มาตรา ๑๒๔๗ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้
รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่จะออกกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและบริษัท และกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมก็ออกได้
มาตรา ๑๒๔๘ เมื่อกล่าวถึงประชุมใหญ่ในหมวดนี้ ท่านหมายความดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑) ถ้าเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดก็คือการประชุมหุ้น ส่วนทั้งปวงซึ่งอาศัยคะแนนเสียงข้างมากเป็นใหญ่ในการวินิจฉัย
(๒) ถ้าเกี่ยวกับบริษัทจำกัด ก็คือการประชุมใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๗๑
มาตรา ๑๒๔๙ ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๕๐ หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
มาตรา ๑๒๕๑ ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี ในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้าง หรือกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นไว้แต่ข้อสัญญาของห้าง หรือข้อบังคับของบริษัทจะมีกำหนดไว้เป็นสถานอื่น
ถ้าไม่มีผู้ชำระบัญชีดั่งว่ามานี้ และเมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้ร้องขอ ท่านให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๕๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระบัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น
มาตรา ๑๒๕๓ ภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกห้างเลิกบริษัท หรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่ศาลตั้ง ผู้ชำระบัญชีต้องกระทำดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) บอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่ง คราวว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้ง หลายยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชี
(๒) ส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุด บัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น
มาตรา ๑๒๕๔ การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกัน และในการนี้ต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุก ๆ คน ให้จดลงทะเบียนไว้ด้วย
มาตรา ๑๒๕๕ ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้อง แล้วต้องเรียกประชุมใหญ่
มาตรา ๑๒๕๖ ธุรการอันที่ประชุมใหญ่จะพึงทำนั้น คือ
(๑) รับรองให้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือเลือกตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่ขึ้นแทนที่ และ
(๒) อนุมัติบัญชีงบดุล
อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่จะสั่งให้ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีตีราคาทรัพย์สินหรือให้ทำการใด ๆ ก็ได้สุดแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร เพื่อชำระสะสางกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้เสร็จไป
มาตรา ๑๒๕๗ ผู้ชำระบัญชีซึ่งมิใช่เป็นขึ้นเพราะศาลตั้งนั้น ท่านว่าจะถอนเสียจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ก็ได้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายออกเสียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือที่ ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นได้ลงมติดั่งนั้น แต่ศาลย่อมสั่งถอนผู้ชำระบัญชีจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ได้ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้ชำระบัญชีซึ่งศาลตั้งหรือมิใช่ศาลตั้ง ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างคนใดคนหนึ่งหรือของผู้ถือหุ้นใน บริษัทมีหุ้นรวมกันนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งทุนของบริษัท โดยจำนวนที่ส่งใช้เงินเข้าทุนแล้วนั้น
มาตรา ๑๒๕๘ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ครั้งใด ผู้ชำระบัญชีต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัวกันนั้น
มาตรา ๑๒๕๙ ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรืออาญาทั้งปวง และทำประนีประนอมยอมความ
(๒) ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็น เพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
(๓) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
(๔) ทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี
มาตรา ๑๒๖๐ ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใด ๆ จะอ้างเป็นสมบูรณ์ต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่
มาตรา ๑๒๖๑ ถ้ามีผู้ชำระบัญชีหลายคน การใด ๆ ที่ผู้ชำระบัญชีกระทำย่อมไม่เป็นอันสมบูรณ์นอกจากผู้ชำระบัญชีทั้งหลายจะได้ทำร่วมกัน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่หรือศาลจะได้กำหนดอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นในเวลาตั้งผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๖๒ ถ้ามีมติของที่ประชุมใหญ่หรือคำบังคับของศาลให้อำนาจผู้ชำระบัญชีให้ทำการแยกกันได้ ท่านว่าต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันลงมติหรือออกคำบังคับนั้น
มาตรา ๑๒๖๓ ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน และค่าใช้จ่ายซึ่งต้องเสียโดยควรในการชำระบัญชีนั้น ท่านว่าผู้ชำระบัญชีต้องจัดการใช้ก่อนหนี้เงินรายอื่น ๆ
มาตรา ๑๒๖๔ ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้
มาตรา ๑๒๖๕ ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ และเงินที่ค้างชำระนี้ถึงแม้จะได้ตกลงกันไว้ก่อนโดยสัญญาเข้าหุ้นส่วน หรือโดยข้อบังคับของบริษัทว่าจะได้เรียกต่อภายหลังก็ตาม เมื่อเรียกเช่นนี้แล้ว ท่านว่าต้องส่งใช้ทันที
มาตรา ๑๒๖๖ ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย
มาตรา ๑๒๖๗ ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นไว้ ณ หอทะเบียนทุกระยะสามเดือนครั้งหนึ่งว่าได้จัดการไปอย่างใดบ้าง แสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้น และรายงานนี้ให้เปิดเผยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๑๒๖๘ ถ้าการชำระบัญชีนั้นยังคงทำอยู่โดยกาลกว่าปีหนึ่งขึ้นไป ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่ในเวลาสิ้นปีทุกปีนับแต่เริ่มทำการชำระบัญชี และต้องทำรายงานยื่นที่ประชุมว่าได้จัดการไปอย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบความเป็นไปแห่งบัญชีโดยละเอียด
มาตรา ๑๒๖๙ อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระ หนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น
มาตรา ๑๒๗๐ เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลงผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม
เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมเมื่อได้จดทะเบียนแล้วดั่งนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๗๑ เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ท่านให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นไว้แก่นาย ทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน และให้นายทะเบียนรักษาสมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านั้นไว้สิบปีนับแต่วันถึง ที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านี้ ให้เปิดให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา ๑๒๗๒ ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๗๓ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๑๗๒ ถึงมาตรา ๑๑๙๓ กับมาตรา ๑๑๙๕ มาตรา ๑๒๐๗ เหล่านี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ซึ่งมีขึ้นในระหว่างชำระบัญชีด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๗๓/๑[๙๐] เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือจะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าวห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๒[๙๑] ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และแจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๓[๙๒] เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา ๑๒๗๓/๑ หรือมาตรา ๑๒๗๓/๒ แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล
มาตรา ๑๒๗๓/๔[๙๓] ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559
ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2559
คำฟ้องของโจทก์อาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นมาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแทนบริษัทซึ่งไม่ยอมฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 โดยบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนไปแล้วโดยที่ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 (เดิม) แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดว่า ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่อย่างไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิกก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า ในขณะฟ้องคดีนี้มีการตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว และจำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ดำเนินการชำระบัญชีใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป บริษัทจึงอยู่ระหว่างการชำระบัญชีแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของบริษัทย่อมได้แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 หากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทในระหว่างชำระบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2559
โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน 1,927,770.08 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดจะชำระภาษีและเบี้ยปรับมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 โดยในหนังสือแจ้งการประเมินระบุให้นำเงินมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,927,770.08 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2559
เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้าง การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไรหรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น และแม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559
ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2559
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 สถานะของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองคือ ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพนิติบุคคล โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ แม้ต่อมานายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ก็ไม่มีผลกระทบแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้แม้จำเลยจะสิ้นสภาพนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558
โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้ว เข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนคือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ ตามมาตรา 1026 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยในการประกอบกิจการค้าตลาดนัด แต่จำเลยไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ทั้งมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการที่เข้าหุ้นกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหุ้นส่วนและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนสามัญและให้มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างเลิกกัน โดยระบุวันที่เลิกอันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้ความว่าห้างดังกล่าวเลิกกันเมื่อใด จึงยังอยู่ในขอบเขตแห่งคำขอ เพียงแต่ระบุวันที่ห้างเลิกให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีเท่านั้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8522/2557
การชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่งตั้งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ ซึ่งตามมาตรา 1061 วรรคสี่ การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน ฉะนั้นในกรณีที่ไม่อาจหาเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วนได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีให้ โดยเฉพาะกรณีที่มีการฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนไม่อาจตกลงกันในเรื่องผู้ชำระบัญชีได้ ศาลย่อมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ได้ตามที่เห็นสมควรแม้คู่กรณีจะเสนอผู้ใดมาโดยเฉพาะก็ตาม การแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีจึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1061
แต่อย่างไรก็ตามการตกลงเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามฟ้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน หากแต่งตั้งจำเลยหรือโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีเพียงคนเดียวหรือเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดปัญหาในการชำระบัญชีไม่ร่วมมือกัน เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนแทนจำเลย
โจทก์ฟ้องแทนห้างหุ้นส่วน เมื่อตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งกระทำแทนห้างหุ้นส่วนมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่ห้างหุ้นส่วน จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินแก่ห้างหุ้นส่วน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ห้างหุ้นส่วนโดยโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2557
แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ได้และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1105 และมาตรา 1202 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่มีการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินที่โจทก์จะได้จากบริษัท อ. หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ โดยไม่มีลักษณะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่ น. ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ดังนั้น เงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัท อ. ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2557
ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์ รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่ง การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วนและการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์ มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13936/2555
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้น ดังนี้ กำไรยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรอันจะได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจาก ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติให้เครดิตภาษีแก่กำไรทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน แต่ให้เครดิตภาษีแก่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาภาษีแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกับหุ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำนวน 66,188.86 บาท มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การชำระบัญชีเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้จ่ายกำไรสะสมแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากออกจากทรัพย์อื่นของห้างหุ้นส่วนได้ แต่ต้องนำมารวมกันเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไป โดยกำไรที่จะแจกกันในระหว่างการชำระบัญชีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ ชดใช้เงิน และคืนทุนทรัพย์ตามลำดับไปแล้วยังมีทรัพย์เหลือ ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับมีส่วนที่เป็นกำไรจากการปรับปรุงบัญชีรวมอยู่ด้วย 9,470.49 บาท เมื่อเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำกัด เป็นกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่ใช่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9041/2554
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจะพิจารณาในขณะยื่นฟ้องเป็นสำคัญ และการที่บริษัทเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป รวมทั้งมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามบริษัทในคดีพิพาทตามมาตรา 1250, 1259 (1) นอกจากนี้มาตรา 1272 ยังให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทเป็นหนี้อยู่ได้ แม้การชำระบัญชีจะสิ้นสุดไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่มีผลให้อำนาจฟ้องที่โจทก์มีอยู่แล้วในขณะยื่นฟ้องสิ้นไปแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11713/2553
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1246 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บริษัทโจทก์จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ย่อมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยโจทก์ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อโจทก์ให้คืนเข้าสู่สถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่สามารถมอบอำนาจให้ ย. อดีตกรรมการของโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชี และการแก้ต่างว่าต่างในนามของโจทก์ย่อมเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 (1) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง
การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้
โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552
โจทก์ ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบ เพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความ เสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้ เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1272
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2551
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้ง บ. เป็นทนายความต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกบริษัทแล้ว และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2537 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" และมาตรา 1272 บัญญัติว่า "ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้การชำระบัญชีสิ้นสุดไปแล้ว กฎหมายยังให้เจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นเป็นหนี้อยู่ ได้ และคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกชำระหนี้ให้โจทก์ และเป็นการที่โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเลิกบริษัท ตามบทบัญญัติดังกล่าวคู่กรณียังคงว่ากล่าวคดีกันต่อไปได้ และทนายความของจำเลยที่ 1 ยังคงมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปตามที่ได้รับแต่งตั้งไว้ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2537
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2551
ป.พ.พ.มาตรา 1249 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะรายนี้ให้จำเลย ทราบก่อนจำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และโจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 แม้ภายหลังจากที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ยังบัญญัติว่า ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ดังนั้น แม้เป็นเวลาภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระ บัญชีแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า โจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบภายหลังจากที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิก บริษัทแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่นิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายอีกต่อไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2550
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็มีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนผู้ใดได้อีก จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3)
เมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ดำเนินกิจการ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วน จำกัดจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้น โดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีใน ทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1056
โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน ของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมสมควรให้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเป็นผู้ชำระบัญชี โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลย ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550
บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจาก ทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้อง ดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะ การที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียน เพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2549
การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกพิพากษาให้ล้มละลายบริษัท โจทก์ย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) แต่ตามมาตรา 1249 ก็ให้พึงถือว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระ บัญชี และการชำระบัญชีของโจทก์อันเป็นบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายให้จัดทำไปตามบท กฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1247 วรรคแรกซึ่ง พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 22, 24 และมาตรา 25 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของ ลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ โดยการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่กระทบต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรง นั้นเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการดำเนินการตาม มาตรา 22 (3) สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกขอให้ลง โทษจำเลยในทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจาก ที่ดินของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 22 (3) ดังกล่าวที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถฟ้องร้อง คดีอาญาได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อจากโจทก์มาใช้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าวแก่ โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีจำเลยที่ 3 สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ ในฐานะห้างหุ้นส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 มาตรา 1077 (2) ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365 - 388/2548
ศาลมีคำสั่งให้เลิกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1249 ให้พึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีส่วนการตั้งบุคคลอื่น เป็นผู้ชำระบัญชีนั้นก็มีผลเพียงให้ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำการต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่จำกัดจำนวน ตามมาตรา 1077 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2547
โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มี ว. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทวันที่ 18 มิถุนายน 2541 มี ว. เป็นผู้ชำระบัญชี แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ดังนี้ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทและมีการตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว อำนาจในการฟ้องคดีจึงตกอยู่แก่ผู้ชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 โจทก์ฟ้องคดีนี้โดย ว. ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้อง ชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546
หากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 , 1270 ประกอบกับ ป. รัษฎากร มาตรา 72 ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะพิสูจน์ได้ว่าแม้ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยครบถ้วนตามบทบัญญัติดัง กล่าวแล้วก็มิอาจทราบได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สิน แทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2796 - 2801/2546
เมื่อบริษัทเลิกกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงการชำระบัญชีของบริษัทไว้ในมาตรา 1249 ให้ถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ในมาตรา 1250 ว่าหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทนั้น โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจที่จะกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ส่วนทรัพย์สินของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้นตามมาตรา 1269
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงิน และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อ เฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา 1271 อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น 1 ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืน ให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืน กฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และ มาตรา 1266 ที่จะต้องชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและ แจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ถ้าเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ยังไม่พอกับหนี้สิน ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกคำสั่งว่าบริษัทล้มละลายทันที นอกจากนี้ ป.รัษฎากร มาตรา 72 ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้า พนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัท อีกทั้งมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลสั่งว่า บริษัทล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวเป็นการยื่น รายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่บริษัทฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำ มาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว บริษัทไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกและไม่มีการ แบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท คืนแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีจึงหาต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของบริษัทเป็นส่วนตัวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดย อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้ม ละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดี นี้ตามมาตรา 1252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2543
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และได้มีคำพิพากษาของศาลให้เลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี โดยชอบไปแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของโจทก์ได้แก่ผู้ชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 โดยไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ซึ่ง เลิกบริษัทแล้วได้ ส่วนมาตรา 1169 เป็นเรื่องที่บริษัทยังมิได้เลิก และกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
เมื่อบริษัทโจทก์เลิกโดยคำพิพากษาไปแล้ว และไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทได้ ซ. ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์จึงฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ได้ แม้ผู้ชำระบัญชีที่ศาลแต่งตั้งใหม่แทนคนเดิม ที่ถูกเพิกถอน จะเพิ่งนำบอกให้จดทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดี นี้แล้วก็เป็นเรื่องที่ ผู้ชำระบัญชีคนเดิมปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมาย การที่ผู้ชำระบัญชีคนเดิมไม่นำบอก ให้จดทะเบียนการเลิกบริษัทโจทก์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่เป็นเหตุให้บริษัทโจทก์กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และไม่เป็นเหตุให้ผู้ชำระบัญชีที่ยังไม่ถูกถอดถอนหมดอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นำบอกให้จดทะเบียนการเลิกบริษัทโจทก์และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ชำระบัญชีคน ใหม่และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังจากที่ ซ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์แล้วก็ตาม ซ. ก็หามีอำนาจฟ้องคดีนี้ในนามของโจทก์ได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้ยื่นคำร้องหลังจาก ที่ ซ. ฟ้องคดีนี้ขอเข้าว่าคดีแทนบริษัทโจทก์ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ชอบมาแต่แรก แม้ต่อมาจะมีการยื่นคำร้องดังกล่าว ก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบขึ้นมาในภายหลังได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2538
