วิธีจัดการบริษัทจำกัด

วิธีจัดการบริษัทจำกัด
๑. บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

มาตรา ๑๑๔๔  บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง

มาตรา ๑๑๔๕ จำเดิมแต่ได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ท่านห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่จะได้มีการลงมติพิเศษ

มาตรา ๑๑๔๖  บรรดาข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะจัดให้ไปจดทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ

มาตรา ๑๑๔๗[๕๗]  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๑๔๘  บรรดาบริษัทจำกัด ต้องมีสำนักงานบอกทะเบียนไว้แห่งหนึ่งซึ่งธุรการติดต่อและคำบอกกล่าวทั้งปวงจะส่งถึงบริษัทได้ ณ ที่นั้น

คำบอกกล่าวสถานที่ตั้งแห่งสำนักงานที่ได้บอกทะเบียนไว้ก็ดี หรือเปลี่ยนย้ายสถานที่ก็ดี ให้ส่งแก่นายทะเบียนบริษัท และให้นายทะเบียนจดข้อความนั้นลงในทะเบียน

มาตรา ๑๑๔๙  ตราบใดหุ้นทั้งหลายยังมิได้ชำระเงินเต็มจำนวน ท่านว่าตราบนั้นบริษัทจะลงพิมพ์หรือแสดงจำนวนต้นทุนของบริษัทในหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดเช่นในคำบอกกล่าวป่าวร้องก็ดี ในตั๋วเงินและบัญชีสิ่งของก็ดี ในจดหมายก็ดี ต้องแสดงไว้ให้ชัดเจนด้วยในที่เดียวกันว่า จำนวนเงินต้นทุนได้ชำระแล้วเพียงกี่ส่วน

๒. กรรมการ
มาตรา ๑๑๕๐  ผู้เป็นกรรมการจะพึงมีจำนวนมากน้อยเท่าใด และจะพึงได้บำเหน็จเท่าใด ให้สุดแล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะกำหนด

มาตรา ๑๑๕๑  อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้

มาตรา ๑๑๕๒  ในเมื่อมีการประชุมสามัญครั้งแรกภายหลังแต่จดทะเบียนบริษัทก็ดี และในเมื่อมีการประชุมสามัญครั้งแรกในปีทุก ๆ ปีต่อไปก็ดี ผู้เป็นกรรมการต้องออกจากตำแหน่ง โดยจำนวนหนึ่งในสามเป็นอัตรา ถ้าและจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นส่วนสามไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม

มาตรา ๑๑๕๓  ตัวกรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ถ้ากรรมการมิได้ตกลงกันไว้เองเป็นวิธีอื่นไซร้ ก็ให้จับสลากกัน ส่วนปีหลัง ๆ ต่อไปให้กรรมการคนที่ได้อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ต้องออก

กรรมการผู้ออกไปนั้นจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้

มาตรา ๑๑๕๓/๑  กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท

กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่ง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้

มาตรา ๑๑๕๔  ถ้ากรรมการคนใดล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถไซร้ ท่านว่ากรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่ง

มาตรา ๑๑๕๕  ถ้าตำแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามเวรไซร้ ท่านว่ากรรมการจะเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างก็ได้ แต่บุคคลที่ได้เป็นกรรมการใหม่เช่นนั้น ให้มีเวลาอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๑๕๖  ถ้าที่ประชุมใหญ่ถอนกรรมการผู้หนึ่งออกก่อนครบกาลกำหนดของเขา และตั้งคนอื่นขึ้นไว้แทนที่ไซร้ ท่านว่าบุคคลที่เป็นกรรมการใหม่นั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่กรรมการผู้ถูกถอนนั้นชอบที่จะอยู่ได้

มาตรา ๑๑๕๗ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

มาตรา ๑๑๕๘  นอกจากจะมีข้อบังคับของบริษัทไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่ากรรมการมีอำนาจดังพรรณนาไว้ในหกมาตราต่อไปนี้

มาตรา ๑๑๕๙  ในจำนวนกรรมการนั้น แม้ตำแหน่งจะว่างไปบ้าง กรรมการที่มีตัวอยู่ก็ย่อมทำกิจการได้ แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาเช่นนั้น กรรมการที่มีตัวอยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะเพิ่มกรรมการขึ้นให้ครบจำนวนหรือนัดเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทเท่านั้น จะกระทำการอย่างอื่นไม่ได้

