การเพิ่มทุนและลดทุน


มาตรา ๑๒๒๐  บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

มาตรา ๑๒๒๑  บริษัทจำกัดจะออกหุ้นใหม่ให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้วด้วยอย่างอื่นนอกจากให้ใช้เป็นตัวเงินนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะทำตามมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น

มาตรา ๑๒๒๒  บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้น ต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่

คำเสนอเช่นนี้ ต้องทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุก ๆ คน ระบุจำนวนหุ้นให้ทราบว่าผู้นั้นชอบที่จะซื้อได้กี่หุ้น และให้กำหนดวันว่าถ้าพ้นวันนั้นไปมิได้มีคำสนองมาแล้วจะถือว่าเป็นอันไม่รับซื้อ

เมื่อวันที่กำหนดล่วงไปแล้วก็ดี หรือผู้ถือหุ้นได้บอกมาว่าไม่รับซื้อหุ้นนั้นก็ดี กรรมการจะเอาหุ้นเช่นนั้นขายให้แก่ผู้ถือหุ้นคนอื่นหรือจะรับซื้อไว้เองก็ได้

มาตรา ๑๒๒๓  หนังสือบอกกล่าวที่เสนอให้ผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นใหม่นั้น ต้องลงวันเดือนปีและลายมือชื่อของกรรมการ

มาตรา ๑๒๒๔  บริษัทจำกัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยลดมูลค่าแต่ละหุ้น ๆ ให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลงโดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้

มาตรา ๑๒๒๕  อันทุนของบริษัทนั้นจะลดลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่

มาตรา ๑๒๒๖ เมื่อบริษัทประสงค์จะลดทุน ต้องโฆษณาความประสงค์นั้นในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการซึ่งประสงค์จะลดทุนลงและขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการลดทุนนั้น ส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น

ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน ก็ให้พึงถือว่าไม่มีการคัดค้าน

ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการลดทุนลงไม่ได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว

มาตรา ๑๒๒๗  ถ้ามีเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดละเลยเสียมิได้คัดค้านในการที่บริษัทจะลดทุนลง เพราะเหตุว่าตนไม่ทราบความ และเหตุที่ไม่ทราบนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของเจ้าหนี้คนนั้นแต่อย่างใดไซร้ ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายบรรดาที่ได้รับเงินคืนไปตามส่วนที่ลดหุ้นลงนั้น ยังคงจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เช่นนั้นเพียงจำนวนที่ได้รับทุนคืนไปชั่วเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนการลดทุนนั้น

มาตรา ๑๒๒๘  มติพิเศษซึ่งอนุญาตให้เพิ่มทุนหรือลดทุนนั้น บริษัทต้องจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ลงมตินั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2265/2560
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 และมาตรา 653 สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองที่ผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในเงินแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนเงินจำนวนเช่นเดียวกันแก่ผู้ให้ยืม ส่วนสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นพิพาท ระบุว่าผู้ร้องตกลงจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และผู้คัดค้านทั้งสี่ตกลงขาย โดยข้อ 6 ระบุว่าผู้คัดค้านทั้งสี่จะดำเนินการออกหุ้นเพิ่มทุน และแปรสภาพผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบริษัทมหาชนจำกัด จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่เพื่อระดมทุน ถ้าไม่สามารถระดมทุนหรือไม่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่ คู่สัญญาตกลงซื้อคืนหุ้นสามัญที่ผู้ร้องถืออยู่ทั้งหมด แสดงว่านิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญามิใช่เพียงผู้ร้องโอนกรรมสิทธิ์ในเงินแก่ผู้คัดค้านทั้งสี่ โดยผู้คัดค้านทั้งสี่ตกลงจะคืนเงินแก่ผู้ร้อง แต่เป็นการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสี่ต้องส่งมอบหุ้นเพิ่มทุนของผู้คัดค้านที่ 1 แก่ผู้ร้องด้วย หากผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาจะต้องซื้อคืนหุ้นดังกล่าวและชำระราคาหุ้นแก่ผู้ร้อง วัตถุแห่งสัญญามิใช่เงินเพียงอย่างเดียว แต่มีหุ้นซึ่งต้องส่งมอบแก่กันด้วย สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาทางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนั้นการที่ผู้ร้องจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้คัดค้านที่ 1 ขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่ย่อมมีความเสี่ยง การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ดำเนินการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน และกำหนดความรับผิดหากผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข ย่อมเป็นข้อสัญญาที่เป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 

สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ร้อง (กองทุนรวม) ผู้คัดค้านที่ 1 (บริษัท) และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 (ผู้ถือหุ้นหลัก) ข้อ 6.6 ระบุว่า ในกรณีที่ "บริษัท" ไม่สามารถระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชน และ/หรือไม่สามารถนำหุ้นสามัญของ "บริษัท" เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่หรือตลาดหลักทรัพย์อื่นใดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6.4 คู่สัญญาตกลงจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ "ผู้ถือหุ้นหลัก" จะซื้อหุ้นสามัญของ "บริษัท" ที่ "กองทุนรวม" ถืออยู่ทั้งหมดจาก "กองทุนรวม" แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคู่สัญญาในสัญญานี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สามารถระดมทุนตามสัญญาข้อ 6.6 คู่สัญญาซึ่งหมายความรวมทั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงจะปฏิบัติดังนี้คือ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 จะซื้อคืนหุ้นสามัญจากผู้ร้อง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ซื้อคืนหุ้นสามัญจากผู้ร้องเป็นการผิดสัญญา ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาและยอมตกลงตามข้อ 6.6 ด้วย ย่อมมีความรับผิดตามสัญญาต่อผู้ร้อง ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องร่วมกันหรือแทนกันกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อยู่นอกขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
แม้คำร้องของผู้ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 นั่นเอง ซึ่งศาลเพียงพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดไปเท่านั้น ไม่ต้องพิพากษาตามข้อความในคำชี้ขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2559
ป.รัษฎากร มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้... (4) เงินได้ที่เป็น (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน" เดิมบริษัทมีทุนจดทะเบียน 35,000,000 วันที่ 27 เมษายน 2549 บริษัทจดทะเบียนลดทุนเหลือ 29,000,000 บาท งบดุลของบริษัทรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ก่อนการคืนเงินลงทุนมีกำไรสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำนวน 14,888,824 บาท เมื่อหักเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น 4,900,000 บาท คงเหลือกำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน 9,988,824 บาท การที่บริษัทจดทะเบียนลดทุนและจ่ายเงินลดทุนหรือเงินลงทุนคืนแก่ผู้ถือหุ้น 6,000,000 บาท จึงเป็นการจ่ายเงินลดทุนซึ่งส่วนที่จ่ายคืนนั้นไม่เกินกว่ากำไรสะสมก่อนคืนเงินลดทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ง) ที่โจทก์ทั้งสามต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2558
โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งก็คือขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 3/2536 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2536 ครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2536 และครั้งที่ 5/2536 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 โดยให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองถือหุ้นตามอัตราส่วนก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าว โดยอ้างว่าการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองไม่ชอบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนมติโดยอ้างว่าการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นได้นัดเรียกประชุมฝ่าฝืน

บทบัญญัติของกฎหมาย ดังนี้การขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบ ป.พ.พ. มาตรา 1195 ต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันลงมติ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2557
แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ได้และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1105 และมาตรา 1202 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่มีการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินที่โจทก์จะได้จากบริษัท อ. หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ โดยไม่มีลักษณะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่ น. ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ดังนั้น เงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัท อ. ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10208/2553
การที่ผู้ทำแผนฟื้นฟูกำหนดวิธีการชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุน แม้เป็นการหักหนี้กับค่าหุ้นของบริษัทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคสอง แต่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติว่า มิให้นำมาตรา 1119 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้เมื่อในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการมีบทบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ส่วนนี้ ผู้ทำแผนจึงสามารถทำแผนเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้มาเป็นทุนได้
 
กรณีมีการชำระหนี้ด้วยหุ้น เนื่องจากราคาที่จดทะเบียนไว้อาจมิได้เป็นราคาที่แท้จริงของหุ้นดังกล่าวในวันที่มีการชำระแก่เจ้าหนี้ จำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระอันจะมีผลให้หนี้ระงับย่อมมีจำนวนเท่ากับราคาตลาดที่แท้จริงอันเจ้าหนี้ได้รับโอนได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2548
กรณีที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครอง สิทธิของตนที่มีอยู่ การที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเพิ่มทุนนั้นไม่มี กฎหมายบัญญัติรับรองว่าอาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2547
ระยะ เวลา 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 17 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคำร้องของโจทก์ที่ขอขยายระยะเวลามีพฤติการณ์ พิเศษ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องจำเลยออกไปได้