เมื่อที่ประชุมกรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่1มีมติตั้งกรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระ บัญชีโดยข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดการตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นอย่างอื่นการ ตั้งผู้ชำระบัญชีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่กรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อบริษัทเลิกกันนั้นถือว่าเป็นการ ชั่วคราวเมื่อมีการประชุมใหญ่ก็จะต้องเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาว่าจะควร ให้กรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือไม่หรือจะเลือกบุคคลอื่นแทนหา ใช่ว่าจะต้องให้ที่ประชุมใหญ่รับรองก่อนจึงจะเป็นผู้ชำระบัญชีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2532
การที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวนั้นเป็นดุลพินิจของ กรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ หาใช่ว่าจะต้องเรียกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนตั้งกรรมการบริษัทไม่ แม้เมื่อเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนที่ยังค้าง ชำระอยู่นั้นก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1265ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยในการเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกจึง เกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์จึงมีอำนาจตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะ ต้องส่งอีกทั้งหมดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2527
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนผู้ชำระบัญชีของบริษัทโจทก์ ชุดแรกและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 สืบแทนผู้ชำระบัญชีคณะเดิมต่อไป แสดงว่าเป็นการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อไปในทันทีนั่นเอง แม้จะมีการจดทะเบียนคณะผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2ภายหลังการฟ้องคดีนี้ ก็หาทำให้กิจการที่ผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ปฏิบัติไปแล้วต้องเสียไปไม่ เพราะการจดทะเบียนผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1254 เป็นเพียงพิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้น ไปไม่ ผู้ชำระบัญชีสองคนซึ่งเป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีนี้แม้จะมีคำสั่ง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนไปพร้อมกับผู้ชำระบัญชีอื่นใน ชุดแรก แต่ทั้งสองคนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ในชุดที่ 2 การแต่งทนายให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2526
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษให้เลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236(4) ซึ่งมีผลตามกฎหมายให้บริษัทเลิกกันแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทอีก
ผู้ร้องและกรรมการอื่นของบริษัทมีเหตุผิดใจกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้. และข้อบังคับของบริษัทก็ไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้. ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีของบริษัทได้ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2514
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้เลิกกันเพราะ เหตุล้มละลาย แต่เมื่อภายหลังศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้นเสียแล้ว ก็ย่อมกลับมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิมมีอำนาจฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2511
ห้างหุ้นส่วนจำกัดเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารจำเลยต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดถูก ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้ปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตามผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ จำกัดความรับผิดในฐานะนี้ก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ดีย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องธนาคารจำเลยเกี่ยวกับเรื่อง บัญชีฝากเงินนี้ได้
รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่จะออกกฎกระทรวงว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและบริษัท และกำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมก็ออกได้
มาตรา ๑๒๔๘ เมื่อกล่าวถึงประชุมใหญ่ในหมวดนี้ ท่านหมายความดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑) ถ้าเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดก็คือการประชุมหุ้น ส่วนทั้งปวงซึ่งอาศัยคะแนนเสียงข้างมากเป็นใหญ่ในการวินิจฉัย
(๒) ถ้าเกี่ยวกับบริษัทจำกัด ก็คือการประชุมใหญ่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๗๑
มาตรา ๑๒๔๙ ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๕๐ หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
มาตรา ๑๒๕๑ ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี ในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย หุ้นส่วนผู้จัดการห้าง หรือกรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นไว้แต่ข้อสัญญาของห้าง หรือข้อบังคับของบริษัทจะมีกำหนดไว้เป็นสถานอื่น
ถ้าไม่มีผู้ชำระบัญชีดั่งว่ามานี้ และเมื่อพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้ร้องขอ ท่านให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๕๒ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระบัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น
มาตรา ๑๒๕๓ ภายในสิบสี่วันนับแต่ได้เลิกห้างเลิกบริษัท หรือถ้าศาลได้ตั้งผู้ชำระบัญชีนับแต่วันที่ศาลตั้ง ผู้ชำระบัญชีต้องกระทำดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) บอกกล่าวแก่ประชาชนโดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่ง คราวว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นได้เลิกกันแล้วและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ทั้ง หลายยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชี
(๒) ส่งคำบอกกล่าวอย่างเดียวกันเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุด บัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น
มาตรา ๑๒๕๔ การเลิกหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องนำบอกให้จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เลิกกัน และในการนี้ต้องระบุชื่อผู้ชำระบัญชีทุก ๆ คน ให้จดลงทะเบียนไว้ด้วย
มาตรา ๑๒๕๕ ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลขึ้นโดยเร็วที่สุดที่เป็นวิสัยจะทำได้ ส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบลงสำคัญว่าถูกต้อง แล้วต้องเรียกประชุมใหญ่
มาตรา ๑๒๕๖ ธุรการอันที่ประชุมใหญ่จะพึงทำนั้น คือ
(๑) รับรองให้หุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือเลือกตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่ขึ้นแทนที่ และ
(๒) อนุมัติบัญชีงบดุล
อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่จะสั่งให้ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีตีราคาทรัพย์สินหรือให้ทำการใด ๆ ก็ได้สุดแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร เพื่อชำระสะสางกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทให้เสร็จไป
มาตรา ๑๒๕๗ ผู้ชำระบัญชีซึ่งมิใช่เป็นขึ้นเพราะศาลตั้งนั้น ท่านว่าจะถอนเสียจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ก็ได้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายออกเสียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือที่ ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นได้ลงมติดั่งนั้น แต่ศาลย่อมสั่งถอนผู้ชำระบัญชีจากตำแหน่งและตั้งผู้อื่นแทนที่ได้ ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้ชำระบัญชีซึ่งศาลตั้งหรือมิใช่ศาลตั้ง ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างคนใดคนหนึ่งหรือของผู้ถือหุ้นใน บริษัทมีหุ้นรวมกันนับได้ถึงหนึ่งในยี่สิบแห่งทุนของบริษัท โดยจำนวนที่ส่งใช้เงินเข้าทุนแล้วนั้น
มาตรา ๑๒๕๘ เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ครั้งใด ผู้ชำระบัญชีต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนตัวกันนั้น
มาตรา ๑๒๕๙ ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) แก้ต่างว่าต่างในนามของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในอรรถคดีพิพาทอันเป็นแพ่งหรืออาญาทั้งปวง และทำประนีประนอมยอมความ
(๒) ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามแต่จำเป็น เพื่อการชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
(๓) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
(๔) ทำการอย่างอื่น ๆ ตามแต่จำเป็นเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จไปด้วยดี
มาตรา ๑๒๖๐ ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใด ๆ จะอ้างเป็นสมบูรณ์ต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่
มาตรา ๑๒๖๑ ถ้ามีผู้ชำระบัญชีหลายคน การใด ๆ ที่ผู้ชำระบัญชีกระทำย่อมไม่เป็นอันสมบูรณ์นอกจากผู้ชำระบัญชีทั้งหลายจะได้ทำร่วมกัน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่หรือศาลจะได้กำหนดอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นในเวลาตั้งผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๖๒ ถ้ามีมติของที่ประชุมใหญ่หรือคำบังคับของศาลให้อำนาจผู้ชำระบัญชีให้ทำการแยกกันได้ ท่านว่าต้องนำความจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันลงมติหรือออกคำบังคับนั้น
มาตรา ๑๒๖๓ ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน และค่าใช้จ่ายซึ่งต้องเสียโดยควรในการชำระบัญชีนั้น ท่านว่าผู้ชำระบัญชีต้องจัดการใช้ก่อนหนี้เงินรายอื่น ๆ
มาตรา ๑๒๖๔ ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้
มาตรา ๑๒๖๕ ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนยังค้างชำระอยู่นั้นก็ได้ และเงินที่ค้างชำระนี้ถึงแม้จะได้ตกลงกันไว้ก่อนโดยสัญญาเข้าหุ้นส่วน หรือโดยข้อบังคับของบริษัทว่าจะได้เรียกต่อภายหลังก็ตาม เมื่อเรียกเช่นนี้แล้ว ท่านว่าต้องส่งใช้ทันที
มาตรา ๑๒๖๖ ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย
มาตรา ๑๒๖๗ ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานยื่นไว้ ณ หอทะเบียนทุกระยะสามเดือนครั้งหนึ่งว่าได้จัดการไปอย่างใดบ้าง แสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้น และรายงานนี้ให้เปิดเผยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๑๒๖๘ ถ้าการชำระบัญชีนั้นยังคงทำอยู่โดยกาลกว่าปีหนึ่งขึ้นไป ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมใหญ่ในเวลาสิ้นปีทุกปีนับแต่เริ่มทำการชำระบัญชี และต้องทำรายงานยื่นที่ประชุมว่าได้จัดการไปอย่างไรบ้าง ทั้งแถลงให้ทราบความเป็นไปแห่งบัญชีโดยละเอียด
มาตรา ๑๒๖๙ อันทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นได้แต่เพียงเท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระ หนี้ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเท่านั้น
มาตรา ๑๒๗๐ เมื่อการชำระบัญชีกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสำเร็จลงผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชีแสดงว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใด และได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไปประการใด แล้วให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานนั้น และชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม
เมื่อที่ประชุมใหญ่ได้ให้อนุมัติรายงานนั้นแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องนำข้อความที่ได้ประชุมกันนั้นไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมเมื่อได้จดทะเบียนแล้วดั่งนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๗๑ เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ท่านให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นไว้แก่นาย ทะเบียนภายในกำหนดสิบสี่วันดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน และให้นายทะเบียนรักษาสมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านั้นไว้สิบปีนับแต่วันถึง ที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สมุดและบัญชีและเอกสารเหล่านี้ ให้เปิดให้แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา ๑๒๗๒ ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
มาตรา ๑๒๗๓ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๑๗๒ ถึงมาตรา ๑๑๙๓ กับมาตรา ๑๑๙๕ มาตรา ๑๒๐๗ เหล่านี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ซึ่งมีขึ้นในระหว่างชำระบัญชีด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๗๓/๑[๙๐] เมื่อใดนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัดใด มิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อสอบถามว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และแจ้งว่าหากมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือจะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้านายทะเบียนได้รับคำตอบจากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วหรือมิได้รับคำตอบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวและส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่า เมื่อพ้นเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าวห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๒[๙๑] ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วและอยู่ระหว่างการชำระบัญชี หากนายทะเบียนมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ หรือการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้ชำระสะสางตลอดแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ทำรายงานการชำระบัญชี หรือมิได้ยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่อันปรากฏเป็นสำนักงานสุดท้าย แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี และแจ้งว่าหากมิได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือนั้นแล้ว จะได้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียน
ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ชำระบัญชีว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๗๓/๓[๙๒] เมื่อสิ้นกำหนดเวลาตามที่แจ้งในหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา ๑๒๗๓/๑ หรือมาตรา ๑๒๗๓/๒ แล้ว และห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือผู้ชำระบัญชีมิได้แสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น นายทะเบียนจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นออกเสียจากทะเบียนก็ได้ ในการนี้ ให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียน แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการ และผู้ถือหุ้นมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังมิได้สิ้นสภาพนิติบุคคล
มาตรา ๑๒๗๓/๔[๙๓] ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่าในขณะที่ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือเห็นเป็นการยุติธรรมในการที่จะให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทได้กลับคืนสู่ทะเบียนก็ดี ศาลจะสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ได้ และให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและบรรดาบุคคลอื่น ๆ กลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย การร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9852/2559
ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่มีมติให้ประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำกิจการเป็นการทั่วไปหรือเฉพาะอย่างแทนประธานกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ เป็นมติที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำกิจการแทนประธานกรรมการในฐานะที่ประธานกรรมการเป็นผู้แทนคณะกรรมการชำระบัญชีตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ส่วนข้อความของมติต่อมาที่ว่า ในกิจการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้เป็นไปตามนัย มาตรา 10 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 นั้น เป็นการขยายความว่า กิจการที่มอบอำนาจให้ทำแทนประธานกรรมการนั้นจะต้องเกี่ยวกับหน้าที่ของประธานกรรมการในการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ไม่อาจแปลขยายความว่าเป็นกรณีที่ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ อ. กระทำการแทนคณะกรรมการชำระบัญชีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ทั้งหมด มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าการชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถกระทำการได้โดยบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการตรา พ.ร.ฎ. ดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการชำระบัญชี เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการนำข้อสรุปเบื้องต้นตามบันทึกการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชำระบัญชีและมีมติให้ขายทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ โจทก์จึงยังไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์พิพาทได้อยู่ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2559
คำฟ้องของโจทก์อาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นมาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแทนบริษัทซึ่งไม่ยอมฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 โดยบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่เลิกและกรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนไปแล้วโดยที่ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จึงต้องถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันแล้วในขณะฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 (เดิม) แม้ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดว่า ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการและของผู้ถือหุ้นทุก ๆ คนมีอยู่อย่างไร ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้นและพึงเรียกบังคับได้เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิกก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า ในขณะฟ้องคดีนี้มีการตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว และจำเลยทั้งสามก็มีหน้าที่ดำเนินการชำระบัญชีใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป บริษัทจึงอยู่ระหว่างการชำระบัญชีแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของบริษัทย่อมได้แก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 หากจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ชำระบัญชีปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทในระหว่างชำระบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2559
โจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เป็นเงิน 1,927,770.08 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดจะชำระภาษีและเบี้ยปรับมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 โดยในหนังสือแจ้งการประเมินระบุให้นำเงินมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,927,770.08 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดให้ชำระเงินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินคือนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2559
เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้าง การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไรหรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น และแม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8454/2559
ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยเหตุกิจการของห้างที่จะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้อีก และผู้เป็นหุ้นส่วนดำเนินคดีฟ้องร้องกันหลายเรื่องจนไม่สามารถจะร่วมทำกิจการต่อไปได้ ทั้งผู้ร้องยกเลิกสัมปทานค้าขายน้ำมัน รื้อถอนถังบรรจุน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมันคืนแก่บริษัท อ. ไปแล้ว อันเป็นเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (2) และ (3) หาได้อ้างเหตุผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ไม่ เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1057 (1) ดังที่ผู้คัดค้านฎีกาหรือไม่ ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2559
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนี้ด้วย เพราะการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย จึงต้องการให้ลูกหนี้ซึ่งทราบรายละเอียดหนี้สินระหว่างตนกับลูกหนี้ของลูกหนี้ยิ่งกว่าเจ้าหนี้ที่มาใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อให้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า บริษัท ค. ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 แต่กฎหมายบัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1273/4 ว่า หากเจ้าหนี้ของบริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เจ้าหนี้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เมื่อบริษัท ค. ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนทำให้สิ้นสภาพนิติบุคคลเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้มีการขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาในคดีอันมีผลกระทบต่อการฟ้องคดีของโจทก์ ย่อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าว แต่โจทก์กลับมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนทั้งที่ยังสามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ค. ลูกหนี้เข้ามาในคดี เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2559
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 สถานะของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองคือ ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2545 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ดังนั้น ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงมีสภาพนิติบุคคล โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลล้มละลายกลางก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ได้ แม้ต่อมานายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนร้าง ก็ไม่มีผลกระทบแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้แม้จำเลยจะสิ้นสภาพนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558
โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้ว เข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนคือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ ตามมาตรา 1026 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยในการประกอบกิจการค้าตลาดนัด แต่จำเลยไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ทั้งมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการที่เข้าหุ้นกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหุ้นส่วนและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนสามัญและให้มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างเลิกกัน โดยระบุวันที่เลิกอันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้ความว่าห้างดังกล่าวเลิกกันเมื่อใด จึงยังอยู่ในขอบเขตแห่งคำขอ เพียงแต่ระบุวันที่ห้างเลิกให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีเท่านั้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8522/2557
การชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้แต่งตั้งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ ซึ่งตามมาตรา 1061 วรรคสี่ การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน ฉะนั้นในกรณีที่ไม่อาจหาเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วนได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีให้ โดยเฉพาะกรณีที่มีการฟ้องขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนไม่อาจตกลงกันในเรื่องผู้ชำระบัญชีได้ ศาลย่อมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ได้ตามที่เห็นสมควรแม้คู่กรณีจะเสนอผู้ใดมาโดยเฉพาะก็ตาม การแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีจึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1061
แต่อย่างไรก็ตามการตกลงเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามฟ้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน หากแต่งตั้งจำเลยหรือโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีเพียงคนเดียวหรือเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดปัญหาในการชำระบัญชีไม่ร่วมมือกัน เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนแทนจำเลย
โจทก์ฟ้องแทนห้างหุ้นส่วน เมื่อตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งกระทำแทนห้างหุ้นส่วนมีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่ห้างหุ้นส่วน จึงถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินแก่ห้างหุ้นส่วน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ห้างหุ้นส่วนโดยโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2557
แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ได้และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1105 และมาตรา 1202 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่มีการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินที่โจทก์จะได้จากบริษัท อ. หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ โดยไม่มีลักษณะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่ น. ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ดังนั้น เงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัท อ. ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2557
ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์ รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่ง การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วนและการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์ มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13936/2555
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 แสดงให้เห็นว่า เงินปันผลของห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเป็นส่วนแบ่งจากกำไรที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายตอบแทนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนตามส่วนแห่งการลงหุ้น ดังนี้ กำไรยังไม่ได้แบ่งหรือเหลือจากการแบ่งย่อมไม่อาจถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรอันจะได้รับเครดิตภาษีตาม มาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เนื่องจาก ป.รัษฎากร มิได้บัญญัติให้เครดิตภาษีแก่กำไรทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน แต่ให้เครดิตภาษีแก่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาภาษีแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกับหุ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนของผู้เป็นหุ้นส่วน เงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำนวน 66,188.86 บาท มิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1084 กำหนดไว้ แต่เป็นการเฉลี่ยแจกกำไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การชำระบัญชีเมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้จ่ายกำไรสะสมแยกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากออกจากทรัพย์อื่นของห้างหุ้นส่วนได้ แต่ต้องนำมารวมกันเพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไป โดยกำไรที่จะแจกกันในระหว่างการชำระบัญชีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการชำระหนี้ ชดใช้เงิน และคืนทุนทรัพย์ตามลำดับไปแล้วยังมีทรัพย์เหลือ ดังนั้น กำไรที่แจกระหว่างการชำระบัญชีจึงมิใช่ผลกำไรที่ห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้อันจะนำมาแบ่งเป็นเงินปันผลได้อีกต่อไป ส่วนเงินที่โจทก์ได้รับมีส่วนที่เป็นกำไรจากการปรับปรุงบัญชีรวมอยู่ด้วย 9,470.49 บาท เมื่อเงินที่โจทก์ได้รับเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนจำกัด เป็นกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างการชำระบัญชี จึงไม่ใช่เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (4) (ข) แห่ง ป.รัษฎากร แต่เป็นผลประโยชน์ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนที่โจทก์ลงทุนซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9041/2554
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจะพิจารณาในขณะยื่นฟ้องเป็นสำคัญ และการที่บริษัทเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป รวมทั้งมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามบริษัทในคดีพิพาทตามมาตรา 1250, 1259 (1) นอกจากนี้มาตรา 1272 ยังให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทเป็นหนี้อยู่ได้ แม้การชำระบัญชีจะสิ้นสุดไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่มีผลให้อำนาจฟ้องที่โจทก์มีอยู่แล้วในขณะยื่นฟ้องสิ้นไปแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11713/2553
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1246 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บริษัทโจทก์จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ย่อมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยโจทก์ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อโจทก์ให้คืนเข้าสู่สถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่สามารถมอบอำนาจให้ ย. อดีตกรรมการของโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชี และการแก้ต่างว่าต่างในนามของโจทก์ย่อมเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 (1) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง
การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้
โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552
โจทก์ ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบ เพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความ เสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้ เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1272
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551
สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2551
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้ง บ. เป็นทนายความต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกบริษัทแล้ว และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2537 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" และมาตรา 1272 บัญญัติว่า "ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้การชำระบัญชีสิ้นสุดไปแล้ว กฎหมายยังให้เจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทหรือผู้ถือหุ้นเป็นหนี้อยู่ ได้ และคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกชำระหนี้ให้โจทก์ และเป็นการที่โจทก์ฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเลิกบริษัท ตามบทบัญญัติดังกล่าวคู่กรณียังคงว่ากล่าวคดีกันต่อไปได้ และทนายความของจำเลยที่ 1 ยังคงมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปตามที่ได้รับแต่งตั้งไว้ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2537
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2551
ป.พ.พ.มาตรา 1249 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะรายนี้ให้จำเลย ทราบก่อนจำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และโจทก์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 แม้ภายหลังจากที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ยังบัญญัติว่า ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ดังนั้น แม้เป็นเวลาภายหลังที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระ บัญชีแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างเวลาที่โจทก์อาจฟ้องคดีได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า โจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยทราบภายหลังจากที่จำเลยได้จดทะเบียนเลิก บริษัทแล้ว จำเลยจึงไม่ใช่นิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายอีกต่อไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5184/2550
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะทำธุรกิจร่วมกันต่อไปได้ ทั้งหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดก็มีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นหุ้นส่วนผู้ใดได้อีก จึงทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1057 (3)
เมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ดำเนินกิจการ โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วน จำกัดจำเลยที่ 1 ได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งของห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้น โดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ประสงค์จะเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีเหตุ จึงต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนสิ้นรอบปีใน ทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1056
โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน ของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้ และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1251 วรรคสอง เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมสมควรให้คนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดเป็นผู้ชำระบัญชี โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลย ที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550
บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจาก ทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้อง ดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะ การที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียน เพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2549
การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดถูกพิพากษาให้ล้มละลายบริษัท โจทก์ย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) แต่ตามมาตรา 1249 ก็ให้พึงถือว่าบริษัทโจทก์ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระ บัญชี และการชำระบัญชีของโจทก์อันเป็นบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายให้จัดทำไปตามบท กฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1247 วรรคแรกซึ่ง พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 22, 24 และมาตรา 25 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของ ลูกหนี้ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ โดยการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งที่กระทบต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรง นั้นเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการดำเนินการตาม มาตรา 22 (3) สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดบุกรุกขอให้ลง โทษจำเลยในทางอาญาแต่เพียงอย่างเดียว มิได้มีคำขอบังคับในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจาก ที่ดินของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 22 (3) ดังกล่าวที่โจทก์จะต้องดำเนินการฟ้องร้องโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยกรรมการผู้มีอำนาจสามารถฟ้องร้อง คดีอาญาได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อจากโจทก์มาใช้ในการประกอบธุรกิจดังกล่าวแก่ โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด และจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีจำเลยที่ 3 สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ ในฐานะห้างหุ้นส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 มาตรา 1077 (2) ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365 - 388/2548
ศาลมีคำสั่งให้เลิกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1249 ให้พึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีส่วนการตั้งบุคคลอื่น เป็นผู้ชำระบัญชีนั้นก็มีผลเพียงให้ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำการต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่จำกัดจำนวน ตามมาตรา 1077 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2547
โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มี ว. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทวันที่ 18 มิถุนายน 2541 มี ว. เป็นผู้ชำระบัญชี แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ดังนี้ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทและมีการตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว อำนาจในการฟ้องคดีจึงตกอยู่แก่ผู้ชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 โจทก์ฟ้องคดีนี้โดย ว. ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้อง ชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546
หากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 , 1270 ประกอบกับ ป. รัษฎากร มาตรา 72 ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะพิสูจน์ได้ว่าแม้ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยครบถ้วนตามบทบัญญัติดัง กล่าวแล้วก็มิอาจทราบได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สิน แทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2796 - 2801/2546
เมื่อบริษัทเลิกกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงการชำระบัญชีของบริษัทไว้ในมาตรา 1249 ให้ถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ในมาตรา 1250 ว่าหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทนั้น โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจที่จะกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 เพื่อชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ส่วนทรัพย์สินของบริษัทนั้นจะแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้นตามมาตรา 1269
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงิน และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อ เฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา 1271 อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น 1 ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืน ให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา 1264 และมาตรา 1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืน กฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2545
ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 และ มาตรา 1266 ที่จะต้องชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จสิ้นไปกับจัดการใช้หนี้เงินและ แจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ถ้าเห็นว่าเมื่อเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ยังไม่พอกับหนี้สิน ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกคำสั่งว่าบริษัทล้มละลายทันที นอกจากนี้ ป.รัษฎากร มาตรา 72 ยังบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการบริษัทมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้า พนักงานประเมินทราบการเลิกบริษัท อีกทั้งมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีตามแบบ แม้ไม่ปรากฏว่าผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลสั่งว่า บริษัทล้มละลาย แต่ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีดังกล่าวเป็นการยื่น รายการของบริษัทและนำเงินของบริษัทไปชำระค่าภาษี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นอกจากสิทธิเรียกร้องในเงินที่บริษัทฝากไว้แก่ธนาคารซึ่งโจทก์ได้อายัดและนำ มาชำระค่าภาษีบางส่วนแล้ว บริษัทไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกและไม่มีการ แบ่งปันทรัพย์สินของบริษัท คืนแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีจึงหาต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีของบริษัทเป็นส่วนตัวไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดย อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้ม ละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดี นี้ตามมาตรา 1252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2543
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และได้มีคำพิพากษาของศาลให้เลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี โดยชอบไปแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการกิจการของโจทก์ได้แก่ผู้ชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259 โดยไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ซึ่ง เลิกบริษัทแล้วได้ ส่วนมาตรา 1169 เป็นเรื่องที่บริษัทยังมิได้เลิก และกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการ ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้
เมื่อบริษัทโจทก์เลิกโดยคำพิพากษาไปแล้ว และไม่มีบทกฎหมายให้อำนาจผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดฟ้องคดีแทนบริษัทได้ ซ. ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์จึงฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ได้ แม้ผู้ชำระบัญชีที่ศาลแต่งตั้งใหม่แทนคนเดิม ที่ถูกเพิกถอน จะเพิ่งนำบอกให้จดทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดี นี้แล้วก็เป็นเรื่องที่ ผู้ชำระบัญชีคนเดิมปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมาย การที่ผู้ชำระบัญชีคนเดิมไม่นำบอก ให้จดทะเบียนการเลิกบริษัทโจทก์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่เป็นเหตุให้บริษัทโจทก์กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และไม่เป็นเหตุให้ผู้ชำระบัญชีที่ยังไม่ถูกถอดถอนหมดอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นำบอกให้จดทะเบียนการเลิกบริษัทโจทก์และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ชำระบัญชีคน ใหม่และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังจากที่ ซ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์แล้วก็ตาม ซ. ก็หามีอำนาจฟ้องคดีนี้ในนามของโจทก์ได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะผู้ชำระบัญชีได้ยื่นคำร้องหลังจาก ที่ ซ. ฟ้องคดีนี้ขอเข้าว่าคดีแทนบริษัทโจทก์ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ชอบมาแต่แรก แม้ต่อมาจะมีการยื่นคำร้องดังกล่าว ก็หาทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบกลับเป็นฟ้องที่ชอบขึ้นมาในภายหลังได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2538
เมื่อที่ประชุมกรรมการบริษัทผู้คัดค้านที่1มีมติตั้งกรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระ บัญชีโดยข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดการตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นอย่างอื่นการ ตั้งผู้ชำระบัญชีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่กรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อบริษัทเลิกกันนั้นถือว่าเป็นการ ชั่วคราวเมื่อมีการประชุมใหญ่ก็จะต้องเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาว่าจะควร ให้กรรมการบริษัทคงเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปหรือไม่หรือจะเลือกบุคคลอื่นแทนหา ใช่ว่าจะต้องให้ที่ประชุมใหญ่รับรองก่อนจึงจะเป็นผู้ชำระบัญชีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2532
การที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกในแต่ละคราวนั้นเป็นดุลพินิจของ กรรมการที่จะเรียกจากผู้ถือหุ้นเมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังคงดำรงอยู่ หาใช่ว่าจะต้องเรียกภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนตั้งกรรมการบริษัทไม่ แม้เมื่อเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เงินลงหุ้นอันเป็นส่วนที่ยังค้าง ชำระอยู่นั้นก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1265ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยในการเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกจึง เกิดขึ้นในแต่ละคราวที่กรรมการส่งคำบอกกล่าวเรียกเงินค่าหุ้นนั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์จึงมีอำนาจตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 119 เรียกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชำระเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะ ต้องส่งอีกทั้งหมดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2527
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนผู้ชำระบัญชีของบริษัทโจทก์ ชุดแรกและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 สืบแทนผู้ชำระบัญชีคณะเดิมต่อไป แสดงว่าเป็นการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อไปในทันทีนั่นเอง แม้จะมีการจดทะเบียนคณะผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2ภายหลังการฟ้องคดีนี้ ก็หาทำให้กิจการที่ผู้ชำระบัญชีชุดที่ 2 ปฏิบัติไปแล้วต้องเสียไปไม่ เพราะการจดทะเบียนผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1254 เป็นเพียงพิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติให้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้น ไปไม่ ผู้ชำระบัญชีสองคนซึ่งเป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีนี้แม้จะมีคำสั่ง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนไปพร้อมกับผู้ชำระบัญชีอื่นใน ชุดแรก แต่ทั้งสองคนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ในชุดที่ 2 การแต่งทนายให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2526
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษให้เลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236(4) ซึ่งมีผลตามกฎหมายให้บริษัทเลิกกันแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทอีก
ผู้ร้องและกรรมการอื่นของบริษัทมีเหตุผิดใจกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้. และข้อบังคับของบริษัทก็ไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้. ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีของบริษัทได้ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2514
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแม้จะมีกฎหมายบัญญัติให้เลิกกันเพราะ เหตุล้มละลาย แต่เมื่อภายหลังศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้นเสียแล้ว ก็ย่อมกลับมีสภาพเป็นนิติบุคคลดังเดิมมีอำนาจฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2511
ห้างหุ้นส่วนจำกัดเปิดบัญชีฝากเงินไว้กับธนาคารจำเลยต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดถูก ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้ปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตามผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ จำกัดความรับผิดในฐานะนี้ก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ดีย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องธนาคารจำเลยเกี่ยวกับเรื่อง บัญชีฝากเงินนี้ได้