต่วันมอบเช็คให้ เมื่อขณะที่โจทก์รับมอบเช็ค เช็คยังไม่ลงวันที่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริตชอบที่จะลงวันที่ออก เช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คได้ตาม ป.พ.พ. มารตรา 910 ประกอบมาตรา 989 เมื่อนับจากวันที่ซึ่งปรากฏในเช็คถึงวันฟ้องไม่เกินหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1374/2546
อายุความฟ้องร้องผู้สั่งจ่ายเช็คมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ดังนั้น เช็คลงวันที่ 5 สิงหาคม2540 ย่อมครบกำหนดอายุความในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ปรากฏว่าในวันครบกำหนดดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่ง โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ว่า โจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดอุดรธานีที่มีเขตศาล เหนือคดีแต่เงินที่เสมียนทนายเตรียมไปไม่พอกับค่าธรรมเนียม เสมียนทนายจึงนำคำฟ้องกลับมาที่จังหวัดขอนแก่นและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อเวลา 16 นาฬิกา อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่สามารถกลับไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ได้ทัน จึงขออนุญาตยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งในคำร้องว่า "รับไว้ส่งศาลจังหวัดอุดรธานีโดยด่วนเพื่อพิจารณาต่อไป" คำสั่งดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 10 แม้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นจะมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ แต่การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งรับคำร้องและให้ส่งศาลจังหวัด อุดรธานีพิจารณาโดยด่วนนั้น ย่อมถือได้ว่าศาลจังหวัดขอนแก่นได้ยอมรับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนการที่ศาลจังหวัดขอนแก่นจะส่งคำฟ้องไปให้ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาสั่ง ในภายหลังก็เป็นขั้นตอนปฏิบัติของศาลมิได้เกี่ยวกับคู่ความ แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ภายหลังก็หามีผลทำให้คดี ของโจทก์ที่ยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความกลับกลายเป็นคดีที่ขาดอายุความไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4383/2545
เช็คพิพาทระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน แต่ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือจึงเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย หากมีการสลักหลังเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 จึงบัญญัติว่าเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังไม่ ดังนั้น การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาท ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเรียกเก็บเงินผ่านบัญชีของผู้อื่นซึ่งเป็นตัวแทน ของโจทก์ หรือโอนเช็คพิพาทไป เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เช็คพิพาทกลับมาครอบครอง โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ตามมาตรา 904ไม่อยู่ในฐานะผู้สลักหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดตามมาตรา 1002 ไม่ใช่กรณีที่จะบังคับตามมาตรา 1003ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน

ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค มิได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรง เช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ ดังนั้น โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9539/2544
เช็คเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่งที่ผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารใช้เงินเมื่อทวงถามซึ่ง ผู้ทรงเช็คมีสิทธิทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตั้งแต่วันออกเช็คซึ่งหมายถึงวัน ที่ลงในเช็ค มิใช่หมายถึงวันที่ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คหรือมิใช่วันที่ผู้ทรงเช็คยื่นเช็ค แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน กำหนดอายุความ 1 ปีที่ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ลงในเช็คอันเป็นวัน ที่ผู้ทรงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยขีดฆ่าวันออกเช็คเดิมออกเช็คพิพาทจึงเป็น เช็คที่มิได้ลงวันออกเช็ค และแสดงให้เห็นเจตนาว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันออกเช็ควันใดวันหนึ่งก็ได้ ตามที่โจทก์เห็นสมควร การที่โจทก์ไม่ลงวันออกเช็คในครั้งแรกที่นำเช็คพิพาทไปยื่น ธนาคารจึงชอบที่จะปฏิเสธการใช้เงินได้เพราะตราสารที่นำไปยื่นนั้นมีรายการ ขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์อันจะถือว่าเป็นเช็คและเมื่อโจทก์นำตราสารนั้นมาลง วันออกเช็คในครั้งหลังเพื่อให้สมบูรณ์เป็นเช็คก็เป็นสิทธิที่โจทก์ย่อมกระทำ ได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกเช็คหรือลงในเช็คในครั้งหลังเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนดแล้วประมาณ 3 เดือนเศษคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2537
จำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลมาขายให้แก่โจทก์ ตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ปรากฏข้อความว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จะยอมใช้เงินแก่โจทก์ หรือคำว่า "ค้ำประกัน" คงระบุเพียงฐานะของจำเลยที่ 2 ว่า"ผู้รับอาวัล" ต่อท้ายลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และแม้จะระบุเรื่องการผ่อนเวลาไว้ก็เป็นการกล่าวถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับอาวัล ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 เท่านั้นเมื่อเป็นกรณีมีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น โดยถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน แม้ปรากฏว่าหลังจากที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินแล้วจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วได้ผ่อนชำระเงินให้โจทก์ไปบางส่วน เป็นเหตุให้อายุความในส่วนของจำเลยที่ 1 สะดุดหยุดลง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลได้ร่วมกระทำด้วยอายุความในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงไม่สะดุดหยุดลง ตาม มาตรา 295 ประกอบ มาตรา 967,985