ห้างหุ้นส่วนจำกัด

มาตรา ๑๐๗๗ อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ 


(๑) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ 


(๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง 


มาตรา ๑๐๗๘ อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน การลงทะเบียนนั้น ต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ 

(๑) ชื่อห้างหุ้นส่วน 

(๒) ข้อแถลงความว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนั้น 

(๓) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาทั้งปวง 

(๔) ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำนวนเงินซึ่งเขาเหล่านั้นได้ลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน 

(๕) ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด 

(๖) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ 

(๗) ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างหุ้นส่วนนั้นประการใดให้ลงไว้ด้วย ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่น ๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้ 


การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนและต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้นฉบับหนึ่ง 


มาตรา ๑๐๗๘/๑ หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใด 


การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นนั้น ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้น ส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย 


การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้ 


มาตรา ๑๐๗๘/๒ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง 


มาตรา ๑๐๗๙ อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับ ผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จด ทะเบียน 


มาตรา ๑๐๘๐ บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด ๓ นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย 


ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน 


มาตรา ๑๐๘๑ ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง 


มาตรา ๑๐๘๒ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน 


มาตรา ๑๐๘๓ การลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น ท่านว่าต้องให้ลงเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ 


มาตรา ๑๐๘๔ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด นอกจากผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้ 


ถ้าทุนของห้างหุ้นส่วนลดน้อยลงไปเพราะค้าขายขาดทุน ท่านห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจนกว่าทุนซึ่งขาดไปนั้นจะได้คืนมาเต็มจำนวนเดิม 


แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยไปแล้วโดยสุจริต ท่านว่าหาอาจจะบังคับให้เขาคืนเงินนั้นได้ไม่ 


มาตรา ๑๐๘๕ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้ง ความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวน ซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น 


มาตรา ๑๐๘๖ ข้อซึ่งตกลงกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลาย เพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเภททรัพย์สินที่ลงหุ้น หรือเพื่อจะลดจำนวนลงหุ้นแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งคนใดนั้น ท่านว่ายังไม่เป็นผลแก่บุคคลภายนอกจนกว่าจะได้จดทะเบียน 


เมื่อได้จดทะเบียนแล้วไซร้ ข้อตกลงนั้น ๆ ก็ย่อมมีผลแต่เพียงเฉพาะแก่หนี้อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังเวลาที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น 


มาตรา ๑๐๘๗ อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ 


มาตรา ๑๐๘๘ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน 


แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ 


มาตรา ๑๐๘๙ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น จะตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนก็ได้ 


มาตรา ๑๐๙๐ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใด ๆ เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ก็ไม่ห้าม 


มาตรา ๑๐๙๑ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ๆ ก็โอนได้ 


มาตรา ๑๐๙๒ การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตายก็ดี ล้มละลายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ดี หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น 


มาตรา ๑๐๙๓ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตาย ท่านว่าทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น 


มาตรา ๑๐๙๔ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดล้มละลาย ท่านว่าต้องเอาหุ้นของผู้นั้นในห้างหุ้นส่วนออกขายเป็นสินทรัพย์ในกองล้มละลาย 


มาตรา ๑๐๙๕ ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดั่งนี้ คือ 

(๑) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน

 (๒) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน 

 (๓) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา ๑๐๘๔ 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2563

ความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 สำหรับโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์... ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีก็ได้ การกระทำในนามของโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งระบุว่าการลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคแรกต้องประทับตราของสหกรณ์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ คงมีแต่คณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อโดยมิได้มีการประทับตราของโจทก์กำกับไว้เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนสหกรณ์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. ฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ ช. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2562

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า "รถยนต์" หมายความว่า "รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก" มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์


แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2562

พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษ..." ดังนั้นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลอันถือเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ มิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2562

การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้วลงมติให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 และ ส. เป็นกรรมการใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท แล้วจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกลักเอาหุ้นของโจทก์เพื่อจะโอนให้จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 นำมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นแล้วไปจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขกรรมการ จำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท รวมถึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอนหุ้นของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นความผิด 2 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2562

เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแล้วย่อมมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมมิใช่ทรัพย์สินและหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนโดยตรง ส่วนการที่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วจะยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อขึ้นเพราะจัดการไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น แตกต่างจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งจะมีความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด และในระหว่างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 1051 มาใช้บังคับแก่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ แม้หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์จะเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยยังคงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของโจทก์ก็ถือมิได้ว่าเป็นหนี้สินของจำเลย หนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรไปนั้นจึงเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ที่จะต้องนำไปคิดคำนวณกำไรขาดทุนในระหว่างผู้ที่ยังคงเป็นหุ้นส่วนกันต่อไปตามสัญญาหุ้นส่วน โจทก์จะนำหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2561

เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันและไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร


โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งผลกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2561

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2545 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และกล่าวในตอนท้ายว่า ถือว่าจำเลยทั้งสามได้ประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จริง แต่ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากลาออกเป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกเป็นเวลากว่า 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยทั้งสามนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดอย่างไรตามบทกฎหมายใด ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตน แล้วให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน


โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์


บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส


โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2561

พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 นิยามคำว่า "ฉลาก" หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ และหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย มาตรา 62 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะต้องระมัดระวังตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนและมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีความผิด นอกจากนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2538 ข้อ 6 (12) กำหนดให้วัตถุอันตรายที่ขายหรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น ฉลากดังกล่าวต้องมีเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ เช่นนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตที่ผู้ขายต้องแสดงให้ลูกค้าทราบเพื่อรู้ว่าสินค้าหมดอายุเมื่อใด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุอันตรายที่ผลิตหรือขายทั้งภาชนะที่บรรจุคือขวดไม่ว่าชนิดใดและหีบห่อบรรจุคือกล่อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงของกลางอันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตสินค้าก่อนส่งให้ลูกค้า... จำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกล่องกระดาษตรวจดูเป็นรายขวดหรือแกลลอนที่บรรจุเนื่องจากเห็นว่าหากกล่องกระดาษมีร่องรอยการแกะก่อนส่งให้ลูกค้าจะมองดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการตรวจสินค้าดังกล่าวเป็นประเพณีทางการค้าที่ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้และผู้จัดจำหน่ายปฏิบัติต่อกัน จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดจำหน่ายจึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าสินค้าเคมีเกษตรแต่ละชนิดที่บริษัท พ. ผลิตออกมา มีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วนทุกขวดทุกแกลลอนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของบริษัท พ. ที่จะต้องติดรายการวันเดือนปีที่ผลิต นั้น จำเลยทั้งสองสามารถส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัท พ. ผลิตก่อนที่จะบรรจุกล่อง หากพบว่าฉลากไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตก็สามารถแก้ไขได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2560

จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การข้อ 1 โดยบรรยายว่า จำเลยทั้งสามขอให้การตัดฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ร่วมหุ้นกันนั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนในกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะและประเภทเดียวกันหรือมีสภาพดุจเดียวกันแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าแข่งเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่มีข้อความใดยอมรับว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้อง หากแต่เป็นการอ้างเนื้อความตามคำฟ้องมาเพื่อให้การต่อสู้คดีในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อแรกทำนองว่าหากเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องเรียกร้องผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1038 จะฟ้องให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในข้อ 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นส่วนตัวไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2560

คดีก่อนจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยยึดทรัพย์โจทก์โดยชอบหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เหลือภายหลังจากการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระหนี้แล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144


การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และมาตรา 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และใช้บ้านของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ตั้งห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 353 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลบริหารจัดการด้านการบริหาร การเงิน วางแผนการดำเนินการรวมถึงงบประมาณของโจทก์ และรับผิดชอบงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายแล้วจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองทรัพย์ของผู้ที่มอบหมาย การที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานต่าง ๆ ของโจทก์ตามฟ้องจึงมิใช่การได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 และที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 เห็นว่า การกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำความผิดต่อนิติบุคคลที่บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกันกับกิจการของโจทก์ โดยกระทำในนามของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น เป็นการกระทำที่แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย มิใช่การกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์จากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์หรือขาดรายได้ ก็มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมากไปกว่าเดิมในลักษณะที่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือสูญเสียประโยชน์ที่เคยเป็นของโจทก์มาก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่โจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2560

