การสิ้นสุดแห่งการสมรส

มาตรา ๑๕๐๑ การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558
        ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2558
       ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 มีผลให้ต้องคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และ อ. ได้คนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของ อ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ โจทก์กับบุตรอีก 4 คน ของ อ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ อ. จึงต้องแบ่งให้แก่ บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน และมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม ของ อ. โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของ อ. ในส่วนของตนได้ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท นั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557
         การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่

ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2552
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715 - 3716/2548
โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 454 ซึ่งเป็นสินสมรส เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีร้องขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในเอกสาร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1475 ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงไม่อาจใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คำขอของโจทก์ดังกล่าวพอจะถือได้ว่าขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวม ครึ่งหนึ่งในฐานะสินสมรสซึ่งโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่งเฉพาะทรัพย์สินที่คงเหลือ อยู่ เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายจึงย่อมเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2547
โจทก์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะแยกกันอยู่หรือหย่ากันในทางศาสนาอิสลาม ก็จะถือว่าโจทก์จำเลยขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วมิได้ เพราะมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาปรับใช้มิได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินต้องบังคับตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย จำเลยจึงฟ้องขอแบ่งสินสมรสมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2544
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของ จ. กับ ส. มารดาโจทก์ซึ่งหย่าขาดกันแล้ว ต่อมาจำเลยกับหญิงอื่นที่อ้างชื่อเป็น ส. มารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันโดยมารดาโจทก์มิได้ทราบและมิได้ลงชื่อในฐานะคู่ สมรสฝ่ายหญิง และ เด็กหญิง ม. ไม่ได้เป็นบุตรของ ส. และจำเลย ดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการจดทะเบียนสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดย ส. ไม่ได้ไปให้ความยินยอมโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึก ความยินยอมนั้นไว้อันจะก่อให้เกิดสถานะความเป็นสามีภริยา หากเป็นจริงก็เป็นกรณีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1458 เรื่องให้ความยินยอมในการสมรสย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ โดยคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม มาตรา 1496 ดังนั้น แม้ ส. จะถึงแก่ความตายไปแล้วอันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. มารดาโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลงก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อการสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. ยังปรากฏความเป็นโมฆะอยู่โดยยังไม่มีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมกระทบ กระเทือนสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของ ส. โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. เป็นโมฆะได้

มาตรา ๑๕๐๒ การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2516
สามีฟ้องภรรยาเป็นจำเลยขอหย่าต่อศาลแพ่ง จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์ให้เป็นของจำเลยแต่ผู้ เดียว ดังนี้ แม้ศาลแพ่งซึ่งพิพากษาคดีฟ้องหย่าจะมีอำนาจชี้ขาดว่าใครเป็นผู้สมควรปกครอง บุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1502 วรรค 2 ด้วยก็จริง แต่ฟ้องแย้งที่ขอให้ศาลสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นมารดาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1538(6) นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 ข้อ 1 บัญญัติให้คดีแพ่งที่ฟ้องศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์ ซึ่งจะต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(6) อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลแพ่งไม่มีอำนาจรับฟ้องแย้งไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2506
การที่บิดามารดาหย่ากันเอง และตกลงให้บิดาเป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์นั้นตามปกติบิดาย่อมเป็นผู้จ่ายค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามควรแก่กรณี หากบิดาละเลยหรือประพฤติมิชอบให้เห็นว่าไม่สมควรแก่หน้าที่จนบุตรนั้นหนีมา อยู่กับมารดาเป็นเหตุให้มารดาต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูไปก็ดีมารดาก็ไม่มี อำนาจฟ้องเรียกเงินนั้นจากบิดาได้แต่มารดาก็อาจร้องขอต่อศาลให้ถอนบิดาจาก การเป็นผู้ปกครองเสียได้โดยขอตั้งผู้ปกครองใหม่แล้วใช้สิทธิเรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1536

มาตรา ๑๕๐๓ เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๘ มาตรา ๑๕๐๕ มาตรา ๑๕๐๖ มาตรา ๑๕๐๗ และมาตรา ๑๕๐๙

