การหมั้น

มาตรา ๑๔๓๕  การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๔๓๖  ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(๒) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(๓) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(๔) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (๑) (๒) และ (๓) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ

มาตรา ๑๔๓๗ การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง

สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๑๒ ถึงมาตรา ๔๑๘ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔๓๘  การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา ๑๔๓๙ เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา ๑๔๔๐  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(๒) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(๓) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่า ของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ หรือศาลอาจให้ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้

มาตรา ๑๔๔๑  ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วนของหมั้นหรือสินสอดนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย

มาตรา ๑๔๔๒  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา ๑๔๔๓  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

มาตรา ๑๔๔๔  ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น

มาตรา ๑๔๔๕  ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตามมาตรา ๑๔๔๒ หรือมาตรา ๑๔๔๓ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๔๔๖ ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

มาตรา ๑๔๔๗  ค่าทดแทนอันจะพึงชดใช้แก่กันตามหมวดนี้ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้ นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ (๒) ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

มาตรา ๑๔๔๗/๑ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๓๙ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๔ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันกระทำการดังกล่าว

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทนและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว

มาตรา ๑๔๔๗/๒ สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา ๑๔๓๙ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น

สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562
       ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้ จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้ การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561
         เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7868/2560
        การที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของ ช. เจ้าบ่าว หยิบสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำทรัพย์ตามฟ้องที่วางอยู่บนโต๊ะของร้านทองไป ไม่ว่าทรัพย์ตามฟ้องจะถือเป็นสินสอดหรือของหมั้นหรือไม่ก็ตาม แต่ฝ่ายจำเลยก็ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ฝ่ายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของ น. เจ้าสาว ยึดถือครอบครองอันเป็นการยกให้ในวันพิธีมงคลสมรสแล้ว จำเลยจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าว หากจำเลยเห็นว่าฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างไร จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกทรัพย์คืน หามีสิทธิฉกฉวยเอาทรัพย์มาโดยพลการไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2559
     การฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง และค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาหมั้น ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุที่ไม่อาจจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ไม่ดูแลจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขความประพฤติดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่แก้ไข จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นและไม่ต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2559
      ขณะที่จำเลยที่ 1 มาสู่ขอบุตรสาวโจทก์นั้นได้นำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทั้งหมดโดยใส่ชื่อบุตรสาวโจทก์เป็นผู้จะซื้อใส่พานมามอบให้ แต่ต่อมาไม่มีการซื้อขายที่ดินตามสัญญาดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการที่ ร. บุตรสาวโจทก์ยอมสมรสด้วย จึงไม่ใช่สินสอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2558
การสมรส เป็นพฤติการณ์ที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ความสมัครใจและความรักของทั้งสองฝ่ายที่จะอยู่ร่วมกันเป็นเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีวัฒนธรรมประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ข้อที่สำคัญ คือ กฎหมายไม่สามารถบังคับให้ชายหญิงอยู่ด้วยกันหรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสได้ กฎหมายลักษณะครอบครัวจึงถูกบัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้บังคับและแก้ปัญหาอันเกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกันของชายหญิงที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสัญญาโดยทั่วไป จะนำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับหาได้ไม่ มิฉะนั้นศาลต้องบังคับให้คู่สัญญาจดทะเบียนสมรสหรืออยู่กินฉันสามีภริยากับอีกฝ่ายหนึ่งตามวัตถุประสงค์แห่งหนี้อันเป็นมูลหนี้เดิมเสียก่อนและจะทำให้กฎหมายลักษณะครอบครัวไม่มีผลใช้บังคับด้วย

คดีนี้โจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์ได้มอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ยอมสมรส คู่สัญญาของการหมั้นหมายถึงโจทก์และจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้มอบของหมั้นแก่จำเลยที่ 1 สัญญาหมั้นจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์มอบทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถือเป็นการมอบสินสอดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามกฎหมาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1437 แต่ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเสน่หา ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์อีก ก็หาจะบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนทรัพย์สินแก่โจทก์ฐานจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นได้ไม่

ปัญหาว่าจะใช้บทบัญญัติกฎหมายใดบังคับแก่คดี เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2552
การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกันทั้งๆ ที่โจทก์กับจำเลยได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมายและโจทก์กับจำเลยก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง ทั้งโจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น เพราะต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัด แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลย เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6385/2551
การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออด ซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็น จึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังไปบ้านโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ถือเอาเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโกรธเคืองโจทก์ที่ 2 การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) และสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วยแต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2550
จำเลย ที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ เป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549
การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณ ที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้น เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2547
ในขณะที่นาย อ. ทำการหมั้นกับนางสาว บ. นั้น นางสาว บ. อายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ โดยมีอายุเพียง 15 ปีเศษ การหมั้นดังกล่าวจึงฝ่าฝืนบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1435 วรรคหนึ่ง ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง นอกจากนี้มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่านางสาว บ. อายุไม่ครบ 17 ปี จำเลยและนางสาว บ. จึงต้องคืนของหมั้นและสินสอดให้แก่โจทก์ตามมาตรา 412 และ 413 โดยจะถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามอำเภอใจตามมาตรา 407 หาได้ไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนาย อ. และนางสาว บ. ทำบันทึกข้อตกลงภายหลังที่นาย อ. กับนางสาว บ. เลิกการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ว่าจำเลยตกลงจะคืนเงินสินสอดและของหมั้นแก่โจทก์ จึงมีมูลหนี้และใช้บังคับได้ หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2547

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2543
พฤติการณ์ที่จำเลยซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ตลอดจนการจองสถานที่จัดงานพิธี สมรสและพิมพ์บัตรเชิญงานสมรสรวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มาเป็นเจ้าภาพในงาน พิธีสมรส ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรสกับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะมีการ สมรสกันในเวลาต่อมาแม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตามประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้ง สองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยานก็เป็นการหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยไปสมรสกับ น. โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรส แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียงแต่มีการเลื่อนไป โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับ น. ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2542
การที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและ ค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรส โดยเป็น ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม,1439 และ 1440(2) เมื่อปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคือจากจำเลยได้เพราะมิใช่กรณี จำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยทำพิธีแต่งงานตามประเพณี จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมอยู่กิน ด้วยกันแล้ว เมื่อสาเหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกัน เป็นเรื่องเงินทองภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั่วไป มิใช่เป็นสาเหตุร้ายแรงและสามารถปรับความเข้าใจ ระหว่างกันได้ แต่กลับได้ความว่า โจทก์ไปอยู่ที่บ้านสวน ของโจทก์โดยไม่ยอมกลับไปหาจำเลย แม้โจทก์จะมีวันหยุด ในวันอาทิตย์ว่างอยู่ แต่ก็อ้างว่าจะต้องซักผ้าและ ทำธุระส่วนตัว หากโจทก์จะไปพบจำเลยบ้างในวันธรรมดา เป็นบางครั้ง โจทก์ก็อาจกระทำได้เพราะโจทก์เคยอยู่บ้านจำเลย และเคยไปทำงานโดยไปกลับมาแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ขวนขวาย ที่จะกระทำดังกล่าวหรือชักชวนให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะฟ้อง หย่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2542
ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหมั้น และแต่งงานตามประเพณีแล้ว ได้อยู่กินร่วมหลับนอนกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 นานถึง 8 เดือนโดยโจทก์มิได้ประกอบอาชีพใด เอาแต่เที่ยวเตร่และเล่นการพนัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้รังเกียจในตัวโจทก์นอกจาก ความประพฤติ การที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจอยู่กิน ด้วยกันเป็นเวลานาน โดยมิได้ไปจดทะเบียนสมรส จึงเกิด จากการละเลยของทั้งสองฝ่ายที่มิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรส เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณี เท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรส เกิดจากความผิดของฝ่ายใด แม้ต่อมามีการทำบันทึกตกลงกัน ว่าทั้งสองฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่เมื่อโจทก์ยังมิได้ปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 2 ตาม ข้อตกลงการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส กับโจทก์ จึงยังไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2540
โจทก์ตกลงแต่งานกับจำเลยที่3โดยวิธีผูกข้อมือแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่3มิได้มี เจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457ดังนั้นทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกัน ว่าจะสมรสกับจำเลยที่3และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ให้แก่ จำเลยที่1และที่2บิดามารดาของจำเลยที่3เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่3ยอมสมรส ตามมาตรา1437โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน การที่จำเลยที่3ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่3เพราะ การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่3จะทำได้ต่อเมื่อจำเลยที่3ยินยอมเป็นสามี ภริยากับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1457การที่จำเลยที่3ไม่ ยินยอมหลับนอนกับโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญาหมั้นโจทก์จึง ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา1439และมาตรา1440

