มาตรา ๑๔๖๕
ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563
โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็กๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้
จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562
เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส
ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้..." จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่
ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน
ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561
การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561
แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์
บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560
ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" และวรรคสี่ บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี" การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย
การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560
แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2560
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจาก พ. แล้วยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โดยเสน่หาที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ด้วย เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสัญญาให้โดยเสน่หาแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7639/2560
จำเลยที่ 1 ให้การในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 โดยซื้อที่ดินพิพาทจาก อ. ก่อนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แต่ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในขณะนั้น ภายหลังเมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้ว อ. จึงโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 จะให้การในตอนหลังว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นตัดฟ้องโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส อันจะถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่อาจเป็นไปได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ขัดแย้งกันเองและเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ และศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ขัดแย้งกันจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องเพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าว แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปพร้อมกับฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่สุจริต จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริต และฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอน โดยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นสินสมรส คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เช่นนี้ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง และคำให้การของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบดูเอกสารสิทธิเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ทั้งยังได้ไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่บ้านของ ส. กำนันตำบลตาลชุม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทจริงย่อมแสดงว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560
ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559
จำเลยใช้ถ้อยคำพูดกับโจทก์ว่า "กูเบื่อผู้ชายแก่ ๆ ควยเล็ก เซ็กส์ห่วย หัวล้าน ตัวเตี้ย ๆ หน้าเหี้ยใจยังเหี้ย หัวขโมยแบบมึงเต็มที" และ "กูมีความพร้อมทุกอย่าง สาวสวยเหมาะสมกับหนุ่ม ๆ แข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่มีอะไรยาก กูแต่งงานกับมึงเพื่อประชด อ. เจ็บ ก็แค่นั้น กูไม่ได้พิศวาสมึงเลย..." และส่งข้อความทางโทรศัพท์ว่า "เดี๋ยวกูจะไปนอนให้คนอื่นเอา" เป็นถ้อยคำหยาบคาย อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนอันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) ส่วนการที่โจทก์ไม่กลับบ้านนานนับสัปดาห์ ไม่ยอมหลับนอนกับจำเลย ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่ด้วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ไม่อุปการะเลี้ยงดู จึงเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. 1516 (6) เช่นกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่ากัน โจทก์จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247
เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสิน นั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย
เดิมจำเลยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์เดือนละ 100,000 บาท โจทก์รับว่าไม่ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยก่อนฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 และจำเลยไม่มีหลักฐานมายืนยันรายได้ก่อนสมรสกับโจทก์ ที่ศาลล่างกำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยขอค่าอุปการะเลี้ยงดูภายหลังจากหย่าไปจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่นั้น เนื่องจากการหย่าเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูส่วนนี้ให้
จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปในบ้านใช้สเปรย์ฉีดพ่นทรัพย์สินได้รับความเสียหายนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างจากฟ้องเดิม
ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแย้งในข้อนี้มานั้นชอบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องใหม่เพื่อเรียกค่าซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวภายในอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8594/2559
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละแปลงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และโจทก์ไม่ทราบเรื่อง การที่จำเลยทั้งสามให้การต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทราบเรื่องและไม่คัดค้านถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้ว และนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ หากทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ก็วินิจฉัยประเด็นต่อไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แต่หากฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้หรือไม่ และคดีขาดอายุความหรือไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามจึงเป็นประเด็นต่อเนื่องและไม่ขัดแย้งกัน เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำลงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 จึงเป็นการฟ้องหลังจากพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559
เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559
โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)
ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้
จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15301/2558
การบังคับคดีโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เบื้องต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 กำหนดหลักการสำคัญไว้เพียงว่า เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลจะได้มีคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีโดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่บังคับว่าการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องกระทำทีละสิ่งเสมอไป ทั้งไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินนั้นว่าจะแบ่งภาระแห่งหนี้กันอย่างไร ดังนี้ การจะชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดนั้นเป็นประการใดจึงเป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อคดีได้ความว่าที่ดินอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดน่านประเมินราคาไว้ 337,200 บาท ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 9 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งสองบัญชีของ ย. ภริยาจำเลยที่ 9 อันเป็นสินสมรสที่เป็นของจำเลยที่ 9 เพื่อการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะเคยขอให้ออกหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากดังกล่าวมาก่อน แต่เมื่อมีการถอนอายัดครั้งก่อนแล้ว การอายัดครั้งหลังย่อมไม่เป็นอายัดซ้ำ ปัญหาว่าจะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดได้หรือไม่นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 9 การชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดมานั้นจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1488 กล่าวคือ ต้องบังคับชำระหนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ 9 ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระหนี้ด้วยเงินฝากอันเป็นสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 9 ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14005/2558
ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่า ผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับโดยเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป เป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีภริยา แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว แต่การที่โจทก์ยกที่ดิน 8 แปลง ดังกล่าวให้จำเลยก็เพื่อตอบแทนการที่จำเลยยอมยุติปัญหาที่โจทก์ไปมีภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า โจทก์ได้ให้เป็นสินส่วนตัวของภริยาเด็ดขาดแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ภายหลังจำเลยและครอบครัวจำเลยได้ใช้ประโยชน์โดยอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด ที่ดิน 8 แปลง นี้ไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
การที่จำเลยและครอบครัวของจำเลยร่วมดำเนินกิจการของร้าน ม. เพื่อกระทำกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างร่วมกันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีสมาชิกในครอบครัวของจำเลยทุกคนเป็นหุ้นส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 การที่โจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจะขอใส่ชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน 87 แปลง ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น เท่ากับเป็นการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนซึ่งไม่อาจกระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1040 เมื่อกรณีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญมิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอใส่ชื่อร่วมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14884/2558
ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1
หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก)
บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่
1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว
มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน
ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1
ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง
มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา
ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก.
ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1300
ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่
1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น
โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต
และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น
แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 287
โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน
อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850
ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852
แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า
"ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง"
แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ
ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1
มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน
อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1
ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516
และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว
ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523
ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่
1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1
ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12346/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า
สินสมรสได้แก่
ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ
เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า
หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส
ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน
และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471
(3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่
ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น
เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่
ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1
ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา
โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1
แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่
1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น.
ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้
ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่
1 เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10451/2558
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ.
ซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว
ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา
พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท
เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ.
กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ.
ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์
การยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1
จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้
จึงเป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
ตาม มาตรา 1476 (5)
แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1
ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3604/2558
โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ดังนั้น
กรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นคู่สัญญา และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852
นั่นคือ การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1
เข้าผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของบุตรทั้งสองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว
โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาด แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือ
บุตรทั้งสอง
และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
จะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้
เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1
ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1
จึงได้แต่สิทธิและพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2797/2558
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาลวงสมรู้กันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่
แต่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ตรงประเด็นที่พิพาทในคดีว่า จำเลยที่ 2
ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทสินสมรสส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1
โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2
และฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2
มีคู่สมรส จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค
1 ได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2
มีคู่สมรสและการโอนขายที่ดินพิพาทยังไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1
กับจำเลยที่ 2 อันเป็นการวินิจฉัยถูกต้องตรงประเด็นข้อพิพาทแล้ว และไม่ว่าจำเลยที่
1 ซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ในราคาเท่าใดก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ปัญหาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและจำเลยที่ 1
มีสิทธินำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา
249 วรรคหนึ่ง การเพิกถอนนิติกรรมตามบทบัญญัติมาตรา 1480
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด
จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง
และคู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้จึงยุติไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 2
ไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1
ในโฉนดที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1776/2558
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน
ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร
จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์
ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม
แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น
จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น
เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส
จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส
โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้
แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น
เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น
ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส
ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก
ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก
อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1490/2558
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง
หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน
การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง
ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 การที่สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น
จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว
หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้
มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน
เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้
เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
495/2558
ที่ดินและบ้านพิพาท ป.
ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน
จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน
ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย
ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2
มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น.
และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน
แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2
ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน
การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2
ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่
1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น.
จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์
ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2
ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย
ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้
การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป.
โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง
เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก
กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์
โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน
การที่จำเลยที่ 2
ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท
จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5
ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท
จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
277/2558
ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่
1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม
โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15
วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1
สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา
ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1
ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1
ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม
แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1
มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก
สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว
ไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1
แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1
มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
19772/2557
การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย
การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15
กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่
15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545
การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่
เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์
ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย
และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้
ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน
ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
16134/2557
แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1
เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1
แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า
จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้
ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1
เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า
ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น
การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1
ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง
โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2
เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2
มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1
โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1
ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท
ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า
หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์
จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2
นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่
1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1
ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14040/2557
โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส
แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส
จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1533 การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย
แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น
การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86
แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม
ป.ที่ดิน มาตรา 94
ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น
ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13723/2557
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส
โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด
ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด
ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด
คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้
จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม
ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12250/2557
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น
ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม
เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น
เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย
แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท
แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว
ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย
ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น
ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น
จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ
แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม
ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว
จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย
โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท
การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม.
โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย
การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว
เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8917/2557
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่
และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่
68
ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้ ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478
จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้
ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า
บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ
มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ.
จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้
ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ
จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8624/2557
การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินได้ตาม
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 นั้น
ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา
22 ก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกทายาทจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทายาท จึงไม่ใช่สิทธิตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่สมาชิกตาย
ภายหลังที่ ม. ถึงแก่ความตาย จำเลยและ บ. ไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง
เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ม.
และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและ บ.
มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยและ
บ. ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าวจำเลยได้ทำกินกับโจทก์ในที่ดินพิพาท
แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม
แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทรวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินพิพาท
ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเงื่อนไขว่า
ภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม
แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด
เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป
อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์นั่นเอง
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส
จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7677/2557
ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท.
นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3
จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว
ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่
3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่
4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่
3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก
ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3
เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5
จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง
โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5
โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5
ในฐานะทายาทโดยธรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7031/2557
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว.
ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1)
แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก
จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์
ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้
เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา
1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน
บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6509/2557
เมื่อขณะที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ท.
กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่
3 ไร่ ให้แก่ ท. นั้น ท. กับโจทก์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ ท.
จะถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและปัจจุบันยังมิได้มีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม
แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของ ท.
ที่จะได้รับที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วต้องสูญสิ้นไป
และสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่
ท. กับโจทก์ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ซึ่งย่อมมีผลทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ที่ ท.