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2507
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลคดีเด็กฯ ขอให้ถอนอำนาจปกครองจากจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแทน แม้ว่าคำฟ้องของโจทก์อาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1503 เป็นหลักซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ.2494 มาตรา 8(2) ไม่ได้บัญญัติให้มาตรา 1503 นี้อยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กฯก็ตามแต่การที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งเปลี่ยนอำนาจ ปกครองจากจำเลยให้อยู่แก่โจทก์ผู้เป็นมารดาซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลจะสั่งตามบท บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(6) ด้วย และมาตรานี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ.2494 มาตรา 8(2)บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กฯ ฉะนั้นศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2506
การที่บิดามารดาหย่ากันเอง และตกลงให้บิดาเป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์นั้นตามปกติบิดาย่อมเป็นผู้จ่ายค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามควรแก่กรณี หากบิดาละเลยหรือประพฤติมิชอบให้เห็นว่าไม่สมควรแก่หน้าที่จนบุตรนั้นหนีมา อยู่กับมารดาเป็นเหตุให้มารดาต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูไปก็ดีมารดาก็ไม่มี อำนาจฟ้องเรียกเงินนั้นจากบิดาได้แต่มารดาก็อาจร้องขอต่อศาลให้ถอนบิดาจาก การเป็นผู้ปกครองเสียได้โดยขอตั้งผู้ปกครองใหม่แล้วใช้สิทธิเรียกค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรจากบิดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1536

มาตรา ๑๕๐๔ การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๘ ผู้มีส่วนได้เสียขอให้เพิกถอนการสมรสได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้

ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนชายหญิงมีอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา ๑๔๔๘ ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส

มาตรา ๑๕๐๕ การสมรสที่ได้กระทำไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรสการสมรสนั้นเป็นโมฆียะ
สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะสำคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วเก้าสิบวันนับแต่วันสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2523
ข้อตกลงตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าที่ว่า โจทก์รับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและธิดาทั้งสามเป็นผู้ส่งเสียให้การ ศึกษาเอง โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดูแต่อย่างใดทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นอันบังคับได้จนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นเรื่องสละสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นโมฆะ โจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรที่ โจทก์ได้จ่ายไปหาได้ไม่

มาตรา ๑๕๐๖ ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับในกรณีที่กลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลที่สามโดยคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย
สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉล หรือเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปี นับแต่วันสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2530
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 หมั้นและทำการสมรสกันในวันนั้นเองหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาก็มอบตัวจำเลยที่ 1 ให้ไปอยู่กินกับโจทก์ที่ 1 ทันที โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้พากันไปไหว้ พระในที่ต่าง ๆ จนถึงตอนเย็นได้รับประทานอาหารด้วยกันแล้วจึงส่งตัวเข้าหอ โดยจำเลยที่ 1 มิได้อิดเอื้อน แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีด้วยเพราะเหน็ดเหนื่อยไม่มีอารมณ์ที่จะร่วมเพศ ทั้งจำเลยที่ 1 เพิ่มมีอายุเพียง 19 ปี ไม่เคยสมรสมาก่อน อาจจะยังกลัวต่อการร่วมประเวณีจึงได้ขอผัดผ่อนไปก็ได้ โจทก์ที่ 1 จึงควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้ผัดผ่อนตามที่ร้องขอ ไม่ควรวู่วาม เอาแต่ใจตัวจะต้องร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ในคืนนั้นให้ได้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมประเวณีดังกล่าวจึงยังไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะถือว่าจำเลยทั้งสองทำกลฉ้อฉลไม่ได้ การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะ โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนและเรียกแหวนหมั้นกับเงินสินสอดคืนจากจำเลยทั้งสอง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1549/2523
คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นชู้กับจำเลยที่ 1 ภรรยาโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505(เดิม) ซึ่งกำหนดอายุความตามมาตรา 1509 ว่าสามเดือนนับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง. ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นชู้กับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 12-14 เมษายน 2519 ครบสามเดือนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2519 ซึ่ง เป็นวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับ จึงยกอายุความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 1529 ซึ่งมีกำหนด1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 มาตรา 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2791/2515
สามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้โดยไม่ได้ฟ้องขอหย่าภรรยากรณีไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505วรรคแรกแต่สามีมีสิทธิตามวรรคสองของมาตราเดียวกันนี้ฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้

การล่วงเกินในทำนองชู้สาวมีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2514
กรณีที่ภริยามีชู้หรือมีผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว อันเป็นการกระทบกระเทือนไปถึงสิทธิของสามีนั้น มีมาตรา 1505 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะให้สามีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ภริยาและชู้หรือผู้ที่ล่วงเกินนั้นได้สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วง เกินภริยาของตนในทางชู้สาวโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสามีตามมาตรา 420 ไม่ได้

ฟ้องหาว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ ในทางชู้สาวโดยกอดจูบและร่วมประเวณีแต่ได้ความว่าต่อมาโจทก์กับภริยาได้ สมัครใจจดทะเบียนหย่ากันเองเสียแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1505 วรรคแรกแม้กระนั้นก็ยังเป็นเรื่องการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาวตามวรรคสองและ ถึงแม้ว่าภริยาจะได้สมัครใจหรือยินยอมให้ล่วงเกิน สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินได้

แม้จะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว สามีก็ยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1505 วรรคสองได้

โจทก์ รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยล่วงเกินภริยาของโจทก์ในทำนองชู้สาวจนพ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1509 
(ข้อกฎหมาย 3 ข้อแรก วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2514)