โจทก์สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1220 เมื่อมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนแล้ว โจทก์ยังอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเพิ่ม ทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1228 ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันที่ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนเป็นวันที่โจทก์เพิ่มทุนและ รับชำระเต็มมูลค่าหุ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2544
การส่งใช้เงินค่าหุ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1119,1120 และ 1221 กำหนดให้ต้องส่งใช้เป็นเงินเท่านั้น โดยกรรมการของบริษัทจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นตามวิธีการบอกกล่าวล่วง หน้าด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยได้มีจดหมายส่งลงทะเบียนบอกกล่าวเรียกเก็บเงินค่าหุ้นไปยังผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อจำเลยเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจึงได้มีการตกลงกันภายในระหว่างสองบริษัทว่า "หนี้ค่าหุ้นที่ทวงถามไปนั้น บริษัทจำเลยขอให้บริษัทผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่เหลือเป็นวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง แทนการชำระเป็นเงิน" ข้อตกลงดังกล่าวหากมีจริงก็ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัทข้อตกลง ที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย นอกจากนี้ในส่วนงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยกฎหมายก็ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ดังกล่าว หาใช่ว่าผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าผู้ร้องค้างชำระค่าหุ้นดัง ที่ผู้ร้องฎีกาไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระให้ แก่จำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2543
โจทก์ทำสัญญาร่วมลงทุนทำกิจการบ่อทรายในรูปแบบบริษัทจำกัดกับจำเลยทั้งห้าและ น. ต่อมาจำเลยทั้งห้าดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัท ท. หลังจากนั้นทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลย ทั้งห้าคืนเงินลงทุนแก่โจทก์จำนวน 400,000 บาท และชำระเงินค่าขายทรายที่มิได้ชำระแก่โจทก์จำนวน 17,937.52 บาท อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาร่วมลงทุนทำกิจการบ่อทราย และการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวมีข้อตกลงด้วยว่า เงินผลประโยชน์ค่าขายทรายที่จำเลยทั้งห้าหรือบริษัทดังกล่าวจัดจำหน่ายแก่ ลูกค้า ไม่ว่าจะมีผลกำไรหรือขาดทุน จำเลยทั้งห้ายินยอมที่จะจ่ายเงินผลประโยชน์แก่โจทก์เสมอไป อันถือเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าในการร่วมลงทุน เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนในทางจัดการ โดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายบริหารกิจการบ่อทรายจัดจำหน่ายแก่ลูกค้าด้วยเงิน ลงทุนร่วมกัน 1,000,000 บาท โจทก์และ น. ร่วมลงทุนคนละ 400,000 บาท แต่ก็มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริหารในบริษัท เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ที่ขอให้คืนเงินลง ทุนและชำระเงินค่าขายทรายที่มิได้ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4564/2536
การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทซึ่งต้องใช้มติพิเศษ เมื่อที่ประชุมครั้งแรกลงคะแนนเสียงโดยวิธีชูมือผู้ถือหุ้นบางคนทักท้วงการ ลงคะแนนเสียงและขอให้ลงคะแนนลับประธานที่ประชุมไม่ได้แสดงว่าการลงคะแนน เสียงดังกล่าวเป็นมติที่ผ่านไปแล้วตามข้อบังคับของบริษัท จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นมติของที่ประชุมเป็นเด็ดขาด การที่ประธานที่ประชุมให้มีการลงคะแนนเสียงด้วยวิธีชูมืออีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการถอนคำขอให้ลงคะแนนลับแล้วผลการประชุมปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นในที่ประชุมทั้งหมด 78 คนออกเสียงอนุมัติการเพิ่มทุน 63 เสียง จึงเป็นการลงมติในที่ประชุมครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามใน สี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2532
ธนาคารจำเลยเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้จะนำมาตรา 1222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับหาได้ไม่ มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสงค์จะเพิ่มทุนโดยการออก หุ้นใหม่ ต้องขายหุ้นใหม่แก่บุคคลธรรมดาซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่ออกใหม่นั้น หมายความว่าต้องขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกตั้งแต่ร้อยละยี่สิบห้าขึ้นไป ดังนั้น การที่กรรมการธนาคารมีมติให้ขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกเกินกำหนดดังกล่าวจึง ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นมีมติให้ขายหุ้นใหม่แก่บุคคลภายนอกเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว คือเพียงร้อยละยี่สิบห้าเท่านั้นการที่กรรมการธนาคารลงมติให้ขายเกินกำหนด ดังกล่าวแม้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่เมื่อขัดต่อมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมในอันที่ จะจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ โจทก์และโจทก์ร่วมชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติของกรรมการธนาคารได้