การหย่าร้าง


มาตรา ๑๕๑๔ การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559 
         ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าประเด็นหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์โดยไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้แทน จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และจำเลยที่ 2 เห็นว่ารับผิดในค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งจึงวางเงินเพียง 3,260 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นว่าศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์มาโดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพิ่มเติม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องแล้ว แสดงว่าไม่จงใจจะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559 
          แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558 
         ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558 
       บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2558 
         โจทก์และจำเลยเป็นอิสลามศาสนิก มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส สมรสกันถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามและจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยโดยบรรยายเหตุแห่งการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สภาพแห่งข้อหาจึงเป็นเรื่องครอบครัว ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 ที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องใช้เหตุฟ้องหย่าตามหลักกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้แทน ป.พ.พ. มาตรา 1516 เมื่อโจทก์ได้ถูกตัดสินให้หย่าขาดจากการเป็นภริยาจำเลยโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยระบุไว้ในหนังสือการหย่าร้างว่า คำตัดสินนี้เป็นคำชี้ขาดตามหลักศาสนาและกฎระเบียบทุกประการ จึงเป็นการหย่ากันโดยชอบตามหลักกฎหมายอิสลาม มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เช่นเดียวกับการหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสามารถนำไปใช้เพื่อจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เลย โดยโจทก์ไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2556 
           ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย... การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส... การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา...ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15984/2553 
           คดีก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะไปจดทะเบียนหย่ากันและต่างฝ่ายจะถอนฟ้องและถอนฟ้องแย้งซึ่งกันและกัน โดยศาลชั้นต้นจดข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว และโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ถอนฟ้องแล้วตามข้อตกลง แต่ต่อมาโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนหย่า ภายหลังกลับมาฟ้องหย่าเป็นคดีนี้ ไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมีเหตุใหม่และเป็นคนละประเด็นกับคดีเดิม ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ก็มีสิทธิยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และ 249 วรรคสอง ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงหรือการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการนั่งพิจารณาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 48 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่าโจทก์ตกลงหย่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นหนังสือหย่าโดยความยินยอม และผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบที่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็เป็นลงลายมือชื่อตามที่กฎหมายบัญญัติ ถือไม่ได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะพยาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540
     บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไปจดทะเบียนหย่าในวันที่ระบุ หลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลที่โจทก์ฟ้อง หย่าจำเลยไว้ก่อนแล้ว ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อน ดังนั้นเมื่อยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลซึ่งมิใช่เป็น เพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าจึงยังไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับโจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2538
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฎว่าหนังสือที่โจทก์จำเลยสมัครใจจะหย่าขาดจากการเป็น สามีภริยาโดยจะไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตต่อไปนั้นมีพยานลงลายมือชื่อ เพียงคนเดียวจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1514วรรคสอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้หย่าขาดจากโจทก์ตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้

มาตรา ๑๕๑๕ เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540
โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง และขาดจากการเป็นสามีภริยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1501 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา1515 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหรือไม่ และการโอนขายที่ดินโฉนดพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่เท่านั้น โดยไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง รวมทั้งการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้แบ่งทรัพย์สินขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ

การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่ร่วมกันและ มิได้แบ่งกันต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมและสันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357

โจทก์ฟ้องขอใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แม้ใบคู่มือดังกล่าวมิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน รถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปี ซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้นก็ ตาม แต่ในกรณีที่เจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่ ป.พ.พ.มาตรา 1361 วรรคสอง บัญญัติว่า ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ดังนั้นการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมเป็นการคุ้ม ครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการ ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคนก่อนเป็นการ ตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้อง และถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย

ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นอกจากไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เมื่อได้ความว่าโจทก์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาท จึงสมควรพิพากษาให้โจทก์ลงชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจด ทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวได้ตามขอ

การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่า แต่เดิมสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวม และไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวม ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมี กรรมสิทธิ์รวมโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ ตามฟ้องแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2540
หนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลงระบุว่า "ฝ่ายขวาและฝ่ายหญิงตกลงที่จะไปดำเนินการจด ทะเบียนหย่าในวันที่ณสำนักงานเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานครหลังจากที่ฝ่ายชายและ ฝ่ายหญิงดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว" ถือว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อนเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวยังไม่ สำเร็จเพราะยังมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลเยาวชนและครอบ ครัวกลางตามที่ได้ตกลงไว้แม้จะมีการอ้างว่าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอม ยอมความกันเป็นเพราะจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูก็ ตามแต่เมื่อยังรับฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ยังไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กันเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อตกลง กรณีจะอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาบันทึกข้อ ตกลงดังกล่าวหาได้ไม่ข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนการหย่าในหนังสือสัญญาบันทึกข้อ ตกลงจึงยังไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่ากับ โจทก์ยังไม่ได้

มาตรา ๑๕๑๖ เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(๑) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๓) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๑) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิด การกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย หรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๔/๒) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๕) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๖) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือ ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๗) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๘) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(๑๐) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559
โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้

จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558
เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

โจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นอันสิ้นผลไปทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่สถานะเดิมหมายถึงการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิและได้รับการคุ้มครองในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องโจทก์ร่วมเป็นภริยาจนมีบุตรด้วยกันจนถึงวันที่มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุต่อเนื่องที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมิได้หยุดการกระทำหรือหมดสิ้นไป จำเลยยังคงมีสิทธิฟ้องหย่าโจทก์ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2538 จนถึงวันฟ้องและฟ้องแย้งเป็นเวลาประมาณ 16 ปี โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีก คงมีแต่การฟ้องคดีกันทั้งสองฝ่าย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินกว่า 3 ปี แม้คดีจะมีเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ประกอบด้วย แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2558
พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ แต่โจทก์คงมีแต่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งมิใช่ผู้ชำนาญกฎหมายประเทศอังกฤษมาเบิกความประกอบพยานเอกสาร ซึ่งในบทบัญญัติกฎหมายประเทศอังกฤษดังกล่าว ห้ามการหย่าก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันทำการสมรส เมื่อโจทก์นำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขการหย่าและคดีนี้ยังไม่พ้นระยะเวลาการหย่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่จริงของกฎหมายที่โจทก์นำสืบดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประเทศอังกฤษหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็ย่อมรับฟังได้ว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษยินยอมให้คู่สมรสหย่าขาดกันได้ ซึ่งต้องตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แล้ว ทำให้ศาลไทยมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปได้ว่า เหตุหย่าที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องนั้น เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่

การทิ้งร้าง หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเจตนาจะไม่ร่วมอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไป จึงได้ทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง หาใช่เป็นการทิ้งร้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควร ข้อเท็จจริงการทิ้งร้างตามคำเบิกความของ พ. ล้วนเป็นพยานบอกเล่าทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่ พ. รู้เห็นด้วยตนเอง การที่โจทก์พาจำเลยไปอยู่กินด้วยกันที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และโจทก์ไม่ยินยอมเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกขัดแย้งกับข้อตกลงของโจทก์จำเลยก่อนสมรสซึ่งโจทก์ขอจำเลยแต่งงานโดยโจทก์จำเลยตกลงใช้ชีวิตบั้นปลายที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น การที่จำเลยเดินทางกลับมาประเทศไทย จึงไม่ถือเป็นการทิ้งร้างโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างการทิ้งร้างเป็นเหตุหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2557
ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2557
โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งเป็นสามีอ้างเหตุว่า จำเลยทรมานร่างกายและจิตใจของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ด้วยการใช้วาจาไม่สุภาพและทะเลาะกับโจทก์โดยไม่มีเหตุผลเป็นประจำ จำเลยถือมีดทำครัวยืนขวางไม่ให้โจทก์ออกจากบ้านและขู่จะฆ่าให้ตายหากไม่นำภาพถ่ายในอดีตของโจทก์มาให้และข่มขู่จะทำร้ายโจทก์ด้วยอารมณ์รุนแรงไม่มีเหตุผล ทำให้โจทก์หนีออกจากบ้านเพราะเกรงจะถูกทำร้าย การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยใช้มีดขู่ให้โจทก์ยอมร่วมประเวณีด้วย ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่สบายและไม่ต้องการร่วมประเวณี ทำให้โจทก์รู้สึกทรมานร่างกายและจิตใจอย่างมาก จึงเป็นรายละเอียดแห่งเหตุหย่าตามที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้อง มิใช่การนำสืบนอกเหนือจากฟ้องตามฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน ให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและแบ่งสินสมรส จำเลยอุทธรณ์เฉพาะประเด็นเรื่องเหตุหย่าเพียงประการเดียว จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2670/2556
พฤติการณ์ที่จะเข้าเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) นั้น นอกจากสามีภริยาต้องสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน 3 ปี แล้ว ยังต้องเป็นการแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติด้วย

โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อความตกลงประนีประนอมยอมความกันว่า ไม่ประสงค์จะร่วมชีวิตฉันสามีภริยากันอีกต่อไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกิน 3 ปี แล้ว แต่เหตุที่โจทก์จำเลยไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกตินั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่นำสืบถึงเหตุทะเลาะ แต่โจทก์กลับรับว่า จำเลยไม่เคยประพฤติเสียหายหรือประพฤติชั่วอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ทางนำสืบของจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์ติดพันหญิงอื่นมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะอยู่กินกับจำเลยและไปจากภูมิลำเนาเสียเอง ทั้งที่จำเลยยังเต็มใจที่จะเป็นคู่สมรสของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความว่า โจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากันอีกต่อไป แต่ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นเพียงว่า โจทก์เท่านั้นที่สมัครใจแยกไปฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข จึงไม่เข้าเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ไม่ว่ามีการแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11702/2555
เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1) ที่ว่า "สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้" ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรในระหว่างระยะเวลาที่จำเลยต้องโทษจำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี หากจำเลยพ้นโทษจำคุกแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินสมควรเพราะเหตุจำเลยต้องถูกจำคุกอีกต่อไป เมื่อคดีดังกล่าวจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาเกิน 1 ปีมาแล้ว โดยความผิดดังกล่าวโจทก์มิได้มีส่วนก่อให้เกิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้นโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยด้วยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/1) ได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่จำเลยถูกจำคุกเกิน 1 ปี และพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี ดังนั้นความเสียหายหรือเดือดร้อนของโจทก์จึงยุติลงแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4480/2553
โจทก์กับจำเลยทะเลาะกันรุนแรงถึงขนาดโจทก์ตบตีจำเลยและโจทก์บอกให้จำเลยย้ายออกไปจากบ้านพักที่แฟลตตำรวจไปอยู่ที่บ้านอันเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไป จำเลยได้พาบุตรสาวของโจทก์และจำเลยไปอยู่ด้วย แม้โจทก์และจำเลยจะไม่ได้ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี การกระทำของจำเลยยังไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4480/2553
จำเลยซึ่งเป็นภริยาย้ายออกจากบ้านพักของโจทก์ซึ่งเป็นแฟลตตำรวจไปอยู่บ้านที่อำเภอน้ำปาดเนื่องจากโจทก์บอกให้ย้ายไป โดยโจทก์โทรศัพท์แจ้งบิดาจำเลยให้มารับจำเลยไป ทั้งบ้านที่อำเภอน้ำปาดก็เป็นที่ดินของโจทก์และจำเลยอันเป็นสินสมรสร่วมกัน การกระทำของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งร้างโจทก์ โจทก์จึงอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552 
     วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2552 
          โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552 
           ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552 
            โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) โดยอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา แม้โจทก์จะอ้างข้อตกลงแยกทางตามเอกสารท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม มาตรา 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีก คือต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) โจทก์ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2552 
            จำเลยมีหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ในการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่จะกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และอาจารย์ผู้สอนโจทก์ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ให้นึกถึงครอบครัว กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานโจทก์ให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียงอีกทั้งโจทก์มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง โจทก์จะอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นกรณีจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2551 
             แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2551
 โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาย่อมจะมีเรื่องระหองระแหงทะเลาะกันเป็นปกติธรรมดาของ ชีวิตคู่ การที่จำเลยไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย และการที่จำเลยตบตีทำร้ายโจทก์จนโจทก์ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยแต่ พนักงานสอบสวนได้ไกล่เกลี่ยก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังทะเลาะกันและจำเลยพยายามจะทำร้ายร่างกายโจทก์ พฤติกรรมดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามี ภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินควร ยังไม่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550
   แม้พฤติการณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่ายินยอมให้จำเลยทำ งานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2542 โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยกลับมาดูแลครอบครัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้ทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป แต่จำเลยยังคงยืนยันไม่กลับประเทศไทยรวมทั้งไม่ยินยอมกลับประเทศไทยเพื่อมา เบิกความเป็นพยานในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยประสงค์ที่จะทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยไม่สนใจที่จะกลับมา ดูแลบุตรและอยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาอีกต่อไป ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี นับแต่ปี 2542 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มา โดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและใน อนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบท บัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุ เงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการ เป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ.มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มี ผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความ สัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือ ยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อ เนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2549
แม้ในปี 2517 โจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยโดยออกจากบ้านที่โจทก์จำเลยเคยอยู่กินด้วยกัน ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนาง ม. ก็ตาม แต่ในปี 2519 จำเลยก็มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนาย ส. จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีกต่อไปเช่นเดียวกัน และระหว่างที่แยกกันอยู่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย อีก ฝ่ายจำเลยซึ่งทราบดีว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่ใดก็มิได้สนใจหรือหาทางที่จะ อยู่ร่วมกับโจทก์ฉันสามีภริยาต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยที่ต่างคนต่างอยู่เป็นเวลานานถึง 25 ปีนั้น ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉัน สามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่าย ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5983/2548
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 28 กำหนดว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น สิทธิของโจทก์ที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องอยู่ภายใต้ขอบ เขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธินั้นได้ การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วย กฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่า โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามแต่ความพอใจของตนนั้นคงไม่ ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็น ภริยาและบุตร หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยต้องมีเหตุที่อ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 มิฉะนั้น สถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2548
โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้วอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเพียงสองเดือน ต่อมาจำเลยไปรับราชการทหารและปลดเป็นกองหนุนเมื่อปี 2531 หลังจากที่จำเลยปลดประจำการทหารแล้วจำเลยมิได้กลับไปอยู่กินด้วยกันกับโจทก์ ฉันสามีภริยา จนกระทั่งปี 2533 โจทก์จึงไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ ฉ. จนมีบุตรด้วยกัน พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี ตั้งแต่จำเลยปลดประจำการทหารในปี 2531 โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2548
โจทก์มีพฤติการณ์ส่อว่าจะมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับผู้หญิงอื่น จำเลยหึงหวงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันมาโดยตลอด ณ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์เคยมาขอยืมเงินโจทก์ไปแล้วยังใช้คืนไม่ หมด ต่อมา ณ. ขอให้โจทก์นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองเพื่อนำเงินกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายเดินทาง ไปทำงานต่างประเทศอีก แต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อให้ความยินยอมในการจดทะเบียนจำนอง จึงเกิดทะเลาะกัน โจทก์จำเลยเขียนบันทึกโต้ตอบกันโดยโจทก์ด่าจำเลยก่อนว่าโจทก์กับจำเลยเป็น บุคคลคนละชั้นกัน จำเลยจึงลำเลิกบุญคุณด่ากลับทำนองว่าโดยเลี้ยงดูส่งเสียโจทก์มาก่อน การที่จำเลยพูดห้ามบุตรสาวจำเลยไม่ให้เข้าใกล้โจทก์และว่าไอ้คนนี้ถ้าคลำไม่ มีหางมันเอาหมดนั้น เป็นการกระทำไปโดยเจตนาเตือนให้บุตรสาวระมัดระวังตัวไว้ เพียงแต่ใช้ถ้อยคำอันไม่สมควรเยี่ยงมารดาทั่วไปเท่านั้น นอกจากนี้ การที่จำเลยพูดว่าทำนองเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์เกิดจากโจทก์และมารดา โจทก์มีส่วนร่วมก่อให้จำเลยกระทำการดังกล่าวอยู่มาก จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเหยียดหยามโจทก์และมารดาโจทก์อย่างร้ายแรงอันโจทก์ จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้ บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอัน ดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)