มาตรา ๑๕๐๗ ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับ เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นจากการข่มขู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6868/2542
ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้จำต้องนั่ง รถยนต์ไปกับจำเลยจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีจำเลยกับพวกอย่างน้อย 2 คน คอยควบคุมตัวไว้มิให้หลบหนี ทั้งยังถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราระหว่างพักที่บ้านญาติจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นหญิงคนเดียวอยู่ในกลุ่มพวกจำเลยย่อมต้องเกรงกลัวการบังคับและ คำขู่ของจำเลยที่ว่าจะไม่พาโจทก์กลับบ้านจะทำร้ายร่างกายและพาโจทก์ไปอยู่ใน ป่าหากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย วิญญูชนที่ตกอยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมมีมูลต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตราย ต่อร่างกายและเสรีภาพของตนหากไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำข่มขู่เช่นเดียวกับโจทก์ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิ ได้มีการข่มขู่นั้นโจทก์จะไม่ทำการสมรสกับจำเลย การสมรสจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ตามคำให้การจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้งแต่อย่างใดเลยว่ามีการให้ สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะ จำเลยให้การเพียงว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ตลอดจนตัวโจทก์ยอมให้อภัยในการกระทำของจำเลย รวมทั้งยอมถอนแจ้งความที่แจ้งไว้ยังสถานีตำรวจต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งไม่เป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๕๐๘ การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสำคัญผิดตัวหรือถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สำคัญผิดตัวหรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา ๒๘ ขอเพิกถอนการสมรสได้ด้วย แต่ถ้าผู้มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นคนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ บุคคลดังกล่าวจะร้องขอเพิกถอนการสมรสก็ได้ แต่ต้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถพร้อมกันด้วย ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าวนั้นเสียด้วย

คำสั่งศาลให้ยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลตามวรรคสอง ไม่กระทบกระเทือนสิทธิการขอเพิกถอนการสมรสของคู่สมรส แต่คู่สมรสจะต้องใช้สิทธินั้นภายในกำหนดระยะเวลาที่คู่สมรสมีอยู่ ถ้าระยะเวลาดังกล่าวเหลืออยู่ไม่ถึงหกเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าวหรือไม่มีเหลืออยู่เลย ก็ให้ขยายระยะเวลานั้นออกไปได้ให้ครบหกเดือนหรืออีกหกเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอเพิกถอนการสมรสของบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1508 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสำคัญผิดตัว หรือถูกฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สำคัญผิดตัว หรือถูกฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเพียงหลานของผู้ตายแม้จะมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่มิใช่ผู้ถูกข่มขู่ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนการสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่อ้างว่าเกิดจากการข่มขู่ของจำเลยได้

มาตรา ๑๕๐๙ การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา ๑๔๕๔ การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา ๑๕๑๐ การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา ๑๔๕๔ เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา ๑๔๕๔ เท่านั้น ขอให้เพิกถอนการสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์
การฟ้องขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้ให้มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันทราบการสมรส

มาตรา ๑๕๑๑ การสมรสที่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอนการสมรสนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2509
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาได้มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นต้องตามที่บัญญัติไว้ 4 ประการ จึงให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นสามีภริยากัน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยกู้เงินโจทก์มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นหนี้ร่วม กันอันผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องชำระหนี้ด้วยเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และแบ่งทรัพย์สินกันเสร็จเรียบร้อย โจทก์ก็ไม่มีอำนาจจะยึดห้องแถวอันตกเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ได้

จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยจดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกได้ด้วย

มาตรา ๑๕๑๒ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยผลของการหย่าโดยคำพิพากษามาใช้บังคับแก่ผลของการเพิกถอนการสมรสโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2517
สามีภริยาได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1512 แล้ว ซึ่งปรากฏในทะเบียนหย่าว่าบ้านพิพาทตกเป็นของภริยาการแบ่งทรัพย์สินดังกล่าว นี้ย่อมมีผลผูกพันสามี สามีจะโต้แย้งในภายหลังว่าการแบ่งบ้านพิพาทให้นี้ยังมิได้โอนทะเบียน กรรมสิทธิ์ยังเป็นของสามีอยู่หาได้ไม่ และกรณีไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หาด้วย เมื่อบ้านพิพาทตกเป็นของภริยา ภริยาย่อมทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้อื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2513
ผู้ร้องขัดทรัพย์กับจำเลยผู้เป็นสามีจดทะเบียนหย่ากัน แม้ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันจะไม่ปรากฏอยู่ในทะเบียนการหย่าแต่ ในหนังสือแสดงความประสงค์สมัครใจหย่ากันอันเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการสำหรับ ให้คู่กรณีกรอกข้อความนั้นระบุไว้ว่า 'ในเรื่องทรัพย์สินบริคณห์ต่าง ๆ ได้จัดการแบ่งปันกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว'และได้ความว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายได้ ที่ดินพิพาท ดังนี้ ย่อมถือว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้วนับแต่วันจดทะเบียนหย่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยไม่มีอำนาจนำยึดที่พิพาทได้อีก