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2539
เมื่อไม่มีการหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในการเตรียม การสมรสจากจำเลยทั้งสามซึ่งไม่มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนด ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฝ่ายจำเลยสู่ขอโจทก์เพื่อสมรสกับจำเลยที่ 3โดยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรสแล้วจำเลยที่3ไม่มาทำพิธีสมรส ตามที่ตกลงไว้อีกทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายใน การเตรียมการสมรสหรือค่าเสียหายทางจิตใจเนื่องจากถูกชาวบ้านดูถูกให้อับอาย ขายหน้าก็ตามล้วนสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่1และที่2ไม่น่าจำเลยที่3มาทำ พิธีสมรสในวันที่กำหนดมูลคดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสมิใช่มูลละเมิดตามที่โจทก์ อุทธรณ์เพราะคำฟ้องหาได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำโดยจงใจหรือประมาท เลินเล่อโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา420แต่ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2538
การที่หญิงหมั้นกับชายโดยชอบด้วยกฎหมายและเมื่อแต่งงานตามประเพณีแล้ว หญิงชวนชายไปจดทะเบียนสมรสหลายครั้งหญิงย่อมต้องการอยู่กินกับชายโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บิดามารดาและพี่ของชายนั้นไล่หญิงออกจากบ้านหลังจากนั้นชายก็มิได้ กระทำการใดเพื่อให้หญิงกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาชายนั้นจึงผิดสัญญาหมั้น หญิงและชายต่างมีฐานะดีในการจัดงานเลี้ยงแต่งงานมีการเชิญแขกประมาณ600คนและ เลี้ยงโต๊ะจีนการที่หญิงซื้อ ชุดแต่งงานเพื่อเข้าพิธีจำนวน4ชุดเป็นเงิน28,000บาทเป็นการใช้จ่ายอันสมควร ในการเตรียมการสมรสเรียกค่าทดแทนได้ หญิงซื้อ ผ้ารับไหว้เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายตามประเพณีมิใช่ค่าใช้จ่ายในการเตรียม การสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2538
โจทก์หมั้นบุตรสาวจำเลยโดยมอบสินสอดให้จำเลยในวันทำพิธีแต่งงานแต่มิได้จดทะเบียน สมรสกันเพราะโจทก์ไม่ใส่ใจในการไปจดทะเบียนสมรสกับบุตรของจำเลยโจทก์จึงจะ อ้างขอสินสอดคืนว่าเมื่อไม่มีการสมรสโจทก์ย่อมเรียกสินสอดคืนได้โดยไม่ต้อง พิจารณาว่าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นหาได้ไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกสินสอด คืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2537
บ้านพิพาทต่อเติมออกไปจากบ้านผู้ร้อง เพื่อใช้เป็นเรือนหอระหว่างจำเลยกับบุตรของผู้ร้อง โดยใช้เลขที่บ้านเดียวกัน และสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่าเป็นของผู้ร้อง และพยานโจทก์เบิกความรับข้อเท็จจริงว่าตามประเพณีเรือนหอนั้น สร้างให้เพื่อตอบแทนที่บิดามารดาฝ่ายหญิงยอมให้บุตรสาวแต่งงานดังนั้นเรือน หอส่วนที่จำเลยและบุตรสาวของผู้ร้องใช้อยู่อาศัยหลังแต่งงานย่อมตกเป็นของ ผู้ร้องเพราะมีลักษณะเป็นสินสอดซึ่งตกได้แก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1437 มิได้เป็นทรัพย์ของจำเลยที่โจทก์จะยึดมาบังคับคดีได้ ผู้ร้องจึงขอให้ปล่อยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5973/2533
การที่โจทก์หมั้นและแต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแม้จะไม่ปรากฏว่าได้พูดกันถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 อยู่กับโจทก์เพียงคืนเดียว โดยโจทก์ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 อ้างว่าเหนื่อยขอผัดเป็นวันรุ่งขึ้นครั้นวันรุ่งขึ้นโจทก์ต้องช่วยนำสิ่งของ ที่ใช้ในงานแต่งงานส่งคืนเจ้าของ ไม่มีเวลาว่าง จึงให้จำเลยที่ 1 นำชุดสากลไปคืนที่ร้านในเมือง จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมาอยู่กินกับโจทก์อีกโดยไม่ปรากฏสาเหตุโจทก์ได้ออก ตามหาตลอดมา แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 เคยแสดงท่าทีไม่อยากกลับไปแต่งงานกับโจทก์พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่นำพาต่อการจด ทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2531
โจทก์ผู้เยาว์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโดยความสมัครใจซึ่งแม้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อบิดาโจทก์ทราบเรื่องได้ไปร้องเรียนต่อกำนันท้องที่ จำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาทและจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แม้มิใช่เป็นกรณีผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม สัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2237/2519
ให้สินสอดโดยทำสัญญากู้ให้ แม้เงินที่ลงไว้ในสัญญากู้จะไม่ใช่สินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 1436 เพราะเป็นการแต่งงานกันตามประเพณีโดยคู่กรณีไม่ถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็น สำคัญก็ตาม แต่เมื่อจำเลยตกลงจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ในการที่บุตรสาวของโจทก์จะแต่ง งานอยู่กินกับบุตรชายของจำเลยโดยทำสัญญากู้ให้ไว้ดังกล่าว เมื่อได้มีการแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันแล้วจำเลยก็ต้องชำระเงินดัง กล่าวแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2518
หญิงสมัครใจแต่งงานอยู่กินกับชายได้ปีเศษ โดยต่างไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรส ดังนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นมิได้ หญิงจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเพื่อการเสียความบริสุทธิ์ของตนจากชาย