โจทก์ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวแทนของ ข. โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ดำเนินการทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยไม่ปรากฏชื่อโจทก์อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560

แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2559

ป.พ.พ. มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัท ท. อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559

ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559

โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5


จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก


คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์ และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายนัด ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12714/2558

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 กับฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ราคาหุ้นต่อหน่วยรวมเป็นเงิน 8,000,000 บาท ไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองฐานตามฟ้อง จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้ในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องอันเป็นการรับฟ้องในคดีส่วนแพ่งด้วยจึงเป็นการมิชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดจำนวน 1 ฉบับ และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่จำนวน 1 ฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เรียกชำระเงินไปจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองยังมิได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนค้างชำระอยู่อีก 49,500,000 บาท อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องพบอุปสรรคในการที่จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267


การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2551 

จำเลย ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ก็หามีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2549 

คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาล แพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่ อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2549 

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการโดยไม่จำกัดจำนวน โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 แม้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง กรณีไม่อาจให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่งได้ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2548 

ก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกิจการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ใช้ชื่อร้านว่า ส.เฟอร์นิเจอร์ และจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากโจทก์ในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ อีก การที่โจทก์ส่งสินค้าตามที่จำเลยที่ 2 สั่งในชื่อ ส.เฟอร์นิเจอร์ก่อนที่จะจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจดทะเบียนเป็นจำเลยที่ 1 แล้วการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก็ได้เข้าไปถือเอาประโยชน์จากสินค้าที่โจทก์ส่งไปให้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วย 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2541 

เมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างในฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องไม่ตรง กับที่จำเลยได้ให้การไว้จึงมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่าง ทั้งสองจำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้โจทก์จะมิได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2รับว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และอ้างว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดและคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ หยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087มาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077 จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยมาวินิจฉัยตามบทบัญญัติ ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็น บทบังคับเด็ดขาดว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องเป็นหุ้น ส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เพื่อวินิจฉัย ถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ย่อมไม่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็น 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2536 

คำว่า ชื่อ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081,1082หมายถึง ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล อันเป็นชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด มิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อหรือเป็นเพียงพยางค์หนึ่งของชื่อ เว้นแต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าชื่อบางส่วนหรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำ ที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยที่ 4 เพียงแต่ยอมให้ห้างจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "วิ"ซึ่งเป็นพยางค์แรกของชื่อจำเลยที่ 4 ที่ชื่อว่า "วิริยะ"มาระคนเป็นชื่อ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า คำว่า"วิ" นั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปหมายถึงชื่อของจำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงยังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082 วรรคแรกจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุที่ได้ยอมให้ใช้คำว่า "วิ" มาระคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2066/2545 

จำเลย ที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เป็นผู้ติดต่อส่งสินค้าไปยังต่าง ประเทศและได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้สั่งจ่ายเช็คได้ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1ด้วย โดยทำในนามของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลย ที่ 1 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5562/2538 

บทบัญญัติตามมาตรา 1080 และมาตรา 1040 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้น ส่วนสามัญจะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกหรือชักนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้น ส่วน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมนำมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วยโดยอนุโลมสำหรับ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดที่จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดย ไม่ได้รับความยินยอมจาก ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภาย นอกได้โดยลำพัง ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามที่มาตรา 1091 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะเรื่องการโอนหุ้นเท่านั้นเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดมีสิทธิอำนาจหน้าที่และความรับผิดจำกัด และเนื่องจากมีสิทธิอำนาจหน้าที่ และความรับผิดจำกัดนี้เองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัด ความรับผิดจึงมิใช่สาระสำคัญ และการเป็นหุ้นส่วนจำพวกดังกล่าวไม่เป็นการเฉพาะตัว ทั้งการโอนหุ้นดังกล่าวก็หาใช่การเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิม แห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1032 ไม่ เมื่อการโอนหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 โดยปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นก็อาจโอนได้ คำเบิกความของ ว. ที่ว่า จำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ไม่อาจโอนหุ้นได้โดยขาดความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นย่อมเป็นเพียงความ เห็นของพยาน จึงหาจำต้องหยิบยกคำเบิกความของ ว. มาวินิจฉัยให้โดยเฉพาะอีกไม่เพราะที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนโดยปราศจากความยินยอมของผู้ เป็นหุ้นส่วนอื่นก็โอนได้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่เห็นด้วยกับคำเบิกความของ ว. ดังกล่าวอยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องดำเนินการขอจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้อง 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5562/2538 

ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จะโอนหุ้นของตนให้บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็น หุ้นส่วนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายนอก ได้โดยลำพังไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1091 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2532 

คำว่า"ชื่อ"ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และ1082 ย่อมหมายถึง ชื่อสกุลด้วย เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่ง เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยอมให้ใช้ ชื่อสกุลของตน ระคนเป็นชื่อ ห้าง จำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้อง รับผิดต่อ โจทก์ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2536 

ผู้คัดค้านทั้งห้าตกลงนำที่ดินและตึกแถวมาลงหุ้นตั้งแต่ลูกหนี้ที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลนั้น ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่ในระหว่างผู้คัดค้านทั้งห้าและ ลูกหนี้ที่ 1 ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้นเป็นต้นมาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030บัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนใน เรื่องส่งมอบให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายนั้นเป็นเรื่องเกี่ยว กับการส่งมอบตัวทรัพย์ หาได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ไม่ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2523 

ผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินของบริษัทคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นไปโดยยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าภาษี อากรให้แก่โจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1269 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องบริษัทผู้ชำระบัญชีและผู้ถือหุ้นให้ รับผิดต่อโจทก์ได้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ ขาดการประเมินภาษีของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวภายใน 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) จึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งต่อศาล ต่อไป โจทก์ฟ้องให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นให้ ร่วมรับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ของบริษัท จำเลยที่ 1 ที่ต้องชำระ มิได้ฟ้องให้รับผิดในหนี้ภาษีเงินได้ส่วนตัวของจำเลยอื่น จึงไม่จำเป็นต้องเรียกจำเลยอื่นให้ปฏิบัติหรือตอบคำถามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 21 การที่เจ้าหนี้ติดตามหนี้สินคืนจากผู้ถือหุ้น ที่ได้รับแบ่งทรัพย์สินของบริษัทไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นกลับคืนนั้น มิใช่เป็นเรื่องเรียกให้ชำระมูลค่าของหุ้นที่ยังส่งให้ไม่ครบ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2520 

จำเลย ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้น ส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1077(2) เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดผิดนัดชำระหนี้ ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดให้รับ ผิดชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเลิกห้างหุ้นส่วนหรือล้ม ละลายก่อนหรือจะต้องปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2520

สัญญาระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนชื่อที่เรียกคู่สัญญาในสัญญาทุกข้อก็ ระบุว่าผู้ซื้อและผู้ขายแม้มีสัญญาข้อหนึ่งว่าผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อเข้าครอบ ครองใช้สิทธิ ปลูกสร้างในที่ดินได้ก็มีเงื่อนไขว่านับตั้งแต่วันที่ผู้ขายกรุยดินยกถนน ผ่านที่ดินเรียบร้อยแล้วอันมีความหมายชัดว่าผู้ขายไม่ได้มอบที่ดินให้ผู้ ซื้อทันทีโจทก์ผู้ซื้อจึงไม่ได้ใช้และรับประโยชน์จากที่ดินพิพาทในวันทำ สัญญาแต่ประการใด แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่จะทำสัญญาจะซื้อขายกัน ซึ่งต่างกับสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยจะต้องนำที่ดินมาให้โจทก์เช่า หรือส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินนั้นโดยมีคำมั่นว่าจะขาย แม้คำบรรยายฟ้องมีว่า โจทก์ได้ตกลงเช่าซื้อที่พิพาท แต่ก็อ้างหนังสือสัญญาท้ายคำฟ้องซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาดังกล่าวที่ส่งศาล และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสัญญาดังกล่าวเป็นหลัก. ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์