จะได้รับตามสิทธินั้นตกเป็นสินสมรสระหว่าง ท. กับโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน
โจทก์จึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ท. ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4246/2557
ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
มี ป.พ.พ. มาตรา 1480
บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า
ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้
เมื่อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยแก่บุคคลโดยทั่วไประบุว่าจำเลยที่ 2
ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก ย่อมทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่
2 มีผลให้เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2
สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ส่วนข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร
เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
โจทก์ไม่อาจเพิกถอนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2086/2557
อาคารพาณิชย์เลขที่ 35 และ 36
ที่โจทก์และจำเลยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
แม้มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้
เมื่อได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
และตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง
จำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1222/2557
คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า
ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง
เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
(1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1
ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199
แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา 1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้
เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า
โดยสุจริต หมายความว่า
บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 2
ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม
จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3
ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2
ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง
และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน
ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3
เป็นไปโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6870/2556
จำเลยที่ 2 และที่ 3
ให้การต่อสู้ว่าข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2
เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3
จะอุทธรณ์อ้างว่าต้องนำบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนมาใช้บังคับก็เป็นข้อที่คู่ความหยิบยกเอาข้อกฎหมายมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงในคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ
และหากศาลเห็นว่าข้อกฎหมายที่คู่ความอ้างมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะปรับบทกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเองได้
อุทธรณ์ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น
แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่
1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1
มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้
หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
(1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่
1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม
ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6)
วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว
โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3
เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1
ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3
เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6711/2537
การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสิน สมรส
จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรส
พร้อมกับการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน
ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4214/2534
โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภรรยากันอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่อง
ทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาของโจทก์จำเลยในเรื่องทรัพย์สินนั้นก็ต้อง
บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 4
ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา และโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภรรยากัน
จะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไม่ได้
เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น
กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ขอแบ่งเงินค่าขายที่ดินสินสมรสจากจำเลย กึ่งหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ฟ้องแบ่งได้
ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์น่าจะมีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ก็มีอำนาจจัดการสินสมรสตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 และไม่อาจจัดการใด ๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่สินสมรส เพราะไม่มีทรัพย์สินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายที่โจทก์ได้สินสมรสมา
การกระทำของจำเลยเป็นการถ่วงความเจริญงอกงามที่จะเกิดแก่สินสมรสของโจทก์ จำเลยนั้น
เป็นการฎีกาอ้างข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องของโจทก์เอง
เพราะโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
มาตรา 1484 แต่อย่างใด
มาตรา ๑๔๖๖
สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ
ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการ
จดทะเบียนสมรส
หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้าย
ทะเบียนสมรสและได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญา
นั้นแนบไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2554/2539
โจทก์เป็นภริยา ผ.
จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2510ผ.จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อปี 2513
ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ผ.
และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466,1462
วรรคสอง เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับ
ผ.ตกลงกันเป็นอย่างอื่นผ.จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงการ
จำหน่ายที่ดินพิพาทด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468,1473 วรรคหนึ่ง
เดิมแม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วบรรพ 5
ที่แก้ไขใหม่ในปี 2519 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 7
ก็บัญญัติรับรองอำนาจจัดการสินสมรสของ ผ.ดังนั้นผ.
เพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากโจทก์ผู้เป็นภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6552/2538
ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์มรดกรวม
6 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกได้มาขณะที่ใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม
การพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาประเภทใดต้องพิจารณาตามบทกฎหมาย
ที่ใช้ในขณะที่ได้มา เมื่อเจ้ามรดกได้รับมรดกและได้รับการยกให้ในระหว่างสมรสโดยไม่มีการระบุว่า
ให้เป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัว ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับ
ร. ตาม ป.พ.พ.บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 แม้ต่อมาจะมีบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับมีมาตรา 1471 บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดย
เสน่หาเป็นสินส่วนตัว และมาตรา
1474บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็น
หนังสือและพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นสินสมรส
อันแตกต่างจากบทบัญญัติแห่งบรรพ 5 เดิมก็ตาม
ก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสอยู่แต่เดิมเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของ เจ้ามรดก
เพราะกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่ได้บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงไปดังกรณีสินเดิม
จึงจะนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519 มาตรา 1471 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้หาได้ไม่
เมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสเจ้ามรดกคงมีส่วนแต่เพียงครึ่งเดียวที่เป็น
มรดกตกทอดแก่ทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6711/2537
การที่โจทก์จำเลยทำความตกลงในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
โดยจำเลยให้สัญญาว่าบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยให้เป็นสิน สมรส
จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสจดแจ้งข้อความอันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรส
พร้อมกับการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน
ย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4947/2533
อ.ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการรับมรดกระหว่างเป็นสามีโจทก์เมื่อปรากฏว่า
อ. ได้รับมรดกที่ดินพิพาทมาก่อนวันที่ 16 ตุลาคม2519
อันเป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519
มีผลใช้บังคับ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466
แม้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสระหว่าง อ. กับโจทก์ก็ตามเมื่อปรากฏว่าการที่ อ.
ยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยด้วยนั้น โจทก์ซึ่งรู้เห็นอยู่แล้วไม่ได้คัดค้านหรือทักท้วงประการใดกลับปล่อยให้
จำเลยดำเนินการไถ่ถอนการขายฝาก และจดทะเบียนโอนที่ดินยกให้เป็นของจำเลยแล้ว
โจทก์จะมาใช้สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทดัง
กล่าวหาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
มาตรา ๑๔๖๗
เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้
นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาล
เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว
ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2270/2521
ที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน
โจทก์ซึ่งเป็นภริยาร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมกันในโฉนดนั้นได้ตามประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1467
ส่วนรถยนต์นั้นแม้จะมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของในใบทะเบียนรถยนต์ก็ตาม
แต่ใบทะเบียนรถยนต์ก็มิใช่เอกสารอันเป็นที่ตั้งแห่งกรรมสิทธิ์
จึงไม่ใช่เอกสารเป็นสำคัญสำหรับทรัพย์ (รถยนต์) ตามความหมายแห่งมาตรา 1467 ดังกล่าว
จึงบังคับจำเลยให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกันไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
962/2520
หนังสือรับรองการทำประโยชน์
(น.ส.3) ไม่เป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือนั้นมีกรรมสิทธิ์ตามความ
หมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1467 และ 1474 ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 1 ที่
2 เป็นสามีภรรยากันมีชื่อร่วมกันในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1
สามีก็มีอำนาจจำหน่ายได้โดยลำพัง ไม่จำต้องให้จำเลยที่ 2
ภริยาเข้าชื่อเป็นผู้ขายด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2094/2518
สามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 ภริยามีสิทธิร้องขอให้ลงชื่อในโฉนดที่ดินสินสมรสร่วมกับสามีได้
มาตรา ๑๔๖๘
ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดย
สุจริตไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6033/2541
โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่
1 และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแทน จำเลยที่ 1
ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4
และจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 5 ก็เป็นการกระทำโดยชอบเช่นกัน
โจทก์ที่ 1ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายและการจำนอง
โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่
2 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2491โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2504
ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส อันเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 แห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 เดิม
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมา เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่
1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์
หรือให้จัดการร่วมกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้น โจทก์ที่
1จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1468 ที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์ที่
2 หรือสินสมรสที่โจทก์ที่ 2 ได้มาโดยการยกให้หรือทางพินัยกรรม
และการจำหน่ายที่ดินพิพาทมิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา โจทก์ที่
1จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 2 ก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1473
เดิมนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1
จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่อาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้
โจทก์ที่ 1
ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบ
เมื่อจำเลยที่ 4 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1
จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ที่ 1
ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้จำเลยที่ 4 เสียหาย
จำเลยที่ 4จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2554/2539
โจทก์เป็นภริยา ผ.
จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2510 ผ.จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อปี 2513
ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ผ.
และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466,1462
วรรคสอง เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับ ผ.ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
ผ.จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงการ จำหน่ายที่ดินพิพาทด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468,1473 วรรคหนึ่ง
เดิมแม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วบรรพ 5
ที่แก้ไขใหม่ในปี 2519 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ก็บัญญัติรับรองอำนาจจัดการสินสมรสของ
ผ.ดังนั้น ผ.
เพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม
จากโจทก์ผู้เป็นภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3481/2538
สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้มาเมื่อปี
2525 เป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 99 เดิม
เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1474แต่โจทก์จดทะเบียนสมรสก่อนวันใช้บังคับ
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ซึ่งมาตรา 7
บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ 5แห่ง ป.พ.พ.
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการ
สินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วฯ
และไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ดังนั้น
สามีโจทก์จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 มาตรา 1468
การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็น
สินสมรสเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. พ.ศ.2477 มาตรา 1469
ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ก่อน หากสามีโจทก์ไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผล
โจทก์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้ตาม ป.พ.พ. พ.ศ.2477 มาตรา 1475
โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์
ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56
ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสีย ให้บริบูรณ์ตามมาตรา56
วรรคสอง ก่อน แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จ
จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่อง
ความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อนแล้วดำเนินการต่อไป
มาตรา ๑๔๖๙
สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้
แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3714/2548
โจทก์ยอมให้จำเลยมีชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งยื่นคำขอเปิดระหว่างที่
โจทก์และจำเลยเป็นคู่สมรส
โดยโจทก์ตกลงยกเงินฝากที่เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ในบัญชีดังกล่าวจำนวน 7,500,000
บาท ให้แก่จำเลย จึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1469 ให้สิทธิสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกล้างสัญญาได้ ดังนั้น
เมื่อโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมการให้เงินต่อจำเลย
ซึ่งเป็นการกระทำในระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่
จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญา
เกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส
โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสีย ประโยชน์
มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม
เหตุแห่งการบอกล้างนั้นจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ให้
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ไม่พอใจจำเลย โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมได้
ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
818/2546
โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดิน
7 แปลง แก่จำเลยซึ่งเป็นภริยาระหว่างสมรสนิติกรรมการให้จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469
ได้บัญญัติถึงการบอกล้างสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกัน
ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้โดยเฉพาะแล้วดังนั้น เมื่อโจทก์ต้องการบอกล้างสัญญาการให้ที่ดินทั้งหมดต่อจำเลย
กรณีต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 1469 มาใช้บังคับ
หาใช่ต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535
อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2039/2544
บันทึกที่โจทก์จำเลยทำขึ้น
แม้จะมีข้อความว่าโจทก์และจำเลยตกลงหย่ากัน
แต่ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ต้องถือว่าเป็นสามีภริยากันอยู่
เมื่อข้อตกลงนั้นมีส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินด้วยจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับ
ทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้าง
เสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยาหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการ
เป็นสามีภริยาก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469
การที่จำเลยยื่นคำให้การว่าบอกเลิกข้อตกลงแล้ว
ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างไปในตัว ในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่
จึงไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จำเลยอีก ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์
ได้
มาตรา ๑๔๗๐
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8144/2548
การที่โจทก์กับ ม.
ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ
ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น
ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น
โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็น
สาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์
มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย
จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น
หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น
ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญา
ฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ
หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์ และ ม.
จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1
ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ
ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้
บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น
ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1
มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือ ปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ
ถือว่าจำเลยที่ 1
มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการ
ธนาคารพาณิชย์ของตน
เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝาก
เป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว
ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้
เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1
ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ใน
กิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย
ขณะที่โจทก์กับ ม.
เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม.
ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม.
เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม.
ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่
ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม.
จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน
จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส
ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1
ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4714/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1470
ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น
หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ.
ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ.
กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501
เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ.
ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ.
กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600
ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ
เป็นมรดกของผู้ตายนั้น
ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึง แก่กรรม
แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ.
มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ.
มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ
ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625
เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยัง
มีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่
แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น
หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย
โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ
สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ
ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม
แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ.
จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ
เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ.
โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและ
จำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมี
ลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม
จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์
อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง
ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย
ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก
ของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงิน
ประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง
มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
มาตรา ๑๔๗๑
สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(๑)
ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(๒)
ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ
หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรส
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(๓)
ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(๔) ที่เป็นของหมั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2467/2549
โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าบ้านเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง
แต่ผู้เดียว มิใช่สินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง
แม้ตามคำร้องขอจะมิได้อ้างว่าเป็นบ้านที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับ
พี่น้องตามที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้างถึงที่มาเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของ
ผู้ร้องซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธินำยึดนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาได้
เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นตามคำร้อง
มิใช่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
บ้านที่โจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของผู้ร้องเป็น
ทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาโดยการรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นของ ล.