มาตรา ๑๑๖๐  กรรมการจะวางกำหนดไว้ก็ได้ว่า จำนวนกรรมการเข้าประชุมกี่คนจึงจะเป็นองค์ประชุมทำกิจการได้ ถ้าและมิได้กำหนดไว้ดังนั้นไซร้ (เมื่อจำนวนกรรมการเกินกว่าสามคน) ท่านว่าต้องมีกรรมการเข้าประชุมสามคนจึงจะเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๑๑๖๑  ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาในประชุมกรรมการนั้นให้ชี้ขาดตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๑๖๒  กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้

มาตรา ๑๑๖๓  กรรมการจะเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานที่ประชุม และจะกำหนดเวลาว่าให้อยู่ในตำแหน่งเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าหากมิได้เลือกกันไว้เช่นนั้น หรือผู้เป็นประธานไม่มาประชุมตามเวลาที่ได้นัดหมายไซร้ กรรมการที่มาประชุมนั้นจะเลือกกันคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในการประชุมเช่นนั้นก็ได้

มาตรา ๑๑๖๔  กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น ผู้จัดการทุกคนหรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ

มาตรา ๑๑๖๕ ถ้าการมอบอำนาจมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นไซร้ ข้อปรึกษาซึ่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นในที่ประชุมอนุกรรมการทั้งหลายให้ตัดสินเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ถ้าและคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานชี้ขาด

มาตรา ๑๑๖๖ บรรดาการซึ่งกรรมการคนหนึ่งได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการตั้งแต่งกรรมการคนนั้นมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ดี หรือเป็นผู้บกพร่องด้วยองค์คุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการก็ดี ท่านว่าการที่ได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดังว่าบุคคลผู้นั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องและบริบูรณ์ด้วยองค์คุณของกรรมการ

มาตรา ๑๑๖๗  ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน

มาตรา ๑๑๖๘  ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง

ว่าโดยเฉพาะ กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันในประการต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) การใช้เงินค่าหุ้นนั้น ได้ใช้กันจริง
(๒) จัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้
(๓) การแจกเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(๔) บังคับการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามมติของที่ประชุมใหญ่

อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใด ๆ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น

บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย

มาตรา ๑๑๖๙  ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้

อนึ่ง การเรียกร้องเช่นนี้ เจ้าหนี้ของบริษัทจะเป็นผู้เรียกบังคับก็ได้ เท่าที่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่

มาตรา ๑๑๗๐  เมื่อการซึ่งกรรมการคนใดได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ท่านว่ากรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทอีกต่อไป

ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้ให้อนุมัติด้วยนั้นฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่ให้อนุมัติแก่การเช่นว่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560
ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9471/2559
ผู้คัดค้านจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยมีกรรมการ 2 คน เมื่อกรรมการคนหนึ่งถึงแก่กรรม จึงเป็นกรณีที่จำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1159 กรรมการที่เหลือเพียงคนเดียวต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องจำนวนกรรมการที่ไม่ครบองค์ประชุมเสียก่อน มิใช่ว่าจะนัดเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่น ๆ โดยมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่นตามคำร้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2559
คำฟ้องของโจทก์อาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นมาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแทนบริษัทซึ่งไม่ยอมฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 โดยบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนไปแล้วโดยที่ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 (เดิม) แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดว่า ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่อย่างไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิกก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า ในขณะฟ้องคดีนี้มีการตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว และจำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ดำเนินการชำระบัญชีใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป บริษัทจึงอยู่ระหว่างการชำระบัญชีแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของบริษัทย่อมได้แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 หากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทในระหว่างชำระบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2559
โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยของเสีย ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นต้นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558
การเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ ป.พ.พ. มาตรา 1145 และมาตรา 1146 กำหนดว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการลงมติพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการประชุมใหญ่โดยมีคำบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ และกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องจัดให้ไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้มีการลงมติพิเศษ และเหตุที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องนำเรื่องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก กรณีที่จำต้องใช้เอกสารยืนยันภูมิลำเนาคือ สำนักงานแห่งใหญ่ของนิติบุคคลเป็นพยานหลักฐานที่มีการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งกิจการของบริษัท บ. ก็มิได้เป็นเพียงนิติบุคคลที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวข้องแต่เฉพาะบุคคลในเครือญาติของจำเลย หากแต่ต้องติดต่อกับนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นด้วย จำเลยจะอ้างความเคยชิน และความไว้วางใจระหว่างเครือญาติของจำเลยมาเป็นข้อยกเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้

การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 - 8566/2558
แม้จำเลยที่ 6 จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง เวทีการแสดงต่าง ๆ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน

จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกัน เป็นไปไม่ได้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 หรือไม่

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นนิติบุคคล มี ส. เป็นกรรมการผู้แทนนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารดำเนินกิจการตามความเป็นจริง เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าบริษัทได้เชิด ส. ออกแสดงเป็นผู้แทนของตน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนตามหนังสือรับรองแต่ก็เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโดยผ่านทาง ส. นั่นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ที่กำหนดให้ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ดังคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 หากแต่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8547/2558
ขณะที่ ส. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้ฝ่ายการคลังคืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามหนังสือรับรอง ซึ่งไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และโจทก์ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทไปยังผู้อำนวยการของโจทก์ (ปัจจุบัน คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่) เพื่อทำการตัดสิน คำตัดสินของผู้อำนวยการของโจทก์ถือเป็นที่สุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะร้องขอให้ส่งข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าปรับเกิดขึ้น จำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตัดสินชี้ขาด ส. ได้เรียกพนักงานผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมพิจารณาและต่อมามีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม เห็นได้ว่า ส. มีคำตัดสินดังกล่าวในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาข้างต้น ส่วนคำตัดสินชี้ขาดจะถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่า ส. มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการของโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่ง ส. ควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของ ส. ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินชี้ขาดของ ส. ไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับ ส. ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส. ต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ส. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่ ส. ไม่นำคำตัดสินชี้ขาดไปให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ มาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกับ ส. กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2557
เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ จึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุให้รับเอาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1162 บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 แล้ว ส่วนการที่มีการเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้ ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556
บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824

จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11632/2554
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์โดยแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิด และให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการในขอบอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว กิจการดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อได้ความว่า ในการทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการ โดยมอบอำนาจให้ ว. ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2542 ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายในเงื่อนเวลาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันอยู่และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบดีว่าจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอ้างสิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมายนี้มาต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ไม่

จำเลยที่ 4 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริตกับพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และต้องเสียเปรียบจากการจดทะเบียนนั้นก็ตาม โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนนั้นได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173 - 228/2553
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ซึ่งความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน มาตรา 820 มีความหมายว่ากิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6324/2552
จำเลยที่ 2 และที่ 3 กรรมการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาค่าสิทธิการเช่าโดยไม่มีอำนาจกระทำการซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองที่ต้องมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนซึ่งต้องมิใช่จำเลยที่ 3 และประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้สัตยาบันการกระทำดังกล่าวตามรายงานการประชุมกรรมการจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823, 1167 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551
พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 บัญญัติว่า "บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคล และการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า "ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท มิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า "ผู้จัดการ" หรือ "ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ไว้ จึงต้องนำ ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงโดยในบริษัทจำกัด "ผู้จัดการ" หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้นจึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัท ส. บริษัท ท. บริษัท ม. บริษัท ป. บริษัท จ. และบริษัท ว. ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด อ. แทนบริษัทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10711/2550
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ข้อพิพาทตามฟ้องสืบเนื่องจากโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์โดยกำหนดชำระค่าตอบแทน ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองว่าผิดสัญญาดังกล่าวเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่ง ธนบุรีจนกระทั่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงมาในอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตาม สัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6281/2550
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1164 กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนด ให้เป็นการแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่อยู่ในอำนาจของกรรมการให้แก่ผู้ จัดการหรืออนุกรรมการไปจัดการแทนในฐานะผู้แทนนิติบุคคลเป็นการภายในอย่าง หนึ่งเท่านั้น ส่วนการที่นิติบุคคลจะฟ้องคดีย่อมเป็นอำนาจของนิติบุคคลนั้นเองที่จะกระทำ โดยกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล หากไม่ทำการฟ้องคดีเอง ก็ย่อมมีอำนาจตั้งตัวแทนให้จัดการฟ้องคดีแทนนิติบุคคลได้ ในกรณีเช่นนี้ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคล กรรมการและผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยลักษณะตัวแทน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้นิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จะต้องแต่งตั้งตัวแทนจากบุคคลที่เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของบริษัทเท่า นั้น ตัวการจึงมีอำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ให้เป็นตัวแทนดำเนินการฟ้องคดี แทนตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7739/2549
แม้ตราที่ประทับของบริษัทโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจจะมิใช่ตราประทับอันเดียวกับ ตราที่ได้จดทะเบียนไว้ แต่ก็มีรูปลักษณ์ ขนาดและตัวอักษรชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับที่จดทะเบียนไว้ ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นตราของโจทก์ เมื่อกรรมการ 2 ใน 5 คน ลงชื่อกระทำการแทนบริษัทโจทก์ตามข้อบังคับถูกต้อง หนังสือมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ใช้บังคับผูกพันโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12046/2547
ตามหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทผู้คัดค้านในข้อ 6 กำหนดว่า คณะกรรมการของบริษัทมีจำนวนไม่ตำกว่า 3 นาย ซึ่งแต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ฯลฯ แม้จะไม่มีข้อความห้ามมิให้เป็นกรรมการตลอดไป แต่ตามข้อบังคับดังกล่าวก็มิได้กำหนดถึงเรื่องการถอดถอนกรรมการไว้ จึงต้องนำข้อบังคับว่าด้วยหลักทั่วไปตามข้อ 1 ซึ่งกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ในส่วนที่ว่าด้วยบริษัทจำกัดมาใช้แก่บริษัทผู้คัดค้านซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1151 กำหนดให้มติที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการที่ได้รับ แต่งตั้งได้ การที่เคยมีมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3/2533 ตั้งให้ผู้ร้องเป็นกรรมการของบริษัทผู้คัดค้านตลอดไป ก็มิได้หมายความว่ามติดังกล่าวจะลบล้างบทบัญญัติมาตรา 1151 ได้ การที่บริษัทผู้คัดค้านมีมติที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 37 ให้ถอดถอนผู้ร้องออกจากการเป็นกรรมการบริษัท จึงมีผลเท่ากับว่ามติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงมติที่ประชุมใหญ่ วิสามัญครั้งที่ 3/2533 เมื่อไม่ปรากฏว่า มติครั้งที่ 37 เป็นการลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทผู้คัดค้านจึงไม่มีเหตุ ที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 37

