ความปกครอง

มาตรา ๑๕๘๕ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา ๑๕๘๒ วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา ๑๕๘๒ วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้

มาตรา ๑๕๘๖ ผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๕ นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕๙๐ การตั้งผู้ปกครองนั้นถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เว้นแต่พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๗

มาตรา ๑๕๘๗ บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วอาจถูกตั้งเป็นผู้ปกครองได้ เว้นแต่
(๑) ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๒) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
(๔) ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์
(๕) ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง

มาตรา ๑๕๘๘ หากปรากฏว่าบุคคลที่ศาลตั้งให้เป็นผู้ปกครองเป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๘๗ อยู่ในขณะที่ศาลตั้งให้เป็นผู้ปกครองโดยปรากฏแก่ศาลเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองนั้นเสียและมีคำสั่งเกี่ยวกับผู้ปกครองต่อไปตามที่เห็นสมควร

การเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต เว้นแต่ในกรณีการเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ปกครองที่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๕๘๗ (๑) หรือ (๒) การกระทำของผู้ปกครองไม่ผูกพันผู้เยาว์ไม่ว่าบุคคลภายนอกจะได้กระทำการโดยสุจริตหรือไม่

มาตรา ๑๕๘๙ (ถูกยกเลิก)

มาตรา ๑๕๙๐ ผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ในกรณีมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ตั้งผู้ปกครองหลายคนหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ โดยมีเหตุผลอันสมควร ให้ศาลมีอำนาจตั้งผู้ปกครองได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ในกรณีที่ตั้งผู้ปกครองหลายคนศาลจะกำหนดให้ผู้ปกครองเหล่านั้นกระทำการร่วม กันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้

มาตรา ๑๕๙๑ ความเป็นผู้ปกครองนั้นเริ่มแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล

มาตรา ๑๕๙๒ ให้ผู้ปกครองรีบทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่ทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้ปกครองจะร้องต่อศาลก่อนสิ้นกำหนดขอให้ยืดเวลาก็ได้

บัญชีนั้นต้องมีพยานรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะและเป็นญาติของผู้อยู่ในปกครอง แต่ถ้าหาญาติไม่ได้จะให้ผู้อื่นเป็นพยานก็ได้

มาตรา ๑๕๙๓ ให้ผู้ปกครองยื่นสำเนาบัญชีทรัพย์สินที่ตนรับรองว่าถูกต้องต่อศาลฉบับหนึ่งภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้ทำบัญชีทรัพย์สินแล้ว และศาลจะสั่งให้ผู้ปกครองชี้แจงเพิ่มเติมหรือให้นำเอกสารมาประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าบัญชีนั้นถูกต้องแล้วก็ได้

ถ้าศาลมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นภายในสิบห้าวันนับแต่วันยื่นบัญชี หรือวันชี้แจงเพิ่มเติม หรือวันนำเอกสารยื่นประกอบแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าศาลยอมรับบัญชีนั้นแล้ว

มาตรา ๑๕๙๔ ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติเกี่ยวแก่การทำบัญชีทรัพย์สินหรือการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๒ หรือมาตรา ๑๕๙๓ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลซึ่งสั่งตามมาตรา ๑๕๙๓ หรือศาลไม่พอใจในบัญชีทรัพย์สินเพราะทำขึ้นด้วยความเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือไม่สุจริต หรือเห็นได้ชัดว่าผู้ปกครองหย่อนความสามารถ ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองนั้นเสียก็ได้

มาตรา ๑๕๙๕ ก่อนที่ศาลยอมรับบัญชีนั้น ห้ามมิให้ผู้ปกครองทำกิจการใด เว้นแต่เป็นการเร่งร้อนและจำเป็น แต่จะยกข้อห้ามดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้

มาตรา ๑๕๙๖ ถ้ามีหนี้เป็นคุณแก่ผู้ปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครองหรือเป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครองแต่เป็นโทษต่อผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองแจ้งข้อความเหล่านั้นต่อศาลก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่ามีหนี้เป็นคุณแก่ตนแต่เป็นโทษต่อผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาลหนี้ของผู้ปกครองนั้นย่อมสูญไป

ถ้าผู้ปกครองรู้ว่ามีหนี้เป็นโทษต่อตนแต่เป็นคุณแก่ผู้อยู่ในปกครอง และมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาล ศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองก็ได้

มาตรา ๑๕๙๗ เมื่อศาลเห็นสมควรโดยลำพัง หรือเมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ผู้ปกครอง

(๑) หาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(๒) แถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง

มาตรา ๑๕๙๘ ในระหว่างปกครอง ถ้าผู้อยู่ในปกครองได้ทรัพย์สินอันมีค่ามาโดยทางมรดกหรือการให้โดยเสน่หา ให้นำมาตรา ๑๕๙๒ ถึงมาตรา ๑๕๙๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๑ ให้ผู้ปกครองทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละครั้งนับแต่วันเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อศาลได้รับบัญชีปีแรกแล้วจะสั่งให้ส่งบัญชีเช่นว่านั้นในระยะเวลาเกินหนึ่งปีก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๒ ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๖๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๖๗

มาตรา ๑๕๙๘/๓ ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง

ให้นำมาตรา ๑๕๗๐ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๒ มาตรา ๑๕๗๔ มาตรา ๑๕๗๕ มาตรา ๑๕๗๖ และมาตรา ๑๕๗๗ มาใช้บังคับแก่ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครองโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๔ เงินได้ของผู้อยู่ในปกครองนั้น ผู้ปกครองย่อมใช้ได้ตามสมควรเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครอง ถ้ามีเหลือให้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

(๑) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
(๒) รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรก แต่จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
(๓) ฝากประจำในธนาคารที่ได้ตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในราชอาณาจักร
(๔) ลงทุนอย่างอื่นซึ่งศาลอนุญาตเป็นพิเศษ

มาตรา ๑๕๙๘/๕ ถ้าผู้อยู่ในปกครองรู้จักผิดชอบและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์เมื่อผู้ปกครองจะทำกิจการใดที่สำคัญ ให้ปรึกษาหารือผู้อยู่ในปกครองก่อนเท่าที่จะทำได้

การที่ผู้อยู่ในปกครองได้ยินยอมด้วยนั้นหาคุ้มผู้ปกครองให้พ้นจากความรับผิดไม่

มาตรา ๑๕๙๘/๖ ความปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้อยู่ในปกครองตายหรือบรรลุนิติภาวะ

มาตรา ๑๕๙๘/๗ ความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลงเมื่อผู้ปกครอง
(๑) ตาย
(๒) ลาออกโดยได้รับอนุญาตจากศาล
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) ถูกถอนโดยคำสั่งศาล

มาตรา ๑๕๙๘/๘ ให้ศาลสั่งถอนผู้ปกครองในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ปกครองละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่
(๒) ผู้ปกครองประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่
(๓) ผู้ปกครองใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
(๔) ผู้ปกครองประพฤติมิชอบซึ่งไม่สมควรแก่หน้าที่
(๕) ผู้ปกครองหย่อนความสามารถในหน้าที่จนน่าจะเป็นอันตรายแก่ประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครอง
(๖) มีกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘๗ (๓) (๔) หรือ (๕)

มาตรา ๑๕๙๘/๙ การร้องขอให้ถอนผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๙๘/๘ นั้น ผู้อยู่ในปกครองซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ หรือญาติของผู้อยู่ในปกครองหรืออัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๑๐ ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอให้ถอนผู้ปกครอง ศาลจะตั้งผู้จัดการชั่วคราวให้จัดการทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองแทนผู้ปกครองก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๑๑ ถ้าความปกครองหรือความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลง ให้ผู้ปกครองหรือทายาทรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการแก่ผู้อยู่ในปกครอง หรือทายาทหรือผู้ปกครองคนใหม่ และให้ทำบัญชีในการจัดการทรัพย์สินส่งมอบภายในเวลาหกเดือน และถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้นก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี แต่เมื่อผู้ปกครองหรือทายาทร้องขอศาลจะสั่งให้ยืดเวลาก็ได้

ให้นำมาตรา ๑๕๘๐ และมาตรา ๑๕๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๑๒ นับแต่วันส่งมอบบัญชี ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินซึ่งผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองจะต้องคืนให้แก่กัน

ถ้าผู้ปกครองใช้เงินของผู้อยู่ในปกครองนอกจากเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่ในปกครองแล้ว ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในจำนวนเงินนั้นตั้งแต่วันใช้เป็นต้นไป

มาตรา ๑๕๙๘/๑๓ ผู้อยู่ในปกครองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ปกครองเพื่อชำระหนี้ซึ่งค้างอยู่แก่ตน

บุริมสิทธินี้ให้อยู่ในลำดับที่หกถัดจากบุริมสิทธิสามัญอย่างอื่นตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา ๑๕๙๘/๑๔ ผู้ปกครองไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑) มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จเท่าที่กำหนดในพินัยกรรม
(๒) ในกรณีที่พินัยกรรมไม่ได้กำหนดบำเหน็จไว้ แต่ไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้
(๓) ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งตั้งผู้ปกครองไว้ในพินัยกรรม และไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้ปกครองในคำสั่งตั้งผู้ปกครองก็ได้ หรือถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้

