พินัยกรรม (บททั่วไป)

มาตรา ๑๖๔๖ บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้

มาตรา ๑๖๔๗ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม

มาตรา ๑๖๔๘ พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด ๒ แห่งลักษณะนี้

มาตรา ๑๖๔๙ ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น

ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น

มาตรา ๑๖๕๐ ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดการทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๕๓ (๒) แห่งประมวลกฎหมายนี้

ถ้าการจัดการทำศพต้องชักช้าไปด้วยประการใดๆ ให้บุคคลผู้มีอำนาจตามความในมาตราก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสินทรัพย์แห่งกองมรดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องต่อศาลได้ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น

กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่าย หรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยวกับการจัดการทำศพนั้น ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสิทธิของเจ้าหนี้ของผู้ตาย

มาตรา ๑๖๕๑ ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ ๔
(๑) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มรดก ซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรม

(๒) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น

ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ

มาตรา ๑๖๕๒ บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำคำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๗๗ และมาตราต่อๆ ไป แห่งประมวลกฎหมายนี้เสร็จสิ้นแล้ว

มาตรา ๑๖๕๓ ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้

ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย

พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตาม มาตรา ๑๖๖๓ ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้

มาตรา ๑๖๕๔ ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น

ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558
แม้ ส. จะทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากทำหนังสือปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับโอนประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ คดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หาใช่ผู้ตายตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ

ป.พ.พ. มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด

การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2557
ผู้ร้องเป็นเพียงนิติบุคคลซึ่งผู้ตายถือหุ้นอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตาย และได้ออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ แต่ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก หรือบุคคลที่ผู้ตายแต่งตั้งไว้ให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือบุคคลที่ทายาทมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรตั้งให้จัดการทำศพ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายที่ผู้ร้องจ่ายไปจึงไม่เกิดมีหนี้เป็นคุณในการจัดการทำศพนั้น อันอาจเรียกได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 253 (2) ดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1650 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556
ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556
ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556
การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554
การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7249/2553
ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับแรก ข้อ 1 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2668 ให้แก่บุตร 5 คน คนละ 626.8 ตารางวา ข้อ 2 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับที่ยกให้บุตรตามข้อ 1 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับที่สองว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ที่เหลือจากยกให้จำเลยที่ 2 ยินดียกให้โจทก์ทั้งหมด ดังนี้ เห็นได้ว่าเกิดจากการคำนวณเนื้อที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายผิดพลาดว่าเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา หรือ 710 ตารางวา แต่ความจริงที่ดินส่วนของผู้ตายมีเนื้อที่เพียง 606.66 ตารางวา เมื่อยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 606.66 ตารางวา ยังไม่ครบตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ผู้ตายระบุไว้ตามที่พินัยกรรมฉบับแรก จึงไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เหลือแบ่งแก่โจทก์ ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่ดินแก่โจทก์จึงสิ้นผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2553
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อความย่อหน้าแรกระบุว่า ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัย และย่อหน้าที่สองระบุว่าหากว่าจะมีใครอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งสิ้น ดังนั้น แม้เจ้ามรดกจะไม่ได้ระบุตัวทายาทที่ถูกตัดมิให้รับมรดกว่า คือ นายจุล นางสาวลำพวน และจำเลยที่ 1 ไว้โดยชัดแจ้ง แต่การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกของตนทั้งหมดให้แก่นางลูกจันทร์ โจทก์ร่วม และนางมาลัยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และทายาทคนอื่นที่ไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสามแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของนางลูกจันทร์ และนางมาลัยไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1653 ประกอบ มาตรา 1705 คงสมบูรณ์เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของโจทก์ร่วม ดังนั้น ทรัพย์มรดกส่วนที่มีข้อกำหนดให้ตกเป็นของนางลูกจันทร์และนางมาลัยซึ่งเสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับนั้นจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551
จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว

พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน พร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติ ดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2550
สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสีย ไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2549
สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้า มรดกถึงแก่ความตายภายใต้บังคับมาตรา 1649 และเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพของเจ้ามรดก และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าโจทก์คนใดเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงจะมี อำนาจฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2548
จำเลย ที่ 1 มิได้เป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายมานานกว่า 10 ปี โดยผู้ตายนั้นมานับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 นับได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการทำศพ ผู้ตายได้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับ มรดกมากที่สุด อันมีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตายไม่สมควรเป็นผู้จัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีพอถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศพผู้ตายได้มีการจัดการฝังแล้วตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้ตายนับถือจึง หมดความจำเป็นที่จะนำศพผู้ตายขึ้นมาจัดการทำศพ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้ส่งมอบศพผู้ตายให้แก่โจทก์เพื่อจัดการทำศพอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2547
ช. และ ป. ยกที่ดินพิพาทให้ ภ. มารดาโจทก์ แม้การให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของ ภ. จากบุคคลอื่น ภ. ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็น เจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ดังนั้น การที่ ป. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2546
ผู้ตายกับผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361และมาตรา 1646 โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2545
พินัยกรรมใช้กระดาษที่มีตราครุฑและมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ดีดเป็นส่วนใหญ่ กรอกข้อความด้วยลายมือเขียนเฉพาะบ้านเลขที่ วันเดือนปี อายุของเจ้ามรดกทั้งสอง และรายชื่อผู้รับพินัยกรรม มีลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้ามรดกทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมได้ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานลงลายมือชื่อไว้ครบถ้วนจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1656

ผู้ทำพินัยกรรมมิได้ระบุชื่อทายาทผู้ถูกตัดมิ ให้รับมรดก แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว ถือว่าทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ รับมรดก

การที่ ท. คู่สมรสของ ม. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม เป็นเหตุให้ ม. ไม่อาจเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ เพราะข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของ ม.เป็นโมฆะ แต่ไม่มีกฎหมายห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำเบิกความของ ท. และ น. เป็นพยานแต่อย่างใด และข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนของผู้ร้องยังคงสมบูรณ์ ใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2545
โจทก์ และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับ มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมมากที่สุด เมื่อผู้ตาย มิได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการศพ และทายาทก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดจัดการทำศพ โจทก์จึงมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพผู้ตายตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จัดการศพไปแล้วย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ จากกองมรดกได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1650 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) ดังนั้น การที่โจทก์จ่ายเงินจัดการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 253(2) ประกอบมาตรา 1739(2)จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวตามส่วนแต่ ต้องไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588 - 1589/2545
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ส. ไม่ได้ทำพินัยกรรมเพราะลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ของ ส. พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ โดยมิได้คัดค้านว่าขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมเป็นของ ส. ผู้ตายหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาท ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นนี้จึงไม่ชอบเช่นกัน ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมนั้น ส. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ โดยพินัยกรรมฉบับหลัง ส. ระบุให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน จึงต้องบังคับตามพินัยกรรมฉบับหลังที่ระบุให้ จ. เป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2545
หนังสือยืนยันรับรองที่ผู้ตายทำขึ้น ไม่มีถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นพินัยกรรมและคำสั่งเผื่อตาย ข้อความที่ระบุให้พินัยกรรมฝ่ายเมืองฉบับแรกถือเป็นพินัยกรรมที่ใช้ได้ และข้อความที่ไม่รับรองเอกสารซึ่งผู้ตายลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 และขอยกเลิกเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องการยืนยันและเพิกถอนพินัยกรรมของตนที่ ได้ทำไว้เท่านั้น มิใช่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646

ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1693 แต่ในการเพิกถอนพินัยกรรมนั้นกฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามมาตรา 1694 ถึงมาตรา 1697 คือการทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อนกฎหมายมิได้ กำหนดวิธีการอื่นใดนอกจากนี้มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้ ฉะนั้น การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองมีข้อความว่าไม่รับรองเอกสารฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ที่มีผู้นำมาให้ลงชื่อ แม้จะแปลได้ว่าผู้ตายมีเจตนาเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 ของตนนั้น แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมจึงไม่มีผล เป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9412/2542
นอกจากหัวข้อด้านบนจะระบุว่าพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า "ข้าพเจ้า อ. ขอแสดงเจตนาเพื่อทำพินัยกรรมขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ที่ดินตาม ข้าพเจ้าขอยกให้แก่ แต่เพียงผู้เดียว" และ "ข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ" บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าอ. มีเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้น เมื่อ อ. ตายหาใช่มีเจตนายกให้ขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่า "พินัยกรรม" ไว้ว่า"เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย" ถือได้ว่าอ. ได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้แล้ว