มาตรา ๑๕๑๗ เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) และ (๒) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑๐) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา ๑๕๑๖ (๘) นั้น ถ้า ศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็ก น้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความ สัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือ ยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อ เนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้ หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้ แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้ง สองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2527
ระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ จำเลยมีอาชีพผิดกฎหมายค้ายาเสพติด โจทก์รู้เห็นและร่วมกระทำด้วยโจทก์ให้ญาติของโจทก์นำเฮโรอีนมาจากภาคเหนือ จนญาติของโจทก์และจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมหรือรู้เห็น เป็นใจในการกระทำของจำเลยที่เป็นเหตุหย่านั้น โจทก์จะ ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยหาได้ไม่
ดูฉบับย่อ

มาตรา ๑๕๑๘ สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่า นั้นแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556
แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อ เนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2540
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันต่อมาจำเลยไปได้ ม.เป็นภริยาโจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยศาล ไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับ โจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไปโจทก์จึงได้ถอนฟ้องไปปรากฏว่าหลังจาก ถอนฟ้องแล้วจำเลยยังคงอยู่ร่วมกับม. ฉันสามีภริยาต่อมาการที่โจทก์ยอมถอนฟ้องก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยการ กระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้าย แรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2537
เหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) จะต้องเป็นเรื่องที่สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยต่างรับราชการและจำเลยมิได้ย้ายตามโจทก์ จึงมีเหตุสมควรในการแยกกันอยู่ จำเลยไม่ได้เดินทางไปหาโจทก์ เนื่องจากโจทก์จำเลยทะเลาะกัน ประกอบกับจำเลยมีเหตุระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ เหตุที่จำเลยทำลายทรัพย์สินและเอาทรัพย์สินไป เนื่องจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันและจำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยง ดูหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้น จำเลยทำไปด้วยความน้อยใจและโกรธจนควบคุมอารมณ์ไม่ได้และโจทก์ไม่ได้แจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยว่าเป็นผู้ทำลายทรัพย์สินและเอาทรัพย์สินไป แสดงว่าโจทก์ให้อภัยจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2536
โจทก์นำหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านและมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานอาหารด้วย กัน ประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย 3-4 เดือน จำเลยถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จึงกลับไปอยู่บ้านเดิม แต่โจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินใช้เดือนละ 4,000บาท ในปี 2527 จำเลยบวชชีโจทก์ทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้จำเลย เดือนละ 4,000 บาท เพิ่งจะงดส่งเงินนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมา ดังนี้ แม้โจทก์จะมีเหตุหย่าจำเลยตามกฎหมายก็ตาม แต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่อง หญิงอื่นฉันภริยา จำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไรโจทก์เคยให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526

มาตรา ๑๕๑๙ ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตและมีเหตุหย่าเกิดขึ้นไม่ว่า เหตุนั้นจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังการเป็นคนวิกลจริต ให้บุคคลซึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถตาม มาตรา ๒๘ มีอำนาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันและแบ่ง ทรัพย์สินได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถก็ ให้บุคคลดังกล่าวขอร้องขอต่อศาลในคดีเดียวกันนั้นให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรส ซึ่งวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ

เมื่อบุคคลดังกล่าวเห็นสมควร จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๕๒๖ หรือมาตรา ๑๕๓๐ ด้วยก็ได้

ในกรณีที่คู่สมรสซึ่งถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริตยังไม่ได้ถูกสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากศาลเห็นว่าคู่สมรสนั้นยังไม่เป็นคนที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ยกฟ้องคดีนั้นเสีย ถ้าเห็นว่าเป็นบุคคลที่ควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ยังไม่สมควรจะให้มีการหย่า ก็ให้ศาลสั่งให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถโดยไม่จะสั่งเรื่องผู้อนุบาลหรือจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลตามมาตรา ๑๔๖๓ ก็ได้ คงพิพากษายกแต่เฉพาะข้อหย่า ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งกำหนดค่าเลี้ยงชีพด้วยก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคู่สมรสนั้นวิกลจริตอันควรสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและทั้งมีเหตุควรให้หย่าด้วย ก็ให้ศาลสั่งในคำพิพากษาให้คู่สมรสนั้นเป็นคนไร้ความสามารถตั้งผู้อนุบาลและให้หย่า

ในกรณีนี้ ถ้าศาลเห็นว่าเหตุหย่าที่ยกขึ้นอ้างในการฟ้องร้องนั้นไม่เหมาะสมแก่สภาพของ คู่สมรสซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถที่จะหย่าจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ดี ตามพฤติการณ์ไม่สมควรที่จะให้มีการหย่าขาดจากกันก็ดี ศาลจะพิพากษาไม่ให้หย่าก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2510
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1524 เป็นบทบัญญัติวิธีการพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอันสืบเนื่องมาจาก มาตรา 1519 อันเป็นบทบัญญัติสำหรับเด็กที่เกิดในสมรสซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น บุตรของชายผู้เป็นสามีเหตุนี้ ถ้ามีข้ออ้างว่าผู้ใดเป็นบุตรของหญิงชายซึ่งสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็พิสูจน์ได้โดยวิธีการตามมาตรา 1524 ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดามารดามิได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมายก็โดยบทบัญญัติมาตรา 1526 ต่อไปหาใช่ว่าพฤติการณ์ตามมาตรา 1524 เป็นวิธีการรับรองบุตรนอกสมรสให้เป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายขึ้นมานอกเหนือไปจากมาตรา 1526 อีกไม่

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานเฉพาะข้อโต้เถียงในเรื่องทรัพย์สินข้อ เดียว จำเลยหาได้โต้แย้งว่ามีประเด็นอื่นที่ต้องสืบพยาน อีกไม่ ในที่สุดก็แถลงไม่สืบพยาน จำเลยจะมาเถียงว่าศาลมีคำสั่ง ตัดประเด็นข้อที่จะนำสืบว่าไม่ถูกต้องในชั้นฎีกาย่อมไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 เพราะคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นนี้ไม่ใช่คำสั่งตามมาตรา 227, 228

มาตรา ๑๕๒๐ ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559
แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2558
ในคดีหย่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดและอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสองและมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนละ 4,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเมื่อจำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและให้จำเลยจ่าย ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตามมาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
ระหว่างที่โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีความ สัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กิน ด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่ โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และในกรณีนี้โจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วย ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด..." และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548
ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ใน ความปกครองของ ว. บิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดัง กล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็น อำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตาม มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง

มาตรา ๑๕๒๑ ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา ๑๕๒๐ ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552
การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดนั้น หาใช่พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ไม่ ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองด้วย อันย่อมส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวเนื่องเพราะหากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรองที่เกี่ยวกับคำขอหลัก นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็ตาม แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและรักษาประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอรวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้

แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวโดยเฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนี้ ถ้าต่อมาพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีนั้นก็หาได้จำกัดหมายถึงผู้ร้องลำพังไม่ ดังเห็นได้จากมาตรา 1598/38 ที่ว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้ร้องและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2546
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรซึ่งตกอยู่แก่จำเลยฝ่ายเดียวตามข้อตกลงจด ทะเบียนหย่า แต่ตามคำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีโจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนตัว ผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ได้ตกลงไว้กับจำเลย ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์ที่จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521

แม้จำเลยไม่มีพฤติการณ์ประพฤติตนไม่สมควรในการ ใช้อำนาจปกครองตามข้อตกลงที่จดทะเบียนแต่ปรากฎภายหลังว่ามีพฤติการณ์ที่ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตร ศาลเห็นสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจจากจำเลยมาเป็นโจทก์ได้ตาม มาตรา 1520 และ 1521

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในการเปลี่ยนแปลง ตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดี มีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิงป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้องทั้งผู้ร้องรับราชการ เป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและ ประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ พิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2534
หลังจากจำเลยหย่าร้างกับโจทก์แล้ว จำเลยนำภริยาเก่าและบุตรซึ่งเกิดจากภรรยาเก่ามาอยู่ร่วมด้วย จำเลยชอบดื่มสุราและกลับบ้านดึกเป็นประจำ ส่วนโจทก์ยังไม่ได้สมรสใหม่ หลังจากโจทก์จำเลยแยกกันอยู่แล้วโจทก์พาบุตรผู้เยาว์ไปอุปการะเลี้ยงดูตาม ลำพัง บุตรผู้เยาว์ได้รับความอบอุ่นและใกล้ชิดกับโจทก์ซึ่งเป็นมารดา โดยโจทก์ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองบุตรผู้เยาว์โดยมิชอบหรือประพฤติ ชั่วร้ายแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของบุตรผู้เยาว์ที่จะได้รับต่อไปในอนาคต แล้วการให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของโจทก์ต่อไปย่อมมีความเหมาะสมยิ่ง กว่าให้ไปอยู่ในความปกครองของจำเลย

มาตรา ๑๕๒๒ ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2550
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาล พิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจน กว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของ โจทก์จำเลย

ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้ แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อัน เป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง

แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับ บิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่าง ลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2548
ระหว่างที่โจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีความ สัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัย และย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้านหรือบุคคลทั่วไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ขวนขวายที่จะให้มีการอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ต่อไปจึงได้กระทำการอันก่อให้เกิดความบาดหมางกันยิ่งขึ้นสุดที่จะอยู่กิน ด้วยกันได้อีก และนับแต่วันที่แยกกันอยู่ดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 4 ปี จำเลยไม่ได้ส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือกลับไปหาโจทก์อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์เพราะเหตุที่ โจทก์จำเลยไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และในกรณีนี้โจทก์จำเลยมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาลให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วย ว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด..." และมาตรา 1522 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่า อุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด" ดังนี้ แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

มาตรา ๑๕๒๓ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา ๑๕๑๖ (๑) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1899/2559
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าประเด็นหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์โดยไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้ใช้แทน จำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท และจำเลยที่ 2 เห็นว่ารับผิดในค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งจึงวางเงินเพียง 3,260 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง เห็นว่าศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์มาโดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลเพิ่มเติม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องแล้ว แสดงว่าไม่จงใจจะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป

โจทก์ฟ้องขอหย่ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทนที่ล่วงเกินจำเลยที่ 1 ในทางชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 แต่ถูกจำเลยที่ 2 ข่มขืน จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันวางแผนทำลายชื่อเสียงจำเลยที่ 2 ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์เข้าใจเกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดีแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมไปในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 และมิได้เป็นผู้ประพฤติชั่วและจะขออยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ไม่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย และไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปคดีของจำเลยที่ 2 ประเด็นฟ้องหย่าจึงพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเห็นควรหยิบยกปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แก่โจทก์หรือไม่ด้วย ซึ่งการกระทำในทำนองชู้สาวต้องมีผู้กระทำสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหญิงคือ จำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมแสดงว่าฝ่ายชายคือจำเลยที่ 2 ไม่มีการกระทำในทำนองชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10851/2555
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาวได้ก็เฉพาะแต่หญิงนั้นต้องแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในทำนองชู้สาว เมื่อโจทก์เพียงแต่สงสัยในความสัมพันธ์ระหว่างสามีโจทก์กับจำเลย เช่น การที่สามีโจทก์ไปค้ำประกันหนี้เช่าซื้อรถยนต์ให้จำเลย การรับฟังผู้อื่นเล่ามาว่ามีคนต้องการโทรศัพท์ไปหาสามีโจทก์ เมื่อโทรหาจำเลยก็ติดต่อกับสามีโจทก์ก็ได้ หรือมีผู้เล่าว่าสามีโจทก์ไปหาจำเลยที่บ้านเช่า แต่ไม่ปรากฏว่า มีพยานอื่นสนับสนุนยังไม่พอฟังว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผย ทั้งการที่จำเลยกับสามีโจทก์อยู่ด้วยกันตามลำพังในโรงแรมชานเมือง แม้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยอาจจะไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อสิทธิที่โจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยนั้น จำเลยต้องแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลักลอบและพยายามปกปิดการกระทำให้ทราบกันตามลำพังระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2552
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2552
เมื่อโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะไปอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา ไม่ว่าจะได้อุปการะหรือยกย่องอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังรับการอุปการะเลี้ยงดูและการยกย่องฉันภริยาอยู่อีกจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะนำคดีมาสู่ศาลเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2552
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8774/2550
ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้..." แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดย เปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่า ทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2548
ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจาก หญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่า ภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและ อุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2544
ก่อนฟ้องหย่าโจทก์พาจำเลยทั้งสองไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจว่าพบจำเลย ทั้งสองอยู่ในห้องและหลับนอนอยู่ด้วยกันสองต่อสอง และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาโจทก์ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนและมีการบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยว กับคดีไว้ว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความใด ๆ กับจำเลยที่ 2 หนังสือร้องเรียนเป็นเรื่องเข้าใจผิด โจทก์ได้ปรับความเข้าใจกับจำเลยทั้งสองแล้วเข้าใจกันดีแล้วทุกอย่าง จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2รับว่าจะไม่ฟ้องร้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์และจำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว รายงานประจำวันดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ หรือที่จะมีขึ้นเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองเป็นชู้กันให้เสร็จไปด้วยต่าง ฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246,247

มาตรา ๑๕๒๔ ถ้าเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๓) (๔) หรือ (๖) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533
จำเลยที่ 1 ใช้เท้าเตะโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงกระดูดแขนหัก เป็นการทำร้ายร่างกายที่เข้าลักษณะร้ายแรงเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาต่อเนื่องกันตลอดมา โจทก์เพิ่งรู้การกระทำของจำเลยที่ 1ที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนฟ้องยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องหย่าจึงยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้องหย่าเพราะเหตุไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่ 1เนื่องจากเหตุทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 1524 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 เงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนการรับทรงเจ้าเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสเมื่อจำเลยที่ 1 นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราช บัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยืนสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่ รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามที่โจทก์ขอ

มาตรา ๑๕๒๕ ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๕๒๓ และมาตรา ๑๕๒๔ นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้

ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535
จำเลยมีเหตุระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาจึงไม่พอใจและ ทะเลาะกับโจทก์อยู่เสมอ ฉะนั้นการที่โจทก์ไม่อยู่บ้านแล้วจำเลยกล่าวถ้อยคำถึงโจทก์ว่า "ขอให้มีอันเป็นไป ตายแล้วจะมารับเงิน หากไม่ตายให้เลี้ยงดูกันเอง และบิดามารดาโจทก์ไม่ให้ความยุติธรรมแก่จำเลย" กับ "ไอ้สัตว์ไอ้หน้าตัวเมีย กูไม่เลิกกับมึงง่าย ๆ หรอก ออกชายแดนงวดนี้ถ้าแขนขาขาดก็ไปเลี้ยงดูกันเอาเอง ถ้าตายจะกลับมารับเงิน" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของ โจทก์ แต่เป็นถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดู หญิงอื่น และมิใช่คำกล่าวที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภริยา จำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์ได้จึงแยกไปอยู่ที่อื่นนั้น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ แต่กรณีที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการ เป็นสามีภริยา จำเลยมีสิทธิฟ้องหย่าได้ โจทก์ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. เป็นการอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา และกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำไม่สิ้นสุด แม้จำเลยจะทราบเหตุดังกล่าวมาเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม จำเลยก็ยกเป็นเหตุฟ้องแย้งได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 ค่าทดแทนที่ภริยามีสิทธิได้รับจากสามีซึ่งอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา นั้น มาตรา 1525 กำหนดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ ภริยารับราชการครูเป็นผู้มีฐานะตำแหน่งหน้าที่และเกียรติในทางสังคม ที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้ภริยา 100,000 บาทจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2530
การล่วงเกินในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง มีความหมายรวมถึงการทำชู้ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนนี้มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อน จึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวได้และค่าทดแทนใน กรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่ชายชู้ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ด้วย

โจทก์ ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นชู้กับ น.ผู้ตายซึ่งเป็นภริยาโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าหากน. เป็นภริยาโจทก์โจทก์ก็รู้เห็นเป็นใจให้ภริยามีชู้ ดังนี้ประเด็นที่ว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้กับผู้ตายนั้น ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย

มาตรา ๑๕๒๖ ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๙๘/๓๙ มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ และมาตรา ๑๕๙๘/๔๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556
               ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้..." คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า "จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู" แต่มีคำว่า "ค่าขาดรายได้" เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2556
            สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจะมีได้เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง การหย่าโดยคำพิพากษาย่อมมีผลให้การสมรสสิ้นสุดนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2552
         โจทก์เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ยังคงอุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นพฤติการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่โจทก์รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) จึงยังคงมีอยู่ตลอดมาและโจทก์ย่อมยกเป็นเหตุหย่าได้ โดยไม่สำคัญว่าโจทก์จะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนฟ้องเกิน 1 ปีหรือไม่ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ไม่ระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2551
      แม้สัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันระหว่างที่เป็นสามีภรรยากันจะมีข้อตกลงห้ามไม่ให้บอกล้างหรือยกเลิกสัญญามีกำหนดเวลา 20 ปี ก็ตามแต่ก็เป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกัน ข้อตกลงจะไม่บอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรส จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้

       ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ การกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ได้ทำงานเพราะหลังสมรสโจทก์ลาออกจากงานมาช่วยดูแลคลินิกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกดังกล่าวประกอบกับรายได้ของจำเลยที่ 1 ตลาดจนค่าครองชีพในปัจจุบันประกอบกัน

การกำหนดค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา 1526 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่คำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันถึงที่สุด
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2551
     แม้คำให้การจำเลยจะไม่ระบุไว้ชัดถึงบทกฎหมายอันเป็นข้ออ้างถึงเหตุที่ขาดอายุความ แต่เหตุหย่าที่กำหนดอายุความหรือการระงับไปซึ่งสิทธิเรียกร้องคงมีเพียงมาตรา 1529 แห่ง ป.พ.พ. มาตราเดียวที่ระบุถึงเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) อันเป็นเหตุฟ้องหย่าในคดีนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือสิทธิฟ้องร้องเนื่องจากเหตุดังกล่าวระงับไปตามบทกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ถือว่าการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงของจำเลยเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปี 2544 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในปี 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนยกขึ้นกล่าวอ้าง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550
           แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่า โจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมดแล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้ว จะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
           การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อเนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
            การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือจะไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนกระทั่งเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงนำคดีมาฟ้อง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อเนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2546
             โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 และอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยโดยยังมิได้หย่าขาดกับโจทก์ โจทก์จึงฟ้องหย่าโดยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยทั้งสองจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2536 แต่จำเลยทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำอายุความจึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

แม้โจทก์จะเคยเห็นภาพถ่ายพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสองในภายหลังและมิได้โต้แย้งคัดค้านก็ตาม แต่ขณะจัดพิธีมงคลสมรสของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ทราบเรื่องกรณียังไม่พอฟังว่าโจทก์ได้รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้

การที่จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงอื่นฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) และศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคแรก

สิทธิของผู้เยาว์ที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาเป็นสิทธิของบุตรแต่ละคนจะพึงได้รับตามความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรทั้งสองรวมกันมาจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองแต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยกำหนดจำนวนเงินเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองต่อไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
            มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2539
         โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลยเพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดังโจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(4/2) การที่จำเลยจะ เรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีจำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538
         โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่2ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ลักษณะการกระทำของจำเลยที่1ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสองได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่1ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรก หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2537
          การฟ้องหย่า นอกจากมีเหตุฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516แล้ว ยังมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 ดังนั้นถ้ามีการหย่าโดยความยินยอมแล้ว แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมยังไม่สมบูรณ์ อีกฝ่ายหนึ่งจึงฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินกัน ต่อหน้าพยาน 2 คน โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าตามบันทึกที่ตกลงกัน จำเลยบ่ายเบี่ยงและคำขอท้ายฟ้องระบุว่าขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยมาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอม โจทก์จึงฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนได้ และพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์นั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ข้อความในบันทึกข้อตกลงการหย่า นอกจากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลบุตร ยังมีข้อความระบุว่า "ผู้เป็นภรรยาพอใจไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานการหย่าร้างครั้งนี้จึงให้มีพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ" ซึ่งมีข้อความระบุถึงการหย่าไว้แล้ว เมื่อมีผู้ลงนามเป็นพยาน 2 คน จึงครบถ้วนเป็นข้อตกลงหย่าด้วยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514วรรคสอง แล้ว สิทธิฟ้องร้องที่ระบุไว้ในมาตรา 1529 คือสิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)(2)(3)หรือ (6) หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง มาตรา 1515ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงการหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2537
           จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 เมื่อมีการหย่ากันแล้วและการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2537
        จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาและมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้โจทก์ยากจนลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาคดีถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2536
          โจทก์นำหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านและมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 1 คนโดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาจำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เดือนพฤษภาคม 2520 โจทก์จำเลยทะเลาะทุบตีกัน จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้าน แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยและเคยรับจำเลยไปรับประทานอาหารด้วยกัน ประมาณปี 2523 โจทก์ไปรับจำเลยมาอยู่ด้วย 3-4 เดือน จำเลยถูกบิดาโจทก์ไล่ออกจากบ้าน จึงกลับไปอยู่บ้านเดิม แต่โจทก์ยังไปมาหาสู่จำเลยโดยให้เงินใช้เดือนละ 4,000บาท ในปี 2527 จำเลยบวชชีโจทก์ทราบก็พูดว่าบวชก็ดีและไปเยี่ยมจำเลยกับส่งเงินให้จำเลยเดือนละ 4,000 บาท เพิ่งจะงดส่งเงินนับแต่เดือนมกราคม 2529 เป็นต้นมา ดังนี้ แม้โจทก์จะมีเหตุหย่าจำเลยตามกฎหมายก็ตาม แต่พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏถือได้ว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียวที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จำเลยไม่ประกอบอาชีพอะไรโจทก์เคยให้จำเลยเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,000 บาท ฉะนั้นการที่โจทก์จำเลยหย่ากันย่อมทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535
             จำเลยมีเหตุระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาจึงไม่พอใจและทะเลาะกับโจทก์อยู่เสมอ ฉะนั้นการที่โจทก์ไม่อยู่บ้านแล้วจำเลยกล่าวถ้อยคำถึงโจทก์ว่า "ขอให้มีอันเป็นไป ตายแล้วจะมารับเงิน หากไม่ตายให้เลี้ยงดูกันเอง และบิดามารดาโจทก์ไม่ให้ความยุติธรรมแก่จำเลย" กับ "ไอ้สัตว์ไอ้หน้าตัวเมีย กูไม่เลิกกับมึงง่าย ๆ หรอก ออกชายแดนงวดนี้ถ้าแขนขาขาดก็ไปเลี้ยงดูกันเอาเอง ถ้าตายจะกลับมารับเงิน" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์ แต่เป็นถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่น และมิใช่คำกล่าวที่ร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา จำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์ได้จึงแยกไปอยู่ที่อื่นนั้น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ แต่กรณีที่โจทก์อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา จำเลยมีสิทธิฟ้องหย่าได้ โจทก์ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. เป็นการอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา และกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำไม่สิ้นสุด แม้จำเลยจะทราบเหตุดังกล่าวมาเกิน 1 ปีแล้วก็ตาม จำเลยก็ยกเป็นเหตุฟ้องแย้งได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 ค่าทดแทนที่ภริยามีสิทธิได้รับจากสามีซึ่งอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยานั้น มาตรา 1525 กำหนดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ ภริยารับราชการครูเป็นผู้มีฐานะตำแหน่งหน้าที่และเกียรติในทางสังคม ที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้ภริยา 100,000 บาทจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535
          พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมเรือนเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างเปิดเผย โดยเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าโจทก์เคยไปพบบิดาของจำเลยที่ 2 ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ไปบ้านจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1ในทำนองชู้สาวจึงเป็นเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรมอยู่ในตัวและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ซึ่งเป็นภรรยาโดยตรง ซึ่งโจทก์ก็แสดงให้เห็นว่ามีฐานะทางสังคมที่ดี เมื่อมีพฤติการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นผู้บังคับบัญชาของโจทก์มีทัศนะต่อโจทก์ในทางไม่ดี ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความราบรื่นในชีวิตสมรสของโจทก์ และความผาสุกในครอบครัว ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523วรรคสอง ค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนตามควรแห่งพฤติการณ์และสถานะของคู่สมรสประกอบกัน โจทก์ได้ทราบถึงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองกลางปี 2525แต่คำฟ้องและชั้นนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยืนยันความสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมาถึงปี 2528 มิได้หยุดการกระทำและสิ้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนภายในปี 2528คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2533
            คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโจทก์ การเป็นชู้ย่อมเป็นการล่วงสิทธิของโจทก์ นับเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์อยู่ในตัว ทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ และขอให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทน นับได้ว่าเป็นการแจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์นำสืบว่าโจทก์เดินทางไปต่างประเทศครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 และโจทก์ได้ทราบเรื่องจำเลยเป็นชู้เมื่อต้นเดือนเมษายน 2527 จำเลยมิได้สืบหักล้างให้เห็นว่าโจทก์ทราบเรื่องตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนเมษายน 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่13 ธันวาคม 2527 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2533
               จำเลยที่ 1 ใช้เท้าเตะโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงกระดูดแขนหัก เป็นการทำร้ายร่างกายที่เข้าลักษณะร้ายแรงเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาต่อเนื่องกันตลอดมา โจทก์เพิ่งรู้การกระทำของจำเลยที่ 1ที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนฟ้องยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องหย่าจึงยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคแรก โจทก์มิได้ฟ้องหย่าเพราะเหตุไม่อาจทนอยู่กับจำเลยที่ 1เนื่องจากเหตุทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(3) จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ตามมาตรา 1524 ระหว่างอยู่กินกับจำเลยที่ 1 โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และสำหรับเรื่องเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน ทั้งโจทก์ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ฟังไม่ได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลงในอันที่จะมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526 เงินบริจาคที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นค่าตอบแทนการรับทรงเจ้าเป็นเงินรายได้ที่จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสเมื่อจำเลยที่ 1 นำไปซื้อที่ดินและปลูกอาคาร ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยืนสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามที่โจทก์ขอ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550
แม้จำเลยให้การและบรรยายคำฟ้องแย้งตอนแรกว่า โจทก์ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยเป็นทำนองว่า โจทก์ในฐานะสามีไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยซึ่งเป็นภริยาเป็นการไม่ ปฏิบัติหน้าที่ของสามีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง กำหนดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำฟ้องแย้งของจำเลยแต่แรกจนถึงคำขอท้ายฟ้องแย้งโดยตลอดทั้งหมด แล้ว ได้ใจความตามที่บรรยายว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นสามีฝ่ายเดียว การฟ้องหย่าของโจทก์ทำให้จำเลยยากจนลง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์เรื่องค่าเลี้ยงชีพที่ ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในกรณีที่มีการหย่าแล้ว จะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ถือไม่ได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รับผิดชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้อง แย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4685/2540
มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ ในกรณีหนึ่ง เมื่อปรากฎว่าการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้อง หย่าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจด ทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยึดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยาออกไป หลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม ซึ่งเมื่ออนุโลมตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง แล้วจะได้ความว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยน แปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลดเพิ่มหรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของ โจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไปจึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่า เลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่ง ที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามมาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และมิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนจำเลยซึ่งเป็นความเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว และจำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอม ความกันตลอดมา แต่เมื่อพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

มาตรา ๑๕๒๗ ถ้า หย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา ๑๕๑๖ (๗) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา ๑๕๑๖ (๙) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่ เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา ๑๕๒๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2519
บิดาของเด็กเท่านั้นที่จะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1527 เมื่อจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วก็จะถอนมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และเมื่อมีการจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะฟ้องขอให้ถอนการจดทะเบียนได้ก็ด้วย เหตุที่ว่าผู้ขอให้จดทะเบียนมิใช่บิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528 เท่านั้น

จำเลยยอมให้เงินโจทก์ 20,000 บาทเป็นค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการที่โจทก์ยินยอมจะไปเพิกถอนการจดทะเบียน รับรองบุตรซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุติว่าจำเลยมิใช่บิดาแท้จริงของเด็กนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจึงขัดกับประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1528 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2507
โจทก์แต่งงานอยู่กินกันกับจำเลยหลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระหว่างอยู่ด้วยกันเกิดบุตร 1 คน จำเลยได้แจ้งความต่อนายทะเบียนท้องถิ่นว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลยและใช้ชื่อบุคคลอื่นว่าเป็นบิดาของเด็ก ดังนี้ โจทก์ผู้เป็นสามีจะฟ้องจำเลยภริยานั้น ว่าบังอาจแจ้งความเท็จ เพื่อให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137หาได้ไม่ เพราะโจทก์มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้

มาตรา ๑๕๒๘ ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288/2537
จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาและมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1)เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวและการหย่านั้นจะทำให้โจทก์ยากจนลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เพราะการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาคดีถึงที่สุดตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2501
บุคคลที่จะจดทะเบียนรับรองบุตร หรือรับรองบุตรให้มีผลในกฎหมายได้บุคคลนั้นจะต้องเป็นบิดาของเด็กด้วยมิฉะนั้นการรับรองก็ไม่เกิดผล

มาตรา ๑๕๒๙ สิทธิ ฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา ๑๕๑๖ (๑) (๒) (๓) หรือ (๖) หรือมาตรา ๑๕๒๓ ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความ จริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง

เหตุอันจะยกขึ้นฟ้องหย่าไม่ได้แล้วนั้น อาจนำสืบสนับสนุนคดีฟ้องหย่าซึ่งอาศัยเหตุอย่างอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การยินยอมและให้อภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 หมายถึงคู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิฟ้องหย่า

โจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่อง ส. ฉันภริยา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้

การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ที่ต่อ เนื่อง ตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549
การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นเป็นเหตุฟ้องหย่าที่มีพฤติการณ์ต่อ เนื่อง ดังนั้นตราบที่จำเลยยังอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ยังคงมีอยู่ แม้โจทก์จะทราบพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ก็ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามมาตรา 1529

มาตรา ๑๕๓๐ ขณะคดีฟ้องหย่าอยู่ในระหว่างพิจารณา ถ้าฝ่ายใดร้องขอ ศาลอาจสั่งชั่วคราวให้จัดการตามที่เห็นสมควร เช่น ในเรื่องสินสมรส ที่พักอาศัย การอุปการะเลี้ยงดูสามีภริยาและการพิทักษ์อุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2522
โจทก์อยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนและมีบุตรด้วยกัน โจทก์ซึ่งเป็นมารดามีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงบุตรผู้เยาว์รวมเข้ามา ในคดีเดียวกับที่ขอให้จำเลยรับรองบุตรได้ ไม่ต้องฟ้องขอให้รับรองบุตรจนมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อน

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรถึงที่สุดส่วน ค่าเลี้ยงดูที่โจทก์จ่ายไปตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกร้างกับโจทก์จนถึงวันฟ้อง นั้นบังคับให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2519
การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน โจทก์ฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันได้ ไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเสียก่อน แล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในภายหลัง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2085/2499)

โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้ เยาว์จากจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามของผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์นั้น ไม่เป็นคดีอุทลุม

โจทก์ บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่อลวงร่วมประเวณีกับโจทก์จนเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อโจทก์คลอดบุตรแล้วจำเลยได้แสดงให้รู้ทั่วไปตลอดมาว่าเด็กนั้นเป็นบุตร ของจำเลย ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารของจำเลยแสดงชัดว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลยตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(3) ก็ตาม โจทก์ก็ฟ้องได้ เพราะโจทก์ได้บรรยายไว้ด้วยว่าเมื่อโจทก์คลอดบุตรแล้วจำเลยได้แสดงให้รู้ ทั่วไปตลอดมาว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลย ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่จะฟ้องขอให้รับรองบุตรได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1529(5)

การกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยคำพิพากษานั้นต้องเริ่มแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1873/2517
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรที่ ค.บิดารับรองแล้ว โดย ค.ให้ใช้นามสกุล ให้ที่พักอาศัยและอยู่ร่วมเรือนเดียวกัน ให้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา ค.ถึงแก่กรรม นาพิพาทจึงตกทอดเป็นของโจทก์ในฐานะเป็นทายาท จำเลยให้การว่านาเป็นของจำเลย โจทก์ทั้งสี่ไม่เป็นทายาทอันชอบด้วยกฎหมายของ ค. ในวันชี้สองสถาน คู่ความตกลงท้ากันในประเด็นข้อเดียวว่า ถ้าหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ค. โจทก์ยอมแพ้คดี ดังนี้ เมื่อโจทก์นำสืบได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ ค. บิดาได้รับรองแล้วเท่านั้น โจทก์ทั้งสี่ก็ย่อมมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ค. โจทก์จึงต้องแพ้คดีตามคำท้า เพราะกรณีของโจทก์ หากจะให้เกิดผลให้โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ค. จะต้องฟ้องคดีให้รับโจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 และจะต้องมีคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรของ ค.ตามมาตรา 1530(3) เสียก่อน ส่วนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1524 นั้น. เป็นเรื่องราววิธีพิสูจน์การเป็นบุตรที่เกิดในระหว่างที่มีการสมรสที่ชอบ ด้วยกฎหมาย ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ที่บัญญัติว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย หากแต่ให้มีสิทธิเกี่ยวกับมรดกของชายผู้ให้กำเนิดเท่านั้น

มาตรา ๑๕๓๑ การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป

การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2538
คดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ตายก่อนคดีถึงที่สุดเนื่องจากมีการขอพิจารณาใหม่ ซึ่งมีผลให้การสมรสสิ้นสุดลงเสียก่อนที่คำพิพากษาให้หย่าและแบ่งสินสมรสจะถึงที่สุด จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2538
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาด นัดพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยไม่มีการส่งคำบังคับให้ จำเลยแต่โจทก์นำคำพิพากษาไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนสมรสเป็น การบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นแล้วจำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายใน กำหนด6เดือนนับแต่วันที่มีการบังคับตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา208 เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาใหม่แล้วคำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาล ชั้นต้นและวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้นถือว่าเป็นอันเพิกถอนไปในตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา209วรรคแรกการที่โจทก์ไปให้นาย ทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาในทะเบียนสมรสจึงถูกเพิกถอนไปด้วยสถานะ บุคคลของโจทก์จำเลยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2537
จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 เมื่อมีการหย่ากันแล้วและการหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่ สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

มาตรา ๑๕๓๒ เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
แต่ในระหว่างสามีภริยา
(ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2550
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2549
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แต่จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย ถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อน โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไป การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์ ตามมาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2548
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แบ่งบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย แก่จำเลยครึ่งหนึ่ง แต่โจทก์และจำเลยไม่สามารถแบ่งกันเองและไม่สามารถประมูลราคากันเองได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทนำ ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งกันนั้นเป็นการร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดวิธี การแบ่งสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532, 1533 โจทก์กับจำเลยไม่ใช่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ต่อกัน แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีก็ไม่เป็นที่สุด กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ

มาตรา ๑๕๓๓ เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8452/2551
ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1)

ฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าว อ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ป.พ.พ. มาตรา 1533 บัญญัติว่า "เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน" เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน หาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวไม่ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2149/2547
โจทก์จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย แม้ต่อมาโจทก์จำเลยจะแยกกันอยู่หรือหย่ากันในทางศาสนาอิสลาม ก็จะถือว่าโจทก์จำเลยขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วมิได้ เพราะมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาปรับใช้มิได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินต้องบังคับตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 เมื่อโจทก์จำเลยยังมีสถานะเป็นสามีภริยาต่อกันตามกฎหมาย จำเลยจึงฟ้องขอแบ่งสินสมรสมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546
ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่ง เมื่อรถยนต์วอลโว่เป็นสินสมรสและโจทก์จำเลยหย่ากันแล้วก็ชอบที่จะแบ่งสิน สมรสให้โจทก์และจำเลยได้ส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ซึ่งถ้าการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้นำสินสมรสออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมา แบ่งกันตามส่วน แต่หากไม่สามารถนำรถยนต์สินสมรสมาแบ่งกันได้ก็ให้โจทก์ใช้คืนมูลค่าค่าเช่า ซื้อที่ชำระไปครึ่งหนึ่ง

มาตรา ๑๕๓๔ สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมาย บังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา ๑๕๓๓ และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วน ของตนหรือสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4650/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 กำหนดให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเมื่อมีการหย่าไม่ว่าจะเป็นการ หย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย แล้ว จำเลยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเช่นเดียวกัน แม้สินสมรสที่จำเลยฟ้องแย้งจะเป็นสินสมรสอื่นนอกจากที่โจทก์ระบุในคำฟ้องก็ ตามทั้งนี้เพื่อให้ปัญหาการแบ่งสินสมรสเป็นอันยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดแห่ง การสมรส

โจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้และแยกกันอยู่ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2536 ตลอดมาจนถึงวันฟ้องหย่าแต่การสมรสระหว่างโจทก์จำเลยหาสิ้นสุดลงไม่ สินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังดำรงคงอยู่ตลอดเวลาและจำเลยมีอำนาจจัดการสิน สมรสที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ หากจำเลยใช้จ่ายเงินตราสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่อง ที่โจทก์จะต้องขอให้จำเลยชดใช้ โดยตั้งประเด็นให้ชดใช้สินสมรสที่ขาดหายไปโดยเฉพาะเจาะจงตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำนวนเงินสินสมรสในบัญชีเงินฝากที่เป็นฐานในการคิด คำนวณแบ่งปันกันให้ถือตามที่มีอยู่ในวันฟ้อง จึงชอบแล้ว

รายได้จากร้านเสริมสวยจำนวน 1,000,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในการจะต้องคืนเงินส่วนนี้แก่จำเลย แต่จะต้องแบ่งคืนแก่จำเลยเมื่อได้รับชำระเงินยืมจำนวนนี้คืนจากผู้ยืมแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องเงินจำนวนนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์นำเอาเงิน 1,000,000 บาทมาคำนวณหักกลบลบหนี้ในการแบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์จำเลยคนละกึ่งหนึ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงไม่ชอบกรณีมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งสิน สมรสไม่ชอบ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการบังคับเอากับสินสมรสที่จัดแบ่งแล้วอย่างไร จึงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246ประกอบมาตรา 142 ต้องถือว่ารายได้จากร้านเสริมสวย ยังไม่สามารถนำมาคิดคำนวณแบ่งสินสมรสเพราะยังไม่ได้รับชำระคืนจากผู้ยืม

เงิน 100,000 บาท ของจำเลยเมื่อนำมารวมกับเงินของโจทก์ไปซื้อที่ดินและบ้านแล้ว ย่อมเปลี่ยนเป็นที่ดินและบ้านที่ซื้อมาจึงไม่มีเงินที่ต้องคืนให้จำเลยหรือ โจทก์อีก

โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านเสริมสวยตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรส กัน กิจการร้านเสริมสวยดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยมีอยู่แล้วก่อน สมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(1) โจทก์ลงทุนในกิจการดังกล่าว 200,000 บาท ส่วนจำเลยลงทุน100,000 บาท กิจการร้านเสริมสวย จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยตามสัดส่วนของเงินลงทุน คือ 2 ต่อ 1

ที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้องจำเลยได้รับโอนมาภายหลังจากโจทก์จำเลยจดทะเบียน สมรสกันแล้ว ส่วนเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดที่จำเลยนำไปชำระนั้น จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย แต่เงินในบัญชีดังกล่าวมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วย ซึ่งเงินรายได้ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยและไม่อาจแยกได้ว่าส่วน ไหนเป็นเงินสินส่วนตัวของจำเลย ส่วนไหนเป็นเงินสินสมรสได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเงินสินส่วนตัวของจำเลยเข้ามาปะปนอยู่ กับเงินดาวน์ของที่ดินและของห้องชุดทั้งสี่เป็นจำนวนเท่าใด กรณีจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 วรรคท้ายว่าเงินดาวน์ดังกล่าวเป็นสินสมรสด้วยที่ดินและห้องชุดทั้งสี่ห้อง นี้จึงเป็นสินสมรสเต็มจำนวนที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

เงินฝากในบัญชีธนาคารมีเงินรายได้จากกิจการร้านเสริมสวยรวมอยู่ด้วยโดยระคน ปนกันจนไม่อาจจำแนกได้ว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าใดจึงต้องถือตามข้อสันนิษฐาน ตามกฎหมายว่าเงินในบัญชีนี้เป็นสินสมรส ฉะนั้น เมื่อจำเลยถอนเงินในบัญชีดังกล่าวมาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ เงินฝากในบัญชีใหม่นี้จึงเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง เช่นเดียวกันด้วย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเงินฝากในบัญชีเงินฝากทั้งสองฉบับคงมีเงินเหลืออยู่ เพียงบัญชีเดียวจำนวนเงิน 211,562.61 บาท อันเป็นเงินสินสมรสที่ต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่ง โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีการถอนออกไปบางส่วนหลังวันฟ้องเพื่อ ผ่อนชำระค่าซื้อบ้าน ที่ดินรถยนต์และคอนโดมิเนียม คงเหลือเงินในบัญชีเพียง 39,169.08บาท เท่านั้นจำเลยมิได้โต้แย้งว่า เงินที่ถูกถอนออกไปนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องอย่างใดเมื่อเงินฝากในบัญชีดัง กล่าวเป็นสินสมรสและการสมรสระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่สิ้นสุดลง โจทก์จึงยังคงมีสิทธิจัดการสินสมรสในส่วนที่เป็นเงินตราได้โดยลำพังไม่ต้อง ได้รับความยินยอมจากจำเลยโดยการถอนเงินจากธนาคารแม้หลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว ได้ จึงต้องถือตามจำนวนเงินที่มีอยู่จริงตามที่โจทก์แถลงและจำเลยยอมรับโดยไม่ โต้แย้งคัดค้านจะย้อนหลังไปถือเอาจำนวนเงินที่เคยมีอยู่จริงมิได้

มาตรา ๑๕๓๕ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2533
การที่จำเลยเมาสุรากลับเข้าบ้านและด่า โจทก์ว่า "มึงเลว มึงมีชู้ ไม่สมควรอยู่กับกู แม่มึงไม่ดี ไม่เคยสั่งสอน" แล้วจำเลยยังได้ตบ ตีโจทก์ได้รับบาดเจ็บบริเวณขอบตาซ้าย จนโจทก์ต้องรับการรักษาจากแพทย์ในวันรุ่งขึ้น โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับน้องสาวเพราะได้รับความคับแค้นใจจากการ อยู่กินกับจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่าง ร้ายแรง พร้อมทั้งเป็นการทำร้ายร่างกายโจทก์ จึงมีเหตุให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยได้ จำเลยกู้เงินบุคคลภายนอกมาใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นสินสมรสโดย โจทก์มีส่วนรู้เห็นในการกู้เงินดังกล่าวโจทก์จึงต้องร่วมกับจำเลยในการชำระ หนี้รายนี้ ฉะนั้นศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์จำเลยร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้คนละครึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1943/2520
เดิมโจทก์บรรยายฟ้องว่า รถประจำทางของบริษัทจำเลยคันที่ชนบุตรโจทก์มี ด.เป็นคนขับ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งหลังจากวันชี้สองสถานแล้ว โจทก์ขอแก้ฟ้องว่า คนขับรถของบริษัทจำเลยชื่อ จ. อ้างเหตุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกชื่อสับกันไป เพราะมีรถชนกันสองสายในเวลาใกล้เคียงกันดังนี้ เมื่อตามคำให้การจำเลยมิได้ปฏิเสธว่า ด.มิใช่ลูกจ้างจำเลย คงอ้างแต่เพียงว่าคนขับรถของจำเลยมิได้เป็นฝ่ายประมาท การที่โจทก์ระบุชื่อคนขับรถของจำเลยผิดพลาดไปด้วยเหตุดังกล่าว แล้วมาแก้ไขให้ถูกต้องภายหลังเป็นเรื่องแก้ไขความผิดพลาดเล็กน้อย แม้จะเป็นภายหลังกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ศาลก็มีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ไขให้ถูกต้องได้

บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะการกระทำละเมิด โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและในอนาคตโดยผลแห่ง กฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรค 3 ประกอบด้วยมาตรา 1535 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายได้อุปการะโจทก์จริงหรือไม่ และในอนาคตผู้ตาย จะอุปการะโจทก์หรือไม่
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1648/2509)