สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร

 มาตรา ๑๕๖๑  บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา

ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา


มาตรา ๑๕๖๒  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้


มาตรา ๑๕๖๓  บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา


มาตรา ๑๕๖๔  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้


มาตรา ๑๕๖๕ การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา ๑๕๖๒ แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้


มาตรา ๑๕๖๖  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา

อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) มารดาหรือบิดาตาย

(๒) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

(๓) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(๔) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(๕) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

(๖) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้


มาตรา ๑๕๖๗  ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ

(๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร

(๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

(๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

(๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย


มาตรา ๑๕๖๘  เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา


มาตรา ๑๕๖๙  ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี


มาตรา ๑๕๖๙/๑  ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาลให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

ในกรณีที่บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๕๗๐  คำบอกกล่าวที่ผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๖๖ หรือมาตรา ๑๕๖๘ แจ้งไปหรือรับแจ้งมา ให้ถือว่าเป็นคำบอกกล่าวที่บุตรได้แจ้งไปหรือรับแจ้งมา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้


แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก


เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5


จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3


ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562

จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561

ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561

ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560

การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2561

เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เยาว์ อันมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่โจทก์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโจทก์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 (12) เมื่อได้ความว่า ฉ. ยายของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายของโจทก์โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะนั้นโจทก์มีจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่ ฉ. ซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามลำพัง จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2561

ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน... มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่..." ย่อมหมายความว่า การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย คดีนี้การดำเนินการให้ผู้คัดค้านตั้งครรภ์แทนและ ค. เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงเป็นการไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมผูกพันคู่สัญญาและใช้บังคับได้ แม้ตามกฎหมายดังกล่าว ระบุให้เฉพาะสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน และผู้ร้องกับ ม. มิอาจเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ก็ตาม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของอสุจิที่เข้าผสมกับไข่ของหญิงที่บริจาคจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วนำไปฝังในโพรงมดลูกของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. ในฐานะเป็นบิดาซึ่งผู้คัดค้านแถลงยอมรับในข้อนี้ และไม่คัดค้านหากศาลจะมีคำสั่งให้ ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องด้วยแล้ว จึงเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้สิทธิของผู้ร้องไว้โดยตรง ต้องอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 56 มาวินิจฉัยคดีนี้อย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง


ผู้คัดค้านไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. แต่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ค. จึงมีสถานะเป็นมารดาของ ค. เท่านั้น เมื่อกรณีผู้ร้องกับ ค. อยู่ในบังคับของบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 29 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคสอง (5) สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวได้ เพื่อความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็ก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2560

โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,720,000 บาท จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว เพราะมิใช่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จำเลยกลับอุทธรณ์ว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 1547 แทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ประเด็นนี้เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยมิได้โต้แย้งโดยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ประเด็นอายุความจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้อายุความในคดีแพ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยต้องยกต่อสู้เป็นประเด็นตั้งแต่ในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ยกต่อสู้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงชอบแล้ว


เดิม ป.พ.พ. มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล... (3) นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2551 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด บทบัญญัติดังกล่าวมีผลให้เด็กมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูได้นับแต่วันคลอดและสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรวมกันมาเป็นคดีเดียวกับการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้ทีเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขเพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่โจทก์เกิดจนถึงวันฟ้องจึงชอบแล้ว หาใช่นับแต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยฎีกาไม่


แม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1564 จะกำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่ากันก็ตาม แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าบิดามารดาต้องให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรเป็นจำนวนเท่า ๆ กันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาปรับแก้ให้เท่ากัน โดยลดค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดให้รวม 1,370,000 บาท เหลือ 685,000 บาท เพราะการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 กำหนดให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับ และพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งมาตรา 1598/39 ศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นหรือลดลงในภายหลังก็ได้ แม้โจทก์มิได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในปัญหาข้อนี้ แต่การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นควร แม้คู่ความมิได้ขอ และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 1,370,000 บาท จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2560

