การประชุมใหญ่

มาตรา ๑๑๗๑ ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัท และต่อนั้นไปก็ให้มีการประชุมเช่นนี้ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน
การประชุมเช่นนี้ เรียกว่าประชุมสามัญ
การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามีนอกจากนี้ เรียกว่าประชุมวิสามัญ

มาตรา ๑๑๗๒ กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร
ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจำนวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันที เพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบการที่ขาดทุนนั้น

มาตรา ๑๑๗๓ การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้นในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวน หุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อกันทำ หนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

มาตรา ๑๑๗๔ เมื่อผู้ถือหุ้นยื่นคำร้องขอให้เรียกประชุมวิสามัญดั่งได้กล่าวมาในมาตราก่อนนี้แล้ว ให้กรรมการเรียกประชุมโดยพลัน
ถ้าและกรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้องไซร้ ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ รวมกันได้จำนวนดั่งบังคับไว้นั้นจะเรียกประชุมเองก็ได้

มาตรา ๑๑๗๕ คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความ ที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย

มาตรา ๑๑๗๖ ผู้ถือหุ้นทั่วทุกคนมีสิทธิจะเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด

มาตรา ๑๑๗๗ วิธีดั่งบัญญัติไว้ในมาตราต่อ ๆ ไปนี้ ท่านให้ใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่ เว้นแต่จะมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นข้อความขัดกัน

มาตรา ๑๑๗๘ ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่

มาตรา ๑๑๗๙ การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดนั้นไปแล้วถึงชั่วโมงหนึ่ง จำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุมดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๗๘ นั้นไซร้ หากว่าการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ท่านให้เลิกประชุม
ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอไซร้ ท่านให้เรียกนัดใหม่อีกคราวหนึ่งภายในสิบสี่วัน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ท่านไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม

มาตรา ๑๑๘๐ ในการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ทุก ๆ ครั้งให้ผู้เป็นประธานในสภากรรมการนั่งเป็นประธาน
ถ้าประธานกรรมการเช่นว่านี้ไม่มีตัวก็ดี หรือไม่มาเข้าประชุมจนล่วงเวลานัดไปแล้วสิบห้านาทีก็ดี ให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในจำนวนซึ่งมาประชุมขึ้นนั่งเป็นประธาน

มาตรา ๑๑๘๑ ผู้นั่งเป็นประธานจะเลื่อนการประชุมใหญ่ใด ๆ ไปเวลาอื่นโดยความยินยอมของที่ประชุมก็ได้ แต่ในที่ประชุมซึ่งได้เลื่อนมานั้นท่านมิให้ปรึกษากิจการอันใดนอกไปจากที่ค้างมาแต่วันประชุมก่อน

มาตรา ๑๑๘๒ ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน แต่ในการลงคะแนนลับ ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนนเสียง เสียงหนึ่งต่อหุ้นหนึ่งที่ตนถือ

มาตรา ๑๑๘๓ ถ้ามีข้อบังคับของบริษัทวางเป็นกำหนดไว้ว่า ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นแต่จำนวนเท่าใดขึ้นไปจึงให้ออกเสียงเป็นคะแนนได้ไซร้ ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งไม่มีหุ้นถึงจำนวนเท่านั้น ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารวมกันให้ได้จำนวนหุ้นดังกล่าว แล้วตั้งคนหนึ่งในพวกของตนให้เป็นผู้รับฉันทะออกเสียงแทนในการประชุมใหญ่ใด ๆ ได้

มาตรา ๑๑๘๔ ผู้ถือหุ้นคนใดยังมิได้ชำระเงินค่าหุ้นซึ่งบริษัทได้เรียกเอาแต่ตนให้เสร็จสิ้น ท่านว่าผู้ถือหุ้นคนนั้นไม่มีสิทธิออกเสียงเป็นคะแนน

มาตรา ๑๑๘๕ ผู้ถือหุ้นคนใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติ ท่านห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนนั้นออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น

