ความเป็นโมฆะของการสมรส

มาตรา ๑๔๙๔ การสมรสจะเป็นโมฆะก็แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

มาตรา ๑๔๙๕ การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ มาตรา ๑๔๕๒ และมาตรา ๑๔๕๘ เป็นโมฆะ

มาตรา ๑๔๙๖ คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ และมาตรา ๑๔๕๘ เป็นโมฆะ

คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้

มาตรา ๑๔๙๗ การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้

มาตรา ๑๔๙๗/๑ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสใดเป็นโมฆะ ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส

มาตรา ๑๔๙๘ การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว

มาตรา ๑๔๙๙ การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมี คำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะแล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ ให้นำมาตรา ๑๕๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒

มาตรา ๑๔๙๙/๑ ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดหรือฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำเป็นหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่ถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ และให้นำความในมาตรา ๑๕๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๐๐ การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสตามมาตรา ๑๔๙๗/๑

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8799 - 8801/2559 
     โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ. คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 มีผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัวและสิทธิในการรับมรดกของโจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นของ บ. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการจัดการสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยปราศจากความยินยอมของ บ. มารดาโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มี บ. เป็นคู่สมรสแล้ว การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ประกอบมาตรา 1452 ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในประเด็นว่า การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับ บ. จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมวินิจฉัยต่อไปได้ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในภายหลังเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560
     การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ม. จำเลยให้การว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้จดทะเบียนสมรส และใช้วิทยาการทางการแพทย์โดยการผสมเชื้ออสุจิเพื่อตั้งครรภ์เด็กชาย ม. ให้โจทก์ โดยไม่เคยได้ใช้ชีวิตดังสามีภริยาเลย เมื่อเด็กชาย ม. คลอด โจทก์ไม่ส่งเงินมาให้ ไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่กลับขู่ให้ส่งมอบบุตรให้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่โดยให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนที่ปราศจากความยินยอมที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างแท้จริง เนื่องจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเพราะโจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยให้ตั้งครรภ์บุตรให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยต่างไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริงและไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จึงเป็นการสมรสที่ผิดเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1458 ซึ่งมีผลให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคสองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ แต่เมื่อบุตรผู้เยาว์คลอดระหว่างที่ศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4408/2558
      โจทก์ฟ้องระบุว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับ ป. ผู้ตาย แต่เป็นการสมรสซ้อน ต้องห้ามตามมาตรา 1452 แห่ง ป.พ.พ. เป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมีผลตามมาตรา 1498 โดยมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา" ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์ไม่อาจอ้างประโยชน์จากการอยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. ผู้ตายเพื่อกำหนดประโยชน์หรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของ ป. ผู้ตายได้ เพราะการสมรสโมฆะไปแล้ว และในทางกลับกันการสมรสระหว่างจำเลยกับ ป. ผู้ตายยังมีผลสมบูรณ์ ทำให้ทรัพย์สินของ ป. ผู้ตายต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 3 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งต้องถือว่าทรัพย์สินของ ป. ผู้ตาย มีผลเป็นทรัพย์สินระหว่าง ป. ผู้ตาย สามีกับจำเลยภริยาเพียงใด ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าเป็นสินส่วนตัวของ ป. ผู้ตาย หรือสินส่วนตัวของจำเลยเพียงใด และเป็นสินสมรสระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลยเพียงใด ซึ่งมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส" ส่วนโจทก์จะมีสิทธิในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่กินกับ ป. ผู้ตายเพียงใด ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของมาตรา 1498 วรรคสอง ที่ว่า "ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า โจทก์มีทรัพย์สินใดที่โจทก์มีหรือได้มาก่อนหรือหลังสมรส ให้เป็นของโจทก์ ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง ทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าได้ประกอบธุรกิจตั้งบริษัท ส. กิจการขาดทุนและโจทก์ปิดบริษัทแล้ว ทรัพย์สินรายการอื่น ๆ เงินฝากตามสมุดคู่ฝาก ของ ป. หนังสือรับรองหักภาษี หรือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือหน่วยลงทุนโฉนดที่ดิน รายการสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นชื่อ ป. ผู้ตายทั้งสิ้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ทรัพย์สินตามที่กล่าวมาจึงเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสของ ป. ผู้ตายกับจำเลยทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินร่วมกับ ป. ผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ป. ผู้ตายแสดงออกต่อบุคคลภายนอก โดยระบุในสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ป. ผู้ตายแจ้งว่า คู่สมรสคือจำเลย ป. ผู้ตายและจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบ มีผลให้ทรัพย์สินที่ ป. ผู้ตายได้มาในระหว่างสมรสกับจำเลยเป็นสินสมรสตามผลของมาตรา 1474 (1) การที่ ป. ผู้ตายซื้อที่ดินมาขายได้เงิน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสระหว่าง ป. ผู้ตายกับจำเลย การที่ ป. ผู้ตายแบ่งเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงหากระทำได้ไม่ เพราะเป็นการให้โดยเสน่หาที่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยซึ่งเป็นภริยาตามมาตรา 1476 (5) โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินตามฟ้อง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2558
       โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและขอเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย ม. จำเลยให้การว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้จดทะเบียนสมรส และใช้วิทยาการทางการแพทย์โดยการผสมเชื้ออสุจิเพื่อตั้งครรภ์เด็กชาย ม. ให้โจทก์ โดยไม่เคยได้ใช้ชีวิตดังสามีภริยาเลย เมื่อเด็กชาย ม. คลอด โจทก์ไม่ส่งเงินมาให้ ไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่กลับขู่ให้ส่งมอบบุตรให้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่โดยให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนที่ปราศจากความยินยอมที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากันอย่างแท้จริง เนื่องจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเพราะโจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยให้ตั้งครรภ์บุตรให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการผสมเทียม โดยต่างไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริงและไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จึงเป็นการสมรสที่ผิดเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1458 ซึ่งมีผลให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าการสมรสเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 วรรคสองแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ แต่เมื่อบุตรผู้เยาว์คลอดระหว่างที่ศาลยังไม่ได้มีการพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้

ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9006/2557
ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ท. นั้น ท. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วและยังคงเป็นคู่สมรสกับโจทก์ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 แม้ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. สิ้นสุดลงไปก่อนโจทก์ฟ้องก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. ยังเป็นโมฆะอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ท. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331 - 6332/2556
โจทก์สมรสกับพันตรี จ. ในขณะที่พันตรี จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งรวมถึงโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวอ้างหรือมีคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ซึ่งความเป็นโมฆะของการสมรสย่อมมีผลไปถึงวันที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับพันตรี จ. หาใช่มีผลนับตั้งแต่วันที่โจทก์จดทะเบียนหย่าในปี 2532 ไม่ ฉะนั้นในขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายจึงถือไม่ได้ว่าในขณะนั้นโจทก์ยังมีคู่สมรสอยู่ การสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตายจึงไม่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452 เมื่อจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายในปี 2533 โดยโจทก์กับผู้ตายยังเป็นคู่สมรสกันอยู่การสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 มิใช่เรื่องอายุความในกรณีใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ให้มีกำหนด 10 ปี ผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะเมื่อใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส

โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสที่ตกทอดเป็นมรดกของ ช. ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินที่ ช.ซื้อหรือร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ช. ซื้อหามาด้วยเงินของตนเอง แล้วใส่ชื่อของบุตรสาวไว้ ต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้นำสืบต่อสู้ไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำให้การว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แล้ว แต่ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า "ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของช." ดังนั้น หาก ช. ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็จะเรียกร้องให้จำเลยร่วมทั้งสามรับผิดไม่ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรสซ้อนอยู่แล้วจึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2553
ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" การสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 จึงอาจเป็นโมฆะได้โดยบุคคลผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้าง เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 กล่าวอ้างว่าการสมรสระหว่างตนเองกับ ช. เจ้ามรดกเป็นการสมรสซ้อนผลก็คือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าวและการสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสไม่เป็นสินสมรสของจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. ที่โจทก์จะยึดมาขายทอดตลาดชำระหนี้ของจำเลยร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ช. กับจำเลยที่ 1

