บุตรบุญธรรม

มาตรา ๑๕๙๘/๑๙ บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี

มาตรา ๑๕๙๘/๒๐ การรับบุตรบุญธรรม ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย

มาตรา ๑๕๙๘/๒๑ การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง

ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความ ยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้ มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ ในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม ถ้าผู้เยาว์เป็นผู้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบิดาและมารดา ถ้าสถานสงเคราะห์เด็กไม่ให้ความยินยอม ให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ ในกรณีที่ผู้เยาว์มิได้ถูกทอดทิ้ง แต่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการ สงเคราะห์และคุ้มครองเด็กบิดาและมารดา หรือบิดาหรือมารดาในกรณีที่มารดาหรือบิดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจ ปกครอง จะทำหนังสือมอบอำนาจให้สถานสงเคราะห์เด็กดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจให้ความ ยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมแทนตนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้นำความในมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หนังสือมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งจะถอนเสียมิได้ตราบเท่าที่ผู้เยาว์ยังอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถานสงเคราะห์เด็กนั้น

มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแทนสถานสงเคราะห์เด็กในการ รับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๒ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๓ จะรับผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรืออยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของสถาน สงเคราะห์เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาต ตามคำขอของผู้นั้นแทนการให้ความยินยอมของสถานสงเคราะห์เด็ก

มาตรา ๑๕๙๘/๒๕ ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่ อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น

มาตรา ๑๕๙๘/๒๖ ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีก ฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยจะต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสซึ่ง เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมอยู่แล้วและมิให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับ

มาตรา ๑๕๙๘/๒๗ การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา ๑๕๙๘/๒๘ บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ หมวด ๒ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๙๘/๒๙ การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น

มาตรา ๑๕๙๘/๓๐ ถ้าบุตรบุญธรรมซึ่งไม่มีคู่สมรสหรือผู้สืบสันดานตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรมมีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ตนได้ให้แก่บุตรบุญธรรม คืนจากกองมรดกของบุตรบุญธรรมเพียงเท่าที่ทรัพย์สินนั้นยังคงเหลืออยู่ภาย หลังที่ชำระหนี้ของกองมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

ห้ามมิให้ฟ้องคดีเรียกร้องสิทธิตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึง ความตายของบุตรบุญธรรมหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่บุตรบุญธรรมตาย

มาตรา ๑๕๙๘/๓๑ การเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้วจะเลิกโดยความตกลงกันในระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้

ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดา และให้นำมาตรา ๑๕๙๘/๒๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๒๑ วรรคสอง มาตรา ๑๕๙๘/๒๒ มาตรา ๑๕๙๘/๒๓ มาตรา ๑๕๙๘/๒๔ หรือมาตรา ๑๕๙๘/๒๖ วรรคสอง ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมให้กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ

การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย

มาตรา ๑๕๙๘/๓๒ การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๑

มาตรา ๑๕๙๘/๓๓ คดีฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมนั้นเมื่อ

(๑) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๒) ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๓) ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่าย หนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้น เป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๔) ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๕) ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้

(๖) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินสามปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้

(๗) ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา และการกระทำนั้นเป็นการละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๖๔ มาตรา ๑๕๗๑ มาตรา ๑๕๗๓ มาตรา ๑๕๗๔ หรือมาตรา ๑๕๗๕ เป็นเหตุให้เกิดหรืออาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๘) ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้

(๙) (ยกเลิก)

มาตรา ๑๕๙๘/๓๔ ห้ามมิให้ฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็น เหตุให้เลิกการนั้นหรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น

มาตรา ๑๕๙๘/๓๕ การฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ให้บิดามารดาโดยกำเนิดเป็นผู้มีอำนาจฟ้องแทน แต่ถ้าบุตรบุญธรรมมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้วบุตรบุญธรรมฟ้องได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใด

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง อัยการจะฟ้องคดีแทนบุตรบุญธรรมก็ได้

มาตรา ๑๕๙๘/๓๖ การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว

มาตรา ๑๕๙๘/๓๗ เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือมีการเลิกรับบุตรบุญธรรม ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองนับแต่เวลาที่ผู้รับบุตรบุญธรรมตาย หรือนับแต่เวลาที่จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามมาตรา ๑๕๙๘/๓๑ หรือนับแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม เว้นแต่ศาลเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น

ในกรณีที่มีการตั้งผู้ปกครองของผู้เป็นบุตรบุญธรรมไว้ก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตาย หรือก่อนการเลิกรับบุตรบุญธรรม ให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไป เว้นแต่บิดามารดาโดยกำเนิดจะร้องขอ และศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอเป็นผู้มีอำนาจปกครอง

การเปลี่ยนผู้ใช้อำนาจปกครองตามวรรคหนึ่งหรือผู้ปกครองตามวรรคสองไม่เป็นเหตุ เสื่อมสิทธิที่บุคคลภายนอกได้มาโดยสุจริตก่อนผู้รับบุตรบุญธรรมตายหรือก่อน จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม

ให้พนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเป็นประการอื่นตามวรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562 
         ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
       โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557
          ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8608/2557
          การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2557
          ป.รัษฎากร มาตรา 47 (1) (ญ) กำหนดให้ลดหย่อนภาษีสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวปรากฏตามเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 36) พ.ศ.2548 คือ โดยที่มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุตร สมควรกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนหรือสามีภริยาของตน นำค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้ การหักลดหย่อนดังกล่าวย่อมไม่รวมถึงผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด ทั้งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรก็กำหนดไว้ว่า ผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาของตนจึงจะใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 47 (1) (ญ) ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11182/2555
          ภายหลังผู้ตายจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ผู้ตายมาทราบความจริงว่าได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมผิดไปจากเจตนาของตน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ดำเนินการเพิกถอนการรับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด กลับไปเล่าเรื่องราวให้แก่ จ. เขียนบันทึกความเดือดร้อนให้ผู้ตายลงลายมือชื่อไว้ แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความแสดงเจตนาของผู้ตายที่ไม่ประสงค์จะรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลเป็นการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9198/2554
         ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติว่า เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองหรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของที่แท้จริงและถูกต้อง ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีใบจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาแสดงก็ตามแต่มีสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถใช้อ้างอิงแทนกันได้มาแสดง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องของเอกสาร แต่ผู้ร้องคงมีแต่คำเบิกความลอย ๆ และไม่ได้โต้แย้งว่าสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งเบิกความว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายเคยจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ เมื่อชั่งน้ำหนักคำพยานของผู้คัดค้านและผู้ร้องแล้ว จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมแล้วตามข้อความที่ปรากฏในสำเนาทะเบียนบ้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2552
   จำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โดยกลับไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงไม่เคยกลับไปอยู่กับโจทก์อีกเลย การจงใจละทิ้งโจทก์ของจำเลยจึงมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกันตราบที่จำเลยยังไม่กลับไปอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จะฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมยังคงมีอยู่ อายุความยังไม่เริ่มนับ แม้โจทก์ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปี โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/34 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 เมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม บิดามารดาโดยกำเนิดของบุตรบุญธรรมนั้นย่อมหมดอำนาจปกครองไปตั้งแต่วันเวลา ที่เป็นบุตรบุญธรรมแล้วดังนั้นเมื่อผู้ร้องยกเด็กชายส. ให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ร้อยตรีบ. แล้วผู้ร้องกับอ. ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยกำเนิดของเด็กชายส. ก็หมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กชายส.เป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. และแม้ภายหลังร้อยตรีบ. ถึงแก่กรรมก็หาได้มีผลทำให้การรับบุตรบุญธรรมต้องเลิกหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ เด็กชายส. ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของร้อยตรีบ. อยู่ผู้ร้องกับอ. หาได้กลับมีอำนาจปกครองขึ้นมาใหม่ได้ไม่อำนาจปกครองของบิดามารดาโดยกำเนิดจะ กลับคืนมาก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1598/37เท่านั้นเมื่อเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองและผู้ร้องกับอ. ก็มิใช่เป็นผู้ได้อำนาจปกครองเด็กชายส. กลับคืนมาเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้อง ขอให้ศาลตั้งผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. ได้เมื่อผู้ร้องเป็นบิดาโดยกำเนิดและโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์ศาลฎีกาเห็นสมควรตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้มีอำนาจปกครองเด็กชายส. บุตรผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2492
นับแต่วันที่เด็กจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นมารดาของเด็กย่อมหมดอำนาจปกครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586

เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมตายไปแล้วก็ดี เด็กก็ยังเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอยู่และอยู่ในสกุลของผู้ตาย