สิทธิของผู้ร้องในบ้านจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
มาตรา 1471 (3) มิใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธินำยึดได้
และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งย่อมใช้สิทธิครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด
เพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมาตรา 1359 จึงมีอำนาจร้องขัดทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4650/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1532
กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่าไม่ว่าจะเป็นการ
หย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย แล้ว
จำเลยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเช่นเดียวกัน
แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์ระบุในคำฟ้องก็
ตามทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาการแบ่งสินสมรสเป็นอันยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดแห่ง
การสมรส
โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้และแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่
9 มกราคม 2536 ตลอดมาจนถึงวันฟ้องหย่าแต่การสมรสระหว่างโจทก์จำเลยหาสิ้นสุดลงไม่
สินสมรส ระหว่างโจทก์จำเลยยังดำรงคงอยู่ตลอดเวลาและจำเลยมีอำนาจจัดการสิน
สมรสที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
หากจำเลยใช้จ่ายเงินตราสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่อง
ที่โจทก์จะต้องขอให้จำเลยชดใช้ โดยตั้งประเด็นให้ชดใช้สินสมรสที่ขาดหายไปโดยเฉพาะเจาะจงตามประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ฉะนั้น
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำนวนเงินสินสมรสในบัญชีเงินฝากที่เป็นฐานในการคิด
คำนวณแบ่งปันกันให้ถือตามที่มีอยู่ในวันฟ้อง จึงชอบแล้ว
รายได้จากร้านเสริมสวยจำนวน
1,000,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
โจทก์ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในการจะต้องคืนเงินส่วนนี้แก่จำเลย
แต่จะต้องแบ่งคืนแก่จำเลยเมื่อได้รับชำระเงินยืมจำนวนนี้คืนจากผู้ยืมแล้ว
จำเลยมิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องเงินจำนวนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์นำเอาเงิน 1,000,000 บาทมาคำนวณหักกลบลบหนี้ในการแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์จำเลยคนละกึ่งหนึ่ง
โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงไม่ชอบกรณีมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งสิน
สมรสไม่ชอบ
แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการบังคับเอากับสินสมรสที่จัดแบ่งแล้วอย่างไร
จึงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246ประกอบมาตรา 142
ต้องถือว่ารายได้จากร้านเสริมสวย
ยังไม่สามารถนำมาคิดคำนวณแบ่งสินสมรสเพราะยังไม่ได้รับชำระคืนจากผู้ยืม
เงิน 100,000 บาท ของจำเลยเมื่อนำมารวมกับเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านแล้ว
ย่อมเปลี่ยนเป็นที่ดินและบ้านที่ซื้อมาจึงไม่มีเงินที่ต้องคืนให้จำเลยหรือโจทก์อีก
โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรส
กัน กิจการร้านเสริมสวยดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยมีอยู่แล้วก่อน
สมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(1)
โจทก์ลงทุนในกิจการดังกล่าว 200,000 บาท ส่วนจำเลยลงทุน100,000 บาท
กิจการร้านเสริมสวย จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามสัดส่วนของเงินลงทุน คือ
2 ต่อ 1
ที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องจำเลยได้รับโอนมาภายหลังจากโจทก์จำเลยจดทะเบียน
สมรสกันแล้ว ส่วนเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดที่จำเลยนำไปชำระนั้น
จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย
แต่เงินในบัญชีดังกล่าวมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วย
ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและไม่อาจแยกได้ว่าส่วน
ไหนเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย ส่วนไหนเป็นเงินสินสมรสได้
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเงินสินส่วนตัวของจำเลยเข้ามาปะปนอยู่
กับเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดทั้งสี่เป็นจำนวนเท่าใด
กรณีจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471
วรรคท้ายว่าเงินดาวน์ดังกล่าวเป็นสินสมรสด้วยที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้อง
นี้จึงเป็นสินสมรสเต็มจำนวนที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง
เงินฝากในบัญชีธนาคารมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วยโดยระคน
ปนกันจนไม่อาจจำแนกได้ว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าใดจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐาน
ตามกฎหมายว่าเงินในบัญชีนี้เป็นสินสมรส ฉะนั้น
เมื่อจำเลยถอนเงินในบัญชีดังกล่าวมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ
เงินฝากในบัญชีใหม่นี้จึงเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง
เช่นเดียวกันด้วย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเงินฝากในบัญชีเงินฝากทั้งสองฉบับคงมีเงินเหลืออยู่
เพียงบัญชีเดียวจำนวนเงิน 211,562.61 บาท
อันเป็นเงินสินสมรสที่ต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีการถอนออกไปบางส่วนหลังวันฟ้องเพื่อ
ผ่อนชำระค่าซื้อบ้าน ที่ดินรถยนต์และคอนโดมิเนียม คงเหลือเงินในบัญชีเพียง
39,169.08บาท เท่านั้นจำเลยมิได้โต้แย้งว่า
เงินที่ถูกถอนออกไปนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องอย่างใดเมื่อเงินฝากในบัญชีดัง
กล่าวเป็นสินสมรสและการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่สิ้นสุดลง
โจทก์จึงยังคงมีสิทธิจัดการสินสมรสในส่วนที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังไม่ต้อง
ได้รับความยินยอมจากจำเลยโดยการถอนเงินจากธนาคารแม้หลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว ได้
จึงต้องถือตามจำนวนเงินที่มีอยู่จริงตามที่โจทก์แถลงและจำเลยยอมรับโดยไม่
โต้แย้งคัดค้านจะย้อนหลังไปถือเอาจำนวนเงินที่เคยมีอยู่จริงมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8227/2540
ช. กับโจทก์ที่ 1
เป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477
ช.ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2535 ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2
เป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ระหว่างที่ช.มีชีวิตอยู่
ช.ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้น
ช.ยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 10/141 ให้จำเลยที่ 2
และมีการเปลี่ยนคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์
เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างสมรสโจทก์ที่ 1 และ ช.
ได้หย่าขาดจากกันประกอบกับที่ดินมรดกนั้น ช.
ได้รับมาก็ไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด กรณีจึงเป็นที่สงสัย ต้องสันนิษฐานว่า
ที่ดินมรดกดังกล่าวเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
ดังนี้เงินที่ ช.ได้มาจากการขายที่ดินดังกล่าวแล้วนำไปฝากธนาคาร
เมื่อเป็นการได้ทรัพย์สินมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ขณะนั้นมาใช้บังคับจะนำกฎหมายลักษณะผัวเมียมาใช้
บังคับหาได้ไม่ เงินที่ช. ได้จากการขายที่ดินมรดกจึงเป็นสินสมรส การที่ ช.
นำเงินดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลของสินสมรสไปซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ที่พิพาท
ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์ที่ 1 กับ ช.
ซึ่งในการจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 การที่ ช.ยกที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่
2 โดยไม่ได้ รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรส โจทก์ที่
1จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ระหว่างช. กับจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
185/2536
จำเลยได้รับยกให้ที่ดินภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ
บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519
เมื่อหนังสือยกให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงต้องถือว่าที่ดินของจำเลย
เป็นสินส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3)
จำเลยจึงมีอำนาจจัดการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ใน
ที่ดินดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากภริยา จึงมีผลผูกพันจำเลย
สัญญาประนีประนอมยอมความ
มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนที่ดินเป็นภารจำยอมให้โจทก์เป็นสัญญาก่อตั้ง
ภารจำยอมในที่พิพาท เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา
โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนได้
มาตรา ๑๔๗๒
สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี
หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน
ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3786/2546
ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา
แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่
ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่
จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสิน
สมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่
ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการ
ฟ้องหย่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ที่ดินที่จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่ชายจำเลย
เป็นทรัพย์สินที่มีมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์
อันถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลย และมีการนำไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินพิพาท 2 แปลง
ทรัพย์สินที่ได้มาใหม่จึงย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลย
เพราะเป็นการได้ที่ดินมาแทนทรัพย์เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1472
วรรคหนึ่ง
โจทก์นำเงินของโจทก์ไปเป็นเงินดาวน์รถยนต์วอลโว่ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยัง
มิได้หย่าขาดจากกัน ประกอบจำเลยยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสองว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสมิใช่
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสรถยนต์วอลโว่จึงมีสถานะเป็นสินสมรสซึ่ง
จำเลยต้องได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง
เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสิน
สมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533
ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมา
แบ่งกันตามส่วน
แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่า
ซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3832/2540
ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่172
เดิมมีชื่อ ส.ภริยาเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 173
มีชื่อ บ.สามีเป็นเจ้าของ ส.และ
บ.ต่างนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้กับ อ.มีกำหนด 5 ปี
แล้วไม่ไถ่ถอน ต่อมา บ.ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจาก อ. ซึ่งขณะนั้น
บ.และ ส.เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เงินที่นำไปซื้อที่ดินเป็นเงินจากการขายสวนของ
บ.ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง บ.และ ส. ดังนั้น
ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสระหว่าง บ.และ ส.
มาตรา ๑๔๗๓
สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4382/2540
โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จำเลยหามาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กิน
ฉันสามีภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส
จึงเท่ากับโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่ก่อนสมรสอันเป็น
ทรัพย์สินส่วนตัวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1471
(1)ซึ่งแต่ละฝ่ายในฐานะเจ้าของย่อมมีอำนาจจัดการเองได้โดยลำพังตามมาตรา 1473และมาตรา
1336 แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน
ก็ไม่ทำให้สินส่วนตัวนั้นกลับเป็นสินสมรสได้ หรืออีกนัยหนึ่ง
การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดร่วมกันของสามีภริยาที่มีอยู่ก่อนสมรส
แม้จะยังไม่แบ่งปันกันเป็นสัดส่วนภายหลังสมรสก็หาทำให้ทรัพย์สินนั้นกลาย เป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไปไม่
เหตุนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
กับจำเลยอยู่ก่อนการสมรส
เนื่องจากโจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป
จึงไม่ใช่การฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
อันต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 หมวด 4
ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
และการห้ามมิให้สามีหรือภริยายึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา
1487ก็ไม่ใช่บทบัญญัติห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้แบ่ง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ก่อนสมรสดังกรณีของโจทก์
เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือขอแบ่งที่ดินดังกล่าวไปยังจำเลย
จำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่แบ่งให้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1363 ได้
โจทก์จำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาด้วยความรักใคร่ปรองดองและต่างช่วยเหลือ
เกื้อหนุนกันในการประกอบอาชีพ
และได้นำเงินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อ
จำเลยคนเดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ
ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์จำเลยคนละกึ่ง
เมื่อโจทก์ได้ออกจากบ้านจำเลยไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมา
และโจทก์ไม่ได้ร่วมจัดการที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีกต่อไป
โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งที่ดินพิพาทและได้มีหนังสือเรียกให้แบ่งส่งไปถึง
จำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยห้ามไม่ให้แบ่งประกอบกับเวลาที่ขอ
แบ่งนับเป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ.มาตรา1363
โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6596/2538
การจัดการทรัพย์สินที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น
จะต้องเป็นการจัดการสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา
1480หากเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินส่วนตัวคู่สมรสฝ่ายนั้นย่อมจัดการได้เอง ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1473
คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
จึงไม่มีอำนาจฟ้องเท่านั้น
ไม่ได้ให้การเลยว่าที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงเป็นสินสมรสและการฟ้องคดีของโจทก์
เป็นการจัดการสินสมรสแต่อย่างใดคำให้การจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1962/2537
ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย
ผู้ตายขายให้แก่จำเลยแม้การซื้อขายจะเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครอง
การที่ผู้ตายขายให้จำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาทไม่
ยึดถือเพื่อตนต่อไปแล้ว
การครอบครองของผู้ตายจึงสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377
จำเลยได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทโดยนำเงินไปชำระหนี้แทนผู้ตายและ รับ
ส.ค.1มาจากเจ้าหนี้ผู้ตาย แล้วให้ ส. ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ย
ถือได้ว่าเป็นการยึดถือเพื่อตนจำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นมรดกของผู้ตาย โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย
เป็นการฟ้องร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเป็นคดีมีทุนทรัพย์
มาตรา ๑๔๗๔
สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(๑)
ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(๒)
ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(๓)
ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5278/2552
ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง
ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาระหว่างจำเลยที่ 1 และ ผ.
เจ้ามรดกเป็นคู่สมรส กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ว่าเป็นสินสมรส
ที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลง
เป็นมรดกของ ผ. กึ่งหนึ่งตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ดังนั้นการได้ที่ดินพิพาททั้ง 4
แปลงของทายาทโดยธรรมจึงเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ผ.
เป็นผู้แทนของทายาทโดยธรรมมีสิทธิจดทะเบียนการได้มาที่ดินพิพาททั้ง 4 แปลงได้ก่อน
เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและ
ได้จดทะเบียนโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลยร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8452/2551
ผู้ร้องและจำเลยที่ 1
จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส
ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส
ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ฎีกาของผู้ร้องว่า
ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540
โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า
ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าว
อ้างขึ้นมาใหม่
มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.พ.พ. มาตรา 1533
บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน"
เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1
แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว
กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่
1 เป็นเจ้าของร่วมกัน
หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอ
ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2102/2551
จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส
จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่
คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงิน
ที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดย เสน่หา
ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6244/2550
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1522
กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาล
พิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ไว้
ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจน
กว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของ
โจทก์จำเลย
ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท
บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท
และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง
รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย
ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้
แต่อย่างไร
แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย
รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส
การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว.
ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน
โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อัน
เป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534
ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533
โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับ
บิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย
จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน
จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า
ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546
เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้
ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่าง
ลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490
มาตรา ๑๔๗๕
ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ แห่งประมวลกฎหมายนี้
หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ
สามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3715 - 3716/2548
โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่
454 ซึ่งเป็นสินสมรส
เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีร้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในเอกสาร ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1475 ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี
เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมได้
คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมจึงไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม
คำขอของโจทก์ดังกล่าวพอจะถือได้ว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวม
ครึ่งหนึ่งในฐานะสินสมรสซึ่งโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่งเฉพาะทรัพย์สินที่คงเหลือ อยู่
เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายจึงย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1242/2542
เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทรวมกับโจทก์ที่ปลูกอยู่บน
ที่ดิน 2 แปลง
ซึ่งมีรั้วล้อมรอบที่ดินโดยที่ดินแปลงหนึ่งจำเลยได้รับการยกให้จากมารดา
อีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้รับยกให้จากน้องชายจำเลยโดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้โจทก์ยอมรับบุตร
ของน้องชายจำเลยเป็นบุตรของโจทก์
ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
แต่ผู้เดียวก็ตาม
แต่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยได้รับ
การยกให้จากน้องชายจำเลยด้วยความสัมพันธ์และข้อแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลใน ครอบครัว
ทั้งสองฝ่ายได้ครอบครองร่วมกันมาระหว่างอยู่กินด้วยกัน
ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน
โจทก์จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละครึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9720/2539
แม้จำเลยที่ 1
จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1
เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับโจทก์ และการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
เป็นโมฆะก็ตามแต่เมื่อในระหว่างที่จำเลยที่ 1
ซื้อที่พิพาทมายังไม่มีฝ่ายใดฟ้องให้การสมรสเป็นโมฆะตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1495
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นที่บัญญัติว่าคำพิพากษาศาลเท่านั้นจะแสดง
ว่าการสมรสใดเป็นโมฆะแล้ว จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
ยังมีอยู่ ที่พิพาทจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่
2จึงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่
2ย่อมมีสิทธิลงชื่อเป็นเจ้าของรวมในโฉนดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1475 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1326/2539
การที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขออันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้ง
สิทธิแต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ตามคำร้องของผู้ร้อง
อ้างว่าน.ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจจัดการสินสมรสไม่ได้จัดการสินสมรสให้เป็นไป
ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าผู้ร้องขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงการหย่านับแต่วันที่
ยื่นคำร้องและมีคำขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวจึง
เป็นกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับน. อันเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งจะต้องเสนอคดีต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้อง
บทบัญญัติในมาตรา1475แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเรื่องที่กฎหมายให้
สิทธิคู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีชื่อในสินสมรสที่มีเอกสารเป็นสำคัญร้องขอต่อคู่
สมรสอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารนั้นเพื่อให้ลงชื่อตนเป็น
เจ้าของร่วมด้วยและกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามคำร้องขอนั้นหาใช่
เป็นกรณีที่กฎหมายให้คู่สมรสดังกล่าวร้องขอต่อศาลไม่
มาตรา1484เป็นบทบัญญัติในหมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาดังนั้นสามีหรือ
ภริยาจะมีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ต่อเมื่อยังคงมีความเป็นสามีภริยา
กันอยู่แต่ขณะยื่นคำร้องผู้ร้องได้หย่าขาดกันด้วยความสมัครใจกับน.
ไปก่อนแล้วฉะนั้นตั้งแต่วันจดทะเบียนหย่าผู้ร้องกับน.
จึงไม่มีสิทธิหน้าที่และความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันอีกผู้ร้องจึงไม่มี
สิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว
ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1484
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3481/2538
สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้มาเมื่อปี
2525เป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 99 เดิม
เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ.
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1474แต่โจทก์จดทะเบียนสมรสก่อนวันใช้บังคับ
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ซึ่งมาตรา 7
บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ 5แห่ง ป.พ.พ.
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการ
สินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วฯ
และไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ดังนั้น
สามีโจทก์จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 มาตรา 1468
การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็น
สินสมรสเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. พ.ศ.2477 มาตรา 1469
ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์ก่อน
หากสามีโจทก์ไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผล
โจทก์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้ตาม ป.พ.พ. พ.ศ.2477 มาตรา 1475
โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามีโจทก์
ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56
ศาลล่างทั้งสองชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสีย
ให้บริบูรณ์ตามมาตรา56 วรรคสอง ก่อน แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จ
จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่อง
ความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อนแล้วดำเนินการต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
348/2538
ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายโจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท
ในฐานะเจ้าของรวมและมีสิทธิจัดการทรัพย์สินนั้นได้การที่โจทก์ฟ้องขอให้
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายใส่ชื่อตนในโฉนดที่พิพาทเป็นการทำสิ่งใด
สิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1358เมื่อ
ไม่มีข้อตกลงระหว่างเจ้าของรวมเป็นอย่างอื่นแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับ
จำเลยได้แม้ผู้ตายจะได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้อันเกี่ยวกับ
ทรัพย์สินรวมและเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับผู้ตายก็เป็นคนละกรณีกันเพราะ
โจทก์มิได้ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมจึงไม่อาจนำมาใช้ยันหรือ
ปฏิเสธมิให้โจทก์ใส่ชื่อในโฉนดที่พิพาทได้เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าว
เป็นอีกเรื่องหนึ่งในเวลาที่แบ่งทรัพย์สินรวม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
901/2536
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายมีสินสมรสเป็นเงินฝากธนาคาร
จำนวนหนึ่ง จำเลยได้ถอนเงินจากธนาคารจนหมดสิ้น โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ
และนำไปฝากไว้ที่ธนาคารอื่นโจทก์ขอให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ลงชื่อร่วมในบัญชี
เงินฝาก แต่จำเลยไม่ยินยอมเป็นการขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์โดยไม่มีเหตุผลอัน
สมควร ขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสหรือให้โจทก์ลงชื่อร่วมในบัญชีเงินฝากเช่นนี้
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะมิใช่กรณีที่โจทก์อาจร้องขอให้ศาลสั่งให้แยกสินสมรส ได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1484เพราะจำเลยมิใช่ผู้มีอำนาจจัดการสินสมรสฝ่ายเดียวก็ตาม
แต่โจทก์ก็ขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในบัญชีเงินฝากเพื่อการเบิกถอนเงิน ด้วย
เงินฝากในธนาคารเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นสินสมรสจำพวกที่มีเอกสารเป็นสำคัญซึ่ง ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1475
ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารนั้นได้ เมื่อจำเลยไม่ยินยอมกรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2013/2535
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยว
กับเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใด
ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในสินสมรส
ประเด็นของคดีนี้จึงมีว่าทรัพย์ตามคำฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่และโจทก์มีสิทธิ
ขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของรวมหรือไม่
อันมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาคดีก่อน
การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
สิทธิของสามีหรือภริยาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1475 นั้น
เป็นการที่กฎหมายกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของอีกฝ่าย
หนึ่งซึ่งไม่มีชื่อในเอกสารสำคัญให้ต้องยินยอมให้ฝ่ายนั้นลงชื่อตนเป็นเจ้า
ของร่วมด้วย โจทก์กล่าวในฟ้องแล้วว่าได้มีหนังสือขอให้จำเลยจัดการให้โจทก์ลงชื่อถือ
กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อ้างว่าเป็นสินสมรส
จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้รับหนังสือดังกล่าวของโจทก์กรณีจึงต้องถือ
ว่าจำเลยทราบคำบอกกล่าวของโจทก์แล้วเพิกเฉยอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
ที่มีตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
โจทก์จำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาระหว่างสมรสและได้มาขณะที่ใช้ประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม
การที่จะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใดในระหว่างสามีภริยาจึงต้องพิจารณา
ตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา การรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของจำเลยนั้นมิได้ระบุไว้ว่าให้เป็น
สินส่วนตัวหรือสินเดิมจึงเป็นการได้มาในฐานะที่เป็นสินสมรสตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา
1466แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม
อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้มา
สิทธิของคู่สมรสที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญตามที่
บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1475 นั้น
เป็นบทบัญญัติในหมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตราบใดที่ความเป็นสามีภริยา
ยังมีอยู่
คู่สมรสก็ยังมีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ตลอดเวลาไม่ว่าจะช้านานเท่าใด
เมื่อโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่โจทก์ย่อมจะใช้สิทธิร้องขอให้ลงชื่อ
ตนด้วยได้ตามที่กฎหมายกำหนด
โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้ล่วงเลยเวลาที่ได้สินสมรสมาแล้วนานเท่าไร
เพราะมิใช่กรณีที่จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้
คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2466/2529
เมื่อที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ซึ่งสมรสกันมาตั้งแต่พ.ศ.2475โดย
ยังมิได้หย่าร้างกันดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของ
ร่วมกันในโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1475.