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4885/2548
ป.พ.พ.มาตรา 1166 บัญญัติว่า บรรดาการซึ่งกรรมการได้ทำไปแม้ในภายหลังความปรากฏว่าการแต่งตั้งกรรมการคน นั้นมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องด้วยองค์คุณควรแก่ตำแหน่งกรรมการ การมิได้ทำนั้นย่อมสมบูรณ์เสมือนดังว่าบุคคลนั้นได้รับการแต่งตั้งโดยถูก ต้องและบริบูรณ์ด้วยองค์คุณของกรรมการ และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง (1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง (2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทน นิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ กระทำการแทนด้วย การที่ พ. ซึ่งตามหนังสือรับรองที่เจ้าหน้าที่รับรองว่า พ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลย มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยมีผลผูกพันจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ แม้ว่าการแต่งตั้งจะมีข้อบกพร่องหรือในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อจำเลยรับรองการแสดงเจตนาของ พ. ที่บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จึงมีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2547
ป.พ.พ. มาตรา 1157 บัญญัติว่า "การตั้งกรรมการขึ้นใหม่นั้น ตั้งใครเมื่อใด ท่านให้นำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ตั้งจงทุกครั้ง" การที่บริษัท ว. โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการ และอำนาจของกรรมการตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนไว้ จึงเป็นกรณีที่บริษัท ว. เป็นผู้นำความเกี่ยวกับการตั้งกรรมการขึ้นใหม่ไปจดทะเบียนตามบทกฎหมายดัง กล่าว หากโจทก์เห็นว่า การกระทำของบริษัท ว. เป็นการกระทำที่มิชอบทำให้โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทได้รับความ เสียหายเพราะต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ก็ชอบที่จะ ต้องฟ้องบริษัท ว. ในฐานะที่กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยตรง เพราะแม้การจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นจะได้กระทำโดยจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ว. ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นเป็นจำเลยกรณีจึงไม่มีบุคคลที่อาจต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์มา ในฟ้อง อันเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ตลอดทั้งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะต้องรับฟ้องคดีไว้เพื่อรอให้บริษัท ว. ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพราะไม่อาจบังคับได้ตามคำฟ้องมาแต่ต้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2203/2547
ความเกี่ยวพันกันระหว่างบริษัทจำเลยกับ น. ผู้เป็นกรรมการนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น การที่ น. ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทจำเลยซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการบอกเลิก เป็นตัวแทนย่อมบอกเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่จำเลยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826, 827 หาใช่มีผลต่อเมื่อจำเลยได้นำไปจดทะเบียนไม่ ส่วนเรื่องการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทจะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทจะต้องนำความไปจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1151 และ 1157 เท่านั้น ส่วนกรณีกรรมการบริษัทลาออกไม่มีบทกฎหมายบังคับไว้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ น. บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลาภายหลังที่ น. ลาออกจากบริษัทจำเลย น. ย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินต่าง ๆ อันเนื่องจากการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10468/2546
สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับพวกฝ่ายหนึ่ง และบริษัท อ. อีกฝ่ายหนึ่ง จัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นมาให้มีฐานะเป็นบริษัทร่วมทุน และกำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ แต่จำเลยหามีฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุนไม่ ดังนั้น แม้ในสัญญามีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญา นี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติสัญญานี้และคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด ก็เป็นข้อบังคับใช้ระหว่างโจทก์กับพวกและบริษัท อ. เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่อ อนุญาโตตุลาการก่อน

จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการจักต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1151 ซึ่งระบุเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นจึงจะกระทำได้ รวมตลอดทั้งหากตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ กรรมการที่ยังมีอยู่แห่งนิติบุคคลนั้นมีสิทธิเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่แทน ตำแหน่งที่ว่างได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1155 บัญญัติไว้ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมทุน และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำกัด จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องทราบว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง และการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการ ประเมินเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่

การชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1271ที่ให้มอบบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีแก่ นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟัง ไม่ขึ้น

เมื่อบริษัทจำกัดจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง การที่จำเลยมิได้กันเงินที่ชำระหนี้ให้โจทก์แต่กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ย คืนแก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264,1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืน กฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับฟ้องจนถึง ชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ใน อำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ชำระหนี้ภาย ใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วันจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2540
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1144,1158 และ 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้ง จากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกัน แต่การมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจ ให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้ โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจ ให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้ แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการ มอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใด โดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสี่ถูกโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.9 มาเป็น พยานหลักฐานยันจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และไม่ได้ขออนุญาต คัดค้านในภายหลังก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้ คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นหรือความถูกต้องแห่งสำเนา เอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125 เอกสารหมาย จ.9 จึงรับฟังพยานหลักฐานได้ ในการกู้เงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินไว้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวแล้วนั้นมิใช่ เป็นหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิก ถอนในเอกสารนั้นแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 924/2539
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดโดยอ้างเหตุว่ากรรมการผู้มีอำนาจฝ่ายหนึ่งได้ลาออกเป็นเหตุให้กรรมการ ที่เหลือไม่สามารถทำกิจการของบริษัทได้ตามข้อบังคับเหตุที่ผู้ร้องอ้างดัง กล่าวเป็นกรณีที่จำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ ประชุมได้จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1159กรรมการที่มีตัว อยู่คือผู้ร้องย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะเพิ่มกรรมการขึ้นให้ครบ จำนวนหรือนัดเรียกประชุมใหญ่ของบริษัทเท่านั้นจะทำกิจการอย่างอื่นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179 - 180/2539
ขณะที่มีการโอนหุ้นจำเลยที่ 1 มีกรรมการ 5 คน และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1ระบุว่า การประชุมกรรมการจะต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะ เป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้ ดังนั้น การที่กรรมการของจำเลยที่ 1 เพียง 2 คน ลงชื่ออนุมัติในการโอนหุ้นย่อมถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในการโอนหุ้นเมื่อการที่จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3ได้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และย่อมส่งผลให้การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ในครั้งดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไปด้วยชอบที่จะให้เพิกถอนมติที่ประชุมของจำเลยที่ 1 นั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2538
จำเลยที่ 2 ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่17มีนาคม2530และคดีถึงที่ สุดแล้วเมื่อจำเลยที่2ตกเป็นบุคคลล้มละลายจำเลยที่2ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ กระทำการแทนจำเลยที่1ก็ต้องเป็นอันขาดจากตำแหน่งกรรมการจำเลยที่1ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1154การที่จำเลยที่2ลงลายมือชื่อและประทับตรา จำเลยที่1แต่งตั้งทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายหลังจากเป็นบุคคลล้ม ละลายแล้วเพื่อขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่1จึงเป็นการไม่ ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2534
