ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม

มาตรา ๑๗๐๐ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใดๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน

ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดั่งกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่างๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ

ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย

มาตรา ๑๗๐๑ ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ก็ได้

ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นนิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี

ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี

มาตรา ๑๗๐๒ ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย

ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา ๑๗๐๓ พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๗๐๔ พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่

มาตรา ๑๗๐๕ พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๕๒, ๑๖๕๓, ๑๖๕๖, ๑๖๕๗, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑ หรือ ๑๖๖๓ ย่อมเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๗๐๖ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ

(๑) ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเองโดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม หรือแก่บุคคลภายนอก

(๒) ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม แต่ผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรมลักษณะเฉพาะนั้น อาจกำหนดโดยให้บุคคลใดคนหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอาจากบุคคลอื่นหลายคน หรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่ง ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้

(๓) ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ

มาตรา ๑๗๐๗ ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย

มาตรา ๑๗๐๘ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ต่อมาเกินหนึ่งปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมพ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้

มาตรา ๑๗๐๙ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่ง ได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้นพินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำ ขึ้น

ความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้น บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น

แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น

มาตรา ๑๗๑๐ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดั่งนี้

(๑) สามเดือนภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมมีชีวิตอยู่ หรือ

(๒) สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้นในกรณีอื่นใด

แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมอันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตน แม้ว่าโจทก์จะได้รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น

แต่อย่างไรก็ดี ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562
       ในคดีไม่มีข้อพิพาท ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งหากผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น เมื่อผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเกี่ยวกับพินัยกรรมว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมในคดีนี้เป็นพินัยกรรมปลอม เนื่องจากลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับลายมือชื่อของผู้ตายที่ผู้คัดค้านเคยพบเห็นมาก่อน เท่ากับผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม แต่คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านกลับกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมดังกล่าวก็ไม่สมบูรณ์เพราะขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะในการรับรู้อย่างครบถ้วน เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง เลือดออกในโพรงสมองและสมองบวมอันเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ คำร้องคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรมจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องที่อ้างว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่า พินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายทำขึ้นจริง 

       ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยมีแพทย์หญิง ป. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในขณะนั้นลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แม้คำคัดค้านจะไม่ได้บรรยายเรื่องผู้ร้องไม่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรมและพินัยกรรมเป็นโมฆะไว้ก็ตาม แต่ปัญหาในข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม) 

       ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2561
           ที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ค. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า ส. และ บ. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อ ส. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองขณะ น. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2559 พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652, 1653, 1656, 1657, 1658, 1660, 1661 หรือ 1663 ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 87 ตารางวา เป็นสินสมรสส่วนของโจทก์เพียง 8 ไร่ 2 งาน 7,0625 ตารางวา โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนดังกล่าวหลังจากที่จดทะเบียนหย่า การที่ ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ตรวจแก้ไขชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1481 ที่บัญญัติ "สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้" เพราะขณะทำพินัยกรรมโจทก์และ ส. ไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้ว ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ใช่บทมาตราที่จะตกเป็นโมฆะตามที่มาตรา 1705 บัญญัติ แต่เป็นการทำพินัยกรรมกำหนด การเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ใช่ในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 1646 ก็มีผลเพียงว่า ข้อกำหนดที่ยกที่ดินพิพาทส่วนของผู้อื่นไม่มีผลบังคับเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดอื่น เช่น การตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกคงมีผลบังคับได้ ดังนี้ หาทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะไม่เนื่องจากไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 1705 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2559
     คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปใช้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิชอบก็ดี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็ดี ย่อมก่อให้เกิดผลว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน เป็นการซื้อขายที่ดินที่ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำสัญญา โดยโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมาตลอด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในเวลาอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 25 มีนาคม 2541 จึงมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ดังนี้ การจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 ยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์และจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของโจทก์ในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยก ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกมาปรับแก่คดีว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยสุจริตมิได้ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและเมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาไม่เพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559
   พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2559
     เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยผลของกฎหมาย    การที่จะมีข้อกำหนดในพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ย่อมมีผลทำให้มรดกของผู้ตายยังเป็นทรัพย์สินของผู้ตายอยู่ ไม่ตกทอดไปยังทายาทดังที่กฎหมายว่าด้วยมรดกกำหนดไว้ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยมรดก ข้อกำหนดนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ส่วนข้อความในพินัยกรรมที่ว่า หากการใดไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีข้อจำกัด หรือข้อห้ามของกฎหมาย ให้ผู้จัดการมรดกร่วมกันพิจารณาหาวิธีดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมมากที่สุดเท่าที่กระทำได้ เป็นข้อกำหนดที่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ มิใช่เป็นการให้ผู้จัดการมรดกหาวิธีดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยการตั้งมูลนิธิ ทั้งในพินัยกรรมไม่มีข้อกำหนดที่ทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะก่อตั้งมูลนิธิได้ และมิใช่จะสั่งจัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1676 ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสี่แปลงตกเป็นโมฆะ ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมิได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่ผู้ใด ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2559
            จำเลยที่ 2 เป็นบุตร ส. เจ้ามรดก กับ ย. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 468 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นของเจ้ามรดกส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ซึ่งอยู่ติดต่อกันเป็นของ น. ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2524 น. จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ ย. ภายหลังจาก ย. ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และบ้านเลขที่ 113 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว เจ้ามรดกจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 เจ้ามรดกทำพินัยกรรมโดยมีเจตนาระบุเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในพินัยกรรมว่า ที่ดินและบ้านเลขที่ 113 มอบให้จำเลยที่ 2 ครอบครองเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เหลน น้อง ๆ มีสิทธิมาพักเสมือนมีพ่ออยู่ (ห้ามขายมรดกชิ้นนี้) ส่วนทรัพย์อื่น ๆ ยกให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับโจทก์อีก 3 คน และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้จำเลยที่ 2 ตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้ามรดกทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 และสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 113 แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 นับแต่ได้รับการยกให้ เจ้ามรดกจึงไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวนับแต่ยกให้จำเลยที่ 2 เจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธินำที่ดินโฉนดเลขที่ 468 พร้อมบ้านเลขที่ 113 ซึ่งเป็นของผู้อื่นไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้อีก ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ระบุว่า ยกบ้านเลขที่ 113 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้วจึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 แม้ตามพินัยกรรมจะมีข้อกำหนดห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมโอนทรัพย์สินนั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมที่จะให้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1700 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7890 และบ้านเลขที่ 113 ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15201/2558
         ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่มิได้กำหนดให้บุคคลใดได้รับทรัพย์มรดก เพียงแต่ให้ผู้จัดการมรดกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีชื่อตามความจำเป็น นับว่าเป็นการไม่กำหนดตัวบุคคลแน่นอนให้เป็นผู้รับพินัยกรรม ทั้งระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ว่าให้ทรัพย์สินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใดตามแต่ใจของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 ยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) แม้ข้อกำหนดในพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) และ (3) แต่พินัยกรรมในส่วนที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาตั้งผู้จัดการมรดกยังคงสมบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2558
   การพิจารณาว่าคดีแพ่งใดเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่นั้นย่อมต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นเองว่าอาศัยเหตุจากการกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดในคดีอาญาหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องจำเลยในคดีแพ่งขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมปลอมและให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้พินัยกรรมปลอมก็โดยอาศัยเหตุมาจากการที่โจทก์ทั้งเจ็ดร้องทุกข์ให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาข้อหาปลอมพินัยกรรมและใช้พินัยกรรมปลอม ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดในคดีอาญาแล้วว่าพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอมไม่ใช่พินัยกรรมปลอม นับได้ว่าทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาต่างมีประเด็นสำคัญโดยตรงเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในปัญหาที่ว่าจำเลยปลอมพินัยกรรม อันจะเป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกเจ้ามรดกผู้ตายหรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ส. เจ้ามรดกได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า พยานจริง และพยานได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมรับรองลายมือชื่อของ ส. ในขณะเดียวกันด้วย ลายมือชื่อ ส. ในพินัยกรรมดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อปลอม อันมีความหมายในตัวโดยปริยายว่าจำเลยไม่ได้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าว จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ หากปลอมจำเลยเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมดังกล่าวหรือไม่ ไม่ได้กำหนดประเด็นว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าพยานในพินัยกรรมไม่ได้รู้เห็นขณะที่ทำพินัยกรรมและขณะเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม อันเป็นการหยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลฎีกาในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงยุติแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องถือเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกเรื่องแบบพินัยกรรมขึ้นมาวินิจฉัยเพิ่มเติมทำนองว่า พินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ประกอบมาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของ ส. ทั้งหมดและตามพินัยกรรมจำต้องนำไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมทุกคนของ ส. ตามกฎหมายต่อไปนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2557
       คดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 หรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด ทั้งต้องแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 ขึ้นต่อสู้ โดยไม่ได้ยกอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อโจทก์ฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แต่เป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาท เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีมรดก เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายวันที่ 30 สิงหาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12430/2556
ข้อความตามข้อตกลงข้อ 2 เป็นเรื่องนาง ก. ผู้รับสัญญาตกลงกับโจทก์ว่าหากผู้รับสัญญาได้จำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้อื่น ผู้รับสัญญาจะต้องชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์ทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ซึ่งหมายถึงเป็นการจำหน่ายหรือขายในขณะที่นาง ก. ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เพราะหนี้การชำระเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่อาจตีความข้อตกลงดังกล่าวว่า การที่นาง ก. ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้บุคคลอื่นเป็นการจำหน่ายหรือขายที่ดินพิพาทด้วย เหตุนี้ ข้อความต่อมาตามข้อตกลงที่ระบุให้ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามจะต้องเป็นผู้ชำระเงินแทนนาง ก. เต็มตามจำนวนเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงเป็นข้อตกลงแยกต่างหากจากข้อแรก ซึ่งมีความหมายว่าผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมหรือผู้อื่นก็ตามต้องรับผิดชำระหนี้ 3,000,0000 บาท แก่โจทก์แทนนาง ก. ด้วยอันเป็นข้อตกลงที่จะมีผลบังคับเอาแก่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่สัญญาให้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้ง ๆ ที่บุคคลภายนอกมิได้ตกลงด้วยนั้นย่อมกระทำมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทุกประเด็นแต่ไม่ได้มีคำพิพากษาในคำขอเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องให้ครบทุกข้อ โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับพินัยกรรมทั้งสองฉบับว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 และไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงอย่างไรพินัยกรรมฉบับนี้ก็ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยก็เข้าใจสภาพแห่งข้อหาไม่ได้หลงต่อสู้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 โดยผู้ตายสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 กรณีมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1710 จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความตามมาตรา 1710

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรมปลอมหรือไม่โดยมิได้กำหนดประเด็นว่า พินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ปัญหาเรื่องแบบของพินัยกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์ก็บรรยายฟ้องมาด้วยว่า พยานในพินัยกรรมไม่รู้เห็นขณะทำพินัยกรรมอันเป็นการยกเรื่องแบบพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ด้วย เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ศาลจึงมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่า พินัยกรรมตามฟ้องปลอมหรือไม่ แต่ในคำฟ้องนอกจากจะอ้างว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องมาด้วยว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมต่างมิได้รู้เห็นขณะที่ ส. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นการยกเอาแบบของพินัยกรรมมาเป็นข้อต่อสู้ เพื่อให้พินัยกรรมไม่มีผลใช้บังคับด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2551
     พินัยกรรมที่ผู้ตายทำมีข้อความว่า ผู้ตายขอทำคำสั่งเป็นพินัยกรรมไว้ว่าถ้าผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อใด ขอมอบทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมดบรรดาที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมให้ท่านเจ้า คุณ ญ. ผู้เป็นพี่ชายของผู้ตายองค์เดียว แม้พินัยกรรมฉบับดังกล่าวจะมีข้อกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่าย ทรัพย์สินโดยข้อ 1 ให้ปฏิสังขรณ์พระธาตุวัดไชยมงคล ข้อ 2 ให้ปฏิสังขรณ์โบสถ์ 1 หลัง (วัดไชยมงคลก็ได้) ข้อ 3 ถ้าเหลือจากสองข้อข้างต้น สุดแท้แต่ท่านเจ้าคุณจะจัดการอย่างไรต่อไปก็ตาม ก็ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1707 พินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ท่านเจ้าคุณ ญ. จึงไม่เป็นโมฆะใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2551
พินัยกรรมที่ระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยไว้ในพินัยกรรมเพียงผู้เดียว และระบุประเภทของทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินใดๆ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของเจ้ามรดกที่มีต่อลูกหนี้ให้ตกแก่จำเลย แม้จะมีข้อความในพินัยกรรมว่า จำเลยจะยกทรัพย์สินหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดเมื่อเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็สุดแต่ใจจะเห็นสมควร ข้อกำหนดดังกล่าวหาได้กำหนดให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ แทนเจ้ามรดกไม่ แต่มีความหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยจะยกทรัพย์มรดกหรือแบ่งปันให้แก่ผู้ใดหรือ ไม่ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยตามแต่จะเห็นสมควร ไม่ใช่ให้จำเลยเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกทั้งหมดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของ จำเลย ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551
จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว

พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน พร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติ ดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2551
พล ตรี น. ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับพิพาท คงมีพันเอก พ. ลงชื่อเป็นพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทมาอ้างอิงแสวงสิทธิใดๆ ได้

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำ พินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทเป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำ พินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น หากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้ง ฉบับ

บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมี สิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทตก เป็นโมฆะ ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549
ว. ได้เบิกความเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้ตายสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบ สวนโดย ว. ยืนยันว่า ขณะที่ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้มีการจัดพิมพ์ข้อความและมีบุคคลอื่น ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและช่องพยานมาก่อนแล้ว อ. จึงได้นำพินัยกรรมมาให้ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน แสดงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้า อ. และ ว. ซึ่งเป็นพยานพร้อมกัน และ อ. และ ว. ก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามลักษณะการทำพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมอันจะมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการ ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิต ผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูก คุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2550
จ. เจ้ามรดกถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เจ้ามรดก เป็นคนไร้ความสามารถแต่ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นผลให้ จ. ยังคงเป็นคนไร้ความสามารถอยู่ตามเดิม แม้ในระหว่างที่คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คำสั่งที่ให้ จ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงยกเลิก เพิกถอนหรือลบล้างคำสั่งศาลชั้นต้นศาลเดียวกันที่ได้สั่งให้ จ. เป็นคนไร้ความสามารถมาก่อน ทั้งไม่มีผลทำให้สถานภาพการเป็นคนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลต้องขาดช่วงไป หรือสะดุดหยุดชั่วคราวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด การที่ จ. โดยความยินยอมของผู้พิทักษ์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ จ. ตกเป็นคนไร้ความสามารถพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1704

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2549
พินัยกรรม ข้อ 2 ที่มีข้อกำหนดยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องโดยนำที่ดินดังกล่าวไปจัดการอย่างใด ๆ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์และนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปดำเนินการก่อตั้ง มูลนิธิ เป็นการได้กำหนดยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมแล้ว เพียงแต่ให้ผู้รับพินัยกรรมนำผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินไปก่อตั้งมูลนิธิ ซึ่งเป็นกรณีที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากทรัพย์มรดกตกเป็นของผู้รับพินัยกรรม และมรดกได้ก่อเกิดผลประโยชน์แล้ว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)