ในการพิจารณากำหนดบำเหน็จ ให้ศาลพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ รายได้และฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง

ถ้าผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองแสดงได้ว่า พฤติการณ์ รายได้หรือฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังที่ได้เข้ารับหน้าที่ผู้ปกครอง ศาลจะสั่งให้บำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้ปกครองอีกก็ได้แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีข้อกำหนดห้ามไว้ในพินัยกรรมมิให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จด้วย

มาตรา ๑๕๙๘/๑๕ ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)

มาตรา ๑๕๙๘/๑๖ คู่สมรสซึ่งเป็นผู้อนุบาลของคู่สมรสที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว แต่การจัดการสินส่วนตัวและสินสมรสตามกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ วรรคหนึ่ง คู่สมรสนั้นจะจัดการไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

มาตรา ๑๕๙๘/๑๗ ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล และตั้งบิดาหรือมารดาหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาล ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อมีกรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรสได้

มาตรา ๑๕๙๘/๑๘ ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตร ถ้าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)

ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้อยู่ในความอนุบาลบรรลุนิติภาวะแล้วจะใช้สิทธิตามมาตรา ๑๕๖๗ (๒) และ (๓)ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5467 - 5468/2550
โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์เป็นฝ่ายชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนในอนาคตและกำหนดวิธีการชำระเงินไว้ถูกต้องตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/40 แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขเป็นบทบังคับในกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาว่าหากโจทก์ผิด สัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดหรืองวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาทั้งหมดยอมให้จำเลยบังคับคดีเต็มตามจำนวนเงินตามข้อตกลงได้ทันที อันเป็นความประสงค์ของโจทก์จำเลยในการทำนิติกรรมสัญญาโดยไม่ขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 150 จึงมีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6949/2550
การที่จำเลยไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นหนี้ค้างชำระตามข้อสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ใช่หนี้จะพึงชำระในอนาคต จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอเพิกถอนหรือลดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7755/2549
ผู้คัดค้านปกปิดการร้องขอให้ ส. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เพราะประสงค์จะช่วยเหลือและคุ้มครองประโยชน์ของ ส. โดยคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนั้นผู้คัดค้านยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบิดาผู้คัดค้านฟ้อง ค. และ บ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ส. เพิกถอนการโอนที่ดินของ ป. พี่ชาย ส. ทั้งผู้คัดค้านยังได้แจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้พิทักษ์ของ ส. ให้ดำเนินคดีแก่ ค. ในข้อหายักยอกทรัพย์ของ ส. การที่ผู้คัดค้านแจ้งความดำเนินคดีก็ดี การฟ้องคดีก็ดี ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้กระทำในฐานะส่วนตัว จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้คัดค้านมีคดีในศาลกับพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ส. และมิใช่ผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4734/2548
บันทึกด้านหลังของทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่ได้บันทึกถ้อยคำที่ผู้คัดค้านและผู้ตายให้ไว้ว่าคู่สมรสทั้งสอง ฝ่ายมีความสมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน โดยทั้งผู้คัดค้านและผู้ตายได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ทั้งบันทึกด้านหลังทะเบียนสมรสนายทะเบียนได้ทำในวันและเวลาเดียวกันต่อ เนื่องกับรายการจดทะเบียนสมรสด้านหน้า จึงถือว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ให้ถ้อยคำและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องตามกฎหมาย แล้ว ความบกพร่องที่ผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าทะเบียนสมรสในเรื่อง ลายมือชื่อผู้ร้องขอจดทะเบียนยังไม่เป็นเหตุถึงกับทำให้การจดทะเบียนสมรส นั้นไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1583 (เดิม) และ 1585 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 22 ที่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดานั้น มิได้บังคับว่า ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีลายมือชื่อของบิดามารดาให้ความยินยอม แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ซึ่งเป็นมารดาของเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. ได้ให้ความยินยอมในการที่ผู้ตายจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. เป็นบุตรบุญธรรม แม้ ม. จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนรับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายก็ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

เด็กหญิง อ. และเด็กชาย ส. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1586 (เดิม) หรือ 1598/28 (ใหม่) และถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (1) ตามมาตรา 1629 ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ (3) จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548
ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ใน ความปกครองของ ว. บิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดัง กล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็น อำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548
บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือ มารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย

บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้ เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296

โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดย ตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตร บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับ แต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตาม มาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มี อายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะ เลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยง ดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7636/2546
เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 บรรพ 5 และบรรพ 6 แล้ว แม้จะมีบทบัญญัติมาตรา 1586 บัญญัติว่า "บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ" และมาตรา 1627 บัญญัติไว้ด้วยว่า " บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้" ก็ตาม แต่บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียน เป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1585 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ผู้ตายรับผู้คัดค้านที่ 1 มาเลี้ยงอย่างบุตรบุญธรรมทั้งไปแจ้งต่อกำนันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2498 ว่า เป็นบุตร แม้จะกระทำก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แต่ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 ทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้น จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 การที่ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2 แจ้งการเกิดของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าเป็นบุตรต่อกำนันตำบลโคกปีบ จึงมิใช่เป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย อันจะถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็น ผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้ หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้ แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้ง สองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของ บุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวน เงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2545
โจทก์อุปการะเลี้ยงดูจำเลยมาตั้งแต่จำเลยอายุได้ 7 วัน ต่อมาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม แสดงว่าโจทก์เมตตารักใคร่จำเลยเสมือนลูก โจทก์ได้ให้การศึกษาที่ดีแก่จำเลยและอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตลอดมาจนจำเลยสมรสมีครอบครัวโจทก์ก็ยังมีความรักและความเมตตาต่อจำเลยตั้งใจจะยกทรัพย์สมบัติให้ แต่เมื่อจำเลยเติบใหญ่ขึ้นมากลับไม่มีความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้มีพระคุณ จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงอันเป็นเรื่องที่บุตรไม่พึงกระทำต่อมารดาทั้งจำเลยมักหาเรื่องระรานโจทก์ อยู่ตลอดเวลาและยังนำอาวุธปืนมาขู่จะฆ่าโจทก์ ครั้งสุดท้ายจำเลยด่าว่าโจทก์ต่อหน้าบุคคลอื่นอีก นับว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์แล้ว นอกจากนั้นจำเลยยังไม่มีความซื่อสัตย์ต่อโจทก์จะเอาที่ดินของโจทก์เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร เหยียดหยามโจทก์อันเป็นการทำชั่วอย่างร้ายแรง ไม่สมควรที่จะให้จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเลิกรับบุตรบุญธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6671/2545
หลังจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว โจทก์กับจำเลยไปอยู่กินกันที่บ้านมารดาโจทก์ ต่อมามารดาและพี่สาวโจทก์มีเรื่องทะเลาะกับจำเลย จำเลยกับบุตรจึงต้องออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นซึ่งโจทก์ก็ตามไปอยู่ด้วย กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ส่วนการที่โจทก์ไปอยู่กับจำเลย ได้ประมาณ 3 เดือน แล้วกลับออกมาอยู่กับมารดาโจทก์โดยอ้างว่ามีเรื่องทะเลาะกับจำเลยและจำเลย ไม่ยอมให้โจทก์เข้าบ้านนั้นก็เป็นเรื่องระหองระแหงกันระหว่างสามีภริยาซึ่ง ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแต่โจทก์กลับละทิ้งจำเลยและบุตรกลับมาอยู่บ้าน มารดาโจทก์โดยไม่สนใจนำพาจำเลยแม้ต่อมาจำเลยจะย้ายบ้านมาอยู่ข้างบ้านมารดา โจทก์ห่างออกไปเพียง 5 ถึง 6 ห้องเพื่อต้องการให้โจทก์มาอยู่กินด้วย แต่โจทก์ก็ไม่มา เมื่อจำเลยต้องย้ายที่อยู่ใหม่ห่างประมาณ 3 ป้ายรถประจำทาง แต่โจทก์ก็ไม่เคยมาหาหรือชักชวนจำเลยกับบุตรให้กลับไปอยู่ด้วยกัน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของสามีที่จะพึงมีต่อภริยาแสดงให้เห็นว่าโจทก์สิ้น ความรักความผูกพันต่อจำเลยแล้ว พฤติการณ์ของโจทก์จึงเป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลย มิใช่จำเลยละทิ้งร้างโจทก์

