แดนแห่งกรรมสิทธิ การใช้กรรมสิทธิ ทางจำเป็น ครอบครองปรปักษ์ ทางภาระจำยอม

มาตรา ๑๓๓๕ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย

มาตรา ๑๓๓๖ ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๑๓๓๗ บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความ เสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือ เดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน

มาตรา ๑๓๓๘ ข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้นั้นท่านว่าไม่จำต้องจดทะเบียน

ข้อจำกัดเช่นนี้ ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงโดยนิติกรรมไม่ได้นอกจากจะได้ทำนิติกรรมเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่

ข้อจำกัดซึ่งกำหนดไว้เพื่อสาธารณประโยชน์นั้น ท่านว่าจะถอนหรือแก้ให้หย่อนลงมิได้เลย

มาตรา ๑๓๓๙ เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน

น้ำไหลตามธรรมดามายังที่ดินต่ำ และจำเป็นแก่ที่ดินนั้นไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็นแก่ที่ดินของตน

มาตรา ๑๓๔๐ เจ้าของที่ดินจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ถ้าก่อนที่ระบายนั้นน้ำได้ไหลเข้ามาในที่ดินของตนตามธรรมดาอยู่แล้ว

ถ้าได้รับความเสียหายเพราะการระบายน้ำ ท่านว่าเจ้าของที่ดินต่ำอาจเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและ ออกค่าใช้จ่ายในการนั้น เพื่อระบายน้ำไปให้ตลอดที่ดินต่ำจนถึงทางน้ำ หรือท่อน้ำสาธารณะ ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิแห่งเจ้าของที่ดินต่ำในอันจะเรียกเอาค่าทดแทน

มาตรา ๑๓๔๑ ท่านมิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน

มาตรา ๑๓๔๒ บ่อ สระ หลุมรับน้ำโสโครก หรือหลุมรับปุ๋ย หรือขยะมูลฝอยนั้นท่านว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้

คูหรือการขุดร่องเพื่อวางท่อน้ำใต้ดินหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันนั้น ท่านว่าจะทำใกล้แนวเขตที่ดินกว่าครึ่งหนึ่งแห่งส่วนลึกของคูหรือร่องนั้นไม่ได้ แต่ถ้าทำห่างแนวเขตหนึ่งเมตรหรือกว่านั้น ท่านว่าทำได้

ถ้ากระทำการดั่งกล่าวไว้ในสองวรรคก่อนใกล้แนวเขตไซร้ ท่านว่าต้องใช้ความระมัดระวังตามควร เพื่อป้องกันมิให้ดินหรือทรายพังลง หรือมิให้น้ำหรือสิ่งโสโครกซึมเข้าไป

มาตรา ๑๓๔๓ ห้ามมิให้ขุดดินหรือบรรทุกน้ำหนักบนที่ดินเกินควรจนอาจเป็นเหตุอันตรายแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินติดต่อ เว้นแต่จะจัดการเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหาย

มาตรา ๑๓๔๔ รั้ว กำแพง รั้วต้นไม้ คู ซึ่งหมายเขตที่ดินนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของรวมกัน

มาตรา ๑๓๔๕ เมื่อรั้วต้นไม้ หรือคูซึ่งมิได้ใช้เป็นทางระบายน้ำเป็นของเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างรวมกัน ท่านว่าเจ้าของข้างใดข้างหนึ่งมีสิทธิที่จะตัดรั้วต้นไม้ หรือถมคูนั้นได้ถึงแนวเขตที่ดินของตน แต่ต้องก่อกำแพง หรือทำรั้วตามแนวเขตนั้น

มาตรา ๑๓๔๖ ถ้ามีต้นไม้อยู่บนแนวเขตที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองข้างเป็นเจ้าของต้นไม้รวมกัน ดอกผลเป็นของเจ้าของที่ดินคนละส่วนเสมอกัน และถ้าตัดต้นลงไซร้ ไม้นั้นเป็นของเจ้าของที่ดินคนละส่วนดุจกัน

เจ้าของแต่ละฝ่ายจะต้องการให้ขุดหรือตัดต้นไม้ก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการนั้นต้องเสียเท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่งสละสิทธิในต้นไม้ไซร้ ฝ่ายที่ต้องการขุดหรือตัดต้องเสียค่าใช้จ่ายฝ่ายเดียว ถ้าต้นไม้นั้นเป็นหลักเขตและจะหาหลักเขตอื่นไม่เหมาะเหมือน ท่านว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องการให้ขุดหรือตัดไม่ได้

มาตรา ๑๓๔๗ เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้

มาตรา ๑๓๔๘ ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น

มาตรา ๑๓๔๙ ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับ ทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ถ้าจำเป็น

ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่าน นั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

มาตรา ๑๓๕๐ ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไป สู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้ เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

มาตรา ๑๓๕๑ เจ้าของที่ดิน เมื่อบอกล่วงหน้าตามสมควรแล้ว อาจใช้ที่ดินติดต่อเพียงที่จำเป็นในการปลูกสร้างหรือซ่อมแซมรั้ว กำแพง หรือโรงเรือน ตรงหรือใกล้แนวเขตของตนแต่จะเข้าไปในเรือนที่อยู่ของเพื่อนบ้านข้างเคียงไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอม

ถ้าได้ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นไซร้ ท่านว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงจะเรียกเอาค่าทดแทนก็ได้

มาตรา ๑๓๕๒ ท่านว่าถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้วต้องยอมให้ผู้ อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินติดต่อ ซึ่งถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือถ้าจะวางได้ก็เปลืองเงินมากเกินควรแต่เจ้าของที่ดินอาจให้ยกเอาประโยชน์ ของตนขึ้นพิจารณาด้วย

เมื่อมีเหตุผลพิเศษ ถ้าจะต้องวางเหนือพื้นดินไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินอาจเรียกให้ซื้อที่ดินของตนบางส่วนตามควรที่จะใช้ในการนั้น โดยราคาคุ้มค่าที่ดินและค่าทดแทนความเสียหาย ซึ่งอาจมีเพราะการขายนั้นด้วย

ถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนไป เจ้าของที่ดินอาจเรียกให้ย้ายถอนสิ่งที่วางนั้นไปไว้ ณ ส่วนอื่นแห่งที่ดินของตนตามแต่จะเหมาะแก่ประโยชน์แห่งเจ้าของที่ดิน

ค่าย้ายถอนนั้น เจ้าของที่ดินติดต่อเป็นผู้เสีย แต่ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษไซร้ ท่านว่าจะให้เจ้าของที่ดินอีกฝ่ายหนึ่งช่วยเสียค่าย้ายถอนตามส่วนอันควรก็ได้

มาตรา ๑๓๕๓ บุคคลอาจพาปศุสัตว์ของตนผ่านหรือเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นซึ่งมิได้กั้นเพื่อไปเลี้ยง และอาจเข้าไปเอาน้ำในบ่อหรือสระในที่เช่นว่านั้นมาใช้ได้ เว้นแต่ที่ดินเป็นที่เพาะปลูก หรือเตรียมเพื่อเพาะปลูก หว่านหรือมีธัญชาติขึ้นอยู่แล้ว แต่ท่านว่าเจ้าของที่ดินย่อมห้ามได้เสมอ

มาตรา ๑๓๕๔ ถ้ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ทำได้และถ้าเจ้าของไม่ห้าม บุคคลอาจเข้าไปในที่ป่า ที่ดง หรือในที่มีหญ้าเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นที่ดินของผู้อื่น เพื่อเก็บฟืน หรือผลไม้ป่า ผักเห็ด และสิ่งเช่นกัน

มาตรา ๑๓๕๕ เจ้าของที่ดินริมทางน้ำ หรือมีทางน้ำผ่าน ไม่มีสิทธิจะชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ของตนตามควร ให้เป็นเหตุเสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตามทางน้ำนั้น 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2559 
          ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 39 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเพื่อประโยชน์ของเจ้าของห้องชุดซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดใช้สิทธิของเจ้าของร่วมในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้อีกด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาท จนเป็นเหตุให้เจ้าของห้องชุดและโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางพิพาทเพื่อเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกจากถนนสาธารณะสู่อาคารชุดโจทก์ได้ดังเดิม การที่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทและให้ไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะที่โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดนั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง 
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2558) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559 
        จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้ 

          เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679 - 682/2559 
             ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ 

          จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559 
          จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้ง การเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1702/2559

      เดิม ห. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้ขับไล่ ห. ออกจากที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 ให้ ห. และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ในชั้นบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา โดยอ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ โดยอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทประมาณ 30 ไร่ โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษที่ผู้ร้องได้ยื่นไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.251/2554 คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 เมื่อคำร้องขอของผู้ร้องเป็นร้องซ้อนต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีคำร้องขอและตัวผู้ร้องที่ผู้คัดค้านจะฟ้องแย้ง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องเช่นกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15407/2558 
        สัญญาข้อ 2 มีใจความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอม โดยโจทก์ตกลงจดทะเบียนให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36717 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้มีความกว้าง 12 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้มีความกว้าง 9 เมตร ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36715 ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นทางภาระจำยอม สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 36716, 36717 และ 341 ของโจทก์ ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้ใช้เป็นทางภาระจำยอมตลอดไป เว้นแต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้ทางภาระจำยอมเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป ก็ยินยอมให้จดทะเบียนยกเลิกทางภาระจำยอมได้ ตามคำฟ้องและคำให้การทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ฝ่ายตนตามสัญญา ถือว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากันแล้ว หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้ศาลบังคับให้โจทก์จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนด้วยนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปในคราวเดียวกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ หากจำเลยที่ 1 ตั้งประเด็นแห่งคดีเข้ามา โจทก์อาจมีข้อต่อสู้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะพิพากษาบังคับโจทก์ก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้งเข้ามาโดยมีคำขอให้ศาลบังคับโจทก์ ศาลย่อมไม่อาจวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้และพิพากษาบังคับให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวเป็นการตอบแทนได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ดำเนินการจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์เช่นกันได้ ขณะทำสัญญาก็ดี ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ดี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ใช้บังคับอยู่ จึงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และให้ใช้ พ.ร.บ.นี้เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินต่อไปก็ตาม ก็ยังคงต้องนำประกาศดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง ก็มีใจความทำนองเดียวกับมาตรา 43 วรรคหนึ่ง พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว หากให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ถนนดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมใช้ถนนดังกล่าวในฐานะทางภาระจำยอมทำนองเดียวกันกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากโครงการที่ได้รับอนุญาต กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก อันจะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยประกาศดังกล่าวข้อ 30 วรรคหนึ่ง จึงไม่เป็นโมฆะ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13492/2558 
         แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เป็นบทกฎหมายเฉพาะกำหนดให้สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปก็ตาม แต่ก็หามีข้อกำหนดระบุเหตุของการสิ้นไปแห่งภาระจำยอมในกรณีการจัดสรรที่ดินไว้โดยเฉพาะไม่ จึงชอบที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 4 ลักษณะ 4 ภาระจำยอม ซึ่งใช้กรณีมีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิต่อกันในทางแพ่งโดยทั่วไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อสภาพแห่งภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เมื่อก่อนที่โจทก์และจำเลยซื้อที่ดินในโครงการจอมเทียน แกรนด์วิว ตามฟ้อง สิ่งปลูกสร้างและสภาพแวดล้อมภายในโครงการมีลักษณะถูกปล่อยร้างมิได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จนเห็นได้ว่า การจัดสรรที่ดินล้มเลิกไปแล้วตามสภาพโดยปริยาย การซื้อที่ดินดังกล่าวของโจทก์จำเลยจึงมิใช่การซื้อในลักษณะธุรกรรมจัดสรรที่ดินซึ่งต้องอยู่ในบังคับแห่งกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของจำเลยได้สิ้นสภาพจากการเป็นสาธารณูปโภคอันพึงต้องตกอยู่ในภาระจำยอมตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 กำหนดไว้ไปก่อนแล้ว อันเป็นกรณีสิ้นไปแห่งภาระจำยอมเพราะมิได้ใช้สิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558 
           ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ดังนั้น ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องมีกฎหมายสนับสนุน ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14861/2558 
      สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระบุราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 399,000 บาท ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาให้จำเลยครบตั้งแต่ปี 2543 โดยมีสำเนาใบเสร็จรับเงินมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่เอกสารดังกล่าวมีรายการชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 27 กันยายน 2541 และมียอดเงินที่ชำระเพียง 64,000 บาท ส่วนที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตั้งแต่ปี 2541 ก็เป็นการเข้าครอบครองทรัพย์สินก่อนเวลาที่ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2543 จึงมิใช่พฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ร้องปฏิบัติการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องเคยเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้ร้องชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยครบตามสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ร้องยังไม่ชำระหนี้ของตนจึงไม่มีสิทธิขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ตอบแทนด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามสัญญา ทั้งกรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทางนิติกรรม คดีจึงไม่มีประเด็นว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2558 
        โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินในโครงการเป็นผู้สร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทเอง เมื่อจำเลยมิได้ปิดกั้นที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์ไม่จัดให้มีที่กลับรถเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการที่มีที่กลับรถเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 32 เป็นการที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนนสวนสนามเด็กเล่นให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ประกอบกับมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่ภาระจำยอมที่เกิดขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินก่อสร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทที่ได้กันไว้เป็นที่กลับรถอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนของโครงการ แต่ที่ดินพิพาทอยู่ภายในรั้วบ้านของจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันจะทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับ ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มาด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11238/2558 
           โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งห้าอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสัดส่วน เนื้อที่ 70 ตารางวา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า ให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าโต้เถียงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้าจึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ส่วนคำขอท้ายฟ้องแย้งแม้จะขอมาเป็นข้อเดียว แต่แยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า กับส่วนที่สองขอให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า ถึงแม้คำขอท้ายฟ้องแย้งส่วนที่สองจะไม่มีกฎหมายให้ศาลบังคับโจทก์ปฏิบัติเช่นนั้น ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องแย้งในส่วนที่สองเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นจะต้องสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ไว้พิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558 
       ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558 
          จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วยไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2558 
       การที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าโจทก์ทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองที่ดินนั้นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 18 ปีนั้น เป็นการได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยทั้งหกกระทำโดยไม่สุจริตและโจทก์ทั้งสี่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งมิได้มีคำขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสี่อันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557 
          อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15402/2557 
        การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้คัดค้านจะไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้ว โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือดำเนินการขอให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน อันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินการชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และคำร้องขอของผู้คัดค้านเพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2557 
            โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน 29 แปลง ซึ่งการพิจารณาคดีศาลจะต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกัน รวมถึงเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์เป็นรายแปลง แม้โจทก์จะมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีการกล่าวแก้ข้อพิพาทว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 12,000 บาท และคำนวณราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงแล้วไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้น ชอบแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13107/2556 
      โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามตราจองอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ต่อมาบิดามารดายกที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง แต่กลับให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองจึงขัดกับคำให้การส่วนแรก เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดา จึงยังอยู่ในประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2556 คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (เมืองนครชัยศรี) และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทคือ 16,100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไป ดังนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะรับรองให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกา จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม รวมทั้งศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2556 
         ขณะจำเลยทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ บิดาโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทได้เอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยบุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ซึ่งไม่มีมูลความจริง และขัดต่อเหตุผลดังที่ระบุในสัญญาดังกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากโจทก์สามารถดำเนินการจนทำให้จำเลยสามารถได้กรรมสิทธิ์ จำเลยจะแบ่งให้โจทก์ 6 ส่วน โดยจำเลยได้ 1 ส่วน ซึ่งผิดวิสัยของผู้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดเจนว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ป. โดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. แสดงว่าการที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของบิดาโจทก์ หาใช่การครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ การทำสัญญาจะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีใจความเช่นนี้จึงมีสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ ซึ่งหลังจากทำสัญญาดังกล่าวมีการไปยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อจนมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลที่ย่อมต้องคำนึงถึงการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมตามความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่ หลอกลวง หรือกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากบิดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ป. และจำเลยก็กล่าวแก้ว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ทำให้ที่ดินตกเป็นของจำเลยโดยผลของกฎหมายแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์แพ้คดีกลับอ้างข้อต่อสู้ของจำเลยมาเป็นประโยชน์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อนี้ ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง หาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2555 
          เดิมจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 โจทก์เป็นบุตรเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งถึงแก่ความตายแล้วฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว พอจะแปลความหมายได้ว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดินพิพาท และครอบครองโดยความสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะขอให้คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16513/2555 
            จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินกับโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินดาวน์งวดสุดท้ายแล้วได้แสดงเจตนาที่จะให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้ แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากโจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร อ. จึงได้นัดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่เรียกร้องให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทและการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและบ้านแทนโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ดังนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงเจตนายึดถือเพื่อตน เมื่อนับถึงวันฟ้อง เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12746/2555 
          ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12735/2555 
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดที่ 918 ทางทิศตะวันตกของ ท. โดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2529 ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานกว่า 22 ปี หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องขอ ว. มารดาของผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 917 และโฉนดเลขที่ 918 โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้และตกทอดแก่ผู้ร้องและทายาทอื่นที่เป็นบุตรของ ว. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 และแม้ผู้ร้องกับทายาททั้งหมดเพิ่งทราบว่า ว. มารดาของผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองภายหลัง ก็ไม่ทำให้ทรัพยสิทธิที่มารดาของผู้ร้องได้มาและเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องกับทายาทอื่นเสียไป ทั้งการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของผู้ครอบครอง ประกอบกับผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 81 โดยที่ดินที่ผู้ร้องอ้างว่าเจ้ามรดกได้มาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิตามมาตรา 78 ก่อน ผู้ร้องในฐานะทายาทผู้รับมรดกจาก ว. มารดาของผู้ร้องจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นมรดกตกทอดมายังผู้ร้องและทายาทอื่นได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555 
       ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของ อ. บ. และ ค. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8061/2555 
        โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม แต่คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่าผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ร้องสอดมิได้กล่าวอ้างว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใดที่จะถือว่าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ข้ออ้างของผู้ร้องสอดเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธ์ในที่พิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่พิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5016/2555 
        แม้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่ ป.ที่ดินไม่ได้ห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น การที่ ต. และจำเลยร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทของ ต. จึงไม่ได้เสียเปล่าไปและยังมีผลตามกฎหมาย เมื่อ ต. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2534 จำเลยได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทต่อมาจาก ต. จึงเป็นการครอบครองเพื่อตนต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ต. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วซึ่งจะทำให้ ต. สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้การครอบครองที่ดินของ ต. จะไม่เสียเปล่าไป แต่ก็จะมาขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ ต. ครอบครองไม่ได้ หากศาลบังคับให้จะเป็นทางให้ ต. ได้ที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย คำขอของผู้ร้องสอดในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องสอดให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้ รวมทั้งคำขออื่นที่อาศัยสิทธิของการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2555 
        คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1905/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน เท่ากับอ้างว่าไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ดังนั้นโจทก์จึงไม่อาจครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีผลสมบูรณ์บังคับได้ กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นของ ส. แล้ว และอ้างว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของโจทก์เท่านั้น อันแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7278 - 7279/2554 
     ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นที่ดินที่ชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาก่อตั้งเป็นทรัสต์เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน เมื่อทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าจัดตั้งขึ้นก่อน ป.พ.พ. บรรพ 6 มาตรา 1686 ประกาศใช้ย่อมมีผลใช้บังคับกันได้ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เว้นแต่ผู้รับประโยชน์ทุกคนตกลงให้เลิกกันเมื่อ ล ทรัสตีคนเดิมถึงแก่ความตาย ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการย่อมร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนเพื่อให้ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋ามีผู้ดูแลจัดการได้ต่อไป ผู้ร้องเป็นทายาทของ ต ชั้นหลานและศพของ ต ได้ฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า ซึ่งผู้ร้องและญาติได้มาเคารพกราบไหว้ตามประเพณี เมื่อที่ดินดังกล่าว ต ล และชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาจัดตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนมิใช่เพื่อชาวจีนกลุ่มอื่น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นทรัสตีของทรัสต์ป่าช้าบ้าบ๋าได้ ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นชาวจีนแคะ แม้มีบิดาเลี้ยงเป็นชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน ผู้คัดค้านที่ 3 ก็มิได้เกี่ยวข้องกับบิดาเลี้ยงทางสายโลหิต ย่อมไม่มีบรรพบุรุษฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า และเมื่อผู้คัดค้านที่ 3 เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินป่าช้าจีนบ้าบ๋าซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่า การดำเนินคดีของผู้คัดค้านที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจบังคับได้ ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จะขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าแทน ล ทรัสตีคนเดิม ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2554 จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2554 
         คดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วและคู่ความในคดีดังกล่าวกับคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ประเด็นในเรื่องก่อนมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ซึ่งศาลในคดีก่อนได้พิพากษายกคำร้องขอโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และมีการส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องแล้วขณะนั้นที่ดินพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1 เท่ากับผู้ร้องอ้างการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครองแล้ว การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนมาตั้งแต่มีการซื้อขายกันโดยมิได้อ้างว่าเป็นของผู้อื่น ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบในเรื่องครอบครองปรปักษ์ ครั้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ในคดีก่อนกลับมาเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อนกับบริวารในคดีนี้ จำเลยทั้งสองก็ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุเรื่องที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากมารดาโจทก์และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นเหตุผลเดียวกันกับคำร้องในคดีก่อน ย่อมเท่ากับจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและการซื้อขายสมบูรณ์โดยการส่งมอบการครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของที่ดินโดยการครอบครองแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีก่อนจำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาด้วย ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ซื้อและครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิครอบครองก่อนออกโฉนดที่ดินแล้วหรือไม่หรืออีกนัยหนึ่งประเด็นข้อพิพาทมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่างกับประเด็นวินิจฉัยในเรื่องก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 กรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเดิมของศาลชั้นต้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270/2554 
               การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1069/2554 
          คำให้การของจำเลยที่ว่า ที่ดินส่วนที่จำเลยคัดค้านเป็นที่ดินของจำเลยเอง หากไม่ใช่ที่ดินของจำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบเปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะคำให้การของจำเลยในตอนหลังขัดแย้งกันคำให้การของจำเลยในตอนแรกคำให้การในตอนหลังนี้เท่ากับจำเลยได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยแต่จำเลยครอบครองติดต่อกันโดยสงบเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี เมื่อคำให้การของจำเลยขัดแย้งกัน จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองหรือไม่ เพราะการครอบครองปรปักษ์มีได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12639/2553 
           โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าโจทก์รับโอนที่ดินมาจาก ห. โดยไม่สุจริต โดยไม่ปรากฏว่าไม่สุจริตอย่างไร และทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏเรื่องนี้ ถือว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทนี้ จำเลยให้การว่าจำเลยคัดค้านการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ เนื่องจากเป็นที่ดินของจำเลย เป็นคำให้การที่ยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินตาม น.ส.3 ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้จำเลยจะให้การด้วยว่า จำเลยกับมารดาร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วก็ตาม เพราะจะขัดกับคำให้การที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการครอบครองปรปักษ์จะต้องกระทำต่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท จำเลยยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาทของโจทก์ เท่ากับขอให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์นั่นเอง ซึ่งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย เมื่อคดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12476/2553 
          ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง" โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นจึงต้องฟังว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ภาระการพิสูจน์ก็ตกแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานที่นำมาสืบยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดีกว่าจำเลยที่ 1 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10545/2553 
              ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) บุคคลใดต้องใช้สิทธิทางศาลจะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีคำร้องขอของผู้ร้องการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รถยนต์โดยการครอบครองปรปักษ์ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติรับรองให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทต่อศาล ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9788/2553 
          การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่ ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9026/2553 
         โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ การที่จำเลยนำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำฟ้องบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว เพราะอาจต้องเสียที่ดินพิพาทไปจากการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารสิทธิปลอมภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่จำเลยถ่ายสำเนามา จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอมด้วย เมื่อจำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไปใช้อ้างเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องและคำฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอมการกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว จำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5332/2553
        ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ที่ดินของโจทก์เดิมเป็นที่ดินของบิดามารดาโจทก์ ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นที่ดินของโจทก์แปลงหนึ่ง เป็นของ น. แปลงหนึ่ง และเป็นของ ธ. อีกแปลงหนึ่ง โจทก์ชอบที่จะเปิดทางพิพาทผ่านที่ดินที่เคยรวมเป็นแปลงเดียวกันมาก่อนนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลย อันเป็นการอ้างบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์มีทางออกอื่นเพื่อไปสู่ทางสาธารณะ การฟ้องคดีโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยจำเลยมิได้อ้างว่าที่ดินของโจทก์แบ่งแยกจากที่ดินแปลงอื่นอันทำให้ไม่มี ทางออกสู่ทางสาธารณะอันจะก่อให้เกิดประเด็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบใน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552
   ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับ มอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใด ใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่ พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดย ปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้

การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2552
         จำเลยปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและ มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึด ถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดย มิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูก สร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดิน พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและ สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2552
          เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เลิกกัน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเหนือ ทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของ ตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง สิทธิดังกล่าวของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่การที่ผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ของผู้ร้องที่ถูก เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อนเอารถยนต์นั้นออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปเช่นนี้ สิทธิของผู้ร้องอันอาจที่จะบังคับเหนือทรัพย์สินในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของ ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังกล่าวย่อมหมดไป ทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่เข้าแทนที่รถยนต์ ของผู้ร้องในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันก่อนดัง ที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวเพื่อชำระให้แก่ ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติมาตรา 288 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551
               ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2551
            จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ต่อเติมแนวกันสาดจากอาคารมากเกินความจำเป็นและไม่ได้วางแผงขาย สินค้าบนถนน ฎีกาของจำเลยที่ว่ากระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด เพราะโจทก์ยินยอมแล้วเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขัดแย้งแตกต่างไปจากคำให้ การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

จำเลยต่อเติมแนวกันสาดและนำสินค้ามาวางขายบนถนนเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารศูนย์การค้าย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความ เสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 แม้เจ้าของร้านค้ารายอื่นจะกระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ด้วย แต่เมื่อโจทก์ประสงค์จะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนซึ่งเกิดจากการกระทำของ จำเลยให้สิ้นไป การที่โจทก์ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2551
         สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่ เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อม อุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2551
        โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เบียดบัง ยักยอกเงินของโรงเรียนของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยไป โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถือเป็นคำฟ้องเพื่อเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยผู้ยึดถือทรัพย์สินของโจทก์ไว้ โดยมิชอบในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีสิทธิติดตาม เอาคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มิใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติอายุความในเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 และการฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้ไว้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2551
ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยมีลักษณะเป็นสวน ไม่มีคลองสาธารณประโยชน์ผ่านที่ดิน โจทก์ทั้งสี่และจำเลยนำน้ำจากคลองบางสีทอง ซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยประมาณ 50 เมตร มาใช้รดน้ำต้นไม้ในสวน โดยใช้ต้นตาลที่ทะลวงไส้ออกเป็นท่อส่งน้ำฝังไว้ใต้พื้นดินติดต่อกับที่ดิน ของบุคคลอื่นที่อยู่ริมคลองบางสีทองเพื่อชักน้ำเข้ามาใช้ต่อกันเป็นทอด ๆ จึงเป็นท่อส่งน้ำที่ทำขึ้นเองเพื่อเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ของชาวสวน แม้จะนานเพียงใดก็ไม่ทำให้ท่อส่งน้ำที่วางไว้ใต้ดินของใครเป็นท่อส่งน้ำ สาธารณประโยชน์ไปได้ และน้ำที่ไหลเข้ามาในที่ดินของจำเลยไปยังที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ผ่านท่อส่ง น้ำดังกล่าวไม่ใช่เป็นน้ำที่ไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมายังที่ดินต่ำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1339 ที่จะให้สิทธิเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่สูงกว่าจะกันน้ำเอาไว้ได้เพียงที่จำเป็น แก่ที่ดินของตนและไม่ใช่เป็นทางน้ำผ่านที่ดินตามมาตรา 1355 ที่เจ้าของที่ดินที่มีทางน้ำผ่านไม่มีสิทธิจะชักเอาน้ำไว้เกินกว่าที่จำเป็น แก่ประโยชน์ของตนตามควรให้เป็นเหตุเสื่อมเสียแก่ที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ตาม ทางน้ำนั้น และข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากมีการทำถนนสาธารณประโยชน์ทำให้ทับท่อส่งน้ำไปในที่ดินของจำเลยเสีย หาย ทำให้ไม่มีน้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยแล้วจำเลยต้องไปขอซื้อน้ำจากที่ดินแปลง ของ บ. เพื่อประโยชน์ในที่ดินของจำเลย โดยจำเลยเสียค่าใช้จ่ายเพียงลำพัง และปิดท่อส่งน้ำในที่ดินของตนเองไม่ให้ส่งน้ำไปยังที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ตาม เงื่อนไขที่ บ. ให้จำเลยใช้น้ำต่อจาก บ. คนเดียว การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ไม่อาจขอให้บังคับจำเลยรื้อสิ่งปิดกั้นทางน้ำออกไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2551
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยเบิกไปโดยไม่มีสิทธิเบิกได้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินฟ้องเรียกทรัพย์สินที่จำเลย ได้เบิกไปโดยมิชอบซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืน ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ กรณีมิใช่ฟ้องเรียกให้คืนทรัพย์ตามลักษณะลาภมิควรได้ จึงนำอายุความตามมาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2551
จำเลย ที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่ง ปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วน ของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้

จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2550
แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11301 ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกจะติดแม่น้ำบางปะกง แต่ก็ได้ความว่า ปัจจุบันแม่น้ำบางปะกงไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจร คงมีแต่เรือหาปลา ไม่มีเรือโดยสาร โดยกิจการเรือโดยสารได้เลิกมาหลายสิบปีแล้ว เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วก็ได้ใช้เส้นทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งเส้นทางพิพาทมีความกว้างประมาณ 3 เมตร ดังนี้ กรณีที่ดินโจทก์จึงต้องตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง คือ ที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือสภาพยากลำบากในทำนองเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเพื่อขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยทั้งสามออกสู่ทาง สาธารณะได้

เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 11301 ที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 1638 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11301 ไม่มีทางบนบกออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทออกสู่ทาง สาธารณะได้เช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350

สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของ ที่ดินในปัจจุบัน ข้ออ้างของฝ่ายจำเลยทั้งสามที่ว่าโจทก์สมัครใจซื้อที่ดินซึ่งไม่มีทางออกสู่ ถนนสาธารณะทำให้ซื้อในราคาถูกกว่าปกติ ส่อเจตนาว่าจะไม่ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะนั้น มิได้ทำให้สิทธิในทางจำเป็นของโจทก์ระงับสิ้นไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6372/2550
เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 45810 ของโจทก์และที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ของจำเลยที่ 2 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลงดังกล่าว แต่เมื่อทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ได้ โดยเป็นทางเดินเท้าซึ่งตามแผนที่พิพาทระบุว่าทางด้านทิศตะวันออกของที่ดิน โจทก์กว้างประมาณ 1.10 เมตร ไม่สามารถใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อผ่านเข้าออกได้นั้น ก็เป็นเรื่องความสะดวกของโจทก์เท่านั้นหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทาง สาธารณะไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 45821 ของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 เพราะที่ดินโจทก์ไม่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมจนไม่สามารถออกไปสู่ทางสาธารณะ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6406/2550
ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินสูง ส่วนที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินต่ำ การที่โจทก์ระบายน้ำฝนตามธรรมชาติจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้ง สองไปสู่ลำน้ำเสียวจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องยอมรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1339 วรรคหนึ่ง และ 1340 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าโจทก์และประชาชนจะใช้ร่องน้ำในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นเวลานานเพียง ใด ก็หาทำให้กลายเป็นลำรางสาธารณะหรือตกเป็นภาระจำยอมไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองไถดินกลบลำรางร่องน้ำพิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมขัง ที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็นลำรางระบาย น้ำตามเดิมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550
โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำ และห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณ ด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้อง ส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำ ให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2550
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดิน ของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือ เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 การเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของ โจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ ทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387 - 388/2550
จำเลยปลูกสร้างบ้านบังหน้าบริเวณที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ออกสู่ทะเลหลวงไม่ได้หรือไม่สะดวก โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษโดยตรง แม้ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งจำเลยก็ไม่อาจใช้สิทธิอันจะก่อ ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 ประกอบมาตรา 1337 และโจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายให้สิ้นไปโดยฟ้องจำเลยให้ รื้อถอนบ้านพิพาทที่กีดขวางทางที่โจทก์เข้าออกสู่ทะเลหลวงไปได้

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินของตนออกสู่ทะเลหลวงได้ตลอดแนว เขต การที่โจทก์จะก่อสร้างกำแพงส่วนใดและเว้นที่ดินส่วนใดให้เป็นทางออกสู่ทะเล หลวง ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิที่จะรบกวนการใช้สิทธิของโจทก์ แม้โจทก์จะมีอาชีพประมงหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะใช้ที่ดินบริเวณที่จำเลยปลูกสร้างบ้านออกสู่ทะเลหลวง ได้อยู่แล้ว และโจทก์จะเลือกใช้สิทธิของตนออกสู่ทะเลหลวงทางใดก็ได้ที่โจทก์เห็นว่าเป็น ประโยชน์และเป็นความสะดวกแก่ตนมากที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6862/2550
ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง "เจ้าของ" เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็น จำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น "เจ้าของ" แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อ ในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ "เจ้าของ" จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมี กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย เมื่อ ค. ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจาก ห. โดย ห. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้ ค. ไว้แล้ว เพียงจะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดย ค. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วย เท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ได้ให้ ห. เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาท และ ห. นำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น "เจ้าของ" รถแทรกเตอร์คันพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห. ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์แต่ กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคล อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2550
เมื่อการแต่งตั้ง พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก ผู้ใดจะกล่าวอ้างแสวงสิทธิจากเอกสารดังกล่าวนั้นหาได้ไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและ อำนาจกรรมการ ย่อมทำให้ พ. ถูกเพิกถอนจากการเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ การใดที่ พ. กระทำไปในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ผูกพันโจทก์ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในคดีเดิมเสียได้ แล้วจึงฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินในภายหลัง หรือโจทก์จะใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูก สร้างซึ่งมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือ ไว้ การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิโดยฟ้องบังคับให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ของโจทก์ด้วยเหตุสัญญาเช่าไม่ผูกพันโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาคืน ทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในคดีเดิม

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า สัญญาเช่าและสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าทำสัญญาทั้งสองสัญญาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในการเช่า อันจะใช้ยันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ การแต่งตั้ง พ. เป็นกรรมการของโจทก์เกิดจากการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสาร อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถือว่าการแต่งตั้งนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย มิใช่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการมีข้อบกพร่องหรือบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของ กรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550
ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 - 540, 547 - 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336

ที่จอดรถยนต์ในอาคารชุดโดยสภาพย่อมถือเป็นทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อสัญญาขายห้องชุดที่โจทก์ซื้อกรรมสิทธิ์มาระบุว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ ที่จอดรถยนต์ตามที่ระบุไว้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์พร้อมห้องชุดและไม่ ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนกลาง" ของอาคารชุดอีกต่อไป แต่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนบุคคล" ของโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่อาจออกระเบียบหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่จอดรถยนต์ดังกล่าวในภายหลังให้เป็นที่เสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเกินกว่า 6 เดือน จำเลยก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก เมื่อจำเลยออกระเบียบห้ามมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้ามาจอดในที่จอดรถยนต์ตาม สัญญาขาย กระทั่งโจทก์ต้องนำรถยนต์ไปจอดในสถานที่อื่น จนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อันถือเป็นการขัดขวางสิทธิใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญาขายห้องชุดของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 บัญญัติว่านิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การที่จำเลยออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในอาคารจอดรถยนต์ของ จำเลยจะต้องได้รับสติกเกอร์จากจำเลยเพื่อติดรถยนต์ก่อนอันเป็นการจัดการและ ดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน จำเลยย่อมสามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการขอรับสติกเกอร์ จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ ข้อ 1 แต่การที่จำเลยกำหนดในข้อ 2 ว่าเจ้าของร่วมผู้มีสิทธิในการขอรับสติกเกอร์ตามข้อ 1 จะต้องไม่ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเรื่องการค้างชำระค่าส่วนกลางถือเป็นหนี้ที่จะต้องมีการฟ้องร้องบังคับ คดีตามกฎหมาย การออกระเบียบเช่นนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูก ต้อง มีเจตนาที่จะบีบบังคับเอากับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยกำหนดจึง ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2549
แม้ทางจำเป็นที่โจทก์ขอผ่านที่ดินจัดสรรของจำเลยเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระ จำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก แต่เมื่อจำเลยรับว่าถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็น ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินที่ ตกเป็นสาธารณูปโภค จึงหาได้ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวไม่ และหากการที่จำเลยเปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ทำให้จำเลยต้องเสียหายจำเลยย่อม มีสิทธิเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายจากโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทที่จำเลยสร้างรั้วกำแพงปิดกั้นเพื่อใช้ เป็นทางเข้าออกและจัดวางท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์สู่ทางสาธารณะได้

เมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้ว โจทก์มีสิทธิใช้ทางดังกล่าวได้โดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 จึงไม่จำต้องให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นตามคำขอของโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2549
แม้แต่เดิมโจทก์ใช้ลำห้วยหนองแสงที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์จำเลย เข้าออกสู่ถนนสาธารณะซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ แต่เมื่อในภายหลังได้มีการราดยางและยกระดับถนนสาธารณะสูงขึ้นจนสูงระดับ ศีรษะ ทำให้โจทก์ใช้ลำห้วยหนองแสงเป็นทางเข้าออกได้ลำบาก เนื่องจากตามปกติลำห้วยหนองแสงซึ่งลึกประมาณ 1 เมตร มีสภาพแห้งไม่มีน้ำ เวลาฝนตกจึงจะมีน้ำขัง แต่เป็นเวลาไม่นานก็จะแห้งอีก ไม่อาจใช้สัญจรไปมาตามปกติได้ ลำห้วยหนองแสงจึงไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณะ เมื่อพิจารณาสภาพของลำห้วยหนองแสงในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ต่ำปละลึกไม่สะดวกที่โจทก์จะใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่มี ระดับสูงกว่ามากเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ดินโจทก์มีทางออกได้ แต่มีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากขวางอยู่ตามบทบัญญัติ แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง และต้องบังคับตามความในมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าที่ดินโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทในที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางที่จำเลยจะเสียหาย น้อยที่สุดเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2549
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนอง จำนองและขายฝากให้ที่ดินกลับคืนมาเป็นของโจทก์เป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สิน ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จึงไม่มีกำหนดอายุความ

การที่จำเลยที่ 4 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงินถึง 2,500,000 บาท โดยรู้เห็นอยู่แล้วว่า หนังสือมอบอำนาจมีเพียงลายมือชื่อของโจทก์ซึ่งไม่มีข้อความว่ามอบอำนาจให้ทำ สิ่งใดและรู้เห็นถึงการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ โดยโจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 4 เอง ที่หลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดจากการที่โจทก์เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821, 822 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนขายฝากต่อจำเลยที่ 4 นิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบและไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะ ยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549
ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่ จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้ รับความเสียหาย แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์โดยนำชี้และอ้างว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่ง อยู่ติดถนนลาดยางเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากและมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง ความจริงแล้วที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ห่างไกลถนนและมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์รับ ซื้อฝากไว้มากหากโจทก์ทราบความจริงจะไม่รับซื้อฝาก การบรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในลักษณะเล่าเรื่องให้เป็น ที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัย คดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝาก ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ก็ดี หรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็น วัตถุแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 ก็ดี จึงเป็นการปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยถึง สิทธิของคู่ความแต่ละฝ่าย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมิได้หลอกลวงโจทก์และโจทก์มิได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิด แล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องหรือพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของ จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้น มิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสอง ผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ ส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้นคำฟ้องของโจทก์ เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องคดีในระหว่างที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2549
ตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 195 ต. เขาทราย อ. ทับคล้อ จ. พิจิตร โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ทำเกินขอบอำนาจโดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จำนองต่อจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการฟ้องบุพการีต้องห้ามตาม ป.พ.พ. 1562 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2515/2549
การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์เพราะ จำเลยเป็นบุตรเขยของโจทก์ ต่อมาจำเลยหย่าขาดกับบุตรีของโจทก์ โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มี สิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องบอกกล่าวผู้ไม่มีสิทธิ ดังกล่าวก่อนฟ้องคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548
การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิ ที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่ง กลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการ ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง

เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำ การใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้น ระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป

การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับ ผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น

ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่น เหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484 - 3485/2548
ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิม แต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5442 - 5468/2548
จำเลย ได้รับเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์คำนวณจ่ายให้ตามระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศ ไทยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2536 แต่มีมติคณะรัฐมนตรีให้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทำให้สิทธิของจำเลยที่จะได้รับเงินบำเหน็จต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ต้องคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เงินบำเหน็จส่วนต่างที่โจทก์จ่ายเกินไปเพราะการคำนวณตามระเบียบเดิมที่จำเลย ได้รับไปย่อมเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดย ปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 อายุความในการฟ้องเรียกให้คืนเงินบำเหน็จที่โจทก์จ่ายเกินไปและต้องคืนเป็น จำนวนเท่าใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ กรณีมิใช่จำเลยได้ยึดถือเงินบำเหน็จส่วนที่เกินไว้ โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์สามารถติดตามเอาคืนได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

จำเลยเป็นผู้มีเงินได้จากการได้รับเงินบำเหน็จ ที่โจทก์ให้จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยป. รัษฎากร มาตรา 50 กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างต้องหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายแล้วนำส่งกรมสรรพากร หากโจทก์หักและนำส่งภาษีเงินได้ไปเกินกว่าที่จำเลยผู้มีเงินได้ต้องชำระ จำเลยผู้มีเงินได้ก็มีสิทธิไปขอเงินส่วนที่จ่ายเกินไปคืนจากกรมสรรพากรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิไปขอคืน จำเลยจึงต้องคืนเงินบำเหน็จส่วนที่รับไปเกินสิทธิให้แก่โจทก์เต็มจำนวนโดย ไม่อาจนำจำนวนเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์หักไว้ ณ ที่จ่ายมาหักออกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1760/2548
โจทก์เป็นเจ้าของดิน เมื่อจำเลยขุดเอาดินไปโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยนำดินที่ขุดไปนั้นคืนมาหรือขอให้จำเลยชดใช้ราคา ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขุดดินของโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2548
พ.ร.ฎ. โอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจฯ มาตรา 3 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นส่วนราชการ และมีฐานะเป็นกรม โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 7 (4) และเป็นส่วนราชการของรัฐบาล ห้องพิพาทที่จำเลยพักอาศัยเป็นส่วนหนึ่งของอาคารของโจทก์ จึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการจึงไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป ตามระเบียบการปฏิบัติเข้าพักอาศัยในอาคารของกรมตำรวจ การที่จำเลยยังคงอยู่ในห้องพิพาทไม่ยอมออกไปเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวให้ออกไป แล้ว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และโจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่หาใช่เป็นการกระทำการ โดยส่วนตัวไม่ การที่โจทก์มอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีจึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือ มอบอำนาจ เพราะได้รับการยกเว้นตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2546
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวง แต่ก็มิใช่ตัวทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นผิวจราจรหรือทางเท้า ที่ดินของโจทก์จึงมิได้เชื่อมกับถนนกันตังเนื่องจากยังมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ หากโจทก์จะเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนกันตัง โจทก์จะต้องผ่านที่ดินพิพาทเสียก่อนซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำ ถนนจากที่ดินของโจทก์ต่อเชื่อมกับถนนกันตังโดยผ่านที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนกันตังมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดิน พิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตน โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดิน พิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนกันตังหาได้ไม่กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 421 และมาตรา 1337 ในอันที่โจทก์จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและต้นมะพร้าวออกจาก ที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2545
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1343 บัญญัติห้ามมิให้ขุดดินจนอาจเป็นอันตรายแก่ความอยู่มั่นแห่งที่ดินที่ติดต่อ เว้นแต่จะจัดการเพียงพอเพื่อป้องกันความเสียหาย ฉะนั้น การที่จำเลยขุดดินลึก 2 เมตร ในแนวตั้งฉากซึ่งมีระยะใกล้ชิดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์ อาจทำให้ที่ดินของโจทก์ได้รับความเสียหายพังทลายลงได้ จำเลยจึงต้องจัดการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ที่ดินของโจทก์ ซึ่งศาลเห็นสมควรให้จำเลยปรับระดับพื้นดินที่ต่อจากที่ดินที่จำเลยถมให้ลาด เอียงสู่พื้นดินในระดับไม่เกิน 45 องศา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5942/2541
กำแพงรั้วพิพาทปลูกสร้างอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของรวมในกำแพง รั้วพิพาท แม้โจทก์จะอาศัย ใช้เป็นแนวแบ่งเขตที่ดินมานานเท่าใด ก็ไม่ทำให้โจทก์ มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในกำแพงรั้วพิพาท เพราะโจทก์มิได้ ครอบครองกำแพงรั้วพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 บัญญัติถึงลักษณะของแดน กรรมสิทธิ์ที่ดินว่ากินทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินเฉพาะในอาณาเขต ที่ดินของตนเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงแดน กรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินในสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ใน เขตที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันไม่ เมื่อกำแพงรั้วพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย และโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จึงไม่เสียแดน กรรมสิทธิ์รวมในการที่ไม่ได้ใช้รั้วพิพาท อีกทั้งการที่จำเลยก่อสร้างผนังอาคารทับแนวรั้วเดิมโดยไม่ได้ขออนุญาต ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือให้จำเลยระงับการก่อสร้างและมีคำสั่งให้ จำเลยรื้อถอนส่วนที่ ต่อเติมนั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นคนละประเด็นกับกรณีที่จำเลย ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทก็ เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการ ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หาใช่ประเด็นที่จำเลย ละเมิดต่อโจทก์และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5942/2541
กำแพงรั้วพิพาทปลูกสร้างอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของรวมในกำแพง รั้วพิพาท แม้โจทก์จะอาศัย ใช้เป็นแนวแบ่งเขตที่ดินมานานเท่าใด ก็ไม่ทำให้โจทก์ มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในกำแพงรั้วพิพาท เพราะโจทก์มิได้ ครอบครองกำแพงรั้วพิพาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 บัญญัติถึงลักษณะของแดน กรรมสิทธิ์ที่ดินว่ากินทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินเฉพาะในอาณาเขต ที่ดินของตนเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงแดน กรรมสิทธิ์เหนือพื้นดินในสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ใน เขตที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันไม่ เมื่อกำแพงรั้วพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย และโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จึงไม่เสียแดน กรรมสิทธิ์รวมในการที่ไม่ได้ใช้รั้วพิพาท อีกทั้งการที่จำเลยก่อสร้างผนังอาคารทับแนวรั้วเดิมโดยไม่ได้ขออนุญาต ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือให้จำเลยระงับการก่อสร้างและมีคำสั่งให้ จำเลยรื้อถอนส่วนที่ ต่อเติมนั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นคนละประเด็นกับกรณีที่จำเลย ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทก็ เนื่องจากจำเลยไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการ ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หาใช่ประเด็นที่จำเลย ละเมิดต่อโจทก์และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581/2539
หลุมส้วมอันเป็นหลุมหรือบ่อสำหรับรับน้ำโสโครกจากห้องน้ำและส้วมที่จำเลยทำขึ้น อยู่ในระยะ2เมตรจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1342วรรคหนึ่งโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนหรือกลบถังส้วมและ หลุมรับน้ำโสโครกนั้นได้แต่ไม่อาจจะบังคับให้รื้อถอนห้องน้ำได้เพราะการปลูก สร้างห้องน้ำมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา1342ดังกล่าวและขณะฟ้องคดีอาคาร ที่จำเลยปลูกสร้างยังไม่แล้วเสร็จยังไม่มีผู้ใดใช้ห้องน้ำและส้วมดังกล่าว โจทก์จึงไม่เสียหายในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2538
"คลอง" คือสิ่งอื่นที่คล้าย "คู" จึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1342 ที่ต้องขุดห่างแนวเขตที่ดินข้างเคียงหนึ่งเมตรหรือกว่านั้น โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจัดการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ความอยู่มั่นแห่ง ที่ดินของโจทก์ที่ติดต่อกับที่ดินที่จำเลยขุดคลอง มิใช่เรียกเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด โดยตรง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6586/2538
โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินและตึกแถวมาจาก ส. แต่โจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาด ซึ่งเป็นการขายเฉพาะที่ดินและตึกแถวเท่านั้นไม่ได้ขายสิทธิอื่นใดของ ส. ที่มีอยู่เหนือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 14373 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่โจทก์ซื้อมา ดังนั้นแม้ ส.จะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจนำเอาระยะเวลาที่ ส. ครอบครองมานับรวมด้วยได้ โจทก์ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ซื้อมายังไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท การที่จะมีผู้ใดก่อสร้างกำแพงในที่พิพาทก็ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะเคยได้รับความสะดวกจากการที่ได้เปิดหน้าต่างรับลมมาแต่แรกก็ตาม แต่ขณะนั้นที่ดินของ ถ.ยังไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในที่ดิน เมื่อ ถ.ได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของจำเลยที่ 2 เอง มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินหรือตึกแถวของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำลงในที่ดินของจำเลยที่ 2 เองเป็นการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์สินของจำเลยที่ 2โดยตรง มิใช่เป็นเรื่องจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จะขอให้จำเลยที่ 2รื้อสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้นไม่ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคแรก เป็นบทยกเว้นเรื่องส่วนควบและแดนกรรมสิทธิ์ โดยบุคคลผู้สร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต มีสิทธิใช้ที่ดินของผู้อื่นในส่วนที่รุกล้ำนั้นได้ แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินและจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างตึกแถวพิพาท หากแต่เจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้สร้างในทีดินของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 1312 วรรคแรก คือ โจทก์มีสิทธิใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 2 เฉพาะที่กันสาดรุกล้ำเข้าไปนั้นได้ แต่โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนในการใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2538
โจทก์เช่าดาดฟ้าตึกแถวติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าของโจทก์ส่วนจำเลยเป็นผู้เช่าตึกแถว ที่อยู่ติดกันและได้ติดตั้งป้ายโฆษณาของจำเลยปิดบังป้ายโฆษณาของโจทก์ดังนี้ เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์ในตึกแถวที่เช่าได้จำเลยก็ย่อมติดตั้งป้ายโฆษณางานใน ธุรกิจของจำเลยได้เช่นกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยติดตั้งป้ายโฆษณาภาย หลังโจทก์หรือไม่เพราะการติดตั้งป้ายโฆษณาทั้งของโจทก์และจำเลยต่างก็ติด ตั้งบนดาดฟ้าของตึกแถวที่แต่ละฝ่ายเช่ามาทำประโยชน์ถือได้ว่าทั้งโจทก์และ จำเลยได้ใช้ประโยชน์จากตึกแถวที่เช่าตามแดนแห่งสิทธิของสัญญาเช่าที่แต่ละ ฝ่ายมีอยู่ตามกฎหมายเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยติดตั้งป้ายเพื่อจงใจกลั่นแกล้ง โจทก์โดยมุ่งประสงค์จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์การติดตั้งป้ายโฆษณาของ จำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะปิดบังป้ายโฆษณาสินค้าของโจทก์ก็ หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา421ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3173/2537
ที่ดินโจทก์ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 รั้วพิพาทเป็นรั้วกั้นแนวเขตระหว่างที่ดินของบุคคลทั้งสอง โดยโจทก์และจำเลยที่ 1ซื้อที่ดินและทาวน์เฮาส์จากจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้สร้างขายพร้อมกับทำรั้วกั้นแนวเขตให้เช่นเดียวกับทาวน์เฮาส์หลังอื่น ๆที่อยู่ในแนวเดียวกัน ดังนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรั้วพิพาทรวมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1344 การที่ฝ่ายจำเลยต่อเติมรั้วพิพาทเป็นกำแพงหรือผนังของอาคารทำให้รั้วหมดสภาพ ไปย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิของโจทก์ นอกจากนั้นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 27 ก็ได้กำหนดไว้ว่า รั้วหรือกำแพงกั้นเขตให้ทำได้สูงเหนือระดับถนนสาธารณะไม่เกิน 3 เมตร ฝ่ายจำเลยได้ต่อเติมกำแพงรั้วสูงจากระดับรั้วเดิมมากอันเป็นการผิดต่อข้อ บัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ารั้วพิพาทนอกจากใช้เพื่อเป็นแนวเขตแล้วยังสามารถใช้เป็นกำแพงหรือ ผนังอาคารได้ด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2537
ที่ดินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นที่ลุ่มอยู่ต่ำกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จำต้องรับน้ำซึ่งไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1339 วรรคแรกและจำต้องรับน้ำซึ่งไหลเพราะระบายจากที่ดินสูงมาในที่ดินของตนเพราะ ก่อนหน้านี้น้ำจากบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นที่สูงก็ได้ระบาย ไหลเข้ามาในที่ดินของจำเลยทั้งสองในบริเวณที่พิพาทตามธรรมดาอยู่แล้วดังที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 1340 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อจำเลยทั้งสองใช้ดินกลบลำรางในที่พิพาทเป็นเหตุให้น้ำท่วมนาของโจทก์ ทั้งสิบเจ็ดจนได้รับความเดือดร้อนเสียหายเช่นนี้ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองทำที่พิพาทให้เป็น ลำรางระบายน้ำตามเดิมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166/2532
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น ซึ่งไม่ใช่กรณีที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง โจทก์จึงนำพยานบุคคลเข้าสืบได้ว่าโจทก์ใช้ที่ดินที่เคยเช่าจากจำเลยเพื่อทำ สวนเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อม และโจทก์เคยใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เพราะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดและสะดวกที่สุด ดังนี้ จำเลยจะเกี่ยง ให้โจทก์ไปใช้เส้นทางอื่นในที่ดินอื่นที่โจทก์ไม่ได้ใช้เป็นปกติมาก่อนเป็น ทางเข้าออกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 การกำหนดทางจำเป็นจะพิจารณาแต่ทางที่โจทก์มีความประสงค์จะใช้แล้วพิพากษาให้ ตามที่ขอหาได้ไม่ แต่ต้องคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่าการเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายน้อยที่สุด หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2474/2526
การที่จำเลยขุดดินห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์เพียง 1 เมตร ลึกเกินสมควรจนเต็มเนื้อที่ เป็นเหตุให้ที่ดินโจทก์พังทลาย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1343 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยจึงต้องรับผิดจัดการป้องกันความเสียหายเพื่อไม่ให้ที่ดินของโจทก์พัง ทลายต่อไป
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจัดการป้องกันความเสียหายอันเกิดแก่ความอยู่มั่น แห่งที่ดินของโจทก์ ที่ติดต่อกับที่ดินที่จำเลยขุด มิใช่เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดโดยตรง. จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2522
ตึกของโจทก์และจำเลยอยู่ห่างกัน 2 เมตร 50 เซนติเมตรช่องว่างระหว่างตึกเป็นที่ดินของจำเลย จำเลยจึงชอบที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยได้ การที่ฝาผนังตึกของโจทก์ชิดกับเขตที่ดินของจำเลยนี้ โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าฝาผนังตึกของโจทก์ต้องมีสภาพเป็นกำแพงรั้วกั้นเขต ที่ดินโจทก์และจำเลย เป็นธรรมดาที่การวางสิ่งของของจำเลยในที่ดินของจำเลยอาจจะไปติดกับฝาผนังตึก ของโจทก์ได้ การที่จำเลยใช้ประโยชน์จากฝาผนังตึกนี้โดยไม่ปรากฏว่าทำให้โจทก์เสียหาย ประการใด จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

เมื่อ ฝาผนังตึกของโจทก์สูงกว่าอาคารของจำเลย จึงเป็นธรรมดาที่น้ำฝนจากหลังคาและฝาผนังตึกของโจทก์ย่อมจะไหลลงไปสู่ ทรัพย์สินของจำเลย ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายโจทก์จะต้องจัดการป้องกันหรือแก้ไข แต่โจทก์มิได้จัดการฉะนั้น การที่จำเลยพอกปูนซีเมนต์เชื่อมหลังคาของจำเลยกับผนังตึกของโจทก์จึงเป็นการ ป้องกันความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่จำเลย หาใช่จำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2537
โจทก์กับจำเลยมีบ้านอยู่ติดกัน และหลังคาบ้านกับรางน้ำฝนบางส่วนของโจทก์รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของจำเลย ดังนี้ แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาจากเจ้าของเดิมและโจทก์ได้ครอบครองทั้งบ้าน และที่ดินมากว่า 20 ปี แต่การละเมิดที่หลังคาบ้านและรางน้ำฝนบางส่วนของโจทก์รุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ ที่ดินของจำเลยคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องและปัจจุบัน จำเลยชอบที่จะฟ้องให้โจทก์รื้อหลังคาและรางน้ำฝนส่วนที่รุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ ที่ดินของจำเลยได้ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ขาดอายุความ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ถ้าโจทก์ไม่รื้อหลังคาและรางน้ำฝนส่วนที่รุกล้ำที่ดินของจำเลยออกไป ให้จำเลยเป็นผู้รื้อโดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะกรณีต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ซึ่งจำเลยชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ ดำเนินการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2535
เดิมที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 402 เป็นของจำเลย ต่อมาโจทก์ ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 3 งาน ซึ่งอยู่ด้านหลังก่อนแย่งแยกหรือแบ่งโอน จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะ เปิดทางเดินกว้าง 2.5 เมตร ให้โจทก์เดินออกสู่ทางสาธารณะแต่ต่อมาจำเลยล้อมรั้วปิดกั้นในที่ดินของจำเลย ทำให้โจทก์ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่ดินของโจทก์ที่แบ่งแยกจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 402 อยู่ในที่ล้อม จึงมีสิทธิผ่าน ที่ดินของจำเลยที่แบ่งแยกที่แบ่งหรือแบ่งโอนไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 การยกเลิกสัญญาที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางผ่านกว้าง 2.5 เมตร เป็นข้อจำกัดสิทธิแห่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องทำนิติกรรมเป็นหนังสือและ จดทะเบียนกับพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1338 วรรคสองเพียงแต่ตกลงยกเลิกกันด้วยปากเปล่า ไม่มีผลผูกพัน ทางจำเลยโดยผลของกฎหมายไม่จำต้องไปจดทะเบียน สิทธิของโจทก์ที่จะเดินผ่านในที่ดินของจำเลยเกิดขึ้นโดย ผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมจะฟ้องให้จำเลยเปิดทางได้โดยไม่มีอายุความ