ตั๋วสัญญาใช้เงิน

มาตรา ๙๘๒  อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับเงิน

มาตรา ๙๘๓  ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
(๒) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓) วันถึงกำหนดใช้เงิน
(๔) สถานที่ใช้เงิน
(๕) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
(๖) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
(๗) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

มาตรา ๙๘๔  ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน เว้นแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่า พึงใช้เงินเมื่อได้เห็น

ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออกตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน

ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่า ตั๋วนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้ออกตั๋ว

ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

มาตรา ๙๘๕  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด ๒ ว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา ๙๑๑, ๙๑๓, ๙๑๖, ๙๑๗, ๙๑๙, ๙๒๐, ๙๒๒ ถึง ๙๒๖, ๙๓๘ ถึง ๙๔๗, ๙๔๙, ๙๕๐, ๙๕๔ ถึง ๙๕๙, ๙๖๗ ถึง ๙๗๑

ถ้าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย คือบทมาตรา ๙๖๐ ถึง ๙๖๔, ๙๗๓, ๙๗๔

มาตรา ๙๘๖  ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน

ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น ต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ภายในจำกัดเวลาดังกำหนดไว้ในมาตรา ๙๒๘ กำหนดเวลานี้ให้นับแต่วันจดรับรู้ซึ่งลงลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว ถ้าผู้ออกตั๋วบอกปัดไม่ยอมจดรับรู้และลงวันไซร้ การที่เขาบอกปัดเช่นนี้ท่านว่าต้องทำให้เป็นหลักฐานขึ้นด้วยคำคัดค้าน และวันคัดค้านนั้นให้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการนับกำหนดเวลาแต่ได้เห็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่

คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้

สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2556
ถ. ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม ถ. ก็มีความความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจาก ถ. ถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ถ. จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของ ถ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2555
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินประเภทถึงกำหนดเมื่อทวงถามมิใช่ถึงกำหนดเมื่อได้เห็น ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้ โดยหาจำต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระเงินก่อนไม่

ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความระบุไว้ว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี แสดงว่าไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามสัญญาได้อยู่แล้ว ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ใช่เบี้ยปรับ เฉพาะดอกเบี้ยส่วนที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เท่านั้นที่เป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าศาลเห็นว่าส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 16 ต่อปี สูงเกินส่วน ศาลจะลดไปจำนวนพอสมควรก็ได้ แต่จะลดลงเหลือเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2552
ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทกับสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความสอดคล้องตรงกัน ด้านหน้าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาท มีข้อความระบุว่า ราคาเป็นจำนำ และมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ ทั้งสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก็มีรายการของตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทที่นำมาจำนำรวมอยู่ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทมาจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ตามสัญญาจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้จำนำไว้ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 3 สลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. ต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 985 มิใช่ผู้สลักหลังที่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551
การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8328/2550
สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการส่งสินค้าออกที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับ ผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นสัญญาอีกอย่างหนึ่งต่างหากจากตั๋วสัญญาใช้เงินที่ บริษัท ป. ออกให้ไว้แก่โจทก์ ความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการ ส่งสินค้าออกดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 ประกอบมาตรา 941 บังคับให้ผู้ทรงต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2550
เมื่อธนาคาร น. ในฐานะผู้รับอาวัลได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่สำนักงานพระคลังข้าง ที่แล้ว ธนาคาร น. ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบด้วย มาตรา 985 และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดัง กล่าวมาจากธนาคาร น. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวภายในอายุความข้าง ต้นเช่นกัน เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2550
หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท ได้ระบุวันที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาจะใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน คือในวันที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง แม้มาตรา 985 จะบัญญัติให้นำมาตรา 941 ในเรื่องตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพแห่งตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งตามบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องนำไปให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้ หรือตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังที่ได้เห็นเท่า นั้น ตามมาตรา 986 วรรคสอง เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วที่กำหนดวันใช้เงินชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 986 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไปยื่นตามมาตรา 941 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2547
ป.พ.พ.มาตรา 899 บัญญัติว่า "ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่" อันเป็นบทบัญญัติเบ็ดเสร็จทั่วไปใช้บังคับกับตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค ส่วนมาตรา 915 บัญญัติว่า "ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดีจะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน?" ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องตั๋วแลกเงินไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเบ็ดเสร็จทั่วไป เช่นเดียวกับมาตรา 899 และ มาตรา 985 ซึ่งบทบัญญัติในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 915 มาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความว่า ห้ามใช้สิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังนั้นเป็นข้อความที่ขัดต่อมาตรา 983 (2) หาเป็นผลบังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 899 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา มิได้บัญญัติกำหนดวิธีการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินไว้โดยเฉพาะเจาะจงทั้งข้อ ตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้เรียกว่าเป็นสัญญาขายลดตั๋ว สัญญาใช้เงิน การที่โจทก์บรรยายคำฟ้องตั้งข้อเรียกร้องตามข้อตกลงในสัญญาโดยเรียกว่าเป็น สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน และข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวมิได้ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เช่นนี้ แม้ผู้ออกตั๋วทำสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเองก็มีผลบังคับได้ จำเลยมีความผูกพันต้องรับผิดตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2537
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985 วรรคแรก มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 928 ซึ่งอยู่ในเรื่องการรับรองตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน ด้วย จะนำมาตรา 928 ใช้บังคับแก่ตั๋วสัญญาใช้เงินได้เพียงกรณีเดียว คือ กรณีตามมาตรา 986 วรรคสองซึ่งบัญญัติไว้ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นตามมาตรา 913(4) ผู้ทรงจะต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้เพื่อรับรองการจ่ายเงินภายในเวลา ดังกำหนดไว้ในมาตรา 928 แต่เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวง ถามตามมาตรา 913(3) ตอนต้น บทบัญญัติว่าด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้อย่างกรณีตั๋ว สัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ภายหลังได้เห็น จึงต้องถือว่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมายและผล บังคับต่างกับตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็นฉะนั้น โจทก์ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรก ที่จะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว ดังนั้นหากคดีฟังได้ว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลใช้เงินตามตั๋วแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดใช้เงินได้ บทกฎหมายเกี่ยวกับอายุความเป็นบทตัดสิทธิของเจ้าหนี้จึงต้องแปลโดยเคร่งครัด เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001บัญญัติว่า ในคดีฟ้องผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงินเช่นนี้จะแปลว่ากำหนดสามปีต้องนับแต่วันที่ออกตั๋วนั้นไม่ ได้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม วันที่โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือวันที่4 กันยายน 2528 จึงเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงินเพราะก่อนวันที่โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสอง ยังไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท เพียงแต่ว่าโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องทวงถามให้ใช้เงินได้ทันทีและจำเลยทั้ง สองก็มีสิทธิจะชำระเงินได้ทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องทวงถามเท่านั้นตามหลักทั่วไป ในมาตรา 203 และเมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันอาทิตย์ที่4 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามมาตรา 161 เดิม โจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 5 กันยายน 2531จึงยังไม่พ้นเวลาสามปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2537
แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทจะออกเพื่อชำระดอกเบี้ยของหนี้เดิมที่จำเลย เป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนก็ตาม เมื่อจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้นั้น จำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงกลายเป็นหนี้ใหม่และเป็นต้นเงินไปเสียแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินจำนวนหนี้ หาใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2534
เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์ผู้ทรงมิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อให้ใช้เงินตามตั๋ว เพียงแต่มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินถือว่าโจทก์มิได้ ปฏิบัติตามวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 985 ประกอบด้วยมาตรา 941 บังคับไว้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดคำมั่นไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยและจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วก็ เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติการทวงถามแบบหนี้ทั่วไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 5 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เพราะโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดย คบคิดกันฉ้อฉลนั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่ 5 ที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง เมื่อเช็คพิพาทได้มาโดยมีมูลหนี้ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อ ย.จนย. ได้บอกเลิกสัญญาขายหุ้นและโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยทราบดีว่าสัญญาซื้อขาย หุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ย. ได้เลิกกัน เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่สามารถสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2535
การที่จำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาเปลี่ยนกับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกที่จำเลยที่ 1 ออกให้ไว้แก่โจทก์นั้นไม่ใช่การชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรก หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกยังไม่ระงับเพราะยังไม่มีการชำระเงินเพียง แต่เปลี่ยนไปผูกพันกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกไว้ให้แก่โจทก์ในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาทโดยไม่ระบุว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใดและไม่ได้ระบุระยะเวลาไว้ และยังตกลงยินยอมให้หนังสือสัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป จนกว่าธนาคารจะบอกเลิกเพิกถอนการอำนวยสินเชื่อ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เจตนาค้ำประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่จำกัดจำนวนฉบับและไม่จำกัดระยะ เวลาตลอดไปภายในวงเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้ายที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2534
เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดโจทก์ผู้ทรงมิได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินไปยื่นต่อจำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเพื่อให้ใช้เงินตามตั๋ว เพียงแต่มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินถือว่าโจทก์มิได้ ปฏิบัติตามวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 985 ประกอบด้วยมาตรา 941 บังคับไว้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดคำมั่นไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลยและจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามตั๋วก็ เป็นเรื่องโจทก์ปฏิบัติการทวงถามแบบหนี้ทั่วไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 5 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์เพราะโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดย คบคิดกันฉ้อฉลนั้นภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยที่ 5 ที่จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ดังที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง เมื่อเช็คพิพาทได้มาโดยมีมูลหนี้ จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาต่อ ย.จนย. ได้บอกเลิกสัญญาขายหุ้นและโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยทราบดีว่าสัญญาซื้อขาย หุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ย. ได้เลิกกัน เมื่อจำเลยที่ 5 ไม่สามารถสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามเช็คพิพาทในฐานะผู้สั่งจ่าย