พินัยกรรมข้อ 3 ที่มีข้อกำหนดว่า เงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดยกให้ ส. และผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เป็นการกำหนดให้ผู้ ร้องและ ส. เป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น มิได้ยกกรรมสิทธิ์เงินสดให้แก่ผู้ร้องและ ส. และไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ายกเงินสดดังกล่าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมาก น้อยเพียงใด จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2548
เจ้ามรดกไม่ได้แจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยาน ทั้งสองคนพร้อมกัน พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705

ภ. และ ก. ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานพร้อมกันในขณะจัดทำพินัยกรรม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคน นั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนี้ พินัยกรรมจึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2545
พินัยกรรมใช้กระดาษที่มีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสอง และรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วนจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656

ผู้ทำพินัยกรรมมิได้ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิ ให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ รับมรดก

การที่ ท. คู่สมรสของ ม. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นเหตุให้ ม. ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของ ม.เป็นโมฆะ แต่ไม่มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของ ท. และ น. เป็นพยานแต่อย่างใด และข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2545
ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อนาย ว. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งไม่รับรองลายมือชื่อของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำ พินัยกรรมและมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ดังนี้ พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนมิได้ทำ พินัยกรรมไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามพินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4693/2545
การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเอกสารประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 บัญญัติให้ผู้เชี่ยวชาญอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ เมื่อพันตำรวจโท ป.ทำความเห็นในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายเป็นหนังสือมาแล้ว โดยให้ความเห็นว่าลายมือชื่อเขียนไม่คงที่ไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้เช่นนี้ การให้พันตำรวจโท ป.มาเบิกความประกอบรายงานอีกจึงไม่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จ จริงแห่งคดีแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึง เป็นดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า พินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งพินัยกรรมปลอมกับพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด ส่วนพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับเป็นพินัยกรรมได้ แต่อาจจะถูกศาลสั่งเพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเมื่อผู้ทำ พินัยกรรมตายแล้ว นอกจากนี้พินัยกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1709 ฉะนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ จึงมิได้รวมถึงการใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้ตายทำพินัยกรรมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545
พินัยกรรมที่มีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1656ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2544
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1658 ที่บัญญัติว่า "(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตน แก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน (2) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการทำพินัยกรรมมีเฉพาะ ส. เข้าไปในบ้านเพื่อทำพินัยกรรมให้กับ บ. ตามที่ได้ยื่นคำร้องไว้ โดยปลัดอำเภออาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอกับ ถ. นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านอาหารตรงกันข้ามกับปากตรอกทางเข้าบ้าน บ. เมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ส. จึงนำพินัยกรรมนั้นมาให้ปลัดอำเภออาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอและ ถ. ลงลายมือชื่อที่ร้านอาหารแม้ในหน้าสุดท้ายของพินัยกรรมจะระบุว่า ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอ รับรองว่าเป็นผู้ทำหน้าที่จดข้อความ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้ทำหน้าที่จดข้อความคือ ส. แม้จะฟังว่า ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอสั่งให้ ส. ช่วยจดข้อความแทน แต่ขณะจดข้อความนั้นมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันพินัยกรรม นี้จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3566 - 3567/2542
น. ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 3 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 และที่ดินแปลงที่ 4 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งสองและนาง จ. ภริยาผู้ตาย ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดิน น.ส. 3 นั้นให้ขายเพื่อนำไปใช้จัดงานศพผู้ตาย แต่เนื่องจากพินัยกรรมดังกล่าวไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ทำจึงไม่ถูกต้องตามแบบที่กำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แต่ถึงแม้พินัยกรรมดังกล่าวจะเป็นโมฆะ นาง จ. ก็มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวในฐานะคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 และ 1635 (2)

โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินแปลงที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับนาง จ. มาตลอด โดยถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตนตามพินัยกรรม และโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินแปลงที่ 2 โดยถือว่าเป็นของตนตามที่นาง จ. ยกให้เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้จ่ายค่าจัดงานศพของ น. แม้พินัยกรรมของ น. จะเป็นโมฆะ และการยกให้ของนาง จ. จะไม่สมบูรณ์เนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่การครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองก็เป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อ ตน โจทก์ทั้งสองจึงได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทแปลงที่ 1 และที่ 3 ครึ่งหนึ่ง กับได้สิทธิครอบครองที่ดินแปลงที่ 2 ตามที่นาง จ. ยกให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่วนที่ดินแปลงที่ 4 โจทก์ทั้งสองก็ได้ครอบครองร่วมกับนาง จ. โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามส่วนที่ น. ทำพินัยกรรมให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2541
บทบัญญัติมาตรา 31 แห่ง ประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติขึ้นโดยมุ่งหมายที่จะให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้มีที่ดินไว้ทำกิน ตลอดไปถึงลูกหลานหรือทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายและเพื่อป้องกันมิ ให้ผู้ได้มาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้บุคคลอื่นได้โดยง่าย ได้ความว่า ห. ตกลงแบ่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264ให้แก่จำเลย เพื่อสร้างโรงเรียน แต่ ห. ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญา เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ทำให้จำเลยไม่อาจขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้ ห. จึงทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264ให้แก่จำเลยตามเนื้อที่ดินที่จะแบ่งขายให้แก่จำเลยโดยได้รับเงินค่า ที่ดินจากจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยกับ ห. ไปทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกันมีกำหนด 10 ปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จนจำเลยได้รับอนุญาตให้ ตั้งโรงเรียนในที่ดินดังกล่าวได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า ห. และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยร่วมรู้เห็นให้ ห.ทำพินัยกรรมเพื่อหวังผลได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักฐานประกอบ การขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน อันแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลย จึงถือได้ว่าการยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ให้แก่จำเลยตามพินัยกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวย่อมตก เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264 คืนจากจำเลย เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ไม่เป็นผลเพราะตกเป็นโมฆะ จำเลยย่อมมิใช่ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมของ ห. ผู้ตาย จึงอ้างอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และ 1755 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมได้ กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1708 และ 1709 จึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 1710

จำเลยมีสิทธิขอรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 ในฐานะผู้รับพินัยกรรมโจทก์ซึ่งมิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมจึงเป็นผู้ถูก ตัดมิให้รับมรดกที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2540
เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมได้กำหนดให้จัดการทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายโดยให้ผู้ จัดการมรดกบริจาคทรัพย์สินให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามแต่ผู้จัดการมรดกจะเห็นสมควรเป็นการชัดแจ้งและทราบได้แน่นอนแล้วว่า ต้องมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้เฉพาะเพื่อองค์การกุศลเท่านั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) และเมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์การกุศลจึงต้องถือ ว่าผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของ ผู้ตาย ตามมาตรา 1608 วรรคท้ายผู้คัดค้านทั้งสองย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1727 หรือร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทระบุสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงความจริง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นที่น่าสงสัยทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม โดยพยานมิได้อยู่ในขณะนั้น การทำพินัยกรรมจึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. มีผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 จำเลยมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อใน พินัยกรรมต่อหน้าพยานอันเป็นข้อเท็จจริงแม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและผู้ตายมี สติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่และได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ ผู้ตายเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริง และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตามวันเดือนปีที่แท้จริงนั้น ข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม และการลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้อง

โจทก์มิได้ฟ้องผู้รับจำนองเข้ามาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภาย นอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 เป็นการไม่ชอบ

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แม้จำเลยจะโอนที่ดินเป็นของตนแล้วนำไปจำนองกับบุคคลภายนอกเป็นการโอนตาม พินัยกรรมที่จำเลยเข้าใจว่าสมบูรณ์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการมรดกหรือมี เหตุอันจะให้เพิกถอนผู้จัดการมรดก ดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิจัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2540
ส. ผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน3 คน ซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของส.ไว้เป็นการทำพินัยกรรม ถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1671แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ก็มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผล ให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ สินสมรสเป็นทรัพย์ที่ ส.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตายส.จึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2539
จำเลยไม่ใช่พยานในการทำพินัยกรรมการที่จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ผู้ทำพินัยกรรมถือไม่ได้ว่าได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรมไม่มีผลให้ข้อ กำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2307/2539
ในขณะที่เจ้ามรดกเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้นมีผู้อื่นควบคุม คอยบอกให้เขียนโดยเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์พินัยกรรมจึงเป็นอันเสีย เปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1704วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1905/2538
จำเลยและผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทของส. เมื่อส.ถึงแก่กรรมผู้ร้องทั้งสองและทายาทอื่นทำหนังสือยินยอมให้จำเลยเป็น ผู้จัดการมรดกต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของส. และผู้ร้องทั้งสองแก่โจทก์โดยผู้ร้องทั้งสองและทายาทอื่นทราบแล้วแต่มิได้ โต้แย้งคัดค้านดังนี้ฟังได้ว่าทายาททุกคนรวมทั้งผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้ จำเลยทำสัญญาและแต่ละคนเชิดให้จำเลยเป็นตัวแทนของตนแม้ขณะที่จำเลยทำสัญญาจะ ซื้อขายนั้นจำเลยยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสองที่จะต้องโอนขาย ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2538
โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอแบ่งแยกและลงชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ ตายในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม มิได้ฟ้องทายาทขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมดังนั้น ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจะมีตัวตนอยู่หรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทในคดี และแม้ผู้มีชื่อรับพินัยกรรมจะไม่มีตัวตนก็ตามก็มีผลเพียงทำให้ข้อกำหนดใน พินัยกรรมเกี่ยวกับการยกทรัพย์มรดกแก่บุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมสิ้นผล ไปเท่านั้นส่วนข้อกำหนดที่ระบุให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น หาได้เสื่อมเสียไปไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินตามพินัยกรรมไว้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมย่อมมีสิทธิขอแบ่งแยกและใส่ชื่อ ตนในโฉนดในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้

โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินซึ่งเป็น มรดก เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้ ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความเกินอัตราขั้นสูงตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้าย ป.วิ.พ. ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2538
พินัยกรรม ไม่ลงวัน เดือน ปี ในการทำพินัยกรรมจึงมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการ ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ท.บิดาผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตายได้ตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่บิดา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และ 1713ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าของมรดกได้ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัด ค้านที่ 2 แต่ผู้เดียวก็ตามก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2538
โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1โดยเสน่หาโดยมีข้อตกลงด้วยวาจาว่าห้ามมิให้ จำเลยที่1นำที่ดินพิพาทไปขายต่อมาจำเลยที่1ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน1,000ส่วน ใน1,064ส่วนให้แก่จำเลยที่2ในราคา500,000บาทโดยจดทะเบียนให้จำเลยที่2มี กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวนดังกล่าวดังนี้เมื่อข้อห้ามโอนดังกล่าวเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์แต่โจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่รวมทั้งมิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นในเมื่อมีการ ละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ข้อห้ามโอนดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1700และ1702จำเลยที่1จึงมีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้ แก่จำเลยที่2ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2537
พินัยกรรมที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำร่วมกันในฉบับเดียวซึ่งสาระสำคัญของข้อกำหนด พินัยกรรมข้อ (ก) เป็นกรณีที่ผู้ร้องกับผู้ตายแสดงเจตนาไว้ว่า หากผู้ร้องหรือผู้ตายคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน ให้ทรัพย์สินของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปก่อนตกเป็นสินส่วนตัวของผู้ทำ พินัยกรรมที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เพียงผู้เดียวและให้เป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ รวบรวมเก็บรักษาจัดจำหน่ายหรือแบ่งปัน และยกทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่บุคคลใดก็ได้ตามแต่เจ้าของพินัยกรรมผู้ที่ยัง มีชีวิตอยู่ จะเห็นสมควรภายใต้ข้อกำหนดซึ่งระบุไว้ในข้อ (ข) แสดงว่าผู้ร้องและผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์สินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งหากว่า ฝ่ายใดถึงแก่ความตายไปก่อน เพียงแต่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้ตาม พินัยกรรมให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ (ข) โดยให้ผู้รับพินัยกรรมกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ กรณีถือได้ว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนที่ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องจึงยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้ มิใช่กรณีที่กำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมที่มีชีวิตอยู่กำหนดทรัพย์สินให้แก่ทายาทมากน้อยตามแต่ใจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) แต่อย่างใด การที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำพินัยกรรมในฉบับเดียวกัน ต่างยกทรัพย์สินให้แก่กันและกัน เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะทำพินัยกรรมในเอกสารฉบับเดียวกันก็ไม่ผิดแบบแต่อย่าง ใดและมิใช่การพนันขันต่อเพราะเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่อง ทรัพย์มรดกของตนเองหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนตาม มาตรา 1646 การที่บุคคลจะเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1671 บัญญัติว่า บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียนหรือเป็นพยานไว้ต่อ ท้ายลายมือชื่อของตนด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อในฐานะผู้ทำพินัยกรรมไม่มีข้อความว่าเป็นพยาน จึงจะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยไม่ได้ พินัยกรรมจึงหาเป็นโมฆะด้วยเหตุที่ผู้ร้องจะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6417/2537
กรณีจะพิสูจน์ว่า พินัยกรรมเป็นอันเสียเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทว่า พินัยกรรมที่บุคคลวิกลจริตทำขึ้นนั้นเสียเปล่า โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้กล่าวอ้างขึ้นเพื่อให้มีการพิสูจน์เช่นนั้น คำร้องขอของผู้ร้องให้พิสูจน์ว่าพินัยกรรมเป็นอันเสียเปล่าต่างจากการร้องขอ แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิหรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2537
ผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มี สิทธิได้รับมรดกในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 หาจำต้องไปฟ้องคดีขอให้รับเป็นบุตรหรือต้องมีคำสั่งศาลว่าผู้ร้องเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนไม่ผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่ชายร่วมบิดามารดากับผู้ ตาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือร่วม กับผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2535
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบุตร ของ ส.ซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์คนละส่วนตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของส.กับพินัยกรรม มีข้อกำหนดให้ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งตกได้แก่ผู้ทำบุญ อุทิศให้แก่ ส.เมื่อส.ถึงแก่กรรมอันเป็นเจตนาของส. จำเลยที่ 3ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียน ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมต่อนายอำเภอ คดีนี้ เมื่อโจทก์เห็นว่าพินัยกรรมไม่ถูกต้อง เป็นโมฆะทำขึ้นโดย มีการบังคับขู่เข็ญหรือฉ้อฉลไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของ ส. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1708 และมาตรา 1709

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2535
คำเบิกความของโจทก์และ ส. หลานเจ้ามรดกประกอบกับ หลักฐานการป่วยของเจ้ามรดกที่โรงพยาบาล ฟังได้ว่าเจ้ามรดกมีสติ เลอะเลือนก่อนถึงแก่กรรม ส่วนข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 มีพิรุธและ ไม่น่าเชื่อถือกล่าวคือ เจ้ามรดกมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว แต่ใน พินัยกรรมระบุอายุเพียง 71 ปี ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำลายพิมพ์ นิ้วมือของเจ้ามรดกในพินัยกรรมได้ แต่ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มี ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องนี้อย่างไร ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าไม่ทราบว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้แต่บุตรกลับเบิกความว่า อยู่ในขณะทำ พินัยกรรมด้วย นอกจากนี้ผู้จัดทำพินัยกรรมก็เป็นทนายจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และจำเลยก็ไม่นำพยานในพินัยกรรม มาเป็นพยานต่อศาลด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าเจ้ามรดกซึ่งมีอายุกว่า 80 ปี มีอาการไม่ค่อยรู้เรื่องจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินจำนวนมาก ถึง 10รายการให้บุคคลอื่น คดีจึงฟังได้ว่าในขณะทำพินัยกรรม เจ้ามรดกไม่มีสติสัมปชัญญะและไม่ทราบข้อความในพินัยกรรม พินัยกรรม จึงไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2531
บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3)นั้นหมายความว่า แม้ระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไว้ไม่ชัดแจ้งเมื่อยังอาจพอทราบแน่นอนได้ย่อมหาตกเป็นโมฆะไม่ พินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ได้ระบุเลขโฉนดที่ดินแปลงที่ยกให้แต่ระบุไว้เป็นสำคัญว่าคือที่ดินแปลงตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และยังระบุไว้อีกว่าเป็นที่ดินแปลงที่ผู้ทำพินัยกรรมมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ กับนายนามและนายแนมโดยในพินัยกรรมระบุยกที่ดินให้เฉพาะส่วนของผู้ทำ พินัยกรรมด้วย แม้ไม่ระบุจำนวนก็ย่อมชัดแจ้งแล้ว พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2531
โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและปกครองทรัพย์ มรดกแทนทายาทอื่น ขอแบ่งทรัพย์มรดก แม้จะฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองก็จะหมดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้

โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องขอแบ่งส่วนทำบุญทำทานตามที่เจ้ามรดกสั่งไว้ในพินัยกรรม โจทก์ที่ 3 เคยฟ้องขอแบ่งมรดก โจทก์ที่ 4 เคยร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนจำเลยทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ที่ 5 ก็เคยฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกเคยฟ้องขับไล่ โจทก์ที่ 5 ออกจากที่ดินกองมรดก แต่ไม่ปรากฏว่าได้พิพาทกันในประเด็นว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

พินัยกรรมที่กำหนดยกทรัพย์มรดำให้แก่ผู้มีชื่อ ถือหุ้นในบริษัท โดยแต่ละคนมีส่วนเฉลี่ยตามจำนวนหุ้น ซึ่งเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวด้วยนั้น เป็นพินัยกรรมที่กำหนดตัวผู้รับพินัยกรรมโดยทราบตัวได้แน่นอนแล้วตามรายชื่อ ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย พินัยกรรมส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 มีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ส่วนที่ปรากฏว่าเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทด้วย จึงเท่ากับเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ตนเองนั้น ย่อมเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1646 ไม่มีผลบังคับทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับย่อมตกทอดแก่ ทายาทโดยธรรม

พินัยกรรมซึ่งมีข้อความให้ผู้จัดการมรดกและผู้ ถือหุ้นซึ่งได้รับทรัพย์มรดกมาตามพินัยกรรมโอนทรัพย์มรดกให้เป็นการเพิ่มทุนของบริษัทตามอัตราส่วนของหุ้นที่แต่ละคนมีอยู่นั้น เป็นเงื่อนไขที่ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 จึงไม่มีผล ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีผู้รับพินัยกรรมไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข นั้น

พินัยกรรมที่กำหนดให้โอนหุ้นในส่วนของเจ้ามรดก ใส่ชื่อผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัท เพื่อทำบุญทำทาน และเกื้อกูลบุตรหลานที่ไม่มีชื่อถือหุ้นในบริษัทนั้น ไม่ใช่เรื่องตั้งผู้ปกครองทรัพย์และไม่ใช่เรื่องก่อตั้งทรัสต์ เพราะผู้รับพินัยกรรมไม่ใช่ผู้เยาว์หรือบุคคลไร้ความสามารถ และไม่มีการยกทรัพย์ให้แก่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด แต่เป็นข้อกำหนดที่ทรัพย์สินซึ่งยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่ อาจที่จะทราบแน่นอนได้ และเป็นการให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกให้แก่ผู้รับพินัยกรรมมาก น้อยเท่าใดตามแต่ใจของผู้จัดการมรดก ข้อกำหนดนี้จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2525
โจทก์ฟ้องว่าในขณะทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมเจ็บป่วยจนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีเจตนาในการทำพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญ ผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 มาใช้บังคับตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2522
ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมยกหรือมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของ เจ้ามรดกให้แก่จำเลย แต่มีข้อห้ามมิให้จำเลยโอนขายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว และให้นำรายได้จากทรัพย์นั้นมาแบ่งให้แก่โจทก์และบุคคลอื่น การยกให้ในลักษณะดังกล่าวนี้หามีลักษณะเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยยึด ถือหรือครอบครองทรัพย์ไว้แทนผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมไม่ พินัยกรรมรายนี้จึงมิใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์

ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนเป็นเพียงให้ ทรัพย์ตามข้อกำหนดตกอยู่ในภารติดพัน โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนขายหรือจำหน่าย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700 กรณีจึงเท่ากับว่าจำเลยได้ทรัพย์ตามพินัยกรรมไปโดยเด็ดขาดข้อกำหนดใน พินัยกรรมที่ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยห้ามโอนหรือจำหน่ายตัวทรัพย์ จึงไม่มีผลตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2521
ข้อกำหนดในพินัยกรรมกำหนดให้ผู้จัดการมรดกรวบรวมทรัพย์สินจำหน่ายเป็นเงินสด และให้ใช้จ่ายเป็นค่าทำศพเจ้ามรดกก่อน หากยังมีเงินเหลืออีกเท่าใด ให้ผู้จัดการมรดกจัดสรรทำบุญ หรือมอบให้สถาบัน หรือสถานที่ หรือกิจการสาธารณกุศลใดตามแต่ผู้จัดการมรดกเห็นสมควรการมอบเงินให้สถาบัน หรือสถานที่ หรือกิจการสาธารณกุศลนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำบุญซึ่งเจ้ามรดกได้ระบุข้อความดังกล่าวให้อยู่ในวงจำกัด แน่นอนว่าจะต้องมอบให้เฉพาะเพื่อสาธารณกุศลเท่านั้น จะมอบให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทั่วๆ ไป หรือมิใช่เพื่อการกุศลตามแต่ใจของผู้จัดการมรดกไม่ได้ไม่จำเป็นจะต้องระบุ เจาะจงลงไปว่าเป็นสถาบัน สถานที่ หรือกิจการสาธารณกุศลใดโดยเฉพาะ ฉะนั้นข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบ ตัวแน่นอนได้ จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(2)

