เช็ค

มาตรา ๙๘๗ อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคน หนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง อันเรียกว่าผู้รับเงิน

มาตรา ๙๘๘ อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักงานของธนาคาร
(๔) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(๕) สถานที่ใช้เงิน
(๖) วันและสถานที่ออกเช็ค
(๗) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา ๙๘๙ บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด ๒ อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา ๙๑๐, ๙๑๔ ถึง ๙๒๓, ๙๒๕, ๙๒๖, ๙๓๘ ถึง ๙๔๐, ๙๔๕, ๙๔๖, ๙๕๙, ๙๖๗, ๙๗๑

ถ้าเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย คือบทมาตรา ๙๒๔, ๙๖๐ ถึง ๙๖๔, ๙๗๓ ถึง ๙๗๗, ๙๘๐

มาตรา ๙๙๐ ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายใน เดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่าง หนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น ท่านให้รับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร

มาตรา ๙๙๑ ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารให้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(๒) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค หรือ
(๓) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป
มาตรา ๙๙๒ หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
(๒) รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย
(๓) รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

มาตรา ๙๙๓ ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคำว่า “ใช้ได้” หรือ“ใช้เงินได้” หรือคำใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ท่านว่าธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น

ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้น ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น

ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและปวงผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่

มาตรา ๙๙๔ ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า“และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใด ๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะเช็คเช่นนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น

มาตรา ๙๙๕ (๑) เช็คไม่มีขีดคร่อม ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะขีดคร่อมเสียก็ได้ และจะทำเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
(๒) เช็คขีดคร่อมทั่วไป ผู้ทรงจะทำให้เป็นขีดคร่อมเฉพาะเสียก็ได้
(๓) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้
(๔) เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะให้ไปแก่ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้
(๕) เช็คไม่มีขีดคร่อมก็ดี เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ส่งไปยังธนาคารใดเพื่อให้เรียกเก็บเงิน ธนาคารนั้นจะลงขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้

มาตรา ๙๙๖ การขีดคร่อมเช็คตามที่อนุญาตไว้ในมาตราก่อนนั้นท่านว่าเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของเช็ค ใครจะลบล้างย่อมไม่เป็นการชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๙๙๗ เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป เมื่อนำเบิกเอาแก่ธนาคารใด ท่านให้ธนาคารนั้นบอกปัดเสียอย่าใช้เงินให้ เว้นแต่ที่ขีดคร่อมให้แก่ธนาคารในฐานเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงิน

ธนาคาร ใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดีใช้ เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใด อันหนึ่งก็ดีใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้ แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดังกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้ จริงแห่งเช็คนั้น ในการที่เขาจะต้องเสียหายอย่างใด ๆ เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คนั้น

แต่หากเช็คใดเขานำยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และเมื่อยื่นไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คขีดคร่อมก็ดี หรือไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่นนอกจากที่อนุญาตไว้โดยกฎหมายก็ดี เช็คเช่นนี้ถ้าธนาคารใดใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ ท่านว่าธนาคารนั้นไม่ต้องรับผิดหรือต้องมีหน้าที่รับใช้เงินอย่างใด ๆ

มาตรา ๙๙๘ ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงิน ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา ๙๙๙ บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่า และไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา ๑๐๐๐ ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ อันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้นต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2552
โจทก์มอบหมายให้ ส. นำเงินของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้น จำเลยรับเงินจาก ส. ไปดำเนินการ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งคืนเงินประกันโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร อ. ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะผู้ทรงในฐานเป็นผู้รับเงินที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ ธนาคารใช้เงินตามเช็คแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คจึงไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลย ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลย รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่ โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คดังกล่าว แก่โจทก์ไม่ได้