มาตรา ๑๕๑๓ ถ้าปรากฏว่าคู่สมรสที่ถูกฟ้องเพิกถอนการสมรสได้รู้เห็นเป็นใจในเหตุแห่งโมฆียะกรรม คู่สมรสนั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับต่อกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน เนื่องจากการสมรสนั้น และให้นำมาตรา ๑๕๒๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้า หากการเพิกถอนการสมรสตามวรรคหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง และไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส คู่สมรสที่ถูกฟ้องนั้นจะต้องรับผิดในค่าเลี้ยงชีพดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๒๖ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2519
การที่สามีจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สินเดิมของตนอันเป็นสินบริคณห์ระหว่างสามี ภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1462 ด้วยการยกให้โดยเสน่หานั้น จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากภรรยาตามมาตรา 1473 และ 1476 ประกอบด้วย 525 และ 456

คดีมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายได้ยินยอมให้ผู้ตายยกอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินเดิม ของผู้ตายให้แก่ผู้อื่นโดยเสน่หาหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ทั้งคดีไม่มีประเด็นว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม หรือเป็นการจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวหรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องชักสินสมรสไปใช้สินเดิมดังกล่าวของผู้ตายก่อน

การแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยัง มีชีวิตอยู่นั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625(1)จะไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1476 มาใช้ด้วย แต่มาตรา 1476 เป็นบทบังคับในเรื่องแบบของความยินยอม อันจะนำไปสู่บทบัญญัติเรื่องจะนำสินสมรสใช้คืนสินเดิมของคู่สมรสที่หย่าขาด จากกันได้หรือไม่เพียงใด ศาลย่อมยกขึ้นปรับกับคดีได้ หาเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1625(1) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2518
ภริยาทำสัญญาจะซื้อที่ดินชำระราคาแล้วบางส่วน เมื่อหย่ากันสิทธิตามสัญญานี้เป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งกันด้วย
สินเดิมของภริยาซึ่งสูญไประหว่างสมรส การเอาสินสมรสใช้ต้องคิดตามราคาเดิม ไม่ใช่ราคาเมื่อหย่ากัน

การแบ่งสินสมรสเมื่อหย่ากันไม่ต้องหักใช้หนี้ที่เกิดระหว่างสมรสและยังไม่ได้ ชำระเสียก่อน เป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดร่วมกันอยู่ และเป็นไปตามมาตรา 1518

มาตรา ๑๕๑๔ การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2558
โจทก์และจำเลยเป็นอิสลามศาสนิก มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส สมรสกันถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามและจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยโดยบรรยายเหตุแห่งการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาพแห่งข้อหาจึงเป็นเรื่องครอบครัว ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 ที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องใช้เหตุฟ้องหย่าตามหลักกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้แทน ป.พ.พ. มาตรา 1516 เมื่อโจทก์ได้ถูกตัดสินให้หย่าขาดจากการเป็นภริยาจำเลยโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยระบุไว้ในหนังสือการหย่าร้างว่า คำตัดสินนี้เป็นคำชี้ขาดตามหลักศาสนาและกฎระเบียบทุกประการ จึงเป็นการหย่ากันโดยชอบตามหลักกฎหมายอิสลาม มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกับการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสามารถนำไปใช้เพื่อจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เลย โดยโจทก์ไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2556
ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย... การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส... การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา...ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15984/2553
คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง

ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไปจดทะเบียนหย่าในวันที่ระบุ หลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลที่โจทก์ฟ้อง หย่าจำเลยไว้ก่อนแล้ว ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้นเมื่อยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลซึ่งมิใช่เป็น เพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าจึงยังไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2538
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฎว่าหนังสือที่โจทก์จำเลยสมัครใจจะหย่าขาดจากการเป็น สามีภริยาโดยจะไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตต่อไปนั้นมีพยานลงลายมือชื่อ เพียงคนเดียวจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1514วรรคสอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้หย่าขาดจากโจทก์ตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้

มาตรา ๑๕๑๕ เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

มาตรา ๑๕๑๖ เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(๑) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๓) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๑) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิด การกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย หรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๒) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๕) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๖) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือ ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๗) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๘) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๑๐) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559
โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559
แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276

การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558
เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2558
พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ แต่โจทก์คงมีแต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมิใช่ผู้ชำนาญกฎหมายประเทศอังกฤษมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร ซึ่งในบทบัญญัติกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ห้ามการหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส เมื่อโจทก์นำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขการหย่าและคดีนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาการหย่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่จริงของกฎหมายที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประเทศอังกฤษหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ย่อมรับฟังได้ว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่าขาดกันได้ ซึ่งต้องตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แล้ว ทำให้ศาลไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องนั้น เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่

การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของ พ. ล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่ พ. รู้เห็นด้วยตนเอง การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสซึ่งโจทก์ขอจำเลยแต่งงานโดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557
ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2557
โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นสามีอ้างเหตุว่า จำเลยทรมานร่างกายและจิตใจของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ด้วยการใช้วาจาไม่สุภาพและทะเลาะกับโจทก์โดยไม่มีเหตุผลเป็นประจำ จำเลยถือมีดทำครัวยืนขวางไม่ให้โจทก์ออกจากบ้านและขู่จะฆ่าให้ตายหากไม่นำภาพถ่ายในอดีตของโจทก์มาให้และข่มขู่จะทำร้ายโจทก์ด้วยอารมณ์รุนแรงไม่มีเหตุผล ทำให้โจทก์หนีออกจากบ้านเพราะเกรงจะถูกทำร้าย การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้มีดขู่ให้โจทก์ยอมร่วมประเวณีด้วย ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่สบายและไม่ต้องการร่วมประเวณี ทำให้โจทก์รู้สึกทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก จึงเป็นรายละเอียดแห่งเหตุหย่าตามที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้อง มิใช่การนำสืบนอกเหนือจากฟ้องตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน ให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและแบ่งสินสมรส จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเรื่องเหตุหย่าเพียงประการเดียว จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2551
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาย่อมจะมีเรื่องระหองระแหงทะเลาะกันเป็นปกติธรรมดาของ ชีวิตคู่ การที่จำเลยไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย และการที่จำเลยตบตีทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่ พนักงานสอบสวนได้ไกล่เกลี่ยก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังทะเลาะกันและจำเลยพยายามจะทำร้ายร่างกายโจทก์ พฤติกรรมดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามี ภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควร ยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550
แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำ งานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมา เบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมา ดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มา โดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและใน อนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบท บัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุ เงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการ เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540
โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง และขาดจากการเป็นสามีภริยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1501 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา1515 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหรือไม่ และการโอนขายที่ดินโฉนดพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่เท่านั้น โดยไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง รวมทั้งการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้แบ่งทรัพย์สินขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่ร่วมกันและ มิได้แบ่งกันต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมและสันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357

โจทก์ฟ้องขอใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แม้ใบคู่มือดังกล่าวมิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน รถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปี ซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้นก็ ตาม แต่ในกรณีที่เจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่ ป.พ.พ.มาตรา 1361 วรรคสอง บัญญัติว่า ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ดังนั้นการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมเป็นการคุ้ม ครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการ ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคนก่อนเป็นการ ตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้อง และถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย

ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นอกจากไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เมื่อได้ความว่าโจทก์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาท จึงสมควรพิพากษาให้โจทก์ลงชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจด ทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวได้ตามขอ

การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่า แต่เดิมสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวม และไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวม ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมี กรรมสิทธิ์รวมโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ ตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540
หนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงระบุว่า "ฝ่ายขวาและฝ่ายหญิงตกลงที่จะไปดำเนินการจด ทะเบียนหย่าในวันที่ณสำนักงานเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครหลังจากที่ฝ่ายชายและ ฝ่ายหญิงดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว" ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อนเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่ สำเร็จเพราะยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบ ครัวกลางตามที่ได้ตกลงไว้แม้จะมีการอ้างว่าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอม ยอมความกันเป็นเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ ตามแต่เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กันเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลง กรณีจะอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อ ตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าในหนังสือสัญญาบันทึกข้อ ตกลงจึงยังไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับ โจทก์ยังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2539
สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีใน ทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองกฎหมายมิได้มี เงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้อง อาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5974/2538
สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้ให้สิทธิสามีหรือภริยาบอกล้างได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันหรือภายใน หนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญา เกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสีย ประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม และเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกันได้ ดังนั้นข้อตกลงที่ว่าจะไม่ยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรส ของสามีภริยา จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม)

โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรส แม้จะตกลงหย่าขาดกันตามประเพณีศาสนาอิสลามและทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์และ ทรัพย์สินโดยมีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่าจำเลยยินยอมผูกพันตามสัญญาตลอดไป และจะไม่ยกเลิกสัญญานี้ แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมิได้จดทะเบียนหย่า ก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย สัญญาแบ่งผลประโยชน์และทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่เกี่ยว กับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6553/2537
โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า โจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ยอมหย่ากับสามีจำเลยจะไม่ดำเนิน คดีอาญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย ว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ในทำนองชู้สาวโจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง

มาตรา ๑๕๑๗ เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) และ (๒) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑๐) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๕๑๖ (๘) นั้น ถ้า ศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็ก น้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
ป.วิ.พ.มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่ คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่เพียงใด เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การและคำแถลงของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีแล้วว่ามีเหตุฟ้อง หย่าประการใดประการหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ได้ยินยอมหรือให้อภัยเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยาแล้วหรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงที่ฟังได้จะเป็นเพียงเหตุหย่าเหตุหนึ่งในจำนวนเหตุหย่าหลาย เหตุตามฟ้องก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานโจทก์ และจำเลยซึ่งถือเสมือนว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาสืบนั้นเป็นพยาน หลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงชอบแล้ว

การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความ สัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือ ยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อ เนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้ หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้ แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้ง สองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของ บุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวน เงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

มาตรา ๑๕๑๘ สิทธิ ฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็น ว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่า นั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556
แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2540
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันต่อมาจำเลยไปได้ม.เป็นภริยาโจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยศาล ไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับ โจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไปโจทก์จึงได้ถอนฟ้องไปปรากฏว่าหลังจาก ถอนฟ้องแล้วจำเลยยังคงอยู่ร่วมกับม. ฉันสามีภริยาต่อมาการที่โจทก์ยอมถอนฟ้องก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยการ กระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้าย แรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(6)

มาตรา ๑๕๑๙ ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตและมีเหตุหย่าเกิดขึ้นไม่ว่า เหตุนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังการเป็นคนวิกลจริต ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตาม มาตรา ๒๘ มีอำนาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันและแบ่ง ทรัพย์สินได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถก็ ให้บุคคลดังกล่าวขอร้องขอต่อศาลในคดีเดียวกันนั้นให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรส ซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ

เมื่อบุคคลดังกล่าวเห็นสมควร จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๕๒๖ หรือมาตรา ๑๕๓๐ ด้วยก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสซึ่งถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริตยังไม่ได้ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากศาลเห็นว่าคู่สมรสนั้นยังไม่เป็นคนที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ยกฟ้องคดีนั้นเสีย ถ้าเห็นว่าเป็นบุคคลที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ยังไม่สมควรจะให้มีการหย่า ก็ให้ศาลสั่งให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถโดยไม่จะสั่งเรื่องผู้อนุบาลหรือจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๔๖๓ ก็ได้ คงพิพากษายกแต่เฉพาะข้อหย่า ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งกำหนดค่าเลี้ยงชีพด้วยก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคู่สมรสนั้นวิกลจริตอันควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและทั้งมีเหตุควรให้หย่าด้วย ก็ให้ศาลสั่งในคำพิพากษาให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถตั้งผู้อนุบาลและให้หย่า

ในกรณีนี้ ถ้าศาลเห็นว่าเหตุหย่าที่ยกขึ้นอ้างในการฟ้องร้องนั้นไม่เหมาะสมแก่สภาพของ คู่สมรสซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถที่จะหย่าจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ดี ตามพฤติการณ์ไม่สมควรที่จะให้มีการหย่าขาดจากกันก็ดี ศาลจะพิพากษาไม่ให้หย่าก็ได้

มาตรา ๑๕๒๐ ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559
แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2558
ในคดีหย่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดและอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสองและมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนละ 4,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่าย ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
ระหว่างที่โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีความ สัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กิน ด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่ โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และในกรณีนี้โจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วย ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด..." และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548
ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ใน ความปกครองของ ว. บิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดัง กล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็น อำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๕๒๑ ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๒๐ ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่ บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการคงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจ ปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่าโดย จำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้ อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลย ได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้ เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตาม มาตรา 1584/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลง ตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดี มีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิงป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้องทั้งผู้ร้องรับราชการ เป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและ ประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ พิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2534
จำเลยมีเวลายื่นบัญชีระบุพยานได้นับแต่วันชี้สองสถาน ถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์เป็นระยะเวลาเกือบ 8 เดือน แต่จำเลยไม่ยื่นเพิ่งจะมายื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นวันสืบพยานโจทก์นัดแรก แล้ว 6 วัน อ้างว่ามิได้จงใจ เป็นความพลั้งเผลอของเสมียนทนายจำเลยข้ออ้างของจำเลยปราศจากเหตุผลไม่อาจรับฟังได้ ดังนี้ ไม่มีเหตุสมควรที่จะรับบัญชีระบุพยานของจำเลย หลังจากจำเลยหย่าร้างกับโจทก์แล้ว จำเลยนำภริยาเก่าและบุตรซึ่งเกิดจากภรรยาเก่ามาอยู่ร่วมด้วย จำเลยชอบดื่ม สุราและกลับบ้านดึกเป็นประจำ ส่วนโจทก์ยังไม่ได้สมรสใหม่ หลังจากโจทก์จำเลยแยกกันอยู่แล้วโจทก์พาบุตรผู้เยาว์ไปอุปการะเลี้ยงดูตาม ลำพัง บุตรผู้เยาว์ได้รับความอบอุ่นและใกล้ชิดกับโจทก์ซึ่งเป็นมารดา โดยโจทก์ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองบุตรผู้เยาว์โดยมิชอบหรือประพฤติ ชั่วร้ายแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับต่อไปในอนาคต แล้วการให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์ต่อไปย่อมมีความเหมาะสมยิ่ง กว่าให้ไปอยู่ในความปกครองของจำเลย