ข้อกำหนดในพินัยกรรมได้ระบุว่า ให้ผู้จัดการมรดกนำเงินสดที่เหลือจากการทำศพ มอบให้แก่สถาบัน หรือสถานที่ หรือกิจการเพื่อการกุศลตามแต่ผู้จัดการมรดกเห็นสมควร ไม่ใช่ให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้กำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2515
พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิก เพิกถอนพระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2481)

พินัยกรรมซึ่งเจ้ามรดกทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2460 และมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์สลักหลังท้าย พินัยกรรมให้เป็นอันใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนด กฎหมายทุกประการ ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของ เจ้ามรดกให้ผิดจากพินัยกรรมดังนี้ พินัยกรรมนั้นย่อมมีผลตามกฎหมายที่ยังใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน พินัยกรรมนั้นอยู่ได้ตลอดมา ศาลจะพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกให้ผิดจาก พินัยกรรมเป็นการขัดพระบรมราชโองการหาได้ไม่

พินัยกรรมซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการดังกล่าวแล้วกำหนดให้ที่ดินที่ระบุของ เจ้ามรดกคงเป็นสมบัติของเจ้ามรดกอยู่เสมอไปและให้มีผู้ดูแลรักษาที่ดินนั้น ไว้เป็นที่อยู่อาศัยแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้แต่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มี กรรมสิทธิ์ หากจำเป็นต้องขายหรือแลกเปลี่ยนที่ดินด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้จัดการ(มรดก)เอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการ ให้เป็นไปตามความประสงค์ในพินัยกรรมโดยดีที่สุดที่จะทำได้ ดังนี้เมื่อผู้จัดการมรดกขายที่ดินดังกล่าวไปก็มีหน้าที่ต้องนำเงินไปซื้อ ที่ใหม่เพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้ามรดกได้อยู่อาศัยตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จะนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมาแบ่งให้แก่ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่ใหม่ เอาเองหาได้ไม่เพราะมีผลเท่ากับถือเอาว่าทายาทผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นผู้ มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งทำให้ที่ดินที่กำหนดไว้ตามพินัยกรรมให้เป็นที่อยู่อาศัยของวงศ์ญาติต้อง สลายตัวไป แม้จะมีเจตนาแบ่งเงินให้ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เอาเอง ที่ดินที่ซื้อใหม่ก็เปลี่ยนสภาพมิใช่เป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติอาศัยอยู่ แต่กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทผู้ซื้อแต่ละคนซึ่งมีอำนาจหวงกันมิให้ทายาท หรือวงศ์ญาติอื่นๆ เข้าไปอยู่อาศัยอันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม

การที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมไปและต้องเอาเงินที่ขายได้จัด หาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์นั้นเป็นการหาที่ดินมาแทน ที่ดินที่ขายไปซึ่งผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด ในพินัยกรรมซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่หาใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นใหม่ใน ขณะนี้นอกเหนือจากข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้

ข้อความใน พินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ที่กำหนดให้ที่ดินที่ระบุไว้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาตินั้น เจ้ามรดกมีเจตนาที่จะให้ที่ดินนั้นเป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติ ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยจะได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปซึ่งหมายถึงทั้งวงศ์ญาติ ที่มีตัวอยู่ในขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมและที่เกิดมาในเวลาข้างหน้า โดยไม่ประสงค์ให้ใครถือเอาที่ดินนั้นเป็นของตน และเพื่อมิให้ขัดกับหลักกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์และมรดกและให้มีผลบังคับ ได้ เจ้ามรดกจึงได้นำพินัยกรรมขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชโองการ เพื่อจะได้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไปโจทก์เป็นเหลนของเจ้ามรดกแม้จะเกิดหลังจาก เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ก็เป็นวงศ์ญาติคนหนึ่งที่มีส่วนจะได้รับ ประโยชน์ในการเข้าอยู่อาศัยในที่ดินตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกที่มิได้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม เพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์ในฐานะวงศ์ญาติคนหนึ่งที่อาจได้รับความเสียหาย จากการกระทำของผู้จัดการมรดกได้
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11-16/2515)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2502
พินัยกรรมที่มีข้อความเป็นคำสั่งกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรชายทุกคนนั้น มีผลใช้ได้ตามกฎหมายส่วนข้อห้ามที่กำหนดไม่ให้แบ่งแยกทรัพย์นี้ออกไปเลยเป็น อันขาดนั้น ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ เพราะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ย่อมมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายและขอแบ่งทรัพย์นั้นได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และ 1363 พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เสียไปทั้งฉบับ