จำเลยที่3เป็นบุตรของจำเลยที่1เคยทราบว่ามารดาและพี่ชายเคยถูกโจทก์ฟ้องขอ
เพิกถอนการโอนที่ดินบางแปลงมาแล้วแสดงว่าจำเลยที่3ทราบดีว่าโจทก์ก็ยังเป็น
ภริยาจำเลยที่1อยู่นอกจากนี้ในวันโอนที่ดินแปลงพิพาทก็ได้ทราบจากพนักงาน
ที่ดินแล้วว่าโจทก์เคยอายัดที่ดินแปลงนี้ไว้แต่หมดอายุแล้วแต่จำเลยที่3ก็ ยังฝืนรับซื้อที่ดินจากจำเลยที่1จึงส่อถึงเจตนาอันไม่สุจริตฉะนั้นเมื่อ
ที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จำเลยที่1จะขายที่ดินแปลงนี้จะ
ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือโจทก์ให้สัตยาบันเสียก่อนการขายนั้นจึงจะ
สมบูรณ์การที่จำเลยที่1ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่3โดยไม่ได้รับความ
ยินยอมจากโจทก์และจำเลยที่3กระทำการโดยไม่สุจริตดังนี้โจทก์จึงมีสิทธิขอ
เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงนี้ได้
มาตรา ๑๔๗๖
สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ขาย แลกเปลี่ยน
ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง
ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(๒)
ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย
สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(๓)
ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(๔) ให้กู้ยืมเงิน
(๕) ให้โดยเสน่หา
เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม
หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(๖) ประนีประนอมยอมความ
(๗)
มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(๘)
นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6193/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1476 (4)
มุ่งหมายให้การให้กู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ในการจัดการสินสมรส
การกู้ยืมเงินมิใช่ให้กู้ยืมเงินจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
การบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหากมิใช่หนี้ร่วม
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีได้เพียงสินสมรสในส่วนของลูกหนี้ตามคำ
พิพากษาเท่านั้น มิได้กระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
การที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ที่ดินสินสมรส
จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมสัญญากู้ยืมระหว่าง
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษากับลูกหนี้ตามคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3720/2548
โจทก์ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส
ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์และ ข มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอมด้วย ข.
จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทเกินกว่าส่วนของตนให้แก่จำเลยทั้งสอง ได้
เมื่อทรัพย์พิพาทส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งเป็นสินสมรสไม่ใช่ทรัพย์มรดกจึงไม่อยู่ในอายุความ
1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3392/2548
จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่
แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน
จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย
เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์
และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง
จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความ
ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและ
ต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476
วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)
จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส
แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส
และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง
รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้
เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย
186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท
นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท
ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย
ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดย
โจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง
1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส
รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย
โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9607/2544
แม้จะฟังว่าสิทธิการเช่าอาคารพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมก็ตาม
แต่การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทก็หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้อง
จัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยร่วมก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476
(1) ถึง (8) ดังนั้น
ย่อมเป็นอำนาจของจำเลยที่จัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจาก จำเลยร่วม
ตาม ป.พ.พ.1476 วรรคสอง
แม้จำเลยจะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้โจทก์โดยจำเลยร่วมมิได้รู้เห็น ยินยอมก็ตาม
จำเลยร่วมก็ไม่อาจจะเพิกถอนการโอนดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1480 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5856/2544
บิดาโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และจำเลยที่
1 และเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส
จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) เมื่อจำเลยที่
1ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2
แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส
นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 1476(1)
และเมื่อจำเลยที่ 2เบิกความยอมรับว่าก่อนซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่
1 มีสามีคือโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2
รับโอนโดยไม่สุจริตโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน
พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่
3เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้
มาตรา ๑๔๗๖/๑ สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา
๑๔๗๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา
๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้
การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา
๑๔๗๖ การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๗๖
มาตรา ๑๔๗๗
สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้
หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส
หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว
ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
812/2547
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และภริยาซึ่ง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1477 ถือว่าการที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทย่อมเป็นการสงวนบำรุง
รักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส
โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3181/2540
โจทก์กับ
ป.อยู่กินฉันสามีภริยามาก่อน ป.พ.พ.บรรพ 5 พ.ศ.2477 ใช้บังคับ
จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ดินพิพาท โจทก์กับ
ป.ได้มาเมื่อปี 2491 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ป.
การจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.พ.ศ.2477มาตรา
1468,
1473 และมาตรา 1462 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา
ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินบริคณห์
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ป.ย่อมมีอำนาจจัดการสินบริคณห์เองได้ แม้ ป.พ.พ.บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่
พ.ศ.2519 มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน และมาตรา1480 วรรคสอง บัญญัติว่า
ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง
คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ก็ตาม
แต่การใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7
ของ พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519
ป.สามีโจทก์ จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของ
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519 บัญญัติไว้
และอำนาจจัดการนั้น มาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่า
ให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย
ป.สามีโจทก์มีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจาก
โจทก์ก่อน การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ป.กับจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องขอเพิกถอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
445/2540
หนังสือให้ความยินยอมของผู้ร้องมีข้อความให้คู่สมรสของผู้ร้องคือจำเลยที่2มีอำนาจ
ทำนิติกรรมทุกชนิดเกี่ยวกับการจัดสินสมรสของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์มาตรา1477และผู้ร้องยังให้ความยินยอมแก่จำเลยที่2ให้มีอำนาจทำ
นิติกรรมทุกชนิดกับธนาคารโจทก์ได้โดยให้ถือเสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของผู้
ร้องเองเมื่อจำเลยที่2ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทบ.
แก่โจทก์โดยผู้ร้องได้ให้ความยินยอมในภายหลังถือได้ว่าหนี้ตามสัญญาค้ำ
ประกันที่จำเลยที่2เป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างสมรสผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแล้ว
จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา1490(4)แต่สินส่วนตัวของภริยาไม่ใช่ทรัพย์ที่เป็นของภริยาซึ่งตาม
กฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สิน
ที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา282วรรคท้ายโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตาม
คำพิพากษาของโจทก์แม้หนี้ที่จำเลยที่2เป็นหนี้โจทก์จะเป็นหนี้ร่วมระหว่าง
จำเลยที่2กับผู้ร้องโจทก์ไม่มีอำนาจยึดที่พิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้
ร้องเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์
มาตรา ๑๔๗๘ เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดการทรัพย์สินแต่ไม่ให้ความยินยอมหรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล
หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้
มาตรา ๑๔๗๙
การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ
หรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2850/2526
ผู้ร้องกับสามีจองซื้อบ้านและที่ดินไว้
ต่อมา อ.สามีทิ้งร้างไปผู้ร้องไม่อาจกู้เงินและจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินที่จอง
ไว้ จึงร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ อ.
จัดการขอกู้เงินพร้อมกับจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินไว้กับบริษัท ค.และอนุญาตให้อ.
จัดการโอนสิทธิการจองบ้านและที่ดินดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกต่อไป ดังนี้
เป็นการยื่นคำร้องขอแทน อ.โดยที่อ. มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำการแทน
ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอดังกล่าวได้
คำว่า"อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้"
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1478 นั้น
หมายความถึงให้ฝ่ายที่ต้องการได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีเหตุขัดข้องตามที่บัญญัติไว้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำ
สั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวแทนการให้ความ
ยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ มิใช่ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องแทน
อ.โดยอ.มิได้มอบอำนาจไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
794/2548
การที่ อ. สามีโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย
เป็นกรณีที่ อ.
จัดการสินสมรสซึ่งโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ตามประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 เมื่อ อ.
จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก โจทก์
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทได้ภายใน กำหนดเวลา
1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำดังกล่าวหรือภายใน 10 ปี
นับแต่วันจดทะเบียนขายฝาก
เว้นแต่ขณะที่ทำนิติกรรมนั้นจำเลยได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3544/2542
แม้การที่ ร.
ให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส
โดยเสน่หาแก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส
อีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479
และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี
นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่ ร. จดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยหรือภายใน 10 ปี
นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตาม มาตรา 1480 ได้ก็ตาม
แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังนี้ที่ดินพิพาทจึงยังเป็น
กรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่และจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่อง
จากได้รับยกให้จาก ร. จำเลยจึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสดังกล่าวของ ร. ให้โจทก์
การทำพินัยกรรม
มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ร.มี
กรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476
วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร.
ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่ จำเลยได้
การที่ ร. ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็น
กรรมสิทธิ์ของโจทก์
โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์
ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ
โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ของ ร. ก่อน
มาตรา ๑๔๘๐
การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา
๑๔๗๖
ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว
หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี
นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน
หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6232/2552
จำเลย ที่ 2
รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กและทราบว่าโจทก์และจำเลยที่ 1
สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1
พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 จึงทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่
1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1
เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทน แต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต
โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
ซึ่งต้องเพิกถอนนิติกรรมที่ผูกพันสินสมรสทั้งหมด
มิใช่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ยินยอมเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1849/2551
จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสาว
พ. จำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์และนาง พ.
จากนาง พ. โดยเข้าใจว่านาง พ.
เป็นหม้ายเนื่องจากโจทก์ไปมีภริยาใหม่และได้ทิ้งร้างนาง พ. จำเลยทำนิติกรรมกับนาง
พ. โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยกับนาง พ.
ซึ่งถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8738/2550
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1480 วรรคสอง เป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง
ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความจึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตาม มาตรา
193/9
ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ
ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์จะเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7674/2550
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย
จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม
แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ จำเลย
ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่
โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่ง
รวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินพิพาทได้
กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3720/2548
โจทก์ได้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส
ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสที่โจทก์และ ข มีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้ความยินยอมด้วย ข. จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทเกินกว่าส่วนของตนให้แก่จำเลยทั้งสอง
ได้
เมื่อทรัพย์พิพาทส่วนที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งเป็นสินสมรสไม่ใช่ทรัพย์มรดกจึงไม่อยู่ในอายุความ
1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
794/2548
การที่ อ.
สามีโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย เป็นกรณีที่ อ.
จัดการสินสมรสซึ่งโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ตามประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479 เมื่อ อ.
จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก โจทก์
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทได้ภายใน กำหนดเวลา
1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำดังกล่าวหรือภายใน 10 ปี
นับแต่วันจดทะเบียนขายฝาก
เว้นแต่ขณะที่ทำนิติกรรมนั้นจำเลยได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3775/2546
จำเลยกู้เงินโจทก์โดยทำสัญญาจำนองเป็นประกันไว้
และจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
แม้ที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับภริยาและจำเลยทำสัญญาจำนองโดย
ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาก็ตาม
คงมีผลเพียงว่าภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นได้ตาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน
ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
มาตรา ๑๔๘๑
สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3921/2546
ปัญหาว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นอันไร้ผลหรือไม่นั้น
เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 คู่ความก็หยิบยกขึ้นอ้างได้
การทำพินัยกรรมเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินที่จะมี
ผลเมื่อตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
มาตรา 1646 บัญญัติว่า
"บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง ? เมื่อตนตายก็ได้" นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361
วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือไม่ก็ได้"
แม้ผู้ตายและผู้ร้องจะมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8372 ก็ตาม
ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตาม
บทกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง
ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7200/2540
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับจำเลย
ซึ่งตามกฎหมายเจ้ามรดกและจำเลยต่างมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละครึ่ง
เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้ จ.สามีของโจทก์ที่ 1
เพียงหนึ่งในสี่ส่วนของเนื้อที่ทั้งหมดไม่เกินไปจากส่วนที่เจ้ามรดกเป็นเจ้า ของ
จึงอยู่ในอำนาจของเจ้ามรดกที่จะทำพินัยกรรมได้
ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับตามกฎหมาย
ขณะทำพินัยกรรมไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทราบว่า จ.สามีของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าว
ไม่มีทางได้มาซึ่งที่ดินในประเทศไทย เนื่องจากเจ้ามรดกซึ่งเป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกันเคยได้รับอนุญาตจาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ซื้อที่ดินในประเทศไทยมาก่อน จึงเข้าใจว่า จ.
คงขออนุญาตรับมรดกในส่วนของที่ดินพิพาทได้เช่นเดียวกันทั้งตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน
มาตรา 46 ก็บัญญัติให้คนต่างด้าวมีสิทธิถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ตามสนธิสัญญาต่าง
ๆ และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแม้
จ.จะไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ถือครองที่ดินได้ จ.
ก็ยังมีสิทธินำที่ดินพิพาทซึ่งรับมรดกมาจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามประมวลกฎหมาย
ที่ดินมาตรา 94 ดังนี้พินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงมิได้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
ไม่เป็นโมฆะ แม้จำเลยจะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก
แต่เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้อื่นทั้งหมดโดยจำเลยไม่ได้
รับมรดกเลย จำเลยจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1608 วรรคท้ายไม่อยู่ในฐานะเป็นทายาทของเจ้ามรดกที่ยกอายุความ 10 ปีตามมาตรา 1755
มาใช้ยันต่อ จ. ผู้รับพินัยกรรมและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ จ. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1216/2540
ส.
ผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน3 คน ซึ่งพยานทั้งสามคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของส.ไว้เป็นการทำพินัยกรรม
ถูกต้องตามแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แล้ว
แม้จะไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1671แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ก็มิได้กำหนดให้ตกเป็นโมฆะ ฉะนั้น
พินัยกรรมฉบับพิพาทจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากผู้รับประโยชน์อยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมจะมีผล
ให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ สินสมรสเป็นทรัพย์ที่
ส.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตายส.จึงมีอำนาจยกสินสมรสส่วนของตนให้แก่บุคคลใดก็ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1481
มาตรา ๑๔๘๒
ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว
คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามสมควรแก่อัตภาพได้
ค่าใช้จ่ายในการนี้ย่อมผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
ถ้าสามีหรือภริยาจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึงขนาด
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2183/2528
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์ที่
ต. ลูกหนี้โจทก์ทำขึ้นก่อนตาย โดยขอให้ทายาทของ ต. รับผิดชดใช้หนี้สินของ ต.
แก่โจทก์ด้วยนั้น แม้ปรากฏว่า ขณะฟ้อง ต.
ไม่มีทรัพย์มรดกและทายาทก็ไม่ได้รับมรดกของ ต.
การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าว
ก็เป็นการฟ้องเพื่อให้ทรัพย์ที่ ต. ยกให้บุคคลอื่น นั้นกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ต.
โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทายาทในฐานะผู้รับมรดกของ ต. ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ แต่ทายาทของ
ต. ก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
การที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาพิพากษายกฟ้องผู้
ใต้บังคับบัญชาของ ต. ในข้อหายักยอกเงินของโจทก์แล้ว แต่ ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และมีหน้าที่รับผิดชอบใน
เรื่องการเงินของโจทก์
ก็ยังทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินของทางราชการที่ขาดหายไปให้แก่
โจทก์แสดงว่า ต.
คงจะรู้ว่าตนปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้เช่นนั้น ดังนี้
จะถือว่า ต.ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมหาได้ ไม่
หนี้ที่ ต.
ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส เนื่องจาก
ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ
จนต้องรับผิดชดใช้เงินให้ทางราชการนั้น
มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิมหรือมาตรา
1490 ใหม่
ที่ดินที่บิดาจำเลยที่ 1
ยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลย ที่ 1 สมรสกับ ต.แล้ว และการยกให้มิได้ระบุว่าให้
เป็นสินส่วนตัว ถือเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยกให้ ต. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่ครึ่งหนึ่ง.
กรณีที่ ต.
ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินและรถยนต์
พิพาทและต.มีหนี้ที่ค้างชำระอยู่เป็นเงินถึง 153,342 บาทเศษ ซึ่ง ต.
รู้ดีว่าการผ่อนชำระให้แก่โจทก์ เดือนละ 300 บาท ย่อมไม่ทำให้หนี้หมดไปในขณะที่
ต.ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น การที่ ต. ให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นภริยาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและรถยนต์พิพาทที่เป็นเจ้าของอยู่ด้วย ครึ่งหนึ่ง
ให้แก่บุตรโดยเสน่หาย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้
แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่ก่อหนี้ขึ้นโดยตรง
แต่เมื่อจำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้แก่โจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทของ
ต.และโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจาก จำเลยได้
มาตรา ๑๔๘๓
ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าสามีหรือภริยาจะกระทำ
หรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายถึงขนาด
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้
มาตรา ๑๔๘๔
ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส
(๑)
จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
(๒)
ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
(๓) มีหนี้สินล้นพ้นตัว
หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
(๔)
ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๕)
มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง
ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร
และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
293/2518
เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นสามีได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่
2 ผู้เป็นภริยาทำไว้กับโจทก์แล้ว
ย่อมมีผลทำให้สัญญาค้ำประกันนั้นในส่วนที่ผูกพันสินบริคณห์ตกเป็นโมฆะ
แต่ยังสมบูรณ์อยู่เฉพาะในส่วนที่ผูกพันสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2
โจทก์จะต้องบังคับชำระเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2
ไม่มี หรือมีไม่พอ และโจทก์ประสงค์จะบังคับชำระหนี้เอาจากส่วนของจำเลยที่ 2
ในสินบริคณห์ โจทก์ต้องร้องต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ระหว่างจำเลยที่ 2
กับผู้ร้องเสียก่อน แล้วจึงนำยึดส่วนของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ โจทก์จะนำยึดสินบริคณห์ก่อนขอแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยที่
2ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3392/2548
จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่
แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน
จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย
เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์
และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง
จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความ
ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและ
ต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476
วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)
จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส
แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส
และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง
รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้
เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้
และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท
และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท
นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย
ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดย
โจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง
1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส
รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย
โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)
มาตรา ๑๔๘๔/๑
ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของสามีหรือภริยาตามมาตรา
๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ หรือมาตรา ๑๔๘๔
ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้ามหรือ
จำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๑๔๘๕
สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้
ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3445/2524
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่นั้นกำหนดไว้เป็นหลักทั่วไปให้สามีและภรรยาเป็นผู้จัดการสิน
สมรสร่วมกัน เว้นแต่จะมีสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสระบุไว้เป็นอย่างอื่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1485
หมายถึงการจัดการสินสมรสแก่ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินที่มี
ค่ามากหรือมีความสำคัญเป็นพิเศษซึ่งสามีหรือภรรยาร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้
จัดการทรัพย์สินดังกล่าวโดยลำพังหรือเข้าร่วมจัดการด้วยได้ไม่ว่าคู่สมรสจะ
มีสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาระหว่างสมรสตกลงกันไว้อย่างไร
สามีหรือภรรยาก็อาจร้องขอต่อศาลไม่ให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวหรือถ้า
ไม่มีทั้งสัญญาก่อนสมรสและระหว่างสมรส สามีหรือภรรยาก็อาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสดังกล่าวแต่ผู้เดียว
อันเป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไป ทั้งสองกรณีนี้
ผู้ร้องขอต่อศาลจะต้องแสดงให้เห็นว่าการที่จะทำเช่นนั้น จะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า
กรณีของโจทก์
โจทก์ต้องการเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกับสามีตามอำนาจที่มีอยู่แล้วเท่านั้น
โจทก์จึงไม่อาจอาศัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1485
ร้องขอให้ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้
มาตรา ๑๔๘๖
เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดตามความในมาตรา ๑๔๘๒ วรรคสอง มาตรา ๑๔๘๓
มาตรา ๑๔๘๔ มาตรา ๑๔๘๔/๑ หรือมาตรา ๑๔๘๕ อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอหรือตามมาตรา ๑๔๙๑
มาตรา ๑๔๙๒/๑ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๑๗ หรือเมื่อสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14884/2558
ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก)
บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่
1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82
ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว
มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน
ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว
ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1
ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง
มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา
ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก.
ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1300
ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่
1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น
โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต
และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น
แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้
โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 287
โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน
อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850
ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852
แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่
1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า
"ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง"
แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ
ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่
2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน
อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1
ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516
และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว
ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523
ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1
ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่
1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1
ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12346/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า
สินสมรสได้แก่
ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ
เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า
หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส
ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน
และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471
(3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่
ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น
เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่
ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1
ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา
โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1
แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1
โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1
นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น.
ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้
ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่
1 เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10451/2558
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พ.
ซึ่งได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2520 อันเป็นเวลาภายหลังที่บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้ว
ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา
พ. มีทรัพย์สินเป็นที่ดินราคาเป็นหมื่นล้านบาท
เมื่อเทียบกับที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่จำเลยที่ 1 บุตรของ พ.
กับภริยาคนก่อนซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ.
ก็เคยยกที่ดินให้แก่บุตรทั้งสามคนที่เกิดกับโจทก์ การยกที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่
1 จึงเป็นการยกให้แก่บุตรทุกคนอย่างเสมอกันตามกำลังทรัพย์ของผู้ยกให้
จึงเป็นการให้โดยเสน่หาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
ตาม มาตรา 1476 (5)
แม้โจทก์จะไม่ให้ความยินยอมก็ฟ้องเพิกถอนการให้โดยเสน่หาระหว่าง พ. กับจำเลยที่ 1
ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3604/2558
โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสองมิได้ให้การโต้แย้งถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจริง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ดังนั้น
กรณีจึงถือว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลบังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นคู่สัญญา และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852
นั่นคือ การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อจำเลยที่ 1
เข้าผูกพันตนตามสัญญากับโจทก์ยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของบุตรทั้งสองเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว
โดยจำเลยที่ 1 จะไม่โอนขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเด็ดขาด
แม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือ บุตรทั้งสอง
และบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในสัญญายังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นเพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะตามเงื่อนไขในสัญญาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องผูกพันตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
จะย้อนมาอ้างสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสหรือไม่อย่างไรไม่ได้
เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1
ตามที่มีอยู่เดิมเหนือที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 1
จึงได้แต่สิทธิและพันธะหน้าที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1804/2558
คดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้
ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จำเลยที่ 1
มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าเป็นการให้ที่มีค่าตอบแทนได้
ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน
เป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักเพราะโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ที่เป็นสินสมรสที่พันเอก
(พิเศษ) พ.ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์
ศาลจึงต้องวินิจฉัยในที่สุดว่าโจทก์เพิกถอนได้หรือไม่
การวินิจฉัยว่าเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนและตามหน้าที่ธรรมจรรยาจึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1776/2558
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน
ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร
จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์
ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม
แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น
จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น
เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส
จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1)
ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส
โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้
แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น
เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น
ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส
ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก
ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1490/2558
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง
หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง
ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 การที่สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น
จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้
มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน
เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้
เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1296/2558
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย
แล้วจึงจดทะเบียนสมรสต่อมาหย่าขาดจากกัน
โจทก์ออกเงินปลูกสร้างบ้านพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน
บ้านพิพาทเป็นสินสมรส ขอให้บังคับจำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย
โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการปลูกสร้าง ขอให้ยกฟ้อง คดีมีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้กึ่งหนึ่งหรือไม่
แม้พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบจะฟังไม่ได้ว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรส
เนื่องจากมีการปลูกสร้างก่อนจดทะเบียนสมรส แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์กับจำเลยร่วมกันปลูกสร้างบ้านพิพาทโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน
โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลย
การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยแบ่งบ้านพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
ถือไม่ได้ว่าเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือเกินไปกว่าคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
495/2558
ที่ดินและบ้านพิพาท ป.
ผู้ตายซื้อมาและปลูกสร้างหลังจาก ป. และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน
จึงเป็นสินสมรส เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อน
ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งทันทีที่ ป. ถึงแก่ความตาย
ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ป. เมื่อที่ดินและบ้านส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2
มิใช่ทรัพย์มรดก น. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจจดทะเบียนโอนเป็นมรดกแก่ น.
