การถูกกำจัดมิให้รับมรดก



มาตรา ๑๖๐๔  บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย


เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

มาตรา ๑๖๐๕  ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา ๑๖๐๖  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(๑) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(๒) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

(๓) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

(๔) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

(๕) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

มาตรา ๑๖๐๗  การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2562
       โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลย และ บ. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของผู้ตายตามคำสั่งศาล ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่จะใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทน จำเลยมีหน้าที่ต้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดมาแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยแสดงทรัพย์มรดกเพียงบางส่วน โดยปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่จำเลยจะได้รับจากกองมรดก จึงไม่สามารถจัดการแบ่งมรดกได้ ขอให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมกันแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่พึงได้หนึ่งในสี่ส่วน หรือให้ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ย กับขอให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ดังนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปิดบังไม่นำทรัพย์มรดกที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยมาแบ่งปันให้แก่ทายาท อันเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก แม้จะมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยและผู้จัดการมรดกร่วมแบ่งมรดก ก็มิใช่เป็นการฟ้องคดีจัดการมรดก ซึ่งกรณีมีผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลหลายคนต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 ที่บัญญัติให้การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมาก โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องผู้จัดการมรดกร่วมที่ไม่ได้ปิดบังหรือมีส่วนร่วมในการปิดบังทรัพย์มรดกด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562
          จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2558
   จดหมายแนบท้ายคำร้องที่โจทก์ทั้งสามขออนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้รับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ณ. ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้บังคับตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ณ. และ ก. คนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่ หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก

แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556
ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2554
เจ้ามรดกตลอดจนบุคคลในครอบครัวถูกสามีของเจ้ามรดกใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในเวลาต่อเนื่องกัน ถือเป็นการตายในเหตุภยันตรายร่วมกันและเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง จึงถือว่าทุกคนถึงแก่ความตายพร้อมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 17 ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจึงไม่ตกไปยังบุตรของเจ้ามรดกซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายพร้อมกัน แต่จะตกได้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นน้าของเจ้ามรดก และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า สามีของเจ้ามรดกเป็นผู้กระทำโดยเจตนาให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจดำเนินคดีแก่สามีของเจ้ามรดกได้เนื่องจากสามีเจ้ามรดกฆ่าตัวตายไปก่อน จึงถือได้ว่าสามีของเจ้ามรดกเป็นบุคคลที่ต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ผู้ร้องซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับสามีของเจ้ามรดกจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก และเมื่อผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
         การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552
            ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก

         ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7706/2548
ที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เมื่อ ม. เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ ม. ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 และต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครองให้แก่ โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว ม. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ม. การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของ ม. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม. ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของ ม. ฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก

โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา 142 จึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับ แห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2548
โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยมิได้ระบุว่ามีที่ดิน 2 แปลงด้วย แต่ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก จะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด และตามคำร้องก็ระบุเพียงว่า ผู้ร้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อโอนซื้อผู้ครอบครองรถยนต์กระบะเป็นของทายาทตามเจตนาของเจ้าของมรดก แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนเท่านั้นโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ระบุว่านอกจากทรัพย์สินดังกล่าว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีก จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้ง สองถูกกำจัดมิให้ได้มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6868/2546
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทเพราะปิดบัง พินัยกรรม ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่ามิได้ปิดบังพินัยกรรม โจทก์และจำเลยทั้งสองรวมทั้งทายาทอื่นตกลงแบ่งมรดกโดยจำเลยทั้งสองได้ที่ดิน พิพาท และจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว โจทก์ไม่มีส่วนในที่ดินพิพาทอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ดังนี้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับการรับมรดกที่ดินพิพาทนั่นเอง คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ฝ่ายเดียว ส่วนฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการตกลงแบ่งมรดกและจำเลยทั้งสองเข้าครอบ ครองมรดกที่พิพาทเป็นส่วนสัดแล้ว ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความ หากเป็นจริงโจทก์ก็สิ้นความเป็นทายาทไม่มีสิทธิเรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาท รวมทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ดังนี้ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองก็เพื่อจะได้มรดกที่ดินพิพาทแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องเดียวกับฟ้องเดิม พอที่จะพิจารณาพิพากษารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2545
ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะบุคคลที่เป็นทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายฉะนั้น เมื่อขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรมมีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก คือ พ. ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 จำเลย อ. และ ซ. มารดาของผู้ตาย แม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ. แต่จะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายก็เพียงในฐานะผู้สืบสิทธิของ พ. โดยรับมรดกเฉพาะส่วนของ พ. เท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2544
การที่จำเลยที่ 1 ได้เคยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดินพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกที่ดินมีโฉนดจากบิดามารดาประมาณ 15 ปี แล้วครอบครองตลอดมานั้นการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและการให้ถ้อยคำเช่นว่า เป็นการยอมรับต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่บ้านโดยรับมรดกจากบิดามารดา การออกโฉนดได้กระทำโดยเปิดเผยตามระเบียบของทางราชการ ส่วนที่ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของตนที่ได้ปลูกบ้านแยกครัวเรือนออกไป ย่อมเป็นเรื่องปกติของผู้เป็นมารดายกทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทรุ่นถัด ไปของตนตามประเพณีนิยมทั่วไป เพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นสิทธิของตนที่จะได้ทรัพย์มรดกนี้ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็น ว่าจำเลยที่ 1 มีความมุ่งหมายที่จะยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำ ให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544
ป. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกและ บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ป. ถึงแก่ความตายขณะ บ. ตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของ ป. และบ. ที่ปฏิบัติต่อกันแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ป. ยกย่อง บ. เป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจาก บ. เป็นบุตร บ. ตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่ ป. ยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าป. ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์ บ. ไม่ใช่เป็นบุตรของ ป. จึงต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรและต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บ. แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. และเป็นทายาทของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604

เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครอง ที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มี สิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2544
จำเลยปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมสืบมรดกต่อไปได้เหมือนหนึ่ง ว่าจำเลยตายแล้ว ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639

เจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือโจทก์และจำเลย เมื่อจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกและบุตรของจำเลยรับมรดกแทนที่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกเพียงกึ่งหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5130/2541
ที่ผู้ร้องยื่นคำแก้ฎีกาว่า หลังจากการพิจารณาคดีนี้ผู้ร้องพบว่า ส. น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วมีบุตรซึ่งยังมี ชีวิตอยู่อีก 3 คนบุคคลทั้งสามคนดังกล่าวเป็นทายาทมรดกแทนที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายใน ลำดับก่อนผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เมื่อมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย แม้ผู้ร้องจะมิได้ระบุในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายว่าผู้คัด ค้านเป็นทายาทของผู้ตาย ก็ยังถือ ไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทายาทหรือปิดบังทรัพย์มรดก การที่ผู้ร้องมิได้ระบุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ในคำร้องดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดและตามคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายของผู้ร้องก็ระบุเพียงว่าผู้ร้องไปขอเบิกเงินจากธนาคารออมสิน แต่ธนาคารแจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้ร้องไม่ได้และแนะนำให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน อันเป็นการที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ไม่สามารถถอนเงินที่ผู้ตายฝากไว้กับธนาคารออมสินเป็นข้ออ้างที่ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น ผู้ร้องหาได้ระบุว่านอกจากเงินฝากในธนาคารออมสินแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นอีกแต่อย่างใดไม่ และหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภาย ใน 1 เดือน และแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้อ้างถึงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงมิใช่เป็นการปิดบังทรัพย์มรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกกำจัด มิให้ได้มรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2541
จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกมาเป็นชื่อของจำเลย และจำเลยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกนำมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แล้วนำเงินมรดกดังกล่าวบริจาคให้วัดกับสร้างโบสถ์และซื้อที่ดินให้วัดอันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นทายาท ส่วนการบริจาคเงินมรดกก็เป็นการจัดการตามความประสงค์ของผู้ตายโดยฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกยินยอมไม่คัดค้าน และจำเลยได้จัดการ มรดกในลักษณะที่เปิดเผย ทั้งจำเลยได้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์บางส่วนแล้วและจะแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกอื่นให้อีก โดยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนรับโอนเพราะยังไม่พอใจในอัตราส่วนแบ่งมรดกเช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งแต่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วและจำเลยได้จัดทำบัญชี ทรัพย์มรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดและจัดทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการทรัพย์ มรดกแล้ว เมื่อผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกมีเพียงโจทก์และจำเลยเพียงสองคนในการยื่นคำ ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยก็ได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกแนบท้ายคำร้องขอด้วย ซึ่งฝ่ายโจทก์ทราบและยินยอมในการที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์รู้เห็นในการทำบัญชีทรัพย์มรดกด้วยแล้วนอกจากนี้จำเลยได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนและยังจะแบ่งทรัพย์มรดกอื่นให้อีก เมื่อจำเลยมิได้ละเลยในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทุจริตหรือความไม่สามารถอันเป็นประจักษ์ จึงยังไม่สมควรที่จะ ถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2541
คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน
โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความ 5 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตามมาตรา 1754แม้กองมรดกจะมีการตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจจะทำให้สิทธิเรียกร้องขอ แบ่งมรดกของทายาทกลายเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ คดีที่ผู้จัดการมรดกถูกฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1733 วรรคสอง คดีนี้จำเลยมิใช่ผู้จัดการมรดกหากเป็นทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาท เมื่อถูกฟ้องขอให้แบ่งมรดกย่อมเป็นคดีมรดก อายุความย่อมอยู่ในบังคับมาตรา 1754 เมื่อคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมกันปิดบังทรัพย์มรดก ขอให้กำจัดมิให้รับมรดกด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกจริง จำเลยก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก และมื่อถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมถือว่ามิใช่ทายาทอันจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ โจทก์ได้ แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก คดีของโจทก์สำหรับจำเลยก็ขาดอายุความไปแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกหรือไม่เสียก่อน แต่กลับไปวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยไม่ขาดอายุความจึงเป็นการข้ามขั้นตอน ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยเสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่ น. บอกให้ลงลายมือชื่อได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่อักษร ตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ พินัยกรรมมีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรมทั้ง ในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่า ผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดย น. บอกให้เขียนทีละตัว เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือ ชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2539
จำเลย ที่ 2 รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของม. ซึ่งเป็นบิดายังถือไม่ได้ว่าเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะถูกกำจัดมิให้รับมรดก จำเลยที่1รับโอนที่พิพาทมาในฐานะเป็นมรดกของม.โดยยังไม่ได้มีการแบ่งให้แก่ ทายาทอื่นและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของม. ถือว่าจำเลยที่1ครอบครองที่พิพาทไว้แทนทายาทอื่นด้วยทั้งจำเลยที่1ก็ไม่ได้ บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองไปยังทายาทอื่นแม้จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของม. ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันจากจำเลยที่1แม้พ้นกำหนด1ปีนับแต่เมื่อ เจ้ามรดกตายหรือเมื่อโจทก์ทั้งหกรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกคดี ก็ไม่ขาดอายุความส่วนที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1และ ที่2นั้นมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแต่เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืน จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2539
โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่154/2527 ของศาลชั้นต้น ดังนั้นโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่าที่ดินส่วนของ บ.ในโฉนดเลขที่ 2505 ดังกล่าวเป็นมรดกของ บ. จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 (2)

ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ บ. โดย บ.มีบุตร 4 คน คือโจทก์ทั้งสองจำเลย และ จ. แต่ จ.ถึงแก่ความตายก่อน บ. โดย จ.มีบุตร 3 คน บ.ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงมีสิทธิได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ บ.เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พิพาทส่วนของ บ.ทั้งหมดโดยการครอบครอง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลาถึง 10 ปี ก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอเช่นนั้นแล้วจำเลยนำพยานหลักฐานมาไต่สวนในคดีดังกล่าวจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนของบ.ในโฉนดเลขที่ 2505 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วจำเลยนำคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไปจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดย ฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 154/2527 ของศาลชั้นต้น ยืนยันว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบ.โดยสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี โดยเจตนาให้หลานและทายาทอื่นของ บ.ไม่ได้รับมรดกด้วย โจทก์ที่ 1 ย่อมต้องได้รับผลในลักษณะคดีในฐานพยานเท็จ ไม่ได้รับมรดกที่ดินในกรณีพิพาทนี้ด้วยนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้าม ไม่ให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์จำเลยก็ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ทั้งสองขาด อายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่งเช่นกัน

แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาท นั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัวผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่าผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกของ บ.เจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของ บ.เลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายก็ตาม บุตรของจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยทายาทผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ นายบุญช่วยย่อมสืบมรดกของ บ.ต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538
ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายกรณีจึงไม่ ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกและมรดกของผู้ตายก็มีเฉพาะที่ดินแปลงเดียว ทั้งการที่ผู้ร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายครั้งนี้ความประสงค์ก็ เพื่อจัดการโอนที่ดินมรดกแปลงเดียวดังกล่าวมาเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ ตาย และผู้ที่ผู้ร้องขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นคือผู้สืบสันดาน ของผู้ร้องซึ่งอาจเป็นผู้ที่เสียประโยชน์จากการเป็นผู้รับมรดกแทนที่ผู้ร้อง อันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตาย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุสมควรตั้งผู้สืบสันดานของผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ผู้ตาย ประกอบกับไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า การขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายครั้งนี้ นอกจากเพื่อจัดการโอนที่ดินมรดกของผู้ตายแก่ผู้ร้องแล้ว จำเป็นต้องมีการกระทำการอย่างใด ๆ แก่ที่ดินมรดกดังกล่าวอีกจึงไม่มีความจำเป็นรีบด่วนในการตั้งผู้จัดการมรดก ของผู้ตายตามผู้ร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2526
ชายไปอยู่กินกับหญิง และแสดงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาในที่ต่าง ๆ อย่างเปิดเผยเป็นการยอมรับว่าหญิงเป็นภริยา มีการจัดเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ เป็นการแสดงออกถึงการรับรองว่าโจทก์ซึ่งเป็นทารกในครรภ์มารดาเป็นบุตรของตน โจทก์จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือน บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกตามมาตรา 1629(1)