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646มิใช่แบบของพินัยกรรมที่บังคับให้ต้องระบุข้อความกำหนดการเผื่อตายโดย ต้องมีคำว่า "เผื่อตาย" ระบุไว้โดยชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่ น. บอกให้ลงลายมือชื่อได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่อักษร ตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ พินัยกรรมมีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรมทั้ง ในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่า ผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดย น. บอกให้เขียนทีละตัว เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือ ชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2540
ผู้ตายทำเอกสารมีข้อความในตอนต้นว่า"นาย ก.(หมายถึงผู้ตาย)สัญญากับนางด. (หมายถึงโจทก์)ว่าไม่มีลูกเมียนางด. จึงอยู่กินฉันสามีภริยาฯลฯถ้ามีลูกเมียเมื่อไหร่ยอมให้ยึดทรัพย์สินของ ข้าพเจ้าและของแม่ทั้งหมดฯลฯ"อันมีลักษณะเป็นการให้คำมั่นสัญญาแก่โจทก์ว่า ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตรซึ่งความจริงปรากฏว่าผู้ตายมีบุตรกับจำเลยอยู่ก่อน แล้วการที่ผู้ตายปิดบังความจริงและให้คำมั่นสัญญาแก่โจทก์พฤติการณ์เชื่อได้ ว่าผู้ตายมีเจตนาเพียงเพื่อให้โจทก์หลงเชื่อและอยู่กินเป็นภริยาผู้ตายเท่า นั้นหามีเจตนาให้ผูกพันในเรื่องทรัพย์สินไม่แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความใน ตอนท้ายว่า"ฯลฯถ้าข้าพเจ้าตายทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าและของแม่ให้นาง ด. เป็นทายาทรับมรดกแต่ผู้เดียวฯลฯ" ก็มีเจตนาสืบเนื่องมาจากเหตุที่จะให้โจทก์ หลงเชื่อจึงหามีผลสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2539
จำเลยไม่ใช่พยานในการทำพินัยกรรมการที่จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ผู้ทำพินัยกรรมถือไม่ได้ว่าได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรมไม่มีผลให้ข้อ กำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979 - 4982/2539
แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ ล. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่ ล. จะถึงแก่ความตายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมีเพียงบุคคลสิทธิโจทก์ทั้งห้ายังไม่ อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิก ถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่1ที่2กับจำเลยที่3ก็ตามแต่ตาม ฟ้องของโจทก์ก็ได้อ้างถึงสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตาม ยอมของศาลชั้นต้นที่โจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องกองมรดกของล. โดยทายาทผู้รับมรดกและจ.ผู้จัดการมรดกคนเดิมของล. ให้โอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ทั้งห้าแม้ต่อมาจ. ถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่1และที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็ยังมีผลผูกพันถึง จำเลยที่1ที่2และจำเลยที่3ผู้ได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล.เพราะจ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมกระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกของล. จำเลยที่1และที่2ผู้จัดการมรดกคนใหม่จึงต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกับจ. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของล. ให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วยส่วน จำเลยที่3ผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล. เป็นผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมจึงต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความ รับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600,1601และ1651(2)จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทตาม ที่ล.เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ทั้งห้าและศาลได้พิพากษาให้โอนตาม สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2จัดการโอนที่ดินพิพาท ด้วยแต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็เพื่อต้องการให้ทายาทหรือผู้จัดการ มรดกของล. โอนที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่3รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมแล้วจึงมี หน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าได้แม้จำเลย ที่3จะเป็นวัดเพราะเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่3ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้า มรดกที่ก่อไว้ก่อนตายมิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดที่ธรณีสงฆ์หรือศาสน สมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา34

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2538
การสละมรดกโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 นั้น ตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1672 ข้อ 14, 15 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่"ดังกล่าว หมายถึงนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ดังนั้น การที่โจทก์กับ ศ.ทำหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน จึงไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมาย

ขณะ ล.เจ้ามรดกทำพินัยกรรทม ล.มีอาการป่วยหนักมีความคิดสับสน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของ ล. และเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในทรัพย์มรดกจึงฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของ จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2538
ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า"ผู้พิมพ์"ส่วนลายมือชื่อของว.มีข้อความต่อท้าย ว่า"ผู้พิมพ์"และว.เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมทั้งโดยปกติน่าจะ พิมพ์คนเดียวกรณีจึงมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการ นี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา11จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์ พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1653วรรคแรกอันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่ พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656ทุกประการพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึง สันนิษฐานได้ว่าถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่ สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรม แบบธรรมดากรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 136เดิมพินัยกรรมจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1656และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ ตายตามพินัยกรรมทั้งได้ความว่าการจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการ จัดการผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา1718จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม พินัยกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2538
พินัยกรรมของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะ ระบุไว้ว่า บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ ฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ข. และ ค.เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่จำเลยศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459 ที่พิพาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของพระภิกษุ ส. ผู้มรณะ และพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชี นั้นข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสอง บัญชีนี้ จดหมายของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะฉบับแรกเป็นจดหมายธรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้ มรณะฝากไว้ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรมจึงไม่ ใช่พินัยกรรม ส่วนจดหมายฉบับที่สองมีข้อความว่า ลูกหมอ (จำเลย) ที่รักเวลานี้พ่อหลวง (พระภิกษุ ส.)ป่วยจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไร เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่น อยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียว แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมดเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคง สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอไปลงชื่อในสมุดฝากให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลังฯลฯจดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องที่ผู้ มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจาก สมุดเงินฝากเงินธนาคาร แม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความรู้สึกในในว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น การที่พระภิกษุ ส.ใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจาก สมุดฝากเงิน แสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่ยังมีชีวิต อยู่ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะ ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อผู้มรณะได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นพระภิกษุเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชี ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของ วัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2536
การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายเป็นเวลา เกินกว่า 10 ปี แล้วจึงยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่ดินพิพาท ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าที่ดิน พิพาทเป็นทรัพย์มรดก การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว ถือได้ว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยจำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1754วรรคท้าย มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยพินัยกรรมของเจ้ามรดกหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2531
พินัยกรรมแบบธรรมดาซึ่งผู้ทำพินัยกรรมมิได้เขียนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 การขูดลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อม กันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลาย มือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ทั้งนี้ตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว เมื่อการตกเติมข้อความในพินัยกรรมไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผล ให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่ สมบูรณ์ ส่วนข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อความที่ตกเติมจะเป็นข้อสาระสำคัญหรือไม่ก็มีผลเหมือนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4043/2534
ผู้ตายเป็นผู้เขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับพินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 โดยหาจำต้องมีพยานพินัยกรรมไม่ ข้อความในบันทึกของผู้ตายมีว่า "ถ้าหากช่วงต่อไปฉันมีอันที่จะต้องตายจากไป ฉันมีทรัพย์สินทั้งหมดที่เห็น ๆ อยู่นี้ ฯลฯในใจจริงนั้นคิดจะยกให้กับต่าย ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวของน้าสาวคนเล็กซึ่งฉันเห็นว่าเขาเป็นผู้มีสติปัญญาที่ดี ฉันเพียงแต่คิดว่าฉันจะควรที่ฉันจะยกข้าวของซึ่งเป็นของฉันให้ต่าย ฯลฯ ส่วนข้าวของอย่างอื่นก็แล้วแต่บรรดาญาติจะเห็นสมควรจะให้อะไรแก่เด็กเหล่า บ้างฯลฯ (ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ ขอยกเว้นไม่มีการแบ่งให้กับแม่และลูก ๆของแม่ทุกคนโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น) ในข้อความทั้งหมดที่เขียนมานี้ ฉันมีสติดีทุกประการ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากฉันเองก็ขอให้ถือว่านี้คือการสั่งเสีย ฯลฯ แล้วลงชื่อ น.ส.ยุพินฉัตรพงศ์เจริญ(พิน)" ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวมีข้อความว่าเมื่อผู้เขียนตายไปทรัพย์สินของตนให้แก่ ใครบ้าง มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้และลงท้ายด้วยว่ามีสติดี จึงเข้าลักษณะพินัยกรรมตามมาตรา 1646,1647 แล้ว หาใช่บันทึกบรรยายความคิดความรู้สึกในใจเท่านั้นไม่ ผู้คัดค้านฎีกาในข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532
การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะ ที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลย ตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2530
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งทำขึ้นโดยทางราชการแม้จะจัดทำในโรงพยาบาล ก็ไม่จำต้องให้แพทย์รับรอง เพราะการจะพิจารณาว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมย่อมมีความรู้ความสามารถพอที่จะพิจารณา ได้

คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแม้มิได้ระบุเหตุ ขัดข้องในการจัดการมรดกไว้ แต่ได้ระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้แนบสำเนาสูติบัตรของผู้รับ พินัยกรรมมาให้เห็นว่าเป็นผู้เยาว์ ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 792/2527
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ข้อ 1 ความว่า "ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว" บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่แล้ว ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมนี้ให้เป็น ผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งได้กำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ" ต่อจากนั้นได้ระบุที่ดิน น.ส.3 เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ข้อ 2 ความว่า 'ข้าพเจ้าขอมอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่คณะกรรมการอำเภอและขอตั้งให้ น. (โจทก์) เป็นผู้จัดการมรดกข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ" ข้อ 3 ความว่า "ข้อความแห่งพินัยกรรมนี้ กรมการอำเภอได้อ่านให้ข้าพเจ้าฟังโดยตลอดแล้วเป็นการถูกต้องตรงตามความ ประสงค์ของข้าพเจ้าที่ได้แจ้งให้กรมการอำเภอจดลงไว้ และขณะทำพินัยกรรมนี้ข้าพเจ้ามีสติสมบูรณ์ จึงลงชื่อไว้ต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานเป็นสำคัญถัดลงมาเป็นลายพิมพ์นิ้วมือ ของผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนกับบันทึกของกรมการอำเภอ ดังนี้ พินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เพราะไม่มีข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ แม้ตามคำร้องของผู้ทำพินัยกรรมที่ยื่นต่อนายอำเภอจะมีข้อความว่า ผู้ร้อง (ผู้ทำพินัยกรรม) ประสงค์จะทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ให้โจทก์ก็ตาม คำร้องฉบับนี้มิใช่พินัยกรรม จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยพินัยกรรม อย่างไรก็ดีเป็นที่เข้าใจว่า จ. ยกที่พิพาทให้โจทก์เมื่อตนถึงแก่กรรม จึงปรากฏว่าเมื่อจ.ตาย จำเลยก็เลิกทำนาพิพาท ฝ่ายโจทก์คงทำนาพิพาทต่อมาหนึ่งปีแล้วให้บุคคลอื่นเช่า โจทก์จึงเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทนับตั้งแต่ จ.ตายตลอดมาโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2516
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อกำหนดว่า หากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้หรือจะเกิดมีขึ้น ในอนาคต ให้ ส. เป็นผู้จัดการมรดกและรวบรวมเอาจัดการศพและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพเจ้าตาม สมควร ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้จัดการแบ่งปันแก่หลานๆ ของข้าพเจ้า นั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกไม่มีลูก และเจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือ ป. ผ. และ ท. โดยเจ้ามรดกเป็นคนสุดท้อง ฉะนั้น หลานตามข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงหมายถึงลูกของพี่ของเจ้ามรดกดังกล่าวที่มี ชีวิตอยู่ทุกคน อันเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้ เป็นผู้รับพินัยกรรม ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