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เป็นหน้าที่ของบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หากไม่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษา บุตรผู้เยาว์ย่อมฟ้องเรียกเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามมาตรา 1598/38 และสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็จะสละมิได้ตามมาตรา 1598/41 ฉะนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้เยาว์ไม่ยอมรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากโจทก์ ผู้เป็นบิดาที่เสนอให้ ย่อมไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดา ถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่าย เดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมี เหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครอง ได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยว กับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้ อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มี ผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้ เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2542
การตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่งให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอน อำนาจปกครองเสียแล้ว เมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์มีมารดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครอง กรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ การจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ต้องเป็นที่แน่ชัดว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ไปแล้วทั้งสองคนแม้บิดาผู้เยาว์ได้ถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เยาว์ยังมีมารดาซึ่งทิ้งร้างไปอยู่ที่อื่นยังไม่แน่ว่ามีชีวิตอยู่ หรือตายไปแล้ว เหตุนี้จึงยังไม่อาจตั้งผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่แทนบิดามารดาได้ กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา กฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องตั้งผู้ปกครองให้กับผู้เยาว์เสมอไป การตั้งผู้ปกครองของผู้เยาว์เป็นคนละกรณีกับการจัดการทรัพย์สินแทนผู้เยาว์ หาใช่เหตุที่จะนำมาซึ่งการตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2541
แม้ ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้ง 8 แปลงในขณะที่ส.เป็นปกติอยู่ก็ตามแต่ในช่วงระยะเวลาที่ส.จะต้องไปโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นเป็นเวลาภายหลัง ที่ส. ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ ในความอนุบาลของผู้ร้องแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลประสงค์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายโดยดำเนินการ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 8 แปลง ขายให้ผู้จะซื้อผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง และ 1574(1) ประกอบมาตรา 1598/18 วรรคสอง สัญญาจะซื้อขายเป็นนิติกรรมที่ส. ผู้จะขายเป็นบุคคลวิกลจริตและได้กระทำในขณะที่จริตวิกลอยู่ทั้งจ.ผู้จะซื้อ ได้รู้แล้วด้วยว่า ส. เป็นคนวิกลจริตนิติกรรมสัญญาจะซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะ แต่ผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลซึ่งมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้นมิ ได้บอกล้างต่อผู้จะซื้อ ทั้งผู้ร้องยังได้แสดงเจตนาขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทน ส.โดยการไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดิน และยื่นคำร้องขอ ต่อศาลเพื่อขอทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขายแทนส. ซึ่งผู้รับมอบอำนาจของจ. ผู้จะซื้อได้มาแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะซื้อที่ดินทุกแปลง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่ สัญญาจะซื้อขายซึ่งเป็นโมฆียะกรรมโดยการแสดงเจตนาแก่ จ. ผู้จะซื้อซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 สัญญาจะซื้อขายจึงเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ตามมาตรา 177มีผลผูกพันให้ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4682/2541
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศ.เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล ผู้คัดค้านทั้งสามร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็น ผู้อนุบาล ศ. เนื่องจากคำร้องของผู้ร้องที่ขอเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. และคำร้องขอเป็นผู้อนุบาลของ ศ.เป็นความเท็จ และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตปิดบังข้อเท็จจริง และปิดบังพินัยกรรมของบิดาผู้ร้องที่ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ของนางสาวศรีสกุล ทั้งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ของ ศ.อยู่ก่อนที่ผู้ร้องจะขอเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. และคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ร้องคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ประกอบกับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านไม่ได้ขอถอนการเป็นผู้อนุบาลโดยอ้าง เหตุตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/8 เนื่องจากมาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติให้การแต่งตั้งผู้อนุบาลอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล และการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาลให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.นี้และมาตรา 1598/18 วรรคสอง บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับในกรณี ที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาลให้นำบท บัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้น การแต่งตั้งผู้อนุบาลจึงต้องอนุโลมตามการแต่งตั้งผู้ปกครองด้วย ดังนี้ เมื่อได้ความว่า หากปรากฏว่าบุคคลที่ศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาล เป็นผู้ต้องห้ามมิให้เป็นผู้อนุบาลตามมาตรา 1587 อยู่ในขณะที่ศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาล โดยปรากฏแก่ศาลเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้อนุบาลนั้นเสียอันเป็นกรณีร้องขอให้เพิก ถอนคำสั่งตั้งผู้อนุบาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมตามมาตรา1588 ภายหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อล่วงเลยเวลาที่จะยื่นคำคัดค้านแล้ว ทั้งไม่ใช่กรณีที่ขอถอนผู้อนุบาลตามมาตรา 1598/8ผู้คัดค้านจึงยื่นคำคัดค้านได้

ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามมีข้อพิพาทกันอยู่แล้ว แต่คดียังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาชั้น อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิทักษ์ ศ.โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำ สั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้พิทักษ์โดยไม่ชอบนั้น ผู้ร้องยอมรับอยู่ว่า คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2537 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. ครั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านเพราะยื่นล่วงเลยกำหนดเวลา ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนใหม่ และมีคำสั่งไปตามรูปคดี ต่อมาศาลชั้นต้นทำการไต่สวนใหม่ และในวันที่ 29 มกราคม 2539มีคำพิพากษาตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ของ ศ. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น วันที่ 14 มกราคม 2540 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของผู้ร้องและคดีถึงที่สุด ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลนางสาว ศรีสกุลจึงไม่ใช่กรณีร้องซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้อง หย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจด ทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไป หลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยน แปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของ โจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่า เลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่ง ที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอม ความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลา ที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้วดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชายส. ให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ร้อยตรีบ. แล้วผู้ร้องกับอ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายส. ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชายส.เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. และแม้ภายหลังร้อยตรีบ. ถึงแก่กรรมก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ เด็กชายส. ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. อยู่ผู้ร้องกับอ. หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะ กลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1598/37เท่านั้นเมื่อเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับอ. ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชายส. กลับคืนมาเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้อง ขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. ได้เมื่อผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2492
นับแต่วันที่เด็กจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นมารดาของเด็กย่อมหมดอำนาจปกครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586

เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตายไปแล้วก็ดี เด็กก็ยังเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอยู่และอยู่ในสกุลของผู้ตาย

มารดาของเด็กจะได้อำนาจปกครองเด็กอันเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นคืนมา ก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1588,1589 แต่การตายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นหาได้ทำให้การรับบุตรบุญธรรมเลิกกันตามบท มาตราทั้งสองดังกล่าวไม่ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของเด็กมาฟ้องเรียกคืนโดยอ้างถึงความมรณะของผู้รับบุตร บุญธรรมนั้น คดีของโจทก์จึงชอบที่จะยกฟ้องเสีย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/92)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2539
ผู้ร้องที่1และที่3เป็นบิดาและย่าของผู้เยาว์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่ง ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามเป็นการชั่วคราวซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1585และ1586กำหนดให้บุคคลซึ่งกฎหมายระบุไว้อาจยื่นคำร้องขอให้ ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองให้ผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองแต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนที่ผู้ร้องที่ 1กับด. จดทะเบียนหย่าขาดกันอำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ที่ผู้ร้องที่1กับด. ตามมาตรา1566เมื่อคนทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดกันมาตรา1520วรรคหนึ่งกฎหมาย เปิดโอกาสให้ผู้ร้องที่1และด. ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองถ้ามิได้ตกลงกันหรือ ตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดแต่ตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่าผู้ร้องที่ 1กับด. เพียงตกลงกันให้ด. มีภาระหน้าที่ปกครองอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้นไม่มุ่งหมาย ถึงการใช้อำนาจปกครองและทั้งไม่มีการร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจการ ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามคงอยู่กับผู้ร้องที่1และด. ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้เยาว์ทั้งสามและเมื่อด. ตายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1566(1)ก็บัญญัติเป็นพิเศษอีกว่าให้ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตกอยู่แก่ผู้ร้องที่1โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ร้องที่ 1ซึ่งเป็นบิดามีกิริยาความประพฤติไม่เหมาะสมเพราะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ ประหารชีวิตฐานฆ่าด. และพยายามฆ่าส. โดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ตราบใดที่ไม่มีการเพิกถอนอำนาจการปกครองเสียทั้ง หมดหรือบางส่วนตามที่มาตรา1582บัญญัติไว้ผู้ร้องที่1ยังคงมีอำนาจการปกครอง บุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กรณีจึงไม่อาจจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1585ขึ้นอีกได้เนื่องจากผู้ร้องที่1ซึ่ง เป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสามยังมีชีวิตอยู่ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ร้องที่1และ ที่3จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2539
เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลย จำเลยในฐานะบิดาจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้เรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรจากจำเลยแทนบุตรผู้เยาว์โดยคิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำ พิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยเพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538
การที่ศาลมีคำสั่งตั้ง ย. และผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ พ.คนไร้ความสามารถนั้นเมื่อต่อมา ย. ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมเป็นเหตุทำให้การเป็นผู้อนุบาลสิ้น สุดลง ย.ไม่เป็นผู้อนุบาลอีกต่อไปผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอในฐานะผู้อนุบาลของ พ. ได้โดยลำพังคนเดียว ผู้จัดการมรดกถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ จัดการมรดกทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการเมื่อการจัดการแบ่งมรดกยังมี ข้อขัดข้องผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของพ. คนไร้ความสามารถซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีสิทธิขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2538
โจทก์เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของ ผ. พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์จำเลยที่2บิดาและผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลย ที่1 บุตรบุญธรรมของ ผ. ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกดังนี้ย่อมถือได้ว่าสิทธิ ในการรับมรดกของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึง มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าการรับบุตรบุญธรรมระหว่าง ผ. กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่าง เดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและในวรรคที่2ที่บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ2หมวด2แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา1561ถึงมาตรา1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่าให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและ หน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ ได้บังคับว่าจะต้องนำทุนมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา 1562ที่บัญญัติว่าผู้ใดจะฟังบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้น เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา29เดิม(มาตรา28ที่แก้ไขใหม่)ให้ความหมายของ คำว่าผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดาปู่ย่าตายายทวดและผู้สืบสายโลหิตกัน โดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจกท์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ ใช่บิดาโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537
กรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องตั้งคู่สมรสเป็น ผู้อนุบาลก่อนเพียงคนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การจะตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน จะไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 การจัดการสินสมรสของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/16 คือถ้าเป็นการจัดการตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้ อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2537
เมื่อ พ. รับโจทก์ที่6เป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ส. ซึ่งเป็นบิดาโดยกำเนิดย่อมหมดอำนาจปกครองโจทก์ที่ 6 นับแต่วันเวลาที่โจทก์ที่ 6 เป็นบุตรบุญธรรมของ พ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 และแม้ว่าต่อมา พ. จะถึงแก่กรรมอันเป็นเหตุให้ความเป็นผู้ปกครองของ พ. สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/7 เดิม การรับบุตรบุญธรรมก็หาได้สิ้นสุดลงด้วยไม่โดยนิตินัยโจทก์ที่ 6 ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของ พ.อยู่ บิดาผู้ให้กำเนิดเดิมจึงไม่มีอำนาจปกครองตามกฎหมาย กรณีไม่ใช่เป็นการเลิกรับบุตรบุญธรรมอันจะเป็นเหตุให้บุตรบุญธรรมกลับคืนสู่ ฐานะอย่างสมบูรณ์ในครอบครัวเดิมของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/37 เดิม ส. จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4990/2537
กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา1566(6) เมื่อเด็กหญิงว.ผู้เยาว์มีมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว การที่จะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น มาตรา 1585 วรรคหนึ่งให้ตั้งได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูก ถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว แต่เมื่อเด็กหญิงว. ยังมีจำเลยซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่โดยยังไม่ได้ถูกถอนอำนาจ ปกครองกรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้อีก ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองร่วมกับจำเลยตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537
ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2537
ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยภริยาผู้ตายไม่ได้ให้ความยินยอม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ตายกับ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 1598/28 โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นทายาทที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์จำเลยได้มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวและร่วมประเวณีกันหลายครั้งในระยะเวลา ที่โจทก์สามารถตั้งครรภ์ได้และทำให้โจทก์ตั้งครรภ์ในเวลาต่อมาและจำเลยเขียน จดหมายถึงโจทก์ยอมรับว่าเด็กหญิงที่คลอดจากโจทก์คือเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอ บังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้วส่วน จำเลยและโจทก์ร่วมประเวณีกันเมื่อใดที่ไหนที่เป็นเหตุให้โจทก์ตั้งครรภ์และ จำเลยยอมรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์ หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำ พิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557(3) ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่ วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนดคือเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2536
เมื่อบิดามารดาหย่าขาดจากกันโดยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ดังนั้น บิดาย่อมไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520,1566(6) อำนาจปกครองจึงตกแก่มารดาแต่ผู้เดียว มารดาจึงมีอำนาจให้ความยินยอมในการที่บุคคลภายนอกจะรับบุตรผู้เยาว์เป็นบุตร บุญธรรมได้เพียงลำพังโดยไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนบิดาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2534
สามีผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายให้ความยินยอมและลงชื่อท้ายบันทึกทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมว่าเป็นคู่ สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม สามีผู้ตายแต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้ตายได้รับเป็นมารดาผู้ร้องด้วย ก็ไม่เป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เมื่อผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621 - 2622/2531
การที่ ป. กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อป. และผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมในวันเดียวกัน โดย ป. จดทะเบียนก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของ ป. ก่อนแล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/26การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทของผู้ตายไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2530
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่ผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาผู้เป็นบุตรบุญธรรมด้วยดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เป็นบุตรบุญธรรมมิได้ให้ความยินยอมการจดทะเบียนรับบุตร บุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์