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมี ส. เป็นกรรมการผู้จัดการ การที่ ส. สั่งซื้อกรอบรูปจากโจทก์แม้จะลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อเพียงผู้เดียว ก็ถือได้ว่า ส. ทำการแทนจำเลยจำเลยจึงต้องรับผิดชอบตามใบสั่งซื้อดังกล่าว จำเลยสั่งซื้อกรอบรูปจากโจทก์แล้วต่อมาเป็นฝ่ายผิดสัญญาเงินกำไรที่โจทก์จะ ได้รับจึงเป็นค่าเสียหายตามปกติอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลย จำเลยจึงต้องมีหน้าที่ชดใช้ให้โจทก์ ส่วนค่าจ้างทำแม่พิมพ์กรอบรูปนั้น โจทก์มีข้อตกลงกับ ท. ซึ่งโจทก์ว่าจ้างให้ทำกรอบรูปเพื่อขายให้จำเลยว่า หากมีการส่งมอบกรอบรูปให้จำเลยเรียบร้อยค่าจ้างแม่พิมพ์ ท. จะเป็นผู้ออก แต่หากผิดสัญญาโจทก์ต้องรับผิดชอบเองเช่นนี้ แม้ค่าจ้างทำแม่พิมพ์จะเป็นค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญา แต่ก็เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยไม่สามารถคาดเห็นหรือ ควรจะคาดเห็นได้ก่อนล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5820/2534
เมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในฐานะผู้ถือหุ้นที่ใช้อำนาจครอบงำการจัดการ เพื่อรักษาผลประโยชน์จากการลงทุนในบริษัทโดยฟ้องเพิกถอนรายงานการประชุม วิสามัญผู้ถือหุ้นที่ ย.ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งกับพวกจัดทำอันเป็นเท็จ จนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8มาเป็น ย. เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทแล้ว ขั้นต่อไปย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบจะเข้ามา ดำเนินกิจการ แล้วพิจารณาว่าสมควรฟ้องร้องขอเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอม ยอมความที่ ย. ในฐานะผู้แทนโดยมิชอบของจำเลยที่ 7 ที่ 8 ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6หรือไม่ต่อไป โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหาได้ถูกโต้แย้งสิทธิที่จะก้าวล่วงมาฟ้องใน ชั้นนี้เสียเองต่อบริษัทจำเลยที่ 7 ที่ 8และจำเลยอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2533
การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 25 เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่าย คดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2532
คำว่า "กรรมการ" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1172 วรรคแรก หมายถึง คณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน เมื่อกรรมการคนใดเห็นควรจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ชอบที่จะนัดเรียก ประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนและมติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียง ข้างมากเป็นใหญ่ เมื่อผู้คัดค้านเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าวการ นัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท แต่ก็หาทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติที่ได้เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุม ใหญ่และการลงมติตามกฎหมายไม่ ดังนั้น การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนด1 เดือน นับแต่วันลงมติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2510
เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย เมื่อเจ้ามรดกตายหุ้นของเจ้ามรดกย่อมตกมาเป็นของทายาททันทีตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ทายาท จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา 1195 ได้ แม้ว่าบริษัทจำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 หมายความว่าการประชุมครั้งที่ 2 ต้องประชุมกันในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และไม่มากกว่า 6 สัปดาห์ นับแต่วันประชุมครั้งที่ 1(มิใช่ว่าต้องมีคำบอกกล่าวนัดประชุมครั้งที่ 2 ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันประชุมครั้งที่ 1)

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1190 เมื่อผู้ถือหุ้นสองคนขอให้ลงคะแนนลับแล้ว บริษัทจะต้องลงคะแนนลับ หากฝ่าฝืนมติของที่ประชุมย่อมขัดต่อมาตรา 1194 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นร้องขอ ศาลก็สั่งเพิกถอนมติขอ ที่ประชุมใหญ่นี้ได้ตามมาตรา 1195

การขอให้ลงคะแนนลับไม่ใช่เป็นการเข้าประชุมแทนผู้ถือหุ้นและการขอให้ลงคะแนนลับไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้ถือหุ้นจะต้องไปร่วมประชุมด้วย

กรรมการ ของบริษัทผู้หนึ่งจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงสิ้นปี 2497 เมื่อกรรมการผู้นั้นตายลง กรรมการที่เหลือเลือกผู้อื่นเป็นกรรมการแทนเมื่อ พ.ศ. 2505 ดังนี้ ย่อมขัดกับมาตรา 1155

เฉพาะแต่ ที่ประชุมใหญ่เท่านั้น อาจตั้งหรือถอนกรรมการได้ตามมาตรา 1151 ฉะนั้น เมื่อบริษัทไม่มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นจะมาฟ้องขอให้เพิกถอนการตั้ง กรรมการมิได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2510)