มาตรา ๑๖๓๙
ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) (๓) (๔) หรือ (๖) ถึงแก่ความตาย
หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย
ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน
ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่
และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆ
สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา ๑๖๔๐
เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้
ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้
มาตรา ๑๖๔๑
ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๒) หรือ (๕) ถึงแก่ความตาย
หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่
ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตกได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น
ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป
มาตรา ๑๖๔๒
การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา ๑๖๔๓
สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงผู้บุพการีหามีสิทธิดั่งนั้นไม่
มาตรา ๑๖๔๔
ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก
มาตรา ๑๖๔๕
การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น
ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกบุคคลอื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9311/2559
คดีก่อนโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกร่วมกันจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ให้แก่ น. พ. ว. และ ป. จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26792 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกอีกด้วย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26791 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ น. พ. ว. และ ป. แล้วพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 น. พ. ว. และ ป. ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 26791 และเลขที่ 26792 แก่โจทก์ที่ 3 เพื่อให้โจทก์ที่ 3 นำไปจดทะเบียนแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายต่อไป หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนแก่โจทก์ที่ 3 ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 243492 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60129 และ 60130 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 และ 32095 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 23312 และ 60131 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243491 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 60127 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 243490 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 60128 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกทั้งสิบเอ็ดแปลงดังกล่าว แล้วให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงได้รับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อจดทะเบียนแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ที่ 3 เพื่อดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวต่อไป ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีทั้งสองเรื่องโดยอ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแก่โจทก์ทั้งสามก็ตาม แต่คดีก่อนนอกจากโจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแล้ว โจทก์ทั้งสามยังฟ้องบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกรวมมาด้วย โดยมูลคดีเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกนำที่ดินทรัพย์มรดกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครนายกโอนขายให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสามเห็นว่าได้รับโอนที่ดินมรดกไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้แบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกที่จังหวัดนครนายกให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นที่ดินมรดกคนละส่วนกับที่ดินในคดีนี้ ทั้งคดีดังกล่าวมีประเด็นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ เมื่อเพิกถอนแล้วจึงจะนำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาทได้ ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งแยกและโอนที่ดินทรัพย์มรดกแปลงอื่นซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครให้แก่ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินทรัพย์มรดกที่กรุงเทพมหานครคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งทายาทอื่นที่ไม่มีอำนาจรับโอนที่ดินไว้โดยชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นที่ดินมรดกต่างแปลงและต่างท้องที่คนละส่วนกับที่ดินมรดกในคดีก่อนและคดีมีแต่เพียงประเด็นแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยกันเท่านั้น มิใช่เป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ตามเอกสารมีข้อความระบุว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วน เนื้อที่ 26 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่เหลือมอบให้จำเลยที่ 2 จัดการเพื่อการกุศล แต่เจ้ามรดกขอเก็บผลประโยชน์ไปก่อนขณะยังมีชีวิต โดยในเอกสารไม่มีข้อความระบุว่าเป็นพินัยกรรมทั้งไม่มีข้อความระบุว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศลโดยให้มีผลเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วอีกด้วย ทั้งเอกสารมีการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2541 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นเวลา 9 เดือนเศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีอาการป่วยหนักถึงขนาดทราบว่าตนเองจะถึงแก่ความตายแล้ว แต่อย่างใด นอกจากนี้หากเจ้ามรดกมีเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองไว้โดยทำพินัยกรรมแล้ว เจ้ามรดกก็น่าจะระบุถึงที่ดินแปลงอื่นของตนไว้ในเอกสารดังกล่าวให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะยกที่ดินแปลงใดให้แก่ทายาทรายใดให้เสร็จสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกในภายหลัง หาใช่ระบุไว้เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 เพียงแปลงเดียวโดยปล่อยให้ที่ดินแปลงอื่นเป็นมรดกตกทอดไปยังบรรดาทายาทโดยธรรมเมื่อตนถึงแก่ความตายดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารไม่ จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเท่านั้น โดยยังคงหวงแหนที่ดินแปลงอื่นของตนอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ และให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินส่วนที่เหลือไปจัดการเพื่อการกุศล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 เมื่อการให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 32090 โดยไม่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนเอง ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าโจทก์ทั้งสามรวมทั้งทายาทอื่นมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทโดยธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งปันกันแทนทายาทโดยธรรมรวมทั้งโจทก์ทั้งสามผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย มิได้ครอบครองที่ดินมรดกตามฟ้องเพื่อตนเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาไปยังทายาทโดยธรรมคนอื่นของเจ้ามรดกว่า จะไม่ยึดถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทโดยธรรมคนอื่นอีกต่อไป แต่ประสงค์จะครอบครองเพื่อตนเอง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559
โจทก์อุทธรณ์ว่า จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่ตนเองโดยแจ้งในบัญชีเครือญาติว่าบุตรผู้ตายอีก 8 คน ถึงแก่ความตาย เหลือ จ. เพียงคนเดียว โดยไม่ระบุบุตรผู้ตาย และในคดีขอจัดการมรดก จ. ระบุว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 2 คน ถือเป็นการปิดบังมรดก แต่ในคำฟ้องของโจทก์อ้างสาเหตุที่เป็นหลักแห่งข้อหาว่าที่ต้องกำจัด จ. เพราะว่า จ. โอนทรัพย์มรดกแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่ไม่โอนให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่มิได้อ้างมาในคำฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่รับวินิจฉัย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ไม่ชอบอย่างไร แท้จริงแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมาอุทธรณ์ แต่โจทก์ยังคงฎีกาว่า ตามคำฟ้องและจากพยานหลักฐานในสำนวนถือว่า จ. มีพฤติกรรมในการปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัด จึงถือว่าเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7309/2558
แม้โจทก์ทั้งสี่จะไม่ใช่คู่ความในคดีก่อน
แต่มูลแห่งสิทธิอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้อง คือ
สิทธิแห่งทายาทในการรับมรดกแทนที่บิดามารดาของตน
เรียกร้องเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเดียวกันของผู้ตายเช่นเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน
จึงเป็นกรณีทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทในลำดับเดียวใช้สิทธิแห่งความเป็นทายาทของผู้ที่ตนเข้าแทนที่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดก
ถือว่าเป็นการฟ้องในนามทายาททุกคน
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสามชนะคดี
คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความรวมถึงทายาทที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นเช่นเดียวกับคู่ความด้วย
คำฟ้องโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13129/2556
ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก.
และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน
เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก
ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ.
มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6291/2554
แม้ผู้คัดค้านที่ 3
ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม
แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ.
ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย
ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ.
ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ.
ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2733/2548
ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา
บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่
น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3)
เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล.
จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว
ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ.
ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639
ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์ มรดก
ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1584/2546
โจทก์เป็นบุตรของ พ.
ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร
ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว
มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ.
ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ.
ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ.
ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ.
โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2742/2545
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1629(4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตร
ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่าพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมี
ได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น
ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวแคบเกินกว่าบทบัญญัติ
ตามตัวอักษรของกฎหมายและมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรม
ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อน
หลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้
ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630
ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หามีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกัน
เหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง
เมื่อผู้ร้องและผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกัน
แม้จะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องกับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(4)
เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ส่วนผู้คัดค้านที่เข้ารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นลุงของผู้ตายถือเป็นทายาทใน
ลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630
จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการที่ผู้ร้องขอจัดการมรดกของผู้ ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2495/2540
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ที่กำหนดให้สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอัน
แท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1627จะ
ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามก็หมายความ
เพียงว่าบุตรบุญธรรมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1629(1)และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นหามีผลทำให้บุตร
บุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบ สันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ดังนั้นเมื่อผู้ร้อง
เป็นบุตรบุญธรรมของจ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและจ.
ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของ
เจ้ามรดกแทนที่จ. ได้เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของจ.
ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่
จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์มาตรา1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5189/2539
ส.
เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับก. ส. มีภริยาคือโจทก์ที่1และมีบุตร3คนคือร.
โจทก์ที่2และที่3หลังจากส. ถึงแก่ความตายแล้วร. ทำหนังสือสละมรดกของส. ต่อมาก.
เสียชีวิตโจทก์ที่1เป็นเพียงภริยาของส.มิใช่ผู้สืบสันดานของส.
จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ส.เพราะการรับมรดกแทนที่กันจะมีได้เฉพาะผู้สืบ
สันดานรับมรดกแทนที่บิดามารดาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1639และ1642ส่วนร. แม้จะสละมรดกของส. แล้วแต่ก็ไม่ปรากฏว่าร.
สละสิทธิในการรับมรดกของก. อันเป็นการรับมรดกแทนที่ส.
แต่อย่างใดร.โจทก์ที่2และที่3จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ส. ในการสืบมรดกของก.
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1645คนละหนึ่งในสาม
โจทก์ทั้งสามมีชื่อโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับมรดกเฉพาะส่วนของส.
อยู่แล้วเป็นเพียงแต่ยังไม่มีชื่อโจทก์ที่2และที่3ในส่วนที่เป็นมรดกของก.
เท่านั้นแต่ก็มีชื่อจำเลยที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของก.
เท่ากับว่าโจทก์ที่2และที่3ชนะคดีบางส่วนจำเลยทั้งห้าจึงไม่สมควรรับผิดใน
ค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
773/2528
ผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1643หมายถึงผู้สืบสันดานในทางสืบสายโลหิตโดยแท้จริง
บุตรบุญธรรมนั้นกฎหมายถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมาย
มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมแต่บุตรบุญธรรมหาใช่ผู้สืบสันดานโดย
ตรงของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่ จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรม
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2528)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
406/2510
จ. กับ ข.
ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว มีบุตร 6 คนบุตรของ จ. ข. ทุกคนเว้น ธ. ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุ
ได้ร่วมกันครอบครองมรดกตลอดมา ก. บุตรของ จ. ข. ตายหลัง จ. ข. มรดกของ จ. ข. ที่
ก. ได้รับจึงตกเป็นของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของ ก. ในฐานะผู้รับมรดกของ ก.
หาใช่ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่ ก. ไม่แต่เมื่อพิเคราะห์ฟ้องของโจทก์แล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่
3 ขอรับมรดก ของ ก. นั่นเองโจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดก
ธ.
ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่ก่อน ข. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตลอดมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว
ไม่ได้เข้ามาร่วมครอบครองทรัพย์มรดกคงมีแต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 (ซึ่งเป็นบุตรของ จ.
ข. เจ้ามรดก) และโจทก์ที่ 3 (ซึ่งเป็นภริยาของ ก. ซึ่งเป็นบุตรของ จ. ข.
และถึงแก่ความตายไปแล้ว) จำเลย และ ส. ครอบครองร่วมกันมาโจทก์ ทั้ง3 จำเลย และ ส.
ย่อมมีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้เท่าๆกันจึงให้แบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 5 ส่วน
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7-8/2510)