และนำไปจดทะเบียนขายฝากให้โจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าสุจริตและเสียค่าตอบแทน
แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับ น. หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2
ย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทส่วนของตน
การจดทะเบียนขายฝากไม่ผูกพันจำเลยที่ 2
ส่วนที่ดินและบ้านพิพาทอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาท คือ จำเลยที่
1 ที่ 2 และ น. คนละส่วนเท่า ๆ กัน การที่ น. จดทะเบียนที่ดินและบ้านพิพาทโอนเป็นของตนแต่ผู้เดียวและนำไปขายฝากให้โจทก์
ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจของการจัดการมรดก หากจำเลยที่ 1 ที่ 2
ในฐานะทายาทเห็นว่า ไม่ถูกต้องและทำให้ตนได้รับความเสียหาย
ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก น. ได้
การที่โจทก์จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป.
โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริต จึงชอบและผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ น. ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1724 วรรคหนึ่ง
เมื่อการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกชอบและไม่มีการไถ่การขายฝาก
กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านส่วนนี้จึงตกเป็นของโจทก์
โจทก์จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยมีส่วนเท่า ๆ กัน
การที่จำเลยที่ 2
ขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้าใช้สอยทรัพย์พิพาท
จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5
ซึ่งอาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทกระทำการขัดขวางมิให้โจทก์เข้าใช้ทรัพย์พิพาท
จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
277/2558
ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่
1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม
โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15
วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1
สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา
ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1
ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1
ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม
แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1
มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก
สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส
แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจบอกล้างได้
ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์
โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
19772/2557
การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย
การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15
กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้
ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545
การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่
เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์
ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย
และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้
ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน
ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14174/2557
โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง อ.
กับจำเลย โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ
ก. และ อ. ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ เมื่อ ก.
บิดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ
ก. ด้วย แต่ อ. มารดาโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา
โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ
ก. และ อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว
คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก.
และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ก. หรือไม่
จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก
เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1754 วรรคสี่
ที่บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น
มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย"
แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่า ก. ถึงแก่ความตายเมื่อใด แต่ตามคำฟ้องระบุว่า ก.
ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่ อ. ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท
เมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่ ก.
ถึงแก่ความตายแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่
แม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ก. ก็ตาม แต่ อ.
ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1635 จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของ อ. ทายาทโดยธรรมของ ก.
ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14040/2557
โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันและซื้อที่ดินพร้อมบ้านภายหลังจดทะเบียนสมรส
แม้ที่ดินและบ้านระบุชื่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส
จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยได้มาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)
ซึ่งโจทก์และจำเลยต้องนำมาแบ่งกันเมื่อขาดจากการสมรสโดยได้ส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1533 การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างสมรสกับจำเลย
แม้ส่วนของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวนั้น
การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจะฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 86
แต่การได้ที่ดินมามิใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะจำเลยยังมีสิทธิได้รับผล ตาม
ป.ที่ดิน มาตรา 94
ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินพิพาทเท่านั้น
ไม่รวมบ้านซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพิพาทด้วยเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13723/2557
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส
โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด
ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด
ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด
คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้
จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม
ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12250/2557
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น
ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม
เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น
เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย
แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท
แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว
ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย
ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น
ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น
จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม.
จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ
แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม
ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว
จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย
โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท
การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน
และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย
การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10513/2557
การที่ อ. ภริยา
ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส
นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา
1480 วรรคหนึ่ง
แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท
โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก
ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน
เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน
และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่
แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น
ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10361/2557
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1
และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่
และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8
มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน
แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน
นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้
คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง
อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8917/2557
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่
และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่
68
ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้ ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478
จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้
ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า
บทบัญญัติ บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ
มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ.
จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้
ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ
จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8624/2557
การที่ทายาทจะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนสมาชิกที่ตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินได้ตาม
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 30 นั้น
ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา
22 ก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาคัดเลือกทายาทจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของทายาท
จึงไม่ใช่สิทธิตกทอดแก่ทายาทในทันทีที่สมาชิกตาย ภายหลังที่ ม. ถึงแก่ความตาย
จำเลยและ บ. ไปยื่นคำร้องต่อนิคมสร้างตนเองลำตะคลอง
เพื่อขอรับสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน ม.
และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยและ บ.
มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงประกาศจัดสรรที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยและ
บ. ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย
หลังจากที่จำเลยได้สิทธิครอบครองตามประกาศดังกล่าวจำเลยได้ทำกินกับโจทก์ในที่ดินพิพาท
แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในเอกสารสิทธิและไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคลองก็ตาม
แต่โจทก์ในฐานะภริยาของจำเลยก็ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทำกินหาผลประโยชน์จากที่ดินพิพาทรวมทั้งผลประโยชน์ที่หาได้จากที่ดินพิพาท
ที่ดินพิพาทย่อมเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลย แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเงื่อนไขว่า
ภายในห้าปีนับแต่ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์จะโอนแก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ตาม
แต่ก็มิใช่ข้อห้ามโดยเด็ดขาด
เมื่อล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยก็ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป
อันเป็นผลมาจากการที่จำเลยได้สิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ยังเป็นสามีภริยากับโจทก์นั่นเอง
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรส
จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และมาตรา 1533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7677/2557
ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก
ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3
จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว
ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ
ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3
ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4
และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3
เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก
ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3
เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5
จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง
โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5
โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5
ในฐานะทายาทโดยธรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7031/2557
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว.
ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1)
แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก
จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์
ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้
เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา
1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6509/2557
เมื่อขณะที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ท.
กับจำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11852 เนื้อที่
3 ไร่ ให้แก่ ท. นั้น ท. กับโจทก์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ ท.
จะถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและปัจจุบันยังมิได้มีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความกับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม
แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิของ ท.
ที่จะได้รับที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วต้องสูญสิ้นไป
และสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่
ท. กับโจทก์ได้มาในระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ซึ่งย่อมมีผลทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่
11852 เนื้อที่ 3 ไร่ ที่ ท. จะได้รับตามสิทธินั้นตกเป็นสินสมรสระหว่าง ท.
กับโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ท.
ในที่ดินดังกล่าวคนละครึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4246/2557
ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
มี ป.พ.พ. มาตรา 1480
บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า
ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้
เมื่อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยแก่บุคคลโดยทั่วไประบุว่าจำเลยที่ 2
ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก
ย่อมทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มีผลให้เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่
2 สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ส่วนข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร
เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจเพิกถอนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1222/2557
คำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า
ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง
เป็นคำให้การที่ไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบในเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องชัดเจนว่า
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
(1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1
ขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่อาจนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199
แต่จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง การจัดการสินสมรสที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสตามมาตรา
1476 คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมได้
เว้นแต่ในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำว่า
โดยสุจริต หมายความว่า
บุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมกับคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโดยมิได้ล่วงรู้ว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 2
ทำนิติกรรมซื้อที่ดินโดยรู้แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์มิได้ยินยอมให้ทำนิติกรรม
จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 3
ซื้อที่ดินพิพาทโดยมิได้สนใจไปดูที่ดินพิพาทและจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2
ให้ไปไถ่ถอนที่ดินด้วยเงินจำนวนมากโดยมิได้มีหลักประกันใดว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลง
และชำระราคาที่ดินที่เหลือโดยไม่ปรากฏหลักฐาน
ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยสุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6870/2556
จำเลยที่ 2 และที่ 3
ให้การต่อสู้ว่าข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2
เป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเจ้าของรวม แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3
จะอุทธรณ์อ้างว่าต้องนำบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนมาใช้บังคับก็เป็นข้อที่คู่ความหยิบยกเอาข้อกฎหมายมาปรับใช้แก่ข้อเท็จจริงในคดีอันเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลโดยเฉพาะ
และหากศาลเห็นว่าข้อกฎหมายที่คู่ความอ้างมาไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะปรับบทกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเองได้
อุทธรณ์ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้น
แม้ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์จะเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่
1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่นก็ต้องถือว่าในส่วนที่จำเลยที่ 1
มีกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
เพราะสินสมรสไม่จำต้องเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองเป็นฝ่ายร่วมกันทำมาหาได้
หากแต่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาก็ย่อมมีผลให้เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
(1) โดยไม่จำต้องมีข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมก่อนจึงจะเป็นสินสมรส
การที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินซึ่งส่วนของจำเลยที่
1 เป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมตามปกติตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1364 หากแต่มีลักษณะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสินสมรสตาม
ป.พ.พ. มาตรา 850 และเป็นการจัดการสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (6)
วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อโจทก์มิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว
โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมแบ่งทรัพย์สินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 3
เพราะการจำหน่ายตัวทรัพย์สินจะกระทำได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 1
ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 จึงกระทำการโดยไม่สุจริตและไม่มีสิทธิดีไปกว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3
เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6337/2556
ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ
ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป
ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า
การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย...
การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน
เมื่อได้จดทะเบียนสมรส...
การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว
และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา...ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย
ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น
ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ
ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย
ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้
เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา
กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ
ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน
และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น
แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย
โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า
และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว
เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า
ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป
แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า
มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ
เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
566/2556
ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า
โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ
กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป
พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน
และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ
5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย
การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน
มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก
ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้
แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
18894/2555
การที่ผู้ตายกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่ผู้ตายฟ้องหย่าจำเลย
และมีข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่าผู้ตายจะโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย
เป็นเรื่องของการหย่าโดยความตกลงและมีข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
แม้จะเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติไว้ว่า
ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน
ก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ทั้งเป็นข้อตกลงให้โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ตายเท่านั้น หาใช่โอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่มีอยู่แล้วโดยผลของกฎหมายไม่
ข้อตกลงระหว่างผู้ตายกับจำเลยจึงมิใช่การจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย
หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้ตามคำพิพากษาตามยอม
เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย
กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมเป็นของจำเลยโดยสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียว
จำเลยจึงมีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ต้องส่งมอบแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14736/2555
การที่ทรัพย์สินใดจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งมวลประกอบกัน
ลำพังการลงลายมือชื่อรับรองต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเงินทั้งหมดที่ซื้อเป็นสินส่วนตัวของจำเลยซึ่งเป็นคนไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว
เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นเท่านั้น
แต่เมื่อพยานหลักฐานทั้งหมดรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว
ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยร่วมกัน
การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3
พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์ก่อน หากไม่ชำระเงินจึงยึดที่ดินมาขายทอดตลาดนำเงินที่ได้จากการขายมาแบ่งกัน
จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13718/2555
เงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก่อนที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน
เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและบ้าน
ที่ดินและบ้านที่ซื้อจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลย การจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังไม่มีผลทำให้ที่ดินและบ้านดังกล่าวกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด
จึงยังคงเป็นสินส่วนตัวของทั้งโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12772/2555
สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1
เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่
2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1
จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476
(1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3)
ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส
ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม
ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1
ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476
วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2
โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
11691/2555
หนี้ระหว่างสมรสที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมรับผิดคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว
3 ชั้น เมื่อปี 2532
เพื่อให้จำเลยและบุตรอยู่อาศัยซึ่งระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า
ต่อมาเดือนตุลาคม 2543 โจทก์ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ตราด จำกัด และเดือนตุลาคม
2546 ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ ระยอง จำกัด
เพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว ดังนั้น
ที่ดินพร้อมตึกแถวจึงเป็นสินสมรสและหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่โจทก์และจำเลยเป็นลูกหนี้ร่วมกันและต้องรับผิดร่วมกัน
ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องแย้งให้จำเลยร่วมรับผิดในคดีก่อนได้อยู่แล้ว
เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสในคดีก่อนที่โจทก์อาจดำเนินคดีได้ไปในคราวเดียวกัน
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7890/2555
แม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและมีการขายทอดตลาดจะเป็นสินสมรส
อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านกับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง
ผู้คัดค้านคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
เพราะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหากมิใช่หนี้ร่วม
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีจากสินสมรสได้เพียงในส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เท่านั้น
มิอาจกระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังนั้น
ปัญหาว่าหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อโจทก์เป็นหนี้ร่วมโดยผู้คัดค้านได้ให้สัตยาบันหรือมีหนังสือให้ความยินยอมดังที่โจทก์อ้างหรือไม่
จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยไม่
เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏในคำฟ้อง
คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำขอยึดทรัพย์ระบุว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย
กรณีจึงยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลว่าเป็นหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้างเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดกึ่งหนึ่งจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปได้
การที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสและหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วม
ไม่ทำให้การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6292/2554
จำเลยที่ 1
จดทะเบียนสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ในเวลาห่างกันเพียง 20 วัน
และอยู่กินฉันสามีภริยาทั้งกับโจทก์และจำเลยที่ 2
ในลักษณะเป็นครอบครัวเดียวกันมานานถึงประมาณ 20 ปี โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
ทรัพย์สินตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้น
เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาดังกล่าวโดยไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของคนละเท่าใด
กรณีต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จึงต้องแบ่งทรัพย์เป็นสามส่วนเท่าๆ
กัน และมีสิทธิคนละหนึ่งส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1596/2554
ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย
โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย
และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย
ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474
หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง
เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย
และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า
ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่
เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย
ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842
- 845/2518
โจทก์เป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2
เป็นบุตรของจำเลยที่ 1
เกิดกับภริยาคนก่อนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสและเลิกร้างกันไปแล้วส่วนจำเลยที่ 3
ถึงที่ 7 เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินให้บุตรเหล่านี้ทุกคนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็น
หนังสือ ที่ดินมีโฉนดอันเป็นสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2
นั้นมีเนื้อที่เพียง 65 ตารางวาจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เอง
และได้สมรสแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากแล้ว และไม่ปรากฏว่าขณะที่ยกให้นั้น จำเลยที่ 1
ไม่มีหลักทรัพย์อันมีค่าอย่างอื่นอีก
ถือได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1473(3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิให้ได้ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 524/2506)
ที่ดินตาม น.ส.3
อีกแปลงหนึ่งเป็นที่ดินที่มารดายกให้จำเลยที่ 1 โดยระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว
แม้จะไม่ได้จดทะเบียนไว้ก็ไม่สำคัญเพราะขณะที่ยกให้นั้นยังไม่มีโฉนดหรือ
หนังสือสำคัญ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่134/2513) จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกให้จำเลยที่
2 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
จำเลยที่ 1
ยกที่ดินมีโฉนดอันเป็นสินสมรสแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่
1 เองที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่เพียง 2 งานศษและเมื่อให้แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1
ยังมีทรัพย์ร่วมกันอีกมากถือได้ว่าเป็นการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา1473(3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน ส่วนจำเลยที่1
ยังให้ที่ดินสินสมรสแก่จำเลยที่ 3 อีกแปลงหนึ่งแม้จะมีราคาเพียง 70,000 บาท
แต่มีเนื้อที่ถึง 7 ไร่เศษและไม่จำเป็นต้องให้อีก
เพราะได้ให้ไปแปลงหนึ่งแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมดี
และอาจทำให้ฐานะของโจทก์ตกต่ำลงได้ จึงสมควรเพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินแปลงนี้
ส่วนที่จำเลยที่ 1
ยกที่ดินสินสมรสแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 7 โดยที่ได้ยกให้ไปสองแปลงแล้ว
ถือว่าไม่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีฯ จึงต้องเพิกถอนเช่นกัน
มาตรา ๑๔๘๗
ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้
เว้นแต่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติ
หน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่างสามีภริยาตามที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวล
กฎหมายนี้หรือที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้สามีภริยาฟ้องร้องกัน เองได้
หรือเป็นการยึด หรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้
ชำระตามคำพิพากษาของศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4382/2540
โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จำเลยหามาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กิน
ฉันสามีภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส
จึงเท่ากับโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่ามีอยู่ก่อนสมรสอันเป็น
ทรัพย์สินส่วนตัวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1471
(1)ซึ่งแต่ละฝ่ายในฐานะเจ้าของย่อมมีอำนาจจัดการเองได้โดยลำพังตามมาตรา
1473และมาตรา 1336 แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกัน
ก็ไม่ทำให้สินส่วนตัวนั้นกลับเป็นสินสมรสได้ หรืออีกนัยหนึ่ง
การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดร่วมกันของสามีภริยาที่มีอยู่ก่อนสมรส
แม้จะยังไม่แบ่งปันกันเป็นสัดส่วนภายหลังสมรสก็หาทำให้ทรัพย์สินนั้นกลาย
เป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไปไม่
เหตุนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน กับจำเลยอยู่ก่อนการสมรส
เนื่องจากโจทก์จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป
จึงไม่ใช่การฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
อันต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 หมวด 4
ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการห้ามมิให้สามีหรือภริยายึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1487ก็ไม่ใช่บทบัญญัติห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องอีกฝ่ายหนึ่งให้แบ่ง
ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมที่มีอยู่ก่อนสมรสดังกรณีของโจทก์
เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือขอแบ่งที่ดินดังกล่าวไปยังจำเลย
จำเลยได้รับหนังสือแล้วไม่แบ่งให้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งที่ดินตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1363 ได้
โจทก์จำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาด้วยความรักใคร่ปรองดองและต่างช่วยเหลือ
เกื้อหนุนกันในการประกอบอาชีพ
และได้นำเงินที่โจทก์จำเลยทำมาหาได้ร่วมกันไปซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อ
จำเลยคนเดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ
ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์จำเลยคนละกึ่ง
เมื่อโจทก์ได้ออกจากบ้านจำเลยไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมา
และโจทก์ไม่ได้ร่วมจัดการที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีกต่อไป
โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งที่ดินพิพาทและได้มีหนังสือเรียกให้แบ่งส่งไปถึง
จำเลยแล้ว
ไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยห้ามไม่ให้แบ่งประกอบกับเวลาที่ขอ
แบ่งนับเป็นโอกาสอันควรตาม ป.พ.พ.มาตรา1363
โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทตามส่วนได้
มาตรา ๑๔๘๘
ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส
ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน
เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8995/2544
บ.
จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ 6 ธ.ค. 2501
ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยอีกเมื่อ 16 มี.ค. 2505 ป.พ.พ. บรรพ 5 (เดิม)
มาตรา 1488 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า
บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น
เมื่อในขณะที่ บ. ซื้อที่พิพาทยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ.
กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังชอบอยู่
ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของทั้ง บ.
โจทก์ และจำเลย
แม้ บ.
จะมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไปตามกฎหมาย แต่การที่ บ.
ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา อันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคมโดยมิได้รับความ
ยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนให้ขึ้นใช้บังคับ
มาตรา ๑๔๘๙
ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6452/2539
หนี้คดีนี้เป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1490
ซึ่งจำเลยและผู้ร้องจะต้องร่วมกันรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมโจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้
จากสินสมรสได้ทั้งหมดเมื่อจำเลยนำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง
จำเลยกับผู้ร้องไปจำนองเป็นประกันโจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จาก
ที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสได้ทั้งหมดโดยไม่จำต้องฟ้องผู้ร้องเป็น
จำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1489ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกัน
ส่วนของตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
523/2534
แม้หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยจะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งเคยเป็นสามี
ภริยากันหรือไม่ก็ตาม
โจทก์ก็จะนำยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีไม่ได้
มาตรา ๑๔๙๐
หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(๑)
หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว
การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(๒)
หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(๓) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(๔)
หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6244/2550
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1522
กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาล พิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู
ไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง
ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจน
กว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของ
โจทก์จำเลย
ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท
บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง
รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย
ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์
ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้
แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย
รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส
การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน
โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อัน
เป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534
ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533
โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับ
บิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย
จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี
2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์
และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน
ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้
ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่าง
ลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2955/2548
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน
หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยได้ก่อขึ้นในระหว่างสมรส
แม้ตอนที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ผู้ร้องจะมิได้ร่วมอยู่ด้วยและไม่ปรากฏว่า
จำเลยนำเงินกู้มาใช้ในกิจการใดก็ตาม
แต่การที่ผู้ร้องขับรถยนต์พาจำเลยไปที่บ้านโจทก์หลายครั้งและผู้ร้องขอผัด
ผ่อนการชำระหนี้เงินกู้รายนี้ เมื่อโจทก์ทวงถาม พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเชื่อได้ว่าผู้ร้องได้ร่วมรู้เห็นและยินยอมให้
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ ถือได้ว่าผู้ร้องให้สัตยาบันหนี้ดังกล่าวแล้ว
หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)
ผู้ร้องต้องร่วมรับผิดกับจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด
ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2765/2548
จำเลยที่ 1
เป็นสามีจำเลยที่ 2
ได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านลงในที่ดินของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่
1 รู้เห็นยินยอมและมุ่งผูกพันในสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะอย่างลูกหนี้ร่วม กัน
แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ลงชื่อคู่สัญญาในสัญญาจ้างผู้เดียวก็ตาม
หนี้ค่าก่อสร้างบ้านที่จำเลยทั้งสองมุ่งหมายจะได้อยู่อาศัยต่อไปย่อมผูกพัน
จำเลยที่ 1 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ให้ร่วมรับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
มาตรา ๑๔๙๑
ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
สินสมรสย่อมแยกจากกันโดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น
มาตรา ๑๔๙๒
เมื่อได้แยกสินสมรสตามมาตรา ๑๔๘๔ วรรคสอง มาตรา ๑๔๙๑ หรือ มาตรา ๑๕๙๘/๑๗
วรรคสองแล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา
และบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส
แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
และสินสมรสที่คู่สมรสได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตามมาตรา ๑๔๗๔ (๒)
ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัวของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง
ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้วให้เป็นสินส่วนตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
337/2530
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน
โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียว ในระหว่างสมรส
จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้
แก่โจทก์
แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้ทรัพย์สินนั้นหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของ
โจทก์ และสัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้
เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และทรัพย์สินนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3)แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นต่อไป
โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินดังกล่าวได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1471(3)
ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการ
ให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวนั้น มิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้
เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
79/2529
โจทก์และจำเลยที่1เป็นสามีภริยากันต่างประสงค์จะแบ่งที่ดินสินสมรสซึ่งถือ
กรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ออกเป็นสัดส่วนได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ของที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่ในชื่อของโจทก์ผู้เดียวแล้วขายไปโดยจำเลยที่1รู้
เห็นด้วยต่อมาจำเลยที่1ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่
เหลือคือที่พิพาทในชื่อของจำเลยที่1ผู้เดียวเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลย
ที่1ได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่ายแล้วที่พิพาทจึง
หมดสภาพจากการเป็นสินสมรสตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่1จำเลยที่1ย่อมมีอำนาจ
ขายที่พิพาทโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เมื่อจำเลยที่1ขายที่พิพาท
ให้แก่จำเลยที่3โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำ
ประโยชน์ที่พิพาทและการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่3
มาตรา ๑๔๙๒/๑
ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล
การยกเลิกการแยกสินสมรสให้กระทำได้เมื่อสามีหรือภริยาร้องขอต่อศาล
และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าภริยาหรือสามีคัดค้านศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว
เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง
หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลงเพราะสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย
ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งหรือในวันที่พ้นจาก
การเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม
มาตรา ๑๔๙๓
ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว
สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับการบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน