เลิกบริษัทจำกัด การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

มาตรา ๑๒๓๖  อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) ถ้าในข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
(๒) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
(๓) ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
(๔) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
(๕) เมื่อบริษัทล้มละลาย

มาตรา ๑๒๓๗  นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
(๑) ถ้าทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
(๒) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม
(๓) ถ้าการค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้
(๔) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน
(๕) เมื่อมีเหตุอื่นใดทำให้บริษัทนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ศาลจะสั่งให้ยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือให้มีการประชุมตั้งบริษัทแทนสั่งให้เลิกบริษัทก็ได้ แล้วแต่จะเห็นควร

ส่วนที่ ๙
การควบบริษัทจำกัดเข้ากัน

มาตรา ๑๒๓๘  อันบริษัทจำกัดนั้นจะควบเข้ากันมิได้ เว้นแต่จะเป็นไปโดยมติพิเศษ

มาตรา ๑๒๓๙  มติพิเศษซึ่งวินิจฉัยให้ควบบริษัทจำกัดเข้ากันนั้น บริษัทต้องนำไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับตั้งแต่วันลงมติ

มาตรา ๑๒๔๐  บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และส่งคำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าว

ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน

ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น

มาตรา ๑๒๔๑  บริษัทได้ควบเข้ากันแล้วเมื่อใด ต่างบริษัทต้องนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ควบเข้ากัน และบริษัทจำกัดอันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วยควบเข้ากันนั้น ก็ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่

มาตรา ๑๒๔๒  จำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมอันมาควบเข้ากัน

มาตรา ๑๒๔๓  บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

ส่วนที่ ๑๐
หนังสือบอกกล่าว
มาตรา ๑๒๔๔  อันหนังสือบอกกล่าวซึ่งบริษัทจะพึงส่งถึงผู้ถือหุ้นนั้น ถ้าว่าได้ส่งมอบให้แล้วถึงตัวก็ดี หรือส่งไปโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถึงสำนักอาศัยของผู้ถือหุ้นดังที่ปรากฏในทะเบียนของบริษัทแล้วก็ดี ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งชอบแล้ว

มาตรา ๑๒๔๕  หนังสือบอกกล่าวใด ๆ เมื่อได้ส่งโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถูกต้องแล้ว ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งถึงมือผู้รับในเวลาที่หนังสือเช่นนั้นจะควรไปถึงได้ตามทางการปกติแห่งไปรษณีย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6917/2558
สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จนถึงขั้นมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ปลอมเอกสารซึ่งความขัดแย้งกันดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้อันเป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในกรณีบริษัทหยุดทำการถึง 1 ปีเต็ม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (2) จึงเห็นสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2558
นอกจากบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันได้เพราะมี เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1236 แล้ว ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดเมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1237 (1) ถึง (4) ซึ่งตาม (2) บัญญัติว่า ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการถึงปี หนึ่งเต็ม แม้การสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดกรณีนี้จะเป็นดุลพินิจของศาล แต่ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาถึงสาเหตุที่แท้จริงในการหยุดทำการและพฤติการณ์ อื่น ๆ ในการดำเนินกิจการค้าขายของบริษัทที่พิจารณาได้ความมาประกอบ การพิจารณาได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้ความว่าหลังจากปี 2543 จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการจัดทำงบดุลและไม่เคยจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกเลย รวมทั้งได้หยุดดำเนินกิจการมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในระหว่างกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าทำการโดยไม่สุจริตในการร่วมลงทุนซื้อขายที่ดิน อันเป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ถึงขั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาลักษณะทำนองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างผู้ ถือหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกกันได้เพราะบริษัทหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็มตามมาตรา 1237 (2) ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1237 (2) และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีเพราะเห็นว่าโจทก์ทั้งสาม กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทมีเรื่องขัดแย้งกันจนไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี ร่วมกันได้นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2552
       ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ที่ว่าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามา เกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นนั้นเป็นคู่ความ มิได้หมายความว่า ถ้าใครมาคัดค้านจะเป็นคู่ความไปเสียทั้งหมด แต่คงหมายเฉพาะผู้คัดค้านที่จะคัดค้านได้เท่านั้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัท ก. คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อผู้ร้องจะได้ดำเนินการฟ้องบังคับชำระหนี้กับบริษัท ดังกล่าวแทนบรรดาผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ประเด็นแห่งคดีมีอยู่เพียงว่า มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อ บริษัทดังกล่าวคืนเข้าสู่ทะเบียนหรือไม่ ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้มีสิทธิการเช่าอาคารซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น หาได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีไม่ จึงไม่มีสิทธิร้องคัดค้านเข้ามาในคดี ที่ศาลชั้นต้นรับคำคัดค้านไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2550
    บริษัทซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจาก ทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ทำให้ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้อง ดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรมเพราะ การที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากนายทะเบียน แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นฟ้องกรรมการของบริษัทดังกล่าวในฐานะผู้ชำระบัญชีให้ ชำระหนี้ของบริษัทได้ เพราะผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 ก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของเจ้าหนี้ของบริษัทที่รู้สึกว่าต้องเสียหายมิเป็นธรรม เพราะการที่บริษัทลูกหนี้ถูกขีดชื่อจากทะเบียน จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บริษัทดังกล่าวกลับจดชื่อคืนเข้าสู่ทะเบียน เพื่อดำเนินการเรียกร้องหนี้สินจากบริษัทโดยตรงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2545
การที่ศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1246 ต้องเพื่อความยุติธรรมและโดยจุดประสงค์เพื่อจัดให้บริษัทเข้าสู่ฐานอันใกล้ ที่สุดกับฐานเดิมเสมือนดั่งว่าบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่ออกจากทะเบียนเลย มิใช่สั่งและวางข้อกำหนดให้บริษัทหลุดพ้นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติใน การทำบัญชีงบดุล ตรวจสอบและประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242 - 7254/2545
     บริษัทจำเลยที่ 1 จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคาร ซ. แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการเลิกกิจการเพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไป และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลย ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของ จำเลยที่ 2 เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไป ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติคุ้ม ครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง

โจทก์ไม่ได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมาย ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่ เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2544
ตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา 1246 แห่ง ป.พ.พ. แล้ว ดังนั้น บริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลย่อมสิ้นไป และตามมาตรา 1246 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทจำเลยที่ 1 เลิกโดยผลของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด เชียงใหม่กลับจดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อคืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) โจทก์ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดย อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้ม ละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดี นี้ตามมาตรา 1252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9331/2542
บริษัท น. ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ ขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทและประกาศการขีดชื่อบริษัทในราชกิจจานุเบกษา บริษัท น. จึงเป็นอันเลิกกันโดยผลของกฎหมาย อันเป็นการเลิกกันเพราะเหตุอย่างอื่นนอกจากเหตุล้มละลายซึ่งต้องมีการชำระ บัญชีของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 ผู้ร้องในฐานะกรรมการของบริษัท น. จึงมีอำนาจขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5324/2542
จำเลยเป็นหนี้บริษัทธ.ต่อมาบริษัทธ.ควบรวมกับบริษัทอื่นเป็นบริษัทโจทก์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 มีผลให้บริษัทใหม่ได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอัน ได้มาควบเข้ากันมิใช่เป็นเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ โจทก์จึงหาจำต้องทำหนังสือหรือสัญญาใด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 306 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ทั้งการควบบริษัทเข้าด้วยกัน ตามมาตรา 1240 บริษัทจะต้องบอกกล่าวให้แต่เฉพาะเจ้าหนี้ของบริษัททราบและให้โอกาสคัดค้าน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยผู้เป็น ลูกหนี้นิติสัมพันธ์ ระหว่างโจทก์และจำเลยยังหาระงับลงไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5561/2541
บริษัท พ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทเองซึ่งทำถูกต้องตามขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1236 แล้วกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)ที่บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อ บริษัทกลับคืนเข้าในทะเบียนตามเดิมได้ เพราะกรณีตามมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องการถอนทะเบียนบริษัทร้างดังนั้น จึงไม่อาจสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเพิกถอนการจดทะเบียน เลิกบริษัท พ. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2540
การขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 นั้นมิได้กำหนดไว้ให้ต้องทำเป็นคำร้องขอโจทก์ทั้งเจ็ดจึงชอบที่จะขอให้เลิกบริษัท จำเลยที่1โดยทำเป็นคำฟ้องได้และตามคำฟ้องจำเลยที่2ถึงที่4และที่6เป็น กรรมการจำเลยที่2ถึงที่7ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่1มากกว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้ บริหารบริษัทจำเลยที่1ขาดทุนจนไม่มีทางหวังว่าจะฟื้นตัวได้จึงเป็นคำฟ้องที่ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251มิได้มุ่งหมายให้ผู้ที่เป็นกรรมการของ บริษัทเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทเสมอไปไม่เพราะมีข้อยกเว้นไว้ว่าหากมีข้อ บังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นผู้ชำระบัญชีของบริษัทก็จะต้องเป็นไป ตามข้อบังคับนั้นๆและหากกรรมการของบริษัทไม่อาจเข้าเป็นผู้ชำระบัญชีได้ไม่ ว่าด้วยประการใดๆและข้อบังคับของบริษัทไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้ กรณีย่อมต้องด้วยวรรคสองของมาตรา1251คือไม่มีผู้ชำระบัญชีผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีได้มิฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา1251ย่อมไร้ ผลเมื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่1ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีเหตุไม่ลงรอยกัน ไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้และไม่ปรากฏว่ามีข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็น ผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251 วรรคสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2526
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติพิเศษให้เลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236(4) ซึ่งมีผลตามกฎหมายให้บริษัทเลิกกันแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจะต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทอีก

ผู้ ร้องและกรรมการอื่นของบริษัทมีเหตุผิดใจกันไม่อาจชำระบัญชีร่วมกันได้. และข้อบังคับของบริษัทก็ไม่ได้กำหนดเรื่องผู้ชำระบัญชีไว้. ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีของบริษัทได้ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1251 วรรคสอง