มาตรา ๑๑๘๖ ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือหาอาจออกเสียงเป็นคะแนนได้ไม่ เว้นแต่จะได้นำใบหุ้นของตนนั้นมาวางไว้แก่บริษัทแต่ก่อนเวลาประชุม

มาตรา ๑๑๘๗ ผู้ถือหุ้นทุกคนจะมอบฉันทะให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนก็ได้ แต่การมอบฉันทะเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือ

มาตรา ๑๑๘๘ หนังสือตั้งผู้รับฉันทะนั้น ให้ลงวันและลงลายมือชื่อผู้ถือหุ้นและให้มีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
(๑) จำนวนหุ้นซึ่งผู้มอบฉันทะนั้นถืออยู่
(๒) ชื่อผู้รับฉันทะ
(๓) ตั้งผู้รับฉันทะนั้นเพื่อการประชุมครั้งคราวใด หรือตั้งไว้ชั่วระยะเวลาเพียงใด

มาตรา ๑๑๘๙ อันหนังสือตั้งผู้รับฉันทะนั้น ถ้าผู้มีชื่อรับฉันทะประสงค์จะออกเสียงในการประชุมครั้งใด ต้องนำไปวางต่อผู้เป็นประธานแต่เมื่อเริ่ม หรือก่อนเริ่มประชุมครั้งนั้น

มาตรา ๑๑๙๐ ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น จะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ

มาตรา ๑๑๙๑ ในการประชุมใหญ่ใด ๆ เมื่อผู้เป็นประธานแสดงว่ามติอันใดนับคะแนนชูมือเป็นอันว่าได้หรือตกก็ดี และได้จดลงไว้ในสมุดรายงานประชุมของบริษัทดั่งนั้นแล้วท่านให้ถือเป็นหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ตามนั้น
ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับไซร้ ท่านให้ถือว่าผลแห่งคะแนนลับนั้นเป็นมติของที่ประชุม

มาตรา ๑๑๙๒ ถ้ามีผู้ติดใจร้องขอโดยชอบให้ลงคะแนนลับ การลงคะแนนเช่นนั้นจะทำด้วยวิธีใดสุดแล้วแต่ผู้เป็นประธานจะสั่ง

มาตรา ๑๑๙๓ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน จะเป็นในการชูมือก็ดี หรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๑๙๔ การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา ๑๑๙๕ การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2560 

               ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาล ผู้ร้องฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหลายคดี ทำให้ผู้ร้องยังไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากทายาทผู้ครอบครอง จึงไม่อาจจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นได้ เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ยังต้องรอผลคดีที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของทายาทเพื่อดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดก ที่ทรัพย์มรดกของ ก. รวมทั้งหุ้นมรดกในบริษัทผู้คัดด้านตกทอดแก่ทายาทเมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการตกทอดของทรัพย์มรดกเท่านั้น ส่วนที่ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการจัดการมรดกเป็นอีกเรื่องซึ่งต้องพิจารณาแยกจากกัน หาใช่การตกทอดของหุ้นมรดกทำให้ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นมรดกแทนทายาทได้ไม่ โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีการแบ่งปันหุ้นมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ก. ทุกคนเป็นเจ้าของรวมในหุ้นมรดกซึ่งยังคงอยู่ในชื่อของ ก. ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จะใช้สิทธิจัดการหุ้นมรดกแทนทายาท อันเป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของกองมรดก ที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกมอบอำนาจให้ ว. เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและออกเสียงลงคะแนนแทน จึงอยู่ในขอบอำนาจการดำเนินการของผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องใช้สิทธิในหุ้นมรดกที่ตกทอดแก่ทายาทแล้วเป็นการละเมิดสิทธิของทายาทหาได้ไม่ ที่ ส. ประธานในที่ประชุมมีคำวินิจฉัยให้ ว. ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. เข้าประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ไม่ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเป็นการลดทอนรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ก. ปราศจากอำนาจในการออกเสียง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1182 ที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนเมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้น การลงมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นครั้งพิพาทที่ไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560 
                เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2559 
             การร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ผู้คัดค้านมีข้อบังคับกำหนดเวลาให้สมาชิกต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลงมติดังกล่าว เมื่อตามคำร้องขอของผู้ร้องมีการกล่าวอ้างว่าการลงมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญของผู้คัดค้านได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้คัดค้านโดยมีคำขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมตินั้น เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนนั้นมีการลงมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 จึงพ้นกำหนดเวลาที่จะร้องขอต่อศาลตามข้อบังคับดังกล่าว ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9471/2559 
              ผู้คัดค้านจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยมีกรรมการ 2 คน เมื่อกรรมการคนหนึ่งถึงแก่กรรม จึงเป็นกรณีที่จำนวนกรรมการลดน้อยลงกว่าจำนวนอันจำเป็นที่จะเป็นองค์ประชุมได้ตลอดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1159 กรรมการที่เหลือเพียงคนเดียวต้องเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องจำนวนกรรมการที่ไม่ครบองค์ประชุมเสียก่อน มิใช่ว่าจะนัดเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่น ๆ โดยมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องอื่นตามคำร้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2559 
             การที่คณะกรรมการมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการจัดให้มีการประชุมในบางเรื่องย่อมกระทำได้ ดังนั้น การมอบอำนาจให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้มีอำนาจออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่ย่อมกระทำได้และไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ทั้งไม่ทำให้การเรียกประชุมใหญ่เสียไปแต่อย่างใด การจัดให้มีการประชุมใหญ่ แม้พ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีย่อมเป็นผลดีแก่ผู้เป็นเจ้าของร่วม หากมีการประชุมตามวาระและลงมติโดยถูกต้องแล้ว การประชุมใหญ่ดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่างบดุลและรายงานประจำปี 2555 ไม่ถูกต้อง และที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 มีมติรับรองแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ ส่วนการประชุมวาระที่ 6 และวาระที่ 7 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ปรับขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนกลางด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (5) จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ในวาระดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7876/2559 
            เมื่อบริษัท ช. ได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยชอบแล้ว แม้บริษัท ช. จะลงพิมพ์โฆษณาคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางหนังสือพิมพ์ก่อนวันนัดประชุมน้อยกว่า 7 วัน ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าว่าบริษัทจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ในกิจการใด ที่ใด เมื่อใด เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ช. ได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1174 วรรคสอง โดยได้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทางไปรษณีย์แก่ผู้ถือหุ้นโดยชอบ เป็นที่เห็นได้ว่าผู้ถือหุ้นทุกคนทราบกำหนดวันนัดประชุมใหญ่แล้ว และผู้ร้องได้มอบฉันทะให้ตัวแทนผู้ร้องเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ด้วย ต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 แล้ว ย่อมถือได้ว่า การส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของบริษัท ช. ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2559 
               ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดระบุว่า กรณีใดมิได้ตราไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 รวมถึงกฎหมายอาคารชุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ตลอดจนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดมิได้มีบทบัญญัติให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งกรณีนี้ได้แก่มาตรา 1176 และมาตรา 1195 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การมอบฉันทะให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 47 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นกรณีที่การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมเป็นการประชุมซึ่งมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1176 การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและการลงมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมย่อมเสียไปทั้งหมด หาใช่มีผลเพียงไม่นับการออกเสียงลงคะแนนของ อ. เป็นองค์ประชุมและคะแนนที่จะใช้ลงมติไม่ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทำคำฟ้องมายื่นใหม่แทนคำร้องเดิม การนับกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ประกอบมาตรา 1195 ต้องนับถึงวันยื่นคำร้องเดิม มิใช่วันยื่นคำฟ้องที่ทำมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาล คำฟ้องของโจทก์จึงอยู่ในกำหนดเวลาตามกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4003/2559 
              ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 ที่จองซื้อไว้ตามที่กรรมการโจทก์เรียกร้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหุ้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จองซื้อไว้โดยไม่จำต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์จัดประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยในเรื่องนี้เพราะบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่จะจัดให้มีการการจัดประชุมใหญ่เสียก่อนจึงจะชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมตามที่โจทก์เรียกร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการประชุมใหญ่ของโจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นในลักษณะการลงมติมิให้โจทก์เรียกเก็บค่าหุ้นเพิ่มเติม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดค่าหุ้นเพิ่มเติมรวมทั้งดอกเบี้ย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2559 
          คดีนี้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันทำรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกของโครงการหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่โครงการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 อันเป็นเท็จ เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร การจดทะเบียนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งจึงเป็นโมฆะ ทำให้การจัดประชุมใหญ่ควบรวมนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งสี่แห่งเข้าด้วยกันเป็นจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ย่อมตกเป็นโมฆะไปด้วย ที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอเพิกถอนรายงานการประชุมใหญ่สมาชิกทั้งสองครั้งดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการฟ้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่บริษัทอันผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 และมิใช่การประชุมใหญ่ตามความหมายของกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ข้อ 15 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1195 และข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 55 ที่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนมติในการประชุมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติแต่ละครั้งและก็มิใช่เป็นกรณีที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นฝ่ายฟ้องคดีแทนสมาชิกเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ข้อ 5.4 ที่ต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกโครงการหมู่บ้านจัดสรรอนุญาตให้ฟ้องคดี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2551
           ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. ได้สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินให้แก่จำเลยทั้งแปด ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคา ประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท อันมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท เมื่อปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจเอาคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง และโจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินทั้ง 25 แปลง คืนให้แก่บริษัท หรือหากไม่สามารถโอนคืนก็ให้ใช้ราคาที่ดินแทนได้ เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์นั้นก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. 438 วรรคสอง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิใช่กรรมการบริษัทรับผิดโอนที่ดินร่วม 19 แปลง คืนให้แก่บริษัทหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2550
การขอให้ศาลแต่งตั้งผู้แทนชั่วคราวของนิติบุคคลนั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้แทน นิติบุคคลว่างลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 73 หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามมาตรา 75 และหากปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการดำเนินกิจการ ของนิติบุคคลนั้นด้วย กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราวของ นิติบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการบริษัทเอง ซึ่งหากผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับความเสียหายจากการกระทำความ ผิดทางอาญาของบริษัทก็สามารถดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่ทำให้ผู้ร้องได้รับ ความเสียหายได้อยู่แล้วตามมาตรา 1169 กรณีตามคำร้องมิใช่กรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลว่างลง หรือผู้แทนนิติบุคคลไม่อาจทำหน้าที่ได้อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายในการ ดำเนินกิจการของบริษัท ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่ประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของ ผู้แทนนิติบุคคลในการอันใดที่จะทำให้ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนใน การอันนั้นไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอตั้งผู้แทนเฉพาะการหรือผู้แทนชั่วคราว นิติบุคคลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2550
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแล กิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้ โดยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 มาตรา 90/59 และมาตรา 90/69 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้วทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียว กับกรรมการของบริษัทลูกหนี้โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้ง สามซึ่งเป็นผู้บริหารแผน ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ตามลำดับขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอัน เกิดจากการร่วมกันทำให้บริษัทลูกหนี้เสียหายให้แก่บริษัทลูกหนี้โดยอาศัย สิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 130/2548
คำฟ้องโจทก์ที่อ้างว่าการเรียกประชุมหรือการประชุมและการลงมติที่ประชุมใหญ่ วิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท เป็นกรณีเกี่ยวกับการร้องให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติฝ่าฝืน กฎหมายตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1195 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น เมื่อมติของที่ประชุมใหญ่ที่โจทก์ขอให้เพิกถอนมีการลงมติเมื่อปี 2533, 2534, 2535 และ 2539 ตามลำดับ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อ 18 มกราคม 2545 จึงพ้นกำหนดเวลาที่จะร้องขอต่อศาลตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4219/2541
การที่ผู้คัดค้านกับผู้ถือหุ้นมีหุ้นรวมกันเกินกว่า1 ใน 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ และเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ได้ร่วมกันเข้าชื่อทำหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น โดยระบุวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ รวม6 วาระด้วยกัน จึงเป็นการเรียกประชุมที่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทและประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1173 แล้วกรรมการบริษัทจึงต้องปฏิบัติตามคือ ต้องเรียกประชุมโดยพลันจะไม่เรียกประชุมไม่ได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 1174 เป็นบทบังคับให้ต้องปฏิบัติ และไม่ได้ให้สิทธิกรรมการที่จะใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่ากรรมการไม่เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านกับพวกผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นรวมกันเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทย่อมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกันเองได้ การที่ ผู้คัดค้านกับมีหนังสือเชิญผู้ถือหุ้นของบริษัทประชุมวิสามัญจึงชอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคสองกรณีไม่จำต้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนที่ขอให้เรียกประชุมร่วมเรียก ประชุมด้วย เมื่อการประชุมมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมอันมีจำนวนหุ้นเกินกว่า 1 ใน 5 แห่งจำนวนหุ้นของบริษัทที่ประชุมซึ่งปรึกษากิจการใด ๆ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1178 และการประชุมวิสามัญดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทแล้ว ดังนั้น มติของที่ประชุมจึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2541
ข้อบังคับของบริษัทมีว่า "การประชุมวิสามัญ ให้มีเมื่อบริษัทมีกิจการสำคัญที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและจำเป็น หรือมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกัน ร้องขอ ก็ให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น" ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าตามข้อบังคับดังกล่าวผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวน ผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุม วิสามัญได้โดยปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 26 ซึ่งมีข้อความว่า "การใด ๆ อันเกี่ยวกับการที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด ซึ่งมิได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ ฯลฯ ก็ให้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด" กล่าวคือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคสอง เมื่อคณะกรรมการบริษัทไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่ผู้คัดค้าน และผู้ถือหุ้นอื่นร้องขอภายใน 30 วันผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นอื่นจึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 และ 1195ได้บัญญัติ เรื่องการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ไว้โดยมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือ หุ้นทราบล่วงหน้าว่าบริษัทจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ในกิจการใด ที่ใด เมื่อใด เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้โดยเต็ม ที่ ไม่ให้ผู้บริหารเอาเปรียบรวบรัดในการประชุมแม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้ บังคับโดยเด็ดขาดว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วการแจ้งดังกล่าวจะต้องเป็นโมฆะเสีย เปล่าก็ตาม แต่ก็ให้สิทธิกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของ ที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียโดยต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับ แต่วันลงมตินั้นถ้าหากไม่มีการร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อัน ผิดระเบียบภายในเดือนหนึ่งแล้ว มติของที่ประชุมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ผู้ใดจะขอให้เพิกถอนไม่ได้ดังนั้น เมื่อคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ของผู้คัดค้านที่ส่งไปยังผู้ร้องก่อนวันนัด ประชุมน้อยกว่าเจ็ดวันทั้งไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งให้ผู้ร้องทราบคำบอกกล่าว ก่อนกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175ดังกล่าวข้างต้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ในครั้งนี้จึงไม่ชอบและเป็นผลให้มติของที่ประชุมใหญ่ ในวันดังกล่าวเป็นมติอันผิดระเบียบตามมาตรา 1195 ซึ่งกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2539
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1185 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ถือหุ้นคนใดที่ มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติออกเสียงลงคะแนนด้วย ในมติข้อนั้นหมายความเฉพาะผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเท่านั้น ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทที่ร่วมประชุมและลงมติให้บริษัทชำระหนี้แก่ตน ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเพราะแม้ไม่มีมติของบริษัทดังกล่าวผู้ถือ หุ้นที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทก็ชอบที่จะได้รับชำระหนี้หรือเรียกร้องให้มีการ ชำระหนี้ได้อยู่แล้วอีกทั้งที่ประชุมก็มีมติให้ชำระหนี้คืนแก่ผู้ถือหุ้น พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันหมดมิได้เลือกปฏิบัติแก่ผู้ถือหุ้นบางคน เป็นพิเศษแต่อย่างใดมติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1185 การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1175กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่บริษัท ด้วยการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนโดยกำหนดเวลาว่าต้องแจ้งก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า7วัน นั้นก็เพื่อมุ่งประสงค์ให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อที่ผู้ ถือหุ้นจะได้เตรียมตัวสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท ได้เต็มที่ดังนั้นการที่ผู้ร้องที่1ในฐานะประธานกรรมการบริษัทได้มีหนังสือ ลงวันที่25พฤศจิกายน2534เรียกประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่3ธันวาคม2534โดยส่ง ให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมดซึ่งมีอยู่7คนทราบและผู้ถือหุ้นรวมทั้งผู้ร้องต่างก็ ทราบนัดแล้วครั้นถึงกำหนดนัดผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้ไป ประชุมโดยพร้อมเพรียงกันส่วนผู้ร้องและบุตรผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ไม่ได้เข้าประชุมมีแต่ชาย2คนมาประชุมแทนแต่เข้าประชุมไม่ได้เพราะไม่มี หนังสือมอบอำนาจจึงฟังได้ว่าการแจ้งกำหนดนัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทชอบด้วย กฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2539
ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทที่ร่วมประชุมและลงมติให้บริษัทชำระหนี้แก่ตน ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเพราะชอบจะได้รับชำระหนี้หรือเรียกร้องให้ มีการชำระหนี้ได้อยู่แล้วอีกทั้งที่ประชุมก็มีมติให้ชำระหนี้คืนแก่ผู้ถือ หุ้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันหมดมิได้เลือกปฏิบัติแก่ผู้ถือหุ้นบางคน เป็นพิเศษจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1185 บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1175ที่กำหนดให้แจ้งวันนัด ประชุมใหญ่บริษัทโดยกำหนดเวลาว่าต้องแจ้งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า7วันก็ เพื่อให้มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อผู้ถือหุ้นจะได้เตรียมตัว สอบถามหรือแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทได้เต็มที่เมื่อผู้คัด ค้านที่1ในฐานะประธานกรรมการบริษัทมีหนังสือลงวันที่25พฤศจิกายน2534เรียก ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่3ธันวาคม2534โดยส่งให้ผู้ถือหุ้นทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 7คนทราบและผู้ถือหุ้นทั้งหมดต่างก็ทราบนัดแล้วครั้นถึงกำหนดนัดมีชาย2คนมา ประชุมแทนผู้ร้องและบุตรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นด้วยแต่เข้าประชุมไม่ได้เพราะไม่ มีหนังสือมอบอำนาจจากผู้ร้องและบุตรจึงฟังได้ว่าการแจ้งกำหนดนัดประชุมผู้ ถือหุ้นของบริษัทชอบแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ ล่วงหน้านั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า7วันหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2537
ในวันประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2529 จำเลยยังไม่ได้จดแจ้งการรับโอนหุ้นของโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม โดยจำเลยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อจะเรียก ประชุมวิสามัย* โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1176 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมครั้งนี้ การประชุมวิสามัญครั้งที่ 3/2529 เป็นเพียงการลงมติรับรองมติของที่ประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2529 เป็นมติพิเศษ ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างว่ามีการนัดเรียกหรือประชุมหรือลงมติฝ่าฝืน กฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอย่างไร โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยทำงบดุลและงบกำไรขาดทุนไม่ถูกต้องตามความเป็น จริงอันเป็นเรื่องที่ได้พิจารณากันในการประชุมครั้งก่อนมาขอให้เพิกถอนมติ ของที่ประชุมครั้งนี้ไม่ได้ การประชุมวิสามัญเป็นการประชุมใหญ่ครั้งอื่นนอกจากการประชุมสามัญตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1171 ซึ่งการประชุมวิสามัญโดยปกติจะเป็นเรื่องรีบด่วนสำคัญที่ต้องให้ที่ประชุม ใหญ่วินิจฉัย ไม่อาจรอจนกว่าจะมีการประชุมสามัญได้ และผู้ถือหุ้นอาจต้องออกเสียงลงมติ หากไม่มีการพักการโอนหุ้นก็อาจมีปัญหาในการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้า ประชุมและผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ที่ประชุมกรรมการจำเลยมีมติให้ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4564/2536
การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทซึ่งต้องใช้มติพิเศษ เมื่อที่ประชุมครั้งแรกลงคะแนนเสียงโดยวิธีชูมือผู้ถือหุ้นบางคนทักท้วงการ ลงคะแนนเสียงและขอให้ลงคะแนนลับประธานที่ประชุมไม่ได้แสดงว่าการลงคะแนน เสียงดังกล่าวเป็นมติที่ผ่านไปแล้วตามข้อบังคับของบริษัท จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมเป็นเด็ดขาด การที่ประธานที่ประชุมให้มีการลงคะแนนเสียงด้วยวิธีชูมืออีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการถอนคำขอให้ลงคะแนนลับแล้วผลการประชุมปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นในที่ประชุมทั้งหมด 78 คนออกเสียงอนุมัติการเพิ่มทุน 63 เสียง จึงเป็นการลงมติในที่ประชุมครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามใน สี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2532
คำว่า "กรรมการ" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1172 วรรคแรก หมายถึง คณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน เมื่อกรรมการคนใดเห็นควรจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ชอบที่จะนัดเรียก ประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนและมติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียง ข้างมากเป็นใหญ่ เมื่อผู้คัดค้านเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าวการ นัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท แต่ก็หาทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติที่ได้เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุม ใหญ่และการลงมติตามกฎหมายไม่ ดังนั้น การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนด1 เดือน นับแต่วันลงมติ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2530
ป.พ.พ. มาตรา 1144 ถึงมาตรา 1170 บัญญัติให้กรรมการบริษัทมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับบริษัทไว้หลายประการ เช่น ให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทอย่าง ผู้ค้าขายด้วยความระมัดระวัง ให้มีอำนาจเรียกประชุมกรรมการและออกเสียงชี้ขาดปัญหาในที่ประชุม ให้มีอำนาจมอบอำนาจของตนให้ผู้จัดการ ฯลฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือได้ว่าผู้เป็นกรรมการของบริษัททุกคนต้องมีหน้าที่บริหาร กิจการของบริษัท ฉะนั้นกรรมการบริษัทคนหนึ่งจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการผู้จัดการ และประทับตราของบริษัท แต่งตั้งให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2527
หนังสือรับรองของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้กำหนดให้กรรมการ บริษัทอย่างน้อยสองคนมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทและต้องประทับตราสำคัญของบริษัท ไว้ด้วยเมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบฉันทะของบริษัทมีเพียงกรรมการเพียงคนเดียวลง ลายมือชื่อไว้และไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับ และความประสงค์ของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลและกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการ กระทำของผู้แทนนิติบุคคลที่ขาดความสามารถ อันจะทำให้นิติบุคคลให้การรับรองหรือให้สัตยาบันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2527
ข้อบังคับของบริษัทได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งถึงการที่ให้แจ้ง การเรียกประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกคนทราบล่วงหน้ายี่สิบเอ็ดวันก่อนที่จะมีการ ประชุมใหญ่ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการประชุมสามัญหรือวิสามัญ โดยกำหนดเวลาดังกล่าวอาจได้รับยกเว้นหรือย่นเวลาให้น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน ได้เฉพาะแต่ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นได้อยู่รับรู้การเรียกประชุมโดยเข้าร่วม ประชุมด้วยตัวเองหรือโดยผู้รับฉันทะ แม้การประชุมใหญ่นั้น จะเป็นการเรียกนัดใหม่อีกคราวหนึ่ง ก็อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว กรณีเช่นนี้ต้องเป็นไป ตามข้อบังคับของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1177 จะนำมาตรา 1175 และมาตรา 1179 มาใช้บังคับมิ ได้ เมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นครั้งแรกตามที่นัดไว้กระทำไม่ได้ เพราะผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุมและได้มีการเรียกนัดประชุมใหม่ โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับหนังสือแจ้งการเรียกนัดประชุมใหม่ก่อน ที่จะมีการประชุมเพียงแปดวัน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของ บริษัท การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งใหม่จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของ บริษัท ศาลชอบที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2520
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนรายงานการประชุมของบริษัทอันเป็นเท็จห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง กับบริษัท มิใช่ฟ้องเรียกหุ้นคืนจากจำเลย ตามข้อต่อสู้ของจำเลยก็มีประเด็นเพียงว่า โจทก์โอนหุ้นให้แก่ผู้อื่นไปแล้วหรือไม่ มิใช่โต้เถียงว่าโจทก์ไม่มีหุ้นตามฟ้อง จึงไม่ใช่เป็นคดีมีทุนทรัพย์