มาตรา ๑๕๒๒ ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2550
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาล พิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจน กว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของ โจทก์จำเลย

ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้ แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อัน เป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง

แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับ บิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่าง ลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
ระหว่างที่โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีความ สัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กิน ด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่ โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และในกรณีนี้โจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วย ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด..." และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548
บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือ มารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย

บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้ เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296

โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดย ตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตร บรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับ แต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตาม มาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มี อายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะ เลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยง ดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

มาตรา ๑๕๒๓ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้ จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)

คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดย เปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่า ทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548
ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจาก หญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่า ภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและ อุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้ หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้ แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้ง สองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของ บุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวน เงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

มาตรา ๑๕๒๔ ถ้าเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๓) (๔) หรือ (๖) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533
จำเลย ที่ 1 ใช้เท้าเตะโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงกระดูดแขนหัก เป็นการทำร้ายร่างกายที่เข้าลักษณะร้ายแรงเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาต่อเนื่องกันตลอดมา โจทก์เพิ่งรู้การกระทำของจำเลยที่ 1ที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนฟ้องยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องหย่าจึงยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้องหย่าเพราะเหตุไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่ 1เนื่องจากเหตุทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 1524 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 เงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนการรับทรงเจ้าเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสเมื่อจำเลยที่ 1 นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราช บัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยืนสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่ รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามที่โจทก์ขอ

มาตรา ๑๕๒๕ ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๕๒๓ และมาตรา ๑๕๒๔ นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้

ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535
จำเลยมีเหตุระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาจึงไม่พอใจและ ทะเลาะกับโจทก์อยู่เสมอ ฉะนั้นการที่โจทก์ไม่อยู่บ้านแล้วจำเลยกล่าวถ้อยคำถึงโจทก์ว่า "ขอให้มีอันเป็นไป ตายแล้วจะมารับเงิน หากไม่ตายให้เลี้ยงดูกันเอง และบิดามารดาโจทก์ไม่ให้ความยุติธรรมแก่จำเลย" กับ "ไอ้สัตว์ไอ้หน้าตัวเมีย กูไม่เลิกกับมึงง่าย ๆ หรอก ออกชายแดนงวดนี้ถ้าแขนขาขาดก็ไปเลี้ยงดูกันเอาเอง ถ้าตายจะกลับมารับเงิน" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของ โจทก์ แต่เป็นถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดู หญิงอื่น และมิใช่คำกล่าวที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภริยา จำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์ได้จึงแยกไปอยู่ที่อื่นนั้น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ แต่กรณีที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการ เป็นสามีภริยา จำเลยมีสิทธิฟ้องหย่าได้ โจทก์ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. เป็นการอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา และกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำไม่สิ้นสุด แม้จำเลยจะทราบเหตุดังกล่าวมาเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม จำเลยก็ยกเป็นเหตุฟ้องแย้งได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 ค่าทดแทนที่ภริยามีสิทธิได้รับจากสามีซึ่งอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา นั้น มาตรา 1525 กำหนดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ ภริยารับราชการครูเป็นผู้มีฐานะตำแหน่งหน้าที่และเกียรติในทางสังคม ที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้ภริยา 100,000 บาทจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว.

