หุ้นส่วนและบริษัท

มาตรา ๑๐๑๒ อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น

มาตรา ๑๐๑๓ อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ

(๑) ห้างหุ้นส่วนสามัญ

(๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัด

(๓) บริษัทจำกัด



มาตรา ๑๐๑๔ บรรดาสำนักงานสำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัททั้งหลายนั้น ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงซึ่งบัญชาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับจัดตั้งขึ้น



มาตรา ๑๐๑๕ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น



มาตรา ๑๐๑๖ การจดทะเบียนนั้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ทำกิจการอยู่ ณ ตำบลใดในพระราชอาณาจักร ท่านให้จดทะเบียน ณ หอทะเบียนสำหรับตำบลนั้น

การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนประการหนึ่งประการใดในภายหลังก็ดี กับทั้งแก้ไขการอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดอันบทบัญญัติแผนกนี้บังคับหรืออนุญาตให้จดทะเบียนก็ดี ก็ต้องจด ณ หอทะเบียนแห่งเดียวกันนั้น


มาตรา ๑๐๑๗ ถ้าข้อความที่จะจดทะเบียน หรือประกาศโฆษณาเกิดขึ้นในต่างประเทศไซร้ ท่านให้นับกำหนดเวลาสำหรับการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณาข้อความนั้นตั้งแต่ เวลาเมื่อคำบอกกล่าวการนั้นมาถึงตำบลที่จะจดทะเบียนหรือตำบลที่จะประกาศ โฆษณานั้นเป็นต้นไป



มาตรา ๑๐๑๘ ในการจดทะเบียน ท่านให้เสียค่าธรรมเนียมตามกฎข้อบังคับซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงตั้งไว้

มาตรา ๑๐๑๙ ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารซึ่งต้องจดทะเบียนไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้ในลักษณะนี้ ว่าให้จดแจ้งก็ดี หรือถ้ารายการอันใดซึ่งจะแจ้งในคำขอหรือในเอกสารนั้นขัดกับกฎหมายก็ดี หรือถ้าเอกสารใดซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะเบียนยังขาดอยู่มิได้ส่งให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่นซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดี นายทะเบียนจะไม่ยอมรับจดทะเบียนก็ได้ จนกว่าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารนั้นจะได้ทำให้บริบูรณ์หรือแก้ไขให้ถูกต้อง หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอันหรือได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว

มาตรา ๑๐๒๐ บุคคลทุกคนเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสารฉบับใด ๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้

ผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท นั้นให้ก็ได้

มาตรา ๑๐๒๑ นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ ตามแบบซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้

มาตรา ๑๐๒๒ เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้นหรือที่ไม่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๑๐๒๓ ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดื จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน

มาตรา ๑๐๒๓/๑ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา ๑๐๒๓ ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการมิได้

มาตรา ๑๐๒๔ ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดี หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือของผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ นั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482 - 483/2553
แม้โจทก์ยังไม่ได้พิมพ์โฆษณาชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ในราชกิจจานุเบกษา และ ป.พ.พ. มาตรา 1023 บัญญัติว่า บริษัทจะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาแล้วก็ ตาม แต่การบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้บุคคลทั่วไปทั้งที่ เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทมีโอกาสทราบถึงรายการต่างๆ ที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่เมื่อตามใบแจ้งยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต/ใบกำกับภาษีที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 ได้ระบุชื่อโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแก้ไขใหม่ไว้แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบถึงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถยกเอาเรื่องที่ยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาข้อความในส่วนชื่อโจทก์ที่ มีการจดทะเบียนแก้ไขใหม่มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551
จำเลย และ พ. กับพี่น้องตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านค้าร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่ง ปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่ พ. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำ หนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนอันเป็นไปในทาง ที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น ตามมาตรา 1050

จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระสำหรับการสั่งซื้อสินค้าระหว่างเดือนมิถุนายนถึง เดือนตุลาคม 2542 เป็นการรับสภาพหนี้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและ เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15

โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลย ว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสม เท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2547
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนให้จำเลยในคดีดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอจด ทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อนายทะเบียนกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะพ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วเพราะการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทน นิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์ โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 หาใช่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 3 จึงหาหลุดพ้นจากความผิดรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ แต่ต้องร่วมรับผิดบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 และ 1077 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2547
การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์ โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ และ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุให้ จ. มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้เท่านั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบ ทั้งยังฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า จ. มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและ ศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2547
โจทก์ ที่ 1 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงให้แก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และทำบันทึกต่อท้ายสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงว่า หากจำเลยได้ขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว จำเลยจะแบ่งผลประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหรือให้ใช้ลิขสิทธิ์ เป็นกรณีที่เห็นได้ว่าค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ที่ระบุในสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้น น้อยเกินไป แต่ขณะเดียวกันจำเลยผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นก็ไม่ต้องการจ่ายค่าตอบ แทนสูงกว่านี้ในขณะทำสัญญา จึงเลือกให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้ ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าวในอนาคต ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยตกลงทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ ทำนั้นอันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ฉะนั้นจึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยเจตนา ลวงของโจทก์ที่ 1 กับจำเลยซึ่งมีเจตนาจะอำพรางสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง แต่เป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกต่อไป แต่คงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2541
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 จะบัญญัติว่าในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีของบริษัทย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้ บันทึกไว้นั้นทุกประการก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าไม่มีการ ประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์ ตามรายงานการประชุมของบริษัท ดังนั้นการที่รายงานการประชุมของบริษัทระบุว่าที่ประชุมลงมติให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส. และ ป.ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่ 4 คนคือ ฮ.น.จ.และช. จึงไม่ถูกต้อง แม้จะมีการนำรายงานการประชุมดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการต่อ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ก็เป็นการไม่ชอบ หาทำให้กรรมการใหม่ทั้งสี่คนดังกล่าวเป็นกรรมการโจทก์ไม่ กรรมการใหม่ดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจบริหารงานของบริษัทโจทก์และกระทำการแทน บริษัทโจทก์ได้การที่ ฮ. และ จ. กรรมการใหม่ร่วมกันลงนามและประทับตราบริษัทโจทก์แต่งตั้ง ร.เป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2541
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้อง แต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้ แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่ง เอกสารเมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7063/2539
กรมธรรม์ประกันภัยระบุเงื่อนไขว่าจำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันซึ่ง ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ บุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลา ประกันภัยและไม่คุ้มครอบความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยหรือ บุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกันกับผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ เก็บรักษาควบคุมหรือครอบครองทรัพย์สินนั้นแต่รถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลย รับประกันภัยค้ำจุนไว้จากจำเลยร่วมเป็นของจำเลยร่วมแม้ว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการของจำเลยร่วมแต่จำเลยร่วมจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ย่อมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1015ดังนั้นจะถือว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยหาได้ไม่ทั้งรถยนต์ คันที่ได้รับความเสียหายเป็นของโจทก์มิใช่เป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมผู้เอา ประกันภัยหรือของบุคคลดังกล่าวกรณีจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขเข้าข้อยกเว้นดัง กล่าวที่จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าของ รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยค้ำจุนชนได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5429/2539
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าจัดการได้เฉพาะทรัพย์สินของลูกหนี้แม้ห้าง หุ้นส่วนจำกัดพ. จะมีลูกหนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำ กัดพ.ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2536
ตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์กำหนดให้กรรมการคือ ส.ช.และจ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยกรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะผูกพัน โจทก์แต่การที่ ส.ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้วยังมาร่วมลงลายมือ ชื่อกับ ช. ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอีก เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส.ผู้เป็นกรรมการนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้น ส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537
จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528และโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้น ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เมษายน 2530 เพื่อให้ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่โดยหนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุ แจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2526
การที่โจทก์มีความประสงค์จะจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบกิจการซื้อขายสินค้าล่วง หน้าและการเล่นแชร์ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิเช่นว่านี้จะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ ต้องห้ามหรือต้องควบคุมตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องพิจารณาว่าคำขอของโจทก์ครบถ้วนถูกต้องตาม หลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1019 บัญญัติไว้หรือไม่เท่านั้น จำเลยจะสั่งให้รอการรับจดทะเบียนไว้ก่อนตามมติของคณะรัฐมนตรีเพื่อที่จะ แก้ไขกฎหมายให้ควบคุมถึงการประกอบอาชีพของโจทก์ดังกล่าวหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2506
ตามบันทึกรายงานการประชุม งบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ส่งต่อกองทะเบียนหุ้นส่วน ปรากฏว่า ผู้ร้องลงชื่อเป็นประธานในที่ประชุมและลงชื่อรับรองในฐานะกรรมการไว้ในงบ ดุลย์ด้วยและตามบัญชีผู้ถือหุ้นนั้นปรากฏว่าผู้ร้องถือหุ้นบุริมสิทธิ 20 หุ้น และหุ้นสามัญ 226 หุ้น ดังนี้ ผู้ร้องจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นและไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นตามบัญชีที่ปรากฏ อยู่ที่นายทะเบียนนั้นหาได้ไม่

เอกสารต่างๆ ของบริษัทซึ่งต้องส่งต่อนายทะเบียนนั้นกรรมการลงชื่อรับรองเพียงคนเดียวก็ใช้ได้

การคืนหุ้นจะทำได้ก็โดยวิธีโอน ซึ่งต้องกระทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนในสมุดทะเบียนของบริษัทจึงจะใช้ได้