การจดทะเบียนรับรองบุตร



มาตรา ๑๕๔๗  เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร


มาตรา ๑๕๔๘  บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

มาตรา ๑๕๔๙  เมื่อนายทะเบียนได้แจ้งการขอจดทะเบียนขอรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไปยังเด็กและมารดาเด็กตามมาตรา ๑๕๔๘ แล้ว ไม่ว่าเด็กหรือมารดาเด็กจะคัดค้านการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา ๑๕๔๘ หรือไม่ ภายในกำหนดเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันแจ้งการขอจดทะเบียนถึงเด็กหรือมารดาเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กอาจแจ้งให้นายทะเบียนจดบันทึกไว้ได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด
เมื่อได้มีคำแจ้งของเด็กหรือมารดาเด็กดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้ว แม้จะได้มีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามมาตรา 

มาตรา ๑๕๔๘ บิดาของเด็กก็ยังใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดตามที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งว่าบิดาไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นไม่ได้ จนกว่าศาลจะพิพากษาให้บิดาของเด็กใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด หรือกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือมารดาเด็กแจ้งต่อนายทะเบียนว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้นได้ล่วงพ้นไปโดยเด็กหรือมารดาเด็กมิได้ร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรไม่เป็นผู้สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด
ในคดีที่ศาลพิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ศาลจะพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นให้ผู้ใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือเป็นผู้ปกครองเพื่อการปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

มาตรา ๑๕๕๐[๑๕๗]  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๕๕๑  ในกรณีที่มีการคัดค้านว่าผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรมิใช่บิดาของเด็ก เมื่อผู้ซึ่งขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนำคดีไปสู่ศาลขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเป็นบิดาของเด็ก เด็กหรือมารดาเด็กจะขอให้ศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนั้นก็ได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแม้จะเป็นบิดาของเด็ก ก็เป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำความในวรรคสามของมาตรา ๑๕๔๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๕๒  ในกรณีที่เด็กไม่มีมารดาหรือมีมารดาแต่มารดาถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและศาลได้ตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดไว้ก่อนมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร บิดาซึ่งจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบิดาอาจใช้อำนาจปกครองเพื่อความผาสุกและประโยชน์ของเด็กได้ดียิ่งกว่าผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งถอนความเป็นผู้ปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดของผู้ปกครองและให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13745/2553
ตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก โดยทั้งเด็กและมารดาเด็กจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนด้วยนั้น มีความมุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิที่เด็กจะพึงได้รับจากผู้เป็นบิดาอันเป็นเรื่องประโยชน์ของเด็กและการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขอรับรองบุตรต้องได้รับความยินยอม ก็ต่อเมื่อเด็กและมารดาเด็กอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้เท่านั้น เมื่อโจทก์เคยไปติดต่อสำนักงานเขตดุสิตเพื่อจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเพียง 7 ปี เป็นบุตรของตน แม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตามระเบียบ แต่เจ้าพนักงานแจ้งโจทก์ว่าต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน และโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 มารดาของจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบปฏิเสธและจำเลยที่ 2 อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การที่จะให้โจทก์ไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสือเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2553
ป.พ.พ มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนี้ พฤติการณ์รับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร เช่น การให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตรจึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785 - 3787/2552
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้

เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5982/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ส่วนวรรคสามและวรรคสี่บัญญัติว่า ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยิมยอมเป็นการเฉพาะตัว การที่นายทะเบียนแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ได้โดยไม่แจ้งการขอจดทะเบียนของผู้ร้องไปยังผู้คัดค้านและเด็กก่อนตาม มาตรา 1548 วรรคสอง หรือตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 วรรคสอง เพราะปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนขอจดทะเบียนนั้น เด็กหญิง ป. อายุเพียง 3 ปีเศษ ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัวฯ มาตรา 19 แล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องจดทะเบียนเด็กหญิง ป. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10220/2551
ในขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 โจทก์ทั้งสองยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะเรียกร้องเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 มาแต่ต้น แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ บ. ก็ตาม แต่ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังฟ้องคดีแล้ว และถึงแม้ว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1557 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนว่า "การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด" ก็ตาม แต่ในขณะที่จำเลยมีคำสั่ง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 1547 นั้น กฎหมายบัญญัติให้มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยชอบที่โจทก์ทั้งสองจะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอรับเงินบำเหน็จชราภาพต่อจำเลย ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2550
ขณะผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้ผู้ร้องจะยังไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย แต่การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรจะมีผลให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมาย แม้จะเป็นเรื่องหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ผู้เยาว์เป็นบุตรโดย ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้คัดค้านก็มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เข้ามาในคดีที่ผู้ ร้องขอจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรได้เสียทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน

คดีนี้ผู้ร้องขอจดทะเบียนเด็กหญิง อ. ผู้เยาว์เป็นบุตรของผู้ร้องโดยผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของผู้ ร้องจริง ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้เยาว์อายุประมาณ 3 ขวบเศษ อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่อาจให้ความยินยอมได้ การที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรต่อนายทะเบียนก่อน แต่ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลนั้นกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสาม ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรจึงมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548
จำเลยที่ 1 กับมารดาโจทก์ทั้งสองอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2480 อันเป็นเวลาภายหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดย ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเพียงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงต้องถือว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเฉพาะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2547
ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ที่ระบุว่า จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ม. โดยที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หากพ้นกำหนดนี้แล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองฝ่ายมีผลบังคับได้ทันที ข้อ 2 โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู และข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงให้โจทก์นำบุตรไปอยู่กับโจทก์ในวันเสาร์ตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึงวันอาทิตย์เวลา 17 นาฬิกา ของทุกสัปดาห์และในช่วงปิดเทอม หากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์และบังคับได้ ทันทีนั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์และจำเลยจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ส่วนข้อ 3 ก็เป็นข้อตกลงที่สืบเนื่องมาจากข้อ 1 ว่าเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามกฎหมายให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากภายหลังต่อมาจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจ ปกครองได้ทันที มิใช่ว่าให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทันทีเมื่อจำเลยผิดสัญญาโดยที่ โจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามข้อ 1 อันจะเป็นการขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 1547 ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ กฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ

สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำ พิพากษาและการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามระยะเวลาและขั้นตอนตามคำพิพากษา ดังนั้น การจะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 และ ข้อ 3 ได้ จะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ก่อน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเมื่อบิดามารดา ได้สมรสกัน หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์มิได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้เด็กชาย ม. เป็นบุตรของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มี ฐานะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ม. จึงไม่ถือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย ม. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2545
ด.มารดาของช.และช. ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว ไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับ ช. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่า ช. เป็นบุตรผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2545
ผู้เสียหายเป็นบุตรของโจทก์ร่วมกับนางเสงี่ยมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันผู้เสียหายจึงไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ร่วม ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนว่าผู้เสียหายเป็นบุตรโจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองของผู้เสียหายและมิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่จะมีอำนาจ จัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและไม่มีฐานะเป็นโจทก์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 วรรคแรก บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่าบิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กมิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้นดังข้อความที่บัญญัติไว้เดิมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ ไว้เข้มงวดกว่าเดิมนอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548ยังได้ บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมไว้ว่าการจด ทะเบียนเด็กเป็นบุตรจะกระทำได้ต้องมีคำพิพากษาของศาลและให้บิดานำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้อันเป็นข้อ สนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาอ้างว่าโจทก์ที่2เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ ที่3โจทก์ที่2จึงให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่3ได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้นเพราะไม่มี กฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่2ทำการแทนโจทก์ที่3ในกรณีดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2525
โดยสายโลหิตแล้วโจทก์เป็นบิดาที่แท้จริงของ จ. และโจทก์ยังได้จดทะเบียนรับรองว่า จ. เป็นบุตรของตนอีกขั้นหนึ่งด้วย โจทก์จึงเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จ.นับตั้งแต่วันจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1557 และเป็นผู้ปกครองของ จ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกบุตรของตนคืนจากน้าของบุตรคือจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ยอมคืนบุตรให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1567(4)

ขณะโจทก์จดทะเบียน จ. เป็นบุตรนั้น มารดาของ จ.ถึงแก่กรรมไปแล้วและขณะนั้น จ. มีอายุเพียง 1 ปีเศษมารดา จ. และ จ. จึงไม่อาจคัดค้านหรือให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนได้ การจดทะเบียนดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2511
กรณีที่เกี่ยวกับผู้เยาว์อันว่าด้วยเรื่องอำนาจปกครองและความปกครองนั้นไม่เหมือนกับคดีธรรมดาสามัญอื่นทั่วไปบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 2 หมวด 2 และ 3 ให้อำนาจแก่ศาลเป็นพิเศษ ในอันที่จะป้องกันสวัสดิภาพและรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ แม้ผู้เยาว์นั้นจะมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่แล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมด และจะสั่งถอนผู้ปกครองเสียก็ได้ อำนาจเช่นว่านี้ศาลจะสั่งเองโดยไม่จำต้องมีใครร้องขอก็ได้ในเมื่อมีคดีเดิม เรื่องตั้งผู้ปกครองอยู่แล้ว หรือจะสั่งในเมื่อมีบุคคลผู้มีสิทธิร้องขอขึ้นมาก็ได้ตามมาตรา 1552,1574 และ 1575 เพราะอำนาจควบคุมและคุ้มครองของศาลยังคงมีอยู่เรื่อยไป (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 797/2499)

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามคำสั่งศาล และตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองแทน การฟ้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ เมื่อปรากฏเรื่องการใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ต่อศาลภายหลังที่มีคดีเดิมเรื่อง ตั้งผู้ปกครอง ศาลมีอำนาจที่จะนำมาตรา 1552 มาบังคับคดีและเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเข้ามาในการไต่สวน เกี่ยวกับการถอนผู้ปกครองเดิมและการตั้งผู้ปกครองใหม่ได้ แม้โจทก์จะถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดี