การใช้อำนาจปกครองบุตร

มาตรา ๑๕๗๑ อำนาจปกครองนั้น รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย และให้จัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำ

มาตรา ๑๕๗๒
ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำหนี้ที่บุตรจะต้องทำเองโดยมิได้รับความยินยอมของบุตรไม่ได้


มาตรา ๑๕๗๓ ถ้าบุตรมีเงินได้ให้ใช้เงินนั้นเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่บุตร แต่ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีเงินได้เพียงพอแก่การครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะใช้เงินนั้นตามสมควรก็ได้ เว้นแต่จะเป็นเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินโดยการให้โดยเสน่หาหรือพินัยกรรม ซึ่งมีเงื่อนไขว่ามิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ

มาตรา ๑๕๗๔
นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต


(๑)
ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้


(๒)
กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์


(๓)
ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์


(๔) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

(๕)
ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี


(๖) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)

(๗) ให้กู้ยืมเงิน

(๘) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(๙)
รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา


(๑๐)
ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น


(๑๑)
นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๔ (๑) (๒) หรือ (๓)


(๑๒) ประนีประนอมยอมความ

(๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา ๑๕๗๕ ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๕๗๖
ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๗๕ ให้หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการดังต่อไปนี้ด้วย คือ


(๑)
ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วน


(๒)
ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด


มาตรา ๑๕๗๗ บุคคลใดจะโอนทรัพย์สินให้ผู้เยาว์โดยพินัยกรรมหรือ โดยการให้โดยเสน่หาซึ่งมีเงื่อนไขให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองเป็น ผู้จัดการจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะก็ได้ ผู้จัดการนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งผู้โอนระบุชื่อไว้ หรือถ้ามิได้ระบุไว้ก็ให้ศาลสั่งแต่การจัดการทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ภายใต้ บังคับมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๐

มาตรา ๑๕๗๘
ในกรณีที่อำนาจปกครองสิ้นไปเพราะผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องรีบส่งมอบทรัพย์สินที่จัดการและบัญชีในการนั้นให้ผู้บรรลุนิติภาวะเพื่อรับรอง ถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินนั้น ก็ให้ส่งมอบพร้อมกับบัญชี
ในกรณีที่อำนาจปกครองสิ้นไปเพราะเหตุอื่นนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ให้มอบทรัพย์สิน บัญชี และเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องจัดการทรัพย์สินให้แก่ผู้ใช้อำนาจปกครอง ถ้ามี หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี เพื่อรับรอง

มาตรา ๑๕๗๙ ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายและมีบุตรที่เกิดด้วยกันและคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะสมรสใหม่ ถ้าคู่สมรสนั้นได้ครอบครองทรัพย์สินอันเป็นสัดส่วนของบุตรไว้อย่างถูกต้องแล้ว จะส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุตรในเมื่อสามารถจัดการก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะเก็บรักษาไว้เพื่อมอบให้บุตรเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็ได้ แต่ถ้าทรัพย์สินใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๕๖ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ ให้ลงชื่อบุตรเป็นเจ้าของรวมในเอกสารนั้น ก่อนที่จะจัดการดังกล่าวคู่สมรสนั้นจะทำการสมรสมิได้ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้คู่สมรสดังกล่าวทำการสมรสไปก่อนก็ได้ คำสั่งศาลเช่นว่านี้ ให้ระบุไว้ด้วยว่าให้คู่สมรสปฏิบัติการแบ่งแยกทรัพย์สินและทำบัญชีทรัพย์สิน ตามความในวรรคหนึ่งภายในกำหนดเวลาเท่าใด ภายหลังการสมรสนั้นด้วย ในกรณีที่การสมรสได้กระทำไปโดยมิได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่คู่สมรสไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลดังกล่าวในวรรคสอง เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ถอนอำนาจปกครองจากคู่สมรสนั้น หรือจะมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำบัญชีและลงชื่อบุตรเป็นเจ้าของรวมในเอกสารดังกล่าวแทนโดยให้คู่สมรสเสียค่าใช้จ่ายก็ได้ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าบุตรบุญธรรมของคู่สมรสที่ตายไปและที่มีชีวิตอยู่ทั้งสองฝ่ายเป็นบุตรที่เกิดจากคู่สมรส

มาตรา ๑๕๘๐
ผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองจะให้การรับรองการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้ต่อเมื่อได้รับมอบทรัพย์สินบัญชีและเอกสารตามมาตรา ๑๕๗๘ แล้ว


มาตรา ๑๕๘๑
คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป
ถ้าอำนาจปกครองสิ้นไปขณะบุตรยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ให้เริ่มนับอายุความในวรรคหนึ่งตั้งแต่เวลาที่ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อมีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่

มาตรา ๑๕๘๒
ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้ มาตรา ๑๕๘๓ ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนสิ้นไปแล้ว และเมื่อตนเองหรือญาติของผู้เยาว์ร้องขอ ศาลจะสั่งให้มีอำนาจปกครองดังเดิมก็ได้

มาตรา ๑๕๘๔ การที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมด ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย

มาตรา ๑๕๘๔/๑
บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550
ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับ พินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดใน พินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดย ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตาม นิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4860/2548
จำเลยที่ 12 ทำข้อตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับโจทก์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลย 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยก ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลง เรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2548
ผู้เยาว์เป็นบุตรของ ว. กับผู้คัดค้าน ต่อมา ว. หย่ากับผู้คัดค้านโดยมีข้อตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองว่าให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของ ว. ซึ่งเป็นบิดา ว. จึงเป็นผู้มีสิทธิใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียวตามข้อสัญญาดังกล่าวซึ่งสามารถใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการถอนอำนาจปกครองเป็น อำนาจของศาลและจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 ดังนั้น เมื่อ ว. ผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงกันขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์จึงกลับมาเป็นของผู้คัดค้านซึ่งเป็นมารดาฝ่ายเดียว ตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง อันจะทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นป้ามีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามมาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2547
ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหน้าที่ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เยาว์และอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินดังกล่าวให้โจทก์กับมีคำสั่งห้าม จำเลยทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ผู้เยาว์ คำขอดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในส่วนที่โจทก์ยกให้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ชอบ กรณีดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการทรัพย์สินในส่วนดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1577 ประกอบมาตรา 56

ในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 โยกย้ายทรัพย์สินที่โจทก์ยกให้ผู้เยาว์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ได้กระทำการโยกย้ายทรัพย์สินของผู้เยาว์จริง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบบัญชีและทรัพย์สินให้โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8535/2547
ข้อความตามบันทึกข้อตกลงที่ว่า จำเลยทั้งหกขอถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินพิพาทในเฉพาะส่วนของ ส. นั้น ย่อมมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว การถอนชื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ออกจากโฉนดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงบางส่วนซึ่งทรัพย์สินของผู้เยาว์อัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และเป็นการประนีประนอมยอมความ จึงเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะ กระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (2) และ (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำ นิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบกรรม มีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 5 และที่ 6 ผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาล บันทึกข้อตกลงการถอนชื่อจากโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 5 และที่ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8438/2547
จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ส. ผู้เยาว์เอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บ ส. โดย ศ. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยไม่ได้รับ อนุญาตจากศาล การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ ส. จนเป็นที่พอใจตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วย่อมไม่ได้ และเมื่อโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ให้แก่ ส. ไปแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นบุคคล ภายนอกในฐานะผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2545
จำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทำสัญญาขายไม้เคี่ยมในส่วนที่เป็นของผู้เยาว์กับโจทก์ มิใช่เป็นการนำทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปแสวงหาผลประโยชน์อันจำเป็นต้องขออนุญาตต่อศาลก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574(11) หากแต่เป็นการทำสัญญาขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ ซึ่งไม่ขัดต่อมาตรา 1574 เพราะไม่เป็นกรณีที่ต้องห้ามตามมาตรา 1574 สัญญาซื้อขายไม้เคี่ยมมีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมายจำเลยในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544
ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัด ตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับ มรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบ อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้

แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลย ที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9614/2544
การที่โจทก์จำเลยซึ่งเคยอยู่กินกันฉันสามีภริยาตกลงฝากเงินไว้ในธนาคารเพื่อการศึกษาของบุตรเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทั้งเป็น ผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปลงลายมือชื่อร่วมถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว จึงถือได้ว่าบุตรได้แสดงเจตนาแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ว่าจะถือเอาเงินฝากตามสัญญาอันเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว ตามป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนั้น เงินในบัญชีเงินฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยหาได้มีกรรมสิทธิ์ในเงินฝากดังกล่าวไม่

โจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลย เมื่อจำเลยประพฤติผิดสัญญากล่าวคือจำเลยไม่ยอมไปลงลงลายมือชื่อถอนเงินฝากในบัญชีธนาคารให้แก่บุตร แม้จะเป็นการฟ้องคดีภายหลังจากที่บุตรได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จาก ข้อสัญญานั้นก็ตาม โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยเป็นส่วนตัวจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้

โจทก์บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินฝากจากบัญชีธนาคารร่วมกับโจทก์ ทั้งก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปธนาคารเพื่อถอนเงินให้ แก่บุตรหรือยินยอมให้โจทก์จัดการได้เพียงผู้เดียว แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้ถอนชื่อจำเลยออกจากบัญชีเงินฝากก็ตาม แต่คงมีผลเท่ากับว่าเป็นการขอให้จำเลยร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ถอนเงินจาก บัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่บุตรตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องนั่นเอง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่าย เดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมี เหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครอง ได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยว กับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้ อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มี ผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้ เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2114/2542
ตามมาตรา 1566 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ในกรณีมารดาหรือบิดาตาย อำนาจปกครองจึงอยู่ กับบิดาหรือมารดา และมีสิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่ง กักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1567(4) อย่างไรก็ตาม มาตรา 1582 กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองใช้อำนาจปกครอง เกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ศาลอาจถอน อำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ดังนั้น เมื่อ ส. ซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ร. ผู้เยาว์ถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองจึงตกอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นมารดา เว้นแต่โจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้าย และถูกศาลถอนอำนาจปกครอง การที่จำเลยซึ่งเป็นย่าของเด็กหญิง ร.ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวเด็กหญิง ร.โดยมิชอบและประพฤติชั่วร้าย แต่ที่มิได้นำเด็กหญิง ร.มาเบิกความยืนยัน ก็เพราะเด็กหญิง ร. มีความกลัวมารดานั้น จะเห็นได้ว่า โดยปกติธรรมชาติของมารดา ย่อมมีความรักบุตรและปรารถนาดีต่อบุตร หากจำเลยประสงค์ที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าโจทก์เป็นมารดาที่ ประพฤติผิดธรรมชาติ ปราศจากความรักความเมตตา ต่อบุตร และประพฤติตนชั่วร้าย พยานหลักฐานของจำเลยก็ต้องมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อ จำเลยไม่มี ผู้เยาว์มาเบิกความยืนยันต่อศาลถึงสภาพจิตใจที่เป็นอยู่ จึงไม่อาจอนุมานตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าที่ผู้เยาว์มีอาการ ผิดปกติก็เพราะโจทก์ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบหรือประพฤติชั่วร้าย อันจะเป็นสาเหตุให้ศาลถอนอำนาจปกครองของโจทก์ ดังนั้น แม้จำเลยจะมีฐานะดีมีความเมตตาต่อผู้เยาว์ และสามารถเลี้ยงดู ผู้เยาว์ได้เป็นอย่างดีสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะปกครองเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ตราบใดที่อำนาจปกครองของโจทก์ซึ่ง เป็น มารดายังมิได้ถูกเพิกถอน จำเลยจึงต้องคืนตัวเด็กหญิง ร. ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540
การที่จำเลยได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น เป็นการได้มาโดยความยินยอมในกรณีหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และมาตรา 1566(6)อันเป็นการได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญาโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนอำนาจ ปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือ ข้อตกลงในการจดทะเบียนหย่า ดังนั้นสถานที่ที่ได้มีการ จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้ง สองของจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล เมื่อโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าและทำบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการ หย่าที่สำนักงานเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540
ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 2 และนาง อ. บิดามารดาของจำเลยที่ 3เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่กู้จากโจทก์เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างปั๊มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวนาง อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะได้ลงนามร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่ นาง อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนาง อ. ดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2518
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้อนุบาล ส. ปรากฏว่า ส. ตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ดังนี้ ความตายของส. อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของ ส. สิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1572,1581 ในเวลาภายหลัง ย่อมไม่ทำให้สิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่ได้มีอยู่ในขณะฟ้องเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลของ ส. มาแต่เริ่มใช้สิทธิเรียกร้องคดีนี้ จึงยังมีสิทธิและอำนาจที่จะฎีกาหลังการตายของ ส.