การที่โจทก์ทั้งสองไม่มาดูแลเอาใจใส่ผู้เยาว์ ไม่ช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดู และไม่มาเยี่ยมผู้เยาว์ตามสมควร ทำให้ผู้เยาว์แม้รู้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาแต่ไม่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์อบอุ่นใกล้ชิด ตรงกันข้ามกลับหวาดกลัวที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับโจทก์ทั้งสอง ยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ที่ 2 ใช้กำลังหักหาญแย่งชิงตัวผู้เยาว์ ทำให้ผู้เยาว์ตกใจหวาดกลัว เครียดและวิตกหากจะต้องไปอยู่กับโจทก์ทั้งสอง อาการผิดปกติทางจิตใจแสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรม มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคทางจิตเวช จำเป็นต้องจัดการแก้ไขให้สภาพการใช้ชีวิตของผู้เยาว์กลับสู่สภาวะปกติ โดยให้ผู้เยาว์ได้อยู่อาศัยในที่ที่เหมาะสมการกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้อำนาจปกครองเกี่ยวกับตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ แม้ญาติของผู้เยาว์หรืออัยการไม่ได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบางส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความผาสุกของผู้เยาว์แล้ว จึงเห็นสมควรให้ถอนอำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (1) และตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่อาศัยของผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560

การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10289/2559

หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นช่วงระยะเวลาจนบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปีนั้น ไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม จึงได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลและคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับไม่ชอบ และที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามานั้นจึงไม่ชอบเช่นกัน เห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559

ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2559

โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ว. โจทก์จึงมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร และเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้ ตาม ป.พ.พ. 1567 (1) และ (4) ขณะที่จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่ที่บ้านบิดามารดาจำเลยที่สุราษฎร์ธานี ผู้เยาว์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จำเลยจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองบุตร และต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยจะได้จดทะเบียนรับรองผู้เยาว์เป็นบุตรอันทำให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ก็ตาม ก็หากระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ถูกต้องแห่งอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกบุตรคืนจากจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13044/2558

โจทก์ยื่นฟ้องในคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. กลับคืนเข้าสู่กองมรดกจึงเป็นกรณีการฟ้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หาใช่โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อติดตามเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนเข้าสู่กองมรดกอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต


การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่จำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้โอนกลับคืนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดำเนินการโอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย. เพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย มิใช่เป็นการฟ้องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกจากจำเลยทั้งสาม กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาคืนทรัพย์สิน จะนำอายุความมรดกมาใช้บังคับไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10769/2558

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองฝ่ายเดียว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ไม่อาจฟ้องหย่าได้ จำเลยยังประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแย้งว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ขอให้บุตรทั้งสองอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ให้จำเลยมีอำนาจปกครอง ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามฟ้องแย้งจำเลยว่า ไม่ประสงค์หย่ากับโจทก์และยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะบิดามารดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับโจทก์หรือจำเลยตามมาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกันแม้ศาลจะมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวได้ หาใช่ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ขอให้โจทก์ปฏิบัติตามฟ้องแย้งได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1


จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558

แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558

แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39

     

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2668/2556

แม้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา" แต่ก็มีข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (5) ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจสั่งให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวได้ หากผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของผู้เยาว์เป็นสำคัญ โดยไม่ถือว่าเป็นการสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง

           

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16040/2555

ป.พ.พ. มาตรา 1598/41 กำหนดถึงสิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาว่าจะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี สิทธิหน้าที่เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเช่นกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วสภาพบุคคลของโจทก์ก็หมดสิ้นไป ภาระหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นับแต่มีคำพิพากษาจนบุตรบรรลุนิติภาวะจึงยุติไปด้วย แม้โจทก์จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทไว้ก็ตาม หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 กองมรดกของโจทก์ไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้แก่จำเลยอีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554

การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทุกประเด็นแต่ไม่ได้มีคำพิพากษาในคำขอเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องให้ครบทุกข้อ โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์


การบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับพินัยกรรมทั้งสองฉบับว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 และไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงอย่างไรพินัยกรรมฉบับนี้ก็ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยก็เข้าใจสภาพแห่งข้อหาไม่ได้หลงต่อสู้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม


การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562


ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 โดยผู้ตายสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 กรณีมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1710 จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความตามมาตรา 1710


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์


ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้


ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2551

ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิด กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วยการที่จำเลยจ่ายเงินไปเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายเงินค่าซ่อมรถก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้น ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นปู่ของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ท. และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกับกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้อง หากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหา ก็เป็นเงินของบริษัท มิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1562


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2549

ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 195 ต. เขาทราย อ. ทับคล้อ จ. พิจิตร โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ทำเกินขอบอำนาจโดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จำนองต่อจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการฟ้องบุพการีต้องห้ามตาม ป.พ.พ. 1562 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549

คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548

 บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย และบทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522


การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550

ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้..." อันเป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัท จำเลยทั้งสามอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท ร่วมกันจงใจทำหลักฐานอันเป็นเท็จว่าบริษัทเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่บริษัท โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวร่วมกันกรรมการอีก 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชดใช้เงินให้แก่บริษัท มิได้ให้ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัว ทั้งจำนวนเงินตามฟ้องหากรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาก็เป็นเงินของ บริษัทมิใช่เงินของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพพูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. บิดาโจทก์ ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความ สามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้ ท. เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550

แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้ เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้าน ละทิ้งไม่ดูแล ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ใน ระหว่างศึกษาเล่าเรียน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดจากกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้ง สองอยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่ บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็น ผู้ใช้อำนาจการปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินขอ


แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่าโจทก์ในฐานะสามี ไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยา เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้วจะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2550

ขณะผู้ร้องอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้ผู้ร้องจะยังไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย แต่การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรจะมีผลให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมาย แม้จะเป็นเรื่องหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้คัดค้านก็มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เข้ามาในคดีที่ผู้ ร้องขอจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรได้เสียทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน


คดีนี้ผู้ร้องขอจดทะเบียนเด็กหญิง อ. ผู้เยาว์เป็นบุตรของผู้ร้องโดยผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของผู้ร้องจริง ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ผู้เยาว์อายุประมาณ 3 ขวบเศษ อยู่ในวัยไร้เดียงสาไม่อาจให้ความยินยอมได้ การที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรต่อนายทะเบียนก่อน แต่ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลนั้นกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสาม ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรจึงมิชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2549

ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 195 ต. เขาทราย อ. ทับคล้อ จ. พิจิตร โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ทำเกินขอบอำนาจโดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จำนองต่อจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการฟ้องบุพการีต้องห้ามตาม ป.พ.พ. 1562 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549

คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดา ซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562


แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิ ที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. และโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมีสิทธิที่จะเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดี ต่อไปได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548

ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ใน ความปกครองของ ว. บิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดัง กล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็น อำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548

บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือ มารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย


บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296


โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดย ตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตร บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับ แต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตาม มาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522


การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มี อายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548

ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้ อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอก กฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดา ได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตน ถึงแก่ความตายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2542

ตามมาตรา 1566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ในกรณีมารดาหรือบิดาตายอำนาจปกครองจึงอยู่กับบิดาหรือมารดา และมีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่ง กักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1567(4) อย่างไรก็ตาม มาตรา 1582 กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองใช้อำนาจปกครอง เกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ศาลอาจถอน อำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ดังนั้น เมื่อ ส. ซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ร. ผู้เยาว์ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองจึงตกอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดา เว้นแต่โจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้าย และถูกศาลถอนอำนาจปกครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นย่าของเด็กหญิง ร.ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวเด็กหญิง ร.โดยมิชอบและประพฤติชั่วร้าย แต่ที่มิได้นำเด็กหญิง ร.มาเบิกความยืนยัน ก็เพราะเด็กหญิง ร. มีความกลัวมารดานั้น จะเห็นได้ว่า โดยปกติธรรมชาติของมารดาย่อมมีความรักบุตรและปรารถนาดีต่อบุตร หากจำเลยประสงค์ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์เป็นมารดาที่ประพฤติผิดธรรมชาติปราศจากความรักความเมตตาต่อบุตร และประพฤติตนชั่วร้าย พยานหลักฐานของจำเลยก็ต้องมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อจำเลยไม่มีผู้เยาว์มาเบิกความยืนยันต่อศาลถึงสภาพจิตใจที่เป็นอยู่ จึงไม่อาจอนุมานตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าที่ผู้เยาว์มีอาการผิดปกติก็เพราะโจทก์ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบหรือประพฤติชั่วร้าย อันจะเป็นสาเหตุให้ศาลถอนอำนาจปกครองของโจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยจะมีฐานะดีมีความเมตตาต่อผู้เยาว์ และสามารถเลี้ยงดู ผู้เยาว์ได้เป็นอย่างดีสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะปกครองเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตราบใดที่อำนาจปกครองของโจทก์ซึ่ง เป็น มารดายังมิได้ถูกเพิกถอน จำเลยจึงต้องคืนตัวเด็กหญิง ร. ให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2542

ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของบิดามารดาตามกฎหมายที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยมิได้ขอแบ่งสินสมรสจากโจทก์มาเป็นข้ออ้างว่า ไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ เมื่อโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์คนละ 10,000 บาท ในแต่ละภาคเรียน และตามความเป็นจริงนอกจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาแล้วยังจะต้องคำนึงถึงค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ในการครองชีพและการดำรงอยู่ในสังคมตามวัยและความเจริญเติบโตของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไปในอนาคตจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะประกอบด้วยตามสมควร โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำมีเงินเดือน เดือนละ 6,590 บาท ในขณะที่จำเลยรับราชการมีเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท และจะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในแต่ละปี และยังมีรายได้พิเศษส่วนหนึ่งจากการเล่นดนตรี จึงมีรายได้มากกว่าโจทก์แม้จำเลยจะอ้างว่าตนต้องผ่อนชำระหนี้ส่วนหนึ่งนั้น ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยและเป็นเหตุเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างได้ การที่ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ชั้นมัธยมศึกษาคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษา คนละ 4,000 บาทต่อเดือน จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะจึงเหมาะสมแก่สภาพและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2541

บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(4) หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งได้แก่บิดา มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร จำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์จำเลยจึงไม่เป็นผู้ใช้อำนาจ ปกครองของบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1567(1)ถึง (4) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์ไว้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เป็นมารดาของผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2541

แม้โจทก์เป็นบุตร ท.และจำต้องอุปการะเลี้ยงดู ท.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1563 ก็ตาม แต่เมื่อ ท.ป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้โจทก์เป็นผู้ให้การอุปการะ เลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือ ท.ตลอดมาจนกระทั่ง ท.ถึงแก่กรรมเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะ ท.ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 (2) ด้วย


โจทก์ฟ้องบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยให้ชำระเงินบำเหน็จตกทอดตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 โดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นผู้อุปการะ ท.โดยโจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นบุตร ท.เมื่อโจทก์เป็นผู้อุปการะ ท.ผู้ตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดตามมาตรา 49


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7043/2540

โจทก์ให้ถ้อยคำต่อจำเลยในฐานะโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ภ.อายุ 4 ปีเศษ ดังนี้ การแจ้งของโจทก์จึงเป็นการแจ้งแทนบุตรผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1570 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลังคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาส ที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่าย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนดังนี้เหตุรถ โดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1


โจทก์ที่ 1 ทำศพผู้ตายทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 76,692 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสาร ได้รับเงินเดือน 8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นการสมควร


ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง นั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปีจึงเป็นระยะเวลาที่สมควร


ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน 20 ปีเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม จะต้องเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้ อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมไม่ อีกทั้งในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายนั้น ป.พ.พ.มาตรา 1564 บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรใน ระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 มิใช่ผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม


สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตาม ป.พ.พ.มาตรา 443 วรรคสาม บัญญัติไว้กล่าวคือเท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและ หาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพ โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุไปจน กระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ หาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปี นับจากวันเกิดเหตุไม่


ตาม ป.พ.พ.มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด และจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระ แก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด


ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 158 ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่ บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้น ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดเสียค่าฤชา ธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะ คดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้


หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2538

ค่าขาดแรงงานนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ประกอบมาตรา 1567(1),(3) หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอัน ใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความ ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตาย ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดา มารดาที่ต้องขาดแรงงานอันนั้นด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2538

คำว่า "ผู้อยู่ในความปกครอง" ตาม ป.อ. มาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด จำเลยมิใช่บิดาของผู้เสียหาย ผู้เสียหายเป็นเพียงบุตรติดนาง ป.มา แล้วนาง ป.อยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย อำนาจปกครองของผู้เสียหายจึงตกแก่นาง ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1568 จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 285


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871 - 4874/2538

ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะและค่าที่ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์นั้นจะต้องแยก ชำระให้แก่โจทก์แต่ละคนตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดปรากฎว่าโจทก์ที่2ถึงที่ 5ที่7และที่8ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่าที่ต้อง ทุพพลภาพตลอดชีวิตเป็นจำนวนคนละไม่เกินสองแสนบาทคดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาใน ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งที่จำเลย ที่1ถึงที่3ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดให้จ่ายค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่2ถึง ที่5ที่7และค่าที่ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิตให้โจทก์ที่8มากเกินสมควรเป็นการไม่ ชอบนั้นเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจึง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนสำหรับการขาดไร้อุปการะเพราะเหตุบิดามารดาบุตร หรือสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยการทำละเมิดของบุคคลภายนอก ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ชอบที่จะได้รับค่าอุปการะทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยผล แห่งกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา443วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา1461,1563และ1564ไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับผู้ ขาดไร้อุปการะจะอุปการะกันจริงหรือไม่และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ผู้ขาด ไร้อุปการะจะมีฐานะดีหรือยากจนก็ไม่ใช่ข้อสำคัญสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสิน ไหมทดแทนสำหรับการขาดไร้อุปการะคงมีอยู่เสมอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2538

สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิที่มีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา443วรรคสามโดยไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงว่ามีการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู จริงหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2537

ผู้เสียหายเป็นบุตรติดของ จ. จ. มาอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยอำนาจการปกครองผู้เสียหายจึงตกแก่ จ.ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสามเท่านั้น ไม่ต้องด้วยมาตรา 285 อันเป็นบทบัญญัติที่ให้วางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5183/2537

แม้ก่อนตายผู้ตายจะมีรายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัวโจทก์ก็ตาม แต่ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 บัญญัติว่าผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ และมาตรา 49(2)บัญญัติว่า ผู้ขอใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า25 ปี บริบูรณ์ ผู้ตายจึงต้องห้ามมิให้ขับรถยนต์สองแถวรับจ้างซึ่งจัดเป็นรถยนต์สาธารณะตาม กฎหมายดังกล่าว การขับรถยนต์สองแถวรับจ้างของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามสมควรแก่ ความสามารถและฐานานุรูปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(3)โจทก์ผู้เป็นมารดาไม่มีสิทธิใช้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรให้ทำงานดังกล่าว ฉะนั้น รายได้จากการขับรถยนต์สองแถวรับจ้างจึงมิใช่รายได้ที่เกิดจากการที่ผู้ตายมี ความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภาย นอกในครัวเรือนดังความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 ซึ่งให้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 นั้น เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่บุตร กล่าวคือให้บุตร มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาและในกรณีที่ไม่ปรากฏว่าใคร เป็นบิดา บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดาได้ มิได้ บังคับว่าบุตรจะต้องใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดาเมื่อกฎหมายมิได้บังคับไว้ บุตรก็ชอบที่จะใช้ชื่อสกุลอื่นได้ แม้จะปรากฏว่ามีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก็ตาม การที่ ศ. ผู้เป็นบิดาและโจทก์ผู้เป็นมารดายินยอมพร้อมใจกันให้บุตรใช้ชื่อสกุลของ มารดา หาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรค 2 ไม่