โจทก์ มิได้มีข้อโต้แย้งกับบริษัท แต่จำเลยเป็นผู้กระทำให้สิทธิในหุ้นของโจทก์สิ้นไป เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง และตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่รับรองว่าจำเลยเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทโดยชอบด้วย กฎหมาย ไม่มีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลหากแต่เป็นผู้ทำละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้

บทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 ที่ว่าที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนกรรมการได้ ใช้บังคับเฉพาะผู้ที่เป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

การประชุมใหญ่ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน มิใช่เป็นการประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1195 แต่เป็นรายงานการประชุมเท็จ เพราะไม่มีการประชุมกันจริง จึงไม่อยู่ในบังคับให้ต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดเดือนหนึ่งตามบทบัญญัติดัง กล่าว

บัญชีผู้ถือหุ้น บันทึกรายงานการประชุมและข้อมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือที่ประชุมกรรมการ นั้น เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องและเป็นไป โดยชอบเท่านั้น จึงอาจนำสืบหักล้างว่าไม่ถูกต้องหรือเป็นไปโดยมิชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1145 ห้ามมิให้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท เว้นแต่ทำโดยมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ฉะนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทโดยมติธรรมดาจึงใช้ไม่ได้ หากมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตให้ทำได้ก็ไม่มีผลบังคับ เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2517
คณะกรรมการของบริษัทมีมติให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2513 เพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ แต่ ม. กรรมการคนหนึ่งกลับเรียกประชุมใหญ่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน อ้างว่า ทำตามคำร้องของผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ยื่นเรื่องราวให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน ถึงวันที่ 22 ส. ประธานกรรมการและกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทได้พากันไปยังที่ประชุม แจ้งขอระงับการประชุมในวันนั้นโดยให้ไปประชุมกันในวันที่ 28 ตามที่นัดไว้แล้ว ม. ก็รับคำครั้นส. กับพวกกรรมการกลับไปแล้ว ม. กลับจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นอีก โดยให้ ท. ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัทเป็นประธานที่ประชุม และที่ประชุมลงมติเลือก ท. กับพวกเป็นกรรมการ ครั้นวันที่ 28 ได้มีการประชุมใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ที่ประชุมไม่ยอมรับรองรายงานการประชุมวันที่ 22 ดังนี้ แม้ที่ประชุมวันที่ 22 จะได้ลงมติเลือก ท. กับพวกเป็นกรรมการ ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ เพราะกรรมการส่วนใหญ่สั่งระงับการประชุมในวันนั้นเสียแล้ว ท. กับพวกจึงมิใช่กรรมการของบริษัท การที่นายทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทรับจดทะเบียน ท. กับพวกเป็นกรรมการของบริษัท จึงเป็นการไม่ชอบบริษัทมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1195 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะต้องฟ้องเพิกถอนภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ

กรรมการ ส่วนใหญ่ของบริษัทสั่งระงับการประชุมใหญ่เสียก่อนเริ่มลงมือประชุมโดยให้ไป ประชุมกันในวันอื่นตามที่นัดไว้หาจำต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุมตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 1181 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ เพราะมิใช่เริ่มลงมือประชุมและมีผู้นั่งเป็นประธานแล้วจึงได้มีการเลื่อนการ ประชุมไปเวลาอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2506
มาตรา 1175 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่บริษัทจำกัด เพียงแต่บังคับให้ส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีได้ส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ก่อนวันนัด ประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นก็ได้รับ ย่อมถือว่าจำเลยส่งถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โจทก์จะได้รับวันใด หาเป็นข้อสำคัญไม่