มารดาของเด็กจะได้อำนาจปกครองเด็กอันเป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นคืนมา ก็ต่อเมื่อมีการเลิกรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1588,1589 แต่การตายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นหาได้ทำให้การรับบุตรบุญธรรมเลิกกันตามบท มาตราทั้งสองดังกล่าวไม่ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของเด็กมาฟ้องเรียกคืนโดยอ้างถึงความมรณะของผู้รับบุตร บุญธรรมนั้น คดีของโจทก์จึงชอบที่จะยกฟ้องเสีย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/92)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2539
ผู้ร้องที่1และที่3เป็นบิดาและย่าของผู้เยาว์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามเป็นการชั่วคราวซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา1585และ1586กำหนดให้บุคคลซึ่งกฎหมายระบุไว้อาจยื่นคำร้องขอให้ ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ปกครองให้ผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองแต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนที่ผู้ร้องที่ 1กับด. จดทะเบียนหย่าขาดกันอำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ที่ผู้ร้องที่1กับด. ตามมาตรา1566เมื่อคนทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดกันมาตรา1520วรรคหนึ่งกฎหมาย เปิดโอกาสให้ผู้ร้องที่1และด. ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองถ้ามิได้ตกลงกันหรือ ตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดแต่ตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่าผู้ร้องที่ 1กับด. เพียงตกลงกันให้ด. มีภาระหน้าที่ปกครองอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามเท่านั้นไม่มุ่งหมาย ถึงการใช้อำนาจปกครองและทั้งไม่มีการร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจการ ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามคงอยู่กับผู้ร้องที่1และด. ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้เยาว์ทั้งสามและเมื่อด. ตายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1566(1)ก็บัญญัติเป็นพิเศษอีกว่าให้ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตกอยู่แก่ผู้ร้องที่1โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ร้องที่ 1ซึ่งเป็นบิดามีกิริยาความประพฤติไม่เหมาะสมเพราะต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ ประหารชีวิตฐานฆ่าด. และพยายามฆ่าส. โดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ตราบใดที่ไม่มีการเพิกถอนอำนาจการปกครองเสียทั้ง หมดหรือบางส่วนตามที่มาตรา1582บัญญัติไว้ผู้ร้องที่1ยังคงมีอำนาจการปกครอง บุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กรณีจึงไม่อาจจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1585ขึ้นอีกได้เนื่องจากผู้ร้องที่1ซึ่ง เป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสามยังมีชีวิตอยู่ด้วยเหตุดังกล่าวผู้ร้องที่1และ ที่3จึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1073/2539
เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลย จำเลยในฐานะบิดาจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่ บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้เรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรจากจำเลยแทนบุตรผู้เยาว์โดยคิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำ พิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลยเพื่อแบ่งส่วนความรับผิด ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2538
การที่ศาลมีคำสั่งตั้ง ย. และผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของ พ.คนไร้ความสามารถนั้นเมื่อต่อมา ย. ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมเป็นเหตุทำให้การเป็นผู้อนุบาลสิ้น สุดลง ย.ไม่เป็นผู้อนุบาลอีกต่อไปผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอในฐานะผู้อนุบาลของ พ. ได้โดยลำพังคนเดียว ผู้จัดการมรดกถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ จัดการมรดกทำให้กองมรดกของผู้ตายไม่มีผู้จัดการเมื่อการจัดการแบ่งมรดกยังมี ข้อขัดข้องผู้ร้องในฐานะผู้อนุบาลของพ. คนไร้ความสามารถซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายจึงมีสิทธิขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2538
โจทก์เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของ ผ. พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์จำเลยที่2บิดาและผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลย ที่1 บุตรบุญธรรมของ ผ. ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกดังนี้ย่อมถือได้ว่าสิทธิ ในการรับมรดกของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึง มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าการรับบุตรบุญธรรมระหว่าง ผ. กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 ที่บัญญัติว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่าง เดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและในวรรคที่2ที่บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ2หมวด2แห่งบรรพนี้(ตั้งแต่มาตรา1561ถึงมาตรา1584/1) มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่าให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและ หน้าที่ของบิดามารดาและบุตรมาใช้บังคับแก่บุตรบุญธรรมโดยอนุโลมเท่านั้นไม่ ได้บังคับว่าจะต้องนำทุนมาตรามาใช้บังคับทั้งหมดส่วนบทบัญญัติในมาตรา 1562ที่บัญญัติว่าผู้ใดจะฟังบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้นั้น เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา29เดิม(มาตรา28ที่แก้ไขใหม่)ให้ความหมายของ คำว่าผู้บุพการีไว้ว่าหมายถึงบิดามารดาปู่ย่าตายายทวดและผู้สืบสายโลหิตกัน โดยตรงขึ้นไปตามความเป็นจริงจำเลยเป็นเพียงผู้รับโจกท์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ ใช่บิดาโจทก์จึงไม่ใช่ผู้บุพการีของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537
กรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถจะต้องตั้งคู่สมรสเป็น ผู้อนุบาลก่อนเพียงคนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การจะตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน จะไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 การจัดการสินสมรสของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/16 คือถ้าเป็นการจัดการตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้ อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2537
เมื่อ พ. รับโจทก์ที่6เป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ส. ซึ่งเป็นบิดาโดยกำเนิดย่อมหมดอำนาจปกครองโจทก์ที่ 6 นับแต่วันเวลาที่โจทก์ที่ 6 เป็นบุตรบุญธรรมของ พ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/28 และแม้ว่าต่อมา พ. จะถึงแก่กรรมอันเป็นเหตุให้ความเป็นผู้ปกครองของ พ. สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/7 เดิม การรับบุตรบุญธรรมก็หาได้สิ้นสุดลงด้วยไม่โดยนิตินัยโจทก์ที่ 6 ยังคงเป็นบุตรบุญธรรมของ พ.อยู่ บิดาผู้ให้กำเนิดเดิมจึงไม่มีอำนาจปกครองตามกฎหมาย กรณีไม่ใช่เป็นการเลิกรับบุตรบุญธรรมอันจะเป็นเหตุให้บุตรบุญธรรมกลับคืนสู่ ฐานะอย่างสมบูรณ์ในครอบครัวเดิมของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/37 เดิม ส. จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4990/2537
กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาคนใดคน หนึ่ง กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา1566(6) เมื่อเด็กหญิงว.ผู้เยาว์มีมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่แล้ว การที่จะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น มาตรา 1585 วรรคหนึ่งให้ตั้งได้เฉพาะในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูก ถอนอำนาจปกครองเสียแล้ว แต่เมื่อเด็กหญิงว. ยังมีจำเลยซึ่งเป็นมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่โดยยังไม่ได้ถูกถอนอำนาจ ปกครองกรณีจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้อีก ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองร่วมกับจำเลยตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537
ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2537
ผู้ตายจดทะเบียนรับโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรบุญธรรมโดยภริยาผู้ตายไม่ได้ให้ความ ยินยอม การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ตายกับ โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 1598/28 โจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นทายาทที่จะมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2536
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์จำเลยได้มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวและร่วมประเวณีกันหลายครั้งในระยะเวลา ที่โจทก์สามารถตั้งครรภ์ได้และทำให้โจทก์ตั้งครรภ์ในเวลาต่อมาและจำเลยเขียน จดหมายถึงโจทก์ยอมรับว่าเด็กหญิงที่คลอดจากโจทก์คือเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอ บังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้วส่วน จำเลยและโจทก์ร่วมประเวณีกันเมื่อใดที่ไหนที่เป็นเหตุให้โจทก์ตั้งครรภ์และ จำเลยยอมรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์คลอดเด็กหญิง บ. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2531 จำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์หลายครั้งในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2530ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 และจัดการให้โจทก์ไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจำเลยไปเยี่ยมโจทก์หลายครั้งพาโจทก์ไปหาแพทย์และเขียนจดหมายถึงโจทก์ หลายฉบับมีข้อความที่แสดงว่าเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ร่วมประเวณีกับชายอื่น ย่อมมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเด็กหญิง บ. มิได้เป็นบุตรของชายอื่น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับเด็กหญิง บ. เป็นบุตรของจำเลยได้ การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรมีผลนับแต่วันมีคำ พิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557(3) ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะต้องกำหนดให้นับแต่วันดังกล่าวมิใช่นับแต่ วันฟ้อง จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไร ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ชำระตามที่ศาลล่างกำหนดคือเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 10 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยให้จำเลยชำระเป็นเงินก้อนครั้งเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2536
เมื่อบิดามารดาหย่าขาดจากกันโดยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ มารดา ดังนั้น บิดาย่อมไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520,1566(6) อำนาจปกครองจึงตกแก่มารดาแต่ผู้เดียว มารดาจึงมีอำนาจให้ความยินยอมในการที่บุคคลภายนอกจะรับบุตรผู้เยาว์เป็นบุตร บุญธรรมได้เพียงลำพังโดยไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนบิดาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2534
สามีผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายให้ความยินยอมและลงชื่อท้ายบันทึกทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมว่าเป็นคู่ สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม สามีผู้ตายแต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม แม้บันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้ตายได้รับเป็นมารดาผู้ร้องด้วย ก็ไม่เป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เมื่อผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621 - 2622/2531
การที่ ป. กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อป. และผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมในวันเดียวกัน โดย ป. จดทะเบียนก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของ ป. ก่อนแล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/26การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทของผู้ตายไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2530
การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่ผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาผู้เป็นบุตรบุญธรรมด้วยดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เป็นบุตรบุญธรรมมิได้ให้ความยินยอมการจดทะเบียนรับบุตร บุญธรรมจึงไม่สมบูรณ์

แม้ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเอกสารมหาชนก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น จึงนำพยานมาสืบหักล้างได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2526
เดิมศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็น ผู้ปกครองผู้เยาว์ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็น ผู้ปกครองผู้เยาว์ ดังนั้นขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามผู้เยาว์จึงมีผู้ ปกครองอยู่แล้วซึ่งศาลจะตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์อีกไม่ได้ ทั้งกรณีของผู้ร้องก็มิใช่เป็นเรื่องการตั้งผู้ปกครองหลายคน เพราะขอตั้งคนละคราวกับผู้คัดค้าน คำขอของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1590 การที่ศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์จึงเป็น การไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2524
การที่จำเลยเรียกโจทก์ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรมว่า อ้าย นั้นเป็นการเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง และการไล่โจทก์ออกจากบ้านก็เป็นการแสดงว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์จึง มีเหตุให้ฟ้องเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1598/33(2)(4)