มาตรา ๑๕๒๖ ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๓๙ มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550
แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้ เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู จำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอให้บังคับ โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้ เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับ โจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่ แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็น ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้อง หย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจด ทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไป หลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยน แปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของ โจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่า เลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่ง ที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอม ความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

มาตรา ๑๕๒๗ ถ้าหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา ๑๕๑๖ (๗) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๕๑๖ (๙) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่ เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา ๑๕๒๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2519
บิดาของเด็กเท่านั้นที่จะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1527 เมื่อจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วก็จะถอนมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และเมื่อมีการจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะฟ้องขอให้ถอนการจดทะเบียนได้ก็ด้วย เหตุที่ว่าผู้ขอให้จดทะเบียนมิใช่บิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528 เท่านั้น

จำเลยยอมให้เงินโจทก์ 20,000 บาทเป็นค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการที่โจทก์ยินยอมจะไปเพิกถอนการจดทะเบียน รับรองบุตรซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุติว่าจำเลยมิใช่บิดาแท้จริงของเด็กนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจึงขัดกับประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1528 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

มาตรา ๑๕๒๘ ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2537
จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาและมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้โจทก์ยากจนลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาคดีถึงที่สุดตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง

มาตรา ๑๕๒๙ สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา ๑๕๑๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖) หรือมาตรา ๑๕๒๓ ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความ จริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง
เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อ เนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

มาตรา ๑๕๓๐ ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยาและการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2522
โจทก์อยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนและมีบุตรด้วยกัน โจทก์ซึ่งเป็นมารดามีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรผู้เยาว์รวมเข้ามา ในคดีเดียวกับที่ขอให้จำเลยรับรองบุตรได้ ไม่ต้องฟ้องขอให้รับรองบุตรจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อน

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรถึงที่สุดส่วน ค่าเลี้ยงดูที่โจทก์จ่ายไปตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกร้างกับโจทก์จนถึงวันฟ้อง นั้นบังคับให้ไม่ได้

มาตรา ๑๕๓๑ การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป

การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2538
คดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ตายก่อนคดีถึงที่สุดเนื่องจากมีการขอพิจารณาใหม่ ซึ่งมีผลให้การสมรสสิ้นสุดลงเสียก่อนที่คำพิพากษาให้หย่าและแบ่งสินสมรสจะถึงที่สุด จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2537
จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 เมื่อมีการหย่ากันแล้วและการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่ สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๑๕๓๒ เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาแต่ในระหว่างสามีภริยา
(ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า

(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2550
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2549
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แต่จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย ถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อน โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไป การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์ ตามมาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้

มาตรา ๑๕๓๓ เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551
ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)

ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าว อ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน" เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2547
ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสินสมรสอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยมีเพียงตึกแถว 2 หลัง การจะให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งมีบ้านพักอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่อีก 1 หลังย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวม แต่หากจะให้ขายทอดตลาดเฉพาะตึกแถว 2 หลัง ที่เป็นสินสมรสแล้วนำเงินมาแบ่งกันก็คาดหมายได้ว่าจะไม่มีผู้ซื้อ หรือถึงจะขายได้ก็จะได้ราคาที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ซื้อไม่มีสิทธิในที่ดิน จึงเห็นควรแบ่งทรัพย์โดยให้ตึกแถว 2 หลังที่เป็นสินสมรส เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และนำค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสินสมรสอันจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ ตามส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1364

มาตรา ๑๕๓๔ สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมาย บังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา ๑๕๓๓ และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วน ของตนหรือสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7961/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ที่บัญญัติว่า"สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไป.. ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตาม มาตรา 1533.."นั้น เป็นการแบ่งสินสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจำหน่ายจ่ายโอนไปหรือทำให้สูญหายไปโดยมิชอบ ในกรณีที่หย่ากันให้แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ฝ่ายชายและหญิงได้ส่วนเท่า กัน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยขายที่ดินไปได้เงินเท่าใด โจทก์ก็ควรได้รับเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จำเลยขายไป มิใช่กึ่งหนึ่งของราคาที่ดินปัจจุบัน การกำหนดมูลค่าของที่ดินที่จำเลยจำหน่ายโอนไปก่อนฟ้องเพื่อเป็นฐานในการคิด คำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ จึงต้องคิดจากราคา ณ วันที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอน

มาตรา ๑๕๓๕ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2533
การที่จำเลยเมาสุรากลับเข้าบ้านและด่า โจทก์ว่า "มึงเลว มึงมีชู้ ไม่สมควรอยู่กับกู แม่มึงไม่ดี ไม่เคยสั่งสอน" แล้วจำเลยยังได้ตบ ตีโจทก์ได้รับบาดเจ็บบริเวณขอบตาซ้าย จนโจทก์ต้องรับการรักษาจากแพทย์ในวันรุ่งขึ้น โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับน้องสาวเพราะได้รับความคับแค้นใจจากการอยู่กินกับจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง พร้อมทั้งเป็นการทำร้ายร่างกายโจทก์ จึงมีเหตุให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยได้ จำเลยกู้เงินบุคคลภายนอกมาใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นสินสมรสโดย โจทก์มีส่วนรู้เห็นในการกู้เงินดังกล่าวโจทก์จึงต้องร่วมกับจำเลยในการชำระ หนี้รายนี้ ฉะนั้นศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์จำเลยร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้คนละครึ่งได้