คำฟ้องของโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2551
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548
เช็คพิพาททั้งสองฉบับจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2550
ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญา จักรหรือไม่ ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า มูลคดี หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทระบุชื่อ อ. เป็นผู้รับเงินเพื่อคืนเงินที่ อ. ได้ร่วมลงทุนซื้อที่ดินกับจำเลยจำนวน 140,000 บาท ให้แก่ อ. เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดวันสั่งจ่าย อ. นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะถือว่า อ. เป็นผู้เสียหายในขณะที่เช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า อ. ได้โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสลักหลังเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงและมีสิทธิเช่นเดียวกับ อ. ในอันที่จะบังคับเอาแก่จำเลยซึ่งมีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 967 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ได้ ความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่ที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6305/2548
เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมีการขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" ออก แล้วเขียนคำว่า "สด" ลงไปในช่องว่างหลังคำว่า "จ่าย" ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่มีชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 988 (4) บัญญัติไว้ และการขีดฆ่าดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 899 ซึ่งเป็นเรื่องการเขียนข้อความที่มิได้มีบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะตั๋วเงิน ข้อความที่เขียนลงไปจึงไม่มีผลแก่ตั๋วเงิน การที่เช็คพิพาทขาดรายการซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องมี ย่อมมีผลทำให้เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามมาตรา 987 และมาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แม้ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังก็ไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4264/2548
เช็คเป็นเอกสารเปลี่ยนมือ เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์โดยมิได้ระบุว่าจ่ายให้โจทก์ในฐานะที่ โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คโดยชอบจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์ เองโดยไม่จำต้องระบุต่อท้ายชื่อโจทก์ว่าในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. อย่างไรก็ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตาม สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ซึ่งถือว่าเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้ แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. จึงถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่แนบมาท้ายฟ้องอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2546
คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทไว้ในครอบครองโดยทุจริตนั้นทุจริตอย่างไรก็ไม่ได้ กล่าวไว้ชัด ที่ว่าคบคิดกับบุคคลอื่น บุคคลอื่นนั้น เป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนหรือไม่ หรือเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ ที่ว่าโจทก์ควรรู้ว่าเช็คพิพาทมีการชำระหนี้แล้ว ก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าโจทก์รู้ แปลความว่าอาจไม่รู้ก็ได้เช่นกันแล้วให้การว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาด้วยความ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก ร. โดยคบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาท

จำเลยที่ 2 ให้ ร. นำเช็คแลกเงินสดจากโจทก์และมีการเปลี่ยนเช็คเรื่อยมาต่อมาได้รวมจำนวนเงิน ที่เป็นหนี้และกู้เงินเพิ่มอีกแล้วจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ ไว้แก่โจทก์โดยเป็นการกู้เงินและการแลกเปลี่ยนเช็ค โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงแต่ติดต่อผ่าน ร. เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้โดยชอบ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900,987และ 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2544
การที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนด 1 เดือน หรือ 3 เดือน นับแต่วันออกเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 วรรคหนึ่ง คงมีผลเพียงทำให้โจทก์สิ้นสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้สลักหลังและเสียสิทธิอันมีต่อ ผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่าย เพราะการละเลยไม่ยื่นเช็คนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ผู้สั่งจ่ายจะต้องพิสูจน์เพื่อให้พ้นความรับผิด แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้นำสืบว่าการที่โจทก์ละเลยไม่ยื่นเช็คพิพาทภายในกำหนดทำให้เกิดความ เสียหายแก่ ป. ในฐานะผู้สั่งจ่าย ป. จึงไม่พ้นความรับผิดตามเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2543
เช็คขีดคร่อมจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อเช็คพิพาทมีลักษณะพิเศษเช่นนั้น ธนาคารจำเลยที่ 6 ผู้รับเช็คมาเรียกเก็บเงินก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายโดยเคร่ง ครัด กล่าวคือจะต้องเรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัท ท. หรือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับเงินตามเช็คเท่านั้น จะเรียกเก็บเงินให้แก่ธนาคารจำเลยที่ 6 เพื่อเข้าบัญชีบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทอื่นที่มิใช่ผู้รับเงินตามเช็คนั้นไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติ ที่ผิดทั้งกฎหมายและระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 6 จะอ้างเพียงว่ากรรมการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัท ท. และบริษัท อ. เป็นกรรมการบริหารชุดเดียวกันจึงอนุโลมให้หาได้ไม่ ดังนั้น จึงต้องถือว่าธนาคารจำเลยที่ 6 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2542
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต แม้เช็คพิพาทเป็นเช็คให้ใช้เงินเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็ค และโจทก์มิได้ ยื่นแก่ธนาคารให้ใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันออกเช็คก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989 ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการ รับประกันเพื่อการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันและรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตามมาตรา 940 และ 967 ประกอบด้วยมาตรา 989ในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะผู้สลักหลังทั้งปวงอัน จะพึงต้องรับผิดตามมาตรา 990 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ เรื่องเงื่อนไขแห่งการใช้สิทธิไล่เบี้ยของผู้ทรงเช็คต่อผู้สลักหลัง โอนเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น บทบัญญัติมาตรา 990 ดังกล่าวหาได้รวมถึงผู้สลักหลังเช็คในฐานะเป็นผู้รับประกัน การใช้เงิน (ผู้รับอาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามเช็คซึ่งสั่ง ให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นด้วยไม่ ซึ่งเป็นกรณีต่างกัน จึงไม่อาจ นำมาปรับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2542
เช็คพิพาทเป็นแคชเชียร์เช็คที่ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย หาใช่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายเช็คพิพาทมาเบิกเงิน จากธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 จะยกเอาข้อต่อสู้ ที่ว่าจำเลยที่ 2 มีคำบอกกล่าวว่าเช็คพิพาทถูกชิงทรัพย์ ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(3),992(1) มายกเว้นความรับผิดของตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6660/2540
ในวันครบกำหนดการใช้เงินตามเช็คพิพาท โจทก์ร่วมได้นำเช็ค ไปเบิกเงิน แต่ปรากฎว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ธนาคารซึ่งมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 จึงให้ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายก่อน กรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารได้ปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว แม้จะเป็นการปฎิเสธด้วยวาจาก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความ ผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4963/2536
การที่จำเลยทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยไป จำเลยยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารได้จ่ายเงินเกินบัญชีนั้นให้ธนาคารพร้อมทั้ง ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันที่ชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน โดยมิได้มีข้อตกลงให้เรียกดอกเบี้ยทบต้นได้นั้น ไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมเงิน หรือการทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือการค้าอย่างอื่นในทำนองเช่นว่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ธนาคารโจทก์จ่ายเงินตามคำสั่งของจำเลยผู้ออกเช็คเกินกว่า จำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 มิได้บังคับโดยเด็ดขาดมิให้ธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีของผู้เคยค้า และตามเงื่อนไขคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวก็ให้ธนาคารโจทก์มี อำนาจจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4336/2534
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 3โดยมิได้มีคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจที่จะสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่บุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นตราสาร เปลี่ยนมือได้ เมื่อจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาทส่งมอบให้แก่ โจทก์เป็นการชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ซึ่งเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาขายลดเช็ค โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนเช็คจากจำเลยที่ 3 มาไว้ในครอบครองโดยชอบ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 3 จะต้องสอนการผลิตหินอ่อนเทียมให้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลง ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาต่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่การผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่สัญญาหรือมีส่วนรู้เห็น แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่อาจอาศัยความเกี่ยวพัน ระหว่างตนกับจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนยกขึ้นใช้ยันโจทก์ ผู้ทรงเพื่อไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทได้ เว้นแต่จำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2525
จำเลย ที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 2 และขีดฆ่าคำว่า 'หรือผู้ถือ' ออกแล้วขีดคร่อมและเขียนข้อความว่า 'PAYEEONLY' ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ 'เปลี่ยนมือไม่ได้' หรือ'ห้ามเปลี่ยนมือ' เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คที่จะต้องนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จะเปลี่ยนมือไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้รับเงินจะอ้างว่าเป็นผู้ทรงโดยการรับเช็คดังกล่าวจากจำเลย ที่ 2 หาได้ไม่