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ได้ยื่นคำให้การอยู่แล้วว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เจ้ามรดกเป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แต่โจทก์ก็ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของ ช. จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3192/2549
ป.พ.พ. มาตรา 1461 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งเป็นเรื่องภายหลังการสมรสตามหมวด 2 เรื่อง เงื่อนไขแห่งการสมรส กล่าวคือ เมื่อสมรสกันแล้วหากฝ่ายใดปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 1461 ดังกล่าวก็จะเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) หรือ (6) ที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจนำมาฟ้องร้องได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการฟ้องหย่าระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. และไม่มีคำพิพากษาของศาลให้หย่ากัน การสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จึงยังสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้หากโจทก์กับพลตำรวจตรี ว. จะมิได้อยู่ด้วยกันและมิได้ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันในระยะหลังก็มิได้มี ผลต่อความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างโจทก์กับพลตำรวจตรี ว.โจทก์จึงยังเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของพลตำรวจตรี ว. อยู่ตลอดมา เมื่อจำเลยมาจดทะเบียนสมรสกับพลตำรวจตรี ว. ขณะที่พลตำรวจตรี ว. มีโจทก์เป็นคู่สมรสอยู่จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขแห่งการสมรสในมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้ต่อมาพลตำรวจตรี ว. ถึงแก่ความตาย โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ตำรวจตรี ว. เป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2548
จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอก ช. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญของกองทัพเรือโจทก์ เมื่อเรือเอก ช. ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอรับเงินบำเหน็จตกทอดจากโจทก์ และโจทก์จ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลย 207,750 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสโดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามี ภริยากัน หากแต่กระทำเพื่อต้องการได้รับเงินบำเหน็จตกทอด การสมรสของจำเลยฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว เมื่อศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะจึงไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทาง ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง และมีผลเท่ากับจำเลยกับเรือเอก ช. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและสิทธิของ จำเลยดังกล่าวก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1499 เพราะจำเลยมิได้สมรสโดยสุจริต จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 406

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548
บุคคลที่จะร้องขอขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส หรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลที่อาจขอ ให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้

ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้หากการสมรสจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้อง กับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องยังคงเป็นคู่สมรสของผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6365/2547
ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับพันโท ส. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 พันโท ส. จดทะเบียนสมรสกับนาง ส. อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น การสมรสระหว่างจำเลยกันพันโท ส. จึงฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 (เดิม) การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับจำเลยและพันโท ส. มิได้ทำการสมรสกัน จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ แม้ต่อมาภายหลังพันโท ส. จะได้จดทะเบียนหย่ากับนาง ส. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ก็หาทำให้การสมรสระหว่างจำเลยและพันโท ส. กลับมีผลเป็นการสมรสที่ชอบขึ้นมาไม่

การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 (เดิม) มิใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2545
ชายหรือหญิงที่ทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมาตรา 1497 ระบุว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ปรากฏว่าขณะที่ ท.จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นท. มีคู่สมรสคือ ป. อยู่แล้ว การที่ ท. มาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยอีกโดยที่ยังมิได้หย่าขาดจาก ป. จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ท. กับ จ. ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ก็เป็นทายาทโดยธรรมของ ท.เมื่อท. ถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ ท. โจทก์ทั้งเจ็ดจึงอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาล พิพากษาว่าการสมรสระหว่าง ท. กับจำเลยเป็นโมฆะตามมาตรา 1497 ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2545
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอ้างว่าได้จดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้า มิได้มีเจตนาจะอยู่กินเป็นสามีภริยากันอย่างแท้จริง ทั้งไม่เคยอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด เหตุที่จดทะเบียนสมรสกันเนื่องจากเชื่อตามหมอดูทำนายเท่านั้น แต่ผู้ร้องทั้งสองมิได้นำพยานอื่นเข้าสืบประกอบว่าตนมิได้อยู่กินฉันสามี ภริยากันจริง และมิได้ส่งสำเนาทะเบียนบ้านว่ามิได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ร้องทั้งสองยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 3 ปีเศษ จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ พฤติการณ์ที่นำสืบเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสองยินยอมเป็นสามีภริยา กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 แล้วไม่มีเหตุที่จะมายื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสของผู้ร้องทั้งสอง ตกเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ ของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคย มาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงิน บำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2545
เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับ จ. เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495 เนื่องจาก จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วในขณะที่สมรสกับโจทก์ จึงมีผลเท่ากับโจทก์กับ จ. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรก ไม่อาจถือเอาเงินได้ที่ จ. ได้รับมาเป็นเงินได้ของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี โจทก์ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับเงินได้ จำนวนดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2545
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ร. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2516 ในระหว่างสมรสผู้ร้องมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2521 ผู้ร้องซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก จ. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2526 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดกันกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งแม้ผู้ร้องจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วอันจะทำให้การ สมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อในระหว่างที่ผู้ร้องจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมายังไม่มีผู้มีส่วน ได้เสียคนใดร้องขอต่อศาลให้การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495(เดิม) ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ยังมีผลสมบูรณ์อยู่ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส กับ ร. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือออกเงินช่วยผู้ร้องชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้ภายหลังผู้ร้องกับจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันก็ต้องจัดการแบ่งที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องตามสิทธิ ที่ผู้ร้องมีอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และ 1533 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูก สร้างมาดำเนินการตามที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2544
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับนาง ส. มารดาโจทก์เป็นโมฆะ โดยอ้างว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น โดยหญิงนั้นแอบอ้างชื่อว่าเป็นนาง ส. เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการจดทะเบียนสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยนาง ส. ไม่ได้ให้ความยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ โดยคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 ดังนั้น แม้นาง ส. ถึงแก่ความตายทำให้การสมรสสิ้นสุดลงก่อนโจทก์ฟ้อง แต่เมื่อยังปรากฏความเป็นโมฆะอยู่โดยยังไม่มีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะ ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสเป็นโมฆะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2543
แม้ใบทะเบียนการสมรสมิได้ประทับตรานายทะเบียน ก็หาทำให้ทะเบียนการสมรสไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะไม่ เพราะ พ.ร.บ.การจดทะเบียนครอบครัวฯ กำหนดเพียงให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มิได้มีบทบัญญัติว่าต้องประทับตรานายทะเบียนแต่อย่างใด เมื่อจำเลยและ ก. จดทะเบียนสมรสในปี 2534 ขณะที่โจทก์และ ก. จดทะเบียนสมรสอยู่ก่อนแล้ว และยังมิได้มีการจดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างจำเลยกับ ก. จึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2523
พระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของ การหมั้น การสมรส ฯลฯ" ดังนั้น ปัญหาว่าการสมรสของโจทก์หรือของจำเลยฝ่ายใดจะสมบูรณ์และมีสิทธิได้รับมรดก ของสามีที่ตายจึงต้องวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมจะนำบรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ซึ่งออกมาใช้บังคับขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นมา ปรับแก่คดีหาได้ไม่

คำว่า สิทธิ ตามมาตรา 1494 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า เหตุที่การสมรสถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสียสิทธิ ที่ได้มา เพราะการสมรสนั้น มีความหมายรวมถึงสิทธิในการรับมรดกด้วย ดังนั้น แม้การสมรสระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกจะเป็นโมฆะและต้องถูกเพิกถอนเพราะเจ้า มรดกมีจำเลยเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า โจทก์ทำการสมรสโดยสุจริตโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกตามมาตรา 1494 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2530
การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบ ครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้

ขณะที่โจทก์ จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการ สมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2522
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ต่อมาจำเลยแจ้งแก่ น. เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสว่า จำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนเลยอันเป็นเท็จ เพราะจำเลยกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอยด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนางสาว ส. เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนถึงฐานะบุคคลของโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกอยู่ก่อนแต่คนดียว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับความเสียหายในกรณีที่เกิดขึ้นโดยตรง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องคดีฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2522
การเป็นสามีภริยากันก่อนใช้บทบัญญัติบรรพ 5 และต่อมาแยกกันอยู่ภายหลังที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แล้ว โดยมิได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันตามนัยแห่งมาตรา 1497,1498 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ย่อมไม่ทำให้ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และได้ครอบ ครองที่พิพาทอยู่ด้วย โดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินแก่จำเลยที่ 1 ทายาทผู้รับมรดกอีกผู้หนึ่งเป็นรายปีทุกปีตลอดมายังมิได้แบ่งปันกันต้องถือ ว่าต่างเป็นเจ้าของร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกนี้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอน กลับคืนมาได้