แม้ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเอกสารมหาชนก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น จึงนำพยานมาสืบหักล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2526
เดิมศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ดังนั้นขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามผู้เยาว์จึงมีผู้ ปกครองอยู่แล้วซึ่งศาลจะตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์อีกไม่ได้ ทั้งกรณีของผู้ร้องก็มิใช่เป็นเรื่องการตั้งผู้ปกครองหลายคน เพราะขอตั้งคนละคราวกับผู้คัดค้าน คำขอของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590 การที่ศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2524
การที่จำเลยเรียกโจทก์ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมว่า อ้าย นั้นเป็นการเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง และการไล่โจทก์ออกจากบ้านก็เป็นการแสดงว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์จึง มีเหตุให้ฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1598/33(2)(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2523
ข้อตกลงตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าที่ว่า โจทก์รับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและธิดาทั้งสามเป็นผู้ส่งเสียให้การศึกษาเอง โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดูแต่อย่างใดทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นอันบังคับได้จนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นเรื่องสละสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นโมฆะ โจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรที่ โจทก์ได้จ่ายไปหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2522
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญายอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันและจำเลยยอมจ่ายค่าเลี้ยง ดูให้โจทก์ 50,000 บาท ปรากฏในบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพ บันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นทั้งสัญญาหย่าและสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เมื่อหย่ากันแล้ว และคู่กรณีอาจตกลงกันให้ชำระค่าเลี้ยงชีพครั้งเดียว เป็นจำนวนเงินตามที่ตกลงกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพ 50,000 บาทให้โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ทำไว้นั้น

สัญญาที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 50,000 บาทนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพของโจทก์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ซึ่งหมายถึงเงินเลี้ยงชีพหลังจากที่ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแล้ว จึงไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างเป็นสามีภรรยากันตามมาตรา 1469 จำเลยไม่มีสิทธิอ้างมาตรานั้นมาเป็นเหตุบอกล้างสัญญานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143 - 144/2521
ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำ ละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน เพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันทำละเมิดแล้ว

เมื่อเหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถทั้งสองฝ่าย และพฤติการณ์แห่งละเมิดมีความร้ายแรงพอๆ กันความเสียหายย่อมเป็นพับกันไป

ผู้ตายเนื่องจากการทำละเมิดเป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ โดยภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยจะยกเอาข้อที่ภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายมายกเป็นข้อปัดความรับ ผิดของจำเลยหาได้ไม่และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพผู้ตายก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องได้

ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะบิดามารดาตามกฎหมายการที่บุตรโจทก์ตาย ถือได้ว่าโจทก์ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว มิต้องคำนึงว่าโจทก์ผู้เป็นบิดามารดาจะเป็นผู้มีทรัพย์สินมากน้อยเพียงใดยัง สามารถเลี้ยงตนเองได้หรือไม่ โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่ต้องขาดไร้อุปการะนั้น และค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้นี้เป็นหนี้ซึ่งเกิด จากมูลละเมิดอันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อศาลฎีกากำหนดให้ลดน้อยลงมาอีก ย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาขึ้นมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2398/2517
คำว่า 'คู่สมรส' ของผู้รับบุตรบุญธรรมที่จะต้องให้ความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584 นั้นหมายถึงสามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเป็นภรรยาที่ไม่ชอบด้วย กฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมย่อมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมาย

โจทก์ ฟ้อง ว. ผู้เยาว์เป็นจำเลย แต่ใส่ไว้ในช่องคู่ความว่า 'เด็กชาย ว. โดย ก. บิดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลย' นั้น หมายความว่า ก. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 เท่านั้นเองหาใช่โจทก์ฟ้อง ก. เป็นจำเลยไม่

เมื่อการจดทะเบียนรับจำเลยเป็น บุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ไม่มีผลตามกฎหมายแล้วบิดาโดยกำเนิดของจำเลยยังเป็นผู้ ใช้อำนาจปกครองจำเลยอยู่ และอยู่ในฐานะที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยผู้เยาว์ได้

การที่จำเลยอ้างสิทธิเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายซึ่งเป็นสามีโจทก์ และไปขอรับบำเหน็จตกทอดของผู้ตายด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คดีโจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ เพราะฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584ไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1590 ที่จะต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปีแต่มิได้มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2506
การตกลงยอมความกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกันเองโดยศาลมิได้เกี่ยวข้องด้วย นั้น หากต่อมาปรากฏว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1596 ได้

ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลจะสั่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1596 นั้น ต้องเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จะพึงต้องชำระในอนาคต จะสั่งย้อนไปเกี่ยวกับเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ค้างชำระอยู่ก่อนแล้วหาได้ ไม่

การที่บุคคลจะไม่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1595 นั้น มุ่งหมายสำหรับงวดกาลข้างหน้าเท่านั้น ส่วนการอุปการเลี้ยงดูที่ค้างเกี่ยวอยู่ในครั้งอดีตนั้น ยังคงตกเป็นภาระในอันที่จะต้องรับผิดต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง